แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 283
ครั้งที่ ๒๘๓
ส่วนกรรมที่จะทำให้เป็นผู้เปลือยกาย เปรตกราบทูลว่า
เมื่อพวกสหายของข้าพระองค์อาบน้ำที่ท่าน้ำ ข้าพระองค์ลักเอาผ้าซ่อนไว้บนบก ไม่มีความประสงค์จะลักขโมย และไม่มีจิตคิดประทุษร้าย เพราะกรรมนั้น ข้าพระองค์จึงเป็นคนเปลือยกาย เป็นอยู่อย่างฝืดเคือง
พระเจ้าอัมพสักขระตรัสถามว่า
ผู้ใดทำบาปเล่นๆ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ผู้นั้นได้รับผลกรรมเช่นนี้ ส่วนผู้ใดตั้งใจทำบาปจริงๆ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวผลกรรมของผู้นั้นว่าเป็นอย่างไร
เปรตนั้นกราบทูลว่า
มนุษย์เหล่าใดมีความดำริชั่วร้าย เป็นผู้เศร้าหมองด้วยกาย และวาจา เมื่อตายไป มนุษย์เหล่านั้นย่อมเข้าถึงนรกในสัมปรายภพโดยไม่ต้องสงสัย ส่วนชนเหล่าอื่นปรารถนาสุคติ ยินดียิ่งในทาน มีอัตภาพอันสงเคราะห์แล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติในสัมปรายภพโดยไม่ต้องสงสัย
น่ากลัวไหมกรรมอย่างนี้ ไม่ได้มีเจตนาประทุษร้ายอะไร แต่ทำให้ผู้อื่นลำบากฉะนั้น ผลกรรม คือ เป็นผู้เปลือยกาย เมื่อไม่ให้ผ้าเขา ผลคือตัวเองก็ไม่มีผ้า ถ้าเห็นว่าคนอื่นไม่เดือดร้อน ตัวเองก็ไม่น่าจะเดือดร้อนอะไรเวลาที่ไม่มีเครื่องนุ่งห่ม แต่ว่าเพราะคนอื่นเดือดร้อน ตนเองก็เดือดร้อนด้วยเวลาที่ไม่มีผ้านุ่งห่ม
เมื่อเปรตนั้นชี้แจง จำแนกผลกรรมแต่โดยย่ออย่างนี้ พระราชาไม่ทรงเชื่อจึงตรัสถามเปรตนั้นว่า
เราจะพึงรู้เรื่องนั้นได้อย่างไรว่า นี้เป็นผลแห่งกรรมดี และกรรมชั่ว หรือเราจะพึงเห็นอย่างไรจึงจะเชื่อถือได้ หรือแม้ใครจะพึงทำให้เราเชื่อถือเรื่องนั้นได้
พระราชาเป็นผู้ที่ไม่ค่อยจะทรงเชื่อเรื่องกรรมเลย
เปรตนั้นกราบทูลว่า
พระองค์ได้ทรงเห็นแล้ว และได้ทรงสดับมาแล้ว ก็จงทรงเชื่อเถิดว่า นี้เป็นผลแห่งกรรมดี และกรรมชั่ว
คือ ทั้งเห็นเปรตด้วย และได้ฟังเรื่องของกรรมที่เป็นเหตุที่จะให้เป็นอย่างนั้นด้วย
เปรตกราบทูลต่อไปว่า
เมื่อมีกรรมดี และกรรมชั่วทั้งสอง ก็พึงมีสัตว์ไปสู่สุคติ และทุคติ ถ้าสัตว์ทั้งหลายในมนุษย์โลกนี้ไม่พึงทำกรรมดี และกรรมชั่ว สัตว์ผู้ไปสู่สุคติ ทุคติ เลว และประณีต ก็ไม่มีในมนุษย์โลกนี้ แต่เพราะสัตว์ทั้งหลายในมนุษย์โลกทำกรรมดี และกรรมชั่วไว้ ฉะนั้น จึงไปสุคติ ไปสู่ทุคติ เลวบ้าง ประณีตบ้าง นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าววิบากแห่งกรรมทั้งสองนั้นว่า เป็นที่ตั้งแห่งการเสวยสุข และทุกข์ เทวดาย่อมพากันห้อมล้อมพวกชนผู้ได้เสวยผลอันเป็นสุข คนพาลผู้ไม่เห็นบาปและบุญทั้งสอง ย่อมเดือดร้อน
กรรมที่ข้าพระองค์เองได้ทำไว้ในชาติก่อน ซึ่งจะเป็นเหตุให้ได้เครื่องนุ่งห่มเป็นต้น ในบัดนี้มิได้มีแก่ข้าพระองค์ และบุคคลผู้ที่ให้ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ที่นอน ที่นั่ง ข้าวและน้ำแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลายแล้วพึงอุทิศส่วนบุญมาให้ข้าพระองค์มิได้มี เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงเป็นคนเปลือยกาย มีความเป็นอยู่อย่างฝืดเคือง
