แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 291
ครั้งที่ ๒๙๑
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ยักขสังยุต สานุสูตรที่ ๕ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตเมืองสาวัตถี สมัยนั้นแล บุตรของอุบาสิกาคนหนึ่งชื่อสานุถูกยักษ์เข้าสิง ครั้งนั้นแล อุบาสิกานั้นได้ปริเวทนาการกล่าวคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่า
ฉันได้สดับต่อพระอรหันต์ทั้งหลายว่า ชนเหล่าใดเข้าอยู่อุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการด้วยดีตลอดดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักษ์ ทั้งตลอดปาริหาริกปักษ์ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ ยักษ์ทั้งหลายย่อมไม่เล่นกับชนเหล่านั้น บัดนี้ ฉันเห็นในวันนี้ยักษ์เล่นกับสามเณรสานุ
ยักษ์กล่าวว่า
ท่านได้สดับต่อพระอรหันต์ทั้งหลายว่า ชนเหล่าใดเข้าอยู่อุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการด้วยดีตลอดดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักษ์ ทั้งตลอดปาริหาริกปักษ์ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ ยักษ์ทั้งหลายย่อมไม่เล่นกับชนเหล่านั้นเป็นการชอบ ท่านพึงบอกสานุผู้ฟื้นขึ้นแล้วว่า
ยักษ์สั่งคำนี้ไว้ว่า ท่านอย่าได้กระทำกรรมอันลามกทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ ถ้าท่านจักกระทำหรือกำลังกระทำกรรมอันลามกไซร้ ถึงท่านจะเหาะหนีไป ก็ไม่พ้นจากทุกข์
ข้อความต่อไปมีว่า
สามเณรสานุฟื้นขึ้นแล้วกล่าวว่า
โยม ญาติและมิตรทั้งหลายย่อมร้องไห้ถึงคนที่ตายแล้ว หรือยังเป็นอยู่แต่หายไป โยมยังเห็นฉันเป็นอยู่ ไฉนเหตุไรโยมถึงร้องไห้ถึงฉัน
อุบาสิกากล่าวว่า
ลูกเอ๋ย ญาติและมิตรทั้งหลายย่อมร้องไห้ถึงคนที่ตายแล้ว หรือยังเป็นอยู่แต่หายไป แต่คนใดละกามทั้งหลายแล้วจะกลับมาในกามนี้อีก ลูกรัก ญาติและมิตรทั้งหลายย่อมร้องไห้ถึงคนนั้น เพราะเขาเป็นอยู่ต่อไปอีก ก็เหมือนตายแล้ว
แน่ะพ่อ เรายกท่านขึ้นจากเถ้ารึง เถ้าที่ยังร้อนระอุแล้ว ท่านอยากจะตกลงไปสู่เถ้ารึงอีก แน่ะพ่อ เรายกท่านขึ้นจากเหวแล้ว ท่านอยากจะตกลงไปสู่เหวอีก
เราจะโพนทะนาแก่ใครเล่าว่า ขอท่านจงช่วยกัน ขอความเจริญจงมีแก่ท่านประดุจสิ่งของที่ขนออกแล้วจากเรือนที่ไฟไหม้ แต่ท่านอยากจะเผามันเสียอีก
เทพ อสุรกาย หรือท่านจะใช้คำว่าผีที่มาปรากฏ สำหรับผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเจริญปัญญาเพื่อละ ไม่ใช่เพื่อติด ก็ไม่ต้องไปค้นหา แสวงหา ถึงปรากฏก็เจริญสติระลึกรู้ว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม เหมือนกับมนุษย์ เหมือนกับสัตว์ภูมิอื่น จะได้ละการยึดถือ การพอใจ การห่วงใย การติดข้องในขณะนั้น เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของการการละ ไม่ใช่พยายามจะไปพิสูจน์ หรือจะไปแสวงหา
สำหรับบุคคลในภูมิอื่น ที่จะปรากฏในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานเป็นกาลสมบัตินั้น ก็เป็นการปรากฏให้รู้ ให้เข้าใจในสิ่งที่เป็นประโยชน์ สำหรับยักษ์ที่สิงสามเณรสานุ เรื่องของการสิง สงสัยไหมว่าจะเป็นไปได้อย่างไร
มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งบอกว่า แต่ก่อนท่านเข้าใจว่า มารเป็นแต่เพียงกิเลส ท่านไม่คิดว่าจะเป็นบุคคล หรือเป็นเทพบุตร มนุษย์ในโลกนี้ที่กั้นความดีของบุคคลอื่น ริษยาไม่อยากให้บุคคลอื่นเจริญก้าวหน้าในธรรมก็ยังมี และบุคคลที่จะกระทำกิจ ขัดขวางนั้น ก็แล้วแต่ว่าจะมีกำลัง ความสามารถที่จะขัดขวางโดยวิธีใด และได้มากน้อยอย่างไรด้วย ถ้าเป็นผู้ที่มีกำลังของจิต เจริญฌาน มีอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ต่างๆ ก็สามารถที่จะแปลงกาย เนรมิตรูปต่างๆ ได้ แม้มนุษย์ยังทำได้ เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะไปเกิดเป็นเทพ แต่เป็นบุคคลที่เห็นผิด และเป็นผู้ที่ได้อบรมเจริญจิตที่มีกำลังสามารถที่จะสร้างรูปใดๆ เพื่อจะขัดขวางบุคคลอื่น ก็ย่อมเป็นไปได้
