แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 334
ครั้งที่ ๓๓๔
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร นายคามณี เปรียบเหมือนบุรุษโยนก้อนหินหนาใหญ่ลงในห้วงน้ำลึก หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบหินนั้นว่าขอจงโผล่ขึ้นเถิดท่านก้อนหิน ขอจงลอยขึ้นเถิดท่านก้อนหิน ขอจงขึ้นบกเถิดท่านก้อนหิน
ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ก้อนหินนั้นพึงโผล่ขึ้น พึงลอยขึ้น หรือพึงขึ้นบก เพราะเหตุการสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบของหมู่มหาชน บ้างหรือ
นายบ้านกราบทูลว่า
ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร นายคามณี ฉันนั้นเหมือนกัน บุรุษคนใดฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิด หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบบุรุษผู้นั้นว่า ขอบุรุษนี้เมื่อตายไปจงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ก็จริง แต่บุรุษนั้นเมื่อตาย พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร นายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษในโลกนี้เว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาท สัมผัปปลาปะ ไม่มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบ หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบบุรุษนั้นว่า ขอบุรุษนี้เมื่อตายไปจงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นเมื่อตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะเหตุการสวดวิงวอน สรรเสริญ หรือเพราะเหตุการประนมมือ เดินเวียนรอบของหมู่มหาชนบ้างหรือ
นายบ้านกราบทูลว่า
ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร นายคามณี เปรียบเหมือนบุรุษลงยังห้วงน้ำลึกแล้ว พึงทุบหม้อเนยใสหรือหม้อน้ำมัน ก้อนกรวด หรือก้อนหินที่มีอยูในหม้อนั้นพึงจมลง เนยใสหรือน้ำมันที่มีอยู่ในหม้อนั้นพึงลอยขึ้น หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบเนยใสและน้ำมันนั้นว่า ขอจงจมลงเถิดท่านเนยใสและน้ำมันขอจงดำลงเถิดท่านเนยใสและน้ำมัน ขอจงลงภายใต้เถิดท่านเนยใสและน้ำมัน
ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เนยใสและน้ำมันนั้นพึงจมลง พึงดำลง พึงลงภายใต้เพราะเหตุการสวดวิงวอน สรรเสริญ หรือเพราะเหตุการประนมมือเดินเวียนรอบของหมู่มหาชนบ้างหรือ
นายบ้านกราบทูลว่า
ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร นายคามณี ฉันนั้นเหมือนกัน บุรุษใดเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาท สัมผัปปลาปะ ไม่มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบ หมู่มหาชนจะพากันมาประชุมแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบบุรุษนั้นว่า ขอบุรุษนี้เมื่อตายไปจงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ก็จริง แต่บุรุษนั้นเมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
ข้อความต่อไปมีว่า
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นายบ้านนามว่า อสิพันธกบุตร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ดุจหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางให้แก่คนหลงทาง หรือส่องไฟในที่มืดด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญข้า พระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับทั้งพระธรรม และภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ท่านถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิตหรือเปล่า ขณะนี้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ แต่ท่านเป็นผู้ที่เว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาท สัมผัปปลาปะ ไม่มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบเป็นปกติหรือเปล่า
จะรู้ได้อย่างไร ถ้าสติไม่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามปกติอย่างละเอียด ตามความเป็นจริง บางท่านกล่าวว่า ถ้ามีการแข่งขันกัน จะเป็นในธุรกิจ หรือการงานอาชีพก็ตาม อดไม่ได้ที่จะคิดร้าย หรือหวังร้ายต่อผู้แข่งขัน คือ กับบุคคลอื่นพอที่จะไม่คิดร้าย ไม่หวังร้ายได้ แต่ว่ากับคู่แข่งขัน หรือว่าบุคคลผู้เป็นคู่แข่งขันนั้น ก็อดไม่ได้ที่จะมุ่งร้าย คิดร้าย หรือหวังร้าย
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นความจริง เพียงแต่ท่านหวัง หรือคิดที่จะไม่ให้บุคคลอื่นได้รับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ทำไมไม่คิดที่จะให้บุคคลอื่น แม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นคู่แข่งขันในด้านการงาน ในธุรกิจการค้า ในการอาชีพ แต่ให้เจริญรุ่งเรืองไปพร้อมๆ กับตัวท่านไม่ได้หรือ ต่างคนก็ต่างเกื้อกูลกัน ช่วยเหลือกัน สนับสนุนกันให้เจริญรุ่งเรืองไปเท่าๆ กัน พร้อมกัน หรือว่าบุคคลใดจะเจริญยิ่งกว่า ก็เป็นเพราะเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา ซึ่งควรอนุโมทนา ไม่ควรที่จะให้มีอกุศลจิตเกิดขึ้น
