แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 276
ครั้งที่ ๒๗๖
สำหรับคาถาที่ ๑๑ ซึ่งมีความว่า
การร้องไห้ก็ดี ความเศร้าโศกก็ดี ความร่ำไรรำพันอย่างอื่นก็ดี บุคคลไม่ควรทำเลย เพราะว่าการร้องไห้เป็นต้นนั้น ไม่เป็นประโยชน์แก่ญาติทั้งหลายผู้ละไปแล้ว ญาติทั้งหลายย่อมตั้งอยู่อย่างนั้น
จะร้องไห้สักเท่าไร ถ้าผู้นั้นเกิดเป็นเปรต ญาติที่อยู่ในมนุษย์โลกร้องไห้ทั้งวันทั้งคืน เปรตก็ยังต้องเป็นเปรตอยู่อย่างนั้น ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยกับญาติที่ละโลกนี้ไปแล้ว แต่ถ้าท่านกระทำทาน อุทิศส่วนกุศลให้ และญาตินั้นอนุโมทนา ก็สามารถที่จะได้รับสมบัติที่เกิดจากการอนุโมทนาที่เป็นกุศลจิตของตนเองได้
สำหรับคาถาที่ ๑๒ แปลความว่า
ก็ทักษิณาทานนี้แล อันท่านให้แล้ว ประดิษฐานไว้ดีแล้วในสงฆ์ ย่อมสำเร็จโดยพลัน เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่เปรตนั้นตลอดกาลนาน
ข้อความต่อไป ท่านจะทราบว่า การถวายทานเพื่ออุทิศแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วที่เกิดเป็นเปรตนั้น จะต้องถวายทานแก่ผู้ที่บริสุทธิ์ ถ้าผู้นั้นไม่บริสุทธิ์ ผู้รับก็ไม่ได้รับอุทิศส่วนกุศล เพราะเหตุว่าไม่เป็นปัจจัยที่จะให้โสมนัสและอนุโมทนาได้
คาถาสุดท้ายในติโรกุฑฑกัณฑ์ มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญ พระเจ้าพิมพิสารที่ได้ถวายทานอุทิศแก่หมู่พระญาติในคราวนั้น ด้วยพระคาถาว่า
โส ญาติธมฺโม จ อยํ นิทสฺสิโต
เปตานปูชา จ กตา อุฬารา
พลญฺจ ภิกฺขูนมนุปฺปทินฺนํ
ตุมฺเหหิ ปญฺญํ ปสุตํ อนปฺปกนฺติ
ซึ่งแปลความว่า
ญาติธรรมนี้นั้นท่านได้แสดงให้ปรากฏแล้ว บูชาอันยิ่งท่านได้กระทำแล้วแก่ญาติทั้งหลายผู้ละไปแล้ว และท่านทั้งหลายได้เพิ่มกำลังให้แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วบุญไม่ใช่น้อยท่านทั้งหลายได้ขวนขวายแล้ว ดังนี้
การทำบุญแต่ละครั้งก็ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ท่านจะต้องขวนขวายหลายประการทีเดียว การทำบุญกุศลนั้นจึงจะสำเร็จได้ รวมทั้งการอุทิศส่วนกุศลให้ด้วย ถ้าท่านเป็นผู้ที่ไม่ขวนขวาย หรือถ้าท่านเป็นผู้ที่ไม่ทราบว่า สามารถที่จะอุทิศส่วนกุศลที่ได้กระทำแล้วนั้นให้ผู้อื่นอนุโมทนาและได้สมบัติเพราะการอนุโมทนาของตน ญาติมิตรของท่านก็ไม่มีโอกาสที่จะได้รับอุทิศส่วนกุศล หรืออนุโมทนา
สำหรับคาถาสุดท้ายซึ่งแปลความว่า
ญาติธรรมนี้นั้นท่านได้แสดงให้ปรากฏแล้ว
หมายถึง การทำกิจอันญาติทั้งหลายพึงทำเพื่อญาติ ผู้ที่อุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการกระทำกิจที่ควรกระทำแก่ญาติประการหนึ่ง
บูชาอันยิ่งท่านก็ได้ทำแล้วแก่ญาติทั้งหลายผู้ละไปแล้ว
การบูชา คือ การบริจาคทาน และอุทิศผลให้
ข้อความที่ว่า
และท่านทั้งหลายได้เพิ่มกำลังให้แก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว
คือ ด้วยการถวายปัจจัยไทยทาน
ข้อความที่ว่า
บุญมิใช่น้อยท่านทั้งหลายได้ขวนขวายแล้ว ดังนี้
การกระทำทานกุศลแต่ละครั้ง และการอุทิศส่วนกุศลให้นั้น เป็นการสะสมบุญ เพราะว่าขณะนั้นเป็นจาคเจตนา คือ การที่จะสละ ละกิเลส ความตระหนี่ ความหวงแหน หรือว่าการไม่ระลึกถึงคุณ การเกื้อกูลกันของผู้ที่เป็นญาติมิตรสหาย
ข้อความในอรรถกถาตอนท้าย มีว่า
เทศนา ปริโยสาเน
