แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 278


    ครั้งที่ ๒๗๘


    ข้อความต่อไปมีว่า

    ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สาวกทั้งหลายเป็นผู้มีจักษุหนอ เป็นผู้มีญาณหนอ เพราะว่าแม้สาวกก็จักรู้ จักเห็นสัตว์เช่นนี้ หรือจักเป็นพยาน เมื่อก่อนเราก็ได้เห็นสัตว์ตนนั้นเหมือนกัน แต่ว่าไม่ได้พยากรณ์ไว้ หากว่าเราพึงพยากรณ์สัตว์นั้นไซร้ คนอื่นๆ ก็จะไม่พึงเชื่อถือเรา ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้ไม่เชื่อถือเรา

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์นี้เป็นคนฆ่าโค อยู่ในพระนครราชคฤห์นี้เอง ด้วยผลของกรรมนั้น เขาจึงหมกไหม้อยู่ในนรกสิ้นปี สิ้น ๑๐๐ ปี ๑,๐๐๐ ปี ๑๐๐,๐๐๐ ปีเป็นอันมาก ด้วยผลของกรรมนั้นแหละยังเหลืออยู่ เขาจึงต้องเสวยการได้อัตภาพเห็นปานนี้

    ซึ่งการเกิดเป็นเปรตมีอัตภาพที่เป็นทุกข์ต่างๆ กันนั้น ก็ยากที่ท่านจะเชื่อว่าเป็นไปได้ เพราะเหตุว่าถ้าท่านศึกษาในพระไตรปิฎกจะเห็นได้ว่า นอกจากเปรตโครงกระดูกนี้ ยังมีเปรตก้อนเนื้อ เปรตบุรุษไม่มีผิวหนังเลย เปรตบุรุษผู้มีขนเป็นดาบ มีขนเป็นเข็ม เป็นต้น แต่ถ้าท่านระลึกถึงอกุศลกรรมที่วิจิตรต่างๆ กันในปัจจุบันชาติ ซึ่งท่านก็คงจะได้ยินได้ฟังมาบ้างว่า มีการกระทำอกุศลกรรมในลักษณะต่างๆ กันมาก เมื่อเหตุที่วิจิตรอย่างนั้นมี ผลต่างๆ ก็จะต้องเป็นไปตามเหตุเหล่านั้นด้วย

    ถ้าท่านพิจารณาดูชีวิตของท่านเองในวันหนึ่งๆ มีเรื่องยุ่งบ้างไหม เรื่องยุ่งนี้คงจะมีมากเหมือนกัน และบางท่านก็คงจะบ่อยเหมือนกัน เรื่องยุ่งๆ พวกนี้มาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร อยู่ดีๆ วันนี้ไม่ยุ่ง แต่พรุ่งนี้อาจจะมีเรื่องยุ่งมากมากมายทีเดียว เรื่องยุ่งมากๆ เหล่านั้นมาจากไหน ถ้าไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยก็เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเป็นผลที่เป็นอกุศลวิบากต่างๆ ก็ต้องมาจากเหตุในอดีตที่เป็นอกุศลกรรม

    นี่คือผลที่ได้รับในปัจจุบันชาติที่เป็นมนุษย์ แต่ถ้าในกำเนิดอื่น ความวิจิตรของ

    อกุศลกรรมที่ได้กระทำมาต่างๆ กัน ย่อมเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในอบายภูมิได้ แล้วแต่ว่าจะเป็นภูมินรก หรือภูมิสัตว์ดิรัจฉาน หรือเป็นภูมิเปรต สำหรับมนุษย์ก็ยังมีกายที่วิจิตร สัตว์ดิรัจฉาน ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ ก็มีรูปกายที่วิจิตรมาก เพราะฉะนั้น พวกเปรตซึ่งเป็นอบายภูมิๆ หนึ่ง ก็ย่อมมีรูปร่างกายที่วิจิตรตามควรแก่กรรมนั้นๆ ด้วย

