แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 287


    ครั้งที่ ๒๘๗


    ท่านที่เจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เป็นแต่เพียงผู้ที่นั่งพิจารณาธรรมว่าชีวิตนี้จะต้องหมดสิ้นไป จะต้องแก่ จะต้องเจ็บ และจะต้องตาย นั่นไม่พอสำหรับการที่จะได้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าจิตระลึกถึงความไม่เที่ยงของนาม ของรูป เหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตที่เกิดขึ้นปรากฏ แม้ขณะที่จิตน้อมระลึกอย่างนั้น การอบรมสติเป็นปกติ ก็จะต้องระลึกรู้ว่า แม้ขณะนั้นก็เป็นนามธรรมที่นึก หรือตรึกคิดอย่างนั้นเพื่อที่จะได้รู้ว่าแม้ความคิดเพียงคำหนึ่งก็ดับ และเกิดขึ้นสืบต่อไปเรื่อยๆ จึงจะประจักษ์ว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมมีประโยชน์หลายขั้น คือ ขั้นที่ท่านกำลังหลงลืมสติเมื่อได้ฟังธรรมก็ฟังด้วยสติ และถ้าได้ทราบเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน สติก็จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้น จึงจะประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่ว่าวัยล่วงไปเร็วยิ่งนัก ขณะก็เช่นนั้นเหมือนกัน ซึ่งทุกขณะก็เกิดดับไปอย่างรวดเร็วมาก ถ้าสติไม่เจริญ ไม่อบรม จะไม่สามารถรู้สภาพธรรมที่เกิดดับอย่างรวดเร็วในขณะนี้ตามความเป็นจริง แม้แต่ขณะที่กำลังนั่ง และเห็น และได้ยินนามธรรมและรูปธรรมก็เกิดดับนับไม่ถ้วนทีเดียว ขณะนี้ระลึกตามปกติ เกิดแทรกคั่นขึ้นได้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม หรือว่าทางหูก็ได้ ทางจมูก ทางลิ้นทางกาย ทางใจ ได้ทุกขณะ

    ข้อความที่เทพบุตรกล่าวกับพระนางที่ว่า พื้นแผ่นดินทั้งสิ้นเต็มไปด้วยทรัพย์ ถ้าพึงเป็นของๆ พระราชาพระองค์เดียว ไม่มีผู้อื่นครอบครอง ถึงกระนั้นผู้ที่ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ก็ต้องทิ้งสมบัตินั้นไป เป็นความจริงหรือไม่ ตัวท่านเองเป็นจริงอย่างนั้นไหม ความต้องการในทรัพย์มีขีดขั้นความพอเพียงไหม ได้มาแล้วก็ยังไม่พออีก จนกระทั่งว่า ผู้ที่เต็มไปด้วยความยินดี ความต้องการในทรัพย์สมบัตินั้นถึงแม้ว่าจะได้ครองโลก คือ พื้นแผ่นดินทั้งสิ้นที่เต็มไปด้วยทรัพย์นี้แล้ว เป็นของบุคคลนั้นเพียงคนเดียว ไม่มีคนอื่นครอบครอง ก็ยังไม่หมดความปรารถนา ยังไม่หมดความต้องการ บุคคลนั้นก็ยังต้องทิ้งทรัพย์สมบัตินั้นไป ทั้งๆ ที่ยังพอใจ และครองทรัพย์สมบัตินั้นอยู่ แต่ก็ไม่สามารถที่จะครอบครองได้ตลอดไป จะต้องทิ้งทรัพย์สมบัตินั้นไป

