แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 268
ครั้งที่ ๒๖๘
ข้าแต่ท่านพรานผู้ภูมิบาล เมื่อครั้งก่อนเราทั้งสองได้พรากกันอยู่นานถึง ๖๙๗ ปี ชีวิตของท่านนี้มีกำหนดเพียง ๑๐๐ ปีเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครหนอจะพึงอยู่ปราศจากภรรยาสุดที่รักเสียเล่า
พระเจ้าภัลลาติยะตรัสว่า
ดูกร สหาย อายุของพวกท่านมีประมาณเท่าไร ถ้าท่านทั้งสองรู้ ก็ขอท่านจงบอกอายุของพวกท่านแก่เรา ขอท่านทั้งหลายอย่าได้บิดพริ้ว จงบอกอายุของพวกท่านแก่เรา ตามที่ได้ยินได้ฟังมาจากวุฒบุคคล หรือจากตำหรับตำรา
กินนรกล่าวว่า
ข้าแต่ท่านพราน อายุของเราทั้งสองประมาณ ๑,๐๐๐ ปี อนึ่งในระหว่างอายุนั้น โรคร้ายย่อมไม่มี มีความทุกข์น้อย มีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป เราทั้งสองยังไม่คลายความรักกันและกัน ก็ต้องละทิ้งชีวิตไป
พระเจ้าภัลลาติยะได้ทรงสดับถ้อยคำของกินนรทั้งสองนี้แล้ว ทรงพระดำริว่าชีวิตเป็นของน้อย จึงเสด็จกลับ ไม่เสด็จล่าเนื้อ ได้ทรงบำเพ็ญทาน เสวยราชสมบัติสืบมา
ไม่ว่าเป็นสัตว์ หรือเป็นมนุษย์ เยื่อใย ความรักชีวิต หรือความต้องการในรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ ไม่หมด ไม่สิ้นสุด แต่ว่าปรากฏออกมาตามสภาพตามลักษณะของกำเนิดนั้นๆ ถ้าเป็นสัตว์ที่รู้ความมาก ความเศร้าโศก โลภะ โทสะ ไม่ผิดกับมนุษย์มาก ถ้าเป็นสัตว์ที่มีกำเนิดต่ำ หรือว่ารู้ความน้อย โลภะ โทสะ โมหะนั้นก็ไม่ปรากฏให้เห็นชัด
ข้อความในชาดกที่แสดงถึงกำเนิดของสัตว์ดิรัจฉาน และมีข้อธรรมที่แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าจะไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานและกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ แต่เพราะเหตุว่าการสะสมความวิจิตรของจิตนั้นต่างกัน เพราะฉะนั้น แม้แต่บุคคลซึ่งเป็นพี่น้องกัน เคยเกิดร่วมกันในอดีตชาติ เคยผ่านกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานโดยความเป็นพี่น้องกันก็จริง แต่เวลาที่เกิดเป็นมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง ความวิจิตรของการสะสมของจิตทำให้มีความคิดหรือว่ามีจุดประสงค์ในชีวิตต่างกัน
จิตตสัมภูตชาดก มีว่า
กรรมทุกอย่างที่นรชนสั่งสมไว้แล้ว ย่อมมีผลเสมอไป ขึ้นชื่อว่ากรรม แม้จะเล็กน้อย ที่จะไม่ให้ผลเป็นอันไม่มี เราได้เห็นตัวของเราผู้ชื่อว่า สัมภูตะ มีอานุภาพมาก อันบังเกิดขึ้นด้วยผลบุญ เพราะกรรมของตนเอง กรรมทุกอย่างที่นรชนสั่งสมไว้แล้ว ย่อมมีผลเสมอไป ขึ้นชื่อว่ากรรมแม้จะเล็กน้อย ที่จะไม่ให้ผลเป็นอันไม่มี มโนรถของเราสำเร็จแล้ว แม้ฉันใด มโนรถแม้ของจิตตบัณฑิต พระเชษฐาของเรา ก็สำเร็จแล้วฉันนั้น กระมังหนอ
ระลึกถึงพี่ชายในอดีตชาติว่า ความปรารถนาของพี่ชายนั้นจะสำเร็จเช่นความปรารถนาของพระองค์ในชาตินี้หรือไม่
มีผู้หนึ่งได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ กรรมทุกอย่างที่นรชนสั่งสมไว้แล้ว ย่อมมีผลเสมอไป ขึ้นชื่อว่ากรรมแม้จะเล็กน้อย ที่จะไม่ให้ผลเป็นอันไม่มี มโนรถของพระองค์สำเร็จแล้ว แม้ฉันใด ขอพระองค์โปรดทราบ แม้พระจิตตบัณฑิต ก็สำเร็จแล้ว ฉันนั้นเถิด
แต่ว่าความปรารถนาของสองท่านนี้ ผิดกัน