    สารัตถปกาสินี อรรถกถา อธิบายความในพระสูตรนี้ว่า

    ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้แย้มยิ้ม เพราะได้เห็นสัตว์ที่เกิดในเปตโลกผู้หนึ่งร่างกระดูก ด้วยทิพยจักษุไม่ใช่ด้วยปสาทจักษุ จริงอยู่ อัตภาพทั้งหลายเหล่านั้นไม่มาสู่คลองแห่งปสาทจักษุ

    จักษุธรรมดาไม่เห็นเปรตเหล่านั้น แต่ว่าผู้ที่มีทิพยจักษุอย่างท่านพระมหาโมคคัลลานะ เมื่อน้อมระลึกถึงย่อมเห็นได้ เพราะฉะนั้น ถ้าสมัยนี้จะมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่รู้สึกเหมือนกับว่าเห็นเปรต หรือเห็นเทพ จะเป็นเพราะมีทิพยจักษุ หรือว่าจะเป็นเพราะมโนภาพ ความคิดคำนึงทำให้รูปนิมิตอย่างความฝันปรากฏขึ้น แต่จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นความจริง ถ้าบุคคลนั้นไม่มีทิพยจักษุก็ยากที่จะทราบได้ เพราะเหตุว่าการที่จะเห็นอย่างละเอียดถึงลักษณะของเปรตที่เป็นร่างกระดูกลอยอยู่ในอากาศหรือว่าเป็นพวกก้อนเนื้อ เป็นบุรุษมีขนเป็นดาบต่างๆ เหล่านี้ ต้องเป็นด้วยทิพยจักษุ

    ข้อสารัตถปกาสินี อรรถกถา มีว่า

    เมื่อเห็นอัตภาพเห็นปานนี้แล้ว คือ ท่านพระมหาโมคคัลลานะเห็นเปรตร่างกระดูกนั้นแล้ว ควรทำความกรุณา แต่ทำไมท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงยิ้ม

    อธิบายว่า พระเถระยิ้ม เพราะระลึกถึงสมบัติของตน และสมบัติแห่งพระ พุทธญาณ คือ พระญาณของพระผู้มีพระภาค จริงอยู่ท่านพระเถระเห็นเปรตนั้นแล้ว ระลึกถึงสมบัติของตนว่า อัตภาพเช่นนี้ อันบุคคลผู้ไม่เห็นสัจจะพึงได้ เราได้พ้นแล้วจากอัตภาพนั้น เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้ว แล้วระลึกถึงสมบัติแห่งพระ พุทธญาณอย่างนี้ว่า ญาณสมบัติของพระผู้มีพระภาคน่าอัศจรรย์ พระองค์ทรงแสดงไว้ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วิบากแห่งกรรมเป็นอจินไตย ใครๆ ไม่พึงคิด พระผู้มีพระภาคทั้งหลาย ย่อมทรงแสดงกรรมวิบากนั้นให้ประจักษ์ ธรรมธาตุทั้งหลายอัน พระผู้มีพระภาคทั้งหลายทรงแทงตลอดดีแล้ว

    เมื่อท่านพระเถระระลึกอย่างนี้แล้วจึงยิ้ม

    ซึ่งท่านพระลักขณเถระก็ได้ถามท่าน พระมหาโมคคัลลานเถระว่า อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการยิ้ม แต่ว่าท่านพระมหาโมคคัลลานะต้องการที่จะให้พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพยาน ท่านจึงให้ท่านพระลักขณะถามเมื่อได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพราะท่านพระมหาโมคคัลลาทราบว่า ชนเหล่าใดไม่เห็นการอุบัตินี้ด้วยตนเอง จะให้ชนเหล่านั้นเชื่อนั้นยาก

    ข้อความที่ว่า พระเถระเห็นเปรตนั้นแล้วระลึกถึงสมบัติของตนว่า อัตภาพเช่นนี้ อันบุคคลผู้ไม่เห็นสัจจะพึงได้

