แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 280
ครั้งที่ ๒๘๐
ถ. ดิฉันสงสัยว่า กรรมกับเวรจะเหมือนกันหรือไม่
สุ. ไม่ทราบว่าท่านที่รู้ภาษาบาลี โดยพยัญชนะ กรรมกับเวรเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร
ตอบ เฉพาะศัพท์ กรรมรู้กันทั่วไป แปลว่า การกระทำ กระทำดีก็เรียกว่ากุศลกรรม กระทำชั่วก็อกุศลกรรม เรียกว่ากรรม ส่วนเวรนั้น น หิ เวเรน เวรานิ สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ อเวเรน จ สมฺมนฺติ เอส ธมฺโม สนนฺตโน พุทธพจน์ว่าอย่างนี้ คือเวร หมายความว่า ไม่ได้ทำอย่างนั้นหรอก ต่างคนต่างโกรธกัน และขอชาติหน้า ขอให้ได้ฆ่าคนนั้น ฆ่าคนนี้ เป็นเรื่องผูกเวร มีพยาปาทะ มีความโกรธขึ้นมา เรียกว่า เกิดชาติหน้าขอให้ได้แก้แค้น อย่างนี้คนละแบบ นี่เรียกว่าเวร ส่วนกรรม หมายถึงการกระทำเท่านั้น แต่ผลแท้ๆ ก็ไปลงเอยกันที่เป็นความชั่วทั้งคู่นั่นแหละ
สุ. ความโกรธมีหลายระดับ ความไม่แช่มชื่น ความขุ่นเคือง ความโกรธ ความผูกโกรธ ความพยาบาทมีลักษณะที่หยาบกระด้าง และประทุษร้ายเพิ่มขึ้นเพราะฉะนั้น ผู้ที่ผูกโกรธ ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นและหมดไป แต่ท่านมีความรู้สึกผูกพัน ยึดเป็นตัวตน และมีความผูกโกรธไว้ ท่านย่อมมีปัจจัยที่จะให้กระทำตามการผูกโกรธของท่าน แล้วแต่ว่าท่านจะผูกโกรธไว้มากน้อยเท่าไร ก็เป็นปัจจัยให้กระทำกรรมตามความผูกโกรธอันนั้น และท่านก็จะได้รับผลของกรรม เป็นวิบากสืบเนื่องต่อไปมากน้อยเท่านั้น ซึ่งใช้คำว่าเวร
ขอกล่าวถึงกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิเป็นเปรต
ใน ขุททกนิกาย เปตวัตถุ มัตตาเปติวัตถุ มีข้อความว่า
นางติสสาถามหญิงเปรตตนหนึ่งว่า
ดูกร นางเปรตผู้ซูบผอมมีแต่ซี่โครง ท่านเป็นผู้เปลือยกาย มีรูปร่างน่าเกลียด ซูบผอม มีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ท่านเป็นใครมายืนอยู่ในที่นี้
นางเปรตนั้นตอบว่า
เมื่อก่อนท่านชื่อติสสา ส่วนดิฉันชื่อมัตตา เป็นหญิงร่วมสามีกับท่าน ได้ทำกรรมอันลามกไว้ จึงไปจากมนุษย์โลกนี้สู่เปตโลก
นางติสสาถามว่า
ท่านได้ทำกรรมชั่วอะไรไว้ด้วยกาย วาจา ใจ หรือเพราะวิบากแห่งกรรมอะไรท่านจึงไปจากมนุษย์โลกนี้สู่เปตโลก
นางเปรตนั้นตอบว่า
ฉันเป็นหญิงดุร้ายและหยาบคาย มักหึงหวง มีความตระหนี่ เป็นคนโอ้อวด ได้กล่าววาจาชั่วกับท่าน จึงไปจากโลกนี้สู่เปตโลก
นางติสสากล่าวว่า
เรื่องนี้เป็นความจริง แม้ฉันก็รู้ว่า ท่านเป็นหญิงดุร้ายอย่างไร แต่อยากจะถามท่านอย่างอื่น ท่านมีสรีระเปื้อนฝุ่นเพราะกรรมอะไร
นางเปรตนั้นตอบว่า
ท่านกับฉันพากันอาบน้ำแล้ว นุ่งห่มผ้าอันสะอาด ตบแต่งร่างกายแล้ว แต่ฉันแต่งร่างกายเรียบร้อยยิ่งกว่าท่าน เมื่อฉันแลดูท่านคุยอยู่กับสามี ลำดับนั้น ความริษยาและความโกรธได้เกิดแก่ฉันเป็นอันมาก ทันใดนั้น ฉันจึงกวาดเอาฝุ่นโปรยลงรดท่าน ฉันมีสรีระเปื้อนด้วยฝุ่นเพราะวิบากแห่งกรรมนั้น
นางติสสากล่าวว่า
