แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 272
ครั้งที่ ๒๗๒
นี่เป็นความวิจิตร ความละเอียดของการสะสมกรรม บางครั้งก็เป็นกุศล บางครั้งก็เป็นอกุศล บางครั้งก็แสดงออกในรูปนั้น ในลักษณะนี้ บางครั้งก็ทางกาย ทางวาจา ไม่เฉพาะแต่ทางใจเท่านั้น เพราะฉะนั้น ผลปรากฏคือว่า อุปนิสสยปัจจัย กรรมใดๆ ที่ได้กระทำ เป็นปัจจัยที่มีกำลังอย่างหนึ่งที่จะทำให้ผลเกิดขึ้นตามควรแก่สภาพของกรรมนั้น
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอดีตกรรมของนางขุชชุตตราแก่พระภิกษุทั้งหลายว่า
ในครั้งนั้น พระเจ้าพรหมทัตทรงครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระราชา ทรงนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ๘ องค์ ฉันอยู่ในพระราชวังเนืองนิตย์ อนึ่ง ในวันแรกพระราชาให้นั่งในพระราชมณเฑียร แล้วให้ราชบุรุษรับบาตร บรรจุบาตรให้เต็มด้วยข้าวปายาส แล้วรับสั่งให้ถวายพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายถือบาตรอันเต็มด้วยข้าวปายาสร้อน ต้องผลัดเปลี่ยนมือบ่อยๆ หญิงนั้นเห็นท่านทำอยู่อย่างนั้นก็ถวายวลัยงา ๘ วลัย (วลัย คือ กำไล หรือเสวียน) ซึ่งเป็นของๆ ตน กล่าวว่า ท่านจงวางไว้บนวลัยนี้แล้วถือเอา
พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นทำอย่างนั้น แล้วแลดูหญิงนั้น นางทราบความประสงค์ของท่านทั้งหลายจึงกล่าวว่า
ท่านเจ้าข้า ดิฉันหามีความต้องการวลัยเหล่านี้ไม่ ดิฉันบริจาควลัยเหล่านี้แล้วแก่ท่านทั้งหลายนั่นแล ขอท่านจงรับไป เพราะผลอันไหลออกแห่งกรรมนั้น ในบัดนี้นางจึงเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก มีปัญญามาก เพราะผลอันไหลออกแห่งการอุปัฏฐากซึ่งนางกระทำแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย นางจึงได้บรรลุโสดาปัตติผล นี่เป็น บุพกรรมในสมัยพุทธันดรของนาง
การที่ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าถือบาตรอันเต็มไปด้วยข้าวปายาสร้อนต้องผลัดเปลี่ยนมือบ่อยๆ และเป็นผู้ที่รู้ความประสงค์ของบุคคลอื่น มีกุศลจิตคิดที่จะเกื้อกูล และถวายวลัยงาของตน นี่คือ ผู้ที่รู้ความประสงค์ของบุคคลอื่น และยังเกื้อกูลบุคคลอื่นให้พ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อน เพราะผลอันไหลออกแห่งกรรมนั้น ในบัดนี้นางจึงเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก มีปัญญามาก เพราะรู้ถึงความต้องการของบุคคลอื่น และเกื้อกูลด้วยปัญญา
การที่จะเป็นผู้ฉลาด รู้ความประสงค์ของบุคคลอื่น และมีวิธีที่จะเกื้อกูลให้บุคคลนั้นพ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อน ก็ทำให้เป็นผู้ที่มนสิการ สามารถที่จะเป็นผู้ที่ทรงพระไตรปิฎกได้ เนิ่นนานมามากทีเดียวในการที่จะได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า เพราะเหตุว่ากรรมนี้เป็นบุพกรรมในสมัยพุทธันดรของนาง
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอดีตกรรมของนางขุชชุตตราแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
ส่วนในกาลแห่งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ธิดาของเศรษฐีกรุงพาราณสีคนหนึ่งจับแว่นนั่งแต่งตัวอยู่ ในเวลามีเงาเจริญ ในเวลาบ่าย
ลำดับนั้น พระภิกษุณีขีณาสพ พระภิกษุณีอรหันต์รูปหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้คุ้นเคยของนางได้ไปเพื่อเยี่ยมนาง ก็ในขณะนั้น หญิงรับใช้ไรๆ ในสำนักของธิดาเศรษฐีไม่มีเลย นางจึงกล่าวว่า
ดิฉันไหว้เจ้าข้า โปรดหยิบกระเช้าเครื่องประดับนั้นให้แก่ดิฉันก่อน
พระเถรีคิดว่า ถ้าเราจักไม่หยิบกระเช้าเครื่องประดับนี้ให้แก่นางไซร้ นางจักทำความอาฆาตในเรา แล้วบังเกิดในนรก แต่ว่าถ้าเราจักหยิบให้ นางจักเกิดเป็นหญิงรับใช้ของคนอื่น แต่ว่าเพียงความเป็นผู้รับใช้ของคนอื่นย่อมดีกว่าความเร่าร้อนในนรกแล พระเถรีนั้นอาศัยความเอ็นดู จึงได้หยิบกระเช้าเครื่องประดับนั้นให้แก่นาง เพราะผลอันไหลออกแห่งกรรมนั้น นางจึงเป็นคนรับใช้ของคนเหล่าอื่น
