แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 325


    ครั้งที่ ๓๒๕


    เพราะฉะนั้น กุศลกรรมก็ย่อมนำมาซึ่งปีติ ปราโมทย์ โสมนัสได้ทั้งสิ้น

    สำหรับการไม่ล่วง คือ การวิรัติ งดเว้นเมื่อเผชิญกับวัตถุที่จะให้กระทำทุจริตกรรม ในขณะที่สามารถวิรัติได้ เว้นได้ จะสังเกตได้ว่า จิตใจของท่านผ่องใสที่สามารถจะละกิเลส หรือไม่ล่วงทุจริตกรรมในขณะนั้น เมื่อระลึกถึงครั้งใด ก็ยังทำให้จิตใจ ผ่องใส โสมนัสในกำลังของกุศลที่ได้สะสมมา ซึ่งก็แล้วแต่ท่านจะเห็นความประพฤติทางกาย ทางวาจาใดที่ไม่เหมาะไม่ควร และงดเว้นได้t

    แต่ถ้าสติไม่เกิด ไม่สังวร เกิดการล่วงเป็นทุจริต เป็นอกุศลกรรมไป เวลาที่ท่านระลึกขึ้นมา ท่านอาจจะเศร้าหมอง ไม่ควรเลยที่จะล่วงเป็นทุจริตไปแล้ว แต่ถ้าสามารถจะวิรัติได้ ท่านก็รู้ว่า เป็นเพราะการสะสมของกุศล เป็นเพราะสติมีกำลังที่สามารถจะเกิดขึ้น ทำให้ระลึกรู้ และวิรัติในสิ่งที่เป็นอกุศลนั้นได้

    เพราะฉะนั้น กุศลทั้งหมดซึ่งเป็นศีล ที่วิรัติทุจริต ไม่ทำให้จิตใจของผู้ที่ละเว้นทุจริตนั้นเดือดร้อนเลย แต่กลับจะทำให้เกิดความปราโมทย์ เกิดปีติ เกิดปัสสัทธิ โสมนัส ไม่หวั่นเกรงว่า บุคคลอื่นจะคิด จะกล่าว จะเข้าใจอย่างไร

    ศีลที่เป็นปกติในชีวิตประจำวันนั้น ละเอียดขึ้น ขัดเกลายิ่งขึ้น จนกระทั่งเป็นศีลวิสุทธิ หมดจดจากกิเลส เป็นศีลที่เกิดขึ้นเป็นไปพร้อมกับสติและปัญญา

    ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ข้อ ๘๙ มีข้อความว่า

    ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงปาณาติบาต อทินนาทานกาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิด้วยการสังวร แม้การสังวรนั้นก็เป็นศีล

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงกามฉันทะด้วยเนกขัมมะ .. ไม่ก้าวล่วงความพยาบาทด้วยความไม่พยาบาท ...ซึ่งก็เป็นไปด้วยกำลังของปฐมฌาน ตลอดไปจนกระทั่งถึง ไม่ก้าวล่วงกิเลสที่ตั้งอยู่ร่วมกันกับทิฏฐิด้วยโสดาปัตติมรรค ไม่ก้าวล่วงกิเลสหยาบๆ ด้วยสกทาคามิมรรค ไม่ก้าวล่วงกิเลสละเอียดด้วยอนาคามิมรรค ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงกิเลสทั้งปวงด้วยอรหัตตมรรค ฯ

    ในขณะที่สติเกิดขึ้น สังวร ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ในขณะนั้น ไม่ก้าวล่วงกามฉันทะด้วยเนกขัมมะ ไม่ก้าวล่วงความพยาบาทด้วยความไม่พยาบาท ไม่ก้าวล่วงกิเลสที่ตั้งอยู่ร่วมกันกับทิฏฐิด้วยโสดาปัตติมรรค และถ้าอบรมเจริญต่อไป ไม่ก้าวล่วงกิเลสหยาบๆ ด้วยสกทาคามิมรรค ไม่ก้าวล่วงกิเลสละเอียดด้วยอนาคามิมรรค และ ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงกิเลสทั้งปวงด้วยอรหัตตมรรค

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ใคร่ที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท จึงควรอบรมเจริญกุศลทุกประการ

    อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต สีหนาทวรรคที่ ๒ เวลามสูตร มีข้อความโดยย่อว่า

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน สมัยนั้นท่าน อนาถบิณฑิกคฤหบดียากจนลง ให้ทานอันเศร้าหมอง เป็นปลายข้าวและน้ำข้าว ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงธรรมแก่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า

    บุคคลให้ทานอันเศร้าหมอง หรือประณีตก็ตาม แต่ให้โดยเคารพ เชื่อกรรมและผลของกรรมให้ทาน อานิสงส์ก็มาก และทานที่ให้แก่ทักขิไณยยบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยความเห็นถูก ก็ย่อมมีผลมากขึ้นเป็นลำดับ... จนกระทั่งถึง ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้าร้อยรูปบริโภค ทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค การที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์ผู้มาจากจตุรทิศ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์อันมาจาก จตุรทิศ การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ... .ตลอดไปจนถึง จากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นฐานะแห่งความประมาท มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบทคือ งดเว้นจากปาณาติบาต เป็นต้น และการที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญาแม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือ มีผลมากกว่าการที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม

