แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 319


    ครั้งที่ ๓๑๙


    หนทางปฏิบัติที่จะให้ละกิเลสได้มีทางเดียว คือ การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เป็นการทำ แต่เป็นการอบรมเจริญเนืองๆ บ่อยๆ เพื่อให้มีมาก เพื่อให้เป็นกำลัง

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรม และจะเริ่มเห็นประโยชน์ของการเป็นผู้ตรงต่อธรรมว่า การเป็นผู้ตรงต่อธรรมนั้น เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะไม่หลอกตัวเอง และไม่หลอกบุคคลอื่นด้วย

    โดยมากเท่าที่ทราบ มีบางท่านที่ไม่อดทนพอที่จะฟังให้เข้าใจแจ่มแจ้งจริงๆ ในเรื่องของการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ท่านอยากจะทำวิปัสสนาทันที

    พุทธศาสนา เป็นศาสนาของพุทธะ คือ ปัญญา เป็นเรื่องของปัญญา เป็นเรื่องของความรู้จริงๆ ตั้งแต่ต้น คือ ในขั้นของการฟัง ถ้าความรู้ในขั้นของการฟังไม่มีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังยังไม่ชัดเจน ยังไม่ถูกต้อง ท่านจะประพฤติปฏิบัติเพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้น ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าปัญญานั้น จะต้องเริ่มเกิดตั้งแต่ขั้นของการฟังเสียก่อน เมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้

    ขอเล่าให้ฟังถึงการสนทนากับท่านผู้ฟัง และผู้ที่สนใจในการเจริญสติปัฏฐานดิฉันได้รับทราบจากอุบาสิกาท่านหนึ่งว่า ได้สนทนากับผู้สอนธรรมท่านหนึ่ง ท่านผู้สอนธรรมท่านนั้น ได้กล่าวถึงการบรรยายที่ดิฉันบรรยายอยู่ว่า เรื่องต่างๆ ที่พูดนี้ก็ดีแต่ว่าดิฉันไม่เข้าใจลักษณะของสติธรรมดากับสติปัฏฐาน เท่าที่ฟังนี้ก็ชื่นชมในธรรมบางประการที่นำมาบรรยาย แต่พร้อมกันนั้นก็มีความเห็นว่า ตัวดิฉันเองไม่เข้าใจลักษณะของสติธรรมดากับสติปัฏฐาน ซึ่งสำหรับผู้สอนธรรมที่ท่านกล่าวว่าดิฉันไม่รู้ลักษณะของสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าสำหรับท่านนั้น สติปัฏฐาน คือ กำหนดรูปอะไรรูปนั้นก็ดับ

    เมื่อได้สอบถามอุบาสิกาที่ได้เล่าให้ฟังว่า ท่านผู้สอนธรรมที่ท่านกล่าวว่าดิฉันไม่รู้ลักษณะของสติปัฏฐานนั้น ท่านดูรูปนั่งใช่ไหม อุบาสิกาท่านนั้นก็ตอบว่าใช่

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เพียงแต่กำลังนั่ง และรู้ว่าที่นั่งนั่นแหละเป็นรูป นึกเอาว่าเป็นรูป โดยที่ไม่รู้ลักษณะที่เป็นรูปธรรมที่ปรากฏแต่ละทาง นั่นไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะว่าไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่เป็นสภาพธรรมนั้น ไม่ใช่นึก แต่ต้องมีลักษณะของสภาพธรรมนั้นจริงๆ ปรากฏตามปกติ ตรงตามลักษณะของสภาพธรรมนั้น แต่ละลักษณะ