เพียงหวัง หรือคิดที่จะให้บุคคลอื่นไม่ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข นั่นก็เป็นอกุศลจิตแล้ว ซึ่งอกุศลจิตไม่ทำให้เกิดกุศลวิบากเลย ตรงกันข้าม ถ้าจิตเป็นกุศล ไม่ปองร้าย ไม่คิดร้าย ไม่มุ่งร้าย ไม่หวังร้าย เป็นกุศลจิต ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบากได้ รับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าพอใจทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าท่านสังเกต สำเหนียก สติระลึกรู้ ก็จะทราบว่า จิตใจของท่านนั้นมากด้วยกิเลสอกุศล แต่สติสามารถที่จะระลึกรู้ จึงสามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทเป็นลำดับขั้น แต่การอบรมปัญญานี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งๆ ที่ท่านก็ทราบว่า สภาพธรรมเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นไม่ว่าจะทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
มีท่านท่านหนึ่งกล่าวเมื่อสักครู่นี้ว่า ใครๆ ก็รู้ไม่ใช่หรือ รู้อย่างนี้ ใครๆ ก็รู้ได้แต่ถ้าสติไม่ได้ระลึกตรงลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม จนกระทั่งปัญญาเจริญขึ้น รู้ชัดขึ้น คมกล้าขึ้น ย่อมไม่สามารถประจักษ์แจ้งแทงตลอดในการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏได้
เพราะฉะนั้น ความคิด ไม่ใช่ความรู้ ต้องแยกกัน และต้องทราบด้วยว่า เวลาที่สติเกิดนั้นมีลักษณะอย่างไร เมื่อสติเกิดก็รู้ว่า มีของจริงที่กำลังปรากฏ พิจารณาให้เป็นความรู้ชัดว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ละทาง
ท่านผู้ฟังจะพิสูจน์ได้ ท่านที่พูดว่ารู้แล้ว ลองสัมผัส กระทบอะไรสักอย่างหนึ่งที่แข็ง รู้จริงๆ ใช่ไหมในลักษณะที่แข็ง เมื่อฟังประกอบก็ทราบว่า ลักษณะที่แข็งนั้น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่มีจริง ที่ปรากฏที่กาย รู้ได้ทางกายเท่านั้น และเยื่อใยการยึดถือยังมีอยู่เต็มไหม เต็มทีเดียว และยังยึดโยงเอาไว้กับสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อื่นๆ ทำให้ไม่สามารถที่จะละได้จริงๆ ว่า ลักษณะนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์จริงๆ รู้ลักษณะของนามอื่นรูปอื่นที่ปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ประกอบกัน เกื้อกูล ส่งเสริม จนกระทั่งปัญญาคมกล้าจริงๆ จึงสามารถที่จะละเยื่อใยที่กำลังรู้ในลักษณะที่แข็งนั้นได้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ
มิฉะนั้นแล้ว ทั้งๆ ที่ลักษณะของปรมัตถธรรม นามธรรมและรูปธรรมก็มีจริงและก็ปรากฏ แต่การยึดถือ เยื่อใย การที่เคยยึดมั่นในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้น มิใช่จะหมดไปเพียงด้วยการรู้ขั้นปริยัติ หรือขั้นศึกษา หรือขั้นที่สติกำลังเพียงเริ่มระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมที่ปรากฏ แต่ต้องเป็นปัญญาที่สมบูรณ์จริงๆ ที่คมกล้าจริงๆ จึงสามารถแทงตลอดในลักษณะสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้
ต่อไป เป็นเรื่องของศีล เป็นเรื่องกุศลกรรมบถ
อกุศลกรรมบถ มี ๑๐ ประการ สำหรับกุศลกรรมบถ สภาพธรรมที่ประพฤติเป็นไปในทางที่ดีงาม เป็นกุศลกรรมนั้น ก็มี ๑๐ ประการ
ฑีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร ข้อ ๓๖๐ มีข้อความว่า
๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เจตนาเครื่องเว้น จากการยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป
๒. อทินนาทานา เวรมณี เจตนาเครื่องเว้น จากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้
๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เจตนาเครื่องเว้น จากการประพฤติผิดในกาม
๔. มุสาวาทา เวรมณี เจตนาเครื่องเว้น จากการพูดเท็จ
๕. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี เจตนาเครื่องเว้น จากการพูดส่อเสียด
๖. ผรุสาย วาจาย เวรมณี เจตนาเครื่องเว้น จากการพูดคำหยาบ
๗. สัมผัปปลาปา เวรมณี เจตนาเครื่องเว้น จากการพูดเพ้อเจ้อ
๘. อนภิชฌา ความไม่โลภอยากได้ของคนอื่น
๙. อัพยาปาท ความไม่ปองร้ายเขา
๑๐. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ]
ถ้าจะสังเกตเรื่องของกุศลกรรมบถ จะเห็นว่า เป็นเจตนาเครื่องเว้นเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็เท่ากับศีลนั่นเอง เช่น ข้อ ๑ ปาณาติปาตา เวรมณี เจตนาเครื่องเว้นจากการยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป ก็เป็นศีลข้อที่ ๑
อทินาทานา เวรมณี เจตนาเครื่องเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ก็เป็นศีลข้อที่ ๒
กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เจตนาเครื่องเว้นจากการประพฤติผิดในกาม เป็นศีลข้อที่ ๓
มุสาวาทา เวรมณี เจตนาเครื่องเว้นจากการพูดเท็จ เป็นศีลข้อที่ ๔
