แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 302
ครั้งที่ ๓๐๒
ข้อความต่อไปมีว่า
อีกประการหนึ่ง บุคคลย่อมเลื่อมใสในบุคคลใด บุคคลนั้นหลีกไปสู่ทิศเสีย เขาจึงคิดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรานี้ หลีกไปสู่ทิศเสียแล้ว เขาจึงเป็นผู้ไม่มีความเลื่อมใสมากในพวกภิกษุ ... จึงเสื่อมจากสัทธรรม นี้เป็นโทษในความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นในบุคคลข้อที่ ๓
นี่เป็นการติดในบุคคล คือ เชื่อมั่น ยึดถือเฉพาะบุคคลนั้นบุคคลเดียว แม้ว่าบุคคลนั้นจะผิด ก็ไม่ฟังบุคคลเหล่าอื่นเลย เพราะเหตุว่าเลื่อมใสในบุคคล หรือแม้ว่าบุคคลนั้นจะไปสู่ทิศอื่น ไม่สามารถที่จะได้ฟังธรรม ก็ไม่ยอมที่จะฟังธรรมจากสงฆ์ หรือจากภิกษุเหล่าอื่น เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่เลื่อมใสในบุคคล ติดในบุคคลนั้น
อีกประการหนึ่ง บุคคลย่อมเลื่อมใสในบุคคลใด บุคคลนั้นลาสิกขา เขาจึงคิดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรานี้ลาสิกขาเสียแล้ว เขาจึงไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น ... จึงเสื่อมจากสัทธรรม นี้เป็นโทษในความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นในบุคคลข้อที่ ๔
บางท่านเคยเลื่อมใสในพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงมาก แต่ว่าท่านผู้นั้นไม่สามารถที่จะประพฤติพรหมจรรย์ต่อไปก็ลาสิกขา บุคคลนั้นก็เลิกการสนใจในการฟังธรรม มีไหมอย่างนั้น ซึ่งการฟังธรรมที่เป็นการฟังธรรมจริงๆ ต้องไม่ใช่ฟัง เฉพาะบุคคลหนึ่งบุคคลใดบุคคลเดียว โดยเฉพาะถ้าเป็นผู้ที่ติดในบุคคลอย่างหนาแน่นถึงแม้ว่าบุคคลนั้นพูดผิด กล่าวผิด ก็เชื่อว่าถูก นี่เป็นโทษอย่างยิ่ง
ข้อความต่อไปมีว่า
อีกประการหนึ่ง บุคคลย่อมเลื่อมใสในบุคคลใด บุคคลนั้นกระทำกาละเสียแล้ว เขาจึงคิดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ที่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรานี้ กระทำกาละเสียแล้ว เขาจึงไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น เมื่อไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น จึงไม่ฟังสัทธรรม เมื่อไม่ฟังสัทธรรม จึงเสื่อมจากสัทธรรม นี้เป็นโทษในความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นในบุคคลข้อที่ ๕
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษในความเลื่อมใสที่เกิดในบุคคล ๕ ประการนี้แล
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังที่ฟังธรรม ก็ฟังธรรมต่อไป พระธรรมวินัยยังอยู่ครบทั้ง ๓ ปิฎก แม้ว่าท่านจะได้ความรู้ความเข้าใจจากบางท่านแล้ว แต่ท่านก็ไม่ควรจะยุติ หรือหยุดการศึกษาธรรมเพียงที่บุคคลนั้นบุคคลเดียว ควรจะได้ศึกษาทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎกตามโอกาส ตามความสามารถที่ท่านจะศึกษาได้ อย่าหวังที่จะพึ่งเพียงบุคคลหนึ่งบุคคลใดบุคคลเดียว เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นบุคคลที่เข้าใจถูกในสภาพธรรม แต่บุคคลนั้นก็จะต้องสิ้นชีวิต กระทำกาละ แล้วท่านก็จะไม่ฟังธรรมต่อไป ไม่ศึกษาธรรมต่อไป ซึ่งเป็นการไม่สมควร โดยเฉพาะถ้าบุคคลที่ท่านเลื่อมใสนั้นเป็นผู้ที่เห็นผิด และท่านก็ยึดมั่นติดในบุคคลนั้น ก็จะทำให้ท่านขาดการฟังสัทธรรม
บางท่านไม่มีความเลื่อมใสในอุบาสิกาพุทธบริษัท ท่านบอกว่า ตอนแรกๆ ท่านไม่ฟังเลย แต่ตอนหลังเมื่อฟังแล้วรู้ตัวเองว่าเป็นผู้ที่ใบ้ บอด หนวกจริงๆ ในการที่ไม่ฟัง เพราะฉะนั้น ถ้าท่านรู้ในสภาพธรรมที่เป็นเหตุเป็นผล และปฏิบัติในธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลโดยที่ไม่สำคัญว่าผู้ใดกล่าว โดยลักษณะนั้น จะทำให้ท่านเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากธรรมที่ได้ฟัง
สำหรับข้อความในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคผู้ทรงตรัสรู้สภาพของจิตใจโดยละเอียด ซึ่งได้ทรงแสดงไว้มาก เพราะฉะนั้น จะขอกล่าวถึงข้อความบางตอนซึ่งจะช่วยทำให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาสภาพจิตใจของท่านเอง เพราะว่าการที่จะละกิเลสซึ่งมีอยู่มาก ต้องอาศัยการขัดเกลาทุกประการอย่างมากทีเดียว
อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ข้อความใน ทุกถาสูตร มีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้อยคำของบุคคล ๕ จำพวก ย่อมเป็นถ้อยคำชั่ว เมื่อเทียบบุคคลกับบุคคล บุคคล ๕ จำพวกเป็นไฉน คือ ถ้อยคำปรารภศรัทธา เป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ไม่มีศรัทธา ๑ ถ้อยคำปรารภศีล เป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ทุศีล ๑ ถ้อยคำปรารภพาหุสัจจะ เป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ได้สดับน้อย ๑ ถ้อยคำปรารภจาคะ เป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ตระหนี่ ๑ ถ้อยคำปรารภปัญญา เป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ทรามปัญญา ๑
เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดฟังธรรมแล้วรู้สึกขัดเคือง ไม่พอใจในเรื่องของศรัทธา ในเรื่องของศีล ในเรื่องของพาหุสัจจะ ในเรื่องของจาคะ ในเรื่องของปัญญา ท่านจะทราบได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด แต่ก็เป็นธรรมดาของโลก ที่แต่ละท่านได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็จะต้องมีความรู้สึก มีความคิดต่างๆ กันไป
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภศรัทธาจึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ไม่ศรัทธา เพราะผู้ไม่มีศรัทธา เมื่อพูดเรื่องศรัทธา ย่อมขัดข้อง โกรธ พยาบาท กระด้าง แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะผู้ไม่มีศรัทธานั้น ย่อมไม่เห็นศรัทธาสัมปทาในตน และย่อมไม่ได้ปีติปราโมทย์ที่มีศรัทธาสัมปทานั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภศรัทธา จึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ไม่มีศรัทธา
การที่ให้มีศรัทธานั้น หมายความถึง ให้น้อมใจเชื่อในสิ่งที่มีเหตุผลควรเชื่อ ไม่ใช่ว่าท่านมีศรัทธาไปเสียทุกสิ่งทุกอย่างที่ผิดๆ อย่างนั้นไม่ใช่ศรัทธาแน่นอน เพราะเหตุว่าศรัทธาเป็นโสภณเจตสิก เกิดกับโสภณจิตเท่านั้น แต่ถ้าท่านเชื่อในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นเหตุผล เป็นมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งเกิดกับอกุศลจิต ซึ่งผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะรู้ความต่างกันของขณะจิตที่เป็นอกุศล กับขณะจิตที่เป็นกุศล
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภศีลจึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ทุศีล เพราะผู้ทุศีล เมื่อพูดเรื่องศีล ย่อมขัดข้อง โกรธ พยาบาท กระด้าง แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะผู้ทุศีลนั้น ย่อมไม่เห็นศีลสัมปทาในตน และย่อมไม่ได้ปีติและปราโมทย์ที่มีศีลสัมปทานั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภศีล จึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ทุศีล
เรื่องของศีลเป็นเรื่องที่ละเอียด
ต่อจากเรื่องของทาน ก็จะได้กล่าวถึงเรื่องของศีลเป็นลำดับต่อไป ซึ่งเรื่องของศีลเป็นการขัดเกลายิ่งกว่าทาน เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องที่จะต้องระมัดระวังกาย วาจาของบุคคลซึ่งมีกิเลสอยู่ และถึงแม้ว่าจะมีกิเลส แต่เป็นผู้ที่ใคร่ต่อการที่จะดับกิเลส ขัดเกลากิเลส ก็จะต้องเป็นผู้ที่ระมัดระวังกาย วาจาของตนด้วย
สำหรับทานนั้น เพียงท่านมีวัตถุที่จะสละได้ ท่านก็สละให้ไปเป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่นเป็นครั้งเป็นคราว แต่กายวาจาของท่าน เคยคึกคะนอง หรือว่าเคยเป็นไปในลักษณะที่เต็มไปด้วยกิเลสแรงกล้าอย่างใด ถึงขั้นทุจริตกรรม หรืออกุศลกรรม ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจในการที่จะละกิเลส ขัดเกลากิเลส ท่านก็จะไม่ระมัดระวังในกาย วาจาของท่าน
ข้อความต่อไปมีว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เพราะเหตุใด ถ้อยคำปรารภพาหุสัจจะจึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ได้สดับน้อย เพราะผู้ได้สดับน้อย เมื่อพูดเรื่องพาหุสัจจะ ย่อมขัดข้อง โกรธ พยาบาท กระด้าง แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะผู้ได้สดับน้อยนั้น ย่อมไม่เห็นสุตสัมปทาในตน และย่อมไม่ได้ปีติปราโมทย์ที่มีสุตสัมปทาเป็นเหตุ ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภพาหุสัจจะ จึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ได้สดับน้อย
