แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 290


    ครั้งที่ ๒๙๐


    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีกุศลจิต ระลึกถึงเทพ เอื้อเฟื้อเชื้อเชิญท่านในการจะมาฟังธรรม ท่านควรที่จะได้พิจารณาว่า ขณะนั้นเป็นจิตที่เป็นกุศลเกิดขึ้นแล้วดับไป ส่วนเทพจะมาหรือไม่มา เป็นเรื่องแล้วแต่บุคคล เพราะเทพอยู่ในภูมิของเทพที่สุขสบาย และสามารถประพฤติปฏิบัติธรรมได้สะดวก เต็มไปด้วยผู้ที่ทรงคุณเป็นพระอริยเจ้าในภูมินั้นๆ มาก

    ถ. เทวดาท่านมีที่ศึกษาธรรมของท่าน อย่างที่อาจารย์บรรยาย ก็ไม่จำเป็นจะต้องมาฟังในภูมิของมนุษย์ แต่ทำไมบรรยายกันว่า เทพทั้งหลายมาฟังธรรมกันแน่นขนัดเต็มไปหมดขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม ทำไมจึงเป็นอย่างนี้

    สุ. แล้วแต่คุณความดีของบุคคลนั้น ถ้าบุคคลนั้นควรแก่การที่จะอนุโมทนาธรรมที่ได้ยินได้ฟังควรแก่การอนุโมทนา ถ้าเทพท่านจะฝักใฝ่มีจิตเอื้อเฟื้อมาอนุโมทนาก็เป็นเรื่องของท่าน ฉะนั้น ผู้ที่กระทำบุญกุศลและอุทิศแก่เทพ ก็เป็นกุศลของคนนั้นท่านจะอนุโมทนา หรือท่านจะไม่อนุโมทนา มนุษย์ทราบไหม ไม่ทราบ แต่ว่ามนุษย์ก็เจริญกุศลด้วยการบูชาเทพ ด้วยการอุทิศส่วนกุศลให้แก่สัตว์ทั้งปวงรวมทั้งเทพด้วย ถ้าท่านมีจิตอนุโมทนา ก็เป็นกุศลของท่าน ก็แล้วแต่เทพว่า ท่านจะเป็นเทพประเภทใด

    นานาติตถิยสูตรที่ ๑๐ มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

    สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่ให้เหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ณ กาลครั้งหนึ่ง เมื่อปฐมยามล่วงแล้ว พวกเทพบุตรผู้เป็นสาวกเดียรถีย์ต่างๆ เป็นอันมาก คือ อสมเทพบุตร สหลีเทพบุตร นิกเทพบุตร อาโกฏกเทพบุตร เวฏัมพรีเทพบุตร มาณวคามิยเทพบุตร มีวรรณะงามยิ่งยัง พระวิหารเวฬุวันทั้งสิ้นสว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    อสมเทพบุตรครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ ทูลถวายในสำนักพระผู้มีพระภาค ปรารภถึงท่านปูรณะกัสสป

    เป็นเทพ แต่ไม่ทิ้งความเห็นผิด ไม่ทิ้งความเลื่อมใสความเป็นสาวกในครูอาจารย์ ฉะนั้น แม้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคในสำนักของพระผู้มีพระภาค ก็ได้กราบทูลถึงความคิดเห็นของตนว่า

    ครูปูรณกัสสป เพียงแต่มองไม่เห็นบาปหรือบุญของตน ในเพราะเหตุที่สัตว์ถูกฟัน ถูกฆ่า ถูกโบย ถูกข่มเหงในโลกนี้เท่านั้น ท่านบอกให้วางใจเสีย ท่านย่อมควรที่จะยกย่องว่าเป็นศาสดา

    สหลีเทพบุตร ได้กล่าวคาถานี้ ทูลถวายในสำนักพระผู้มีพระภาค ปรารภถึงท่านมักขลิโคศาลต่อไปว่า

    ครูมักขลิโคศาล สำรวมตนดีแล้ว เพราะรังเกียจบาปด้วยตบะ ละวาจาที่ก่อให้เกิดความทะเลาะกับคนเสีย เป็นผู้สม่ำเสมอ งดเว้นจากสิ่งที่มีโทษ พูดจริง ท่านมักขลิโคศาลจัดว่าเป็นผู้คงที่ ไม่กระทำบาปโดยแท้

