แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 271
ครั้งที่ ๒๗๑
นี่เป็นชีวิตของท่านหรือเปล่า พิจารณาตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสถึงอัธยาศัย ซึ่งจะเป็นของท่านบ้างหรือเปล่าที่ว่า
กุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดี ของบุคคลคนนี้มีอยู่ สมัยต่อมาเรากำหนดรู้ใจบุคคลนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า กุศลธรรมของบุคคลนี้แลหายไป อกุศลธรรมปรากฏขึ้นเฉพาะหน้า
เป็นความจริงไหม ไม่ได้มีกุศลธรรมตลอดเวลา บางครั้ง บางขณะกุศลธรรมที่มีอยู่ก็หมดไป อกุศลธรรมก็เกิดปรากฏเฉพาะหน้า พระผู้มีพระภาคทรงรู้วาระจิตว่าขณะใดจิตของบุคคลใดเป็นกุศล แต่กุศลจิตก็หมดไป อกุศลจิตก็เกิดปรากฏเฉพาะหน้า
พระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้งต่อไปว่า
กุศลมูลที่บุคคลนั้นยังตัดไม่ขาดมีอยู่ เพราะกุศลมูลนั้น กุศลอย่างอื่นของเขาจักปรากฏด้วยประการฉะนี้ บุคคลนี้จักเป็นผู้ไม่เสื่อมต่อไปเป็นธรรมดา
ท่านเป็นผู้ที่สะสมอบรมกุศลเป็นอัธยาศัย ถึงแม้ว่าบางครั้ง บางขณะอกุศลเกิดก็จริง แต่ว่ากุศลมูลมีอยู่ยังไม่ได้ตัดขาด เพราะฉะนั้น ก็เปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่ไม่หัก ไม่เน่า ไม่ถูกลม และแดดเผา เกิดในต้นฤดูหนาวเก็บไว้ดีแล้ว อันบุคคลปลูกไว้ ณ ที่ดินอันพรวนดีแล้ว ในที่นาดี เมล็ดพืชเหล่านี้จะถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์นี่สำหรับบุคคลที่อกุศลมูลยังไม่ได้ถูกตัดขาด
ท่านพระอานนท์ก็ได้กราบทูลว่า เป็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อานนท์ เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า กุศล ธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดี ของบุคคลนี้มีอยู่ สมัยต่อมาเรากำหนดรู้ใจบุคคลนั้นด้วยใจอย่างนี้ว่า กุศลธรรมของบุคคลนี้หายไป อกุศลธรรมปรากฏขึ้นเฉพาะหน้า แต่กุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ เพราะกุศลมูลนั้น กุศลอื่นของเขาจักปรากฏด้วยประการฉะนี้ บุคคลนี้จักเป็นเป็นผู้ไม่เสื่อมต่อไปเป็นธรรมดา ฉันนั้นเหมือนกัน
ดูกร อานนท์ ตถาคตกำหนดรู้ใจบุคคลด้วยใจแม้อย่างนี้ กำหนดญาณเป็น เครื่องทราบอินทรีย์ของบุรุษด้วยใจแม้อย่างนี้ กำหนดรู้ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นต่อไป ด้วยใจ แม้ด้วยประการฉะนี้
รู้ถึงอัธยาศัย คือ ทรงมีพระญาณที่นอกจากจะกำหนดรู้ใจของบุคคลว่าขณะนั้นใจของบุคคลนั้นเป็นกุศลหรืออกุศลแล้ว ทรงมีญาณเป็นเครื่องทราบอินทรีย์ของคนนั้น และกำหนดรู้ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นต่อไปว่า เมื่อยังมีเชื้อของกุศลมูลอยู่ย่อมจะเป็นปัจจัย อาศัยธรรมนั้นเองทำให้กุศลอื่นเจริญต่อไป ฉะนั้นก็เป็นผู้ที่ไม่เสื่อม
นี่เป็นบุคคลที่ ๑ ทั้งหมดมี ๖ บุคคลด้วยกัน ซึ่งท่านจะพิจารณาได้ว่า ท่านอยู่ในบุคคลประเภทไหน
ข้อความต่อไปเป็นบุคคลที่ ๒
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อานนท์ อนึ่งเราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่ากุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้มีอยู่ สมัยต่อมาเราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลนั้นด้วยใจอย่างนี้ว่า อกุศลธรรมของบุคคลนี้หายไป กุศลธรรมปรากฏขึ้นเฉพาะหน้า แต่อกุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ เพราะอกุศลมูลนั้น อกุศลอื่นของเขาจักปรากฏด้วยประการอย่างนี้ บุคคลนี้จักเป็นผู้เสื่อมต่อไปเป็นธรรมดา เปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่ไม่หัก ไม่เน่า ไม่ถูกลม และแดดเผา เกิดในต้นฤดูหนาว เก็บไว้ดีแล้ว อันบุคคลปลูก ณ ที่ศิลาแท่งทึบ เธอพึงทราบไหมว่า เมล็ดพืชเหล่านี้จะไม่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า
เป็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า
