แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 263
ครั้งที่ ๒๖๓
ข้อความในพระไตรปิฎกมีมากที่แสดงให้เห็นว่าการเกิดในภูมิต่างๆ นั้น ย่อมวนเวียนไปตามปัจจัย คือ กรรมที่เป็นเหตุ
ขอกล่าวถึงพระชาติหนึ่งของพระผู้มีพระภาค ที่ทรงเป็นพญาช้าง เป็นเรื่องราวในอดีตเนิ่นนานมากทีเดียว
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒ ฉัททันตชาดก
ในอดีตกาล ครั้งนั้น พระเจ้ากาสิกราชทรงมีพระมเหสีนามว่า พระนางสุภัททา พระนางสุภัททาทรงฝันเห็นพญาช้างเผือกในป่า ซึ่งเคยเป็นสามีที่รักในชาติก่อน พระนางสุภัททาเป็นคนพาล โกรธเคืองผูกเวรสามีในชาติก่อน จึงปรารถนาที่จะฆ่าพญาช้างนั้น พระนางทูลพระเจ้ากาสิกราชว่า พระนางแพ้พระครรภ์ ปรารถนาที่จะได้งาของพญาช้างนั้น พวกนายพรานที่มีฝีมือทั้งหลาย ก็ทูลพระนางสุภัททาว่า
พญาช้างนั้น มีช้างดุร้ายแวดล้อมรักษาอยู่มากทีเดียว พระนางทรงปรารถนาจะให้ฆ่าพญาช้างเสีย หรือว่าจะให้พญาช้างฆ่าพวกเชื้อแถวนายพรานเหล่านั้นเสีย พระนางสุภัททาก็รับสั่งว่า
ดูกร นายพราน ฉันริษยาด้วย เสียใจด้วย เพราะนึกถึงความหลัง ก็ตรอมใจ ขอท่านจงทำตามความประสงค์ของฉัน ฉันจะให้บ้านส่วยแก่ท่าน ๕ ตำบล
นายพรานทูลถามว่า
พญาช้างนั้นอยู่ที่ไหน ยืนที่ไหน ทางไหนที่พญาช้างไปอาบน้ำ พญาช้างอาบน้ำด้วยประการอย่างไร ข้าพระองค์จักรู้จักคติแห่งพญาช้างได้อย่างไร
พระนางสุภัททารับสั่งว่า
ในที่ๆ พญาช้างอยู่นั้น มีสระอยู่ใกล้ๆ น่ารื่นรมย์ มีท่าราบเรียบ น้ำมากมาย สะพรั่งไปด้วยพันธุ์ไม้ดอก มีหมู่ภมรมาคลึงเคล้า พญาช้างนั้นลงอาบน้ำที่สระนั่นแหละ ชำระศีรษะแล้ว ห้อยพวงดอกอุบล มีร่างกายเผือกผ่องดังดอกบัวขาบ บันเทิงใจ ให้มเหสีชื่อว่า สัพพทัททา เดินหน้า กลับไปยังที่อยู่ของตน
เมื่อได้ฟังดังนั้นแล้ว นายพรานผู้นั้น ก็ถือเอาแร่งลูกธนู ข้ามภูเขาใหญ่ ๗ ลูก ไปยังที่อยู่ของพญาช้าง และในที่สุดก็ได้ฆ่าพญาช้างนั้น เลื่อยงาอันงดงามทั้งคู่นั้น นำกลับไปถวายพระนางสุภัททา กราบทูลว่า
พญาช้างล้มแล้ว ขอเชิญพระนางทอดพระเนตรงาทั้งคู่นั้นเถิด พระนาง สุภัททาผู้เป็นพาล ครั้นทอดพระเนตรเห็นงาพญาช้างทั้งคู่ ผู้เป็นสามีที่รักในชาติก่อนแล้ว หทัยของพระนางก็แตกทำลาย ณ ที่นั้นเอง เพราะเหตุนั้นเอง พระนางจึงได้สวรรคต
เรื่องเศร้าทั้งนั้นใช่ไหม สำหรับชีวิตที่เต็มไปด้วยความรักใคร่ ความริษยา ความอาฆาตต่างๆ จากชาติหนึ่งไปสู่อีกชาติหนึ่ง ไม่มีสิ้นสุดเลย ถ้าในขณะนั้นไม่ได้ระลึกรู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม ชีวิตย่อมไม่มีการขัดเกลา และย่อมจะพอกพูนเต็มไปด้วยความรักใคร่ ความผูกพัน ความริษยาอาฆาตต่างๆ สืบต่อไป เป็นภพ เป็นชาติ ต่อๆ ไปในสังสารวัฎฎ์
ข้อความตอนท้ายของ ฉัททันตชาดก มีว่า
พระศาสดาได้บรรลุสัมโพธิญาณแล้ว มีพระอานุภาพมาก ได้ทรงทำการแย้มในท่ามกลางบริษัท ภิกษุทั้งหลายผู้มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว พากันทูลถามว่า
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่ทรงทำการแย้มให้ปรากฏเมื่อไม่มีเหตุ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ท่านทั้งหลาย จงดูนางกุมารีสาวคนนั้น นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ประพฤติ อนาคาริยวัตร นางกุมารีคนนั้นแล เป็นนางสุภัททาในกาลนั้น เราตถาคตเป็นพญาช้างในกาลนั้น นายพรานถือเอางาทั้งคู่อันงดงามของพญาช้างหาที่เปรียบในพื้นปฐพีมิได้กลับมายังพระนครกาสีในกาลนั้น เป็นพระเทวทัต