    นี่เป็นข้อความโดยย่อจาก เวลามสูตร ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า การขัดเกลากิเลสนั้นย่อมละเอียดขึ้น ตั้งแต่การให้ทาน ซึ่งมีอานิสงส์ประณีตขึ้น ละเอียดขึ้นตามลำดับ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นทานที่ให้กับทักขิไณยยบุคคลผู้มีความเห็นถูก จิตใจที่เลื่อมใส ผ่องใสของผู้ให้ ซึ่งเป็นผู้ที่เชื่อกรรมและผลของกรรมให้ทาน มีความเห็นถูกเป็นต้นนั้น อานิสงส์ก็ย่อมมาก ตลอดไปจนกระทั่งถึงจิตที่บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ด้วยการที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์ผู้มาจากจตุรทิศ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค

    นอกจากนั้น การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์อันมาจากจตุรทิศ

    เป็นเรื่องของจิตใจทั้งสิ้น ซึ่งบริสุทธิ์ขึ้น ละเอียดขึ้น เพราะว่าเพียงการให้ทาน แต่ถ้าปราศจากความเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ อานิสงส์ก็น้อย เพราะเหตุว่าไม่เกิดปัญญาที่จะรู้คุณค่าของพระรัตนตรัย แต่ถึงกระนั้น แม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะแล้ว การที่มีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต เป็นต้น ย่อมมีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ เพราะเหตุว่าไม่ใช่เพียงขั้นเลื่อมใส แต่ถึงขั้นประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อการละกิเลส เพื่อการขัดเกลากิเลสด้วย

    และถึงแม้ว่าเป็นผู้ที่มีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบทแล้ว การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุด แม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท เพราะเหตุว่าในขณะที่มีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท งดเว้นจากปาณาติบาต เป็นต้น ก็วิรัติในขณะที่มีวัตถุที่จะล่วงทุจริตปรากฏเฉพาะหน้า แต่เวลาที่ไม่มีวัตถุที่จะล่วงทุจริตที่จะให้เกิดปาณาติบาต หรือที่จะให้เกิดมุสาวาท เป็นต้น จิตใจก็ย่อมจะเป็นไปในอกุศลมาก โดยละเอียด เช่น มีความต้องการในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะอยู่ เป็นประจำทีเดียว แต่การที่บุคคลเจริญเมตตาจิต ในขณะนั้นเป็นกุศล ไม่ผูกพัน ปรารถนา ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นมีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต เป็นต้น

    แต่แม้กระนั้น ก็จะต้องขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น เพื่อที่จะดับกิเลสให้หมดเป็นสมุจเฉท ด้วยเหตุนี้การที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญา คือ ระลึกถึงความไม่เที่ยง ความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ แม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือ มีผลมากกว่าการที่บุคคลเจริญเมตตาจิต โดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม

    จะเห็นได้ว่า การละกิเลส การขัดเกลากิเลสนั้น ละเอียดขึ้น และประณีตขึ้น จนกระทั่งแม้ศีลที่ละเอียดขึ้น ก็จะเป็นศีลวิสุทธิ เพราะเหตุว่าเป็นศีลที่เกิดขึ้นพร้อมกับสติและปัญญาที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้น จึงวิสุทธิ บริสุทธิ์จากกิเลสที่เคยยึดถือสภาพของนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

    . ในสมัยเด็ก เรียนหนังสือชั้นต้นๆ อยู่ ครูสอนว่า เบญจศีล เบญจธรรม สอนคู่กันอยู่อย่างนี้ เบญจศีลใครๆ ก็รู้ว่า คือศีล ๕ แต่เบญจธรรม ๕ ประการ ตรงข้ามกับศีล ๕ คือ มีเมตตา ให้ทาน สันโดษ ไม่พูดเท็จ ไม่ประมาท อะไรพวกนี้ แต่ทำไมเวลาอาราธนา อาราธนาศีลทุกที ทำไมไม่อาราธนาเบญจธรรมบ้าง

    สุ. โดยมากอาราธนาศีลก่อนฟังธรรม หรือว่าอาราธนาศีลเฉยๆ แล้วไม่ฟังธรรม เพราะเหตุว่าไม่ใช่เพียงอาราธนาศีลเท่านั้น แต่ว่ายังฟังธรรม เพื่อที่จะได้ประพฤติปฏิบัติตาม

    เพราะฉะนั้น เรื่องของศีล จึงเป็นเรื่องที่แสดงถึงสมุฏฐาน คือ จิต ถ้ายังล่วงทุจริตกรรม แสดงว่ากิเลสอกุศลนั้นแรงมาก มีกำลังมาก ถ้าล่วงทุจริตทางกาย ทางวาจาน้อย ก็แสดงว่ากิเลสอกุศลนั้นไม่หนาแน่น ไม่รุนแรงพอที่จะให้ล่วงทุจริตกรรมมาก

    สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สัตติวรรคที่ ๓ ชฎาสูตรที่ ๓ ซึ่งเป็นข้อความที่แสดงให้เห็นความสำคัญของศีล มีข้อความว่า

    เทวดากล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า

    หมู่สัตว์รกทั้งภายใน รกทั้งภายนอก ถูกรกชัฏหุ้มห่อแล้ว ข้าแต่พระโคดม เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์ขอถามพระองค์ว่า ใครพึงถางรกชัฏนี้ได้

    พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาว่า

    นรชนผู้มีปัญญา ตั้งมั่นในศีล อบรมจิตและปัญญาให้เจริญอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีปัญญารักษาตน ภิกษุนั้นพึงถางรกชัฏนี้ได้ ราคะก็ดี โทสะก็ดี อวิชชาก็ดีบุคคลทั้งหลายใด กำจัดเสียแล้ว บุคคลทั้งหลายนั้น เป็นผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตัณหาเป็นเครื่องยุ่ง อันบุคคลทั้งหลายนั้น สางเสียแล้ว นามก็ดี รูปก็ดี ปฏิฆสัญญา และรูปสัญญาก็ดี ย่อมดับหมดในที่ใด ตัณหาเป็นเครื่องยุ่งนั้น ย่อมขาดไปในที่นั้น

    ทุกท่านเป็นสัตว์โลก รกทั้งภายใน รกทั้งภายนอก มองเห็นบ้างไหมว่า รก อะไรรก กิเลส โดยเฉพาะคือ ตัณหา ความยินดีพอใจในภายใน คือ ในตนเอง มีมากไหม รักตัวเองนักหนาหรือเปล่า รักรูปตัวเอง คิ้ว ตา จมูก ปาก ผม นิ้ว ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกประการ เครื่องประดับ เครื่องตบแต่ง ทั้งหมดเป็นไปด้วยความรักตัวเองเป็นนักหนา ยังไม่พอ รกทั้งภายนอก ไม่ว่ารูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี โผฏฐัพพะก็ดี ที่มาประสบทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีความปรารถนา มีความต้องการไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง รกไหม ทั้งภายนอก ภายใน ที่ตนเองก็รก และก็ยังรกด้วยทั้งภายนอก เกี่ยวโยง ยึด ผูกพันแน่นหนา กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถูกรกชัฏหุ้มห่อแล้ว

    ใน ปกรณ์วิเสส วิสุทธิมรรค มีข้อความว่า

    คำว่า ชัฏนั้น เป็นชื่อแห่งตัณหาเพียงดังข่าย จริงอยู่ ตัณหานั้น ชื่อว่าชัฏ เพราะอรรถว่า เพียงดังชัฏ กล่าวคือ เซิงเรียวหนามของกอไผ่ เป็นต้น

    กอไผ่นี้รกมาก เต็มไปด้วยเซิงเรียวหนาม ซึ่งโยงกัน พันกัน หนาแน่นทีเดียว

    เพราะอรรถว่า เกี่ยวประสานไว้ เพราะเกิดขึ้นบ่อยๆ ด้วยสามารถแห่งความลุ่มๆ ดอนๆ ในอารมณ์ทั้งหลาย มีรูปารมณ์ เป็นต้น ก็ตัณหานี้นั้น เรียกว่าชัฏภายใน ชัฏภายนอก เพราะเกิดขึ้นในบริขารของตน บริขารของผู้อื่น ในอัตภาพของตน อัตภาพของผู้อื่น และในอายตนะภายใน อายตนะภายนอก

    พ้นไปได้ไหม จากตัณหาในภายในที่ตนเอง ในภายนอกที่บุคคลอื่น ในอารมณ์ต่างๆ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น ในอายตนะภายใน ในอายตนะภายนอก เป็นประจำ ที่รกอย่างยิ่ง

    เพราะฉะนั้น บุคคลที่จะสางตัณหาหรือรกชัฏนี้ได้ ก็เป็น นรชนผู้มีปัญญา ตั้งมั่นในศีล อบรมจิตและปัญญาให้เจริญอยู่

    ถ้าไม่รู้ความจริงของตนเองว่า มีกิเลสมากสักเท่าไร ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทั้งภายใน ทั้งภายนอก เกิดอยู่บ่อยๆ เนืองๆ เป็นประจำ ถ้าไม่รู้สภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงอย่างถูกต้อง จะดับหรือจะละตัณหานี้ได้ไหม ก็ไม่ได้ ผู้ที่จะดับหรือจะละกิเลสได้ ต้องเป็นผู้ที่รู้สภาพธรรมถูกต้องตรงตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของตัวท่านเอง คือ เรื่องของผู้ที่มีความรก ทั้งภายใน ทั้งภายนอก หรือว่าถูกรกชัฏหุ้มห่อแล้ว ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ตั้งมั่นในศีล อบรมจิตและปัญญาให้เจริญ จึงจะสามารถดับกิเลสได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๓ ตอนที่ ๓๒๑ – ๓๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 38
    28 ธ.ค. 2564