    เย็นกำลังปรากฏ ลักษณะของเย็นเป็นสภาพธรรม เป็นของจริง ไม่ใช่ตัวตนเป็นรูปธรรม เพราะเป็นแต่เพียงลักษณะที่เย็นเท่านั้น เพราะฉะนั้น ในขณะที่สติไม่ใช่รู้เพียงเย็นเฉยๆ แต่ระลึกรู้ตรงสภาพเย็น รู้ว่าลักษณะนั้น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่มีลักษณะปรากฏแล้วก็หมดไป แต่ต้องมีลักษณะจริงๆ คือ ลักษณะที่เย็นปรากฏ สติระลึกรู้ตรงลักษณะที่เย็นในขณะนั้น ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น แต่สติขณะนั้น กำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ ปรากฏแล้วก็หมดไป นั่นเป็นสติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้น การใช้คำว่า สติปัฏฐานนั้น ไม่ใช่ใช้ลอยๆ ว่า กำลังนั่ง รู้ว่าเป็นรูป เป็นสติปัฏฐาน กำหนดรูปนั่งทีไร ก็ดับไป แต่ไม่มีลักษณะปรมัตถธรรม หรือสภาพธรรมที่ปรากฏความเป็นอนัตตา ความเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนจึงไม่ใช่ความรู้ชัดที่จะประจักษ์ว่า นามธรรมและรูปธรรมแต่ละทางนั้น เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ปรากฏแล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน ต้องมีลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ กำลังปรากฏ

    ผู้ที่ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม จะกล่าวว่า ขณะที่สติกำลังระลึกรู้ตรงสภาพธรรมที่มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ ขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน จะกล่าวได้ไหม สำหรับผู้ที่ได้ศึกษาธรรม โดยเฉพาะในเรื่องของสติปัฏฐาน โดยเฉพาะในเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมที่เป็นของจริง ที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน แต่ถ้าสติไม่ระลึก ไม่รู้ อวิชชาก็ปิดกั้นไม่ให้เห็นความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมทั้งหลายว่า เป็นลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นแต่ละทาง และอาศัยปัจจัยแต่ละอย่าง เป็นสภาพธรรมต่างๆ กัน

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะต้องพิจารณา เข้าใจให้ถูกต้องว่า สติปัฏฐานนั้นคืออย่างไร ขณะใดที่กำลังระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เท่านั้นที่เป็นสติปัฏฐาน แต่ขณะที่หลงลืม หรือคิดว่าจะต้องกั้นอย่างนี้ จะต้องทำอย่างนั้น นั่นเป็นลักษณะของตัวตน เป็นลักษณะของการหลงลืมสติ เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าแม้ขณะนั้น สติก็ไม่ได้เกิดขึ้นระลึกรู้ในลักษณะของนามธรรมที่กำลังตรึก ที่กำลังคิด ที่กำลังจะกั้น ที่กำลังจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ว่า ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมที่เกิดขึ้นไม่ใช่สติที่ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมแล้วรู้ว่า เป็นนามธรรมแต่ละชนิด เป็นรูปธรรมแต่ละชนิด

    ท่านผู้ฟังจะพิจารณาสภาพธรรมได้ว่า ที่ท่านได้ยินได้ฟังนั้น อย่างไรแน่ที่เป็นสติปัฏฐาน โดยมากคนทั่วไปมีความเข้าใจว่า กำลังเห็น และไม่วิกลจริต ก็เป็นสติธรรมดา หรือว่ากำลังเดิน กำลังรับประทานอาหาร รู้ว่าอะไรเป็นอะไรถูกต้องตามปกติ ธรรมดา คนทั่วไปจะใช้คำว่า นั่นเป็นสติ เพราะฉะนั้น ก็เลยเข้าใจว่า นั่นเป็นสติธรรมดา

    แต่การเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานนั้น ไม่ใช่เพียงเห็นอย่างธรรมดาเท่านั้น แต่จะต้องระลึก คือ รู้ว่าที่กำลังเห็นนี้ เป็นสภาพรู้ทางตาอย่างหนึ่งเท่านั้น หรือขณะที่กำลังได้ยินเสียง ขณะที่เสียงปรากฏ ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน มนสิการ รู้ตรงลักษณะของเสียงที่ปรากฏ จึงชื่อว่า ขณะนั้นสติระลึกรู้อยู่ที่เสียง รู้ว่าเป็นแต่เพียงของจริงชนิดหนึ่ง ปรากฏแล้วก็หมดไป แต่ต้องมีลักษณะของเสียงปรากฏ

