แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 288
ครั้งที่ ๒๘๘
เวลาฟังรู้ว่าเป็นตัณหา แต่เวลาที่กำลังเพลิดเพลินจริงๆ ลืมเสียแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จึงจะได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ตราบใดที่ยังมีความเพลิดเพลินเป็นตัณหาอยู่ คนนั้นยังไม่สิ้นโลก ยังไม่สิ้นภพ ยังไม่สิ้นชาติ
สำหรับที่ว่า วิตกเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น วิตก คือ วิตกเจตสิก ตรึกเสมอ หลังจากที่จักขุวิญญาณ หรือทวิปัญจวิญญาณเกิดแล้วดับไป จะมีการตรึกถึงอารมณ์ เป็นเครื่องเที่ยวไปในโลก และเพราะละตัณหาเสียได้ขาด จึงเรียกว่านิพพาน
อัพภาหตสูตรที่ ๖
เทวดาทูลถามว่า
โลกอันอะไรหนอกำจัดแล้ว อันอะไรหนอล้อมไว้แล้ว อันลูกศรคืออะไรเสียบแล้ว อันอะไรเผาแล้วในกาลทุกเมื่อ
ถ้าฟังข้อความที่เทวดาทูลถามเรื่องโลก น่ากลัวไหม ถ้าโลกในด้านของมนุษย์ที่ไม่ได้เห็นภัยเห็นอันตรายของโลกเลย ก็เห็นว่าโลกนั้นน่ารื่นรมย์ มีสิ่งที่น่าดู ที่เทวดาทูลถามว่าโลกอันอะไรหนอกำจัดแล้ว อันอะไรหนอล้อมไว้แล้ว อันลูกศรคืออะไรเสียบแล้ว อันอะไรเผาแล้วในกาลทุกเมื่อ ไม่น่าสบายเลย ทั้งล้อมไว้ ทั้งเสียบไว้ แล้วก็ทั้งเผาด้วยในกาลทุกเมื่อ นี่คือโลก ทุกๆ ขณะที่เกิดปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
โลกอันมฤตยูกำจัดแล้ว อันชราล้อมไว้แล้ว อันลูกศรคือตัณหาเสียบแล้ว อันความอยากเผาให้ร้อนแล้ว ในกาลทุกเมื่อ
เวลาเกิดความปรารถนา ไม่ทราบว่าร้อน เดือดร้อนแล้ว จิตกระสับกระส่ายไปด้วยความต้องการ ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ จะเทียบลักษณะของอกุศลจิตกับกุศลจิตไม่ได้ว่า ลักษณะของกุศลจิตนั้นเป็นสภาพที่เบา ที่คลายจากความหนักไปด้วยอกุศลธรรมต่างๆ เช่น ความปรารถนา หรือความอยาก หรือความร้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะความต้องการ
โลกสูตรที่ ๑๐
เทวดาทูลถามว่า
เมื่ออะไรเกิดขึ้น โลกจึงเกิดขึ้น โลกย่อมชมเชยในอะไร โลกยึดถือซึ่งอะไร โลกย่อมเดือดร้อนเพราะอะไร
ดูเหมือนว่า ท่านรู้จักโลกดีเหลือเกิน แต่พอถามจริงๆ ว่า อะไรคือโลก หรือว่าโลกคืออะไร ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาปรมัตถธรรมก็ตอบว่า พื้นดินกลมๆ นี้คือโลก โดยมากถ้าจะกล่าวว่ารู้จักโลกดี ก็จะไม่พ้นโลกโดยนัยนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
เมื่ออายตนะ ๖ เกิดขึ้น โลกจึงเกิดขึ้น โลกย่อมทำความชมเชยในอายตนะ ๖โลกยึดถืออายตนะ ๖ นั่นแหละ โลกย่อมเดือดร้อนเพราะอายตนะ ๖
แม้แต่เพียงพระดำรัสสั้นๆ ที่ตรัสว่า เมื่ออายตนะ ๖ เกิดขึ้น โลกจึงเกิดขึ้น โลกย่อมทำความชมเชยในอายตนะ ๖ โลกยึดถืออายตนะ ๖ นั่นแหละ โลกย่อมเดือดร้อนเพราะอายตนะ ๖ ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของอายตนะ ๖ จึงจะเห็นโลกว่าเดือดร้อนเพราะอายตนะ ๖ แม้ว่าจะเป็นเพียงข้อความสั้นๆ แต่โดยอรรถแล้วเป็นการรู้แจ้งแทงตลอด ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณที่เป็นการรู้แจ้งอริยสัจธรรมทั้งสิ้น
วิตตสูตรที่ ๓
เทวดาทูลถามว่า
อะไรหนอเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างประเสริฐของคนในโลกนี้ อะไรหนอที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ อะไรหนอเป็นรสดีกว่าบรรดารสทั้งหลาย คนมีชีวิตเป็นอยู่อย่างไร นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า มีชีวิตประเสริฐ
สำหรับชาวโลกซึ่งต้องการทรัพย์ ถ้ามีกิเลสมากๆ มีทรัพย์เท่าไรก็ไม่สุข ฉะนั้นทรัพย์ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำความปลื้มใจอย่างประเสริฐ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างประเสริฐของคนในโลกนี้ ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ ความจริงเท่านั้นเป็นรสดีกว่ารสทั้งหลาย คนที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า มีชีวิตประเสริฐ
