แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 322
ครั้งที่ ๓๒๒
สำหรับเรื่องของความรู้ กับความไม่รู้ ก็เป็นเรื่องที่ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐาน มรรคมีองค์ ๘ นั้น เพื่อความรู้ที่จะละความไม่รู้
อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต อวิชชาวิชชาสูตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อวิชชาเป็นประธานแห่งการเข้าถึงอกุศลธรรมทั้งหลาย ความไม่ละอายบาป ความไม่กลัวบาป เป็นของมีมาตามอวิชชานั้น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีอวิชชา ไม่เห็นแจ้ง ย่อมมีความเห็นผิด ผู้มีความเห็นผิด ย่อมมีความดำริผิด ผู้มีความดำริผิด ย่อมมีวาจาผิด ผู้มีวาจาผิด ย่อมมีการงานผิด ผู้มีการงานผิด ย่อมมีการเลี้ยงชีพผิด ผู้มีการเลี้ยงชีพผิด ย่อมมีความพยายามผิด ผู้มีความพยายามผิด ย่อมมีความระลึกผิด ผู้มีความระลึกผิด ย่อมมีความตั้งใจผิด ผู้มีความตั้งใจผิด ย่อมมีความรู้ผิด ผู้มีความรู้ผิด ย่อมมีความหลุดพ้นผิด ฯ
ผู้ที่ได้ตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงถึงเหตุปัจจัยที่มีเนื่องอยู่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังตรวจสอบกายวาจาของท่านได้ว่า ผิดเพราะอะไร
ถ้ามีท่านผู้หนึ่งผู้ใดถามว่า ขณะนี้เจริญสติปัฏฐานได้ไหม ขณะนี้สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ไหม ถ้ามีบุคคลใดตอบว่า ไม่ได้ ที่นี่ไม่ใช่สำนักปฏิบัติ ที่นี่มีคนมากหน้าหลายตา คำตอบนั้น เป็นวาจาชอบหรือเปล่า ให้หลงลืมสติ หรือให้มีสติ วาจาชอบให้มีสติ วาจาผิดให้หลงลืมสติ วาจาผิดมาจากดำริผิด มาจากเห็นผิด วาจาชอบมาจากดำริชอบ มาจากเห็นชอบ
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วิชชาเป็นประธานแห่งการเข้าถึงกุศลธรรมทั้งหลาย หิริและโอตตัปปะ เป็นของมีมาตามวิชชานั้น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีวิชชา เห็นแจ้ง ย่อมมีความเห็นชอบ ผู้มีความเห็นชอบ ย่อมมีความดำริชอบ ผู้มีความดำริชอบ ย่อมมีวาจาชอบ ผู้มีวาจาชอบ ย่อมมีการงานชอบ ผู้มีการงานชอบ ย่อมมีการเลี้ยงชีพชอบ ผู้มีการเลี้ยงชีพชอบ ย่อมมีความพยายามชอบ ผู้มีความพยายามชอบ ย่อมมีความระลึกชอบ ผู้มีความระลึกชอบ ย่อมมีความตั้งใจชอบ ผู้มีความตั้งใจชอบ ย่อมมีความรู้ชอบ ผู้มีความรู้ชอบ ย่อมมีความหลุดพ้นชอบ
เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ท่านผู้ฟังจะพิจารณา และจะได้เห็นว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นอนัตตานั้น ถ้ายังมีเหตุปัจจัยของอกุศลธรรมอยู่ อกุศลธรรมนั้นก็เกิด และเป็นปัจจัยให้กระทำอกุศลกรรมได้ ถึงแม้ว่า ท่านเป็นผู้ที่ใคร่จะดับกิเลส แต่ถ้ายังมีปัจจัยที่จะให้ทำทุจริตกรรมอยู่ ทุจริตกรรมก็ย่อมเกิดได้
ท่านผู้ฟังบางท่านกล่าวว่า รายการแนวทางเจริญวิปัสสนา รู้สึกว่า จะเถียงกันมาก เป็นรายการที่ทะเลาะกัน แต่การชี้แจงสิ่งที่เป็นธรรม สิ่งที่ไม่ใช่ธรรม เพื่อให้ท่านผู้ฟังมีความเห็นถูก เป็นประโยชน์ใหญ่ เป็นสิ่งที่ควรกระทำ
เพราะฉะนั้น ถ้าท่านเข้าใจว่า เป็นเรื่องทะเลาะ แต่ผลของการที่ท่านคิดว่าเป็นเรื่องทะเลาะ คือ ทำให้บุคคลอื่นมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น มีความเห็นถูกต้องขึ้น ก็เป็นผลที่เป็นประโยชน์ ควรจะคิดว่า เป็นเรื่องชี้แจงเหตุผลในพระธรรมวินัยมากกว่าเป็นเรื่องของการทะเลาะ เพราะว่าทุกครั้งที่ได้กล่าวถึง ก็ได้ยกพระธรรมวินัยขึ้นแสดงเพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณา ตรวจสอบความถูกต้อง ความคิดเห็นของท่านเทียบเคียงว่า ตรงตามกับพระธรรมวินัยหรือไม่