    นิกเทพบุตร ได้กล่าวคาถานี้ ทูลถวายในสำนักพระผู้มีพระภาค ปรารภถึงท่านนิครนถ์ นาฏบุตรต่อไปว่า

    ครูนิครนถ์ นาฏบุตร เป็นผู้เกลียดบาป มีปัญญารักษาตัวรอด เห็นภัยใน สังสาระ เป็นผู้ระมัดระวังทั้ง ๔ ยาม เปิดเผยสิ่งที่ตนเห็นแล้วและฟังแล้ว น่าจะไม่ใช่ผู้หยาบช้าโดยแท้

    อาโกฏกเทพบุตร ได้กล่าวคาถานี้ ทูลถวายในสำนักพระผู้มีพระภาค ปรารภถึงพวกเดียรถีย์ต่างๆ ต่อไปอีกว่า

    ท่านปกุธะกัจจายนะ ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร และพวกท่านมักขลิโคศาล ท่านปูรณะกัสสปเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นศาสดาของหมู่ บรรลุถึงที่สุดในสมณธรรมแล้ว ท่านเหล่านั้นคงเป็นผู้ไม่ไกลไปจากสัตบุรุษแน่นอน

    ในครั้งนั้น แม้ว่าจะมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ยังไม่ปรินิพพาน ทรงมีพระญาณที่จะรู้อัธยาศัย และทรงแสดงธรรมตามอัธยาศัยของบุคคล แต่ก็ไม่สามารถที่จะให้บุคคลที่สะสมความเห็นผิดหนาแน่นให้เห็นถูกได้ ก็ยังคงเลื่อมใสในธรรมที่ผิด คือ มีความเห็นว่า ท่านปกุธะกัจจายนะ ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร และพวกท่านมักขลิโคศาล ท่านปูรณะกัสสปะเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นศาสดาของหมู่ บรรลุถึงที่สุดใน สมณธรรมแล้ว ท่านเหล่านั้นคงเป็นผู้ไม่ไกลจากสัตบุรุษแน่นอน เพราะเห็นว่า เป็นศาสดาเป็นครู เป็นอาจารย์ ก็คงจะบรรลุธรรมขั้นสูงสุดแล้ว ก็คงจะไม่ไกลจากสัตบุรุษ

    เวฏัมพรีเทพบุตร ได้กล่าวตอบอาโกฏกเทพบุตร ด้วยคาถาว่า

    สุนัขจิ้งจอก สัตว์เลวๆ ใคร่จะตีตนเสมอราชสีห์ แม้จะไม่ใช่สัตว์ขี้เรื้อน แต่ก็มีบางคราวที่ทำตนเทียมราชสีห์ ครูของหมู่ บำเพ็ญตัวเป็นคนแนะหนทาง แต่พูดคำเท็จ มีมารยาทน่ารังเกียจ จะเทียบกับสัตบุรุษไม่ได้

    ลำดับนั้นมารผู้ลามกเข้าสิงเวฏัมพรีเทพบุตรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า

    สัตว์เหล่าใดประกอบแล้วในความเกลียดบาปด้วยตบะ รักษาความสงบสงัดอยู่ติดอยู่ในรูป ปรารถนาเทวโลก สัตว์เหล่านั้นย่อมสั่งสอนชอบ เพื่อปรโลกโดยแท้

    ผู้ขัดขวาง คือ มาร เมื่อเห็นว่ามีผู้ที่กล่าวถูก คือ ติเตียนพวกที่เห็นผิดต่างๆ เหล่านั้น ก็ชักชวนให้ยินดีในเทวโลก ให้ติดในรูป และบอกว่าการที่ติดอยู่ในรูปและความปรารถนาเทวโลกนั้น เป็นการสั่งสมชอบเพื่อปรโลก

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า นี้เป็นมารตัวร้ายกาจ จึงได้ทรงภาษิตคาถาตอบมารผู้ลามกว่า

    รูปใดๆ จะอยู่ในโลกนี้ หรือโลกหน้า และจะอยู่ในอากาศ มีรัศมีรุ่งเรืองก็ตามที รูปทั้งหมดเหล่านั้น อันมารสรรเสริญแล้ว วางดักสัตว์ไว้แล้ว เหมือนเขาเอาเหยื่อล่อเพื่อฆ่าปลา ฉะนั้น

    ลำดับนั้นมาณวคามิยะเทพบุตร ได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาค ปรารภถึงพระผู้มีพระภาคว่า