กล่าวถึงบุคคลที่ถึงแม้ว่าในบางครั้งจะได้ทำกุศล แต่ว่าอกุศลมูลที่ยังตัดไม่ขาดนั้นมีอยู่ เพราะฉะนั้น จะเป็นพืช เป็นเชื้อ เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลต่อไป เปรียบเหมือนกับเมล็ดพืชที่ไม่เน่า ไม่หัก แต่ว่าปลูก ณ ที่ศิลาแท่งทึบ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ถึงความเจริญงอกงาม
ข้อความต่อไป เป็นบุคคลที่ ๓
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อานนท์ อนึ่งเราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่ากุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้มีอยู่ สมัยต่อมาเราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลนั้นด้วยใจอย่างนี้ว่า ธรรมขาวของบุคคลนี้แม้ประมาณเท่าน้ำที่สลัดออกจากปลายขนทรายไม่มี บุคคลนี้ประกอบด้วยอกุศลธรรมฝ่ายดำอย่างเดียว เมื่อตายไปจักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่หัก เน่า ถูกลมและแดดแผดเผาอันบุคคลปลูก ณ ที่ดินซึ่งพรวนดีแล้วในนาดี เธอพึงทราบไหมว่า เมล็ดพืชนี้จักไม่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า
เป็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า
พิจารณาได้ไหมกับจิตใจของท่าน ท่านเป็นบุคคลประเภทไหนใน ๓ ประเภท ประเภทที่ ๑ มีทั้งกุศลธรรมและอกุศลธรรม และบางครั้ง บางขณะอกุศลธรรมก็เกิดขึ้น ท่านอาจจะไปเพลิดเพลินกับการเล่น หรือว่ามหรสพ แต่พื้นของใจ คือ กุศลมูลยังมี เพราะฉะนั้น ก็มีปัจจัยที่จะทำให้กุศลนั้นเจริญงอกงามต่อไป คือ ยังฝักใฝ่ที่จะหันมาสู่การเจริญกุศล เป็นผู้ที่เจริญงอกงามต่อไป
ประเภทที่ ๒ กุศลธรรมก็มี อกุศลธรรมก็มี แต่ว่าบางครั้ง บางขณะเป็นผู้ที่กุศลธรรมปรากฏจริง แต่อกุศลมูลที่เป็นพื้นของใจยังไม่หมดสิ้น ยังไม่ได้ตัดขาด เพราะฉะนั้น ก็มีเชื้อ มีปัจจัยที่จะน้อมไปสู่อกุศลธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ นี่เป็นบุคคลประเภทที่ ๒
ประเภทที่ ๓ เป็นผู้ที่กุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้มีอยู่ สมัยต่อมาธรรมขาวของบุคคลนี้แม้ประมาณเท่าน้ำที่สลัดออกจากปลายขนทรายไม่มี บุคคลนี้ประกอบด้วยอกุศลธรรมฝ่ายดำอย่างเดียว ถ้าเป็นผู้ที่มีทั้งกุศลธรรม และอกุศลธรรม เป็นธรรมดา แต่ว่าฝักใฝ่ในอกุศลเสียจนกระทั่งไม่มีธรรมฝ่ายขาวปรากฏเลย ท่านพอจะสังเกตได้ไหมว่า มีไหมบุคคลที่ฝักใฝ่แต่ในอกุศลธรรม นี่เป็นบุคคลที่ ๓
ต่อไปเป็นบุคคลอีก ๓ ประเภท ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงสามารถบัญญัติบุคคล ๓ จำพวกนี้ออกเป็นส่วนละ ๓ อีกหรือพระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
สามารถ อานนท์ เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า กุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้มีอยู่ สมัยต่อมาเรากำหนดรู้ใจบุคคลนั้นด้วยใจอย่างนี้ว่า กุศลธรรมของบุคคลนี้หายไป อกุศลธรรมปรากฏขึ้นเฉพาะหน้า แต่กุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ กุศลมูลนั้นก็ถึงความถอนขึ้นโดยประการทั้งปวงด้วยประการอย่างนี้ บุคคลนี้จักเป็นผู้เสื่อมต่อไปเป็นธรรมดา เปรียบเหมือนถ่านไฟที่ไฟติดทั่วแล้ว ลุกโพลงสว่างไสว อันบุคคลเก็บไว้บนศิลาทึบ เธอพึงทราบไหมว่า ถ่านไฟเหล่านี้จะไม่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า
อย่างนั้นพระเจ้าข้า
อกุศลมูลถอนเลย เวลาฟังพระธรรมโดยตรงจากพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงบุคคลไว้โดยละเอียด หากท่านพิจารณาตาม ท่านก็สามารถจะทราบถึงความละเอียด หรือความต่างกัน แม้บุคคลในโลกนี้อกุศลธรรมก็มี กุศลธรรมก็มี หากสมัยต่อมากุศลธรรมของบุคคลนี้หายไป อกุศลธรรมปรากฏขึ้นเฉพาะหน้า แต่กุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่กุศลมูลนั้นก็ถึงความถอนขึ้นโดยประการทั้งปวง ฉะนั้นก็ไปสู่ความเสื่อม ผู้ที่เข้าใจผิด เห็นผิด ปฏิบัติผิด จะเหมือนกับกุศลมูลถูกถอนขึ้นหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ท่านจะพิจารณาเป็นแต่ละบุคคล เพราะถ้ามีความเห็นผิด มีความเข้าใจผิดในสภาพธรรมแล้ว ก็ย่อมทำให้อกุศลกรรมเพิ่มพูนมากขึ้นได้