ท่านผู้ฟังจะสังเกตได้ แม้ในการปฏิบัติธรรม และการศึกษาธรรมที่จะต้องสอดคล้องกัน ซึ่งบางท่านไม่พอใจเลยที่จะให้ยกเหตุผลของพระธรรมโดยละเอียดลึกซึ้งในพระวินัยปิฎกบ้าง ในพระสุตตันตปิฎกบ้าง ในพระอภิธรรมปิฎกบ้าง ประกอบกับการเข้าใจเรื่องของการประพฤติปฏิบัติ การเจริญมรรคมีองค์ ๘ ให้ถูกต้อง ที่เป็นอย่างนี้เพราะอะไร ก็เป็นเพราะผู้ที่ฟังน้อยอาจจะเกรงว่า ถ้าศึกษามาก หรือว่ากล่าวถึงข้อความที่ลึกซึ้งในพระธรรมวินัยโดยตลอดแล้ว จะไม่ตรงกับความคิดความเข้าใจ และการปฏิบัติที่ท่านปฏิบัติอยู่
เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ฟังจะไม่ยอมฟังธรรมโดยละเอียด เห็นว่าเป็นการเสียเวลา ก็จะทำให้ท่านเป็นผู้ที่มีการสดับน้อย เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว เวลาที่บุคคลใดพูดเรื่องพาหุสัจจะ ท่านก็ย่อมจะขัดข้อง โกรธ พยาบาท กระด้าง แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ ซึ่งข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้สดับน้อยนั้น ย่อมไม่เห็นสุตสัมปทาในตน และย่อมไม่ได้ปีติปราโมทย์ที่มีสุตสัมปทาเป็นเหตุ ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภพาหุสัจจะ จึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ได้สดับน้อย
ข้อความต่อไปมีว่า
เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภจาคะจึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ตระหนี่ เพราะผู้ตระหนี่ เมื่อพูดเรื่องจาคะ ย่อมขัดข้อง โกรธ พยาบาท กระด้าง แสดงความโกรธเคืองและความขัดใจให้ปรากฏ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะผู้ตระหนี่นั้น ย่อมไม่เห็นจาคสัมปทาในตน และย่อมไม่ได้ปีติปราโมทย์ที่มีจาคสัมปทานั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภจาคะ จึงเป็นถ้อยคำชั่วของผู้ตระหนี่
ผู้ตระหนี่ คือ ผู้ที่ไม่ยินดี และเสียดายในการที่จะบริจาคสิ่งที่ตนมีอยู่ให้เป็นประโยชน์สุขแก่คนอื่น เมื่อไม่เป็นผู้ที่บริจาค ไม่มีการเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น เวลาที่ใครพูดเรื่องนี้จะปลาบปลื้มใจไม่ได้ เพราะเหตุว่าตนเองไม่ได้บริจาค
ประการที่ ๕ ข้อความต่อไปมีว่า
เพราะเหตุไร ถ้อยคำปรารภปัญญาจึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ทรามปัญญา เพราะผู้ทรามปัญญา เมื่อพูดเรื่องปัญญา ย่อมขัดข้อง โกรธ พยาบาท กระด้าง แสดงความโกรธเคืองและขัดใจให้ปรากฏ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะผู้ทรามปัญญานั้น ย่อมไม่เห็นปัญญาสัมปทาในตน และย่อมไม่ได้ปีติปราโมทย์ที่มีปัญญาสัมปทานั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภปัญญา จึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ทรามปัญญา
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้อยคำของบุคคล ๕ จำพวกนี้แล ย่อมเป็นถ้อยคำชั่ว เมื่อเทียบบุคคลกับบุคคล
เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องที่จะต้องอบรมเจริญยิ่งขึ้น ทั้งในการศึกษาและในการปฏิบัติ คือ ศึกษาด้วยสติที่ระลึกรู้ในสภาพของธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อเป็นความรู้ที่แจ่มแจ้ง เพื่อเป็นความรู้จริง เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดปรารภกถาธรรม เรื่องของปัญญาที่จะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อที่จะได้รู้ชัดในสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง ไม่ว่าท่านจะอยู่ ณ สถานที่ใด ไม่ว่าท่านกำลังประกอบกิจการงานใดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ปัญญาก็จะต้องอบรมเจริญขึ้น เพื่อจะได้รู้สภาพธรรมนั้นถูกต้องตามความเป็นจริง ซึ่งบุคคลใดปรารภถึงถ้อยคำที่เป็นเรื่องของการเจริญปัญญาอย่างนี้แล้ว ผู้ฟังขัดเคืองไม่พอใจ ก็เป็นเพราะเหตุว่า ผู้ทรามปัญญานั้น ย่อมไม่เห็นปัญญาสัมปทาในตน และย่อมไม่ได้ปีติปราโมทย์ที่มีปัญญาสัมปทานั้นเป็นเหตุ ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภปัญญา จึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ทรามปัญญา
ข้อความต่อไป โดยนัยตรงกันข้าม