ที่ว่าความจริงเท่านั้นเป็นรสที่ดียิ่งกว่ารสทั้งหลาย ไม่ถูกหลอกให้เข้าใจผิดโดยเฉพาะในธรรม เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องสภาพธรรมที่ตรงตามความเป็นจริง พิสูจน์ได้ ถ้าท่านรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ถูกหลอกลวง เพื่อตรวจสอบกับความรู้สึกจิตใจของท่านก็ดี ที่เทวดาซึ่งเป็นผู้ที่มีคุณ เกิดในกำเนิดสูงเป็นเทวดา เมื่อมีข้อข้องใจใดๆ ในโลกของเทวดา ก็ได้มาทูลถามแทนเรา พระผู้มีพระภาคตรัสตอบอย่างไร ก็เป็นความแจ่มแจ้งของบุคคลรุ่นหลังต่อมา ที่จะได้อาศัยคำทูลถามของเทวดานั้นด้วย
วุฏฐิสูตรที่ ๔
เทวดาทูลถามว่า
บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น สิ่งอะไรหนอประเสริฐ บรรดาสิ่งที่ตกไป อะไรหนอประเสริฐ บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า ใครเป็นผู้ประเสริฐ บรรดาชนผู้ที่แถลงคารม ใครเป็นผู้ประเสริฐ
สมัยนี้ก็ทายปัญหากันมาก แต่ก็ไม่มีปัญหาธรรมอย่างนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องคิดใคร่ครวญ
เทวดาผู้หนึ่งแก้ว่า
บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น ข้าวกล้าเป็นประเสริฐ บรรดาสิ่งที่ตกไป ฝนเป็นประเสริฐบรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า เหล่าโคเป็นประเสริฐ บรรดาชนผู้แถลงคารม บุตรเป็นประเสริฐ
เพราะว่าบุตรย่อมไม่กล่าวให้ร้ายแก่มารดาบิดา
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น ความรู้เป็นประเสริฐ บรรดาสิ่งที่ตกไป อวิชชาเป็นประเสริฐ บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า พระสงฆ์เป็นประเสริฐ บรรดาชนผู้แถลงคารมพระพุทธเจ้าเป็นประเสริฐ
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น ความรู้เป็นประเสริฐ เพราะว่าการเกิดขึ้น การงอกขึ้นของรูป ของเสียง ของกลิ่น ของรส ของโผฎฐัพพะที่วิจิตรประณีตขึ้นนั้น สำหรับผู้ที่มีอวิชชาแล้วย่อมจะนำมาซึ่งกิเลสที่เพิ่มพูนขึ้น เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น ความรู้เป็นประเสริฐ บรรดาสิ่งที่ตกไปอวิชชาเป็นประเสริฐ บรรดาสัตว์ทั้งหลายที่เดินด้วยเท้า พระสงฆ์เป็นประเสริฐ บรรดาชนผู้แถลงคารม พระพุทธเจ้าเป็นประเสริฐ
เดินกันตลอดเวลาในมนุษย์โลก ใครเป็นผู้ประเสริฐ ที่เดิน เดินไปด้วยโลภะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ เดินไปด้วยความปรารถนา ความต้องการในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เดินไปด้วยโทสะที่จะเบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน เดินอย่างนั้นประเสริฐไหม เดินอยู่เรื่อยทุกวัน ถ้าจะเป็นผู้ที่ประเสริฐ คือ ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อจะได้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ในบรรดาผู้ที่เดินด้วยเท้าพระสงฆ์เป็นประเสริฐ บรรดาชนผู้แถลงคารม พระพุทธเจ้าเป็นประเสริฐ เพราะฉะนั้น ธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดด้วยดี ควรที่พุทธบริษัททั้งหมดจะสนใจศึกษา ฟังให้ยิ่งขึ้น
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อรณสูตรที่ ๑๑
เทวดาทูลถามว่า
คนพวกไหนหนอไม่เป็นข้าศึกในโลกนี้ พรหมจรรย์ที่อยู่จบแล้วของชนพวกไหนย่อมไม่เสื่อม คนพวกไหนกำหนดรู้ความอยากได้ในโลกนี้ ความเป็นไทมีแก่คนพวกไหนทุกเมื่อ มารดาบิดาหรือพี่น้องย่อมไหว้บุคคลนั้นผู้ตั้งมั่นในศีลคือใครหนอ พวกกษัตริย์ย่อมอภิวาทใครหนอในธรรมวินัยนี้ ผู้มีชาติต่ำ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
สมณะทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ไม่เป็นข้าศึกในโลก พรหมจรรย์ที่อยู่จบแล้วของสมณะทั้งหลายย่อมไม่เสื่อม สมณะทั้งหลายย่อมกำหนดรู้ความอยากได้ ความเป็นไทย่อมมีแก่สมณะทั้งหลายทุกเมื่อ มารดาบิดาหรือพี่น้องย่อมไหว้บุคคลนั้นผู้ตั้งมั่นในศีล คือ สมณะ ถึงพวกกษัตริย์ก็อภิวาทสมณะในธรรมวินัยนี้ ผู้มีชาติต่ำ