เพราะฉะนั้น มารไม่ใช่มีแต่กิเลสอย่างเดียว มารที่เป็นกิเลสก็มี มารที่เป็นเทพบุตรก็มี มารที่เป็นขันธ์ก็มี มารที่เป็นมัจจุก็มี สำหรับการสิงก็เช่นเดียวกัน เป็นการขัดขวางบุคคลอื่น แต่ในเรื่องนี้ เป็นผู้ที่จะเกื้อกูล ถ้าผู้นั้นสามารถที่จะสร้างรูปด้วยกำลังของจิตที่จะทำให้รูปของบุคคลอื่นชัก หมดสติ ทำให้เกิดเสียงเป็นข้อความ ที่เราใช้คำว่าสิง แต่ไม่ใช่หมายความว่า จิตของคนนั้นหายไป จิตของบุคคลนั้นอยู่ในสภาพที่ไม่รู้สึกตัว แต่ว่าบุคคลอื่นที่มีกำลังจิตแรง สร้างรูป และทำให้เกิดเสียงเป็นข้อความ อย่างที่ยักษ์สิงสามเณรสานุ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ไม่ใช่ว่า ทุกคนจะกระทำได้ ต้องแล้วแต่บุคคล
ผู้ฟัง คำว่า มาร ศัพท์เดิม มรธาตุ แปลว่าตาย ตามศัพท์แปลว่าตาย เพราะฉะนั้น มาร หมายความว่า ฆ่าความดี จะเป็นเทพบุตรก็ตาม หรือจะเป็นมนุษย์ก็ตาม ใครที่ฆ่าความดี คนนั้นเรียกว่ามาร
สุ. ขอบพระคุณท่านผู้ฟังที่ได้กรุณาให้ความหมายทางพยัญชนะ
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ปิยังกรสูตรที่ ๖ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง ท่านพระอนุรุทธอยู่ในพระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล ท่านพระอนุรุทธลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรีกล่าวบทแห่งพระธรรมอยู่
ครั้งนั้นแล นางยักษิณีผู้เป็นมารดาของปิยังกระปลอบบุตรน้อยอย่างนี้ว่า
ปิยังกระ อย่าอึกทึกไป ภิกษุกำลังกล่าวบทพระธรรมอยู่ อนึ่ง เรารู้แจ้งบทพระธรรมแล้วปฏิบัติ ข้อนั้นจะพึงมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่เรา เราสำรวมในเหล่าสัตว์มีปราณ เราไม่กล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่ เราศึกษา ทำตนให้เป็นผู้มีศีลดี นั่นแหละ เราจะพ้นจากกำเนิดปีศาจ
แสดงให้เห็นถึงบุคคลภพภูมิอื่นที่ฟังธรรม ซึ่งมีหลายชั้นหลายพวกเหลือเกินแล้วแต่ว่าในขณะนั้นใครฟังใคร และได้ประโยชน์อะไรจากธรรม ก็ถือประโยชน์จากธรรมนั้นได้ ในภพอื่นภูมิอื่น เป็นอจินไตย ถ้าคิดถึงวิบากของกรรม เพราะไม่ทราบว่ากรรมจะทำให้ปฏิสนธิในภูมิใด หรือว่าในรูปร่างลักษณะอย่างใด ในภูมิยักษ์ก็ได้ ถ้ากรรมนั้นจะทำให้ปฏิสนธิในภูมิยักษ์ แต่ว่าเป็นรูปของเด็ก เรื่องของอจินไตย เรื่องของกรรม แต่ถ้าคิดถึงเรื่องวิบากของกรรมที่วิจิตร ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยให้ทุกอย่างที่วิจิตรเกิดขึ้นได้
ในพระไตรปิฎก อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อความที่ไม่ว่าบุคคลใดก็ตามที่เห็นประโยชน์ของธรรม ย่อมฟังธรรม เพราะรู้ว่าธรรมเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ปุนัพพสุสูตรที่ ๗ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เข้าใจแจ่มแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงอยู่ด้วยธรรมีกถาอันปฏิสังยุตด้วยพระนิพพาน ภิกษุเหล่านั้นตั้งใจมนสิการ ประมวลไว้ด้วยใจทั้งหมดเงี่ยโสตลงสดับพระธรรม
ครั้งนั้นแล นางยักษิณีผู้เป็นมารดาของปุนัพพสุ ปลอบบุตรน้อยอย่างนี้ว่า
นิ่งเสียเถิดลูก อุตรา นิ่งเสียเถิดลูก ปุนัพพสุ จนกว่าแม่จะฟังธรรมของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ผู้เป็นพระศาสดาจบ พระผู้มีพระภาคตรัสนิพพานอันเป็นเครื่องเปลื้องตนเสียจากกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวง เวลาที่ปรารถนาในธรรมนั้นจะล่วงเลยแม่ไปเสีย ลูกของตนเป็นที่รักในโลก สามีของตนเป็นที่รักในโลก แต่ความปรารถนาในธรรมนั้น เป็นที่รักของแม่ยิ่งกว่าลูกและสามีนั้น เพราะลูกหรือสามีที่รักพึงปลดเปลื้องจากทุกข์ไม่ได้ เหมือนการฟังธรรมย่อมปลดเปลื้องเหล่าสัตว์จากทุกข์ได้ ในเมื่อโลกอันทุกข์วงล้อมแล้ว ประกอบด้วยชราและมรณะ แม่ปรารถนาจะฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยพระปัญญาอันยิ่ง เพื่อพ้นจากชราและมรณะ จงนิ่งเสียเถิดลูกปุนัพพสุ
