แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 298


    ครั้งที่ ๒๙๘


    ลำดับนั้นมารธิดา คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคาจึงหลีกออกไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วร่วมคิดกันอย่างนี้ว่า

    ความประสงค์ของบุรุษมีต่างๆ กันแล อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรนิรมิตเพศเป็นนางกุมาริกาคนละร้อยๆ

    ลำดับนั้น มารธิดา คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคาจึงพากันนิรมิตเพศเป็นนางกุมาริกาคนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า

    ข้าแต่พระสมณะ พวกหม่อมฉันจักขอบำเรอพระบาทของพระองค์

    พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงใส่พระทัยถึงถ้อยคำของมารธิดา เพราะพระองค์ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม

    ลำดับนั้น มารธิดาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคาพากันหลีกไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วร่วมคิดกันอย่างนี้ว่า ความประสงค์ของบุรุษมีต่างๆ กัน อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรพากันจำแลงเพศเป็นหญิงยังไม่เคยคลอดบุตรคนละร้อยๆ

    ลำดับนั้น มารธิดาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคาจึงพากันจำแลงเพศเป็นหญิงยังไม่เคยคลอดบุตรคนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า

    ข้าแต่พระสมณะ พวกหม่อมฉันจักขอบำเรอบาทของพระองค์

    ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงใส่พระทัยถึงเลย เพราะพระองค์ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม

    ฝ่ายนางตัณหา นางอรดี นางราคาพากันหลีกไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วร่วมคิดกันอย่างนี้ว่า ความประสงค์ของบุรุษทั้งหลายมีต่างๆ กัน อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรจำแลงเพศเป็นหญิงที่คลอดบุตรแล้วคราวเดียวคนละร้อยๆ

    ลำดับนั้นแล นางตัณหา นางอรดี นางราคาพากันจำแลงเพศเป็นหญิงคลอดแล้วคราวเดียวคนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วกราบทูล พระ ผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า

    ข้าแต่พระสมณะ พวกหม่อมฉันจะขอบำเรอพระบาทของพระองค์

    ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงใส่พระทัยถึง เพราะพระองค์ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม

    ลำดับนั้นแล นางตัณหา นางอรดี นางราคาจึงพากันจำแลงเพศเป็นหญิงที่คลอดบุตรแล้ว ๒ คราวคนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ….. ฯลฯ

    แม้ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงใส่พระทัยถึง เพราะพระองค์ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม

    ลำดับนั้น นางตัณหา นางอรดี นางราคาจึงพากันจำแลงเพศเป็นหญิงกลางคนคนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ……… ฯลฯ

    ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงใส่พระทัยถึงเลย เพราะพระองค์ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม

    ลำดับนั้น นางตัณหา นางอรดี นางราคาจึงพากันจำแลงเพศเป็นหญิงผู้ใหญ่คนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ……. ฯลฯ

    แม้ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงใส่พระทัยถึง เพราะพระองค์ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม

    ลำดับนั้น มารธิดา คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคาพากันหลีกไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว จึงพูดกันว่าเรื่องนี้จริงดังบิดาของเราได้พูดไว้ว่า ชายนั้นเป็นพระอรหันต์ ผู้ดำเนินไปดีแล้วในโลก ไม่เป็นผู้อันใครๆ พึงนำมาด้วยราคะได้ง่ายๆ ก้าวล่วงบ่วงมารไปได้แล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงเศร้าโศกมาก ก็ถ้าพวกเราพึงเล้าโลมสมณะหรือพราหมณ์คนใดที่ยังไม่หมดราคะด้วยความพยายามอย่างนี้ หทัยของสมณะหรือพราหมณ์คนนั้นพึงแตก หรือโลหิตอุ่นพึงพุ่งออกจากปาก หรือพึงถึงกับเป็นบ้า หรือถึงความมีจิตฟุ้งซ่าน เหมือนอย่างไม้อ้อสดอันลมพัดขาดแล้ว ย่อมหงอยเหงาเหี่ยวแห้งไป แม้ฉันใด สมณะหรือพราหมณ์นั้น พึงซูบซีด เหี่ยวแห้งไปฉันนั้นเหมือนกัน

    ครั้นแล้ว นางตัณหา นางอรดี นางราคาพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง นางตัณหา มารธิดาครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

    ท่านถูกความโศกทับถมหรือ จึงได้ซบเซาอยู่ในป่าอย่างนี้ ท่านเสื่อมจากทรัพย์เครื่องปลื้มใจแล้วหรือ หรือว่ากำลังปรารถนาอยู่ ท่านได้ทำความชั่วอะไรๆ ไว้ในบ้านหรือเพราะเหตุไรท่านจึงไม่ทำมิตรภาพกับชนทั้งปวงเล่า หรือว่าท่านทำมิตรภาพกับใครๆ ไม่สำเร็จ