ถ้ายังมีกิเลส จะกล่าวว่าไม่เป็นข้าศึกไม่ได้ จะต้องมีบุคคลซึ่งยังคงเป็นที่รักบ้าง ไม่เป็นที่รักบ้าง หรือท่านจะคิดว่าเป็นมิตรบ้าง เป็นศัตรูบ้าง เมื่อเห็นเกิดความยินดีพอใจบ้าง หรือว่าเมื่อเห็นแล้ว เกิดความขุ่นเคืองบ้าง นี่เป็นของธรรมดาของคนที่ยังมีกิเลส เพราะฉะนั้น ถ้ายังเป็นอย่างนี้อยู่ ยังไม่ใช่ผู้ที่ไม่เป็นข้าศึกในโลกนี้
พรหมจรรย์ที่อยู่จบแล้วของชนพวกไหนย่อมไม่เสื่อม คนพวกไหนกำหนดรู้ความอยากได้ในโลกนี้ ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นผู้ที่กำหนดรู้ความอยากได้ในโลกนี้ เวลาที่เกิดความยินดีต้องการ หรือความเพลิดเพลินในสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเป็นลักษณะของความพอใจ ความติดข้อง ความอยากได้ สติก็จะต้องระลึกรู้ในสภาพธรรมนั้น
ถ้าท่านสังเกตเวลาที่กำลังเพลิดเพลินยินดี สติไม่ค่อยจะเกิด เพราะฉะนั้นความเพลิดเพลินยินดีก็ยังเป็นเชื้อ เป็นปัจจัยที่จะให้มีทุกข์ หรือมีความเกิดขึ้นของสังสารวัฏฏ์ จึงจะต้องเจริญสติอบรมให้ชำนาญยิ่งขึ้น จนกว่าในขณะที่เพลิดเพลินนั้นสติก็เกิดระลึกรู้ว่า แม้ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ไปห้ามความต้องการ หรือความเพลิดเพลิน เพราะธรรมทั้งหลายไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้หนึ่งผู้ใด แต่จะต้องระลึกรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แม้ในลักษณะของความยินดี ความต้องการ ความเพลิดเพลิน จึงจะละการยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้
ความเป็นไทมีแก่คนพวกไหนทุกเมื่อ ท่านเป็นไทหรือยัง หรือว่ายังเป็นทาสของกิเลส ยังเป็นไปตามความยินดียินร้ายต่างๆ เพราะฉะนั้น ที่จะเป็นไท เป็นอิสระ พ้นจากอำนาจของกิเลสที่จะไม่หวั่นไหวไป ก็ต้องเป็นไทโดยลำดับ คือ จากการที่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏถูกต้องตามความเป็นจริง นี่คือความเป็นไท เป็นอิสระขั้นแรกไม่อย่างนั้นไม่มีหนทางเลยที่จะเป็นอิสระ
ถ้าสติระลึกได้จริงๆ เป็นไทจากการที่จะถือว่าสภาพธรรมนั้นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ก็จะต้องเจริญสติอบรมไปเรื่อยๆ และละเอียดขึ้น ถ้าเกิดความสงสัยขึ้นว่า นี่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม จะไม่หมดความสงสัยเลย จนกว่าจะระลึกได้ว่า แม้ความสงสัยนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง
นี่เป็นวิธีที่จะดับความสงสัย และสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมอื่นๆ เพิ่มขึ้น จึงจะทั่ว และละคลายความที่เคยยึดถือนามธรรมและรูปธรรมนั้น
ถ. ผมได้สติมานิดหนึ่ง วันนั้นผมกำลังกระทบกับรูป และนึกได้ว่า นี่เราต้องเจริญสติ เราอย่าโกรธลูกมากนะ
สุ. แต่เป็นตัวเราที่กำลังเจริญสติ เพราะฉะนั้น จะต้องละความเป็นตัวเราที่กำลังเจริญสติ โดยให้รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง เป็นจริง และกำลังปรากฏแต่ละทาง อย่างทางตาในขณะนี้ จะนึกรวมๆ กันไปว่า ไม่โกรธลูก นั่นไม่ได้รู้ลักษณะว่าที่กำลังไม่โกรธนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และในขณะนั้นมีสภาพธรรมตั้งหลายอย่างที่ปรากฏ ทางตาก็มี ทางหูก็มี ทางกายก็มี ทางใจก็มี เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้รู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ก็จะต้องรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมทีละลักษณะเท่านั้น ธรรมดาๆ ตามปกติ
ถ้ารู้สึกร้อนตรงไหน รู้ตรงนั้น ลักษณะที่ร้อนไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และที่กำลังรู้ในสภาพร้อนที่ปรากฏก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ต้องอาศัยการระลึกได้เนืองๆ บ่อยๆ และก็รู้ชัดตรงลักษณะของสภาพธรรมทีละลักษณะตามปกติ แต่ให้มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ ไม่ใช่นึกเอาเฉยๆ