    ขอให้ท่านที่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ได้เห็นความลึกซึ้ง ได้เห็นความเหนียวแน่นของความยินดีพอใจซึ่งไม่หมดในทุกๆ วัน และลองพิจารณาโดยละเอียดว่า จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไหม ท่านอาจจะมีความต้องการน้อยกว่าคนอื่น ถ้าพิจารณาแล้วจะมีบุคคลอื่นที่มีความต้องการมากเหลือเกินที่ปรากฏให้เห็น ให้ได้ยิน ขอให้สติระลึกได้ พิจารณาโดยละเอียดว่า แม้ความต้องการของท่านที่รู้สึกว่าจะน้อยกว่าคนอื่นนั้น พอบ้างไหม หรือว่าเพิ่มขึ้น แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นอกจากจะพอใจในทรัพย์ ความพอใจในบุคคล ในสังขารซึ่งเป็นที่รักนั้น ก็ไม่ได้ลดน้อยลงเลยในภพหนึ่งๆ ถ้าสามารถที่จะระลึกถอยไปได้ พอใจในสัตว์ ในสังขารซึ่งเป็นที่รัก ในญาติพี่น้อง ในมิตรสหาย ในอดีตชาติผ่านๆ มาแล้ว ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างสำหรับท่านที่เป็นบิดามารดา ท่านก็มีความผูกพันในบุตร ต่อไปก็มีความผูกพันในหลาน ทีละคน สองคน เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นเรื่องที่ว่าจากผู้นี้ ก็ไปสู่ผู้นั้น ทุกภพ ทุกชาติไป

    สำหรับข้อความที่เทพบุตรกล่าวว่า

    มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว ภรรยา และสามี พร้อมทั้งทรัพย์ แม้เขาเหล่านั้น ต่างก็จะละทิ้งกันไป

    เป็นความจริงที่จะต้องจาก ที่จะพลัดพรากไป หมดสิ้นด้วยความตายในชีวิตนี้ขณะนี้ท่านก็พอจะระลึกได้ว่า ผู้เป็นที่รักเหล่านั้น ใครจากพรากไปบ้างแล้ว และหายไปไหน ไม่เหลือเลย เหลือแต่เยื่อใย หรือว่าความผูกพันซึ่งก็จะเป็นความผูกพันเป็นความติดข้อง เป็นโลภะ เป็นสภาพธรรมที่เพิ่มขึ้นจากภพหนึ่งชาติหนึ่งเรื่อยๆ ถ้าท่านไม่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉทจริงๆ ตามลำดับขั้น โลภะไม่มีทางที่จะหมดไปได้โดยวิธีอื่น

    และข้อความที่เทพบุตรกล่าวว่า

    สุคติ และทุคติในสังสาระ เป็นที่พักชั่วคราว

    เป็นความจริง เพราะไม่มีท่านผู้ใดจะอยู่ที่นี่ตลอดไปในโลกนี้ ทุกภพ ทุกภูมิแล้วแต่ว่า จะอยู่มาก อยู่น้อย อยู่นาน อยู่เร็ว ก็เป็นแต่เพียงที่พักชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งเมื่อพระนางได้ฟังธรรมที่เทพบุตรกล่าวแล้ว พระนางก็ได้ตรัสกับเทพบุตรนั้นว่า

    เทพบุตรพูดดีจริง ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายน้อย ทั้งลำเค็ญ ทั้งนิดหน่อย ทั้งประกอบไปด้วยทุกข์ หม่อมฉันจะสละสุรุนธนนคร แคว้นกาสีออกบวช อยู่แต่ลำพัง ผู้เดียว

    จบอุทยชาดกที่ ๔

    ธรรมดาของเทพก็เหมือนมนุษย์ มีผู้ที่มีความเห็นถูก มีผู้ที่มีความเห็นผิด ส่วนใหญ่ที่จะเกื้อกูลในธรรม ก็เป็นเทพบุตรที่มีความเห็นถูกซึ่งได้มาปรากฏกับมนุษย์ในครั้งนั้น

    สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ใน สกลิกสูตรที่ ๘ มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ มิคทายวัน ในสวนมัททกุจฉิ เขตพระนครราชคฤห์ ก็โดยสมัยนั้นแล พระบาทของพระผู้มีพระภาคถูกสะเก็ดหินกระทบแล้ว ได้ยินว่าเวทนาทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคมาก เป็นความลำบากมีในพระสรีระ กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย ได้ยินว่าพระผู้มีพระภาคทรงมีพระสติสัมปชัญญะ อดกลั้นเวทนาทั้งหลาย ไม่ทรงเดือดร้อน ในครั้งนั้นแหละ พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ปูผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้น ทรงสำเร็จ สีหไสยาสน์โดยพระปรัศว์เบื้องขวา ซ้อนพระบาทเหลื่อมด้วยพระบาททรง มีพระสติสัมปชัญญะอยู่

    ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว พวกเทวดาสตุลลปกายิกา ๗๐๐ มีวรรณะงาม ยังสวนมัททกุจฉิทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    เทวดาไปเฝ้า จะไปรักษาหรือเปล่า จะได้กุศลมากไหมถ้ารักษา และจะรักษาไหม เพราะแม้ผู้ที่มีกุศลพระบารมีสูงอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ่งใดที่จะเกิดขึ้น ก็ต้องเกิดขึ้นด้วยเหตุด้วยปัจจัย คือ เพราะเศษกรรมในอดีตที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้น เทวดาเหล่านี้ไม่ได้ไปเพื่อที่จะถวายการรักษาพระผู้มีพระภาค

    เทวดาผู้หนึ่ง ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า พระสมณโคดมผู้เจริญเป็นนาคหนอ ก็แหละพระสมณโคดมทรงมีพระสติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้นซึ่งเวทนาทั้งหลายอันมีในพระสรีระเกิดขึ้นแล้ว เป็นความลำบาก กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่สำราญ ไม่ทรงสบาย ด้วยความที่พระสมณโคดมเป็นนาคมิได้ทรงเดือดร้อน

    ไปสรรเสริญอนุโมทนา ซึ่งก็เป็นกุศลจิต

    ถ. ผมขอเพิ่มเติมเรื่องพระพุทธเจ้าที่ถูกพระเทวทัตกลิ้งหินมาถูกนั้น คือ มีเรื่องที่เป็นที่มาในธรรมบท เมื่อพระพุทธเจ้าถูกทำให้ห้อพระโลหิตแล้ว ก็มีหมอชีวกซึ่งเป็นหมอประจำของพระพุทธเจ้า หมอชีวกรู้ก็มาประกอบยา ยาที่หมอชีวกประกอบให้ก็คล้ายๆ กับยาพอก พอพอกเสร็จแล้วก็เป็นเวลาเย็น หมอชีวกก็กลับเข้าในเมืองคิดว่าเย็นๆ ก็จะกลับมา บังเอิญไปธุระไม่เสร็จหรืออย่างไรไม่ทราบ พอคิดว่าจะกลับเขาปิดประตูเมืองเสียแล้ว หมอชีวกก็มาชำระแผลพระพุทธเจ้าไม่ได้ รุ่งขึ้นเช้าถึงได้มาทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าพอกยาอย่างแรง แล้วก็ลืม คือ ไม่ได้ลืมหรอก เข้าไปในเมืองแล้วกลับไม่ได้ พระองค์คงจะทรงเดือดร้อน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ท่านไม่ได้เดือดร้อนอะไร ความเดือดร้อนนี้ท่านละเสียได้ ตั้งแต่ครั้งท่านตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ

    คือ พระพุทธเจ้าตรัสกับหมอชีวกว่าท่านไม่ได้เดือดร้อนอะไรหรอก

    อีกข้อหนึ่งผมขอเพิ่มเติมว่า ที่อาจารย์ว่า มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ความจริงก็เป็นเรื่องมาเยี่ยม เป็นเรื่องอัธยาศัยที่เคารพนับถือก็มาเยี่ยม คือ ระลึกถึงพระองค์ ความจริงนั้นพระองค์นั้นไม่ได้ทรงเดือดร้อนอะไร แต่ก็มาเยี่ยมคล้ายๆ กับมาเยี่ยมตามอัธยาศัย ด้วยความนับถือ