ปุนัพพสุพูดว่า
แม่จ๋า ฉันจะไม่พูด อุตราน้องสาวของฉันก็จักเป็นผู้นิ่ง เชิญแม่ฟังธรรมอย่างเดียว การฟังพระสัทธรรมนำความสุขมาให้ แม่จ๋า เราไม่รู้พระสัทธรรมจึงได้เที่ยวไปลำบาก พระพุทธเจ้าพระองค์นี้เป็นผู้ทำความสว่างไสวแก่เทวดาและมนุษย์ผู้ลุ่มหลง มีพระสรีระครั้งสุดท้าย มีพระจักษุแสดงธรรมอยู่
ยักษิณีพูดว่า
น่าชื่นชมนัก ลูกผู้นอนบนอกของแม่เป็นคนฉลาด ลูกของแม่ย่อมรักใคร่พระธรรมอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ปุนัพพสุ เจ้าจงมีความสุขเถิด วันนี้แม่เป็นผู้ย่างขึ้นไปในพระศาสนา แม่และเจ้าเห็นอริยสัจแล้ว แม้แม่อุตราก็จงฟังแม่
ยักษ์ยังเห็นประโยชน์ของการฟังธรรม และการที่จะรู้อริยสัจธรรม ๓ รอบ คือ สัจจญาณ ๑ กิจจญาณ ๑ กตญาณ ๑ ถ้ายังไม่ถึงสัจจญาณ คือ การใคร่ครวญพิจารณาเหตุผลของอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ว่า เป็นเหตุ เป็นผล จริงแท้อย่างไร ย่อมทำให้ไม่ถึงการปฏิบัติธรรม ซึ่งไม่สามารถที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมนั้น จนถึงกตญาณได้
เพราะฉะนั้น สำหรับท่านผู้ฟังที่ยังข้องใจ สงสัยในการเจริญสติปัฏฐาน ท่านควรพิจารณาไตร่ตรอง และเทียบเคียงว่าเป็นปัญญาแล้วหรือยัง ขณะที่กำลังเห็นเจริญอย่างไร อบรมอย่างไร จึงจะรู้ได้เป็นปกติ และละการยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ ถ้าท่านผู้ใดยังข้องใจ ท่านก็ไม่ถึงกิจจญาณ แต่ถ้าท่านผู้ใดสำเหนียก สังเกต พิจารณาเหตุผล และเริ่มรู้ว่า ขณะใดมีสติ ขณะใดหลงลืมสติ เพื่อจะได้อบรมขณะที่มีสติตามปกติให้มากขึ้น อย่ากำหนดอะไรที่ผิดปกติ กำลังเห็นธรรมดานี้ ไม่ระลึกรู้ตามปกติ อย่างนั้นไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน
ถ. ผมนั่งอยู่ หงุดหงิด มีอะไรเกิดขึ้นในใจ ผมกำหนด ไม่รู้ว่าสติไปอยู่ไหนผมอยากจะทราบเรื่องสติ เวลาที่ผมนั่ง ผมก้าว ผมเดิน ผมไม่รู้ว่าสติของผมไปอยู่ที่ไหน
สุ. เวลาท่านบอกว่า ท่านนั่งอยู่ และรู้สึกหงุดหงิด ท่านกำหนด แต่ท่านไม่รู้ว่าสติอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้น ขอเรียนถามว่า ท่านกำหนดอะไร กำหนดอย่างไร จึงไม่รู้ว่าสติอยู่ที่ไหน
ถ. การกำหนดของกระผม หมายถึงกำหนดอิริยาบถที่ยืน เดิน นั่ง นอน ที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่นี้
สุ. สติเป็นอย่างไรถึงได้บอกว่า ไม่ทราบว่าสติอยู่ที่ไหน ถ้ากำหนด ไม่ได้กำหนดด้วยสติหรอกหรือ อย่างไรถึงได้กำหนดแล้วไม่รู้ว่าสติอยู่ที่ไหน ก็เป็นข้อความที่ค้านกันอยู่
ถ. พอจะจับใจความได้ว่า ตัวกำหนดลงไปในอิริยาบถเป็นสติใช่ไหม
สุ. โดยมาก ท่านผู้ฟังมักจะขอให้รับรองว่า ใช่ หรือไม่ใช่ แต่ความจริงการเจริญสติปัฏฐานเป็นความเข้าใจถูกตั้งแต่ขั้นของการฟัง ท่านเป็นผู้ที่สนใจในการเจริญอบรมปัญญาด้วยการเจริญสติ ก็ควรที่จะทราบลักษณะของสติ ขณะที่มีสติ กับขณะที่หลงลืมสติ เมื่อทราบความต่างกันแล้ว ก็จะได้อบรมเจริญสติปัฏฐานได้ถูกต้อง
สำหรับท่านที่ข้องใจเรื่องของสติว่า สติอยู่ที่ไหน เวลาที่ท่านกำหนดแล้วท่านไม่ทราบว่าสติอยู่ที่ไหน เพราะอะไร
ถ. เรื่องของสติ ผมเข้าใจเองว่าคงจะเป็นผัสสะ เจตนา ทั้งหมดนี้เมื่อปรากฏชัด สิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้น คล้ายๆ กับว่าเป็นอัตโนมัติ หรือรู้พร้อมในการกระทบอย่างนี้ใช่สติหรือไม่ครับ