กว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ทราบว่าสะสมกุศลกรรม อกุศลกรรมในลักษณะต่างๆ มากมายสักเท่าไรที่วิจิตรจนกระทั่งทำให้ชีวิตของพระอริยสาวกทั้งหลายมีในลักษณะต่างๆ กัน เป็นหญิงค่อม เป็นคนรับใช้ แต่เป็นผู้ที่มีปัญญาเป็นไปได้ไหม ใครทำให้ ทำเองตามที่ได้สะสมมา นอกจากชีวิตของอุบาสิกาสาวิกาแม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นบรรพชิต ก็ไม่พ้นจากอดีตกรรมที่ได้สะสมมา และยังคงมีเศษกรรมที่เป็นปัจจัยทำให้มีชีวิตต่างๆ กันด้วย
สำหรับเรื่องของพระภิกษุสาวก ขุททกนิกาย อุทาน ลกุณฐกภัททิยสูตร มีข้อความว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระลกุณฐกภัททิยะกำลังเดินมาข้างหลังของพระภิกษุเป็นอันมาก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นท่านพระลกุณฐกภัททิยะเป็นคนค่อม มีผิวพรรณทรามไม่น่าดู พวกพระภิกษุดูหมิ่นโดยมาก เดินมาข้างหลังของพระภิกษุเป็นอันมากแต่ไกล
ครั้นแล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็นภิกษุนั่นเป็นคนค่อม มีผิวพรรณทรามไม่น่าดู พวกภิกษุดูหมิ่นโดยมาก กำลังเดินมาข้างหลัง ข้างหลังของภิกษุเป็นอันมากแต่ไกลหรือไม่
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า
เห็นแล้วพระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ก็สมาบัติที่ภิกษุนั้นไม่เคยเข้าแล้ว ไม่ใช่หาได้ง่าย ภิกษุนั้นทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยมที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่
ลำดับนั้นแลพระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า
รถ คือ อัตภาพ มีศีลอันหาโทษมิได้ หลังคา คือ บริขารขาว มีกรรม คือ สติอันเดียวแล่นไปอยู่ เชิญดูรถ คือ อัตภาพนั้น อันหาทุกข์มิได้ มีกระแสตัณหาอันตัดขาดแล้ว หาเครื่องผูกมิได้ แล่นไปอยู่
ท่านคงจะสังเกตพยัญชนะที่ว่า รถ คือ อัตภาพ มีกรรม คือ สติอันเดียวแล่นไปอยู่ ถ้าจะสะสมบารมีที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม จะขาดการเจริญสติไม่ได้เลย ถ้าไม่เจริญสติเป็นปกติตามควรแก่แต่ละชาติที่เป็นจริง ที่จะสะสมได้ ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้ง อริยสัจธรรมได้ แต่หากท่านเป็นผู้ที่มั่นคงในการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าท่านจะเกิดเป็นบุคคลใด ก็ยังมีการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม อบรมไป วันหนึ่งก็คงจะถึง แต่ท่านจะเห็นได้ไหมว่า การที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าจะยาวนานสักเท่าไร หลังจากที่ได้เฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ในอดีต ได้ฟังธรรม ได้ทำบุญกุศล ได้ถวายบิณฑบาตภัตตาหารต่างๆ แต่แม้กระนั้นก็ยังต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานมากทีเดียวกว่าที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม
สำหรับประวัติของท่านพระลกุณฐกภัททิยเถระ มีข้อความที่ท่านเล่าย้อนถอยหลังไปถึงอดีตกรรมที่ยาวนานมาก คือ
ในกัปที่แสนแต่ภัทรกัปนี้ พระพิชิตมารพระนามว่า ปทุมุตตระ ทรงรู้จบธรรมทั้งปวงเป็นพระผู้นำ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ครั้งนั้นท่านเล่าว่า เราเป็นบุตรเศรษฐีมีทรัพย์มากในนครหงสวดี เดินเที่ยวพักผ่อนอยู่ ได้ไปถึงสังฆาราม คราวนั้นพระผู้นำผู้ส่องโลกให้โชติช่วงพระองค์นั้น ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ได้ตรัสสรรเสริญพระสาวกผู้ประเสริฐกว่าภิกษุทั้งหลายที่มีเสียงไพเราะ
เราได้สดับพระธรรมเทศนานั้นและชอบใจ จึงได้กระทำสักการะแก่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระศาสดาแล้วปรารถนาฐานันดรนั้น
ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้นำชั้นพิเศษได้ตรัสพยากรณ์ในท่ามกลางพระ สงฆ์ว่า ในอนาคตกาล ท่านจักได้ฐานันดรนี้สมดังมโนรถความปรารถนาในกัปที่แสนแต่ภัทรกัปนี้ พระศาสดามีพระนามว่า โคดม ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เศรษฐีบุตรผู้นี้จักได้เป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น เป็นโอรสอันธรรมเนรมิต เป็นสาวกของพระศาสดา มีนามชื่อว่าภัททิยะ
ฟังพยากรณ์แล้ว จะเห็นได้ว่า นานมากกว่าที่จะได้สมความปรารถนา แต่ก็ต้องอบรมสะสมไปจริงๆ โดยเฉพาะผู้ที่ปรารถนาจะเป็นผู้ที่เลิศในทางหนึ่งทางใด ท่านจะต้องสะสมบุญกุศลมากจึงจะสมความปรารถนานั้นได้ และในระหว่างที่สะสมบุญกุศลนั้น ชีวิตของท่านก็จะระหกระเหินวนเวียนไปอย่างไรนั้น ข้อความต่อไปมีว่า
เพราะกรรมที่ได้ทำไว้ดีนั้น และเพราะการตั้งเจตจำนงไว้ เราละร่างมนุษย์และได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แล้วต่อจากนั้นกาลเวลาก็ผ่านไปจนถึงในกัปที่ ๙๒ แต่ภัทรกัปนี้ พระพิชิตมารพระนามว่าผุสสะ เป็นผู้นำยากที่จะหาผู้เสมอ ยากที่จะข่มขี่ได้สูงสุดกว่าโลกทั้งปวง ได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว และพระพุทธองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยจรณะเป็นผู้ประเสริฐ เที่ยงตรง ทรงมีความเพียรเผากิเลส ทรงแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ ทรงเปลื้องสัตว์เป็นอันมากจากกิเลสเครื่องจองจำ เราเกิดเป็นนกดุเหว่าขาวในพระอารามอันน่าเพลิดเพลินเจริญใจของพระผุสสสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเราอยู่ที่ต้นมะม่วงใกล้พระคันธกุฎี
ครั้งนั้น เราเห็นพระพิชิตมารผู้สูงสุด เป็นพระทักขิไณยบุคคล เสด็จไปบิณฑบาต จึงทำจิตให้เลื่อมใส แล้วร้องด้วยเสียงอันไพเราะ ครั้งนั้นเราบินไปสวนหลวง คาบผลมะม่วงที่สุกดี มีเปลือกเหมือนทองคำมา แล้วน้อมเข้าไปถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลานั้นพระพิชิตมารผู้ประกอบด้วยพระกรุณา ทรงทราบวาระจิตของเรา จึงทรงรับบาตรจากมือของภิกษุผู้อุปัฏฐาก เรามีจิตร่าเริง ถวายผลมะม่วงแด่พระมหามุนี เราใส่บาตรและพนมปีก ร้องด้วยเสียงอันไพเราะ น่ายินดี เสนาะน่าฟัง เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า แล้วไปนอนหลับ
ครั้งนั้น นกเหยี่ยวผู้มีใจชั่วช้า ได้โฉบเอาเราผู้มีจิตเบิกบาน มีอัธยาศัยความรักในพระพุทธเจ้าไปฆ่าเสีย เราจุติจากอัตภาพนั้น ไปเสวยมหันตสุข ณ สวรรค์ชั้นดุสิต แล้วมาสู่กำเนิดมนุษย์ เพราะกรรมนั้นพาไปในภัทรกัปนี้
ผ่านไปยาวนานมาก แม้ว่าจนถึงภัทรกัปแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะบรรลุธรรมได้โดยง่าย
ข้อความต่อไปมีว่า
ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าผู้มีพระนามตามพระโคตรว่ากัสสปะ เป็นเผ่าพันธุ์พรหม มีพระยศใหญ่ ประเสริฐกว่านักปราชญ์ ได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว พระองค์ทรงยังพระศาสนาให้โชติช่วง ครอบงำเดียรถีย์ผู้หลอกลวง ทรงแนะนำเวไนยสัตว์ พระองค์พร้อมทั้งพระสาวกปรินิพพานแล้ว เมื่อพระพุทธองค์ผู้เลิศในโลกปรินิพพานแล้ว ประชุมชนเป็นอันมากที่เลื่อมใสจักทำพระสถูปของพระศาสดา เพื่อต้องการจะบูชาพระพุทธเจ้า เขาปรึกษากันอย่างนี้ว่า จักช่วยกันทำพระสถูปของพระศาสดาผู้แสวงหาพระคุณอันใหญ่ให้สูง ๗ โยชน์ ประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ
ครั้งนั้น เราเป็นจอมทัพของพระเจ้าแผ่นดินแคว้นกาสีพระนามว่ากิกิ ได้พูดลดประมาณที่พระเจดีย์ของพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีประมาณเสีย
ครั้งนั้น ชนเหล่านั้นได้ช่วยกันทำเจดีย์ของพระศาสดาผู้มีพระปัญญากว่านรชน สูงโยชน์เดียว ประดับด้วยรัตนะนานาชนิดตามถ้อยคำของเรา เพราะกรรมที่ทำไว้ดีนั้น และเพราะการตั้งเจตจำนงไว้ เราละร่างมนุษย์นั้นแล้ว ได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ก็ในภพสุดท้าย ในบัดนี้เราเกิดในสกุลเศรษฐีอันมั่งคั่งสมบูรณ์ มีทรัพย์มากมาย ในพระนครสาวัตถีอันประเสริฐ เราได้เห็นพระสุคตเจ้าในเวลาเสด็จเข้าพระนคร ก็อัศจรรย์ใจจึงบรรพชา ไม่นานก็ได้บรรลุอรหัต