เรื่องนี้เป็นความจริง แม้ฉันก็รู้ว่า ท่านเอาฝุ่นโปรยใส่ฉัน แต่ฉันอยากจะถามท่านอย่างอื่น ท่านเป็นหิด คันไปทั่วตัวเพราะกรรมอะไร
นางเปรตตอบว่า
เราทั้งสองเป็นคนหายา ได้พากันไปป่า ส่วนท่านหายามาได้ แต่ฉันนำเอาผลหมามุ้ยมา เมื่อท่านเผลอ ฉันได้โปรยหมามุ้ยบนที่นอนของท่าน ฉันเป็นหิด คันไปทั้งตัวเพราะวิบากแห่งกรรมนั้น
นางติสสากล่าวว่า
เรื่องนี้เป็นความจริง แม้ฉันก็รู้ว่า ท่านโปรยผลหมามุ้ยลงบนที่นอนของฉัน แต่ฉันอยากจะถามท่านอย่างอื่น ท่านเป็นผู้เปลือยกายเพราะกรรมอะไร
นางเปรตนั้นตอบว่า
วันหนึ่งได้มีการประชุมมิตรสหายและญาติทั้งหลาย ส่วนท่านได้รับเชิญ ส่วนฉันซึ่งร่วมสามีกับท่านไม่มีใครเชิญ เมื่อท่านเผลอ ฉันได้ลักผ้าของท่านซ่อนเสีย ฉันเป็นผู้เปลือยกายเพราะวิบากแห่งกรรมนั้น
นางติสสากล่าวว่า
เรื่องนี้เป็นความจริง แม้ฉันก็รู้ว่า ท่านได้ลักเอาผ้าของฉันไปซ่อน แต่ฉันอยากจะถามท่านอย่างอื่น ท่านมีกลิ่นกายเหม็นดังคูถเพราะกรรมอะไร
นางเปรตนั้นตอบว่า
ฉันได้ลักของหอม ดอกไม้ และเครื่องลูบไล้อันมีค่ามากของท่าน ทิ้งลงในหลุมคูถ บาปนั้นฉันได้ทำไว้แล้ว ฉันมีกลิ่นกายเหม็นดังคูถเพราะวิบากแห่งกรรมนั้น
นางติสสากล่าวว่า
เรื่องนี้เป็นความจริง แม้ฉันก็รู้ว่า บาปนั้นท่านได้ทำไว้แล้ว แต่ฉันอยากจะถามท่านอย่างอื่น ท่านเป็นคนยากจนเพราะกรรมอะไร
คนเดียวนี่ทำกรรมมากมาย หลายอย่าง ถ้าจิตริษยา เห็นผิด และคิดผิด ก็ประพฤติผิดได้มากมาย หลายครั้งหลายคราวทีเดียว
นางเปรตนั้นตอบว่า
ทรัพย์สิ่งใดมีอยู่ในเรือน ทรัพย์นั้นของเราทั้งสองมีเท่าๆ กัน เมื่อไทยธรรมมีอยู่ แต่ฉันไม่ได้ทำที่พึ่งแก่ตน ฉันเป็นคนยากจนเพราะวิบากแห่งกรรมนั้น ครั้งนั้นท่านได้ว่ากล่าวตักเตือนฉัน ห้ามไม่ให้ทำบาปกรรมว่า ท่านจะไม่ได้สุคติเพราะกรรมอันลามก
นางติสสากล่าวว่า
ท่านไม่เชื่อถือเรา และริษยาเรา ขอท่านจงดูวิบากแห่งกรรมอันลามกเช่นนี้ เมื่อก่อนนางทาสีและเครื่องอาภรณ์ทั้งหลายได้มีแล้วในเรือนของท่าน แต่เดี๋ยวนี้นางทาสีเหล่านั้นพากันห้อมล้อมคนอื่น โภคะทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ท่านแน่แท้ เดี๋ยวนี้ กฎุมพีผู้เป็นบิดาของบุตรเรายังไปตลาดอยู่ ท่านอย่าพึ่งไปจากที่นี่เสียก่อน บางทีเขาจะให้อะไรแก่ท่านบ้าง
นางเปรตนั้นกล่าวว่า
ฉันเป็นผู้เปลือยกาย มีรูปร่างน่าเกลียด ซูบผอม สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น การเปลือยกายและมีรูปร่างน่าเกลียดเป็นต้นนี้ เป็นการยังความละอายของหญิงทั้งหลายให้กำเริบ ขออย่าให้กฎุมพีได้เห็นฉันเลย
นางติสสากล่าวว่า
ถ้าอย่างนั้น จะให้ฉันให้ทานสิ่งไร หรือทำบุญอะไรให้แก่ท่าน ท่านจึงจะได้ความสุข สำเร็จความปรารถนาทั้งปวง
นางเปรตนั้นตอบว่า
ขอท่านจงนิมนต์ภิกษุจากสงฆ์ ๔ รูป และจากบุคคล ๔ รูป รวมเป็น ๘ รูป ให้ฉันภัตตาหาร แล้วอุทิศส่วนบุญให้ฉัน เมื่อทำอย่านั้น ฉันจึงจะได้ความสุข สำเร็จความปรารถนาทั้งปวง
