แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 332


    ครั้งที่ ๓๓๒


    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร นายคามณี เราห้ามท่านไม่ได้แล้วว่า อย่าเลยนายคามณี ขอพักข้อนี้เสียเถิด ท่านอย่าถามข้อนี้แก่เราเลย แต่เราจักพยากรณ์ให้ท่าน

    ดูกร นายคามณี เมื่อก่อนสัตว์ทั้งหลายยังไม่ปราศจากราคะ อันกิเลสเครื่องผูกคือราคะผูกไว้ นักเต้นรำรวบรวมเข้าไว้ซึ่งธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในท่ามกลางสถานเต้นรำ ในท่ามกลางสถานมหรสพ แก่สัตว์เหล่านั้นมากยิ่งขึ้น

    เมื่อก่อนสัตว์ทั้งหลายยังไม่ปราศจากโทสะ อันกิเลสเครื่องผูกคือโทสะผูกไว้ นักเต้นรำรวบรวมเข้าไว้ซึ่งธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งโทสะ ในท่ามกลางสถานเต้นรำ ในท่ามกลางสถานมหรสพ แก่สัตว์เหล่านั้นมากยิ่งขึ้น

    เมื่อก่อนสัตว์ทั้งหลายยังไม่ปราศจากโมหะ อันกิเลสเครื่องผูกคือโมหะผูกไว้ นักเต้นรำรวบรวมเข้าไว้ซึ่งธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งโมหะ ในท่ามกลางสถานเต้นรำ ในท่ามกลางสถานมหรสพ แก่สัตว์เหล่านั้นมากยิ่งขึ้น

    นักเต้นรำนั้น ตนเองก็มัวเมาประมาท ตั้งอยู่ในความประมาท เมื่อแตกกายตายไปย่อมบังเกิดในนรก ชื่อ ปหาสะ

    อนึ่ง ถ้าเขามีความเห็นอย่างนี้ว่า นักเต้นรำคนใด ทำให้คนหัวเราะ รื่นเริงด้วยคำจริงบ้าง คำเท็จบ้าง ในท่ามกลางสถานเต้นรำ ในท่ามกลางสถานมหรสพ ผู้นั้นเมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดา ชื่อปหาสะ ความเห็นของเขาเป็นความเห็นผิด

    ดูกร นายคามณี ก็เราย่อมกล่าวคติ ๒ อย่าง คือ นรก หรือกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน อย่างใดอย่างหนึ่ง ของบุคคลผู้มีความเห็นผิดนั้น

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พ่อบ้านนักเต้นรำนามว่าตาลบุตร ร้องไห้สะอื้น น้ำตาไหล

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร นายคามณี เราได้ห้ามท่านแล้วมิใช่หรือว่า อย่าเลย นายคามณีขอพักข้อนี้เสียเถิด อย่าถามข้อนี้แก่เราเลย

    นายคามณีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ได้ร้องไห้ถึงข้อที่พระผู้มีพระภาคตรัสอย่าง

    นี้แก่ข้าพระองค์หรอก แต่ว่าข้าพระองค์ถูกนักเต้นรำ ผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์ ก่อนๆ ล่อลวง ให้หลงสิ้นกาลนานว่า นักเต้นรำคนใด ทำให้คนหัวเราะ รื่นเริง ด้วยคำจริงบ้าง ด้วยคำเท็จบ้าง ในท่ามกลางสถานเต้นรำ ในท่ามกลางสถานมหรสพผู้นั้นเมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดา ชื่อ ปหาสะ

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ดุจหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้น

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค

    นายนาฏคามณีนามว่า ตาลบุตร ได้บรรพชา ได้อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว ท่าน พระตาลบุตร อุปสมบทไม่นาน หลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจแน่วแน่ ฯลฯ ก็แล ท่านพระตาลบุตรเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย

    อกุศลต้องเป็นอกุศล ต้องรู้ตามความเป็นจริง ซึ่งก็แล้วแต่การสะสมมาของแต่ละบุคคล การที่จะห้ามบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่ให้กระทำอย่างนี้ ก็ห้ามไม่ได้ ใครจะเป็นนักฟ้อนรำ นักเต้นรำ หรือใครจะมีอาชีพต่างๆ ก็แล้วแต่การสะสมของบุคคลนั้น ซึ่งแต่ก่อนเคยคิดว่า เป็นเราที่เลือกจะมีอาชีพอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ความจริงแล้ว เป็นเรื่องการสะสมของจิต ที่จะทำให้มนสิการน้อมไปที่จะมีอาชีพอย่างนั้นอย่างนี้ ตามที่ได้สะสมมา

