แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 273
ครั้งที่ ๒๗๓
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ได้ตรัสกับพระสาวกทั้งหลายว่า
จงดูบุรุษนี้ ผู้มีผ้าห่มน่าเกลียด ผอมเกร็ง มีหน้าผ่องใสเพราะปีติ ประกอบด้วยทรัพย์ คือ ศรัทธา มีกายและใจสูงเพราะปีติ ร่าเริง ไม่หวั่นไหว หนาแน่นไปด้วยธรรมที่เป็นสาระ บุรุษนี้ชอบใจในคุณของภิกษุผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง ปรารถนาฐานันดรนั้นอย่างจริงใจ
ข้อความต่อไป ท่านเล่าว่า
เราได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นและเบิกบาน ถวายบังคมพระพิชิตมารด้วยเศียรเกล้า ทำแต่กรรมที่ดีงามในศาสนาของพระชินเจ้าตราบเท่าสิ้นชีวิต เพราะกรรมที่ทำไว้ดีนั้น และเพราะการตั้งเจตจำนงไว้ เราละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะกรรม คือ การเอาไฟลนบนพื้นที่หอฉัน เราจึงถูกเวทนาเบียดเบียนไหม้แล้วในนรกพันปี ด้วยเศษกรรมที่ยังเหลือนั้น เราเป็นมนุษย์เกิดในสกุล จึงเป็นผู้มีรอยเป็นเครื่องหมายถึง ๕๐๐ ชาติโดยลำดับ เพราะอำนาจของกรรมนั้น เราจึงเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยโรคเรื้อน เสวยมหันต์ทุกข์ถึง ๕๐๐ ชาติเหมือนกัน
ในภัทรกัปนี้ เรามีจิตเลื่อมใส เลี้ยงดูพระอุปริฏฐผู้มียศให้อิ่มหนำด้วยบิณฑบาต เพราะเศษกรรมที่ยังเหลือนั้น และเพราะการตั้งเจตจำนงไว้ เราละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
เมื่อถึงภพสุดท้าย ได้บังเกิดในสกุลกษัตริย์ เมื่อพระชนกล่วงไปแล้ว ก็ได้เป็นพระมหาราชา เราถูกโรคเรื้อนครอบงำ กลางคืนไม่ได้รับความสุข เพราะสุขที่เกิดจากความเป็นพระเจ้าแผ่นดินหาประโยชน์ไม่ได้ ฉะนั้นเราจึงชื่อว่าโมฆราชะ เราเห็นโทษของร่างกายจึงได้บวชเป็นบรรพชิต มอบตัวเป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรีผู้ประเสริฐ เราเข้าไปเฝ้าพระผู้นำนรชน พร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก ได้ทูลถามปัญหาอันละเอียดลึกซึ้งว่า โลกนี้ โลกหน้า พรหมโลก กับทั้งเทวโลก ข้าพระองค์ไม่ทราบความเห็นของพระองค์ผู้ทรงพระนามว่าโคดมผู้มียศ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงได้มีปัญหามาถึงพระองค์ผู้ทรงเห็นล่วงสามัญชน ข้าพระองค์จะพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงจะไม่เห็น
ถูกทรมานด้วยโรคเรื้อน จนกระทั่งอยากพ้นไปเสียจากมนุษย์โลก เทวโลกพรหมโลก ทั้งหมด แต่ไม่ทราบวิธีที่จะพิจารณาอย่างไรจึงจะพ้นไปได้
ข้อความต่อไปมีว่า
พระพุทธเจ้าผู้ทรงรักษาโรคทุกอย่างให้หายได้ ได้ตรัสกับเราว่า ดูกร โมฆราชะท่านจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความเห็นว่าตัวตนเสีย บุคคลพึงข้ามพ้นมัจจุราชไปได้ด้วยอุบายเช่นนี้ ท่านพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้ มัจจุราชจึงจะไม่เห็น
เราเป็นผู้ไม่มีผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์เป็นภิกษุ พร้อมกับเวลาจบพระคาถา เราเป็นผู้ถูกโรคเรื้อนเบียดเบียน ถูกเขาว่ากล่าวว่า วิหารอย่าเสียหายเสียเลย จึงไม่ได้อยู่ในวิหารของสงฆ์ เรานำเอาผ้ามาจากกองหยากเยื่อ ป่าช้า และหนทาง แล้วทำผ้าสังฆาฏิด้วยผ้าเหล่านี้ ทรงจีวรที่เศร้าหมองพระผู้นำชั้นพิเศษ ผู้เป็นนายแพทย์ใหญ่ทรงพอพระทัยในคุณข้อนั้นของเรา จึงทรงตั้งเราไว้ในตำแหน่งแห่งภิกษุผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายที่ทรงจีวรเศร้าหมอง เราสิ้นบุญและบาป หายโรคทุกอย่าง ไม่มีอาสวะ ดับสนิทเหมือนเปลวไฟที่หมดเชื้อ เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้
ทราบว่า ท่านพระโมฆราชเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล
จบโมฆราชเถราปทาน