ไม่นานสำหรับในชาตินี้ใช่ไหม เวลาที่ท่านได้ยินคำว่า บวชแล้วไม่นานก็บรรลุอรหัต ก็เป็นไปได้ เพราะเหตุว่าได้สะสมบารมีมาพอที่จะบรรลุเมื่อใด ก็บรรลุเมื่อนั้นแต่ไม่ใช่ว่า ไม่เคยเจริญอบรม ไม่เคยสะสมอินทรีย์บารมีมาเลย พอบวชในชาตินั้น ไม่นานก็บรรลุอรหัต ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในลักษณะนั้น
ข้อความต่อไปมีว่า
เพราะกรรม คือ การลดประมาณของพระเจดีย์เราได้ทำไว้ เราจึงมีร่างกายต่ำเตี้ย ควรจะเป็นร่างกายกลม เราบูชาพระพุทธเจ้าสูงสุดด้วยเสียงอันไพเราะ จึงได้ถึงความเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายที่มีเสียงไพเราะ เพราะการถวายผลไม้แด่พระพุทธเจ้า และเพราะการอนุสรณ์ถึงพระพุทธคุณ เราจึงสมบูรณ์ด้วยสามัญผล ไม่มีอาสวะอยู่ เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้วดังนี้
ทราบว่า ท่านพระลกุณฐกภัททิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล
จบ ลกุณฐกภัททิยเถราปทาน
ปัจจุบันท่าน หรือมิตรสหายจะเป็นอย่างไร ต้องมีเหตุที่ได้กระทำไว้แล้วทั้งนั้น แม้แต่การที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในเวลาไม่นาน ก็ต้องหมายความว่า ได้เจริญสะสมอบรมเหตุที่จะทำให้ในชาตินี้ เมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ก็ไม่นาน สามารถที่จะประจักษ์แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมนั้นได้อย่างรวดเร็ว
การสะสมกุศล อกุศล ในอดีตมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน และยังคงสะสมต่อไป ซึ่งถ้าท่านไม่ระแวดระวังกาย วาจา ใจอย่างละเอียดจริงๆ จะทำให้เป็นอกุศลกรรมที่ทำให้ แม้จะได้รับผลโดยการเกิดในอบายภูมิแล้ว แต่ภายหลังได้เกิดในกามสุคติภูมิ ก็ยังคงมีเศษของกรรมทำให้ท่านได้รับผลของอกุศลกรรมอย่างนั้นอยู่
ถ. คำว่า สาวก แปลว่า ผู้ฟัง หรือผู้ฟังพระพุทธเจ้าเท่านั้นจึงจะเป็นสาวกได้ หรือหมายถึงพระอริยบุคคลเท่านั้น
สุ. ถ้าเพียงฟังแล้วไม่ประพฤติปฏิบัติตาม ชื่อว่าฟังหรือเชื่อฟังไหม ฟังมาก ทั้ง ๓ ปิฎก มีความเข้าใจในพระวินัยปิฎก ในพระสุตตันตปิฎก ในพระอภิธรรมปิฎก แต่ไม่ปฏิบัติให้ตรงตามที่ได้ฟัง อย่างนั้นจะชื่อว่าเป็นสาวกหรือเปล่า
ฟังเพื่ออะไร บางท่านก็อาจฟังเพื่อจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ฟังแต่คนอื่นไม่ได้ฟัง แต่ว่าผู้ฟังจริงๆ ฟังพระธรรม เพื่อน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติตาม ขัดเกลาจิตใจ และเพื่อที่จะได้เจริญสติปัญญา รู้สภาพธรรมตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้ ไม่ผิด ไม่คลาดเคลื่อน จึงชื่อว่าเป็นผู้ฟัง ไม่ใช่เพียงแต่ฟังเท่านั้น แต่ไม่ประพฤติปฏิบัติตาม
ขอกล่าวถึงประวัติของพระสาวกอีกท่านหนึ่ง ซึ่งจะเกื้อกูลบางท่านก็อาจจะเป็นได้ ถ้าท่านกำลังกระทำอย่างนั้นอยู่ ก็จะได้ไม่กระทำ มิฉะนั้นแล้วจะได้รับเศษกรรมอย่างพระสาวกท่านนี้
ขุททกนิกาย อปาทาน โมฆราชเถราปทานที่ ๑๐
ท่านพระโมฆราชะได้เล่าอดีตของท่าน ย้อนไปถึงในกัปนับจากภัทรกัปนี้ไปหนึ่งแสนกัป ในสมัยพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ มีข้อความว่า
ครั้งนั้น เราเป็นผู้ประกอบในหนทางแห่งการงานของบุคคลอื่นในสกุลหนึ่ง ในพระนครหงสวดี ทรัพย์สินอะไรๆ ของเราไม่มี เราอาศัยอยู่ที่พื้นซึ่งเขาทำไว้ที่หอฉัน เราได้ก่อไฟที่พื้นหอฉันนั้น พื้นศิลาจึงดำไปเพราะไฟลน ครั้งนั้นพระโลกนาถผู้ประกาศสัจจะ ๔ ได้ตรัสสรรเสริญพระสาวกผู้ทรงจีวรเศร้าหมองในที่ประชุมชน
เราชอบใจในคุณของท่าน จึงได้ปฏิบัติพระตถาคต ปรารถนาฐานันดรอันสูงสุด คือ ความเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๘ ตอนที่ ๒๗๑ – ๒๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 241
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 242
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 243
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 244
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 245
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 246
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 247
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 248
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 249
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 250
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 251
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 252
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 253
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 254
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 255
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 256
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 257
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 258
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 259
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 260
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 261
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 262
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 263
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 264
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 265
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 266
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 267
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 268
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 269
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 270
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 271
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 272
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 273
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 274
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 275
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 276
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 277
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 278
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 279
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 280
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 281
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 282
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 283
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 284
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 285
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 286
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 287
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 288
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 289
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 290
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 291
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 292
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 293
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 294
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 295
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 296
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 297
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 298
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 299
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 300