พระพุทธเจ้าผู้ปราศจากความกระวนกระวาย ความเศร้าโศก และกิเลสดุจลูกศร ตรัสรู้ยิ่งด้วยพระองค์เองแล้ว ได้ตรัสฉัททันตชาดกนี้ อันเป็นของเก่า ไม่รู้จักสิ้นสูญ ซึ่งพระองค์ก็ท่องเที่ยวไปแล้วตลอดกาลนาน เป็นบูรพจรรยาทั้งสูงทั้งต่ำว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คราวครั้งนั้น เราเป็นพญาช้างฉัททันต์ อยู่ที่สระฉัททันต์นั้น ท่านทั้งหลายจงทรงจำชาดกไว้ ด้วยประการฉะนี้แล
จบฉัททันตชาดกที่ ๔
ถ้าท่านผู้ฟังต้องการความละเอียด ท่านศึกษาหาความรู้ได้ในชาดกที่ละเอียด ยิ่งกว่านี้ เป็นชีวิตที่แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าในกาลครั้งไหน ถ้ายังเต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ความรักใคร่ เยื่อใย ความผูกพัน ความพยาบาทอาฆาตแล้ว ไม่ว่าจะเป็นช้างเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว และต่อไปจะเป็นอะไรอีก ก็ไม่พ้นจากการที่จะต้องเต็มไปด้วยเยื่อใย ความรักใคร่ ความผูกพัน ความริษยา ความอาฆาตในบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ในสมัยนี้ก็มีคนที่อยากจะรู้ว่าชาติก่อนเคยเป็นใคร เพราะอะไร ความผูกพันยึดถือนามธรรมและรูปธรรมในชาตินี้ว่าเป็นบุคคลนี้ยังไม่พอ ยังย้อนกลับไปที่จะผูกพันยึดถือในนามธรรมและรูปธรรมที่ล่วงไปแล้วในอดีตกาลนับไม่ถ้วน กลับมายึดถือว่าเราเคยเป็นบุคคลในครั้งนั้น นี่เป็นด้วยความเยื่อใย ยึดถือ ผูกพันในตัวตนอย่างมากทีเดียว
แต่สำหรับผู้ที่หมดกิเลสแล้ว หรือเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ไม่ผูกพัน ไม่ยึดถือในนามธรรมและรูปธรรมในปัจจุบัน เช่น พระอริยสาวกและพระอรหันต์ในครั้งนั้น ท่านได้ฟัง ได้ทราบเรื่องในอดีตชาติของท่าน และของพระผู้มีพระภาค แต่ไม่ใช่ด้วยความยึดถือในความเป็นตัวตน ในความเป็นบุคคล แต่เป็นผู้ที่รู้เหตุในอดีตที่ได้กระทำ ที่ได้สะสมมา ที่เป็นปัจจัยให้มีการกระทำทางกาย ทางวาจา แม้จิตใจความคิดนึกเป็นไปต่างๆ ก็สืบเนื่องมาจากอดีตชาติที่ได้กระทำแล้วนั่นเอง
สมมติว่า ท่านผู้ฟังสามารถจะรู้อดีตชาติว่าเคยเป็นใคร ความผูกพัน เยื่อใยในชีวิตปัจจุบันของท่าน กับในอดีตชาติ ชาติไหนจะผูกพันไว้มากกว่ากัน ธรรมเป็นสิ่งที่คิดได้ พิจารณาได้ แล้วก็ตรงตามความเป็นจริงด้วย ชาติปัจจุบันนี้มากกว่าใช่ไหมถึงแม้จะรู้ว่าในอดีตเคยเป็นอะไร เคยมีความสัมพันธ์อย่างไร แต่ว่าปัจจุบันชาตินี้เหตุการณ์และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับท่านนั้น ย่อมทำให้ท่านมีความสุข มีความทุกข์ มีความผูกพัน มีเยื่อใยมากกว่า
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑ อัสสกชาดกที่ ๗ มีข้อความว่า
ประเทศนี้ เราผู้มีความจงรัก ได้เที่ยวเล่นอยู่กับพระเจ้าอัสสก ผู้เป็นพระสามีที่รัก ความสุขและความทุกข์เก่าถูกความสุขและความทุกข์ใหม่ปกปิดไว้ เพราะฉะนั้น หนอนจึงเป็นที่รักของเรา ยิ่งกว่าพระเจ้าอัสสกอีก
ใครเป็นคนกล่าวคำนี้ พระมเหสีของพระเจ้าอัสสกะซึ่งสิ้นพระชนม์แล้ว เกิดเป็นหนอนในประเทศ คือ ในที่ๆ เคยเดินเที่ยวเล่นกับพระเจ้าอัสสกะซึ่งเป็นสามีที่รักแต่ว่าในชาติที่กำลังเป็นหนอน รักหนอนยิ่งกว่าพระเจ้าอัสสกะ เยื่อใยความผูกพันในอดีต ก็เป็นอดีตไปแล้ว ความรู้สึก ความสำคัญในปัจจุบันชาตินี้ซึ่งเป็นความสุขและความทุกข์นั้น ปกปิดความสุขและความทุกข์ในอดีตที่ผ่านมาแล้วเป็นชาติ เป็นชาติทีเดียว