    ตราบใดที่ยังไม่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า กิเลสก็ยังมี และอกุศลกรรมบถก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามกำลังของอกุศลธรรมนั้นๆ แล้วแต่ว่าจะเป็นอกุศลธรรมที่แรงกล้าในขณะใด ที่ถึงกับจะทำให้ประกอบอกุศลกรรมหรือไม่

    แต่อย่างไรก็ตาม การเป็นผู้ที่รู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง รู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดปรากฏนั้นไม่ใช่สัตว์ บุคคล และเจริญอบรม ระลึกรู้สภาพนามธรรมและรูปธรรมทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติ ตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะอยู่ ณ สถานที่ใด ในขณะใด เมื่อปัญญาสมบูรณ์ขึ้น แทงตลอดในสภาพธรรม รู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ปัญญานั้นเองจะดับกิเลส ที่จะเป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมที่จะให้ไปสู่อบายภูมิได้

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะมีอาชีพใด ในขณะนี้ ท่านก็ควรเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้สภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดปรากฏตามปกติความเป็นจริง

    สำหรับจิตใจ เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ถ้าปัญญาไม่รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงเป็นปกติประจำวัน ก็ไม่สามารถดับกิเลสได้เลย เพราะเหตุว่ากิเลสอยู่ที่จิต ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฎฐานและศึกษาธรรม จะเห็นว่า ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น เกื้อกูลโดยละเอียดยิ่งขึ้น

    ใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ทุติยวรรคที่ ๒ ข้อ ๑๙๘ - ๒๐๒ มีข้อความเรื่องของอกุศลธรรม ซึ่งได้เคยกล่าวแล้วในคราวก่อน คือ การฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการฆ่าสัตว์ ๑ พอใจในการฆ่าสัตว์ ๑ กล่าวสรรเสริญการฆ่าสัตว์ ๑

    ถ้าสติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมของจิตในขณะนั้นตามความเป็นจริง รู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นอกุศลจิต ซึ่งเมื่อมีเหตุปัจจัย คือ อกุศลธรรมยังมีอยู่ ก็เป็นปัจจัยให้สภาพของจิตอย่างนั้นเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานนั้น รู้จักสภาพธรรมที่เกิดกับตน สามารถรู้ความละเอียดของอกุศลธรรม และละอกุศลธรรมที่ละเอียดได้

    แม้ในเรื่องของการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยตนเอง ๑ หรือว่าชักชวนผู้อื่นในการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ๑ พอใจในการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ๑ กล่าวสรรเสริญการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ๑ ตลอดไปจนถึง การประพฤติผิดในกามด้วยตนเอง ๑ ชักชวนบุคคลอื่นในการประพฤติผิดในกาม ๑ พอใจในการประพฤติผิดในกาม ๑ กล่าวสรรเสริญการในประพฤติผิดในกาม ๑

    สำหรับเรื่องของการพูดเท็จ มีความละเอียดที่ว่า ขณะที่เป็นอกุศลจิตนั้น ถ้าเป็นอกุศลจิตที่มีกำลัง ก็ทำให้พูดมุสา ซึ่งการมุสาก็คือ วัตถุที่ไม่จริง คือ ไม่แท้ ชื่อว่ามุสา การทำบุคคลอื่นให้เข้าใจวัตถุที่ไม่จริงนั้น โดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้ ชื่อว่าวาทะ

    นี่เป็นความหมายของมุสาวาทะ หรือ มุสาวาท เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ว่าสิ่งใดที่ไม่จริง แต่ถ้าอกุศลจิตมีกำลัง ก็ทำให้พูดเท็จด้วยตนเอง ๑ หรือว่าชักชวนบุคคลอื่นในการพูดเท็จ ๑ พอใจในการพูดเท็จ ๑ กล่าวสรรเสริญการพูดเท็จ ๑

    ซึ่งถ้าท่านศึกษาธรรมโดยละเอียด ท่านก็จะทราบว่า สิ่งใดที่ผิดจากความจริงและท่านกล่าวสิ่งนั้น เป็นการพูดเท็จ ซึ่งท่านจะต้องพิจารณาอกุศลธรรมโดยละเอียดในเรื่องของการพูดเท็จ คือ พูดสิ่งที่ไม่จริง นอกจากนั้น ยังเป็นเรื่องของการพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ การพูดเพ้อเจ้อ การอยากได้ของผู้อื่น การมีจิตปองร้ายผู้อื่น โดยละเอียด คือ ด้วยตนเอง ๑ หรือว่าชักชวนผู้อื่น ๑ หรือว่าพอใจในอกุศลธรรมนั้นๆ ๑ หรือแม้แต่กล่าวสรรเสริญอกุศลธรรมนั้นๆ ๑