พระเจ้าสัมภูตะตรัสถามว่า
เจ้าหรือคือจิตตะ เจ้าได้ฟังคำนี้มาจากคนอื่น หรือว่าใครบอกเนื้อความนี้แก่เจ้า คาถานี้เจ้าขับดีแล้ว เราไม่มีความสงสัย เราจักให้บ้านส่วย ๑๐๐ ตำบลแก่เจ้า
แต่บุคคลนั้นกราบทูลว่า
ข้าพระพุทธเจ้า หาใช่จิตตะไม่ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังคำนี้มาแต่คนอื่น และ ฤาษีได้บอกเนื้อความนี้แก่ข้าพระพุทธเจ้า แล้วสั่งว่า เจ้าจงไปขับคาถานี้ ตอบถวายพระราชา พระราชาทรงพอพระทัยแล้ว จะพึงพระราชทานบ้านส่วยให้แก่เจ้าบ้าง กระมัง
พระเจ้าสัมภูตะได้ไปตามหาจิตตฤาษี ซึ่งเป็นพี่ชายของท่านในอดีต เมื่อ พระเจ้าสัมภูตะได้ไปพบ ก็ได้ตรัสว่า
ขอเชิญพระเชษฐา ทรงสร้างปรางปราสาท อันเป็นที่อยู่น่ารื่นรมย์สำหรับพระองค์เถิด จงทรงบำรุงบำเรอด้วยหมู่นางนารีทั้งหลาย โปรดให้โอกาสเพื่ออนุเคราะห์แก่หม่อมฉันเถิด แม้เราทั้งสองก็จะครอบครองอิสริยสมบัตินี้ร่วมกัน
แต่พี่ชายของท่านในอดีตชาติ ซึ่งในปัจจุบันชาตินี้เป็นบรรพชิตกล่าวตอบว่า
ดูกร มหาบพิตร พระองค์ทรงเห็นผลแห่งสุจริตอย่างเดียว ส่วนอาตมาภาพเห็นผลแห่งสุจริต และทุจริตที่สั่งสมไว้แล้ว เป็นวิบากใหญ่ จึงสำรวมตนเท่านั้น มิได้ปรารถนาบุตร ปศุสัตว์ หรือทรัพย์ ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้มีกำหนด ๑๐๐ ปี เป็นอย่างมาก ไม่ล่วงกำหนดนั้นไปได้เลย ย่อมจะเหือดแห้งไปเหมือนไม้อ้อที่ถูกตัดแล้ว มีแต่จะแห้งไปฉะนั้น
ในชีวิตอันจะต้องเหือดแห้งไปนั้น จะมัวเพลิดเพลินไปใย จะมัวเล่นคึกนองไปทำไม ความยินดีจะเป็นประโยชน์อะไร ประโยชน์อะไรด้วยการแสวงหาทรัพย์ จะมีประโยชน์อะไรด้วยบุตรและภรรยาสำหรับอาตมา
ดูกร มหาบพิตร อาตมาภาพเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูก อาตมาภาพรู้ชัดอย่างนี้ว่า มัจจุจะไม่รังควานเราเป็นอันไม่มี เมื่อบุคคลถูกมัจจุราชครอบงำแล้ว ความยินดีจะเป็นประโยชน์อะไร จะมีประโยชน์อะไรด้วยการแสวงหาทรัพย์
ดูกร มหาบพิตร ผู้จอมประชาชน ชาติของนรชนไม่สม่ำเสมอกัน กำเนิดแห่งคนจัณฑาลจัดว่าเลวทรามในระหว่างมนุษย์ เมื่อชาติก่อนเราทั้งสองได้อยู่ร่วมกันในครรภ์แห่งนางจัณฑาลี เพราะกรรมอันชั่วช้าของตน เราทั้งสองได้เกิดเป็นคนจัณฑาลในกรุงอุชเชนี อวันตีชนบท
ครั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้เกิดเป็นเนื้อ ๒ ตัวพี่น้อง อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
ครั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้เกิดเป็นนกออก ๒ ตัวพี่น้อง อยู่ที่ริมฝั่งรัมมทานที
ครั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว คราวนี้อาตมาภาพเกิดเป็นพราหมณ์ มหาบพิตรทรงสมภพเป็นกษัตริย์
นี่คือการสะสมที่สะสมมาต่างกัน และความยินดีพอใจ ฉันทะอัธยาศัยก็ต่างกัน พระเจ้าสัมภูตยังคงมีความปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ราชสมบัติ และการบำรุงบำเรอ แต่ผู้ที่เป็นพี่ชายของพระองค์ในอดีตชาติ ซึ่งในปัจจุบันนี้เกิดเป็นพราหมณ์ได้กล่าวว่า ดูกร มหาบพิตร พระองค์ทรงเห็นผลแห่งสุจริตอย่างเดียว ส่วนอาตมาภาพเห็นผลแห่งสุจริตและทุจริตที่สั่งสมไว้แล้ว เป็นวิบากใหญ่ จึงสำรวมตนเท่านั้น มิได้ปรารถนาบุตร ปศุสัตว์ หรือทรัพย์
