แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 321


    ครั้งที่ ๓๒๑


    การปฏิบัติธรรมต้องตรงกับปริยัติด้วย พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหลาย ทั้งหมดทีเดียว ไม่เว้น

    กำลังเห็นเป็นธรรมหรือเปล่า ถ้าเป็น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นของจริง ปรากฏในขณะที่เห็น เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรม คือ การระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ การเห็นมีจริงใช่ไหม ถ้าสติระลึกที่สภาพเห็น ก็หมายความว่า เริ่มรู้ เริ่มใส่ใจ เริ่มพิจารณา เริ่มระลึกที่จะรู้ว่า ที่กำลังเห็นนี้เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น

    ของจริง คือ ที่กำลังเห็นนี้เป็นแต่เพียงสภาพรู้ทางหนึ่ง อย่างหนึ่งเท่านั้น ในขณะที่กำลังเห็นแล้วระลึกได้ ซึ่งก่อนที่จะฟังเรื่องของสติปัฏฐาน ไม่เคยระลึกได้เลย แม้แต่ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ก็อยู่ในตำรา อยู่ในพระไตรปิฎก แต่ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นของจริง ที่กำลังปรากฏ และปรากฏอยู่แล้วเป็นปกติประจำวัน

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้ยินได้ฟังเรื่องของการเห็นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เรื่องของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อฟังแล้ว การเป็นผู้ปฏิบัติอบรมปัญญา คือ ระลึกในขณะที่กำลังเห็นว่า ที่กำลังเห็นเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง หรือว่าถ้ากำลังคิดนึก สติสังเกต สำเหนียก ระลึกได้ รู้ว่า ที่คิดนึกเป็นสภาพธรรมคนละอย่าง เพราะฉะนั้น สติก็เริ่มจะระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังดีใจบ้าง เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นเสียงบ้าง เป็นได้ยินบ้าง หรือว่าเป็นคิดนึกต่างๆ บ้าง เป็นของจริงที่มีเป็นปกติ

    . เวลาที่เราเห็น ให้พิจารณาว่า ที่เห็นนั้นเป็นสี เหมือนกับคิดเอาใช่ไหม

    สุ. ไม่ใช่คิด แต่รู้ เห็นเก้าอี้ต้องคิดไหมว่า เก้า และก็ อี้ หรือรู้ว่า เป็นเก้าอี้

    . คิดนี่ หมายถึงว่า คิดว่า ที่เห็นนี่ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    สุ. ความชำนาญที่จะต้องค่อยๆ อบรมสะสม จนกระทั่งเป็นความรู้ชัด เป็นความรู้แจ้ง เหมือนกับความชำนาญของอวิชชา พอเห็น ก็รู้ว่าเป็นคน รู้ว่าเป็นสัตว์ รู้ว่าเป็นวัตถุสิ่งของ อย่างรวดเร็วฉันใด การที่สติจะค่อยๆ ระลึกได้ เนืองๆ บ่อยๆ สังเกต สำเหนียก จนกระทั่งแยกได้ว่า ที่คิด กับการที่กำลังเห็นโดยไม่ต้องคิด เป็นของจริง ๒ อย่างที่ต่างกัน ปัญญาจะต้องค่อยๆ สำเหนียก สังเกต จนกระทั่งเป็นความชำนาญขึ้น จนกระทั่งทันทีที่เห็น เมื่อสติระลึกก็รู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น โดยที่ไม่ต้องพูดยืดยาวอย่างนี้ แต่เป็นความรู้ที่ค่อยๆ อบรมเจริญขึ้น

    . เช่น ผมติดเงินเขา พอเจอหน้าก็นึกได้ว่า ผมติดเงินเขา อย่างนี้เป็นสติได้ไหม หรือว่าเจ็บ บางทีรู้ตัวว่าเจ็บ สติรู้ว่าเจ็บ ตัวนี้ใช่ไหม ตั้งอยู่ เดี๋ยวก็ดับไป

    สุ. ต้องอาศัยการฟังให้เข้าใจว่า สภาพธรรมทั้งหลาย คือ ตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง แยกลักษณะของสภาพธรรม ๖ ทางนี้ออกจากกัน อย่างเช่น กำลังคิดนึกว่า ติดเงินเขา เป็นหนี้เขา นั่นไม่ใช่การเห็นทางตา ไม่ใช่เสียงที่ปรากฏทางหู เดินสวนกันกับเจ้าหนี้ นึกขึ้นได้ว่า ติดเงินเขา ขณะที่เห็น และรู้ว่าเป็นเจ้าหนี้ เป็นสภาพธรรมคนละอย่าง ขณะที่เห็นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และที่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นใคร เป็นเจ้าหนี้ นั่นเป็นนามธรรมที่รู้ในความหมายของสิ่งที่เห็น และยังคิดอีกว่าจะใช้เงินเขา นั่นก็เป็นสภาพธรรมอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งคิดนึก