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงติโรกุฑฑคาถา ๑๓ คาถา เริ่มตั้งแต่คาถาว่า ติโรกุฑฺเฑสุ ติฏฺฐนฺติ เป็นต้น จนกระทั่งคาถานี้เป็นที่สุดนั้น เวไนยสัตว์ทั้งหลายได้เกิดความสลดใจด้วยการได้ฟังเรื่องเปรตวิสัย และได้ตรัสรู้มรรคผลนิพพานถึง ๘๔,๐๐๐ เป็นประมาณ
รุ่งขึ้นวันที่ ๒ จนถึงวันที่ ๗ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงซ้ำอีก มีผู้ตรัสรู้ธรรมอีกถึงวันละ ๘๔,๐๐๐ ทั้ง ๗ วัน ดังนี้
ถ.. เรื่องของเปรตนี้มีมากมาย มีรูปร่างลักษณะต่างๆ กันสารพัด รวมทั้งความเป็นอยู่ของเปรต คือ มีปกติหิวกระหายเป็นประจำ ท่านผู้บรรยายท่านหนึ่งกล่าวว่า ทานที่อุทิศไปให้จะได้แก่เปรตจำพวกเดียว ท่านเรียกว่า ปรทัตตูปชีวิกเปรต นอกจากนี้เปรตอื่นๆ จะไม่ได้รับ เพราะเปรตพวกนี้อยู่ใกล้พวกมนุษย์มากที่สุด ไม่ทราบว่าจะเป็นไปได้อย่างไร
สุ. ข้อความในพระไตรปิฎกและอรรถกถากล่าวว่า พวกที่เป็นเปรตทั้งหมดนั้น อยู่ในฐานะที่จะได้รับอุทิศส่วนกุศล ซึ่งข้อความใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ติโรกุฑฑกัณฑ์ มีข้อความเรื่องเปรต
ข้อความใน ปรมัตถโชติกา ได้กล่าวถึงลักษณะรูปร่างของเปรต ญาติพระเจ้าพิมพิสารว่า บางพวกก็มีลักษณะผอม หยาบ ดำ เหมือนต้นตาลที่ถูกไฟป่าไหม้ เส้นเอ็นหย่อน อวัยวะใหญ่น้อยห้อยย้อย เป็นไปตามผลของกรรม แล้วแต่ว่ากระทำกรรมอย่างใดมา ก็ทำให้เกิดเป็นเปรตที่มีรูปร่างลักษณะอย่างนั้น บางพวกเป็นพวกที่หิวกระหายจนมีไฟเผาพุ่งออกจากท้อง แลบออกมาทางปาก บางพวกช่วงคอเล็กเท่าปลายเข็ม ท้องดุจภูเขา หิวมาก เพราะบริโภคไม่ได้ตามต้องการ บางพวกก็ลิ้มเลียสิ่งโสโครกเป็นอาหาร เช่น เลือด หนอง เป็นต้น นี่ก็เป็นลักษณะของเปรตต่างๆ กัน
ในปรมัตถโชติกาอรรถกถาได้กล่าวถึงฐานะเปรต ซึ่งเป็นฐานะที่รับอุทิศส่วนกุศลได้ โดยได้กล่าวถึงผู้ที่เกิดในอบายภูมิ เป็นสัตว์นรก เป็นสัตว์ดิรัจฉาน และเป็นพวกเปรต แต่ว่าสัตว์นรกก็ดี สัตว์ดิรัจฉานก็ดี ซึ่งเป็นกำเนิดอบายนั้น ไม่สามารถที่จะรับอุทิศส่วนกุศลได้ ส่วนพวกเปรต พวกปิตติวิสัยนั้น เป็นฐานะที่จะรับอุทิศส่วนกุศลได้
ข้อความใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา มีข้อความว่า
ข้อที่พระผู้มีพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
ดูกร พราหมณ์ ฐานะมีอยู่แก่ทาน ซึ่งสำเร็จแก่ผู้ที่อยู่ในฐานะนั้น หมายความว่า เมื่อทักษิณาสำเร็จในฐานะอันต่างโดยประเภท มีขุปปิปาสิกเปรต วันตาสาเปรต ปรทัตตูปชีวิกเปรต นิชฌามตัณหิกเปรต เป็นต้น เมื่อสำเร็จในฐานะดังกล่าวนี้ คือ แก่เปรตเหล่านี้
ซึ่งก็ได้แก่เปรตทุกจำพวก เพราะใช้คำว่า ขุปปิปาสิกเปรต วันตาสาเปรต ปรทัตตูปชีวิกเปรต นิชฌามตัณหิกเปรต เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็น ขุปปิปาสิกเปรต คือ เปรตที่มีความหิวกระหายเป็นนิจ วันตาสาเปรต เปรตผู้หมดหวัง หวังจะได้รับก็ไม่ได้รับ คอยไปอยู่เรื่อยๆ ปรทัตตูปชีวิกเปรต ได้แก่ เปรตที่ดำรงชีวิตโดยอาศัยสิ่งที่ผู้อื่นให้ นิชฌามตัณหิกเปรต เป็นเปรตที่ตัณหาความทะยานอยากเผาไหม้ เป็นต้น
เมื่อสำเร็จในฐานะดังกล่าวนี้ คือ แก่เปรตเหล่านี้ ซึ่งก็ได้แก่เปรตทุกจำพวก จึงชื่อว่า สำเร็จโดยฐานะ
หมายความว่า ทานที่ให้ไปแล้ว อุทิศให้สำเร็จแก่พวกเปรตทั้งหมด ไม่เว้นเลย ไม่ใช่แต่ปรทัตตูปชีวิกเปรตเท่านั้น