    หมายความว่า ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็มีโอกาส มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดในอบายภูมิ ด้วยการสะสมของกรรมที่วิจิตรที่ได้กระทำแล้ว ไม่มีบุคคลใดจะทราบเลยว่า จุติจากชาตินี้แล้ว อาจจะไปเกิดเป็นเปรตมีรูปร่างลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ซึ่งเป็นความวิจิตรมากทีเดียว

    ด้วยเหตุนี้ ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงยิ้มด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ท่านพ้นจากอบายภูมิแล้วประการที่หนึ่ง และอีกประการหนึ่ง เพราะญาณสมบัติของพระผู้มีพระภาคนั้นน่าอัศจรรย์ ทรงรู้ทั้งกรรม และวิบาก คือ ผลของกรรมว่า เมื่อบุคคลใดประกอบกรรมนั้นแล้วจะให้ผลเป็นวิบากอย่างไร

    ถ. ท่านอาจารย์พูดถึงคำว่า ทิพยจักษุ ทิพยจักษุนี้รู้สึกว่ายังเข้าใจกันไม่ค่อยตรงกันนัก อย่างที่อาจารย์ได้อธิบายไปแล้ว ทิพยจักษุมิได้หมายถึงเห็นด้วยตาเนื้อ เห็นด้วยปสาทอื่น ไม่ใช่ตาเนื้อแน่ แต่บางท่านบอกว่า บุคคลที่ตาบอดมาแต่กำเนิด บุคคลเหล่านี้ไม่สามารถมีทิพยจักษุได้ เขาแย้งอย่างนี้ จะเป็นอย่างไร

    สุ. สำหรับการที่จะเจริญฌานสมาบัติจนกระทั่งมีความสามารถ ความชำนาญ ความแคล่วคล่องที่จะมีความสามารถพิเศษต่างๆ เช่น ได้ยินเสียงทิพย์ หรือว่าเห็นรูปทิพย์ รูปใกล้ รูปไกลต่างๆ นั้น ต้องอาศัยเหตุปัจจัยด้วย เพราะเหตุว่าการที่จะมีทิพยจักษุได้นั้น ต้องมาจากที่ผู้นั้นมีปสาทจักษุ คือ เป็นผู้ที่มีจักขุปสาทตามปกติ ไม่ใช่ว่าไม่มีเลย และผู้นั้นต้องเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งฌานจิตเกิดทั้งรูปฌานและอรูปฌานด้วย จึงจะเป็นเครื่องหมายแสดงว่า มีความแคล่วคล่องพอที่จะน้อมใช้ความชำนาญของฌานนั้นฝึกหัดในการที่จะให้เกิดอิทธิแต่ละอย่าง และเวลาที่ท่านมีความชำนาญแคล่วคล่องแล้วทั้งในรูปฌานอรูปฌาน ท่านก็ฝึกหัดในการที่จะให้เกิดทิพยจักษุ

    ซึ่งความสามารถของทิพยจักษุ แล้วแต่ความชำนาญว่า ท่านสามารถที่จะเห็นรูปใกล้ ไกล ได้มากน้อยแค่ไหน ท่านที่มีความชำนาญมาก ก็ย่อมเห็นได้ไกลมาก ท่านที่มีความชำนาญน้อย ก็เห็นไม่เท่าท่านที่ชำนาญมาก แต่แม้กระนั้น ทิพยจักษุนั้นก็ต้องอาศัยปสาทจักษุนั้นเองเป็นปัจจัย แต่ไม่ใช่การเห็นรูปที่เป็นทิพย์ต่างๆ ด้วยปสาทจักษุ