    สุ. ขอบพระคุณท่านที่ได้กรุณาเพิ่มเติมข้อความให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งถ้าดิฉันจำไม่ผิด พระผู้มีพระภาครับสั่งให้พระอานนท์เอายาที่พอกแผลนั้นออก เวลาที่หมอ ชีวกกลับมาเฝ้ากราบทูล พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสว่า พระองค์ได้ให้ท่านพระอานนท์ถวายการรักษาเรื่องแผล และเอายานั้นออกแล้ว ซึ่งพระองค์ทรงรู้ทุกอย่าง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ควรไม่ควร ซึ่งหมอชีวกก็ไม่ควรที่จะต้องห่วง แต่ที่เป็นห่วงก็คงจะด้วยความกังวลใจที่มีความเคารพอย่างสูงสุดในพระผู้มีพระภาค เพราะฉะนั้น เมื่อมีกิจที่ตนยังมิได้กระทำ ก็ย่อมห่วงใยเป็นธรรมดา แต่เพราะพระองค์ทรงรู้แจ้งสภาพธรรมทั้งหลายจึงได้ตรัสให้ท่านพระอานนท์เอายานั้นออก

    อัจฉราสูตรที่ ๖

    เทวดาทูลถามว่า

    ป่าชัฏชื่อโมหนะ อันหมู่นางอัปสรประโคมแล้ว อันหมู่ปีศาจสิงอยู่แล้ว ทำไฉนถึงจะหนีไปได้

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    ทางนั้นชื่อว่าเป็นทางตรง ทิศนั้นชื่อว่าไม่มีภัย รถชื่อว่าไม่มีเสียงดังประกอบด้วยล้อคือธรรม หิริเป็นฝารถนั้น สติเป็นเกราะกั้นของรถนั้น เรากล่าวธรรมมีสัมมาทิฏฐินำหน้า ว่าเป็นสารถี ยานชนิดนี้มีอยู่แก่ผู้ใด จะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม เขาย่อมไปในสำนักพระนิพพานด้วยยานนี้แหละ

    ที่กล่าวถึงข้อความนี้ เพราะท่านจะได้เห็นว่า การเจริญมรรคมีองค์ ๘ ไม่จำกัดเพศเลย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เรากล่าวธรรมมีสัมมาทิฏฐินำหน้า ว่าเป็นสารถี ยานชนิดนี้มีอยู่แก่ผู้ใด จะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม เขาย่อมไปในสำนักพระนิพพานด้วยยานนี้แหละ ไม่ไปที่อื่น แต่ไปสู่พระนิพพาน ถ้าเป็นการเจริญมรรคมีองค์ ๘ แล้วก็มีความเห็นถูกเป็นสารถี

    อันธวรรคที่ ๗ นามสูตรที่ ๑

    เทวดาทูลถามว่า

    อะไรหนอครอบงำสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงที่ยิ่งขึ้นไปกว่าสิ่งอะไรย่อมไม่มี สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คืออะไร

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    ชื่อย่อมครอบงำสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงที่ยิ่งขึ้นไปกว่าชื่อไม่มี สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คือ ชื่อ

    ขณะที่ยังไม่เข้าใจเรื่องของปรมัตถธรรม ทุกท่านติดอยู่ที่ชื่อ เห็นอะไร เห็นคนเห็นสัตว์ เห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ เห็นวัตถุ เห็นสิ่งของต่างๆ ได้ยินอะไร เสียงระฆัง เสียงนก เสียงรถยนต์ เสียงอะไรต่างๆ แต่เมื่อท่านเริ่มเจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ชื่อต่างๆ ก็ปิดบังไว้ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า ชื่อย่อมครอบงำสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงที่ยิ่งขึ้นไปกว่าชื่อไม่มี สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คือ ชื่อ

    แม้แต่ชื่อของตัวเอง ก็เป็นความสำคัญใช่ไหม สำหรับบางท่าน คือ มีความรู้สึกว่าสำคัญเหลือเกิน ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดไม่ยกย่องหรือว่าไม่เห็นว่าเป็นบุคคลชื่อนี้ ก็รู้สึกว่าเดือดร้อน ไม่สงบใจ แต่จะชื่ออะไรก็ตาม ปรมัตถธรรมนี้เกิดขึ้นเป็นบุคคลนี้เพราะการสะสมของจิตเจตสิก ชื่อไม่สำคัญเลย เพราะว่าถ้าท่านสิ้นชีวิตลงไปแล้ว ก็เป็นบุคคลอื่นไปแล้ว ถ้าท่านเจริญสติ พิจารณารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็จะเห็นตามความจริงที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชื่อย่อมครอบงำสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงที่ยิ่งขึ้นไปกว่าชื่อไม่มี สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คือ ชื่อ