ชาติก่อน ท่านผู้ฟังจะพ้นไปจากความสุข ความทุกข์ เหมือนอย่างในปัจจุบันชาตินี้ได้ไหม ก็ไม่ได้ ปัจจุบันชาติมีสุข มีทุกข์อย่างไร ในอดีตชาติท่านก็เคยมีสุข มีทุกข์อย่างนี้ แต่โดยความเป็นบุคคลในภพก่อน ในชาติก่อน ส่วนความเป็นบุคคลในภพนี้ ชาตินี้ สุขทุกข์ใหม่ก็ปกปิด ไม่ให้เห็นว่าสุขทุกข์เก่าในอดีตนั้นมีความสำคัญเท่ากับสุขทุกข์ใหม่ในปัจจุบันชาตินี้
ถ. ทำไมครั้งพุทธกาล บุคคลที่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี แต่ยังเป็นคนยากจนอยู่ เพราะก่อนที่จะบรรลุเป็นพระอริยบุคคลก็ต้องมีสาตถกสัมปชัญญะ หรือสัมปชัญญะทั้ง ๔ บำเพ็ญกุศล รู้ประโยชน์ของการให้ทาน รู้ประโยชน์ของการรักษาศีล รู้ประโยชน์ของการเจริญสมถภาวนา หรือว่าต้องเจริญสติปัฏฐานมาอย่างโชกโชนแล้ว ทำไมท่านจึงยังเป็นคนยากจนอยู่
สุ. เรื่องการสะสมของกรรม จะเห็นได้ว่า ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าแล้ว จะเกิดเป็นอะไรก็ได้ แม้แต่สัตว์ดิรัจฉาน ไม่ต้องเป็นมนุษย์ที่ยากจนเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะได้สะสมอบรมบารมีมาแล้ว แต่ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้ง อริยสัจธรรม ก็ยังมีกรรมที่ทำให้เกิดในกำเนิดอื่นได้ แม้ไม่ใช่มนุษย์ที่ยากจน ก็ยังเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานก่อนชาติที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เป็นเรื่องของกรรมที่ละเอียดมาก มีทุกอย่าง แต่เมื่อยังไม่ได้โอกาสที่จะให้ผล กรรมอื่นให้ผล กรรมที่ให้ผลก็ให้ผลก่อน และเมื่อเกิดในชาติใด มีโอกาสรู้แจ้งอริยสัจธรรมในชาตินั้น ก็แล้วแต่ว่าในชาติที่เกิดนั้น เป็นผลของกรรมอะไรที่ทำให้เกิดอย่างนั้น มิฉะนั้นแล้วคงจะไม่มีมนุษย์ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ต้องขึ้นสวรรค์ชั้นฟ้ากันหมด ไปรู้แจ้งอริยสัจธรรมในชั้นเทวโลก
เป็นเรื่องความวิจิตรของจิต ของการสะสมกรรม ผู้ที่เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานก่อนแม้ว่าจะได้สะสมการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่เมื่อยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ยังมีกรรมที่ทำให้เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน จากชาตินั้นแล้วปฏิสนธิอีกครั้งหนึ่งที่ไม่ใช่สัตว์ดิรัจฉานจึงสามารถที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะฉะนั้น ทุกท่านที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมประมาทไม่ได้เลยว่า จากชาตินี้ไปแล้วกรรมอะไรจะทำให้ปฏิสนธิในกำเนิดใด
ใน ขุททกนิกาย เปตวัตถุ อุพพรีเปติวัตถุ แสดงถึงอดีตชาติของผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งได้สะสมอบรมบารมีมา แต่เพราะเหตุว่าได้กระทำอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น เมื่อยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม อกุศลกรรมก็เป็นปัจจัยทำให้เกิดในที่ต่างๆ กัน
ข้อความในพระสูตรมีว่า
พระเจ้าพรหมทัตผู้เป็นใหญ่ ได้เสวยราชสมบัติในแคว้นปัญจาลราช พระองค์เสด็จสวรรคตโดยกาลอันล่วงไปแห่งวันและราตรีทั้งหลาย พระนางเจ้าอุพพรีมเหสี เสด็จไปยังพระเมรุมาศแล้วทรงกรรแสงอยู่