    ภูเขาวิปูละ เขากล่าวกันว่า เป็นสูงเยี่ยมกว่าภูเขาที่ตั้งอยู่ในพระนครราชคฤห์เสตบรรพตเป็นเลิศกว่าภูเขาที่ตั้งอยู่ในป่าหิมวันต์ พระอาทิตย์เป็นเลิศกว่าสิ่งที่ไปในอากาศ มหาสมุทรเป็นเลิศกว่าห้วงน้ำทั้งหลาย พระจันทร์เป็นเลิศกว่าดวงดาวทั้งหลาย พระพุทธเจ้า โลกกล่าวว่าเป็นเลิศกว่าประชุมชนทั้งโลก พร้อมทั้งเทวโลก

    จบนานาติตถิยวรรคที่ ๓

    ความเห็นผิดน่ากลัวไหม ถึงเป็นเทพ และถึงแม้ว่าจะได้พบพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยตนเอง ก็ยังไม่พ้นจากความเห็นผิด ถ้าเป็นผู้ที่สะสมความเห็นผิด ไม่พยายามที่จะละความเห็นผิดนั้นให้หมดสิ้นไป ข้อปฏิบัติที่ถูกก็ยังเข้าใจว่าข้อปฏิบัติอื่นถูก และจะให้ผู้ที่เป็นหัวหน้า ผู้ที่เป็นศาสดา ผู้ที่สั่งสอนนั้น เป็นผู้ที่หมดจดจากกิเลส ก็เป็นอันตรายอย่างยิ่งในเรื่องของการสะสมความเห็นผิด

    สำหรับการผูกพัน และการติดในเทพ ดิฉันได้สนทนากับท่านที่ก่อนการเจริญสติปัฏฐาน ท่านก็เป็นผู้ที่สนใจแต่จะเกี่ยวข้องกับเทพ ไม่ทราบว่า ท่านเข้าใจว่าท่านเคยเกิดเป็นเทพมาแล้วหรืออย่างไร ซึ่งความจริงภพชาติในสังสารวัฏฏ์นี้ย่อมมีการเกิดวนเวียนไป แล้วแต่กรรม แต่ทำไมไม่ไปผูกพันกับนรก กับสัตว์ดิรัจฉาน กับเปรต นั่นก็เพราะเทพมีความสุข มีความสบาย ฉะนั้น ก็เป็นที่ยึด เป็นที่ผูกพัน ความผูกพันของตนเองทำให้เหมือนกับเขียนบทให้เทพทั้งหลายว่า จะเป็นอย่างนั้น จะต้องการอย่างนี้ แต่ไม่ใช่การรู้สภาพธรรม แล้วละการยึดถือ

    ฉะนั้น ท่านผู้ที่กำลังอบรมปัญญาเจริญสติปัฏฐาน ทำอย่างไรถึงจะละ ถ้าท่านเป็นผู้ที่เคยติดในเทพ และยังคงติดในเทพต่อไป ในขณะนั้น ความเป็นตัวตนมากหรือน้อย ทำอย่างไรจึงจะละได้ ถ้ายังคงผูกพันติดอยู่ ก็ไม่มีทางละ เหมือนอย่างท่านที่มักจะบน ซึ่งถ้าเป็นโอกาสที่ทรัพย์สมบัติของท่านจะได้คืน ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นก็ได้คืนมา ถ้าท่านยังไม่บน ท่านก็ทราบว่าเป็นไปตามกรรม แต่ว่าถ้าท่านบน พอของหายก็รีบบน ได้คืนมาท่านก็คิดว่า เป็นเพราะเทพช่วย ท่านลืมเรื่องกรรมของท่านเองว่ากรรมของท่านนั้นสำคัญที่สุด ถ้าท่านไม่มีกุศลกรรม คนอื่นจะช่วยได้ไหม ขอให้พิจารณาให้ละเอียดว่า ที่ได้คืนมานั้นเป็นเพราะอะไรกันแน่ อย่าเพิ่งไปติด เพราะว่าเรื่องที่จะติดนั้นมากเหลือเกิน เทพหรือโลกต่างๆ มีมากมายหลายชั้น ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกจะมีข้อความเรื่องของเทพที่ฟังธรรมในที่ต่างๆ กันด้วย

    ในพระไตรปิฎก เป็นสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงปรินิพพาน และเป็นกาลสมบัติ มีพระอรหันตสาวก มีพระอริยเจ้ามากมาย และมีธรรมที่แม้เทพชั้นต่างๆ ก็ยังมาฟังธรรม