นอกจากนั้น ข้อความในอรรถกถายังมีว่า
จึงชื่อว่าสำเร็จโดยฐานะ เหมือนเมื่อให้กหาปนะ ชาวโลกย่อมกล่าวกันในโลกว่า บุคคลนั้นให้กหาปนะ ดังนี้ คือ สำเร็จทันทีทันใด
เมื่ออุทิศให้แล้ว อนุโมทนาทันที ก็ได้รับสมบัตินั้นทันทีเหมือนกับการให้เงิน ฉันใด การอุทิศให้แก่เปรต และเปรตนั้นอนุโมทนาก็จะได้รับส่วนของกุศลที่อุทิศให้ ฉันนั้น เพราะเหตุว่าการที่เปรตจะรับอุทิศส่วนกุศล จะต้องถึงพร้อมด้วยองค์ ๓ คือ
๑. เพราะการอนุโมทนาของเปรต
๒. เพราะการอุทิศให้ของทายก
๓. เพราะความถึงพร้อมแห่งทักขิไณยบุคคล คือ เป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยศีล มีความบริสุทธิ์ที่ทำให้เปรตเกิดปีติโสมนัสอนุโมทนาด้วย
ข้อความต่อไปท่านจะได้ทราบว่า ถ้าให้ทานแก่บุคคลผู้ทุศีลแล้วอุทิศส่วนกุศลให้ เปรตจะไม่ได้รับ เพราะว่าไม่เกิดปีติโสมนัสที่จะอนุโมทนา เพราะเปรตเป็นอมนุษย์ไม่ใช่มนุษย์ สามารถที่จะรู้จะเห็นการกระทำกุศล และอกุศลของบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ได้ และที่จะให้บุคคลอื่นมายินดีอนุโมทนาในอกุศลธรรมนั้น ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เพราะฉะนั้น ถ้าให้ทานแก่บุคคลที่ไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้ทุศีลแล้ว เปรตจะไม่ได้รับอุทิศส่วนกุศล
ถ.. ทานตอนนี้มีการกระทำอยู่ ๒ อย่าง อย่างหนึ่ง คือ การให้ทาน อีกอย่างหนึ่ง คือ การอุทิศส่วนกุศล สำหรับการให้ทานก็รู้อยู่แล้วว่าทำอย่างไร ให้อย่างไร สำหรับการอุทิศส่วนกุศล รู้สึกจะไม่ชัดเจนว่า กุศลที่อุทิศไปให้นี้ คืออะไรกันแน่ กุศลเป็นวัตถุ หรือไม่ใช่วัตถุ และผู้รับ รับเป็นวัตถุ หรือรับอย่างไรครับ
สุ. การถวายทานเพื่ออุทิศแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ข้อความในปรมัตถโชติกามีว่า ซึ่งเมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ถวายน้ำแก่พระผู้มีพระภาคและพระภิกษุสงฆ์ ในขณะนั้น เปรตซึ่งเป็นญาติอนุโมทนาแล้ว ก็เกิดสระโบกขรณี ซึ่งเมื่ออาบแล้ว ดื่มแล้ว ก็มีวรรณะดังทองคำ
นี่เป็นข้อความในอรรถกถา ซึ่งท่านจะได้พิจารณาว่า การได้รับสมบัติ เมื่อรับอุทิศส่วนกุศลและอนุโมทนาแล้ว จะได้รับสมบัติในลักษณะใด
เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงถวายข้าวยาคู ของเคี้ยว และของบริโภค ก็เกิดอาหารบริโภคแก่เปรตเหล่านั้น มีอินทรีย์กระปรี้กระเปร่า เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงถวายผ้าและเสนาสนะ ผ้าปูนอนและที่นอน ก็เกิดผ้าทิพย์เป็นต้น แก่เปรตเหล่านั้น
ถ. อย่างนี้ก็พอจะเข้าใจได้ แต่ถ้าให้ขนม ให้ผ้าผ่อน อะไรต่ออะไรสารพัด ถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ หรือว่าใครก็ตาม สิ่งเหล่านี้จะไปปรากฏแก่ผู้รับ คือ เปรต เป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าเป็นของทิพย์อย่างที่อาจารย์ว่า มีผู้กล่าวว่าให้อย่างไรก็ได้อย่างนั้น ให้ขนมหม้อแกงไป เปรตก็ได้กินขนมหม้อแกงด้วยหรือ
สุ. เป็นอาหารที่เหมาะที่ควรแก่ภูมินั้นๆ ที่จะได้รับ แต่ว่าบางข้อความ ในอรรถกถาท่านก็ใช้เป็นสำนวนว่า เสมือนในลักษณะเดียวกัน แต่ว่าต้องเป็นอาหารประเภทที่เปรตนั้นสามารถที่จะบริโภคได้ ไม่ใช่ว่าของที่มนุษย์บริโภคได้ และเปรตจะบริโภคได้อย่างเดียวกัน แต่ว่าอาหารที่เปรตอนุโมทนาและได้บริโภคนั้น เป็นลักษณะเดียวกัน แต่ต้องเป็นอาหารที่เปรตบริโภคได้