นางติสสารับคำแล้ว นิมนต์ภิกษุ ๘ รูปให้ฉันภัตตาหาร ให้ครองไตรจีวรแล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้นางเปรต ข้าวน้ำ และเครื่องนุ่งห่มอันเป็นวิบาก ได้บังเกิดขึ้นในทันใดนั้นนั่นเอง นี้เป็นผลแห่งทักษิณาในขณะนั้นนั่นเอง นางเปรตมีร่างกายบริสุทธิ์สะอาด นุ่งห่มผ้าอันมีค่ายิ่งกว่าผ้าแคว้นกาสี ประดับด้วยผ้าและอาภรณ์อันวิจิตร เข้าไปหานางติสสาผู้ร่วมสามี
นางติสสาจึงถามว่า
ดูกร นางเทพธิดา ท่านมีวรรณะงามยิ่งนัก ส่องสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ สถิตอยู่ดุจดาวประกายพฤกษ์ ท่านมีวรรณะเช่นนี้ อิฐผลย่อมสำเร็จแก่ท่านในวิมานนี้ และโภคะทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นที่รักแห่งใจย่อมบังเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะกรรมอะไร
ดูกร นางเทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก ฉันขอถามท่าน เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ท่านได้ทำบุญอะไรไว้ อนึ่ง ท่านมีอานุภาพอันรุ่งเรือง และมีรัศมีอันสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้ เพราะกรรมอะไร
นางมัตตาเทพธิดาตอบว่า
เมื่อก่อนท่านชื่อติสสา ฉันชื่อมัตตา เป็นหญิงร่วมสามีกันกับท่าน ฉันได้ทำกรรมอันลามกไว้ จึงไปจากโลกนี้ไปสู่เปตโลก ฉันอนุโมทนาทานที่ท่านให้แล้ว จึงไม่มีภัยแต่ที่ไหน
คุณพี่ ขอท่านพร้อมด้วยญาติทุกคน จงมีอายุยืนนานเถิด คุณพี่ผู้งดงามพร้อมด้วยญาติทั้งปวง จงมีอายุยืนนานเถิด คุณพี่ประพฤติธรรมและให้ทานในโลกนี้แล้ว จักเข้าถึงฐานะอันไม่เศร้าโศก ปราศจากธุลี อันเป็นที่อยู่แห่งท้าววสวัสดี ท่านกำจัดมลทินคือความตระหนี่พร้อมด้วยรากแล้ว อันใครๆ ไม่ติเตียนได้ จักเข้าถึงโลกสวรรค์
ถ. ผมอ่านในปฐมสมันตปาสาทิกาว่า ที่จะไปเป็นเปรตนี้ เป็นทั้งอบายด้วย เป็นทั้งทุคติด้วย ส่วนสัตว์เป็นเพียงแค่อบายเท่านั้น ไม่ถึงความเป็นทุคติเพราะฉะนั้น เปรตมี ๒ อย่าง แต่แม้กระนั้น เปรตบางจำพวกก็ไปลิ้มเลียเสมหะที่เขาบ้วนทิ้งไว้ แต่บางจำพวก แม้พระท่านจะเอาน้ำตั้ง ๓๐ บาตร เทลงไปในปาก เปรตนั้นก็ไม่ได้ลิ้มเลยจนนิดเดียว ส่วนเปรตที่อาจารย์อธิบายนี้ เพียงแต่อนุโมทนาเท่านั้นเอง ก็ได้รับผลจากการอุทิศของผู้อื่น
สุ. เรื่องภพภูมิของเปรต เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ถ้าท่านศึกษาในเรื่องของอบายภูมิ ๔ นรกเป็นภูมิที่ได้รับทุกข์ทรมานสาหัสมากทีเดียว ตลอดเวลา ตราบเท่าที่กรรมนั้นยังให้ผลอยู่ ยังไม่พ้นจากภูมินรก สำหรับสัตว์ดิรัจฉานนั้น ก็ได้รับสุขทุกข์ตามควรแก่ประเภทของสัตว์ และกรรมของสัตว์นั้นๆ
แต่สำหรับเปรต มีความวิจิตรมาก และเปรตทั้งหลายก็สามารถที่จะระลึกถึงกรรมที่ทำให้ตนได้รับผลของกรรมนั้น กรรมที่ทำให้เปรตมีการเสวยทุกข์ หรือสุขสลับกันไป หรือว่าจะเสวยทุกข์เสียนาน จนกระทั่งตราบใดที่ได้อนุโมทนา ผลของการอนุโมทนาซึ่งเป็นกุศลนั้น ก็ทำให้เปรตได้รับผลของการอนุโมทนาทันที
เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นผลของการอนุโมทนาด้วยการรู้ซึ้งถึงกรรม อนุโมทนาด้วยความยินดีโสมนัสจริงๆ และเป็นภูมิที่สามารถรับอุทิศส่วนกุศล สามารถที่จะเกิดจิตผ่องใสอนุโมทนาได้ กุศลนั้นก็ทำให้เปรตสามารถที่จะเปลี่ยนจากทุกข์เป็นสุขได้ทันที
ถ. ที่กระผมสงสัย คือ เปรตบางจำพวกก็ได้รับอาหารโดยตรงอย่างที่ผมยกตัวอย่างว่า พระท่านเอาน้ำรดลงไปที่ปากของเปรตตั้ง ๓๐ บาตร แต่เปรตนั้นก็ไม่สามารถที่จะได้ลิ้มรสของน้ำนั้นแม้แต่หยดเดียว ส่วนเปรตบางจำพวกนั้นเพียงอนุโมทนาในส่วนกุศลที่ผู้อื่นอุทิศให้เท่านั้น ก็สามารถที่จะได้รับผลเต็มที่ ตอนท้ายก็ได้ฟังอีกนิดหนึ่งที่ว่า เมื่อเปรตนั้นอนุโมทนา กุศลจิตของเปรตนั้นเป็นกุศลจิต แต่เปรตที่ยังไม่ได้รับน้ำดื่มนั้น จิตของเปรตนั้นยังเป็นอกุศลจิตอยู่ตลอดเวลา จะเป็นเพราะเหตุนี้ไหมจึงไม่ได้รับผลเท่าเทียมกัน
สุ. อาหารของมนุษย์จะเอาไปให้เปรตไม่ได้ อย่างเปรตที่หิวกระหายน้ำมาก เมื่อได้พบพระภิกษุก็ขอน้ำ ท่านก็เอาบาตรตักน้ำ ช่วยกันกรอกปากของเปรต แต่น้ำนั้นก็ไม่ล่วงลำคอของเปรตไปได้เลย เพราะเหตุว่าไม่ใช่อาหารของเปรต ไม่ใช่ว่าท่านเห็นเปรตที่กำลังหิวมาก ก็เชิญมาบริโภคอาหาร เปรตก็รับประทานอิ่มหนำสำราญ อย่างนั้นไม่ได้
เปรตจะได้ก็ต่อเมื่อมีผู้กระทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ และเกิดกุศลจิตอนุโมทนาในกุศลที่บุคคลอื่นอุทิศให้ จึงจะเกิดอาหารที่เหมาะสมควรแก่ตนที่จะบริโภค ที่จะใช้ในภูมิของเปรตนั้น เป็นไปตามกรรมเหมือนกัน แม้แต่อาหารที่จะบริโภคก็ต้องเป็นอาหารที่เปรตบริโภคได้
พยัญชนะบางแห่งกล่าวว่า อาหารของเปรตเป็นพวกเสลด หรือเป็นพวกเลือดหนอง แต่ที่ถูกควรจะเป็นในลักษณะที่ว่า เป็นอาหารที่เปรตบริโภคได้ ไม่ใช่ธรรมดาๆ อย่างชนิดที่พอไปพบที่ไหนก็มาลิ้มมาเลียกันใหญ่ แต่เป็นอาหารของเปรตที่บริโภคกัน เพราะว่าเปรตบางพวกก็มีแผล มีน้ำหนอง มีเลือดที่ไหลออกมา พวกเปรตนั้นก็บริโภคอาหารของพวกเปรตได้
ถ. ตามที่กระผมเรียนมา เปรตนี้ตามเปตวัตถุมีมาก แต่ที่เรียกว่า ปรทัตตูปชีวีเปรต เป็นศัพท์บาลี ปร แปลว่า ผู้อื่น ทัตฺตู ทตฺต แปลว่า ที่ผู้อื่นให้ อุปชีวี แปลว่า เลี้ยงชีพด้วยอาหารที่ผู้อื่นให้ หมายความว่าอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าคดใส่ชามให้กิน ไม่ใช่อย่างนั้น
ปรทัตตูปชีวี แปลตามศัพท์ว่า เข้าไปอาศัยเลี้ยงชีพที่คนอื่นให้ ที่คนอื่นให้ ก็อย่างที่อาจารย์ว่า ไม่ใช่เตรียมข้าวไปสังเวยอย่างพระภูมิ นั่นเป็นเรื่องของลัทธิ แต่จะต้องทำบุญแผ่ส่วนกุศลให้ เรื่องนี้ขอให้เข้าใจไว้อย่างหนึ่ง การเกิดอย่างที่เรียกว่า โอปปาติกะ เขาเรียกว่าผุดเกิด ไม่ใช่เกิดอย่างชลาพุชะอย่างพวกเรา สัตว์ดิรัจฉานเกิดแบบเดียวกับเรา เพราะฉะนั้น การเจ็บไข้อย่างที่อาจารย์ว่า ของเราค่อยๆ เจ็บค่อยๆ เป็น ส่วนเปรตนั้น หายก็หาย เป็นก็เป็น พอตายก็วูบไปเลย พอเกิดก็ปรากฏกันมาเลย จะเรียกว่ากายทิพย์ก็ได้ คำว่า กายทิพย์ ไม่ใช่จะมีเฉพาะเทวดา พวกโอปปาติกะนี้เรียกว่าพวกกายทิพย์ ผุดเกิด กรรมทำให้เกิด จึงไม่ต้องมีพ่อมีแม่
