แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 285
ครั้งที่ ๒๘๕
พระธรรมสังคีตีกาจารย์ได้รจนาคาถาเหล่านี้ไว้ในที่สุดว่า
พวกพ่อค้าเหล่านั้นทั้งหมดในที่นั้น พากันห้อมล้อมช่างกัลบกนั้น ขึ้นสู่วิมานดุจวิมานแห่งท้าววาสวะ ด้วยการกล่าวว่า เราก่อน เราก่อน พวกพ่อค้าทั้งหมดนั้นได้ประกาศความเป็นอุบาสกว่า เราก่อน เราก่อน ดังนี้ เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน ยินดีด้วยภรรยาของตน ไม่พูดเท็จ และไม่ดื่มน้ำเมา พวกพ่อค้าทั้งหมดนั้น ครั้นประกาศความเป็นอุบาสกแล้ว ผู้อันเสริสกเทพบุตรบอกแล้ว บันเทิงอยู่ด้วยเทวฤทธิ์บ่อยๆ แล้วหลีกไป
พวกพ่อค้าเหล่านั้นมีความต้องการด้วยทรัพย์ ปรารถนาอดิเรกลาภเพิ่มพูน ได้ไปยังสินธุประเทศและโสวีระประเทศ พยายามทำตามความปรารถนาของตน ได้ทรัพย์บริบูรณ์ตามความปรารถนา กลับมาสู่ปาตลีบุตรดังเดิม หาอันตรายมิได้ มีความสวัสดี ไปสู่เรือนของตน พรั่งพร้อมไปด้วยบุตรภรรยา มีจิตยินดีโสมนัสปลาบปลื้ม ได้ทำการบูชาอย่างยิ่งแก่เสริสกเทพบุตร ได้สร้างเทวาลัยชื่อว่าเสริสสกะ
การคบหาด้วยสัปบุรุษยังประโยชน์ให้สำเร็จอย่างนี้ การคบหาบุคคลผู้มีคุณธรรมมีประโยชน์มาก สัตว์ทั้งปวงย่อมได้รับประโยชน์และมีความสุข เพราะคบหาอุบาสกคนหนึ่ง
เสริสกเทพบุตรจะไปอยู่ที่ศาลเทวาลัยนั้นหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ พวกพ่อค้าเหล่านั้นระลึกถึงคุณความดี จึงได้สร้างเทวาลัยชื่อว่าเสริสสกะ เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกถึงคุณความดีของเทพบุตรองค์นั้น แต่ไม่ใช่ไปวิงวอนขอร้อง พึ่งพาอาศัย โดยที่ไม่เจริญกุศลกรรม หรือไม่เชื่อกรรมของตน เพราะว่าเสริสกเทพบุตรได้กล่าวเตือนแล้วว่า ท่านทั้งหลายอย่าได้ทำการบูชาแก่เสริสกเทพบุตรเลย สิ่งที่ท่านพูดถึงทั้งหมดจักเป็นของท่าน คือ บุญที่ทำจะเป็นของบุคคลนั้นเอง และเสริสกเทพบุตรก็ได้แสดงธรรมว่า ขอให้พวกท่านจงงดเว้นกรรมทั้งหลายอันเป็นบาป แล้วจงอธิษฐานการประกอบตามซึ่งธรรม
นี่คือการเกื้อกูลกันด้วยธรรม แม้บอกว่าจะบูชาเสริสกเทพบุตรๆ ก็ยังบอกว่าอย่าบูชาท่านเลย เป็นการเกื้อกูลจริงๆ ไม่ใช่ขอให้มาบูชาเสมอๆ และจะอำนวยลาภยศ ผลประโยชน์ให้ต่างๆ แต่ถ้าบุคคลใดก็ตามเป็นผู้ที่มีกุศลกรรม กุศลกรรมนั้นย่อมคุ้มครองรักษาบุคคลนั้น ให้แคล้วคลาดจากภัยอันตรายต่างๆ
คงจะมีท่านที่ได้ทราบถึงการรอดพ้นจากภัยอันตรายเหมือนปาฏิหาริย์ เป็นไปได้อย่างไร เป็นสิ่งที่เหมือนกับว่า ไม่ควรจะเป็นไปได้อย่างนั้น แต่ก็เป็นไปได้ด้วยอำนาจของบุญกรรมที่ได้กระทำไว้
ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกก็มีเรื่องผลของบุญย่อมคุ้มครองบุคคลที่ได้กระทำบุญนั้น ถึงแม้ว่าไม่มีบุคคลอื่นมาเกื้อกูลอนุเคราะห์ แต่ว่าบุญของผู้นั้นเองย่อมคุ้มครองบุคคลผู้นั้นได้
ขุททกนิกาย เปตวัตถุ กุมารเปตวัตถุ มีข้อความที่จะทำให้ท่านเชื่อมั่นบุญกรรมของท่านเองยิ่งขึ้น ข้อความมีว่า
เมื่อจะประกาศเนื้อความนั้น พระสังคีติกาจารย์ได้กล่าวคาถา ๗ คาถา ความว่า