อย่างเรื่องของรูป ๒๘ ที่เป็นนิปผันรูป เป็นรูปที่มีสภาวะจริงๆ ๑๘ รูป ส่วนอีก ๑๐ รูป เป็นแต่เพียงอาการ หรือวิการของนิปผันรูป ๑๘ รูปนั้น เป็น อสัมมสนรูป รูปใดเป็นรูปที่เป็นโคจร เป็นวิสยะ คือ จิตสามารถที่จะรู้ในรูปนั้นเป็นปกติ เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็รู้ได้ เสียงที่ปรากฏทางหู ก็รู้ได้ กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก ก็เป็นรูปที่รู้ได้ รสต่างๆ ที่ปรากฏทางลิ้น ก็เป็นรูปที่รู้ได้ โผฏฐัพพะ เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว ก็เป็นรูปที่รู้ได้ เป็นปรมัตถธรรม เป็นรูปที่มีจริง เป็นสิ่งที่จะทำให้ปัญญารู้ชัด แทงตลอดในสภาพธรรมได้
ถ้าท่านผู้ฟังเพียงศึกษา แต่ไม่ประพฤติปฏิบัติ เจริญสติ รู้สภาพธรรมให้สอดคล้องกับพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้ ท่านจะศึกษาทำไมไม่ต้องศึกษาก็ได้ ใช่ไหม
เรียนทำไม เรื่องของนิปผันรูป เรื่องของสภาวรูป ๑๘ รูป ส่วนที่เพียงวิการ หรือเป็นอสัมสนรูป เรียนทำไม ถ้าไม่เกื้อกูลกับการที่ท่านจะต้องประพฤติปฏิบัติให้รู้ถูกต้องตามสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง การเรียนก็ย่อมจะเสียเวลา เพราะเหตุว่าไม่เป็นประโยชน์ ไม่เกื้อกูลให้ท่านประพฤติปฏิบัติที่จะรู้สภาพธรรมถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ
ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟัง มีเด็กนักเรียนท่านหนึ่งเขียนจดหมายมาถามเรื่องของสติปัฏฐาน แต่เป็นจดหมายที่พิมพ์ ไม่ทราบว่าพิมพ์เอง หรือว่าท่านผู้ปกครองพิมพ์ให้ เขียนมาจากบ้านเลขที่ ๑๖๓/๑๖๕ ถนนสีลม อำเภอบางรัก กรุงเทพ
วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๑๖
กราบเรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ที่เคารพ
ผมอยากจะถามท่านว่า คนเราจะมีปกติเจริญสติได้จริงๆ หรือ ชีวิตปกติของผม คือ เป็นนักเรียน ผมอยากจะถามว่า เวลาเรียนจะเจริญสติได้ไหม ถ้าได้ ต้องปฏิบัติอย่างไร และในเวลาปิดเทอม อย่างในขณะนี้ ผมกำลังช่วยทางบ้านขายของ ถ้าปฏิบัติได้ ต้องปฏิบัติอย่างไร
ด้วยความเคารพอย่างสูง
น่าอนุโมทนา และก็ขออนุโมทนาผู้ฟังที่สนใจในวัยที่ยังเป็นนักเรียนอยู่ สำหรับคำถามที่ถามว่า คนเราจะมีปกติเจริญสติได้จริงๆ หรือ
เคยมีท่านผู้ฟังถามดิฉันว่า นิพพานมีจริงหรือ
ถ้านิพพานไม่มีจริง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่มี พระอรหันตสาวกก็ไม่มี แต่เพราะเหตุว่านิพพานมีจริง ผู้ที่ได้ตรัสรู้ และได้พิสูจน์รู้สภาพของนิพพานนั้น พระองค์แรก คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนผู้ที่ได้ฟัง ได้ปฏิบัติตาม และได้พิสูจน์รู้ลักษณะของนิพพาน คือ พระอริยสาวกทั้งหลาย และหนทางข้อประพฤติปฏิบัติที่จะดับกิเลส ที่จะประจักษ์ในสภาพของนิพพานก็มีจริง
เพราะฉะนั้น คำถามที่ว่า คนเราจะมีปกติเจริญสติได้จริงๆ หรือ ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้เป็นปกติ ปัญญาย่อมไม่สามารถจะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติได้เลย
เมื่อปัญญาไม่สามารถที่จะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ จะละความไม่รู้ไม่ได้ จะดับกิเลสทั้งหลายไม่ได้ แต่เพราะเหตุว่าปัญญาสามารถที่จะรู้ได้ ด้วยสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และปัญญาก็สำเหนียก สังเกต อบรม เจริญ จนกระทั่งเป็นความรู้ชัด จึงสามารถที่จะรู้แจ้งในอริยสัจธรรม พิสูจน์ได้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น เป็นความจริง
เพราะฉะนั้น ไม่ควรจะสงสัยเลยที่ว่า คนเราจะมีปกติเจริญสติได้จริงๆ หรือ
ถ้าเข้าใจลักษณะของสติ และมีสภาพธรรมที่เป็นของจริงที่กำลังปรากฏ ก็เกิดสติ คือ ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ นั่นเป็นสติจริงๆ นั่นเป็นของจริงสามารถที่จะอบรมเจริญได้
เพราะฉะนั้น ขอให้ทราบว่า ธรรมทั้งหลายที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นของจริง เมื่อเป็นของจริงแล้ว ก็เป็นอริยสัจธรรมทั้งสิ้น หรือใครจะปฏิเสธว่า ขณะนี้ไม่จริง และไม่ใช่อริยสัจธรรม ถ้าอย่างนั้น ก็ค้านกับพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง และก็ค้านกับสภาพธรรมตามความเป็นจริง