ท่านผู้ฟังอยากจะเกิดอีก หรือไม่อยากเกิดอีกเลย ถ้าเปลี่ยนคำถามเป็นท่านผู้ฟัง อยากจะเห็น อยากจะได้ยิน อยากจะได้กลิ่น อยากจะได้รส อยากจะได้โผฏฐัพพะอะไรๆ ในวันนี้ และอะไรๆ อีกในวันพรุ่งนี้ ต่อไปทีละขณะๆ จากวันหนึ่งไปอีกวันหนึ่ง ก็คือ อีกภพหนึ่ง อีกชาติหนึ่ง หลังจากจุติแล้ว ก็ไม่ได้หมดความเยื่อใยยินดีในความต้องการในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ท่านปรารถนาเฉพาะผลของสุจริตกรรม คือ ปรารถนาอิฏฐารมณ์ รูปดีๆ เสียงดีๆ กลิ่นดีๆ รสดีๆ โผฏฐัพพะดีๆ ไม่ปรารถนาที่จะเกิดในอบายภูมิเลย ไม่ปรารถนาที่จะเกิดในนรก แต่ว่าท่านได้สะสมมาแล้วทั้งสุจริตกรรม และทุจริตกรรม แต่เวลาปรารถนา ปราถนาแต่ผลของสุจริตอย่างเดียว และมีความหวังในผลของสุจริต แม้ในภพหน้า แต่ผู้ที่เห็นผลทั้งสุจริต และทุจริต ย่อมเห็นวิบากอันใหญ่ แล้วแต่ว่าจะเป็นวิบากของสุจริต หรือทุจริต
ข้อความต่อไป
พราหมณ์ได้กล่าวต่อไปว่า
ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ถูกชรานำเข้าไปสู่ความตาย อายุของสัตว์ทั้งหลายเป็นของน้อย เมื่อนรชนถูกชรานำเข้าไปสู่ความตาย ย่อมไม่มีผู้ต้านทาน
ดูกร พระเจ้าปัญจาลราช มหาบพิตรจงทรงทำตามคำของอาตมาภาพ อย่าทรงทำกรรมทั้งหลายที่มีทุกข์เป็นกำไรเลย ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายถูกชรานำเข้าไปสู่ความตาย อายุของสัตว์ทั้งหลายเป็นของน้อย เมื่อนรชนถูกชรานำเข้าไปสู่ความตาย ย่อมไม่มีผู้ต้านทาน
ดูกร พระเจ้าปัญจาลราช มหาบพิตรจงทรงทำตามคำของอาตมาภาพ อย่าทรงกระทำกรรมทั้งหลายที่มีทุกข์เป็นผลเลย ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายถูกชรานำเข้าไปสู่ความตาย อายุของสัตว์ทั้งหลายเป็นของน้อย เมื่อนรชนถูกชรานำเข้าไปสู่ความตาย ย่อมไม่มีผู้ต้านทาน
ดูกร พระเจ้าปัญจาลราช มหาบพิตรจงทรงทำตามคำของอาตมาภาพ อย่าทรงทำกรรมทั้งหลายอันมีศีรษะเกลือกกลั้วด้วยกิเลสธุลี ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายถูกชรานำเข้าไปสู่ความตาย อายุของสัตว์ทั้งหลายเป็นของน้อย ชราย่อมกำจัดวรรณะของ นรชนผู้แก่เฒ่า
ดูกร พระเจ้าปัญจาลราช มหาบพิตรจงทรงทำตามคำของอาตมาภาพ อย่าทรงทำกรรมที่จะให้เข้าถึงนรกเลย
ห้ามได้ไหมเรื่องของกิเลส เพราะสะสมไว้มาก ปาณาติบาตแม้สัตว์เล็กๆ นิดๆ หน่อยๆ มีไหม นั่นก็เป็นกรรมที่จะทำให้เกิดในนรก แต่ถ้าผู้นั้นยังไม่หมดจากกิเลส ก็ย่อมมีกิเลสที่มีกำลังที่จะทำให้กระทำทุจริตกรรมได้
พระเจ้าปัญจาลราชตรัสตอบว่า
ข้าแต่ภิกษุ ถ้อยคำของพระคุณเจ้านี้ เป็นคำจริงแท้ทีเดียว ฤาษีกล่าวฉันใด คำนี้ก็เป็นฉันนั้น แต่ว่ากามทั้งหลายของข้าพเจ้ายังมีอยู่มาก กามเหล่านั้น คนเช่นกับข้าพเจ้าสละได้ยาก ช้างจมอยู่ท่ามกลางหล่มแล้ว ย่อมไม่อาจจะไปยังที่ควรได้ ด้วยตนเอง ฉันใด ข้าพเจ้าจมอยู่ในหล่ม คือ กามกิเลส ก็ยังไม่สามารถจะปฏิบัติ ตามทางของภิกษุได้ ฉันนั้น
ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ อนึ่ง บุตรจะพึงมีความสุขได้ด้วยวิธีใด บิดามารดาพร่ำสอนบุตรด้วยวิธีนั้น ฉันใด ข้าพเจ้าละจากโลกนี้ไปแล้ว จะพึงเป็นผู้มีความสุขยืนนานได้ด้วยวิธีใด ขอพระคุณเจ้าโปรดพร่ำสอนข้าพเจ้าด้วยวิธีนั้น ฉันนั้นเถิด