    จิตตสูตรที่ ๒

    เทวดาทูลถามว่า

    โลกอันอะไรย่อมนำไป อันอะไรหนอย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คืออะไร

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    โลกอันจิตย่อมนำไป อันจิตย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คือ จิต

    ที่พระผู้มีพระภาคตรัสตอบเทวดาว่า โลกอันจิตย่อมนำไป อันจิตย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คือ จิต เวลาที่กุศลจิตเกิดขึ้นประกอบด้วยกุศลเจตสิก จะเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลกรรมทางกาย ทางวาจา บังคับบัญชาไม่ได้ แล้วแต่จิตที่เกิดขึ้นในขณะนั้นจะเป็นกุศลจิต หรือจะเป็นอกุศลจิต จะเป็นความเห็นผิด หรือว่าจะเป็นความเห็นถูก ถ้าเป็นความเห็นผิดเกิดขึ้น ก็เป็นปัจจัยให้กายวาจาผิด ถ้าเป็นความเห็นถูก ก็เป็นปัจจัยให้กาย วาจา ประพฤติในทางที่ถูก ฉะนั้น ทรงแสดงเรื่องของปัจจัยที่ว่า โลกอันจิตย่อมนำไป อันจิตย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คือ จิต

    ตัณหาสูตรที่ ๓

    ทวดาทูลถามว่า

    โลกอันอะไรหนอย่อมนำไป อันอะไรหนอย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คืออะไร

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    โลกอันตัณหาย่อมนำไป อันตัณหาย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คือ ตัณหา

    จะเห็นได้ว่า ถ้าท่านเป็นผู้ที่ไม่ระลึกรู้สภาพธรรม ท่านจะไม่ทราบเลยว่าที่ท่านประพฤติปฏิบัติอยู่นี้เป็นไปด้วยอำนาจของความต้องการ ด้วยอำนาจของโลภะด้วยอำนาจของตัณหาหรือไม่ มีท่านท่านหนึ่งได้เล่าให้ฟังว่า ท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ วันหนึ่งมีสุนัขตัวใหญ่จะกัด ตกใจกลัว สติเกิดได้

    เพราะฉะนั้น อย่าให้โลภะ หรือตัณหา หรือความต้องการ ชักพาท่านห่างไกลจากการที่สติจะระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง แม้ว่าวันละเล็กวันละน้อย ไม่มาก แต่เป็นสัมมาสติ เพราะระลึกรู้สภาพธรรมที่เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัยตามปกติ ตามความเป็นจริง

    ถ้าตราบใดที่ตัณหายังมี ไม่สามารถที่จะดับโลก เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าธรรมทั้งหลายจะเป็นไปตามอำนาจของจิตก็จริง แต่จิตก็มีหลายประเภท เพราะฉะนั้น โลกอันตัณหาย่อมนำไป อันตัณหาย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คือ ตัณหา

    สัญโยชนสูตรที่ ๔

    เทวดาทูลถามว่า

    โลกมีอะไรหนอเป็นเครื่องประกอบไว้ อะไรหนอเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้นเพราะละขาดซึ่งธรรมอะไร จึงเรียกว่านิพพาน

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้ วิตกเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้นเพราะละตัณหาเสียได้ขาด จึงเรียกว่านิพพาน

    โลกนี้น่าเพลิดเพลินไหม มีตัณหา บางทีได้ยินชื่อก็ไม่ทราบว่าขณะไหน เวลาที่เพลิดเพลินก็ลืมไปเสียแล้วว่า ขณะที่เพลิดเพลินนั้นเอง คือ ตัณหา เป็นเชื้อ เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดโลกต่อไป



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๙ ตอนที่ ๒๘๑ – ๒๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 37
    28 ธ.ค. 2564