อาจจะมีท่านผู้หนึ่งผู้ใดทำอย่างนี้บ้างหรือเปล่า เอาไฟลนที่พื้นหอฉัน ต้องระวังอีกเหมือนกัน เล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ได้ ถ้าทำไปด้วยการที่ไม่เห็นว่าเป็นสถานที่ๆ ควรเคารพสักการะ
สำหรับเรื่องของพระสาวกทั้งหลายนี้ จะเห็นได้ว่า ท่านทั้งหลายเหล่านั้น บางท่านเป็นผู้ที่ยากจนขัดสน ไร้ทรัพย์ เป็นคนค่อม เป็นโรคเรื้อน แต่ว่าถ้าท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่บรรลุคุณธรรม คือ หมดกิเลส ท่านเหล่านั้นก็ย่อมเป็นผู้ที่ได้รับความเคารพ ยกย่องอย่างสูงในคุณธรรมของท่าน ไม่ว่าอดีตท่านจะเป็นบุคคลใดก็ตาม แสดงให้เห็นว่าสำหรับพระพุทธศาสนานั้น จุดประสงค์ คือ การขัดเกลากิเลสให้หมดจด จึงจะเป็นผู้ที่ควรแก่การเคารพยกย่อง
ข้อความในพระไตรปิฎกมีตอนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้ที่เกิดมาในสกุลต่ำ แต่เมื่อท่านบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ ก็ได้รับความเคารพ ยกย่องอย่างสูง ใน ขุททกนิกาย เถรคาถา สุนีตเถรคาถา มีข้อความว่า
เราเกิดในสกุลต่ำ เป็นคนยากจน มีเครื่องบริโภคน้อย การงานของเราเป็นการงานต่ำ เราเป็นคนเทดอกไม้ เราถูกมนุษย์เกลียดชัง ดูหมิ่น และแช่งด่า เราถ่อมตน ไหว้หมู่ชนเป็นอันมาก ครั้งนั้น เราได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้เป็นมหาวีรบุรุษ ห้อมล้อมไปด้วยพระภิกษุสงฆ์ เสด็จเข้าไปสู่พระนครอันอุดมของชาวมคธเพื่อบิณฑบาต เราจึงวางกระเช้าลง แล้วเข้าไปถวายบังคมพระองค์ผู้เป็นอุดมบุรุษพระองค์ผู้เป็นอุดมบุรุษได้ประทับยืนอยู่เพื่ออนุเคราะห์เรา ครั้งนั้นเราได้ถวายบังคมพระยุคลบาทของพระศาสดา แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วจึงทูลขอบรรพชากับพระองค์ผู้สูงสุดกว่าสัตว์ทั้งปวง
ลำดับนั้น พระศาสดาผู้มีพระกรุณาอนุเคราะห์สัตว์โลกทั้งปวง ได้ตรัสเรียกเราว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด
พระดำรัสนั้นเป็นอุปสมบทของเรา เมื่อเราอุปสมบทแล้ว อยู่ในป่าแต่ผู้เดียว ไม่เกียจคร้าน ได้ทำตามพระดำรัสของพระศาสดาผู้พิชิตมารที่ทรงสั่งสอนเรา ในราตรีปฐมยาม เราก็ระลึกถึงชาติก่อนๆ ได้ ในมัชฌิมยามก็ได้ทิพยจักษุ ในปัจฉิมยามก็ทำลายกองแห่งความมืด คือ อวิชชาได้ ครั้นรุ่งราตรีพระอาทิตย์อุทัยเทพเจ้าเหล่าอินทร์และพรหมทั้งหลายพากันมาประนมอัญชลีนมัสการเรา พร้อมกับกล่าวว่า
ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษอาชาไนย ขอนอบน้อมต่อท่าน ข้าแต่ท่านผู้เป็นอุดมบุรุษ ขอนอบน้อมต่อท่าน ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นผู้สิ้นอาสวะ เป็นทักขิไณยบุคคล
ลำดับนั้น พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นเราห้อมล้อมด้วยหมู่เทพเจ้า จึงทรงยิ้มแย้ม และทรงตรัสเนื้อความนี้ว่า บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะคุณธรรม ๔ ประการ คือ ตบะ ๑ พรหมจรรย์ ๑ สัญญมะ ๑ ทมะ ๑ ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวบุคคลผู้ประกอบด้วยคุณธรรม ๔ ประการ มีตบะ เป็นต้นนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ผู้อุดม
ถ้าเป็นผู้ที่เกิดในตระกูลสูง แต่เป็นผู้ที่มีกิเลสมาก เทวดาและพรหมทั้งหลายก็ไม่นมัสการประนมมืออัญชลี แต่บุคคลที่แม้จะเป็นผู้ที่เกิดในตระกูลต่ำ การงานต่ำ เป็นคนเทดอกไม้ เมื่อหมดสิ้นกิเลสแล้ว แม้แต่เทวดาและพรหมซึ่งกำเนิดสูงกว่า ก็ย่อมนมัสการ แสดงความนอบน้อมในความที่เป็นผู้ทรงคุณนั้น นี่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงจากพระพุทธศาสนา ไม่ว่าท่านจะมีอาชีพใด มีการงานอย่างใด ถ้าท่านเป็นผู้ที่ละกิเลสได้ ก็เป็นผู้ที่บุคคลอื่นบูชาได้
ถ. ท่านทำหอฉันไหม้นั้น ท่านเจตนาหรือเปล่า