เป็นของธรรมดาใช่ไหมเรื่องที่เผาศพ และความตาย ซึ่งทุกคนก็จะต้องไปที่นั่นแต่เมื่อยังไม่ไปที่นั่นด้วยตนเอง ก็ไปเห็นสภาพการณ์ที่นั่น เห็นความทุกข์ ความโศกเศร้าของบุคคลที่ยังมีความยึดถือในนามธรรมและรูปธรรม
เมื่อพระนางไม่เห็นพระเจ้าพรหมทัต ก็กรรแสงว่า พรหมทัตๆ ก็ดาบสผู้เป็นมุนี สมบูรณ์ด้วยจรณญาณ ได้มาที่พระนางอุพพรีประทับอยู่นั้น ท่านได้ถามชนทั้งหลายที่มาประชุมกันในที่นั้นว่า
นี่เป็นเมรุมาศของใคร มีกลิ่นหอมต่างๆ ฟุ้งตลบไป หญิงนี้เป็นภริยาของใคร เมื่อไม่เห็นพระเจ้าพรหมทัตผู้เป็นใหญ่ซึ่งเสด็จไปแล้ว ไกลจากโลกนี้ คร่ำครวญอยู่ว่า พรหมทัตๆ
ชนที่มาประชุมกันอยู่ในที่นั้น กล่าวตอบว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นี่เป็นพระเมรุมาศของพระเจ้าพรหมทัต ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ นี่เป็นพระเมรุมาศของพระเจ้าพรหมทัต มีกลิ่นหอมฟุ้งตลบไป หญิงนี้เป็นพระมเหสีของท้าวเธอ เมื่อไม่เห็นพระเจ้าพรหมทัตพระราชสวามีซึ่งเสด็จไปไกลจากโลกนี้ ทรงพระกรรแสงอยู่ว่า พรหมทัตๆ
ดาบสจึงถามว่า
พระราชามีพระนามว่า พรหมทัต ถูกเผาในป่าช้านี้ ๘๖,๐๐๐ พระองค์แล้ว บรรดาพระเจ้าพรหมทัตเหล่านั้น พระนางทรงกรรแสงถึงพระเจ้าพรหมทัตพระองค์ไหน
พระนางอุพพรีตรัสตอบว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระราชาพระองค์ใดเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าจุฬนี ทรงเป็นใหญ่อยู่ในแคว้นปัญจาลราช ดิฉันเศร้าโศกถึงพระราชาพระองค์นั้น ผู้เป็นพระราชสวามี ผู้ประทานสิ่งของที่น่าใคร่ทุกอย่าง
ดาบสกล่าวว่า
พระราชาทุกพระองค์ทรงพระนามว่า พรหมทัต เหมือนกัน ทั้งหมดเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าจุลณี เป็นใหญ่อยู่ในแคว้นปัญจาลราช พระนางเป็นพระมเหสีของพระราชาเหล่านั้นทั้งหมด โดยลำดับกันมา เหตุไรพระนางจึงทรงเว้นพระราชาพระองค์ก่อนๆ มาทรงกรรแสงถึงแต่พระราชาองค์หลังเล่า
พระนางอุพพรีตรัสตอบว่า
ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ดิฉันเกิดเป็นหญิงตลอดกาลนานเท่านั้นหรือ หรือเกิดเป็นบุรุษ ท่านพูดถึงแต่การที่ดิฉันเป็นหญิงในสังสาระเป็นอันมาก
ดาบสตอบว่า
บางคราวพระนางเกิดเป็นหญิง บางคราวก็เกิดเป็นบุรุษ บางคราวก็ถือกำเนิดปศุสัตว์ ที่สุดแห่งอัตภาพทั้งหลายอันเป็นอดีต ย่อมไม่ปรากฏอย่างนี้
พระนางอุพพรีตรัสว่า
ท่านดับความกระวนกระวายทั้งปวงของดิฉัน ผู้เร่าร้อนอยู่ให้หาย เหมือนบุคคลเอาน้ำดับไฟที่ราดน้ำมัน ฉะนั้น ท่านได้บรรเทาความโศกถึงพระสวามีของดิฉัน ผู้ถูกความโศกครอบงำแล้ว ถอนขึ้นแล้วหนอซึ่งลูกศร คือ ความโศกอันเสียดแทงที่หทัยของดิฉัน
ข้าแต่ท่านผู้เป็นมหามุนี ดิฉันเป็นผู้มีลูกศร คือ ความโศก อันท่านถอนขึ้นได้แล้ว เป็นผู้เย็นสงบแล้ว ดิฉันจะไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้อีก เพราะได้ฟังคำของท่าน
พระนางอุพพรีได้ฟังคำสุภาษิตของดาบส ผู้เป็นสมณะนั้นแล้ว ถือบาตรและจีวร ออกบวชเป็นบรรพชิต ครั้นออกบวชแล้ว เจริญเมตตาจิต เพื่อเข้าถึงพรหมโลก พระนางอุพพรีนั้น เมื่อท่องเที่ยวไปสู่บ้านหนึ่งจากบ้านหนึ่ง สู่นิคมและราชธานีทั้งหลาย ได้เสด็จสวรรคตที่บ้านอุรุเวลา พระนาง เบื่อหน่ายความเป็นหญิง เจริญเมตตาจิต เพื่อบังเกิดในพรหมโลก จึงได้เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก
จบอุปพลี เปตวัตถุที่ ๑๓
คนที่จากโลกนี้ไปแล้ว จะกลับมาเป็นบุคคลเหมือนเดิมอีกได้ไหม ถ้าได้ อย่างนั้นไม่ชื่อว่าตาย ไม่ชื่อว่าจากไป
เมื่อจากไปแล้วจะไปสู่กำเนิดอะไร แม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นมารดา จะเป็นบิดา จะเป็นผู้เป็นที่รัก แต่ก็จากไปแล้วจากความเป็นบุคคลนี้ไปสู่ความเป็นบุคคลอื่น มีกำเนิดอื่น มีความสัมพันธุ์เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นต่อไป ทำไมจึงจะคร่ำครวญเศร้าโศกถึงผู้ที่ตาย เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาธรรมจริงๆ พระธรรมที่ได้พิจารณาแล้วจะดับความเศร้าโศกของบุคคลทั้งหลายได้ และจะน้อมประพฤติปฏิบัติตามหนทางที่จะทำให้พ้นจากความเศร้าโศก พ้นจากความทุกข์ได้จริงๆ
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑ ภิสชาดก ข้อ ๑๙๒๖ มีข้อความว่า
เรา ตถาคต สารีบุตร โมคคัลลานะ กัสสปะ อนุรุทธะ ปุณณะ และอานนท์ เป็น ๗ พี่น้องในครั้งนั้น อุบลวรรณาเป็นน้องสาว ขุชชุตตราเป็นทาสี จิตตคฤหบดีเป็นทาส สาตาคีระเป็นเทวดา ปาลิเลยยกะเป็นช้าง มธุทะผู้ประเสริฐเป็นวานร กาฬุทายีเป็นท้าวสักกะ ท่านทั้งหลายจงทรงจำชาดกไว้ ด้วยประการฉะนี้ แล
นี่เป็นอดีตชาติ ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงมีความสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นสาวกในครั้งที่ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่าในครั้งโน้น ในกาลที่เนิ่นนานมา แม้พระองค์ ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระกัสสปะ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระปุณณะ และท่านพระอานนท์ เป็น ๗ พี่น้อง ซึ่งมีพระอุบลวรรณาเถรีเป็นน้องสาว
ภพต่างๆ ก็หมุนไป แต่จะกลับมายึดถือเป็นความสำคัญในพระชาติที่เป็นพระผู้มีพระภาคตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ว่า ท่านพระสารีบุตรเสมือนว่ายังคงเป็นน้องอยู่ได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะความสัมพันธ์ก็เปลี่ยนไปตามเหตุการณ์กับบุคคลที่เกี่ยวข้องในชาติหนึ่งๆ
ส่วนท่านพระอุบลวรรณาเถรี ในพระชาติที่พระผู้มีพระภาคได้เกิดเป็นพระเวสสันดรนั้น ท่านก็เป็นพระธิดาของพระเวสสันดร คือ กัณหา แต่ในพระชาติที่ตรัสรู้เป็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กัณหาก็ได้เกิดเป็นพระอุบลวรรณาเถรี
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๗ ตอนที่ ๒๖๑ – ๒๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 241
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 242
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 243
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 244
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 245
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 246
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 247
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 248
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 249
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 250
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 251
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 252
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 253
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 254
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 255
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 256
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 257
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 258
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 259
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 260
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 261
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 262
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 263
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 264
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 265
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 266
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 267
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 268
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 269
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 270
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 271
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 272
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 273
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 274
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 275
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 276
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 277
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 278
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 279
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 280
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 281
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 282
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 283
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 284
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 285
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 286
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 287
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 288
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 289
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 290
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 291
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 292
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 293
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 294
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 295
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 296
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 297
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 298
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 299
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 300