    สำหรับเรื่องของความเห็นผิด ก็ละเอียด คือ ย่อมเป็นผู้ที่มีความเห็นผิดด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในความเห็นผิด ๑ พอใจในความเห็นผิด ๑ กล่าวสรรเสริญความเห็นผิด ๑

    สำหรับเรื่องของกุศลธรรม ก็เป็นธรรมฝ่ายตรงกันข้าม มีความเห็นชอบด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในความเห็นชอบ ๑ พอใจในความเห็นชอบ ๑ กล่าวสรรเสริญความเห็นชอบ ๑

    เรื่องการเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องละเอียดจริงๆ เพราะเป็นเรื่องที่สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจนทั่ว แม้ขณะที่ท่านชักชวนผู้อื่นในเรื่องความเห็นชอบ กำลังชักชวนบุคคลอื่นให้เห็นถูก ให้ปฏิบัติถูก ให้เห็นชอบ ถ้าในขณะนั้นสติไม่ระลึกรู้ว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ขณะนั้นก็เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะฉะนั้น ต้องเป็นปัญญาที่อบรม เจริญ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเป็นปกติ จนกระทั่งสติมีกำลัง

    ในพระไตรปิฎก ใน สังยุตตนิกาย อินทริยสังยุต วิภังคสูตรที่ ๑ แสดงเรื่องของสติที่เป็นพละ หรือว่าสติที่มีกำลัง ซึ่งข้อความใน สารัตถปกาสินี อรรถกถา มีคำอธิบายว่า

    ก็เพราะเหตุไร ท่านจึงเอาปัญญามากล่าวไว้ในการจำแนกสติ

    แก้ว่า คือ อธิบายว่า เพื่อแสดงถึงความที่ปัญญาเป็นกำลังของสติ

    ไม่ใช่ว่าเจริญอบรมไปแล้ว ก็ไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ จะกล่าวว่า สติมีกำลังเป็นพละได้ไหม โดยที่ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ที่จะแสดงว่าสติเป็นพละ มีความมั่นคง เป็นกำลัง ก็ต้องอาศัยปัญญาที่เกิดร่วมกับสตินั้นจำแนกว่า สตินั้นเป็นสติที่มีกำลัง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ก็สติที่มีกำลังนั้นสัมปยุตต์ คือเกิดพร้อม ด้วยปัญญา ไม่ใช่ปราศจากปัญญา

    ในพระสูตรนี้ สัทธา สติ และปัญญินทรีย์ เป็นส่วนเบื้องต้น สมาธินทรีย์ที่ผสมกับวิริยินทรีย์ซึ่งบังเกิดขึ้นแล้ว ท่านกล่าวว่า เป็นโลกุตตระทีเดียว

    จะมีแต่สติ โดยไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงไม่ได้ หรือว่า ท่านที่มุ่งหน้าที่จะให้เกิดสมาธิก่อน และปัญญาจึงจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ท่านอ้างว่า ต้องสงบเสียก่อน ซึ่งในมหาสติปัฏฐานสูตร แม้แต่จิตตานุปัสสนาสติปัฎฐานขณะที่จิตเป็นอกุศล คือ ประกอบด้วยราคะ หรือโลภะ สติก็จะต้องระลึกรู้ เพื่อละการยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

    ซึ่งข้อความทั้งหมดนี้จะต้องสอดคล้องกัน แม้ในข้อความที่ว่า ในพระสูตรนี้ ศรัทธา สติ และปัญญินทรีย์ เป็นส่วนเบื้องต้น สมาธินทรีย์ที่ผสมกับวิริยินทรีย์ ซึ่งบังเกิดขึ้นแล้ว ท่านกล่าวว่า เป็นโลกุตตระทีเดียว