สุ. เรื่องของใจเป็นเรื่องยากที่บุคคลอื่นจะรู้ได้ แม้แต่ท่านเอง ถ้าท่านไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ท่านจะทราบได้ไหมว่า การแสดงความเคารพ ความนอบน้อมแต่ละครั้งนั้น มากน้อยต่างกันอย่างไร ฉะนั้น ถ้าเป็นการกระทำที่เป็นไปด้วยอกุศลจิต ก็ไม่มีผู้อื่นรู้ได้ว่า ขณะนั้นทำไปด้วยความลบหลู่ ด้วยความไม่เห็นว่าเป็นสถานที่ที่ควรสักการะหรือเปล่า
เรื่องของจิตเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ถ้าท่านไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ท่านจะไม่ทราบถึงกิเลสที่ละเอียดจริงๆ ที่มีอยู่ในจิตใจ ที่ทำให้สภาพของจิตแต่ละขณะไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่บุคคลอื่นจะรู้ได้ นอกจากตัวของท่านเอง
บางท่านยังไม่ทราบเรื่องของการเจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ท่านฟังมาพอสมควร ขณะที่ฟังก็เข้าใจ แต่เวลาที่สติเกิดบ้างจริงๆ ท่านกล่าวว่าท่านสับสน คือ ยังไม่ใช่ความรู้ชัดจริงๆ ว่า ขณะนั้นเป็นการเจริญอบรม สติปัฏฐานแล้วหรือยัง
ถ. การปฏิบัติเรื่องสติปัฏฐาน เบื้องต้นจะทำอย่างไรดีครับ
สุ. เวลาที่จะทำวิปัสสนา จะยุ่งยาก เพราะว่าจะทำ จะทำได้อย่างไร และจะถูกได้อย่างไรถ้ามีตัวตนที่จะทำอย่างนั้น พอเริ่มก็จะทำ หมายความว่า มีความต้องการที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม
ถ. เวลาปฏิบัติ เป็นตัวเราไปเสียทุกที ทางตาก็เราเห็น เห็นเป็นนามอะไรต่ออะไร นึกไป นึกมา แพร่สะพัดไปหมด ไม่เข้านามรูปปริจเฉทญาณอะไรที่ว่านี้ ได้โปรดอธิบายอีกตรั้ง
สุ. ทางตา ระลึกเป็นปกติธรรมดาได้ไหม ประการแรกที่สุด ที่ท่านจะเจริญความรู้จนถึงความสมบูรณ์ของปัญญา ที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ต้องมาจากความสามารถที่จะระลึกถึงลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่โดยขั้นการฟัง แต่เวลาที่จะระลึกเพื่อที่จะได้รู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน จะต้องสามารถรู้ความต่างกันของรูปธรรมกับนามธรรม คือ ที่กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ทางตา สังเกต สำเหนียกรู้ในลักษณะ รู้ว่าลักษณะรู้ ไม่ใช่รูปธรรม ไม่มีสีสัน แต่เห็นสี เพราะฉะนั้น ที่กำลังเห็น คือ กำลังรู้นี้ เป็นแต่เพียงสภาพรู้ชนิดหนึ่ง ซึ่งสภาพรู้ในวันหนึ่งๆ มีหลายลักษณะ ทางตาสภาพรู้ คือ ขณะที่กำลังเห็น ทางหูสภาพรู้ คือ ขณะที่กำลังได้ยิน เป็นนามธาตุชนิดหนึ่ง เป็นสภาพรู้แต่ละทาง และสิ่งที่ปรากฏก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏแต่ละทางเท่านั้น ไม่ใช่ทำอย่างอื่น พอจะเป็นไปได้ไหมอย่างนี้ ปกติธรรมดา แต่อย่าไปทำ
ถ. เพื่อจะให้การปฏิบัติแน่วแน่ และไม่กระสับกระส่าย เราจะใช้ควบกับ อานาปานสติ ผมตั้งชื่อพิเศษของผมว่า อานาปานสติปัฏฐานได้ไหมครับ
สุ. โดยมากความต้องการผลจะทำให้ท่านหาวิธี ลองผสม ลองใช้อย่างนั้นกับอย่างนี้รวมกัน เผื่อว่าจะมีสัมปชัญญะบริบูรณ์ขึ้น และสติจะได้ไม่หลงลืม จดจ้องอยู่ที่หนึ่งที่ใดได้นาน นี่เป็นลักษณะของความต้องการ อย่างถ้าท่านต้องการให้สติเกิดติดต่อกันนานๆ แต่ทางตาก็ระลึกไม่ได้ ระลึกไม่ถูก ทางหูระลึกไม่ถูก ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ปกติธรรมดาระลึกไม่ถูก เพราะฉะนั้น ก็มีความต้องการที่จะให้สติระลึกอยู่ที่หนึ่งที่ใด ก็มีการผสมรวมกันขึ้น เพื่อจะให้สติเกิดที่นั่นมากๆ นี่เป็นเพราะความต้องการ การเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานนั้น รู้แล้วละ แต่ถ้ายังไม่รู้ ไม่ละ และลักษณะที่จดจ้อง เป็นลักษณะที่ละหรือเปล่า
ถ. ที่ผมเรียกว่าอานาปานสติปัฏฐานนี้ ไปพบหลักฐานเข้า หลักฐานของท่านอาจารย์พระธรรมกถึก คือ ท่านมีตำราอานาปานสติ ๓ เล่ม ไม่ต้องไปหายใจเข้าหายใจออก ปฏิบัติเลย ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานนี่แหละ จตุกะที่ ๔ จะได้ไหม