จะเห็นได้ว่า ผลทั้งของกุศลกรรม และอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว ย่อมจำแนกโดยละเอียด แม้ในภูมิของเปรต มีม้าขาวขี่ น่าอัศจรรย์ มีรัศมีสว่างไสว มีกลิ่นหอม เป็นผลของบุญ แต่เป็นผู้ที่เปลือยกาย ถ้าท่านระลึกย้อนไปถึงในภูมิมนุษย์จะเห็นว่า กรรมจำแนกบุคคลให้ประณีตและเลวต่างๆ กันไป บางทีอาจจะเป็นผู้ที่ไร้ยศ แต่มีเครื่องอุปโภคบริโภค หรือเป็นผู้ที่มีโรคภัยไข้เจ็บ แต่สุขสำราญต่างๆ กันไป แม้ว่าจะไปเกิดในภูมิของเปรต ก็จำแนกให้วิจิตรต่างๆ กัน ตามกรรมนั้นด้วย
พระเจ้าอัมพสักขระตรัสถามว่า
ดูกร ยักษ์ เหตุอะไรๆ ที่จะให้ท่านได้เครื่องนุ่งห่มพึงมีอยู่หรือ ถ้าเหตุที่ควรเชื่อ พอจะฟังเป็นเหตุได้มีอยู่ ขอท่านจงบอกเหตุนั้นแก่เรา
ทรงต้องการที่จะพิสูจน์ว่า เป็นเหตุที่ให้ได้ผลอย่างนั้นจริงหรือไม่
เปรตนั้นกราบทูลว่า
ในเมืองเวสาลีนี้มีภิกษุรูปหนึ่งนามว่า กัปปิตกะ เป็นผู้ได้ฌาน มีศีลบริสุทธิ์เป็นพระอรหันต์ผู้หลุดพ้น มีอินทรีย์อันคุ้มครองแล้ว สำรวมในพระปาติโมกข์ เยือกเย็น บรรลุผลอันสูงสุด มีวาจาสละสลวย รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ว่าง่าย มีหน้าเบิกบาน เป็นผู้มาดีไปดี พูดจาโต้ตอบดี เป็นเนื้อนาบุญของโลก มีปกติอยู่ด้วยเมตตา เป็นทักขิไณยยบุคคลของเทวดาและมนุษย์ สงบระงับ กำจัดมิจฉาวิตกได้ ไม่มีทุกข์ ไม่มีตัณหา หลุดพ้นแล้ว ปราศจากลูกศร ไม่ถือเราถือเขา ไม่คดกาย วาจา ใจ ไม่มีอุปธิ สิ้นกิเลสเป็นเครื่องเนิ่นช้าทั้งปวงได้ บรรลุวิชชา ๓ มีความรุ่งเรือง ไม่มีชื่อเสียงปรากฏเพราะความเป็นผู้มีคุณวิเศษอันปกปิดไว้ แม้ใครๆ เห็นก็ไม่รู้ว่า เป็นคนดี ในหมู่ชนชาววัชชีเขาพากันเรียกท่านว่า มุนี รู้กันว่า ท่านเป็นผู้ประเสริฐ หนักแน่นไม่หวั่นไหว มีธรรมอันดีงามเที่ยวไปในโลก
ถ้าพระองค์ทรงถวายผ้าคู่หนึ่ง หรือ ๒ คู่แก่ภิกษุนั้นแล้ว ทรงอุทิศส่วนกุศลให้ข้าพระองค์ เมื่อพระองค์ทรงถวายแล้ว และท่านรับผ้านั้นแล้ว พระองค์ก็จะทรงเห็นข้าพระองค์นุ่งห่มผ้าเรียบร้อย
พระเจ้าอัมพสักขระตรัสถามว่า
บัดนี้สมณะนั้นอยู่ที่ประเทศไหน เราจักไปพบท่านที่ไหน ใครจะพึงแก้ความสงสัยสนเท่ห์อันเป็นเสี้ยนหนามแห่งความเห็นของเราได้ในวันนี้
เปรตนั้นกราบทูลว่า
ท่านอยู่ที่เมืองกปินัจจนา มีหมู่เทวดาเนอันมากห้อมล้อม เป็นผู้มีนามจริงแท้ เป็นผู้ไม่ประมาท แสดงธรรมมีกถาอยู่ในหมู่ของตน
พระเจ้าอัมพสักขระตรัสว่า
เราจักไป แล้วจักทำตามที่ท่านสั่งนั้นเดี๋ยวนี้ จักให้สมณะนั้นนุ่งห่มผ้า ขอท่านจงดูผ้าคู่เหล่านั้น อันสมณะนั้นรับประเคนแล้ว แล้วเราจะคอยดูท่านนุ่งห่มผ้าเป็นอันดี
เปรตนั้นกราบทูลว่า
ขอรับประทานพระวโรกาส ขอพระองค์อย่าเสด็จเข้าไปหาบรรพชิตในเวลาที่ไม่ควร การเสด็จเข้าไปหาบรรพชิตในเวลาไม่ควรนี้ ไม่เป็นธรรมเนียมที่ดีของกษัตริย์ ลิจฉวีทั้งหลาย ก็เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปหาในเวลาสมควร ก็จักทรงเห็นภิกษุนั้นนั่งอยู่ในที่สงัดในที่นั้นเอง
พระเจ้าลิจฉวี ก็แวดล้อมด้วยหมู่ข้าราชบริพาร เสด็จไปในนครนั้น ครั้นเสด็จเข้าไปยังนครนั้น จึงเสด็จเข้าไปประทับในนิเวศน์ของพระองค์ ทรงกระทำกิจของคฤหัสถ์ทั้งหลาย ทรงสรงสนาน และทรงดื่มน้ำแล้ว ได้เวลาอันควร จึงทรงเลือกผ้า ๘ คู่จากหีบ รับสั่งให้หมู่ข้าราชบริพารถือไป
พระราชาครั้นเสด็จเข้าไปในประเทศนั้นแล้ว ได้ทอดพระเนตรเห็นสมณะรูปหนึ่ง ผู้มีจิตสงบระงับ กลับจากที่โคจร เป็นผู้เยือกเย็น นั่งอยู่ที่โคนต้นไม้ ครั้นแล้วได้ตรัสถามสมณะนั้นถึงความเป็นผู้มีอาพาธน้อย การอยู่สำราญ แล้วตรัสบอกนามของพระองค์ให้ทรงทราบว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันเป็นกษัตริย์ลิจฉวี อยู่ในเมืองเวสาลี ชาวลิจฉวีเรียกดิฉันว่า อัมพสักขระ ขอท่านจงรับผ้า ๘ คู่นี้ของดิฉัน ดิฉันขอถวายท่าน ดิฉันมาในที่นี้ด้วยความประสงค์เพียงเท่านี้ ดิฉันมีความปลื้มใจนัก