เป็นผู้ที่รู้จักตนเอง เป็นผู้ที่รู้กำลังของกิเลสของตนเองที่สะสมมาว่า จะทำอย่างบรรพชิตได้หรือไม่ได้ แต่ก็ยังปรารถนา ต้องการที่จะกระทำกรรมที่จะให้ได้รับผล คือ วิบากที่เป็นสุข
ท่านพราหมณ์กล่าวตอบว่า
ดูกร มหาบพิตร ผู้เป็นจอมประชาชน ถ้ามหาบพิตรไม่อาจละกามของมนุษย์
เหล่านี้ได้ไซร้ มหาบพิตรจงทรงเริ่มตั้งพลีกรรมอันชอบธรรมเถิด แต่การกระทำอันไม่เป็นธรรม ขออย่าได้มีในรัฐสีมาของมหาบพิตรเลย
ทูตทั้งหลายจงไปยังทิศทั้ง ๔ นิมนต์สมณพราหมณ์ทั้งหลายมา มหาบพิตรจงทรงบำรุงสมณพราหมณ์ทั้งหลายด้วยข้าว น้ำ ผ้า เสนาสนะ และคิลานปัจจัย มหาบพิตรจงเป็นผู้มีพระกมลจิตอันผ่องใส ทรงอังคาสสมณพราหมณ์ให้อิ่มหนำสำราญด้วยข้าว น้ำ ได้ทรงบริจาคทานตามสติกำลัง และทรงเสวยแล้ว เป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์ไม่ติเตียน จงเสด็จเข้าถึงสวรรคสถานเถิด
ดูกร มหาบพิตร ก็ถ้าความเมาจะพึงครอบงำมหาบพิตร ผู้อันหมู่นางนารีทั้งหลายแวดล้อมอยู่ มหาบพิตรจงทรงมนสิการคาถานี้ไว้ แล้วทรงพึงตรัสคาถานี้ในท่ามกลางบริษัทว่า เมื่อชาติก่อนเราเป็นคนนอนอยู่กลางแจ้ง อันมารดาจัณฑาลี เมื่อจะไปป่าให้ดื่มน้ำนมมาแล้ว นอนคลุกคลีอยู่กับสุนัขทั้งหลายจนเติบโต มาบัดนี้ คนนั้นใครๆ เขาเรียกกันว่า พระราชา
ถ้าระลึกชาติได้ ก็จะมีคติเตือนใจตนเอง แม้ว่ากำเนิดปัจจุบันชาตินี้จะเป็นถึงพระราชา แต่ว่าในอดีตชาติเคยเกิดเป็นคนจัณฑาล เคยเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เพราะฉะนั้น ปัจจุบันนี้ท่านผู้ฟังอาจจะ เป็นใครก็ได้ เกิดในตระกูลสูง มีทรัพย์สมบัติมาก แต่ว่าถ้ายังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า อดีตชาติท่านก็เคยเกิดในตระกูลต่ำบ้าง หรือว่าเป็นสัตว์ดิรัจฉานบ้าง เกิดในนรก ในอบายภูมิมาแล้ว เพราะฉะนั้น ความไม่เที่ยงของสังสารวัฏฏ์ยังมีอยู่ ก็จะต้องเป็นไปตามการให้ผลของสุจริตกรรมและทุจริตกรรม
เคยเป็นมาแล้วอย่างนี้หรือเปล่า ไม่ทราบได้ แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ไม่มีบุคคลอื่นจะรู้จักตัวของท่านดียิ่งกว่าตัวของท่านที่สติกำลังระลึกรู้สภาพนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง
มีหลายท่านที่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ท่านได้เล่าให้ฟังถึงชีวิตของท่านตามความเป็นจริง บางท่านกล่าวว่า ท่านได้รับการอบรมให้เป็นผู้ที่มีกิริยามารยาทที่เหมาะสม แต่แท้ที่จริงความหยาบกระด้างของจิตที่มีอยู่นั้น บุคคลอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้ กิริยาอาการภายนอกที่ปรากฏต่อบุคคลอื่น เป็นความสุภาพ เรียบร้อย อ่อนน้อมตามที่ได้อบรมสะสมมา แต่ความหยาบกระด้างในใจ ในบางครั้ง ในบางขณะ แม้ของกาย บุคคลอื่นไม่สามารถที่จะเห็น แต่ว่าผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานก็ยังรู้ว่า แท้ที่จริงตนเองนั้น ยังมีความหยาบกระด้าง มีมานะ มีความทะนงตน โดยที่บุคคลอื่นไม่ทราบ เพราะว่าไม่ได้แสดงกริยา หรือวาจาเช่นนั้นกับบุคคลอื่น