    และไม่มีข้อความในพระไตรปิฎกที่แสดงว่า ผู้ที่ได้ทิพยจักษุ เสียปสาทจักษุแล้วยังคงได้ทิพยจักษุนั้น ไม่มีเลย มีแต่ว่า ท่านที่มีปสาทจักษุตามปกติ ฝึกหัด เจริญสมถภาวนาจนกระทั่งสามารถได้ทิพยจักษุ แต่การเห็นรูปทิพย์ต่างๆ นั้นต้องอาศัยปสาทจักษุเป็นปัจจัย ไม่ใช่เห็นรูปทิพย์นั้นด้วยปสาทจักษุ แต่จักษุทิพย์ที่จะมีได้ต้องอาศัยผู้ที่มีจักขุปสาท

    ถ. ในฐานะที่ผมเรียนบาลีมา มีนิทานเรื่องพระจักขุบาล ท่านก็คงเคยได้ยิน ท่านพระจักขุบาลนี้ท่านสำเร็จสุกขวิปัสสกะแล้วตาบอด ท่านจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าท่านก็ไปไม่ได้ เอาเณรหลานของท่านจูง พอเข้าป่าไป เณรนี้เป็นปุถุชน บังเอิญมีผู้หญิงไปหาฟืนร้องรำทำเพลง เณรชักจะพอใจ ก็บอกให้หลวงลุงอยู่นี่ก่อน รอเดี๋ยวไปธุระเดี๋ยว หายไปพักหนึ่ง พอกลับมาเณรจะมาถือไม้เท้าพาท่านไป พระจักขุบาลท่านรู้ ท่านบอกว่า ไม่เอาละ แกมันคนบาปแล้ว ท่านรู้ได้อย่างไร ตาท่านบอด นี่ผมก็ไม่รู้ แล้วแต่อาจารย์จะอธิบาย

    ท่านตาบอด ท่านรู้ได้อย่างไรว่าเป็นคนบาปแล้ว ในบาลียังบอกว่า เณรบอกว่า ผมที่มาบวช พ่อให้บวชเพื่อจะจูงหลวงลุง ผมไม่ได้ศรัทธา พระจักขุบาลก็บอกว่า คนเรา คิหิปาโป สมณปาโป ปาโปเยว แปลว่า เป็นฆราวาสสกปรก เป็นพระสกปรก ก็สกปรกเหมือนกัน ท่านสำเร็จสุกขวิปัสสกะ คือ ไม่ได้อภิญญา ท่านรู้ได้อย่างไรว่าเณรศีลวิบัติ

    สุ. อย่างไรท่านก็ไม่เห็นทางแน่ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่ว่าท่านมีทิพยจักษุจึงได้ทราบว่าหลานชายของท่านศีลวิบัติเสียแล้ว แต่ว่าท่านอาศัยความคาดคะเน มีเสียงหญิงร้องเพลง และเณรก็ลาไป หายไปนานทีเดียว ท่านก็คาดคะเนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ท่านยังไปไหนไม่ได้ ถ้าเห็นจริงอย่างนั้นก็ไปได้เอง ไม่ต้องมีคนจูง โดยมากผู้ที่มีปัญญามนสิการ มักจะอาศัยเหตุผล กรณียะแวดล้อมเทียบเคียงได้ถูกต้องว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นไปในทำนองนั้น ในรูปนั้น

    ถ. ผมพบเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ศึกษาในการทำสมาธิมานาน เขาสามารถขับรถยนต์โดยที่ให้เราผูกตา ไม่เห็นอะไร อย่างนี้จะเป็นทิพยจักษุ หรืออย่างไร