พระเถระทูลถามว่า
สมณพราหมณ์ทั้งหลายพากันละเวันพระราชนิเวศน์ของมหาบพิตรแต่ที่ไกลทีเดียว เพราะในพระราชนิเวศน์ของมหาบพิตรบาตรย่อมแตก แม้สังฆาฏิก็ถูกเขาฉีกเมื่อก่อนสมณะทั้งหลายมีศีรษะห้อยลง ตกลงไปจากเขียงเท้า มหาบพิตรได้เบียดเบียนบรรพชิตเช่นนี้ สมณะทั้งหลายเคยถูกมหาบพิตรทำการเบียดเบียนแล้วมหาบพิตรไม่เคยพระราชทานแม้แต่น้ำมันสักหยดหนึ่งเลย ไม่ตรัสบอกทางให้คนหลงทาง ชิงเอาไม้เท้าจากมือคนตาบอดเสียเอง มหาบพิตรเป็นคนตระหนี่ ไม่สำรวมเช่นนี้ แต่บัดนี้เพราะเหตุอะไร มหาบพิตรทรงเห็นผลอะไร จึงทรงจำแนกแจกจ่ายแก่อาตมภาพทั้งหลายเล่า
พระราชาก็ได้ตรัสว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันขอรับผิด ดิฉันได้เบียดเบียนสมณะทั้งหลายดังคำที่ท่านพูด ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันมีความประสงค์จะล้อเล่น มิได้มีจิตประทุษร้าย แต่กรรมอันชั่วช้านั้นดิฉันทำแล้ว เด็กหนุ่มเปลือยกาย มีโภคะน้อยได้สั่งสมบาปเพื่อจะล้อเล่น จึงต้องเสวยทุกข์ ก็ทุกข์อะไรเล่าที่เป็นทุกข์กว่าความเปลือยกาย ย่อมมีแก่เปรตนั้น
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันเห็นเหตุอันน่าสังเวชและเศร้าหมองนั้นแล้วจึงให้ทาน เพราะเหตุนั้นเป็นปัจจัย ขอท่านจงรับผ้า ๘ คู่นี้ ทักษิณาที่ข้าพเจ้าถวายนี้ จงสำเร็จผลแก่เปรตนั้น
พระเถระทูลว่า
เพราะการให้ทาน นักปราชญ์มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น สรรเสริญแล้วโดยมากแน่แท้ อาตมภาพจะรับผ้า ๘ คู่ของมหาบพิตร ขอทักษิณาทานเหล่านี้จงสำเร็จผลแก่เปรตนั้น
ลำดับนั้น พระเจ้าลิจฉวีทรงชำระพระหัตถ์และพระบาทแล้ว ทรงถวายผ้า ๘ คู่แก่พระเถระ พอพระเถระรับประเคนผ้าเหล่านั้นแล้ว พระราชาทรงเห็นเปรตนุ่งห่มผ้าเรียบร้อย ลูบไล้ด้วยจุณจันทน์แดง มีผิวพรรณเปล่งปลั่ง ประดับประดานุ่งผ้าดี ขี่ม้าอาชาไนย มีบริวารห้อมล้อม สำเร็จมหิทธิฤทธิ์ของเทวดา ครั้งทรงเห็นเช่นนั้นแล้ว ทรงปลื้มพระหฤทัย เกิดปีติปราโมทย์ มีพระหฤทัยร่าเริงเบิกบาน
พระเจ้าลิจฉวีได้ทรงเห็นกรรม แจ้งประจักษ์ด้วยพระองค์เองแล้ว จึงเสด็จเข้าไปใกล้ แล้วตรัสกับเปรตนั้นว่า
เราจักให้ทานแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย เราควรให้ทานทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ ดูกร เปรต ท่านมีอุปการะแก่เรามาก
เปรตนั้นกราบทูลว่า
ข้าแต่กษัตริย์ลิจฉวี ก็พระองค์ได้พระราชทานเพื่อข้าพระองค์ส่วนหนึ่ง แต่การพระราชทานนั้นมิได้ไร้ผล ข้าพระองค์เป็นเทวดา จักทำความเป็นสหายกับพระองค์ผู้เป็นมนุษย์
พระราชาตรัสว่า
ท่านเป็นคติ เป็นเผ่าพันธุ์ เป็นการยึดเหนี่ยว เป็นมิตร และเป็นเทวดาของเราดูกร เปรต เราขอทำอัญชลีท่าน และปรารถนาเพื่อจะได้เห็นท่านแม้อีก
เปรตนั้นกราบทูลว่า
ถ้าพระองค์จักเป็นผู้ไม่มีศรัทธา มีความตระหนี่ มีจิตไม่เลื่อมใส พระองค์จักไม่เห็นข้าพระองค์ และข้าพระองค์ก็จักไม่ได้เห็น ไม่ได้เจรจากับพระองค์อีก ถ้าพระองค์จักทรงเคารพธรรม ทรงยินดีในการบริจาคทาน ทรงสงเคราะห์ ทรงเป็นดังบ่อน้ำของสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ด้วยอาการอย่างนี้ พระองค์ก็จักได้ทรงเห็นข้าพระองค์ และข้าพระองค์จักได้เห็น ได้เจรจากับพระองค์