พระญาณของพระสุคตศาสดาน่าอัศจรรย์ เป็นเหตุให้พระองค์ทรงพยากรณ์บุคคลว่า บุคคลบางคนมีบุญมาก บางคนมีบุญน้อยได้ถูกต้อง คฤหบดี ผู้นี้เมื่อยังเป็นเด็ก ถูกเขาทอดทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นอยู่ได้ด้วยน้ำนมจากนิ้วมือตลอดราตรี ยักษ์และภูตปีศาจ หรืองูเล็ก งูใหญ่ ก็ไม่เบียดเบียนเด็กผู้มีบุญอันได้ทำไว้แล้วแม้สุนัขทั้งหลายก็พากันมาเลียเท้าทั้งสองของเด็กนี้ ฝูงกาและสุนัขจิ้งจอกก็พากันมาเดินเวียนรักษา ฝูงนกก็พากันมาคาบเอามลทินครรภ์ไปทิ้ง ส่วนฝูงกาพากันมานำเอาขี้ตาไปทิ้ง มนุษย์และอมนุษย์ไรๆ มิได้จัดแจงรักษาเด็กนี้ หรือใครๆ ที่จะทำเมล็ดพันธุ์ผักกาดให้เป็นยามิได้มี และมิได้ถือเอาการประกอบฤกษ์ยาม ทั้งมิได้เรี่ยไรซึ่งข้าวเปลือกทั้งปวง
พระผู้มีพระภาคอันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว มีพระปัญญากว้างขวาง ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็กอันบุคคลนำมาทิ้งไว้ในป่าช้าในราตรี ผู้ถึงแล้วซึ่งความทุกข์อย่างยิ่งเช่นนี้ เหมือนก้อนแห่งเนยใส หวั่นไหวอยู่ มีความสงสัยว่า จะรอดหรือไม่รอดหนอ เหลืออยู่แต่สักว่าชีวิต ครั้นแล้วได้ทรงพยากรณ์ว่า เด็กคนนี้จักเป็นผู้มีตระกูลสูง มีโภคสมบัติในพระนครนี้
พวกอุบาสกผู้ยืนอยู่ในที่ใกล้พระศาสดาทูลถามว่า
อะไรเป็นวัตรเป็นพรหมจรรย์ของเขา นี้เป็นวิบากแห่งวัตรหรือพรหมจรรย์ที่เขาประพฤติแล้วเช่นไร เขาถึงความพินาศเช่นนี้ แล้วจักเสวยความสำเร็จเช่นนั้นเพราะกรรมอะไร
พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า
เมื่อก่อน มหาชนทำการบูชาอย่างโอฬารแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เด็กนั้นมิได้มีจิตเอื้อเฟื้อในการบูชา ได้กล่าววาจาหยาบคายอันมิใช่ของสัตบุรุษ ภายหลังเด็กนั้นถูกมารดาตักเตือนให้กลับความวิตกอันลามกนั้น แล้วกลับได้ปีติและความเลื่อมใส ได้บำรุงพระตถาคตซึ่งประทับอยู่ ณ วิหารเชตวันด้วยข้าวยาคู ๗ วัน ข้อนั้นเป็นวัตรเป็นพรหมจรรย์ของเขา นี้เป็นวิบากแห่งวัตรและพรหมจรรย์ที่เขาประพฤติแล้วนั้น เขาถึงความพินาศเช่นนั้น แล้วจักได้ความสำเร็จเช่นนั้น เขาตั้งอยู่ในมนุษย์โลกนี้สิ้น ๑๐๐ ปี เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยกามคุณทั้งปวง เมื่อตายไปจักเข้าถึงความเป็นสหายแห่งท้าววาสวะในสัมปรายภพ
จบกุมารเปตวัตถุ ที่ ๕
ถ. เรื่องเปรตก็ดี เรื่องเทวดาก็ดีที่อาจารย์กล่าวถึง ที่ว่ามาแสดงตัวให้ปรากฏนั้น เท่าที่ผมได้ศึกษามานั้น ท่านกล่าวว่าพวกโอปปาติกกำเนิดที่เกิดใหม่นี้จะเป็นเปรต หรือเป็นพวกวินิปาติกเทวดาก็ตาม ที่จะมาปรากฏตัวได้นั้น จะต้องไปเกิดอยู่ในสถานที่ใกล้เคียงกับภพของมนุษย์ หรือใกล้ๆ ภพมนุษย์ จึงจะมาปรากฏตัวได้ ถ้าเป็นเปรต ก็จะแสดงตัวให้ปรากฏเป็นที่น่าเกลียดน่ากลัว แต่ถ้าเป็นเทวดาประเภทวินิปาติกนี้ จะแสดงตัวอยู่ในสภาพเดิมของบุคคลผู้ที่ตายไปแล้วนั่นเอง ส่วนเปรตบางจำพวกที่ไปเกิดอยู่ห่างไกลมากนั้น ถึงแม้ว่าจะมีอุปาทานต่างๆ ยึดมั่นอยู่ก็ตาม แต่ไม่สามารถจะมาแสดงตัวให้ปรากฏได้ หรือว่าเทวดาชั้นสูงๆ ที่ท่านเสวยสุขมีความสะดวกสบายมากแล้ว ท่านก็ไม่มาแสดงตัวให้ปรากฏเช่นเดียวกัน ไม่ทราบว่าที่ท่านอาจารย์บรรยายนี้ จำกัดลงไปแค่เทวดาอย่างนี้ หรือเทวดาทุกชั้น เปรตทุกจำพวกครับ
สุ. โดยมากควรจะเป็นบุคคลที่เปรตหรือเทพเหล่านั้นจะแสดงตนให้ปรากฏอย่างพระผู้มีพระภาค แม้แต่ท้าวสหัมบดีพรหม ก็มาปรากฏตน มาเฝ้ากราบทูลพระผู้มีพระภาคถึงเรื่องราวต่างๆ ได้ ไม่ว่าไกล หรือใกล้แค่ไหน แต่สำหรับพวกเปรต มีทั้งที่แสดงตนปรากฏกายด้วยรูปร่างที่น่าเกลียด เพื่อขอรับอุทิศส่วนกุศลจากผู้นั้น แต่ว่าบางท่านก็มีวิมาน หรือว่ามีฤทธิ์ มีม้าอาชาไนย เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร และเทพที่จะปรากฏตัวนั้นปรากฏด้วยเหตุอะไร มากกว่าที่จะจำกัดลงไปว่าเฉพาะเทพที่อยู่ใกล้ เพราะว่าแม้ท้าวสหัมบดีพรหม หรือว่าพรหมบุคคลก็ได้เข้ามาเฝ้าพระผู้มีพระภาคในครั้งนั้นได้ ไม่ใช่ว่าจะมาไม่ได้ แต่ว่าสมัยนี้จะมาไหม มาเกื้อกูลใคร