ถ. บาลีใช้ว่า ฐานโส อุปกปฺปติ คือ สำเร็จประโยชน์ อย่างพระเจ้าพิมพิสารถวายไตรจีวร เปรตจะต้องได้ไตรจีวร ไม่ใช่อย่างนั้น ฐานโส อุปกปฺปติ คือ สำเร็จประโยชน์เท่าที่ควร เปรตนั้นไปเกิดเป็นเทวดา ก็ได้เครื่องทิพย์อย่างเทวดา ไม่ใช่ถวายกางเกงแล้วจะได้กางเกง ถวายเสื้อจะได้เสื้ออย่างนั้นก็แย่ ไม่ใช่อย่างนั้น
สำเร็จตามควรแก่ฐานะ ฐานะเป็นอย่างไร เป็นเทวดา เครื่องนุ่งห่มของเทวดาเป็นอย่างไร ถ้าเป็นมนุษย์ เครื่องนุ่งห่มเป็นอย่างไร ก็สำเร็จตามฐานะอย่างนั้น ฐานโส อุปกปฺปติ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าอย่างนั้น สำเร็จประโยชน์ควรแก่ฐานะ หมายความว่า ฐานะของคนรับ
และปัตตานุโมทนามัยในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ นี้ อนุโมทนาส่วนกุศลเป็นนามธรรม แปลว่า ยินดีด้วย ยินดีที่เขาทำด้วย และได้รับส่วนที่อนุโมทนาตามฐานะ
สุ. ขอขอบพระคุณท่านที่ได้กรุณาให้ความรู้ทางพยัญชนะ
ขอกล่าวถึงข้อความใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ชาณุสโสณีสูตร ซึ่งจะทำให้ท่านได้เข้าใจข้อความตอนนี้เพิ่มเติม เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสกับชาณุสโสณีพราหมณ์ว่า ทานที่อุทิศให้ผู้ล่วงลับย่อมสำเร็จในฐานะ และย่อมไม่สำเร็จในอฐานะ
อฐานะ คือ ย่อมไม่สำเร็จแก่บุคคลที่เกิดในนรก สัตว์ดิรัจฉาน มนุษย์ เทวโลก
ส่วนฐานะนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร พราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ และอกุศลธรรมอื่นๆ ไปจนถึงมีความเห็นผิด บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงเปรตวิสัย เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพอยู่ในเปรตวิสัยนั้น ย่อมตั้งอยู่ในเปรตวิสัยนั้น ด้วยอาหารของสัตว์ผู้เกิดในเปรตวิสัย
เป็นข้อความที่ชัดเจนว่า ด้วยอาหารของสัตว์ผู้เกิดในเปรตวิสัย หรือว่า มิตรอำมาตย์ หรือว่าญาติสาโลหิตของเขาย่อมเพิ่มให้ซึ่งปัตติทานมัยจากมนุษย์โลกนี้ เขาเลี้ยงอัตภาพอยู่ในเปรตวิสัยนั้น ย่อมตั้งอยู่ในเปรตวิสัยนั้นด้วยปัตติทานมัยนั้น ดูกร พราหมณ์ ฐานะอันเป็นที่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แลเป็นฐานะ
ซึ่งชาณุสโสนีพราหมณ์ก็ได้กราบทูลถามต่อไปว่า
ท่านโคดมผู้เจริญ ก็ถ้าญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น ไม่เข้าถึงฐานะนั้น ใครเล่าจะบริโภคทานนั้น
ซึ่งจากพระคาถาที่ตรัสใน ติโรกุฑฑกัณฑ์ ท่านผู้ฟังจะเห็นข้อความที่ว่า แม้ทายกก็เป็นผู้ที่ไม่ไร้ผล
ซึ่งในชาณุสโสนีสูตรพระผู้มีพระภาคตรัสตอบชาณุสโสณีพราหมณ์ว่า
ดูกร พราหมณ์ ญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้ว แม้เหล่าอื่นของทายกนั้นที่เข้าถึงฐานะนั้นมีอยู่ ญาติสาโลหิตเหล่านั้น ย่อมบริโภคทานนั้น
อุทิศให้ญาติ เจาะจงแก่ญาติ เพราะฉะนั้น เมื่อญาติอนุโมทนาก็ได้ ญาติที่เป็นเปรตจะได้ แต่ญาติที่ไม่ได้เป็นเปรตก็ไม่ได้
ชาณุสโสณีพราหมณ์กราบถามทูลว่า