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ไม่พ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่เพราะติดกันแน่น ไม่เคยแยก ไม่เคยรู้ว่าเป็นสภาพธรรม เวลาที่สติเกิดขึ้น ระลึกรู้ทีละทาง ทีละลักษณะ ถ้ากำลังนึก สติเกิดแทรกขึ้นมา ก็รู้ว่าที่นึกนั้น เป็นแต่เพียงสภาพคิด เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ค่อยๆ เจริญไป อบรมไป ฟังไป จนกว่าสติจะเกิดบ่อยๆ เนืองๆ ซึ่งจะช่วยให้ปัญญาสามารถที่จะรู้ชัด ถูกต้องตามความเป็นจริงได้

    . เวลาทำงาน บางทีก็นึกได้ เดี๋ยวก็หายไป ต้องเจริญเรื่อยๆ ใช่ไหม

    สุ. ให้รู้ว่า เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ได้ยินก็ไม่ใช่เห็น คิดนึกก็ไม่ใช่ได้ยิน ได้กลิ่นก็ไม่ใช่อ่อนแข็ง คือ รู้ตรงลักษณะที่กำลังปรากฏแต่ละลักษณะ

    . เดี๋ยวก็หายไป

    สุ. ก็หมดแล้ว

    . เดี๋ยวก็มาใหม่

    สุ. ก็แล้วแต่จะปรากฏ เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีอยู่เป็นปกติ แต่ว่าสติจะระลึกบ่อย หรือไม่บ่อย เป็นเรื่องของสติ แต่เวลาที่สติเกิด ก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นสติที่รู้ เวลาที่หลงลืมไป คือ ขณะนั้นสติไม่เกิด จึงไม่รู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    . ที่อาจารย์อธิบายว่า เวลาเห็นก็พิจารณาว่า ที่เห็น คือ ที่สีมากระทบ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ผมก็ปฏิบัติอยู่ แต่นานๆ ไป รู้สึกว่าไม่บังเกิดผลอะไร ก็เบื่อ

    สุ. ทีแรกจะรู้ชัดว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นไม่ได้ เพราะเหตุว่าการที่จะเป็นความรู้ชัดขึ้น สติจะต้องระลึกรู้ อบรมจนกระทั่งสามารถที่จะปรากฏได้ว่า ความรู้กำลังเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ที่จะละคลายความไม่รู้

    เพราะฉะนั้น ในครั้งแรกทีเดียว ไม่ใช่จะให้หมดความไม่รู้ไปทันทีที่กำลังเห็น ซึ่งก็มีหลายท่านอยากจะทำวิปัสสนาเดี๋ยวนี้ท้นที นั่นไม่ใช่การเจริญปัญญา

    . ที่ว่า สิ่งที่เราเห็นนั้น เราต้องพิจารณาลักษณะด้วย ผมยังไม่เข้าใจ

    สุ. ขณะที่สติเกิด คือ ระลึกขณะที่กำลังเห็น ขั้นต้น คือ ระลึกก่อน เพราะเหตุว่าปัญญายังไม่สามารถที่จะแยกชัดได้ว่า ลักษณะใดเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม แต่เพราะอาศัยการฟังว่า ทางตาที่ไม่รู้อยู่นี้ จะเกิดรู้ได้เพราะระลึกได้ เพราะฉะนั้น ขณะที่เห็น ระลึก

    . หมายถึงว่า เวลาเห็น ให้ระลึกว่าเป็นอะไร ที่ระลึกนี่

    สุ. พอเกิดระลึกได้ขึ้น ก็สำเหนียก สังเกต เพื่อการรู้ว่า ที่กำลังเห็นนี้เป็นสภาพรู้ทางตา ไม่ใช่รู้ทางหู ถ้าเป็นทางหู รู้เสียง คนละอย่าง แต่นี่ลืมตา รู้สีสันวัณณะ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น ตอนแรกทีเดียว เพียงแต่ระลึกได้ รู้ว่า ที่กำลังปรากฏ ที่กำลังเห็นนี่ เป็นเพียงสภาพรู้ทางตาเท่านั้น