ขอพระองค์โปรดทรงปล่อยบุรุษนี้จากหลาวโดยเร็วเถิด เพราะการปล่อยบุรุษนี้ เราทั้งสองจักได้เป็นสหายกัน ข้าพระองค์เข้าใจว่า เราทั้งสองจักได้เป็นสหายกันและกัน เพราะเหตุแห่งบุรุษผู้ถูกหลาวเสียบ ก็บุรุษผู้ถูกหลาวเสียบนี้ อันพระองค์ทรงรีบปล่อยแล้ว พึงเป็นผู้ประพฤติธรรมโดยเคารพ พึงพ้นจากนรกนั้นแน่นอน พึงพ้นจากกรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งเวทนา พระองค์เสด็จเข้าไปหากัปปิตกภิกษุ แล้วทรงจำแนกทานกับท่านในเวลาที่ควร จงเสด็จเข้าไปหาแล้วตรัสถามด้วยพระองค์เอง ท่านจะกราบทูลเนื้อความนั้นแก่พระองค์ ก็พระองค์ทรงประสงค์บุญ มีจิตไม่ประทุษร้าย ก็เชิญเสด็จเข้าไปหาภิกษุนั้นเถิด ท่านจะแสดงธรรมทั้งปวงที่ทรงสดับแล้ว และยังมิได้ทรงสดับแก่พระองค์ ตามความรู้เห็น พระองค์ได้ทรงฟังธรรมนั้นแล้วจักทรงเห็นสุคติ
เป็นประโยชน์ของการที่ได้พบกับผู้ที่มาเกื้อกูล ถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นเปรตแต่ก็ได้แนะนำในทางที่เป็นการเจริญกุศลทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อพระราชาได้ทรงเจรจาทำความเป็นสหายกับเทวดานั้นแล้ว ก็ได้เสด็จไป
พระเจ้าลิจฉวีได้เสด็จเข้าไปสู่ประเทศนั้นแล้วรีบปล่อยบุรุษที่ถูกเสียบหลาวโดยเร็ว และได้ตรัสกับบุรุษนั้นว่า อย่ากลัวเลยเพื่อน แล้วรับสั่งให้หมอพยาบาล
เมื่อพระราชาได้ปล่อยบุรุษที่ถูกเสียบหลาวแล้ว ได้กลับไปหากัปปิตกภิกษุ เพื่อที่จะได้ฟังธรรม เพื่อที่จะได้เห็นเหตุผลของการที่บุรุษนั้นถูกเสียบหลาว และสามารถที่จะไม่ไปสู่นรกได้เพราะเหตุอะไร
กัปปิตกภิกษุกราบทูลว่า
ความพินาศแห่งกรรมเหล่านั้นย่อมไม่มี ความพินาศในโลกนี้เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้แจ้ง ถ้าเขาพึงเป็นผู้ไม่ประมาท ประพฤติธรรมทั้งหลายโดยเคารพตลอดคืนและวัน เขาพึงพ้นจากนรกนั้นได้แน่ กรรมอันเว้นจากการให้ผลพึงมี
พระราชาตรัสว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ผู้มีปัญญากว้างขวาง ประโยชน์ของบุรุษผู้นี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงแล้ว บัดนี้ขอท่านอนุเคราะห์ข้าพเจ้าบ้าง ขอท่านได้กล่าวตักเตือนพร่ำสอนข้าพเจ้า โดยวิธีที่ข้าพเจ้าจะไม่พึงไปสู่นรกด้วยเถิด
ก็ไม่แน่ใช่ไหม ไม่ว่าจะเป็นพระราชา หรือเป็นใคร ถ้าได้กระทำอกุศลกรรมแล้ว เมื่อจุติจากมนุษย์โลกนี้ ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็จะทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิแต่พระราชาก็อยากที่จะพ้นจากอบายภูมิ อยากจะพ้นจากนรก ฉะนั้น ก็ตรัสถามถึงหนทางที่จะทำให้พ้นจากนรก
ซึ่งกัปปิตกภิกษุทูลว่า
วันนี้ขอมหาบพิตรทรงมีพระหฤทัยเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ จงทรงสิกขาบท ๕ อย่าให้ขาด และด่างพร้อย จงทรงงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ทรงยินดีด้วยพระมเหสีของพระองค์ ไม่ทรงพูดเท็จ ไม่ทรงดื่มน้ำจัณฑ์ และทรงสมาทานอุโบสถศีล อันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอันประเสริฐเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร จงทรงพระราชทานจีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง คิลานปัจจัย ข้าว น้ำ ของกิน ของเคี้ยว ผ้า เสนาสนะในภิกษุผู้มีจิตซื่อตรงทั้งหลาย บุญย่อมเจริญทุกเมื่อ ทรงอังคาสภิกษุทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ปราศจากราคะ เป็นพหูสูตให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ บุญย่อมเพิ่มพูนทุกเมื่อ เมื่อบุคคลเป็นผู้ไม่ประมาทประพฤติธรรมโดยเคารพตลอดคืนและวันอย่างนี้ พึงพ้นจากนรกนั้น กรรมที่เว้นการให้ผลพึงมี