ถ. ที่ท่านอาจารย์ยกตัวอย่างท้าวสหัมบดีพรหมมาเฝ้าพระพุทธเจ้านั้นกระผมก็เชื่อว่าเป็นไปได้จริง แต่นั่นเป็นพระพุทธเจ้า ท่านเป็นสัพพัญญู แต่ทีนี้พรหมที่มาปรากฏตัวต่อองค์พระพุทธเจ้านั้น พระพุทธเจ้าท่านทรงทราบองค์เดียว หรือว่าพุทธบริษัททั้งหลายก็เห็นพรหมนั้นทั้งหมด
อย่างมนุษย์เรา เราก็รู้ว่าเทวดามี เพราะในพระไตรปิฎกว่าไว้มาก บอกว่ายังแสงสว่างให้ปรากฏในที่นั้น แต่ก็ไม่ได้เห็นองค์เทวดาสักทีหนึ่ง เห็นแต่แสงสว่าง ก็เป็นอันรู้กันว่าเทวดามาแล้ว
สุ. ก็แล้วแต่บุคคล อย่างเรื่องของมาร ก็เป็นเทพบุตร แต่ว่าเป็นผู้ที่เห็นผิดฉะนั้นก็ชักชวนบุคคลอื่นให้เห็นผิดตามไปด้วย หรือว่าพยายามทุกทางที่จะให้บุคคลอื่นไม่บรรลุคุณธรรม ซึ่งโดยมากเวลาที่มารจะมาปรากฏกับพระสาวก ก็มาปรากฏในลักษณะที่น่าสะพรึงกลัว น่าหวาดหวั่นต่างๆ ด้วยเสียงบ้าง หรือว่าด้วยรูปร่างบ้างตามที่ปรากฏใน ภิกษุณีสังยุต เป็นต้น ที่ว่าบุคคลอื่นจะเห็นไหม ปรากฏกับบุคคลใด บุคคลนั้นก็เห็น ไม่ปรากฏกับบุคคลใด บุคคลนั้นก็ไม่เห็น อย่างเสริสกเทพบุตร ไม่ใช่ว่าวิมานเป็นทราย แต่เป็นที่ๆ ไม่ใช่เขตมนุษย์อยู่ แต่ก็เป็นบริเวณที่มนุษย์เดินทางผ่านไปมาในเขตเดียวกันได้ ซึ่งลักษณะของวิมานก็ไม่ใช่อย่างบ้านที่ทำด้วยไม้ทำด้วยอิฐอย่างของมนุษย์อย่างนี้ แต่เป็นไปตามวิบากกรรมของท่าน
ถ. เปรตก็ดี เทวดาก็ดี ไม่ใช่มีเพียงคนไทยเท่านั้น แต่มีคนชาติต่างๆ ที่ไปเกิด ผมสงสัยว่า เทวดาที่ลงมาจะเป็นเทวดาชาติไหนก็ไม่รู้ ทำไมพูดกันรู้เรื่อง ทีเรายังต้องเรียนภาษากัน แต่ว่าพระพุทธเจ้าก็ดี พระอรหันต์ก็ดี ท่านเป็นผู้สำเร็จปฏิสัมภิทา ๔ มีคำว่านิรุตติบท คือ ฉลาดในภาษา เฉพาะพระพุทธเจ้า จะพูดกะใครตรัสกับใครกี่แสนกี่ล้านคนก็ตาม พระองค์ปรากฏเหมือนกับพูดกับคนๆ นั้นคนเดียวอย่างในมหาสมัยสูตร เทวดาไม่ทราบว่าเท่าไรๆ พระพุทธเจ้าตรัส ก็เหมือนกับตรัสกับเทวดาตนนั้นตนเดียว นี่เป็นบารมีของพระพุทธเจ้า ส่วนพระอรหันต์ที่สำเร็จปฏิสัมภิทา ๔ ชำนาญในนิรุตติบท คือ ชำนาญในภาษา เท่ากับเรียนสำเร็จทุกภาษา พูดกับใครได้ทั้งนั้น ผมอยากจะเรียนถามอาจารย์ว่า เปรต หรือเทวดาพูดกับมนุษย์ธรรมดา พูดด้วยภาษาอะไรครับ
สุ. เปรตพูดกับมนุษย์ เทวดาพูดกับมนุษย์ จะน่าสงสัยเท่ากับสัตว์ดิรัจฉานกับมนุษย์หรือเปล่า อย่างคราวก่อนก็เป็นเรื่องของกินนร กินรี พระเจ้าแผ่นดินไปพบเข้าสงสัยก็ถาม กินนร กินรีนั้นก็ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสัตว์ดิรัจฉานจะยิ่งน่าสงสัยกว่าเปรตกับเทพที่พูดกับมนุษย์ไหม
เรื่องเสียงที่เกิดกับจิตนี้ ท่านเคยลองสังเกตไหม เวลาที่เปิดเทปผิดจังหวะ เสียงคนพูดแท้ๆ ออกมาเป็นเสียงเหมือนนกก็ได้ ถ้ามนุษย์สามารถจะเข้าใจเสียงกันได้เพราะว่าเป็นเสียงที่เกิดจากจิต และจิตของมนุษย์ก็มีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ ถ้าเสียงของนกที่เข้าใจกันได้ เพราะว่าเป็นเสียงที่เกิดจากจิตเหมือนกัน นกไม่เข้าใจภาษามนุษย์ มนุษย์ไม่เข้าใจภาษานก ถ้านกเข้าใจภาษานกเป็นเรื่องเป็นราวเข้าใจกันได้ ก็คงจะไม่คิดว่ามนุษย์นี้พูดกันรู้เรื่องเหมือนกัน