    หรือว่า สติระลึกรู้ว่า ที่กำลังได้ยิน ไม่ว่าจะได้ยินที่ไหน ได้ยินอะไรก็ตาม ก็เป็นแต่เพียงสภาพรู้เสียงเท่านั้น นั่นคือ ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้น แม้แต่คำว่าสติ ก็อย่าใช้ว่าสติธรรมดา เพราะเหตุว่าสติเป็นโสภณธรรม เป็นธรรมฝ่ายดีงาม เกิดขึ้นขณะใด ย่อมเป็นไปในทานบ้าง เป็นไปในศีลบ้าง เป็นไปในความสงบของจิตบ้าง เป็นไปในสติปัฏฐาน คือ กำลังระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงบ้าง

    ถ้าศึกษาธรรมโดยละเอียด มีไหมสติธรรมดา หรือที่เข้าใจกันว่าเป็นสติธรรมดาเพราะเหตุว่าสติเป็นโสภณเจตสิก เป็นธรรมชาติฝ่ายดี เริ่มตั้งแต่สติขั้นทาน ปกติ วันหนึ่งๆ ทุกท่านก็มีความยินดีในสมบัติ ในโภคทรัพย์ ในวัตถุสิ่งของ และก็ยากที่จะสละให้บุคคลอื่นได้ แต่ขณะใดที่สติระลึกได้ ในการสละวัตถุนั้นเพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น ลักษณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงนามธรรมที่ระลึกเป็นไปในทานที่จะสละวัตถุ เพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น

    เพราะฉะนั้น สติ ไม่ใช่สติธรรมดา ที่ใช้คำว่าสติธรรมดา ไม่ทราบว่าหมายความกันว่าอย่างไร เพราะไม่ว่าสติจะเกิดขึ้นครั้งใด ขณะใด ก็เป็นโสภณ เป็นกุศล เป็นธรรมฝ่ายดีงามทั้งสิ้น หรือว่าทางกาย ทางวาจา ที่อาจจะมีกายทุจริต วจีทุจริตบ้าง เพราะเหตุว่ากิเลสที่สะสมมาทำให้เกิดกายทุจริต วจีทุจริต แต่ว่าขณะใดที่สติระลึกได้ว่า การที่จะกระทำทุจริตกรรมนั้น ไม่สมควร เป็นสิ่งที่ควรเว้น เป็นสิ่งที่ควรละ ขณะที่เว้น ที่ละ ที่ระลึกได้นั้น ก็เป็นสติที่เป็นไปในศีล เป็นโสภณ เป็นธรรมฝ่ายงาม เป็นธรรมฝ่ายดี

    ที่กล่าวว่า สติธรรมดา หมายความว่าอย่างไร เป็นไปได้อย่างไร เพราะว่าสติเกิดขึ้นครั้งใด ก็ต้องเป็นโสภณ เป็นกุศลธรรมทุกครั้งไป หรือว่าขณะที่จิตใจไม่สงบ ซึ่งกายทุจริตก็ละได้ด้วยกายสุจริต วจีทุจริตก็ละได้ด้วยวจีสุจริต แต่ใจที่กำลังเป็นอกุศล ก่อนที่จะล่วงเป็นการกระทำทางกาย ทางวาจานั้น จะละอย่างไร ถ้าสติไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนั้นรู้ว่า อกุศลจิตกำลังครอบงำ สติเกิดขึ้นระลึกได้ รู้ว่าควรละ หรือว่าควรเจริญธรรมที่เป็นฝ่ายกุศล ไม่ควรจะปล่อยให้จิตเป็นไปในอกุศล เช่น เกิดระลึกที่จะเมตตา หรือว่าที่จะสงเคราะห์ อนุเคราะห์ ที่จะละอกุศลต่างๆ ขณะนั้นเป็นโสภณเจตสิก เป็นสติที่ระลึกได้ ก็ยังคงเป็นธรรมฝ่ายกุศล เป็นธรรมฝ่ายดี

    เพราะฉะนั้น ที่จะกล่าวว่า สติธรรมดา ไม่ทราบว่าหมายความว่าอย่างไร ท่านที่สอนธรรมนั้นบอกว่า ดิฉันไม่รู้เรื่องของสติธรรมดา กับสติปัฏฐาน นี่เป็นคำพูดที่ควรจะได้พิจารณาว่า ผู้ใดมีความเข้าใจในเรื่องของสติปัฏฐาน