ชาติก่อนอาจจะเคยเป็นคนจัณฑาล เป็นสัตว์ดิรัจฉาน และการสะสมอัธยาศัยมาทุกขณะจนถึงปัจจุบันชาติ ย่อมมีปัจจัยทำให้สภาพของจิตประเภทนั้นๆ เกิดขึ้นได้ เวลาที่มีแขก หรือว่าตามกิริยามารยาทที่เป็นระเบียบของการรับประทานอาหาร ในกาลเทศะที่ท่านจะต้องกระทำอย่างนั้น ท่านก็กระทำได้เป็นปกติ เพราะได้รับการอบรมมา แต่เวลาที่หิวมากๆ เป็นตัวเองจริงๆ อาจจะมีบางขณะที่กิริยาขาดความสำรวม ความเรียบร้อยตามมารยาทที่คนอื่นเคยพบเห็น เป็นไปได้ไหม มีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้นไหม
เป็นการที่ให้เห็นถึงการสะสมของอดีตสังสารวัฏฏ์อันยาวนานของการเกิดเป็นบุคคลต่างๆ กัน ในชาติต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจะรู้ซึ้งถึงสภาพของจิต และเหตุปัจจัยที่สะสมมา ที่จะทำให้เกิดสภาพของจิตใจในแต่ละขณะตามความเป็นจริงได้
ท่านอาจจะเป็นผู้ที่มีกิริยาสุภาพอ่อนโยน บุคคลอื่นเห็นก็ชมเชย แต่มานะหรือความทะนงในใจซึ่งอาจจะเกิดขึ้นชั่วขณะ บุคคลอื่นจะรู้ได้ไหม ไม่ได้ แต่สิ่งนั้นยังมี เพราะเหตุว่าผู้ที่จะละมานะความทะนงตน หรือความถือตนนั้นได้เด็ดขาดเป็นสมุจเฉทต้องเป็นพระอรหันต์
เพราะฉะนั้น สภาพของจิตใจนี้วิจิตรมาก ตามสังสารวัฏฏ์ที่ผ่านมา ที่ท่านเคยเกิดเป็นบุคคลนั้นบ้าง เป็นบุคคลนี้บ้าง เป็นสัตว์ดิรัจฉานบ้าง เป็นคนในสกุลต่ำบ้าง ในสกุลสูงบ้าง สิ่งเหล่านั้นก็มาปรากฏให้เห็นในขณะที่สติระลึกรู้สภาพธรรมในขณะ นั้นๆ ตามความเป็นจริง
แม้ในปัจจุบันชาตินี้ เกิดในตระกูลสูง แต่กิริยามารยาทบางครั้ง บางโอกาสนั้นก็ไม่ได้เป็นไปตามกิริยามารยาทที่สมควร เพราะว่ายังมีเหตุปัจจัยในอดีตที่เคยเป็นบุคคลอื่นๆ สะสมมา ทำให้สภาพของจิตใจเช่นนั้นเกิดขึ้น กิริยาเช่นนั้นเกิดปรากฏได้
สำหรับเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ไม่อยากให้ท่านผู้ฟังข้ามข้อความแม้ เล็กๆ น้อยๆ ในพระไตรปิฎก เพราะเหตุว่าพระธรรมวินัยทั้งหมดเป็นประโยชน์เกื้อกูลและก็อาจจะตรงกับชีวิตของท่านผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งทำให้ท่านได้เข้าใจสภาพชีวิตตามความเป็นจริงของท่าน และแสดงให้เห็นว่า เรื่องของความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะนั้น ละยากจริงๆ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๗ ตอนที่ ๒๖๑ – ๒๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 241
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 242
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 243
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 244
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 245
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 246
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 247
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 248
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 249
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 250
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 251
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 252
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 253
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 254
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 255
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 256
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 257
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 258
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 259
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 260
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 261
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 262
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 263
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 264
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 265
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 266
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 267
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 268
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 269
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 270
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 271
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 272
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 273
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 274
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 275
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 276
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 277
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 278
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 279
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 280
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 281
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 282
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 283
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 284
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 285
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 286
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 287
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 288
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 289
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 290
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 291
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 292
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 293
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 294
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 295
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 296
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 297
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 298
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 299
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 300