ถ้าท่านเป็นผู้ที่ระลึก และสำเหนียก สังเกต จะเห็นว่า สภาพธรรมทั้งหมดเปลี่ยน ไม่เที่ยง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาได้ แต่เมื่อไม่รู้ความจริง ก็ยึดถือสภาพธรรมทั้งหมดที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วว่า เป็นสิ่งที่ไม่เกิด ไม่ดับ และก็ยึดถือว่าเป็นตัวตน สามารถที่จะบังคับบัญชา หรือว่ากระทำให้เป็นอย่างนั้นก็ได้ เป็นอย่างนี้ก็ได้
ในขณะที่กำลังเรียนหนังสือ จริงหรือเปล่า ขณะที่เป็นนักเรียน กำลังเรียนหนังสือ ชีวิตจริง สภาพธรรมจริง คือ ในขณะนั้นเอง ไม่ใช่ในขณะอื่น ขณะที่กำลังขายของ จริงหรือเปล่า กำลังขายเดี๋ยวนี้ ก็ต้องเป็นของจริง เมื่อเป็นของจริง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ปรากฏในขณะนั้น ก็ระลึกรู้ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ในขณะนั้นมีอะไรบ้าง ขณะที่กำลังเรียนหนังสือ มีความรู้สึกอะไรบ้างหรือเปล่า เวลาเห็น เวลาฟัง มีความยินดี มีความพอใจ มีความรู้ความเข้าใจในวิชาที่เรียนหรือเปล่า เป็นของจริงทั้งหมด
ถ้าเข้าใจเรื่องการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว สติจะเกิดระลึกรู้ตรงลักษณะที่เป็นของจริง ตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะกำลังเรียนที่โรงเรียน กำลังฟังวิทยุอยู่ที่บ้าน หรือที่หนึ่งที่ใดก็ตาม หรือว่ากำลังขายของ ขณะนั้นเป็นธรรม เป็นของจริง ซึ่งท่านผู้ฟังธรรมทุกท่าน ก็ย่อมได้ยินได้ฟังว่า เป็นอริยสัจธรรมทั้งสิ้น ถ้าอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งรู้แจ้งสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น การระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ย่อมจะเกิดแทรกขึ้นได้ ไม่ว่าท่านจะอยู่ ณ สถานที่ใด กำลังฟัง กำลังเรียน กำลังขายของ หรือว่ากำลังทำกิจการงานต่างๆ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าท่านอบรมการเจริญสติปัฏฐานมามากน้อยเท่าไร สติก็ย่อมจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้น มากขึ้น ตามกำลังที่ท่านได้สะสมอบรมมา ซึ่งการรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น ไม่จำกัดวัย ว่าจะเป็นวัยไหน อาจจะเป็นวัยต้น อาจจะเป็นวัยกลาง อาจจะเป็นวัยปลายของชีวิตก็ได้ แล้วแต่การสะสม
ถึงแม้ว่าจะเป็นนักเรียน กำลังขายของ แต่ว่าสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม อบรมเนืองๆ บ่อยๆ ปัญญาก็สามารถที่จะรู้สภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง ละคลายการยึดถือสภาพธรรมนั้น รู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะไม่มีอะไรบังลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมนั้น ปัญญาก็สามารถที่จะแทงตลอด รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน วัยใด กำลังทำกิจการงานใด
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นการปิดกั้นด้วยวัย ว่ายังเด็กนัก ไม่ควรจะอบรมเจริญสติปัฏฐานในวัยนี้ นั่นไม่ถูก เพราะเหตุว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้น ควรอบรมเจริญได้ทุกวัย ทุกขณะ
ข้อสำคัญที่สุด ที่จะขาดไม่ได้ คือ การฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานให้เข้าใจถูกต้องโดยถ่องแท้จริงๆ ถ้าไม่มีความเข้าใจในเรื่องการเจริญสติปัฏฐานอย่างถูกต้องจริงๆ จะไม่เป็นปัจจัยให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ตามปกติ ตามความเป็นจริงเช่นในขณะนี้ได้ ขณะนี้กำลังอยู่ที่ไหน กำลังเห็นอะไร กำลังได้ยินอะไร กำลังคิดนึก กำลังเป็นสุขเป็นทุกข์อย่างไร เป็นของจริง เป็นปัฏฐานที่สติจะระลึกรู้ได้