ท่านโคดมผู้เจริญ ก็ถ้าญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น ไม่เข้าถึงฐานะนั้น และญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้ว แม้เหล่าอื่นของทายกนั้นก็ไม่เข้าถึงฐานะนั้น ใครเล่าจะบริโภคทานนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร พราหมณ์ ฐานะที่จะพึงว่างจากญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยกาลช้านานเช่นนี้ มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้ อีกประการหนึ่ง แม้ทายกก็เป็นผู้ไม่ไร้ผล
ถ้าญาติของท่านล่วงลับไป ท่านอุทิศส่วนกุศลให้เจาะจงบุคคลนั้น และญาติเหล่าอื่นก็ได้ เพราะเหตุว่าถ้าบุคคลที่ท่านเจาะจงอุทิศให้ไม่ได้เกิดเป็นเปรต ญาติเหล่าอื่นที่เกิดเป็นเปรตจะได้รับอุทิศส่วนกุศลด้วยการอนุโมทนา
ชาณุสโสณีพราหมณ์กราบทูลถามว่า
ท่านโคดมผู้เจริญ ย่อมตรัสกำหนดแม้ในอฐานะหรือ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร พราหมณ์ เรากล่าวกำหนดแม้ในอฐานะ
คือ แม้บุคคลนั้นเกิดเป็นมนุษย์ หรือเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานก็ตาม เป็นอฐานะที่จะได้รับอุทิศส่วนกุศล แต่เมื่อเคยเป็นทายก ผู้ให้ทานนั้นย่อมไม่ไร้ผลอย่างนั้นหรือ
ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร พราหมณ์ เรากล่าวฐานะ แม้ในอฐานะ ดูกร พราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ และอกุศลกรรมอื่น ตลอดไปจนถึงมีความเห็นผิด บุคคลนั้นย่อมให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน มาลา ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีปแก่สมณพราหมณ์ บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของช้าง (คือ เกิดเป็นช้าง)
แม้ว่าจะได้ทำอกุศลกรรม แต่ก็เป็นผู้ที่ให้ทาน เพราะฉะนั้น เมื่อจุติแล้วไปเกิดเป็นช้าง เขาย่อมได้ข้าว น้ำ มาลา และเครื่องอลังการต่างๆ ในกำเนิดช้างนั้น
ดูกร พราหมณ์ ข้อที่บุคคลเป็นผู้ฆ่าสัตว์ และอกุศลกรรมอื่นเป็นต้น ไปจนถึง มีความเห็นผิด ผู้นั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของช้างด้วยกรรมนั้น และข้อที่ผู้นั้นเป็นผู้ให้ข้าว น้ำ ยาน มาลา ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พักและเครื่องประทีปแก่สมณพราหมณ์ ผู้นั้นย่อมได้ข้าว น้ำ มาลา และเครื่องอลังการ ต่างๆ ในกำเนิดช้างนั้น ด้วยกรรมนั้น
เป็นไปได้ใช่ไหม ทายก ผู้ให้ไม่ไร้ผล กรรมติดตามไปอุปถัมภ์ แม้ในกำเนิดของสัตว์ดิรัจฉาน ถึงเกิดเป็นช้างก็ยังได้ข้าว ได้น้ำ ได้ของหอม ได้อะไรต่างๆ ซึ่งเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๘ ตอนที่ ๒๗๑ – ๒๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 241
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 242
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 243
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 244
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 245
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 246
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 247
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 248
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 249
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 250
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 251
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 252
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 253
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 254
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 255
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 256
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 257
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 258
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 259
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 260
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 261
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 262
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 263
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 264
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 265
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 266
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 267
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 268
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 269
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 270
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 271
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 272
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 273
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 274
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 275
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 276
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 277
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 278
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 279
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 280
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 281
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 282
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 283
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 284
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 285
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 286
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 287
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 288
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 289
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 290
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 291
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 292
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 293
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 294
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 295
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 296
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 297
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 298
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 299
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 300