    ที่มารธิดากล่าวมา เหมือนกับครั้งที่ ๑ ที่มารกล่าว ไม่ผิดกันเลย ที่มารได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วได้กราบทูลข้อความอย่างเดียวกัน แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มีความเห็นผิดอย่างเดียวกัน ก็กล่าวข้อความอย่างเดียวกัน

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    เราชนะเสนา คือ ปิยรูป และสาตรูป เป็นผู้ๆ เดียวเพ่งอยู่ ได้รู้ความบรรลุประโยชน์ และความสงบแห่งหทัยว่าเป็นความสุข เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ทำความเป็นมิตรกับชนทั้งปวง และความเป็นมิตรกับใครๆ ย่อมไม่อำนวยประโยชน์ให้แก่เรา

    ลำดับนั้น นางอรดี มารธิดาได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

    ภิกษุในพระศาสนานี้มีปกติอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างไหนมาก จึงข้ามโอฆะทั้ง ๕ แล้วเวลานี้ได้ข้ามโอฆะที่ ๖ แล้ว กามสัญญาทั้งหลายย่อมห้อมล้อมไม่ได้ซึ่งบุคคลผู้เพ่งฌานอย่างไหนมาก

    สำหรับพยัญชนะที่ว่า โอฆะทั้ง ๕ หมายความถึงทางทวาร ๕ นัยหนึ่งหมายความถึงสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ อีกนัยหนึ่ง โอฆะที่ ๖ หมายความถึงมโนทวารอีกนัยหนึ่ง หมายความถึงสังโยชน์เบื้องสูง ๕ อีกนัยหนึ่ง ที่เป็นอย่างนี้ก็เป็นเพราะเหตุว่าบางท่านเว้นห่างไกลจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทางทวารทั้ง ๕ จริง แต่ทางใจระลึกถึงบ้างหรือเปล่า ทางมโนทวาร เพราะถึงแม้ว่าจะไม่ได้ประสพรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่แม้จะอยู่บุคคลเดียว ก็ยังมีนิวรณธรรมซึ่งเป็นกามฉันทะ พยาปาทะเหล่านี้ได้ เพราะฉะนั้น การที่จะละนั้น ก็ด้วยการเจริญฌาน ระงับไว้ประการหนึ่ง และด้วยการรู้แจ้งอริยสัจธรรมอีกนัยหนึ่ง

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    บุคคลมีกายอันสงบแล้ว มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว เป็นผู้ไม่มีอะไรๆ เป็นเครื่องปรุงแต่ง มีสติ ไม่มีความอาลัย ได้รู้ทั่วซึ่งธรรม มีปกติเพ่งอยู่ด้วยฌานที่ ๔ อันหาวิตกมิได้ ย่อมไม่กำเริบ ไม่ซ่านไป ไม่เป็นผู้ย่อท้อ ภิกษุในศาสนานี้เป็นผู้มีปกติอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้มาก จึงข้ามโอฆะทั้ง ๕ ได้แล้ว บัดนี้ได้ข้ามโอฆะที่ ๖ แล้วกามสัญญาทั้งหลายย่อมห้อมล้อมไม่ได้ ซึ่งภิกษุผู้เพ่งฌานอย่างนี้มาก

    ลำดับนั้นแล นางราคา มารธิดาได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

    พระศาสดาผู้เป็นหัวหน้า ดูแลคณะสงฆ์ ได้ตัดตัณหาขาดแล้ว และชนผู้มีศรัทธาเป็นอันมากจักประพฤติตามได้แน่แท้ พระศาสดานี้เป็นผู้ไม่มีความอาลัย ได้ตัดขาดจากมือมัจจุราชแล้ว จักนำหมู่ชนเป็นอันมากไปสู่ฝั่งพระนิพพาน

    อย่าลืมพยัญชนะที่ว่า และชนผู้มีศรัทธาเป็นอันมาก จักประพฤติตามได้แน่แท้

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    ตถาคตมีความแกล้วกล้าใหญ่ ย่อมนำสัตว์ไปด้วยพระสัทธรรมแล เมื่อตถาคตนำไปอยู่โดยธรรม ไฉนความริษยาจะพึงมีแด่ท่านผู้รู้เล่า