สุ. พวกคล้ายๆ ต้องทิ้งไป ให้เป็นความรู้ที่แน่ใจจริงๆ เพราะเหตุว่าการรู้อริยสัจธรรมมี ๓ รอบ คือ สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ
สัจจญาณ คือ ขั้นไตร่ตรอง ศึกษา พิจารณาในอริยสัจธรรมทั้ง ๔ จนกระทั่งรู้ชัดว่า ทุกข์ไม่ใช่อย่างอื่นที่จะต้องรู้ นอกจากสภาพธรรมที่เกิดปรากฏในขณะนี้ และก็ดับไป ตามปกติ ตามความเป็นจริงทั้งหมด ตามธรรมชาติ
สมุทัย ความต้องการ แม้ว่าจะเป็นผลของการปฏิบัติและความเห็นผิด ความเข้าใจผิดต่างๆ ที่ชักนำให้ไม่ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏอยู่ ก็เป็นสิ่งที่จะต้องละ
นิโรธ คือ นิพพานที่ยังไม่ปรากฏ จะปรากฏเมื่อท่านรู้สภาพธรรมที่เป็นทุกขสัจ และละคลายการยึดถือความยินดีที่จะยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ และยังรู้ว่าข้อปฏิบัติที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ ที่ประกอบด้วยสัมมาสตินั้น มีลักษณะอย่างไร
นี่เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจก่อน เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ถ้าท่านต้องการอบรมเจริญสติ ให้เป็นผู้ที่รู้ด้วยตัวเองว่าขณะใดมีสติ ขณะใดหลงลืมสติ ท่านจะต้องเข้าใจความหมายของสติ ลักษณะของสติ ต้องเข้าใจชัด อย่าใช้คำว่า คล้ายกับว่า
ถ. เข้าใจชัดสติ หมายความว่าอย่างไร จะเอาอะไรมาเข้าใจชัด และรู้สติ
สุ. สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมมีปรากฏทุกขณะ ขณะนี้ก็มีปรมัตถธรรมขณะนี้ก็มีนามธรรม มีรูปธรรม เมื่อเกิดมาแล้วที่จะปราศจากปรมัตถธรรม คือ นามธรรมและรูปธรรมนั้น ไม่มี เพียงแต่ว่าสติไม่ได้ระลึกในสภาพที่เป็นปรมัตถธรรมไม่ได้รู้ว่าสภาพที่กำลังปรากฏนี้มีลักษณะแต่ละชนิดที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
สติ คือ ขณะที่ระลึกได้ ที่ว่าระลึกได้ ก็เพราะไม่หลงลืมอย่างแต่ก่อน เมื่อได้ฟังเรื่องของสติ ก็ระลึกรู้ในสภาพที่กำลังปรากฏตามที่ได้ยินได้ฟังว่า สภาพที่กำลังปรากฏนั้น ลักษณะใดเป็นสภาพรู้ ที่ใช้คำว่านามธรรม ลักษณะใดไม่ใช่สภาพรู้ แต่เป็นสิ่งที่มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ ซึ่งเป็นลักษณะของรูปธรรม
เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการฟังเรื่องของนามธรรม ของรูปธรรม และรู้ว่ามีนามธรรมและรูปธรรมกำลังปรากฏ และสติก็ระลึกได้ จึงระลึกรู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกระทั่งรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ของนามธรรมนั้นๆ ของรูปธรรมนั้นๆ นี่คือลักษณะของสติ
ขณะหลงลืมสติ คือ ไม่ระลึกรู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ
ขณะที่กำลังเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นรูปที่อาศัยเกิดขึ้นเพราะธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เมื่อมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก็มีรูปสี รูปกลิ่น รูปรส รูปโอชาเกิดร่วมด้วย ซึ่งแต่ละรูปจะรู้ได้แต่ละทาง เมื่อใดกระทบสัมผัส จึงจะสัมผัสกับธาตุดิน หรือธาตุไฟ หรือธาตุลม แต่เวลาที่ไม่กระทบสัมผัส มีสี หรือรูปที่ปรากฏทางตาของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมนั้น กระทบกับตา ทำให้เกิดสภาพที่รู้ หรือเห็นสี
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๐ ตอนที่ ๒๙๑ – ๓๐๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 241
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 242
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 243
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 244
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 245
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 246
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 247
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 248
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 249
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 250
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 251
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 252
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 253
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 254
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 255
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 256
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 257
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 258
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 259
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 260
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 261
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 262
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 263
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 264
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 265
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 266
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 267
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 268
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 269
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 270
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 271
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 272
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 273
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 274
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 275
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 276
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 277
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 278
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 279
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 280
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 281
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 282
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 283
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 284
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 285
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 286
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 287
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 288
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 289
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 290
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 291
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 292
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 293
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 294
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 295
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 296
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 297
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 298
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 299
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 300