ท่านกัปปิตกภิกษุไม่ได้ให้พระราชาเสด็จไปสู่ที่อื่นเลยใช่ไหม แต่เป็นชีวิตประจำวันที่ควรจะทรงบำเพ็ญ เป็นชีวิตของคฤหัสถ์ และเป็นการเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวันของคฤหัสถ์ด้วย มิฉะนั้นแล้ว พระราชาพระองค์นี้จะไม่บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน ซึ่งในภายหลังพระราชาพระองค์นี้บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันก็ด้วยข้อปฏิบัติที่ทรงบำเพ็ญเป็นปกติในชีวิตประจำวันนี่เอง
พระราชาตรัสว่า
วันนี้ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส ขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอสมาทานสิกขาบท ๕ ไม่ให้ขาด และด่างพร้อย ของดเว้นจากการฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ ยินดีด้วยภรรยาของตน ไม่กล่าวเท็จ ไม่ดื่มน้ำเมา และจักสมาทานอุโบสถศีล อันประกอบด้วยองค์ ๘ประการอันประเสริฐ เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร จักถวายจีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง คิลานปัจจัย ข้าว น้ำ ของกิน ของเคี้ยว ผ้า และเสนาสนะแก่ภิกษุทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ปราศจากราคะ เป็นพหูสูต จักไม่กำหนัด ยินดีแล้วในศาสนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ข้อความตอนท้ายมีว่า
พระเจ้าลิจฉวีทรงพระนามว่าอัมพสักขระได้เป็นอุบาสกคนหนึ่งในเมืองเวสาลีทรงมีศรัทธามีพระหฤทัยอ่อนโยนทรงกระทำอุปการะแก่ภิกษุทรงบำรุงสงฆ์
ในกาลนั้น บุรุษผู้ถูกเสียบหลาวหายโรค เป็นสุขสบายดี ได้เข้าถึงบรรพชา แม้ชนทั้งสองอาศัยกัปปิตกภิกษุผู้ประเสริฐ ได้บรรลุสามัญผล การคบหาสัปบุรุษเช่นนี้ย่อมมีผลมากตั้งร้อยแก่วิญญูชนผู้รู้แจ้ง บุรุษผู้ถูกเสียบหลาวได้บรรลุผลอันยอดเยี่ยม (บรรลุอรหันต์) ส่วนพระเจ้าอัมพสักขระได้บรรลุโสดาปัตติผล
จบอัมพสักขรเปตวัตถุที่ ๑
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๙ ตอนที่ ๒๘๑ – ๒๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 241
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 242
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 243
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 244
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 245
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 246
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 247
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 248
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 249
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 250
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 251
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 252
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 253
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 254
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 255
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 256
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 257
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 258
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 259
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 260
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 261
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 262
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 263
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 264
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 265
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 266
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 267
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 268
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 269
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 270
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 271
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 272
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 273
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 274
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 275
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 276
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 277
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 278
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 279
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 280
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 281
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 282
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 283
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 284
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 285
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 286
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 287
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 288
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 289
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 290
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 291
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 292
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 293
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 294
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 295
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 296
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 297
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 298
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 299
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 300