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้อยคำของบุคคล ๕ จำพวก ย่อมเป็นถ้อยคำดี เมื่อเทียบบุคคลกับบุคคล บุคคล ๕ จำพวกเป็นไฉน คือ ถ้อยคำปรารภศรัทธา เป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีศรัทธา ๑ ถ้อยคำปรารภศีล เป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีศีล ๑ ถ้อยคำปรารภพาหุสัจจะ เป็นถ้อยคำดีแก่ผู้ได้สดับมาก ๑ ถ้อยคำปรารภจาคะ เป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีจาคะ ๑ ถ้อยคำปรารภปัญญา เป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีปัญญา ๑
เหตุผลก็โดยนัยเดียวกัน คือ ถ้อยคำที่ปรารภศรัทธา ศีล พาหุสัจจะ จาคะ ปัญญา เป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีศรัทธา ศีล พาหุสัจจะ จาคะ ปัญญา เพราะว่าผู้ที่มีศรัทธา ศีล พาหุสัจจะ จาคะ ปัญญา เมื่อพูดเรื่องศรัทธา ศีล พาหุสัจจะ จาคะ ปัญญา ย่อมไม่ขัดข้อง ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่กระด้าง ไม่แสดงความโกรธเคือง และความขัดใจให้ปรากฏ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะผู้มีศรัทธา ศีล พาหุสัจจะ จาคะ ปัญญานั้น ย่อมเห็นศรัทธาสัมปทา ศีลสัมปทา พาหุสัจจสัมปทา จาคสัมปทา ปัญญาสัมปทาในตน และย่อมได้ปีติปราโมทย์ที่มีศรัทธา ศีล พาหุสัจจะ จาคะ ปัญญานั้นเป็นเหตุ
ฉะนั้น ถ้อยคำปรารภศรัทธา ศีล พาหุสัจจะ จาคะ ปัญญา จึงเป็นถ้อยคำดีแก่ผู้มีศรัทธา ศีล พาหุสัจจะ จาคะ ปัญญา
ข้อความตอนท้ายของพระสูตรนี้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้อยคำของบุคคล ๕ จำพวกนี้แล ย่อมเป็นถ้อยคำดี เมื่อเทียบบุคคลกับบุคคล
ท่านผู้ฟังได้ฟังเรื่องของศรัทธา เรื่องของศีล เรื่องของพาหุสัจจะ เรื่องของจาคะ เรื่องของปัญญา ตรวจสอบสภาพจิตใจของท่านเองได้ไหมว่า ปีติปราโมทย์แค่ไหน หรือว่าปีติปราโมทย์บ้างหรือเปล่า เพราะฉะนั้น การศึกษาและปฏิบัติธรรมต้องตรงต่อสภาพธรรม
ต่อไปขอกล่าวถึงเรื่องเทพอนุโมทนา ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องการอนุโมทนาของมนุษย์ สำหรับภูมิของเทพนั้นก็มีอยู่ใกล้เคียงกับของมนุษย์ แต่เป็นภูมิที่มีกำเนิดสูงกว่ามนุษย์ ซึ่งการที่มนุษย์จะพึงปฏิบัติต่อเทพด้วยการทำบุญและอุทิศส่วนกุศลให้อนุโมทนา นั่นคือ การบูชาเทพ
ขอกล่าวถึงเทพและการบูชาเทพ ในพระไตรปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาสมัยสูตรที่ ๗ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่ามหาวัน เขตพระนครกบิลพัสดุ์ ในสักกชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ล้วนเป็นพระอรหันต์ ก็พวกเทวดาจากโลกธาตุทั้ง ๑๐ ประชุมกันมาก เพื่อทัศนาพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์
ครั้งนั้น เทวดาชั้นสุทธาวาส ๔ องค์ ได้มีความดำริว่า พระผู้มีพระภาคนี้แลประทับอยู่ ณ ป่ามหาวัน เขตพระนครกบิลพัสดุ์ ในสักกชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ล้วนเป็นพระอรหันต์ ก็พวกเทวดาจากโลกธาตุทั้ง ๑๐ ประชุมกันมาก เพื่อทัศนาพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ ไฉนหนอ แม้พวกเราก็ควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วพึงกล่าวคาถา เฉพาะองค์ละคาถา ในสำนักพระผู้มีพระภาค
ลำดับนั้น เทวดาพวกนั้นหายไป ณ เทวโลกชั้นสุทธาวาส แล้วมาปรากฏเบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ออก หรือคู้แขนที่เหยียดออกเข้า ฉะนั้น
เทวดาพวกนั้น ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เทวดาองค์หนึ่ง ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
การประชุมใหญ่ในป่าใหญ่ หมู่เทวดามาประชุมกันแล้ว พวกเราพากันมาสู่ธรรมสมัยนี้ เพื่อได้เห็นหมู่ท่านผู้ชนะมาร
ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่ง ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ภิกษุทั้งหลายในที่ประชุมนั้น มั่นคง กระทำกิจของตนๆ ให้ตรง บัณฑิตทั้งหลายย่อมรักษาอินทรีย์ เหมือนสารถีถือบังเหียนขับม้า ฉะนั้น
ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่ง ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ภิกษุเหล่านั้น ตัดกิเลสดุจตะปู ตัดกิเลสดุจลิ่มสลัก ถอนกิเลสดุจเสาเขื่อนได้แล้ว เป็นผู้ไม่หวั่นไหว หมดจด ปราศจากมลทิน เที่ยวไป ท่านเป็นหมู่นาคหนุ่ม อันพระผู้มีพระภาคผู้มีจักษุทรงฝึกดีแล้ว
ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ เขาจักไม่ไปอบายภูมิ ละกายมนุษย์แล้ว จักยังเทวกายให้บริบูรณ์
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๑ ตอนที่ ๓๐๑ – ๓๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 301
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 302
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 303
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 304
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 305
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 306
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 307
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 308
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 309
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 310
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 311
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 312
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 313
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 314
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 315
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 316
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 317
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 318
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 319
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 320
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 321
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 322
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 323
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 324
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 325
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 326
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 327
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 328
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 329
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 330
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 331
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 332
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 333
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 334
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 335
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 336
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 337
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 338
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 339
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 340
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 341
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 342
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 343
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 344
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 345
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 346
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 347
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 348
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 349
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 350
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 351
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 352
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 353
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 354
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 355
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 356
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 357
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 358
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 359
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 360