สุ. ธัมมานุปัสนา การระลึกลักษณะของสภาพธรรม และธรรมก็กว้างมาก ทุกสิ่งเป็นธรรม แต่ว่าขณะนี้ที่กำลังปรากฏอยู่ ธรรมคืออะไร ทราบแต่ชื่อ แต่ว่าจริงๆ แล้ว การเจริญสติปัฏฐานเพื่อให้ปัญญารู้ชัดในลักษณะของธรรมนั่นเอง ที่กำลังปรากฏอยู่ตามปกติ ไม่ใช่รู้ชื่อของธรรม แต่รู้ลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏอยู่
การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เป็นชื่อ แต่เป็นสติที่รู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน คือ รู้สภาพของธรรมแต่ละชนิด ทางตาก็เป็นธรรม ขณะนี้เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่มีอะไรที่จะพ้นไปจากธรรมเลย เป็นการรู้ลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่รู้เพียงชื่อ
เพราะฉะนั้น จะมีประโยชน์ไหมกับการที่จะไปผสมวิธีต่างๆ ขึ้น แต่ว่าไม่ช่วยทำให้ปัญญาสามารถที่จะสำเหนียกรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม ลักษณะที่เป็นรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติได้
และขณะที่กำลังผสมวิธีต่างๆ เกิดอะไรขึ้นบ้าง เกิดความรู้อะไรขึ้น
ถ. ที่อาจารย์ถามว่า ได้ความรู้อะไรบ้าง ผมก็ได้ความรู้ทางไตรลักษณ์ เพราะในจตุกะที่ ๔ นั้น ท่านบอกว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ในจตุกะที่ ๔ อธิบาย อนิจฺจํ อนิจจังนี้กินความไปถึงทุกฺขํ อนตฺตาด้วย คือ เท่าที่ผมอ่านท่านชี้แจงว่า อานาปานสติมีอยู่ ๑๖ ข้อ จตุกะที่ ๔ คือ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ เกี่ยวกับปัญญาโดยแท้ ไม่ได้เกี่ยวกับการหายใจเข้าหายใจออก เราก็เอาอานาปานสติบังคับไว้ จะได้ไม่แพร่เป็นอย่างอื่น ถ้านึกอะไรๆ ไม่ออก หรือวิปัสสนาไม่ทัน หายใจเข้า หายใจออกบังคับไว้ คิดอะไรไม่ได้ ก็หายใจเข้าหายใจออกไว้ อย่างนี้เป็นต้น ถ้าเกิดมีปัญญาขึ้น ก็คิดไปอย่างนี้ ที่คิดนั้น ก็ไม่ได้คิดนอกอาจารย์ ก็อยากจะคิดว่า เห็นเป็นนาม ก็อยากจะคิดอย่างนั้น ไม่ใช่ตัวตน เราเห็น เราได้ยิน ไม่ใช่ตัวตน
สุ. ถ้าไม่ใช่ความรู้จริงๆ ไม่ใช่การสำเหนียกที่จะรู้สภาพที่เป็นนามธรรมที่เป็นสภาพรู้ และลักษณะที่เป็นรูปธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้จริงๆ ตามปกติ
วิธีผสมอย่างอื่นทั้งหมด ไม่ได้เกื้อกูลให้เกิดการรู้ชัดและการละได้เลย และที่เรียนถามท่านว่าได้อะไร ได้ประโยชน์อะไรบ้าง ท่านบอกว่าได้เห็นไตรลักษณ์
ถ้าไม่รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม ไม่รู้ลักษณะที่เป็นรูปธรรมแล้ว ท่านเห็น ไตรลักษณ์ของอะไร ท่านไม่รู้ลักษณะของนามธรรมทางตา ไม่รู้ลักษณะของรูปธรรมทางตา ท่านไม่รู้ลักษณะของนามธรรมทางหู ไม่รู้ลักษณะของรูปธรรมทางหูตามปกติ ตามความเป็นจริง ท่านเห็นไตรลักษณ์ของอะไร เห็นตามหนังสือ ถ้าเห็นจริงๆ ต้องเป็นวิปัสสนาญาณ แต่วิปัสสนาญาณโดยไม่รู้ลักษณะของนามของรูป จะเป็นวิปัสสนาญาณได้ไหม จะเป็นการรู้ไตรลักษณ์ได้ไหม จะเป็นการประจักษ์ไตรลักษณ์ได้ไหม จะกล่าวว่ารู้ไตรลักษณ์ โดยไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไม่ได้
ถ. การระลึก ระลึกอย่างไร ระลึกมาก หรือระลึกน้อยอย่างไร
สุ. จะทำอีกแล้วใช่ไหม ถ้าบอกมาก ก็ทำมาก ถ้าบอกน้อย ก็ทำน้อยไม่ใช่เรื่องที่จะไปบังคับให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดทำ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๘ ตอนที่ ๒๗๑ – ๒๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 241
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 242
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 243
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 244
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 245
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 246
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 247
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 248
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 249
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 250
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 251
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 252
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 253
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 254
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 255
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 256
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 257
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 258
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 259
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 260
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 261
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 262
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 263
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 264
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 265
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 266
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 267
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 268
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 269
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 270
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 271
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 272
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 273
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 274
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 275
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 276
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 277
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 278
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 279
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 280
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 281
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 282
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 283
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 284
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 285
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 286
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 287
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 288
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 289
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 290
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 291
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 292
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 293
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 294
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 295
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 296
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 297
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 298
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 299
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 300