แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 301
ครั้งที่ ๓๐๑
ธรรมที่ได้อบรม ได้ยิน ได้ฟัง ได้มนสิการ ได้พิจารณาด้วยดี แทงตลอดด้วยทิฏฐิ ถึงแม้ว่าจะเกิดในภูมิเทพที่มีความสุข และสติไม่ได้เกิดเลยในระหว่างนั้นก็จริง แต่เมื่อมีภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิต แสดงธรรมแก่เทพบริษัท ทำให้บุคคลนั้นย่อมระลึกได้ถึงในกาลก่อน ที่ได้เคยประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนั้น เหมือนกับเวลาที่เป็นผู้ที่ฉลาดต่อเสียงกลอง ถึงแม้ว่าจะเดินทางไกลไปที่อื่น เวลาที่ได้ยินเสียงกลอง ก็ไม่สงสัยเลย ไม่เคลือบแคลงเลยว่า นั่นเป็นเสียงกลองหรือไม่ใช่เสียงกลอง เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่มีความฉลาดต่อเสียงกลองแล้ว
เพราะฉะนั้น ท่านอาจจะเคยได้ยินได้ฟังธรรมมาแล้วในอดีต เวลาที่ฟังอีก เข้าใจได้ ไม่เหมือนคนที่ไม่ได้ใส่ใจมนสิการศึกษามาก่อนเลย เวลาที่ได้ยินได้ฟังก็รู้สึกว่ายากแก่การเข้าใจ แต่ถ้าผู้ใดเคยฟัง หรือแม้ในปัจจุบันชาตินี้เอง การฟังครั้งแรกๆ กับการฟังต่อๆ มา นานๆ จะเห็นได้ว่า เวลาฟังนานๆ ก็เข้าใจในเหตุในผล ในสภาพธรรม หรือแม้ในการเจริญสติปัฏฐาน ไม่เข้าใจผิด ไม่เข้าใจคลาดเคลื่อน นี่เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒ สติเกิดช้า แต่ก็สามารถที่จะบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน ซึ่งอาศัยภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิต แสดงธรรมแก่เทพบริษัท
ในสมัยนี้ จะมีภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิต แสดงธรรมแก่เทพบริษัทไหม ไม่ใช่ในมนุษย์ เพราะเหตุว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีอิทธิฤทธิ์ สามารถไปสู่เทพบริษัทแสดงธรรม ซึ่งในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานมีมาก แม้พระผู้มีพระภาคเองและพระสาวก ก็ได้ไปสู่สวรรค์ ไปสู่พรหมบริษัท แสดงธรรมในที่นั้น ซึ่งถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่เคยอบรมการฟัง การประพฤติพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัยนี้มาแล้วในกาลก่อนในอดีต ก็สามารถที่จะเข้าใจในพระธรรม และสติเกิดขึ้นบรรลุคุณวิเศษได้เร็วพลัน
อานิสงส์ประการที่ ๓ ข้อความต่อไปมีว่า
ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ เธอมีสติหลงลืม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย ทั้งภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิต ก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แต่เทพบุตรย่อมแสดงธรรมในเทพบริษัท เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า
ในกาลก่อนเราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี้คือธรรมวินัยนั้นเอง สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ฉลาดต่อเสียงสังข์ เขาเดินทางไกล พึงได้ฟังเสียงสังข์เข้า เขาไม่พึงมีความสงสัยหรือเคลือบแคลงว่า เสียงสังข์หรือมิใช่หนอ ที่แท้เขาพึงถึงความตกลงใจว่า เสียงสังข์ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ … ย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓ แห่งธรรมทั้งหลาย ที่บุคคลฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้
ข้อความตอนนี้ ดูเหมือนกับว่าไม่ใช่ตัวท่าน แต่ความจริงพรุ่งนี้ท่านผู้ฟังทราบไหมว่าจะอยู่ที่ไหน อาจจะอยู่ในเทพบริษัทหนึ่งบริษัทใดก็ได้ ซึ่งเสวยความสุขในภพนั้นแล้วก็หลงลืมสติ แต่อาศัยที่ท่านเคยศึกษา เคยอบรม ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้ เมื่อเทพบุตรแสดงธรรมในเทพบริษัท ก็ทำให้ท่านเกิดความคิดอย่างนี้ว่า ในกาลก่อน เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้ เป็นเรื่องของท่านเองก็ได้ในอนาคตชาติ ซึ่งอาจจะเป็นพรุ่งนี้ หรือเมื่อไรก็ได้ แต่ให้ทราบว่า การฟัง และการมนสิการ การอบรมธรรมที่ถูกต้องจะเกื้อกูลจริงๆ
อานิสงส์ต่อไป ประการที่ ๔ มีข้อความว่า
อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ เธอมีสติหลงลืม เมื่อกระทำาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง … แม้ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิต ก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แม้เทพบุตรก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แต่เทพบุตรผู้เกิดก่อนเตือนเทพบุตรผู้เกิดทีหลังว่า ท่านผู้นฤทุกข์ ย่อมระลึกได้หรือว่า เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในกาลก่อน เธอกล่าวอย่างนี้ว่า เราระลึกได้ ท่านผู้นฤทุกข์ เราระลึกได้ ท่านผู้นฤทุกข์ สติเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สหาย ๒ คน เล่นฝุ่นด้วยกัน เขามาพบกันบางครั้งบางคราวในที่บางแห่ง สหายคนหนึ่งพึงกล่าวกะสหายคนนั้นอย่างนี้ว่า สหาย ท่านระลึกถึงกรรมแม้นี้ได้หรือ เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราระลึกได้ เราระลึกได้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม ... ย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๔ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๔ ประการนี้ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังแล้วเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้
มีสหายที่เกื้อกูลกัน เตือนให้ระลึกถึงการประพฤติพรหมจรรย์ในกาลก่อนที่ได้ประพฤติอบรมมาแล้ว ซึ่งก็เป็นเหตุให้สติบังเกิดขึ้น แม้ว่าจะช้า แต่ว่าผู้นั้นก็บรรลุคุณวิเศษได้เร็วพลัน
เพราะฉะนั้น การเกื้อกูลกันให้เกิดความเห็นถูกในข้อประพฤติปฏิบัติ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะเหตุว่าถ้าท่านเข้าใจผิด เข้าใจคลาดเคลื่อนในข้อประพฤติปฏิบัติ ไม่มีโอกาสเลยที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ถึงแม้ว่าท่านจะอบรม แต่ปัญญาไม่เกิดที่จะแทงตลอดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้ด้วยดี ทั้งพยัญชนะและอรรถ เพราะฉะนั้น ถ้าพระธรรมไม่เกื้อกูลให้ท่านเข้าใจถูก ท่านยังคงยึดมั่นในความเห็นผิด ในข้อปฏิบัติที่คลาดเคลื่อน นอกจากในปัจจุบันชาติจะไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว แม้ในชาติต่อๆ ไป ก็มีความเข้าใจผิด หลงไปว่าข้อปฏิบัติที่คลาดเคลื่อนนั้นถูกต้อง
ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต อโยนิโสสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ พึงทราบว่าเป็นคนพาล ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ ตั้งปัญหาโดยไม่แยบคาย ๑ เฉลยปัญหาโดยไม่แยบคาย ๑ ไม่อนุโมทนาปัญหาที่ผู้อื่นเฉลยโดยแยบคาย ด้วยบทพยัญชนะที่เหมาะสมสละสลวยเข้ารูป ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล พึงทราบว่าเป็นคนพาล
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ พึงทราบว่าเป็นบัณฑิต ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ ตั้งปัญหาโดยแยบคาย ๑ เฉลยปัญหาโดยแยบคาย ๑ อนุโมทนาปัญหาที่ผู้อื่นเฉลยโดยแยบคาย ด้วยบทพยัญชนะที่เหมาะสม สละสลวยเข้ารูป ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล พึงทราบว่าเป็นบัณฑิต
ตั้งแต่ครั้งโน้นจนถึงครั้งนี้ ไม่เว้นสักโอกาสเดียวที่พระผู้มีพระภาคจะทรงเกื้อกูลพุทธบริษัท ใครก็ตามที่อาจจะมีความคิดเห็นผิดไป คลาดเคลื่อนไป แต่เป็นผู้ที่ใส่ใจ พิจารณาธรรมตรงตามความเป็นจริง ผู้นั้นย่อมไม่เข้าข้างตัวเอง เมื่อฟังธรรม ก็ฟังเหตุผลของธรรม และถ้าสภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร การเจริญปัญญาก็จะต้องรู้ตรงสภาพธรรมตามความเป็นจริงอย่างนั้น แต่ถ้าสภาพธรรมตามความเป็นจริงและที่ทรงแสดงไว้เป็นอย่างนี้ แต่ท่านเข้าใจผิด รู้อย่างอื่น แม้ว่าพระธรรมจะได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดอย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้เกื้อกูลให้ท่านเห็นว่า ยังไม่ใช่ความรู้จริง ซึ่งถ้าเป็นความรู้จริงแล้ว ก็จะต้องรู้ตรงตามสภาพธรรมที่ปรากฏ และที่ทรงแสดงไว้
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เทียบเคียงจะไม่ทราบว่า ผู้ใดหนักด้วยมิจฉาทิฏฐิ ยึดมั่นในความเห็นแม้ไม่ตรงกับพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ และไม่ตรงกับสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ก็ไม่ทิ้ง หรือทิ้งไม่ได้ ซึ่งแสดงว่า ความเห็นผิดหนักมากทีเดียว ถ้าไม่ถ่ายถอนก็ไม่มีโอกาสที่จะเห็นถูก หรือไม่มีโอกาสที่จะรู้แจ้ง รู้จริงในสภาพธรรมตามที่ปรากฏ และตามที่ได้ทรงแสดงไว้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงทราบถึงอัธยาศัยของบุคคลต่างๆ โดยละเอียด เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นพระธรรมเทศนาสั้นๆ แต่ก็ได้ทรงแสดงไว้ เพื่อพุทธบริษัทที่มนสิการด้วยดีในธรรมที่ได้ยินได้ฟัง
อีกสูตรหนึ่ง ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต อัจจยสูตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ พึงทราบว่าเป็นคนพาลธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ ไม่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ ๑ เห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว แต่ไม่ทำคืนตามธรรม ๑ เมื่อผู้อื่นชี้โทษอยู่ ไม่รับรู้ตามธรรม ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล พึงทราบว่า เป็นคนพาล