    . หมายถึงว่า เวลาเห็น ก็ระลึกรู้ และเปรียบเทียบกับทางอื่นใช่ไหม

    สุ. ตอนแรกทีเดียว สติจะเกิดขึ้นเพียงนิดเดียว และยังไม่ประกอบด้วยปัญญาที่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น ความคิดก็จะแทรกขึ้น หรือว่าสติอาจนึกเปรียบเทียบลักษณะของนามอื่น เช่น รู้ว่าที่กำลังเห็นนี้เป็นนามธรรม เป็นนามธรรมที่เห็น เพราะเหตุว่าไม่ใช่นามธรรมที่ได้ยินเสียง ในตอนแรกอาจจะเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าระลึกเนืองๆ บ่อยๆ จะสำเหนียก สังเกตได้เองว่า ที่กำลังเห็นนี้ ไม่ใช่ที่กำลังคิด

    . ตอนนี้ผมเข้าใจ ทีนี้ลักษณะ อาจารย์ช่วยอธิบาย

    สุ. สำหรับลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ โดยมากจะใช้พยัญชนะตามภาษาบาลีว่า วัณโณ หรือรูปารมณ์ หรือที่แปลเป็นไทยว่าสี แต่ความจริงสภาพปรมัตถธรรมไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อ สิ่งที่ปรากฏทางตาทั้งหมด เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น ไม่ติด ไม่ยึดมั่นในนิมิต อนุพยัญชนะ เพราะรู้ว่าที่กำลังปรากฏนี้เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาจริงๆ จะสวยงามประณีตสักเท่าไร หรือจะไม่น่าพอใจเลย ก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

    . หมายถึงว่า ลักษณะนี้ ถ้าหากว่าเราปฏิบัติไปอย่างหนึ่ง ก็ปรากฏอย่างหนึ่งใช่ไหม

    สุ. ค่ะ อย่างลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา จะรู้ได้อย่างไรว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หลับตาแล้วก็ไม่มี ที่หลงติด ก็เพราะตาทำให้เห็นสีสันวัณณะต่างๆ ซึ่งเป็นของจริงที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น การระลึกได้ ระลึกได้ตามปกติ ตามธรรมดา แต่ความรู้ที่จะตัดเยื่อใยที่เคยติด ที่เคยยึดมั่นในสิ่งที่ปรากฏนั้น ต้องอาศัยการระลึกจนกระทั่งเป็นความรู้ และก็แยกลักษณะของรูปที่ปรากฏแต่ละทาง นามที่รู้รูปที่ปรากฏแต่ละทาง จนกระทั่งเป็นความรู้ชัดจริงๆ

    . หมายความว่า เราไม่ต้องพิจารณา คือ ใส่ใจในเรื่องชนิดของสีต่างๆ

    สุ. สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ให้ทำอะไรเกินกว่านั้น ไม่ใช่มีตัวตนที่จะให้ไปทำ เพราะบางคนบอกว่า เวลาที่ระลึกรู้ทางตาแล้ว เห็นชัดมาก สว่าง ใสทีเดียว นี่ผิดปกติใช่ไหม ไม่ใช่ของจริง เพราะฉะนั้น ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่รู้แล้วละ แต่ถ้าปรากฏแล้ว ชัดมาก สว่างไสว นั่นเป็นเรื่องติด เรื่องพอใจ ไม่ใช่เป็นเรื่องรู้ความเป็นปกติแล้วละ เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะละได้ จะไม่รู้สิ่งที่ผิดปกติ ถ้ารู้สิ่งที่ผิดปกติ ไม่ใช่ปัญญาที่จะแทงตลอดในความเป็นปกติ ที่จะละความเห็นผิดได้

    การรู้แล้วละ เป็นเรื่องของปัญญาที่รู้ตรง ตามปกติ

    . ผมเข้าใจ ที่ปฏิบัติมาแล้ว คิดว่าคงจะถูก แต่ยังไม่เห็นผล ทำให้เกิดเบื่อเท่านั้นเอง

    สุ. ผลคืออะไร

    . ผล คือ การละตัวตน การยึดถือตัวตน

    สุ. การยึดถือในตัวตน เหนียวแน่นเหลือเกิน ทั้งในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่กระทบถูกต้อง ในขณะที่คิดนึก ในขณะที่เป็นสุข เป็นทุกข์ ทั่วไปหมด

    เพราะฉะนั้น การที่จะละจะคลายโดยปัญญาไม่รู้ สติไม่ระลึก ไม่เพิ่มขึ้นในการที่จะรู้ชัดจริงๆ ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ถ้าสติไม่ได้อบรมจนกระทั่งเจริญและปัญญารู้ชัด จะให้หมดความเป็นตัวตนได้อย่างไร