กุศลกรรมบถ ๔ นี้ ได้แก่ นิจศีล หรืออุบาสกอุบาสิกาศีล หรือปัญจศีลนั่นเอง แต่เป็น ๔ ข้อ ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๔
จะเห็นได้ว่า การงดเว้นทุจริต เป็นกุศลกรรมบถ และเป็นศีลด้วย ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามที่เป็นกุศล เป็นศีล เพราะเหตุว่าถ้าในขณะนั้นจิตเป็นอกุศล กุศลกรรมทั้งหลายเกิดไม่ได้แน่นอน แม้แต่ในทาน การให้ ถ้ายังมีความยึดมั่นในวัตถุที่ควรจะสละเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น ยังสละไม่ได้ ก็เพราะเหตุว่าขณะนั้นจิตเป็นอกุศล หรือว่าควรจะสงเคราะห์ อนุเคราะห์เกื้อกูลบุคคลอื่น แต่ก็กลับเบียดเบียนบุคคลอื่น ก็เพราะเหตุว่าขณะนั้นจิตเป็นอกุศล
เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงกุศลกรรมแล้ว ก็เป็นไปในศีลทั้งสิ้น แม้แต่ในขณะที่จะให้ทาน ถ้าขณะนั้นจิตเป็นอกุศล ให้ได้ไหม ไม่ได้ เพราะว่าขณะนั้นต้องเว้นแล้วจากการที่จะเบียดเบียน จากการที่จะยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป หรือว่าจากการที่จะถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ แม้ในขณะนั้น ก็เป็นเรื่องของศีล
ซึ่งกุศลจิตที่เป็นไปในการสละวัตถุ เพื่อประโยชน์สุขแก่บุคลอื่นนั้น เนื่องกับวัตถุที่สละให้แก่บุคคลอื่น จึงเป็นทานหรือทานะ แต่ตามปกติ ต้องหมายความถึงสภาพของจิตซึ่งเป็นสภาพที่เป็นกุศลในขณะนั้นเกิดขึ้น จึงสามารถที่จะประพฤติเป็นไปในเรื่องของกุศลได้ แม้แต่ในเรื่องของทาน
ปปัญจสูทนีย ซึ่งเป็นอรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬยมกวรรค สาเลยยกสูตร มีข้อความว่า
จริงอยู่ กุศลกรรมบถ ๑๐ จัดเป็นศีล เพราะอรรถว่า การบริกรรมกสิณ จะสำเร็จได้กับบุคคลผู้มีศีลเท่านั้น
ในขณะที่เจริญสมาธิ เจริญสมถภาวนา เพื่อให้จิตสงบจากอกุศล ในขณะนั้นไม่ก้าวล่วงทุจริต เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า แม้ในขณะที่เจริญสมถภาวนา ขณะนั้นก็มีศีล คือ การวิรัติ งดเว้นจากทุจริต หรือในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ในขณะนั้นก็เป็นศีล เพราะเหตุว่าในขณะนั้นวิรัติจากทุจริต แต่ต้องระวังเพราะว่าบางท่านรักษาศีล แต่ขณะนั้นไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ซึ่งในขณะที่เจริญสติปัฏฐานก็ดี หรือเจริญสมถภาวนาก็ดี ในขณะนั้นมีศีล คือ วิรัติ เว้นจากทุจริตเพราะฉะนั้น ต้องแยกกัน เพราะการวิรัติจากทุจริต เป็นพื้นของกุศลทั้งปวง
แม้แต่กุศลที่เป็นทานจะเกิดได้ ก็เพราะว่าต้องวิรัติทุจริต แต่เมื่อเนื่องกับวัตถุ เป็นไปในวัตถุ ในการสละวัตถุเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น จึงเป็นไปในทาน คือ การให้ เป็นกุศลกรรม เป็นการวิรัติที่งดเว้นทุจริต ซึ่งเป็นไปในทาน คือ การให้
สำหรับศีล ซึ่งไม่เป็นไปในทาน ในการให้ ก็เป็นเรื่องของการละเว้นทุจริตที่เป็นไปกับกายและวาจา ซึ่งขณะที่เจริญสมถภาวนาเพื่อให้จิตสงบจากอกุศลนั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่วิรัติทุจริต มีศีลด้วยในขณะนั้น แต่เป็นไปในการเจริญความสงบของจิต และในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ในขณะนั้นเป็นศีล เพราะเหตุว่าวิรัติทุจริต ซึ่งในขณะนั้นเป็นกุศลที่เป็นไปในการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ที่เป็นการอบรมเจริญปัญญา วิปัสสนา เป็นการเจริญสติปัฏฐาน
สำหรับบางท่านอาจจะให้ทาน ในขณะนั้นวิรัติทุจริตจริง แต่เป็นไปเฉพาะในการสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่นเท่านั้น ซึ่งท่านไม่ได้รักษาศีลที่เป็นการขัดเกลากิเลสทางกาย ทางวาจาด้วย
สำหรับท่านที่รักษาศีลโดยที่ไม่ได้เจริญสมถภาวนา หรือสติปัฏฐาน การรักษาศีลของท่านนั้น ก็เป็นแต่เพียงการขัดเกลาไม่ให้กิเลสแรงกล้าถึงขั้นที่จะล่วงทุจริต เป็นวจีทุจริต กายทุจริตเท่านั้น แต่ว่าในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของกาย ของเวทนา ของจิต ของธรรม เป็นสติปัฏฐาน ในขณะนั้นเป็นศีลด้วยที่วิรัติทุจริต
สำหรับข้อความที่ว่า ขณะที่เจริญมรรคมีองค์ ๘ คือ สติปัฏฐาน มรรคมีองค์ ๘ นั้น เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา แต่ว่าบางท่านเพียงรักษาศีล สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ในขณะนั้น ศีลนั้น ไม่สงเคราะห์เป็นมรรคมีองค์ ๘ แต่ขณะใดที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ในขณะนั้นเป็นการเจริญอบรมมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นทั้งศีล สมาธิ และปัญญา
ข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก คือ ใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬเวทัลลสูตร มีว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่ให้เหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชชคฤห์ ครั้งนั้น วิสาขอุบาสกเข้าไปหาธรรมทินนาภิกษุณี ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง วิสาขอุบาสกครั้นนั่งนิ่งแล้ว ได้ถาม ธรรมทินนาภิกษุณีว่า