ผู้ที่จะรู้ว่าบุคคลนั้นกุศลมูลถูกถอนขึ้นด้วยประการทั้งปวงแล้วหรือยัง ต้องเป็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้นจะต้องระวัง กุศลมีก็ควรจะเจริญให้มากขึ้น อกุศลยังไม่หมด เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยก็จริง แต่อย่าให้กุศลมูลที่มีอยู่ถูกถอนขึ้นโดยประการทั้งปวง
ข้อความต่อไปเป็นบุคคลที่ ๒ คือ พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกบุคคล ๓ นั่นเองละเอียดขึ้น ออกเป็นส่วนละ ๓ คือ ประเภทที่ ๑ กุศลมูลถูกถอนขึ้นด้วย
สำหรับบุคคลต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อานนท์ อนึ่งเราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่ากุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้มีอยู่ สมัยต่อมาเราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลนั้นด้วยใจอย่างนี้ว่า อกุศลธรรมของบุคคลนี้หายไป กุศลธรรมปรากฏขึ้นเฉพาะหน้าแต่อกุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ อกุศลมูลแม้นั้นก็ถึงความเพิกถอนขึ้นโดยประการทั้งปวง ด้วยประการอย่างนี้ บุคคลนี้จักไม่เสื่อมต่อไปเป็นธรรมดา เปรียบเหมือนถ่านไฟที่ไฟติดทั่วแล้ว ลุกโพลงสว่างไสวอันบุคคลเก็บไว้บนกองหญ้าแห้ง หรือบนกอไม้แห้งเธอพึงทราบไหมว่า ถ่านไฟเหล่านี้จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า
อย่างนั้นพระเจ้าข้า
อกุศลมูลถูกถอนขึ้น เวลานี้ทุกท่านมีทั้งกุศลธรรมบ้าง อกุศลธรรมบ้าง อกุศลมูลยังอยู่ กุศลมูลก็ยังอยู่ กุศลมูลไม่ได้ถูกถอน เพราะเหตุว่าทุกท่านยังฝักใฝ่สนใจธรรม ยังไม่ได้ถูกถอนขึ้นหมดสิ้นไป แต่อกุศลมูลถูกถอนแล้วหรือยัง ผู้ที่อกุศลมูลจะถูกถอนได้ คือ พระอริยเจ้าเป็นลำดับขั้น เพราะเหตุว่า ถึงแม้ว่าบุคคลนี้ กุศลธรรมก็ดีอกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้มีอยู่ สมัยต่อมาเราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลนั้นด้วยใจอย่างนี้ว่า อกุศลธรรมของบุคคลนี้หายไป กุศลธรรมปรากฏขึ้นเฉพาะหน้า แต่อกุศลมูลที่เขายังตัดไม่ขาดมีอยู่ อกุศลมูลแม้นั้นก็ถึงความเพิกถอนขึ้นโดยประการทั้งปวง ด้วยประการอย่างนี้ บุคคลนี้จักไม่เสื่อมต่อไปเป็นธรรมดา
ควรจะถอนอกุศลมูลใช่ไหม และถอนได้ เวลาที่บุคคลใดถอนอกุศลมูลขึ้นแล้วใครทราบ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระญาณที่รู้แจ้งวาระจิตของบุคคลนั้นว่า ขณะนั้นอกุศลมูลประเภทใดได้ถูกถอนขึ้น เป็นพระอริยเจ้าแล้ว
สำหรับบุคคลต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อานนท์ อนึ่งเราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่ากุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลนี้มีอยู่ สมัยต่อมาเราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลนั้นด้วยใจอย่างนี้ว่า อกุศลธรรมของบุคคลนี้แม้ประมาณเท่าน้ำที่สลัดออกจากปลายขนทรายไม่มี บุคคลนี้ประกอบด้วยธรรมที่ไม่มีโทษ เป็นธรรมฝ่ายขาวอย่างเดียว จักปรินิพพานในปัจจุบันทีเดียว เปรียบเสมือนถ่านไฟที่เย็น มีไฟดับแล้ว อันบุคคลเก็บไว้บนกองหญ้าแห้ง หรือบนกองไม้แห้ง เธอพึงทราบไหมว่า ถ่านไฟเหล่านี้จะไม่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า
อย่างนั้นพระเจ้าข้า
ถอนอกุศลมูลหมด ไม่เหลือเลย ไม่มีอกุศลธรรมแม้ประมาณเท่าน้ำที่สลัดออกจากปลายขนทราย เป็นธรรมฝ่ายขาวอย่างเดียว จักปรินิพพานในปัจจุบันทีเดียวเพราะฉะนั้น การพยากรณ์ว่า บุคคลใดจะเกิดในภูมิใดหลังจากที่สิ้นชีวิตแล้วจากโลกนี้ ไม่ใช่วิสัยของบุคคลที่ไม่มีญาณที่รู้อินทรีย์ หรือว่ารู้อัธยาศัย รู้ละเอียดถึงกรรมซึ่งเป็นปัจจัยของบุคคลนั้น ตั้งแต่ในอดีตอนันตชาติจนถึงปัจจุบันชาติ
ถ. สำหรับบุคคลประเภทที่ ๖ หมายถึงบุคคลที่ถอนอกุศลกรรมได้ทั้งหมด แสดงว่าอกุศลกรรมไม่มีอีกแล้ว แต่ว่าตามที่ศึกษามาทราบว่า แม้กุศลกรรมก็ต้องไม่ยึดถือ แต่หากกุศลกรรมของท่านยังเจริญอยู่เรื่อยๆ อย่างนี้ จะหมายความว่าอย่างไร