    ที่หวังจะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน จะละการยึดถือว่า เป็นตัวตน โดยที่ไม่รู้อะไร โดยที่สติไม่เกิดระลึกรู้นามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้น ไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นหนทางเดียวจริงๆ

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังพิสูจน์สอบตัวเองได้ตลอดเวลาว่า สติเกิดหรือไม่เกิด รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมหรือไม่ตรง และมีความรู้ชัดที่ละคลายความไม่รู้เพิ่มขึ้นบ้างแล้วหรือยัง ถ้าไม่เพิ่ม ก็ไม่มีหนทางอื่น นอกจากเจริญสติ ระลึกได้เนืองๆ บ่อยๆ ต่อไปอีก เพราะเหตุว่าเมื่อเจริญสติแล้ว ปัญญาที่รู้จะละความต้องการในผล

    แต่นี่ ความต้องการเต็มเลยใช่ไหม ไม่ได้ผล นั่นก็แสดงว่า ความต้องการผลมาก และเหตุก็ไม่สมควรแก่การที่จะได้ผล แต่เป็นเยื่อใยความต้องการในผล ซึ่งจะละได้ก็ต่อเมื่อสติเกิดบ่อยๆ เนืองๆ เพิ่มขึ้น ปัญญารู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมมากขึ้นเท่าไร ก็จะเป็นการละความต้องการในผล เพราะรู้ว่าหนทางเดียวที่ผลจะเกิด ก็เมื่อสติระลึกตรงลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

    ซึ่งลักษณะของรูปธรรมและนามธรรมจะปรากฏแต่ละลักษณะเท่านั้น ทีละขณะ จึงจะเป็นเหตุให้ปัญญารู้ชัดว่า ลักษณะของนามธรรมแต่ละนามธรรมนั้น ไม่ใช่นามธรรมเดียวกัน หรือว่าลักษณะของรูปธรรมแต่ละลักษณะนั้น ไม่ใช่รูปธรรมเดียวกัน จึงจะละการยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

    นี่เป็นผลที่ค่อยๆ เกิด ผล คือ ปัญญา ความรู้ที่ละความไม่รู้ จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ของปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณ แต่ไม่ใช่ว่าผลนั้นจะมาจากเหตุอื่น สติเกิดนิดหนึ่ง วันหนึ่ง ๒ – ๓ ครั้ง ๒ – ๓ ขณะ เบื่อเสียแล้ว

    . ผมยอมรับ

    สุ. สำหรับผู้ที่ไม่เจริญสติปัฏฐานก็มี ไม่ใช่ว่าไม่มี แม้ว่าเป็นบรรพชิต ใน ทุติยสมันตปาสาทิกาแปล สังฆาทิเสสสิกขาบท ที่ ๖ กุฏิการสิกขาบทวรรณนา มีข้อความว่า

    ได้ยินว่า พวกภิกษุเหล่านั้น คือ หมายความถึง พวกเด็กหนุ่มที่เกิดในแคว้น อาฬวี และได้บวชเป็นพระภิกษุแล้ว พวกภิกษุเหล่านั้น ทอดทิ้งธุระทั้ง ๒ คือ วิปัสสนาธุระและคันถธุระ ยกนวกรรมเท่านั้น ขึ้นเป็นธุระสำคัญ

    นี่ไม่ถูก เพราะเหตุว่าไม่ใช่แต่การก่อสร้างเท่านั้นที่เป็นธุระสำคัญ การก่อสร้างเป็นกิจของสงฆ์จริง แต่สงฆ์และภิกษุจะต้องไม่ทอดทิ้งคันถธุระ คือ การศึกษาธรรม และวิปัสสนาธุระ คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะอยู่ ณ สถานที่ใด ทำกิจการงานใด ท่านก็ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเป็นปกติ ไม่ใช่เป็นผู้ที่เข้าใจผิด แยกธุระต่างๆ ออก และไม่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน อาจจะอ้างว่า ท่านต้องทำการก่อสร้าง ท่านไม่สามารถที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐานได้ หรืออ้างว่า ท่านกำลังศึกษาธรรม กระทำคันถธุระอยู่ ท่านจึงไม่เจริญสติปัฏฐาน

    ถ้าเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว ไม่ว่าท่านจะทำกิจการงานใด สติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ สัมมาสติอาจจะเกิดระลึกแทรกทางกาย หรือทางใจ หรือทางตา หรือทางหู เมื่อไร ในขณะไหน ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะประณีต หรือไม่ประณีต เป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ก็ตาม