เวณฑุสูตรที่ ๒ มีข้อความว่า
เวณฑุเทวบุตรยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนัก พระผู้มีพระภาคว่า
ชนเหล่าใดนั่งใกล้พระสุคต ประกอบตนในศาสนาของพระโคดม ไม่ประมาทแล้ว ศึกษาตามอยู่ ชนเหล่านั้นถึงความสุขแล้วหนอ
ไม่น่าจะผิดอะไรใช่ไหม แต่ไม่พอ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ชนเหล่าใดเป็นผู้เพ่งพินิจ ศึกษาตามในข้อสั่งสอนอันเรากล่าวไว้แล้ว ชนเหล่านั้นไม่ประมาทอยู่ในกาล ไม่พึงไปสู่อำนาจแห่งมัจจุ
ข้อความต่างกันไหม เทวดามุ่งเพียงแค่สุข โดยมากท่านที่สนใจธรรมบางท่านเพื่อหวังสุข ชีวิตที่ขาดธรรม ไม่สงบ เดือดร้อนนานาประการ เพราะฉะนั้น ท่านก็หวังพึ่งพิงธรรมเพียงให้สงบใจ คือ หวังเพียงความสุขจากรสพระธรรมที่จะได้ไม่เดือดร้อนกับโลกที่วุ่นวาย แต่ว่านั่นไม่ควรจะเป็นจุดประสงค์ของพุทธบริษัท เพียงเพื่อความสุข แต่ว่าผู้ใดก็ตาม ชนเหล่าใดเป็นผู้เพ่งพินิจ ศึกษาตามในข้อสั่งสอนอันเรา คือ พระผู้มีพระภาค กล่าวไว้แล้ว ชนเหล่านั้นไม่ประมาทอยู่ในกาล ไม่พึงไปสู่อำนาจแห่งมัจจุ
คือ ไม่ใช่เพื่อความสงบ ไม่ใช่เพื่อสมาธิ หรือไม่ใช่เพื่อความสุข แต่ว่าเพื่อการที่จะไม่เกิดอีก พ้นไปจากการเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพราะฉะนั้น พยัญชนะใดฟังดูก็ไม่ผิด แต่ว่ายังขาดความสมบูรณ์ พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสแสดงธรรมนั้น เพื่อบุคคลนั้นจะได้ไม่หวังพึ่งธรรมเพียงเพื่อความสุข แต่ว่าเพื่อความไม่เกิด เพื่อที่จะได้พ้นจากการเกิดดับของนามธรรม และรูปธรรม
ทีฆลัฏฐิสูตรที่ ๓ มีข้อความว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่ให้เหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นทีฆลัฏฐิเทวบุตร เมื่อราตรีปฐมยามสิ้นไปแล้ว มีวรรณะอันงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเวฬุวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ทีฆลัฏฐิเทวบุตรยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ภิกษุพึงเป็นผู้มีปกติเพ่งพินิจ มีจิตหลุดพ้นแล้ว พึงหวังความไม่เกิดขึ้นแห่งหทัย รู้ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งโลกแล้ว มีใจดี อันตัณหาและทิฏฐิไม่อิงอาศัยแล้ว มีคุณข้อนั้นเป็นอานิสงส์
ข้อความนี้สั้นๆ แต่ก็เป็นการกราบทูลพระผู้มีพระภาคเรื่องการปฏิบัติ คือ ภิกษุพึงเป็นผู้มีปกติเพ่งพินิจ มีจิตหลุดพ้นแล้ว ไม่รู้ที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน ชื่อว่าไม่รู้ความจริง ไปรู้อื่น ไปทำความวิจิตรต่างๆ ปาฏิหาริย์ต่างๆ แต่ว่าไม่รู้กำลังเห็นในขณะนี้ กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก กำลังเป็นสุขเป็นทุกข์ในขณะนี้ ชื่อว่าไม่รู้จริง
ฉะนั้น ผู้ที่จะรู้ความจริง ปัญญาที่จะรู้จริง คือ รู้สภาพธรรมตามปกติที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายไปรู้อย่างอื่น ไปทำอย่างอื่นที่แปลกประหลาดขึ้นมารู้ และเข้าใจว่านั่นเป็นปัญญา เพราะถ้าเป็นปัญญาที่รู้จริง จะต้องรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ
เทวดามาเฝ้าพระผู้มีพระภาคบ่อยๆ ซึ่งแล้วแต่ความคิดเห็นของเทวดาแต่ละท่านว่า ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร เพราะว่าการกำเนิดเป็นเทพนั้น เป็นอานิสงส์ เป็นผลของกุศล แต่เมื่อยังไม่หมดกิเลส ความสงสัย ความข้องใจต่างๆ ก็เหมือนกับมนุษย์ ซึ่งเกิดมาเป็นมนุษย์ก็ด้วยผลของกุศลกรรมเหมือนกัน แต่ว่าจะสะสมความสงสัย ความเข้าใจในธรรมมากน้อยต่างกันอย่างไร
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๙ ตอนที่ ๒๘๑ – ๒๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 241
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 242
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 243
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 244
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 245
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 246
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 247
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 248
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 249
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 250
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 251
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 252
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 253
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 254
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 255
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 256
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 257
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 258
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 259
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 260
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 261
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 262
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 263
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 264
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 265
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 266
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 267
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 268
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 269
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 270
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 271
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 272
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 273
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 274
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 275
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 276
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 277
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 278
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 279
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 280
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 281
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 282
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 283
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 284
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 285
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 286
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 287
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 288
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 289
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 290
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 291
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 292
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 293
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 294
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 295
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 296
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 297
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 298
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 299
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 300