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ พึงทราบว่าเป็นบัณฑิต ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ เห็นโทษโดยความเป็นโทษ ๑ เห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว ย่อมทำคืนตามธรรม ๑ เมื่อผู้อื่นชี้โทษอยู่ ย่อมรับรู้ตามธรรม ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล พึงทราบว่า เป็นบัณฑิต
น่าที่พระผู้มีพระภาคจะทรงเกื้อกูลด้วยพระสูตรนี้ไหม ซึ่งถ้าบุคคลใดไม่มีความเห็นถูก การปฏิบัติก็ไม่ถูก การรู้แจ้งธรรมก็ถูกไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความเห็นถูกเป็นเบื้องต้น เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ท่านสามารถประพฤติปฏิบัติต่อไปจนกระทั่งรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สุริยูปมาสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง ฉันใด สิ่งที่เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตมาก่อนแห่งการตรัสรู้อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง คือ สัมมาทิฏฐิ ฉันนั้นเหมือนกัน อันภิกษุผู้มีความเห็นชอบ พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
ในพระไตรปิฎก จะไม่เว้นข้อความที่จะเป็นประโยชน์กับพุทธบริษัทที่จะพิจารณาธรรม
ขุททกนิกาย สิริมาเถรคาถา มีข้อความว่า
ถ้าตนมีจิตไม่ตั้งมั่น ถึงชนเหล่าอื่นจะสรรเสริญ ชนเหล่าอื่นก็สรรเสริญเปล่า เพราะตนมีจิตไม่ตั้งมั่น ถ้าตนมีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ถึงชนเหล่าอื่นจะติเตียน ชนเหล่าอื่นก็ติเตียนเปล่า เพราะตนมีจิตตั้งมั่นดีแล้ว
นี่เป็นสิ่งที่จะเกื้อกูลท่านผู้ฟัง
จากการได้สนทนากับท่านผู้ฟัง ได้รับทราบความคิดเห็นหลายประการของท่านผู้ฟังที่เป็นคฤหัสถ์ว่า รู้สึกดีใจมากที่สภาพธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้นั้น สามารถที่จะปฏิบัติได้แม้คฤหัสถ์ซึ่งเพียงรักษาศีลห้า เป็นกำลังใจแก่ฆราวาสซึ่งมีชีวิตประจำวันที่ดำเนินไปด้วยการรักษาศีลได้เพียง ๕ ข้อ แต่ยังสามารถที่จะประพฤติพรหมจรรย์ เจริญอบรมมรรคมีองค์ ๘ เจริญสติปัฏฐาน เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องละอาคารบ้านเรือนเป็นบรรพชิตเท่านั้นจึงจะเจริญสติปัฏฐาน อบรมมรรคมีองค์ ๘ และรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
ขอกล่าวถึงข้อความในพระสูตร ที่แสดงให้เห็นถึงโทษของการเลื่อมใสในบุคคล ซึ่งจะเกื้อกูลท่านผู้ฟังให้พิจารณาในธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ถ้าพระสูตรนั้นไม่เกื้อกูล พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงแสดงพระสูตรนั้นเลย
อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปุคคลปสาทสูตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษในความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นในบุคคล ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
บุคคลย่อมเลื่อมใสในบุคคลใด บุคคลนั้นต้องอาบัติอันเป็นเหตุให้สงฆ์ยกวัตร เขาจึงคิดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรานี้ถูกสงฆ์ยกวัตรเสียแล้ว เขาจึงเป็นผู้ไม่มีความเลื่อมใสมากในพวกภิกษุ เมื่อไม่มีความเลื่อมใสมากในพวกภิกษุ จึงไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น เมื่อไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น จึงไม่ฟังสัทธรรม เมื่อไม่ฟังสัทธรรม จึงเสื่อมจากสัทธรรม นี้เป็นโทษในความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นในบุคคลข้อที่ ๑
ถ้าไม่พูดถึงพระวินัย พูดถึงพระธรรม ลองเทียบเคียงดู เมื่อเลื่อมใสในบุคคล แต่ถ้าบุคคลนั้นประพฤติผิด เห็นผิด ทำผิด แทนที่จะเห็นว่าเป็นการประพฤติผิด เข้าใจผิด ทำผิด กลับไม่พอใจในพวกสงฆ์ และไม่มีความเลื่อมใสในภิกษุอื่น เพราะฉะนั้น ก็ไม่คบหาภิกษุอื่น และไม่ฟังสัทธรรม ถ้าท่านจะไม่ฟังพระธรรม ท่านควรจะได้พิจารณาว่าเพราะอะไร
ข้อความต่อไปมีว่า
อีกประการหนึ่ง บุคคลย่อมเลื่อมใสในบุคคลใด บุคคลนั้นต้องอาบัติอันเป็นเหตุให้สงฆ์บังคับให้เขานั่งที่สุดสงฆ์ เขาจึงคิดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรานี้ ถูกสงฆ์บังคับให้นั่งในที่สุดสงฆ์เสียแล้ว เขาจึงเป็นผู้ไม่มีความเลื่อมใสมากในพวกภิกษุ เมื่อไม่มีความเลื่อมใสมากในพวกภิกษุ จึงไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น เมื่อไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น จึงไม่ฟังสัทธรรม เมื่อไม่ฟังสัทธรรม จึงเสื่อมจากสัทธรรม นี้เป็นโทษในความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นในบุคคลข้อที่ ๒
ตามวินัยของสงฆ์ เมื่อสงฆ์รูปใดประพฤติผิด ต้องอาบัติ มีการลงโทษตาม พระวินัยแล้ว แต่บุคคลที่เลื่อมใสในภิกษุผู้ประพฤติผิดนั้น กลับเห็นผิด ทำให้ไม่ฟังสัทธรรม เพราะเหตุว่าไม่มีความเลื่อมใสในสงฆ์ หรือว่าในพวกภิกษุเหล่าอื่น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๑ ตอนที่ ๓๐๑ – ๓๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 301
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 302
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 303
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 304
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 305
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 306
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 307
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 308
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 309
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 310
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 311
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 312
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 313
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 314
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 315
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 316
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 317
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 318
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 319
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 320
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 321
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 322
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 323
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 324
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 325
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 326
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 327
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 328
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 329
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 330
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 331
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 332
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 333
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 334
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 335
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 336
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 337
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 338
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 339
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 340
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 341
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 342
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 343
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 344
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 345
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 346
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 347
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 348
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 349
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 350
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 351
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 352
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 353
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 354
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 355
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 356
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 357
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 358
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 359
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 360