นกก็มองมนุษย์พูดเหมือนกับมนุษย์ฟังเสียงนกพูด หรือนกร้องก็ได้ นกก็ไม่เข้าใจเสียงที่มนุษย์พูดว่ามีความหมายอย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม รูปที่เกิดจากจิต โดยเฉพาะมีเจตนา และก็เป็นบุคคลที่อาจจะสะสมความรู้เป็นพระโพธิสัตว์ หรือว่าเป็นผู้ที่สะสมกุศลมาในอดีตมาก มีการรู้เรื่องกุศล เรื่องอกุศลในจิตใจ และก็มีเจตนาที่จะให้เสียงนั้นเกิดเพื่อจะให้บุคคลอื่นรู้ความหมายด้วย บุคคลที่สามารถจะรู้ความหมายซึ่งเกิดจากเจตนาของบุคคลอื่น ที่เป็นภูมิอื่น ก็ย่อมจะเป็นไปได้ ถ้ามีความสามารถที่จะเข้าใจในเสียงที่เกิดจากเจตนานั้นที่จะให้เข้าใจความหมายเช่นนั้น เพราะฉะนั้น สำหรับเรื่องการที่เปรตกับเทพจะพูดกับมนุษย์ นั่นก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้
ถ. ผมได้รับปัญหามาจากท่านหนึ่ง ท่านบอกว่า ขณะที่ท่านฟังธรรมอยู่นี้ท่านมีความรู้สึกซาบซึ้งเป็นอันมาก เมื่อความซาบซึ้งเกิดขึ้นนี้ ท่านก็อยากจะเกื้อกูลบรรดาเทพ หรือสัตว์อื่นๆ ให้ฟังด้วย ท่านตั้งความปรารถนาว่า ขอบรรดาเทพทั้งหลาย หรือว่าสัตว์อื่นๆ ทั้งหลายจงมาฟังด้วย มนุษย์ที่พยายามจะเกื้อกูลแก่เทพและสัตว์อื่นๆ เช่นนี้ จะเป็นฐานะ หรืออฐานะอย่างไร
สุ. ใครมีกุศลมากกว่ากัน มนุษย์กับเทพ ผลของกุศลของผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์กับผู้ที่เกิดเป็นเทพ กุศลใดประณีตกว่า กุศลที่ทำให้เกิดเป็นเทพประณีตกว่า เพราะเรื่องผลของทานมีเป็นลำดับว่า ทานอย่างหยาบเป็นเหตุให้เกิดในมนุษย์ ถ้าประณีตขึ้นก็ในตระกูลกษัตริย์ ประณีตขึ้นอีกก็เกิดเป็นเทพ
ก็เป็นเรื่องกุศลจิตของท่านผู้ฟัง ที่ต้องการที่จะเกื้อกูลแม้บุคคลที่เป็นเทพที่มีกำเนิดสูงกว่า แต่ท่านจะเกื้อกูลได้มากน้อยเท่ากับที่เทพจะเกื้อกูลท่านหรือไม่ เพราะว่าคนละภพ คนละภูมิ เทพก็อยากจะเกื้อกูลท่าน ท่านก็อยากจะเกื้อกูลเทพ แต่การที่จะเกื้อกูลกันได้นั้นจะทำในลักษณะใด ซึ่งถ้าท่านเป็นบุคคลที่เทพเห็นว่าเป็นผู้ที่ได้กระทำกุศล เทพก็จะอนุโมทนาได้ตามควรแก่กุศลนั้น และถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่สูงด้วยคุณธรรมแม้ว่าเป็นอุบาสิกา แต่เป็นพระอนาคามี เทพก็ยังขอให้บุคคลนั้นบูชาเทพด้วยการถวายทาน และอุทิศส่วนกุศลให้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของบุคคล ถ้าเป็นผู้ที่มีคุณธรรมมาก ผู้อื่นก็ย่อมจะรู้สึกชื่นชมอนุโมทนาได้มาก
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๙ ตอนที่ ๒๘๑ – ๒๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 241
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 242
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 243
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 244
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 245
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 246
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 247
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 248
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 249
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 250
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 251
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 252
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 253
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 254
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 255
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 256
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 257
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 258
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 259
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 260
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 261
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 262
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 263
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 264
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 265
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 266
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 267
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 268
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 269
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 270
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 271
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 272
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 273
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 274
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 275
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 276
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 277
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 278
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 279
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 280
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 281
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 282
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 283
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 284
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 285
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 286
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 287
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 288
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 289
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 290
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 291
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 292
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 293
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 294
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 295
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 296
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 297
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 298
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 299
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 300