    ฉะนั้น ท่านก็เปรียบเทียบกาลเวลาที่ล่วงไป ผ่านไปแล้ว ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าในครั้งโน้นส่วนมาก ณ บัดนี้ ท่านก็อยู่ในสวรรค์ชั้นต่างๆ มีศาลาสุธรรมาเป็นธรรมสภา ที่เทพทั้งหลายไปฟังธรรมได้ และเทพเหล่านั้น ท่านก็ได้เคยเห็นพระอริยสาวกเหล่านั้นตั้งแต่ครั้งที่ยังเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคในภูมิมนุษย์ ตลอดไปจนกระทั่งถึงจุติแล้วปฏิสนธิในภูมิเทพ มีโอกาสที่จะสนทนา มีโอกาสที่จะฟังมากทีเดียว แต่ว่าในครั้งนั้นที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงดับขันธปรินิพพาน ก็มีพวกเทพที่มาฟังธรรมมาก เทพที่มาฟังนั้นก็มีหลายประเภท หลายพวก หลายชั้น

    ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎกที่เป็นข้อความแสดงว่า ในครั้งนั้นเทวดามาภูมิมนุษย์เมื่อไรบ้าง เพื่อท่านจะได้คิดว่า ในสมัยนี้จะเป็นอย่างนั้นได้ไหม

    อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ราชสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในดิถีที่ ๘ ของปักษ์ เทวดาผู้เป็นบริวารของท้าว จาตุมหาราช ย่อมเที่ยวตรวจดูโลกนี้ว่า ในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา เกื้อกูลแก่บิดา เกื้อกูลแก่สมณะ เกื้อกูลแก่พราหมณ์ อ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในสกุล อธิษฐานอุโบสถ ปฏิบัติทำบุญ มีอยู่มากแลหรือ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลายในดิถีที่ ๑๔ ของปักษ์ พวกโอรสของท้าวจาตุมหาราช ย่อมเที่ยวตรวจดูโลกนี้ว่า ในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา เกื้อกูลแก่บิดาเกื้อกูลแก่สมณะ เกื้อกูลแก่พราหมณ์ อ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในสกุล อธิษฐานอุโบสถ ปฏิบัติทำบุญ มีอยู่มากแลหรือ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำนั้น ท้าวจาตุมหาราชย่อมเที่ยวตรวจดูโลกนี้ด้วยตนเองทีเดียวว่า ในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา เกื้อกูลแก่บิดา เกื้อกูลแก่สมณะ เกื้อกูลแก่พราหมณ์ อ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในสกุล อธิษฐานอุโบสถ ปฏิบัติทำบุญ มีอยู่มากแลหรือ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา เกื้อกูลแก่บิดาเกื้อกูลแก่สมณะ เกื้อกูลแก่พราหมณ์ อ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในสกุล อธิษฐานอุโบสถ ปฏิบัติทำบุญ มีอยู่น้อย ท้าวจาตุมหาราชย่อมบอกถึงเหตุที่กล่าวมานั้นแก่พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ซึ่งมาประชุมกันอยู่ณสุธรรมสภาว่า ดูกร ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา เกื้อกูลแก่บิดา เกื้อกูลแก่สมณะ เกื้อกูลแก่พราหมณ์ อ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในสกุล อธิษฐานอุโบสถ ปฏิบัติทำบุญ มีน้อย

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ย่อมพากันเสียใจว่าดูกร ผู้เจริญทั้งหลาย กายทิพย์จักเสื่อมหาย อสุรกายจักเต็มบริบูรณ์ ดังนี้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา เกื้อกูลแก่บิดา เกื้อกูลแก่สมณะ เกื้อกูลแก่พราหมณ์ อ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในสกุล อธิษฐานอุโบสถ ปฏิบัติทำบุญ มีอยู่มาก ท้าวจาตุมหาราชย่อมบอกถึงเหตุที่กล่าวมานั้นแก่พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ซึ่งมาประชุมกันณสุธรรมสภาว่า ดูกร ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา เกื้อกูลแก่บิดา เกื้อกูลแก่สมณะเกื้อกูลแก่พราหมณ์ อ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในสกุล อธิษฐานอุโบสถ ปฏิบัติทำบุญมีอยู่มากแล

    เพราะเหตุนั้น พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ย่อมพากันดีใจว่า ดูกร ท่านผู้เจริญทั้งหลาย กายทิพย์จักเต็มบริบูรณ์ อสุรกายจักเสื่อมสูญ