    สุ. เขาเคยเจริญรูปฌาน อรูปฌานอย่างแคล่วคล่องมีวสีมาก่อนหรือเปล่า เหตุเป็นเครื่องส่องถึงผลว่า ถ้าจะใช้คำว่า ทิพยจักษุ ต้องหมายความว่าบุคคลนั้นได้อบรมเจริญสมถภาวนาบรรลุฌานจิตทั้งรูปฌาน อรูปฌานอย่างแคล่วคล่องจริงๆ เป็นเหตุ แต่ถ้าการกระทำนั้นยังไม่ถึงขั้นนั้น เกิดมโนภาพ หรือเกิดการเห็นด้วยอำนาจของสมาธิ นั่นยังไม่ใช่ทิพยจักษุ ทิพยจักษุจริงๆ ต้องมาจากเหตุ คือ การเจริญสมถภาวนาและบรรลุฌานจิตทั้งรูปฌาน อรูปฌานอย่างแคล่วคล่อง และยังต้องฝึกหัดให้มีความชำนาญแต่ละทางด้วย จึงจะเป็นทิพยจักษุที่แท้จริง หรือเป็นอิทธิปาฏิหาริย์ จริงๆ ได้ มิฉะนั้นก็เกิดขึ้นด้วยกำลังอำนาจของสมาธิเล็กๆ น้อยๆ แต่ว่าไม่ถึงขั้นจะเป็นอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้

    ถ. ที่อาจารย์อธิบายว่า ทิพยจักษุจำเป็นต้องอาศัยจักขุปสาทด้วยนั้น จะเป็นอย่างนี้ได้ไหม คือ ผู้ที่เจริญรูปฌาน อรูปฌานจนชำนาญเชี่ยวชาญดีแล้ว จักขุปสาทของท่านมีความละเอียดเป็นพิเศษ จึงตั้งชื่อให้ใหม่ว่า ทิพยจักษุ

    สุ. ในพระไตรปิฎก และในอรรถกถา ท่านเพียงแต่กล่าวว่า การที่จะบรรลุถึงทิพยจักษุได้นั้น ต้องอาศัยปสาทจักษุ และท่านยังกล่าวว่า การเห็นด้วยทิพยจักษุนั้นเห็นทางใจ ทางมโนทวาร แต่ถ้าท่านจะเทียบเคียงกับพระอภิธรรม ทางมโนทวารรับต่อจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทั้ง ๕ ทาง

    อย่างเวลาที่จักขุปสาทธรรมดากระทบกับรูป เป็นปัจจัยให้เกิดจักขุวิญญาณ การเห็นสีสันต่างๆ ปรากฏเกิดขึ้นแล้ว ทางมโนทวารรับรู้สีสันวัณณะที่ปรากฏทางตาต่อจากทางจักขุทวารวิถีจิตทันที ซึ่งขณะนี้ท่านแยกไม่ออก เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างไร ก็ปรากฏทางใจอย่างนั้น เพราะเหตุว่าทางมโนทวารวิถีจิตรับรู้สีต่อจากจักขุทวารวิถีจิต รับรู้เสียงต่อจากโสตทวารวิถีจิต รับรู้กลิ่นต่อจากฆานทวารวิถีจิต รับรู้รสต่อจากชิวหาทวารวิถีจิต รับรู้โผฏฐัพพะต่อจากกายทวารวิถีจิต แต่เมื่อเวลาที่มีจักขุปสาทแล้ว ทางใจสามารถที่จะรู้ หรือเห็นสิ่งที่เป็นทิพย์ยิ่งกว่านั้น

    ถ. ตรงนี้ดูเหมือนจะตรงกัน กระผมได้พบในกถาวัตถุ ท่านแสดงเรื่องทิพยจักษุเหมือนกัน กล่าวว่า ทิพยจักษุนี้เกิดทางมโนทวารอย่างเดียว แต่ว่ามีมาปนกันนิดหน่อยตรงที่ว่า ถ้าบุคคลใดไม่มีจักขุปสาทจะไม่สามารถเจริญฌานให้เกิดทิพยจักษุได้