เปรตนี้ต้องพร้อมด้วยองค์ ๓ ปฏิคาหก ทายก และผู้รับส่วนบุญ ต้อง ๓ อย่างตรงกัน เวลารับพูดกันมามากแล้ว ทำบุญแล้วไปกรวดน้ำเมื่อไรก็ได้ ความจริงที่ถูกแล้ว คิดเองนะครับ อย่างที่ว่า ติโรกุฑฺเฑสุ ติฏฺฐนฺติ เปรตพวกนี้มายืนข้างฝา ข้างอะไรต่างๆ มาคอยรับส่วนบุญ เราต้องแผ่ส่วนบุญบอกเขาเดี๋ยวนั้น ถ้าเขาไปแล้ว เราจะไปให้แก่ใคร เขาก็ไม่ได้อนุโมทนา คือ ไม่ได้อาหารที่เราให้แต่ได้ผลของการที่อนุโมทนา อนุโมทนามัย อย่างที่อาจารย์ว่า เปรตจะกินอาหารของมนุษย์ได้อย่างไร กินไม่ได้ จะกินได้ก็เฉพาะเสลด น้ำหนอง เป็นอาหารตามวิบากกรรม
สุ. สำหรับเรื่องของเปรต ขอกล่าวถึงบางเรื่องที่ท่านจะได้พิจารณาสภาพของอกุศลจิตที่ทำให้ปฏิสนธิในภูมิเปรต
ขุททกนิกาย เปตวัตถุ นันทาเปตวัตถุ มีข้อความว่า
นันทเสนอุบาสกถามว่า
ท่านมีผิวพรรณดำ มีรูปร่างน่าเกลียด ตัวขรุขระดูน่ากลัว มีตาเหลือง เขี้ยวงอกออกเหมือนหมู เราไม่เข้าใจว่า ท่านเป็นมนุษย์หรือ
นางเปรตตอบว่า
ข้าแต่ท่านนันทเสน เมื่อก่อนฉันชื่อนันทา เป็นภรรยาของท่าน ได้ทำกรรมอันลามกไว้ จึงไปจากโลกนี้สู่เปตโลก
นันทเสนถามว่า
ท่านทำกรรมชั่วอะไรไว้ด้วยกาย วาจา ใจ เพราะวิบากแห่งกรรมอะไร ท่านจึงไปจากโลกนี้สู่เปตโลก
ทั้งๆ ที่เป็นสามีภรรยา เวลาที่จากกันด้วยการสิ้นชีวิต ก็ไม่มีใครทราบว่า ใครจะไปไหน คนหนึ่งก็อาจจะไปเป็นเปรต ถึงแม้ว่าจะไปเป็นเปรตแล้ว ผู้ที่เป็นสามีก็ยังไม่รู้ถึงกรรมว่ากรรมอะไรจึงทำให้ภรรยานั้นไปเป็นเปรต
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๘ ตอนที่ ๒๗๑ – ๒๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 241
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 242
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 243
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 244
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 245
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 246
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 247
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 248
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 249
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 250
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 251
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 252
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 253
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 254
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 255
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 256
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 257
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 258
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 259
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 260
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 261
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 262
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 263
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 264
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 265
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 266
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 267
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 268
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 269
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 270
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 271
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 272
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 273
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 274
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 275
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 276
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 277
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 278
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 279
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 280
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 281
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 282
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 283
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 284
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 285
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 286
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 287
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 288
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 289
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 290
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 291
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 292
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 293
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 294
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 295
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 296
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 297
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 298
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 299
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 300