    การที่มารมานี้ จะเห็นได้ว่า ไม่ปรารถนาที่จะให้บุคคลอื่นได้เจริญในธรรม

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ลำดับนั้นแล มารธิดาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคาพากันเข้าไปหาพระยามารถึงที่อยู่ พระยามารเห็นมารธิดา คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคามาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้วได้กล่าวพ้อด้วยคาถาทั้งหลายว่า

    พวกคนโง่ได้พากันทำลายภูเขาด้วยก้านบัว ขุดภูเขาด้วยเล็บ เคี้ยวเหล็กด้วยฟันทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะทำพระโคดมให้เบื่อเข้า ต้องหลีกไป เป็นประดุจบุคคลวางหินไว้บนศีรษะแล้วแทรกลงไปในบาดาล หรือดุจบุคคลเอาอกกระแทกตอ ฉะนั้น

    พระศาสดาได้ขับไล่นางตัณหา นางอรดี นางราคาผู้มีรูปน่าทัสนายิ่งซึ่งได้มาแล้วในที่นั้นให้หนีไป เหมือนลมพัดปุยนุ่น ฉะนั้น

    พยัญชนะน่าฟังที่ว่า พวกคนโง่พากันทำลายภูเขาด้วยก้านบัว ขุดภูเขาด้วยเล็บ เคี้ยวเหล็กด้วยฟันทั้งหลาย โง่ไหมทำอย่างนั้น จะทำลายภูเขาด้วยก้านบัว จะขุดภูเขาด้วยเล็บ และจะเคี้ยวเหล็กด้วยฟัน

    ถ้าพิจารณาธรรมโดยละเอียดรอบคอบจะเห็นว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แม้แต่การที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงก็ต้องรู้ละเอียด การละการคลาย ก็ต้องละคลายละเอียด จึงจะเป็นการละจริงๆ และการรู้จริงเท่านั้นที่จะละจริงได้ เพราะฉะนั้น อย่าคิดที่จะทำลายภูเขาด้วยก้านบัว นิดๆ หน่อยๆ รู้นามนี้บ้างนามนั้นบ้าง จดจ้องอยู่ที่นั่นบ้าง ที่นี่บ้าง แต่ว่าไม่ได้รู้สภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง

    จะเห็นข้อความที่มารสำนึกว่า การขัดขวางพระผู้มีพระภาคด้วยประการต่างๆ นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เหมือนกับพวกคนโง่ที่พากันทำลายภูเขาด้วยก้านบัว ขุดภูเขาด้วยเล็บ เคี้ยวเหล็กด้วยฟันทั้งหลาย เพราะเหตุว่าผู้ที่ได้ตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงจนหมดสิ้นกิเลส แม้กิเลสอย่างละเอียดซึ่งเป็นอนุสัยก็ไม่มี เมื่อบุคคลอื่นพยายามที่จะขัดขวางด้วยการกระทำทั้งที่น่ายินดีและน่ายินร้ายต่างๆ บุคคลผู้ไม่มีกิเลส ย่อมไม่หวั่นไหว เพราะเหตุว่าได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะพิจารณาว่า มีความหวั่นไหวมากน้อยเท่าไรในความยินดียินร้ายในโลกธรรม ทั้งฝ่ายอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ ซึ่งถ้าไม่ประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่จะไม่หวั่นไหวเป็นไปได้ไหม ที่จะไม่ให้เกิดโลภะ ไม่ให้เกิดโทสะไม่ให้เกิดโมหะ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายนั้น ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แต่ว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    ในคราวก่อนๆ ได้กล่าวถึงเรื่องของเทพบุตรมาร ซึ่งถึงแม้ว่าจะเกิดในสวรรค์เป็นผลของกุศล แต่เพราะสะสมกิเลส ความเห็นผิด ไม่ปรารถนาที่จะให้บุคคลอื่นเจริญก้าวหน้าในทางธรรม ก็ขัดขวางทุกทางที่จะเป็นไปได้

    สำหรับวันนี้ขอพูดถึง ขันธมาร ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเทพบุตรมาร ก็ไม่พ้นจากขันธ์ คือ นามธรรมและรูปธรรม ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์วิญญาณขันธ์ ถ้าไม่มีรูปขันธ์ ไม่มีเวทนาขันธ์ ไม่มีสัญญาขันธ์ ไม่มีสังขารขันธ์ ไม่มีวิญญาณขันธ์เกิดปรากฏตามเหตุปัจจัยแล้ว เทพบุตรมารจะมีได้ไหม ก็มีไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดก็ตาม ย่อมจะเป็นเพียงสภาพปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ในครั้งโน้น เมื่อพระสาวกได้ประสบกับการขัดขวางของมาร ได้ไปเฝ้ากราบทูลพระผู้มีพระภาค พระองค์จึงทรงโอวาทให้ภิกษุนั้นรู้ชัดในสภาพของมารตามความเป็นจริง คือ ให้สติเกิดขึ้น ระลึกรู้ในรูป ในเวทนาในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณตามความเป็นจริง

    สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค มิคชาลวรรคที่ ๒ สมิทธิสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ท่านพระสมิทธิเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่ามาร มาร ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรพระเจ้าข้าจึงเป็นมาร หรือการบัญญัติว่ามาร

    แม้พระสาวกในครั้งนั้นก็มีความสงสัยในสภาพของมารว่า มารนั้นคืออะไรกันแน่ และมารนั้นได้แก่อะไรที่บัญญัติว่ามาร

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สมิทธิ จักษุรูป จักษุวิญญาณ ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณมีอยู่ ณ ที่ใด มารหรือการบัญญัติว่ามาร ก็มีอยู่ ณ ที่นั้น

    หู เสียง โสตวิญญาณ ธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยโสตวิญญาณมีอยู่ ณ ที่ใด มารหรือการบัญญัติว่ามาร ก็มีอยู่ ณ ที่นั้น

    จมูก กลิ่น ฆานวิญญาณ ธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยฆานวิญญาณมีอยู่ ณ ที่ใด มารหรือการบัญญัติว่ามาร ก็มีอยู่ ณ ที่นั้น

    ลิ้น รส ชิวหาวิญญาณ ธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยชิวหาวิญญาณมีอยู่ ณ ที่ใด มารหรือการบัญญัติว่ามาร ก็มีอยู่ ณ ที่นั้น

    กาย โผฏฐัพพะ กายวิญญาณ ธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยกายวิญญาณมีอยู่ ณ ที่ใดมารหรือการบัญญัติว่ามาร ก็มีอยู่ ณ ที่นั้น

    ใจ ธัมมารมณ์ มโนวิญญาณ ธรรมที่พึงรู้แจ้งด้วยมโนวิญญาณมีอยู่ ณ ที่ใดมารหรือการบัญญัติว่ามาร ก็มีอยู่ ณ ที่นั้น

    ดูกร สมิทธิ จักษุรูป จักษุวิญญาณ ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณไม่มี ณ ที่ใด มารหรือการบัญญัติว่ามาร ก็ไม่มี ณ ที่นั้น

    ข้อความซ้ำต่อไปจนถึง

    ใจ ธัมมารมณ์ มโนวิญญาณ ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยมโนวิญญาณไม่มี ณ ที่ใด มารหรือการบัญญัติว่ามาร ก็ไม่มี ณ ที่นั้น

    จบสูตรที่ ๓

    ถ้าเป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว จะไม่ทรงเว้นทางหนึ่งทางใดเลย ตั้งแต่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แม้ข้อความจะซ้ำ แต่ทำไมพระผู้มีพระภาคไม่ทรงเว้น เพื่อประโยชน์อะไร ก็เพื่อความชัดแจ้ง และเพื่อให้รู้ว่า การที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้น ต้องรู้ทั่ว ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ไม่ใช่ว่าจะเว้นไม่รู้ทางหนึ่งทางใดแล้วไปรู้แต่เฉพาะบางนามหรือบางรูป และเข้าใจว่าหมดกิเลสแล้ว โดยที่ไม่ได้รู้สภาพธรรมทั่ว ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ลองสังเกตจากการอบรมเจริญปัญญาว่า สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางไหนบ้าง และทางไหนยังน้อยมาก ทางไหนบ่อยๆ เนืองๆ และกิเลสหมดไปบ้างหรือยัง หรือว่ายังอยู่อีกมากเหลือเกิน เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าการที่จะละกิเลสได้ ไม่ใช่เพียงรู้จากการฟัง หรือเพียงการที่สติระลึกเล็กๆ น้อยๆ แต่จะต้องอบรมจนกระทั่งเป็นปัญญาที่สามารถจะประจักษ์ในลักษณะที่ไม่ใช่อัตตาของนามธรรมและรูปธรรม

    ขณะนี้กำลังเห็น พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องการเห็น ขณะนี้กำลังได้ยิน พระผู้มีพระภาคตรัสเพื่อให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และจะได้รู้ว่า สภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นบุคคล เป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นมารใดๆ ทั้งสิ้นนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดแล้วปรากฏเท่านั้นเอง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๐ ตอนที่ ๒๙๑ – ๓๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 37
    28 ธ.ค. 2564