    กว่าจะถึงโลกุตตระ จะต้องมีวิริยะ คือ การระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและ รูปธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เนืองๆ บ่อยๆ นี่เป็นลักษณะของวิริยะ ไม่ใช่ว่าหยุดพักผ่อนชั่วครั้งชั่วคราว เบื่อแล้วในการเจริญสติปัฏฐาน นั่นไม่ใช่ลักษณะของผู้ที่เข้าใจการอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    แต่ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจในการเจริญมรรคมีองค์ ๘ สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมขณะใด ณ สถานที่ใด ควรอบรม จนกระทั่งเป็นสติพละ เพราะเหตุว่าปัญญาที่เกิดร่วมกับสตินั้น สามารถที่จะรู้ว่าสภาพธรรมนั้นๆ ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งถ้าวิริยะเป็นไป ไม่จำกัดกาลเวลา สถานที่ และสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม รูปธรรมมากขึ้น ก็ย่อมมีความสงบจากการที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมนั้นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้น ท่านที่ต้องการจะบรรลุมรรค ผล นิพพาน รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ตรวจสอบการเป็นผู้เจริญมรรคมีองค์ ๘ ของท่านว่า ในวันหนึ่งๆ สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ทั้งทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกที่กำลังได้กลิ่น ทางลิ้นที่กำลังลิ้มรส ทางกาย ทางใจ สุข ทุกข์ อุเบกขา อทุกขมสุขเวทนา บ้างหรือเปล่า

    ขณะที่จำ รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แม้ในขณะนี้ สติระลึกรู้บ้างหรือเปล่า ถ้าปัญญายังไม่เกิด ยังไม่สามารถที่จะรู้ชัดว่า ลักษณะนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นแต่เพียงรูปธรรม ก็ไม่รู้อริยสัจธรรม ไม่บรรลุมรรค ผล นิพพาน

    ท่านอาจจะคิดว่า ท่านกำลังจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นพระอริยเจ้า หรือว่าบรรลุมรรค ผล นิพพาน แต่ตามความเป็นจริง เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าปัญญาไม่เจริญอบรม จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติ

    การที่กล่าวถึงเรื่องนี้ เพื่อที่จะให้ท่านได้เห็นถึงสภาพธรรมที่ละเอียด และเป็นของจริง ที่สะสมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเป็นปกติกับแต่ละท่านนี่เอง แต่ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามเหตุปัจจัย ก็ไม่ใช่สติที่มั่นคง ไม่ใช่ปัญญาที่คมกล้า

    ท่านได้ยินคำว่า อภิธรรม ในพระไตรปิฎกก็มีพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก กำลังโกรธมากๆ นี้ อภิธรรมหรือเปล่า บังคับบัญชาได้ไหม ยับยั้งไม่ให้เกิดขึ้นได้ไหม ได้ยินแต่ชื่อ และก็ได้ศึกษาเรื่องของอภิธรรม แต่ว่าอภิธรรมจริงๆ คือ ทุกขณะที่สติระลึกรู้ว่า บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย ตามปกตินี่เอง

    กำลังเห็นนี้บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะเหตุว่ามีเหตุปัจจัยให้เกิดเห็นแล้ว เป็นอภิธรรม มีความไม่แช่มชื่นที่เกิดจากการเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย เป็นอภิธรรมอีก

    เป็นอภิธรรมทั้งหมด คือ เป็นธรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพราะเหตุว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้น

    มีชาวต่างประเทศท่านหนึ่ง ท่านสนใจในการเจริญวิปัสสนา และได้ผ่านการปฏิบัติมาหลายวิธี ในที่สุดก็ได้เข้าใจการเจริญมรรคมีองค์ ๘ การเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน และสามารถที่จะกล่าวชี้แจงอธิบายให้บุคคลอื่นฟังได้ เพราะเหตุว่าตนเองได้เคยปฏิบัติวิธีต่างๆ มาแล้ว และทราบว่า ความพยายามพากเพียรที่จะไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง แต่พยายามไปรู้อย่างอื่น จดจ้องที่จะรู้บางนาม บางรูป หรือพากเพียรที่จะทำสิ่งที่ยังไม่เกิดไม่ปรากฏ โดยเข้าใจว่าเป็นปัญญา ก็เพราะเข้าใจว่า การที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติ ไม่ใช่วิธีที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    เพราะฉะนั้น เรื่องของตัณหา ก็เป็นเรื่องที่ละเอียด

    สำหรับปัญญาที่จะละอวิชชา หรือกิเลส หรือความยินดีในนามในรูปได้ ก็ด้วยสติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ตามปกติ ตามความเป็นจริงเท่านั้น

    ซึ่งเรื่องของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ต้องเป็นจริง ตามลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวันของแต่ละท่าน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๔ ตอนที่ ๓๓๑ – ๓๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 38
    28 ธ.ค. 2564