สุ. อกุศลมูลถูกถอนขึ้นหมด ฉะนั้นเหลือแต่ธรรมขาว ซึ่งไม่ได้หมายความว่า เป็นกุศลที่เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดภพชาติต่อไป แต่เป็นธรรมฝ่ายงาม เป็นธรรมฝ่ายดี เพราะว่าไม่มีความติดข้อง ไม่มีกิเลส ไม่มีเยื่อใย ไม่มีอกุศลแม้เพียงเล็กน้อยที่จะเป็นปัจจัยให้มีการเกิดอีก และธรรมที่เป็นธรรมฝ่ายขาวนั้น ไม่ใช่เป็นกุศลอย่างผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ซึ่งผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ยังเป็นปัจจัยให้เกิดอีกได้
สำหรับชีวิตของแต่ละท่านในขณะนี้ หากเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติก็สามารถจะทราบได้ถึงนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดกับท่านตามความเป็นจริงว่า มีเศษของกรรมบ้างไหม มีเศษของอกุศลกรรมในอดีตชาติที่ได้กระทำแล้วและให้ผลในปัจจุบันชาตินี้บ้างไหม
เคยมีท่านที่สงสัยว่า ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าไม่น่าจะยากจนขัดสน หรือว่ามีโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นั่นเป็นผลของอดีตอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว แต่ถ้าท่านเห็นความวิจิตรของการสะสมของกรรมในอดีตที่เนิ่นนานมา จนกระทั่งท่านเป็นผู้ละเอียดที่จะพิจารณาตัวของท่านจริงๆ แม้ในปัจจุบันชาตินี้จะเห็นว่า ยังมีกรรมเล็กกรรมน้อย เป็นปัจจัยที่จะทำให้ได้รับผลข้างหน้าต่างๆ กัน ตามลักษณะของกรรมนั้นๆ
ขอกล่าวถึงเศษของอกุศลกรรมของพระอริยเจ้า เพื่อท่านจะได้ไม่เป็นผู้ที่ ประมาท และพิจารณากรรมของท่านอย่างละเอียดยิ่งขึ้น อุบาสิกาท่านหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงตั้งไว้เป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าบรรดาอุบาสิกาสาวิกาผู้เป็นธัมมกติกา คือ ผู้แสดงธรรม อุบาสิกาท่านนั้น คือ ขุชชุตตราซึ่งเป็นทาสีของพระนางสามาวดี
พระธัมมปทัฏฐกถาแปล (ภาค ๒) อัปปมาทวรรควรรณนา มีข้อความว่า
พระภิกษุทั้งหลายกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็นางขุชชุตตราเล่า เพราะกรรมอะไรจึงเป็นหญิงค่อมเพราะกรรมอะไรจึงเป็นผู้มีปัญญามาก เพราะกรรมอะไรจึงบรรลุโสตาปัตติผล เพราะกรรมอะไรจึงเป็นคนรับใช้ของคนเหล่าอื่น
ถ้าท่านศึกษาประวัติของพระสาวกในครั้งนั้น ก็จะได้ทราบถึงอดีตกรรมของท่านเหล่านั้นด้วย ซึ่งจะทำให้ท่านขัดเกลายิ่งขึ้น ไม่ประมาทที่จะให้เกิดอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ในสมัยหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง เป็นผู้มีธาตุแห่งคนค่อม หน่อยหนึ่ง หญิงผู้อุปัฏฐายิกาคนหนึ่งห่มผ้ากัมพล ถือขันทองคำ ทำเป็นคนค่อม แสดงอาการเที่ยวไปแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ด้วยพูดว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าของพวกเราย่อมเที่ยวไปอย่างนี้แล อย่างนี้ เพราะผลอันไหลออกแห่งกรรมนั้น นางจึงเป็นหญิงค่อม
ไม่ได้ทำอะไรมากเลย ล้อเล่น ล้อเลียนเพียงเท่านั้น แต่ว่าสมควรไหมที่จะกระทำอย่างนั้น ขอให้ท่านลองคิดดู สมควร หรือไม่สมควร บุคคลนั้นเป็นบรรพชิตเป็นถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า การที่จะล้อเลียนลักษณะของบรรพชิตซึ่งควรที่จะเป็นที่เคารพนั้นด้วยจิตชนิดไหน ดูหมิ่น หรือว่าลบหลู่ หรือว่าเยาะเย้ย เป็นอกุศลจิต จะมากน้อยประการใดเป็นเรื่องของบุคคลนั้น ที่ว่า ห่มผ้ากัมพล ถือขันทองคำ ทำเป็นคนค่อม นี่ทางกายแสดงอาการเที่ยวไปแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ด้วยพูดว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าของพวกเราย่อมเที่ยวไปอย่างนี้แล อย่างนี้ ทั้งทางกาย และทางวาจา จิตขณะนั้นเป็นชวนะมากสักเท่าไรที่ถึงกับจะแสดงกิริยาอาการที่ล้อเลียนบุคคลที่ควรเคารพได้ดังนั้น เพราะผลอันไหลออกแห่งกรรมนั้น นางจึงเป็นหญิงค่อม
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๘ ตอนที่ ๒๗๑ – ๒๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 241
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 242
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 243
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 244
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 245
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 246
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 247
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 248
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 249
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 250
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 251
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 252
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 253
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 254
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 255
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 256
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 257
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 258
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 259
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 260
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 261
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 262
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 263
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 264
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 265
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 266
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 267
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 268
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 269
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 270
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 271
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 272
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 273
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 274
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 275
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 276
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 277
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 278
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 279
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 280
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 281
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 282
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 283
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 284
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 285
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 286
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 287
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 288
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 289
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 290
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 291
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 292
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 293
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 294
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 295
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 296
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 297
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 298
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 299
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 300