    มีบางท่านที่ใจร้อน ฟังธรรมเรื่องของการปฏิบัติจากบุคคลนั้นบ้าง บุคคลนี้บ้าง สำนักนั้นบ้าง สำนักนี้บ้าง ซึ่งดูเหมือนว่า สำนักทั้งหลายนี้จะมีเคล็ดลับในการที่จะให้ปัญญาเกิดขึ้น เพราะบอกว่าไม่ยาก ถ้ารู้เคล็ดลับจริงๆ ก็สามารถจะสำเร็จได้ หรือว่าได้ผลภายในเดือนหนึ่งบ้าง สองเดือนบ้าง สามเดือนบ้าง เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านฟังเรื่องการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ท่านก็ถามว่า มีเคล็ดลับอย่างไรที่จะให้รู้นามธรรมและรูปธรรมเร็ว เพราะรู้สึกว่า น่าจะมีเรื่องของเคล็ดลับ คือ โยนิโสมนสิการแต่ขอให้ท่านลองพิจารณาจริงๆ กิเลสไม่ได้อยู่ที่คนอื่น อยู่ที่ตัวท่านทุกคน ทุกขณะ ที่สติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ

    กำลังเห็น สติขณะนี้เกิดหรือเปล่า ระลึกรู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพรู้ทางตา และสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ระลึกรู้ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหนจนชิน จนชำนาญ จนละ จนคลายความไม่รู้ ค่อยๆ ละความสงสัยว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นอย่างไร และการที่รู้ความหมายของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตานั้น เป็นสภาพธรรมต่างชนิด ไม่ใช่ลักษณะเดียวกัน จนกระทั่งท่านมีความชำนาญจริงๆ แล้วหรือยัง เป็นเรื่องของการรู้ แล้วละคลายความไม่รู้ แต่เป็นปกติ ไม่ใช่ว่าจะรีบร้อนเร่งรัดให้ไปรู้สิ่งอื่น เป็นสิ่งที่ท่านจะทดสอบปัญญาของท่านเองได้จริงๆ

    เพราะฉะนั้น เคล็ดลับไม่มี แต่เป็นเรื่องของสติที่จะระลึกบ่อยๆ เนืองๆ ความรู้ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งเป็นความรู้ และละคลายความไม่รู้ ไม่ว่าสติจะระลึกรู้ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ก็เป็นการเพิ่มความรู้ซึ่งละคลายความไม่รู้ และท่านจะเห็นว่า เยื่อใยที่เคยยึดถือนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏนั้น ยังไม่คลาย ยังเหนียวแน่นอยู่

    เพราะฉะนั้น ไม่มีทางอื่นเลย นอกจาก ขณะนั้นสติระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจนกว่าจะชิน จนกว่าจะทั่ว จนกว่าจะละเอียด จนกว่าจะรู้ว่าไม่มีหนทางอื่น นอกจากจะเจริญเหตุ คือ ระลึกทันทีตรงลักษณะนั้น

    ส่วนความสมบูรณ์ของปัญญาที่จะรู้แจ้งเป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นนั้น ก็ย่อมมาจาก ขณะที่สติกำลังระลึกได้ตรงลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏเท่านั้น นี่เป็นสิ่งที่จะละความต้องการที่จะบรรลุอริยสัจธรรมโดยรวดเร็ว เพราะเหตุว่าถ้าปัญญาไม่เจริญขึ้น ไม่เพิ่มขึ้น ไม่มีอะไรเลยที่จะไปละความต้องการที่จะเป็น พระอริยเจ้าได้ ก็ยังคงเป็นความต้องการที่จะเป็นพระอริยเจ้าโดยปัญญาไม่เจริญ ไม่ได้ละความสงสัย ไม่ได้ละคลายความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติ ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น เรื่องของเคล็ดลับ ไม่มี นอกจากเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องการอบรมเจริญปัญญาว่า จะรู้ชัดในสภาพธรรมได้ เมื่อสติระลึกตรงลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมบ่อยๆ เนืองๆ จนกระทั่งความรู้นั้น สามารถที่จะเพิ่มขึ้นและละคลายมากขึ้น