ข้าแต่พระแม่เจ้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายะ สักกายะ ดังนี้ ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายะ
ถ้าท่านอ่านในพระไตรปิฎกก็รู้ถึงเจตนา ความมุ่งหมายของผู้ถามและผู้ตอบ ซึ่งข้อความที่ถามตอบจะไม่พ้นจากวิปัสสนา ไม่พ้นจากการเจริญสติปัฏฐาน ไม่พ้นจากการเจริญมรรคมีองค์ ๘ แต่วิธีที่จะพูดถึงมรรคมีองค์ ๘ ก็ดี หรือสติปัฏฐานก็ดี หรืออริยสัจก็ดี มีได้หลายวิธี แล้วแต่ว่าผู้นั้นจะกล่าวถึงสิ่งใดเป็นเบื้องต้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๔ ตอนที่ ๓๓๑ – ๓๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 301
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 302
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 303
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 304
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 305
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 306
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 307
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 308
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 309
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 310
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 311
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 312
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 313
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 314
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 315
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 316
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 317
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 318
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 319
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 320
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 321
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 322
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 323
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 324
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 325
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 326
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 327
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 328
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 329
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 330
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 331
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 332
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 333
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 334
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 335
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 336
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 337
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 338
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 339
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 340
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 341
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 342
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 343
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 344
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 345
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 346
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 347
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 348
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 349
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 350
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 351
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 352
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 353
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 354
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 355
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 356
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 357
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 358
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 359
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 360