ถึงแม้ว่าสติจะเกิดน้อย ยังเป็นนักเรียน การฟังก็อาจจะรับฟังบ้าง ไม่รับฟังบ้าง ขาดปัจจัยที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบ่อยๆ แต่ถ้าฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจในข้อปฏิบัติ ก็จะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้สัมมาสติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมถูกต้อง ตามปกติ ตามความเป็นจริงได้
ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟังอีกท่านหนึ่ง จากโรงงานสุรา อยุธยา ท่านเขียนมาวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
เรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ที่เคารพ
ผมเป็นผู้ติดตามรายการของท่านมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่ยังมีความสงสัยอยู่บางประการ จึงขอเรียนถามดังต่อไปนี้
ข้อ ๑. การปฏิบัติธรรมโดยหวังมรรค ผล นิพพานนั้น มีทางเดียว คือ การเจริญสติปัฏฐานเท่านั้นหรือ
ข้อ ๒. ผู้ที่มีศรัทธา เพียงการบริจาคทาน รักษาศีล เจริญภาวนา โดยบางอาจารย์ท่านให้ภาวนาว่า สัมมาอรหัง หรือพุทโธบ้าง อย่างนี้จะมีทางได้มรรค ผลนิพพานในกาลอนาคตบ้างหรือไม่
ข้อ ๓. ถ้ามีได้ หรือมิได้ ผมขอฟังเหตุผลด้วย
ขอแสดงความเคารพนับถือ
หวังว่าท่านคงให้ความเมตตาตอบทางวิทยุ กระผมจะรอรับฟังด้วยความเคารพ
สุ. ข้อ ๑. การปฏิบัติธรรมเพื่อมรรค ผล นิพพานนั้น มีทางเดียว คือ การเจริญสติปัฏฐานเท่านั้นหรือ
ทางอื่นจะทำอย่างไร สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา กำลังเห็น ทางหูก็กำลังได้ยิน ทางใจก็กำลังคิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ มรรค ผล นิพพานนั้นอยู่ที่ไหน มีแต่สิ่งที่กำลังปรากฏ ข้ามไป จะหามรรค ผล นิพพาน โดยไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นแล้วจึงได้ปรากฏเพราะเหตุปัจจัย ตามปกติ ตามความเป็นจริง ก็ไม่มีหนทางที่จะบรรลุถึงมรรค ผล นิพพาน
เพราะฉะนั้น หนทางอื่นไม่มี นอกจากสติจะเริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติก่อน จนกระทั่งเป็นความรู้ที่สมบูรณ์ขึ้นเป็นขั้นๆ ละคลายความไม่รู้ ละคลายความเห็นผิดที่เคยยึดถือนามธรรมและรูปธรรมทั้งหลายว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ก็จะประจักษ์ในสภาพของนิพพาน
ต้องเข้าใจเหตุให้ตรงกับผล และต้องเข้าใจด้วยว่า มรรค ผล นิพพานเป็นผลขั้นสูงสุด เป็นปัญญาขั้นสูงสุด จึงสามารถที่จะบรรลุถึงมรรค ผล ที่รู้แจ้งนิพพานได้ แต่ก่อนที่จะถึงปัญญาขั้นสูงสุด ซึ่งปัญญาขั้นสูงสุดนั้นจะมีได้ก็ต่อเมื่ออบรมเจริญปัญญาขั้นต้น ตั้งแต่ขั้นของการฟัง เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อให้สติเกิดขึ้น เป็นการปฏิบัติธรรม โดยระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง ปัญญาที่ถูกต้องจึงเกิดขึ้น
สำหรับข้อ ๒. ที่ถามว่า ผู้ที่มีศรัทธา เพียงการบริจาคทาน รักษาศีล เจริญภาวนา โดยบางอาจารย์ท่านให้ภาวนาว่า สัมมาอรหัง หรือพุทโธบ้าง อย่างนี้จะมีทางได้มรรค ผล นิพพานในกาลอนาคตบ้างหรือไม่
ในขณะที่กำลังภาวนาว่า สัมมาอรหังก็ดี หรือว่าพุทโธก็ดี ในขณะนั้นสติระลึกรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมหรือเปล่า ถ้าสติไม่ระลึกรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ก็ไม่มีการที่จะละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ก็ไม่มีการบรรลุมรรค ผล นิพพานได้ เพราะเหตุว่าเหตุไม่ตรงกับผล
เพราะฉะนั้น จะต้องทราบด้วยว่า การที่จะบรรลุมรรค ผล นิพพานนั้น เพราะปัญญาสามารถที่จะรู้สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมชัดเจน อบรมเจริญสมบูรณ์ขึ้น จนเป็นปัญญาที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๓ ตอนที่ ๓๒๑ – ๓๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 301
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 302
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 303
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 304
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 305
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 306
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 307
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 308
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 309
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 310
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 311
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 312
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 313
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 314
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 315
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 316
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 317
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 318
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 319
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 320
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 321
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 322
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 323
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 324
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 325
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 326
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 327
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 328
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 329
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 330
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 331
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 332
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 333
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 334
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 335
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 336
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 337
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 338
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 339
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 340
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 341
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 342
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 343
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 344
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 345
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 346
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 347
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 348
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 349
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 350
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 351
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 352
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 353
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 354
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 355
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 356
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 357
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 358
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 359
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 360