    ส่วนมากท่านผู้ฟังไม่เห็นโทษของความเห็นผิดในข้อปฏิบัติที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ท่านจะเห็นโทษของกายทุจริต ท่านจะเห็นโทษของวจีทุจริต เพราะเหตุว่ากายทุจริตทำความเดือดร้อนให้บุคคลอื่นและตัวท่านด้วย วจีทุจริตก็ทำความเดือดร้อนให้กับบุคคลอื่นและตัวท่านด้วย แต่ความเห็นผิดในข้อปฏิบัติซึ่งจะเป็นหนทางดับกิเลสที่จะเป็นเหตุให้เกิดกายทุจริตและวจีทุจริต ท่านไม่เห็นว่า ถ้าท่านเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือว่าผิดไป จะไม่สามารถดับกิเลสได้เลย เมื่อไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ กายทุจริต วจีทุจริต ก็ยังคงมีต่อไป เพราะเหตุว่ายังมีกิเลสที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนอยู่

    เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่ต้องอดทน และรู้ว่าปัญญาจะเจริญขึ้นต้องตามระดับขั้น ซึ่งต้องเริ่มจากขั้นของการฟังจริงๆ ถ้ามีสิ่งใดซึ่งยังเป็นที่สงสัยข้องใจในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ก็ควรที่จะได้พิจารณา ใคร่ครวญ สอบทาน เทียบเคียง ให้เป็นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อสติจะได้เริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะเป็นปัญญาที่รู้ชัด

    วันหนึ่งๆ หลงลืมสติบ่อย แต่สติก็เกิดแทรก ไม่ว่าจะเป็น ณ สถานที่ใด หรือว่า ขณะนั้นกำลังเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิตอย่างใด รูปธรรมใด นามธรรมใดกำลังมีปัจจัยเกิดขึ้นปรากฏ สัมมาสติสามารถจะเกิดระลึกรู้แทรกทั่วไปในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะมีปัจจัย คือ ความเข้าใจถูกในข้อปฏิบัติที่ได้ยินได้ฟัง พิจารณาแล้วรู้ว่า ลักษณะของสัมมาสติ คือ กำลังรู้ตรงลักษณะปรมัตถธรรมทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ถ้ารู้ลักษณะของสัมมาสติ วันหนึ่งๆ ก็รู้ ขณะที่สติเกิด ก็รู้ตรงลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วก็หลงลืมสติไป แล้วสติก็เกิดอีก ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็เป็นเรื่องของสัมมาสติที่เกิดขึ้นก็รู้ ดับแล้วก็หมดไป แล้วก็หลงลืมสติ แล้วเวลาสัมมาสติเกิดอีก สัมมาสติก็ระลึกรู้ตรงปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แล้วแต่ว่าสัมมาสติจะเกิดเมื่อไร ขณะใด ก็เป็นอนัตตา

    มีพระคุณเจ้ารูปหนึ่งซึ่งท่านเคยปฏิบัติหลายแบบมาแล้ว ในที่สุดท่านก็กล่าวว่าการเจริญมรรคมีองค์ ๘ สติปัฏฐานนั้น ต้องอาศัยการฟัง การพิจารณา การสังเกต การสำเหนียก การรู้ในขณะที่สติเกิดปรากฏ จึงรู้ว่า คำว่าปฏิบัติธรรม หรือว่าภาวนานั้น คือ การอบรมเจริญเนืองๆ บ่อยๆ จนกระทั่งเป็นความรู้ที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นการไปทำด้วยความเป็นตัวตน แต่เป็นปัญญาที่เริ่มจากการฟัง และเข้าใจลักษณะของสัมมาสติ เป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้น สำเหนียก ระลึกรู้ว่า ขณะนั้นสติเกิด เป็นอนัตตา และสิ่งที่ปรากฏก็เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น นี่จึงจะเป็นการเจริญอบรมมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นการเจริญอบรมสติปัฏฐาน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๒ ตอนที่ ๓๑๑ – ๓๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 38
    28 ธ.ค. 2564