    สุ. ก็เป็นเรื่องที่ท่านจะวินิจฉัยได้ยากสำหรับเรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ไม่ใช่โดยง่ายเลย เพราะเหตุว่าต้องประกอบพร้อมทั้งผล และยังต้องพิจารณาถึงเหตุด้วย ที่ว่าบุคคลที่ได้ทิพยจักษุแล้วไม่มีปสาทจักษุ มีแต่เฉพาะทิพยจักษุ เท่าที่อ่าน เท่าที่ศึกษานั้น ไม่มี มีแต่ว่าผู้ที่ได้ทิพยจักษุต้องเป็นผู้ที่มีปสาทจักษุ แต่ก็แสดงว่าการเห็นรูปทิพย์ต่างๆ นั้นเห็นทางมโนทวาร ซึ่งผู้นั้นก็มีจักขุทวาร และทางมโนทวารก็รับรู้สีต่อจากทางจักขุทวาร แต่ถ้าเป็นรูปทิพย์ที่เกินกว่าวิสัยของจักขุปสาท ก็เป็นเรื่องของมโนทวารวิถี แต่ไม่ใช่ว่าบุคคลนั้นไม่มีจักขุปสาท ก็เป็นเรื่องที่จะต้องเกี่ยวข้องกัน

    ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต วรรคที่ ๒ จักขุสูตรที่ ๒ มีข้อความว่า

    จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคผู้เป็น พระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จักษุ ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ มังสจักษุ ๑ทิพยจักษุ ๑ ปัญญาจักษุ ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จักษุ ๓ อย่างนี้แล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาประพันธ์ ดังนี้ว่า

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้สูงสุดกว่าบุรุษได้ตรัสจักษุ ๓ อย่างนี้ คือ มังสจักษุ ๑ ทิพยจักษุ ๑ ปัญญาจักษุอันยอดเยี่ยม ๑

    ความบังเกิดขึ้นแห่งมังสจักษุเป็นทางแห่งทิพยจักษุ เมื่อใดญาณเกิดขึ้นแล้ว เมื่อนั้นบุคคลย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เพราะการได้เฉพาะซึ่งปัญญาจักษุอันยอดเยี่ยมเนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วฉะนี้แล

    จบสูตรที่ ๒

    จักษุ ๓ คือ มังสจักษุ ๑ ทิพยจักษุ ๑ ปัญญาจักษุ ๑ สำหรับมังสจักษุ คือ ตาเนื้อ หรือปสาทจักษุ ทำให้เกิดการเห็น แต่ว่าเป็นการเห็นธรรมดา ใครมีมังสจักษุ ใครมีปสาทจักษุก็มีการเห็นสิ่งต่างๆ ตามปกติตามธรรมดา ไม่ใช่ทิพยจักษุ ไม่ใช่ปัญญาจักษุอันยอดเยี่ยม สำหรับทิพยจักษุไม่ได้ใช้คำว่าอันยอดเยี่ยม แต่สำหรับปัญญา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ปัญญาจักษุอันยอดเยี่ยม

    ทรงสรรเสริญปัญญาจักษุมาก เพราะเหตุว่าปัญญาจักษุนั้น คือ ญาณ ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้บุคคลพ้นจากทุกข์ทั้งปวง

    สำหรับตาทิพย์ เห็นสิ่งอื่นเกินวิสัยของมังสจักษุ หรือปสาทจักษุก็จริง แต่ว่าไม่ได้ทำให้ละกิเลสอะไร ใครจะมีทิพยจักษุ ใครจะเห็นอะไร ใครจะใช้ทิพยจักษุส่องไปทางนั้น ทางนี้ ดูนั่น ดูนี่ อะไรก็ตามแต่ ก็เป็นแต่เพียงเห็นรูปที่ไกลเกินวิสัยกว่าที่ตาธรรมดาจะเห็นได้ แต่ไม่ใช่เห็นสัจธรรม ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นและดับไปเป็นปกติธรรมดา

    เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีทิพยจักษุ หรือว่าท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะปรารถนาทิพยจักษุ แต่ทิพยจักษุไม่ได้ช่วยทำให้หมดสิ้นกิเลส แต่ที่จะทำให้หมดสิ้นกิเลสได้นั้น คือ ปัญญาจักษุ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๘ ตอนที่ ๒๗๑ – ๒๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 37
    28 ธ.ค. 2564

    ซีดีแนะนำ