    การที่จะเข้าใจสภาพธรรมให้ถูกต้องนั้น ต้องสอดคล้องกันทั้ง ๓ ปิฎกด้วย

    ทุติยสมันตปาสาทิกาแปล จิวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๒ มีความว่า

    ได้ยินว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎี เพื่อพระประสงค์จะพักผ่อนในเวลากลางวัน ท่านพระอานนท์เถระได้โอกาสนั้นแล้ว เก็บภัณฑะไม้และภัณฑะดินที่เก็บไว้ไม่ดี ปัดกวาดสถานที่ที่ไม่ได้กวาด กระทำปฏิสันถารกับพวกภิกษุอาพาธ ไปถึงเสนาสนะสถานแห่งภิกษุเหล่านั้น

    นี่เป็นกิจของท่านพระอานนท์ ซึ่งท่านก็กระทำเป็นปกติ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎี เพื่อพระประสงค์จะพักผ่อนในเวลากลางวัน แต่การเป็นผู้ที่ มีปกติเจริญสติ ที่พระผู้มีพระภาคทรงพร่ำสอนพระภิกษุ ท่านพระอานนท์ ท่านก็จะต้องเป็นผู้ที่เจริญสติ แม้ในขณะที่กระทำกิจเหล่านั้นด้วย

    . บางอาจารย์บอกว่า ต้องเดินจงกรมถึงจะสำเร็จกิจ เพื่อเป็นสมาธิ เพื่อกุศลเกิด และจะได้เห็นรูป นิพพาน อะไรต่างๆ

    สุ. ในมหาสติปัฏฐาน เป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของกาย เวทนา จิต ธรรม ในขณะที่นั่ง ที่นอน ที่ยืน ที่เดิน ที่พูด ที่นิ่ง ที่คิด ที่ประกอบกิจการงานต่างๆ

    . ที่อาจารย์บรรยาย ดิฉันก็เข้าใจ แต่บางอาจารย์บอกว่า ต้องเดินจงกรมถึงจะเห็นธรรม ถึงจะเกิดบุญ เกิดกุศล ถ้าอยู่เฉยๆ ไม่ค่อยเกิดบุญ เกิดกุศล

    สุ. ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ เป็นเครื่องเทียบเคียง ไม่ว่าบุคคลใดจะกล่าวอย่างไรก็ตาม ท่านต้องพิจารณาเหตุผลว่า ความไม่รู้ มีอยู่ทางตาในขณะที่เห็น ในรูปที่กำลังปรากฏทางตา ในขณะที่ได้ยิน ในเสียงที่กำลังปรากฏ ในขณะที่รู้กลิ่น ในกลิ่นที่กำลังปรากฏ ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่รสปรากฏ ในขณะที่รู้โผฏฐัพพะ ในขณะที่โผฏฐัพพะปรากฏ ในขณะที่คิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ

    เมื่อความไม่รู้มีอยู่ในธรรมเหล่านี้ ปัญญาก็จะต้องเกิด เพราะสติระลึกตรงลักษณะสภาพธรรมนั้นแต่ละลักษณะตามความเป็นจริง และก็เกิดความรู้ชัดขึ้นตามลำดับของการสะสมของปัญญา ซึ่งถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติอย่างนี้ ท่านก็สอบเทียบเคียงกับมหาสติปัฏฐานได้ว่า ถูกต้องตรงตามที่ทรงแสดงไว้ และจะเป็นเหตุให้ปัญญาเกิดขึ้น รู้ชัดในสภาพธรรมได้จริงๆ หรือเปล่า

    . ที่อาจารย์บรรยาย ถูกต้องหมดทุกอย่าง แต่ก็สงสัยว่า บางอาจารย์สอนว่า ต้องเดิน บางคนก็ต้องท่อง เดินหนอ ยืนหนอ นั่งหนอ ก้าวไปหนอ เดินจงกรมวันละชั่วโมง สองชั่วโมง

    สุ. เรื่องของบางอาจารย์นี่มาก แต่ข้อสำคัญที่สุด คือ ฟัง พิจารณาเหตุผล ตรวจสอบเทียบเคียงกับพระธรรมวินัย และสภาพธรรมตามความเป็นจริง ส่วนอาจารย์ท่านใด ท่านจะมีความคิดเห็นประการใด มีวิธีการสอนอย่างไร ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของท่าน แต่ท่านผู้ฟังทุกท่านมีอิสระเสรีที่จะพิจารณาสภาพธรรม เลือกเฟ้นธรรมให้ถูกต้องตามความเป็นจริงได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๓ ตอนที่ ๓๒๑ – ๓๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 38
    28 ธ.ค. 2564