    คำว่าอสุรกาย ข้อความใน ปฐมสมันตปาสาทิกาแปล มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอสุรกายด้วยวินิบาตสัตว์ ความจริงอสุรกายนั้น ท่านเรียกว่าเป็นอบายด้วย เป็นทุคติด้วย เพราะอรรถตามที่กล่าวมาแล้ว และว่าเป็นวินิบาต เพราะเป็นผู้มีความตกไปจากความเกิดขึ้นแห่งสมบัติทั้งปวง

    คือ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่บำเพ็ญกุศล ไม่เจริญกุศล ก็ย่อมมีปัจจัยที่จะทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ ทำไมเทวดาถึงมาในวันอุโบสถ ในวันพระ เพราะว่ามนุษย์กิเลสมาก เมื่อมีกิเลสมาก อกุศลจิตมีมาก อกุศลกรรมมีมาก น่าที่จะมาดู มารู้มาเห็นอะไรไหมที่เป็นเรื่องของอกุศล แต่ในวันพระ ในวันอุโบสถ ยังมีการรักษาศีลอุโบสถ ใครที่ยังไม่ได้ทำกุศลในวันนั้น ระลึกได้ ก็มีการที่จะได้ปฏิบัติ ทำบุญ ทำกุศลต่างๆ แล้วแต่ท่านจะคิดว่าเป็นโอกาสที่ควรจะได้รักษาศีลแม้ ๑ วัน ในหลายๆ วันที่เป็นอกุศลมากๆ ฉะนั้น ก็เป็นโอกาสที่จะได้มาดูว่ามนุษย์เป็นอย่างไร แต่ไม่ได้หมายความว่า มาบ่อย แล้วมาทำไม มาดูเรื่องของการกุศล หรือว่าธรรม ว่ามนุษย์เป็นผู้ที่เจริญในบุญกุศล หรือว่าเป็นผู้ที่ไม่ปฏิบัติธรรม ไม่เจริญกุศล ไม่ทำบุญ แม้ในวันเช่นนั้น แต่ถ้ามนุษย์ไม่เจริญกุศล ไม่ปฏิบัติทำบุญ ไม่ว่าวันไหนๆ จะมาไหม รู้อยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร เรื่องของมนุษย์ ก็เป็นเรื่องของผู้ที่นับวันยิ่งถูกอกุศลและกิเลสครอบงำมากขึ้น ฉะนั้น โอกาสที่จะเจริญกุศลก็จะน้อย

    แต่ถ้าบุคคลหนึ่ง บุคคลใด เป็นผู้ที่เจริญกุศลเนืองๆ มากๆ ก็ไม่ต้องกลัวเรื่องบุคคลอื่นที่เป็นอมนุษย์จะไม่รู้ จะไม่เห็น ไม่ว่าทั้งกุศลและอกุศล สำหรับผู้ที่เป็นอมนุษย์แล้ว ย่อมรู้ ย่อมเห็น

    สำหรับเทพ ก็มีหลายพวก หลายชั้น

    ในพระไตรปิฎก มีข้อความที่ว่า

    เมื่อสาวก แม้ว่าจะเป็นพระภิกษุณี แสดงธรรมในท่ามกลางบริษัทหมู่ใหญ่ยักษ์หรือเทพก็ยังมาฟังธรรม

    เพราะว่าในครั้งนั้นเป็นกาลสมบัติ

    ขอกล่าวถึงข้อความเรื่องการฟังธรรมของยักษ์ ยักษ์ก็เป็นอีกกำเนิดหนึ่ง อีกพวกหนึ่งในเทพขั้นต่ำ หรือเป็นพวกอสุรกาย แล้วแต่กำเนิด แล้วแต่ความวิจิตรของจิต

    ใน อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต อจินติตสูตร มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้ อันบุคคลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิดพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน อจินไตย ๔ ประการเป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน ๑ วิบากแห่งกรรม ๑ ความคิดเรื่องโลก ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้แล ไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน

    จบอจินติตสูตรที่ ๗

    ฉะนั้น ข้อความในพระไตรปิฎกจะมีเรื่องยักษ์ จะมีเรื่องเทพ จะมีเรื่องโลก จะมีเรื่องวิบากของกรรมที่วิจิตรต่างๆ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๙ ตอนที่ ๒๘๑ – ๒๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 37
    28 ธ.ค. 2564