แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 337


    ครั้งที่ ๓๓๗


    สำหรับการที่ผู้หนึ่งผู้ใดไม่ควรตัดสินบุคคลอื่นด้วยความเลื่อมใสว่า บุคคลนั้นเป็นพระอริยเจ้า เพียงด้วยปฏิปทา หรือเพียงด้วยศีล ขอกล่าวถึงข้อความใน อังคุตตรนิบาต มิคสาลาสูตร มีว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เวลาเช้า ท่านพระอานนท์นุ่งแล้วถือบาตรและจีวร เข้าไปยังที่อยู่ของมิคสาลาอุบาสิกา แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดถวาย

    ครั้งนั้น มิคสาลาอุบาสิกาเข้าไปหาท่านพระอานนท์กราบไหว้แล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระอานนท์ว่า

    ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ธรรมนี้ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว อันเป็นเหตุให้คนสอง ๒ คน คือ คนหนึ่งประพฤติพรหมจรรย์ คนหนึ่งไม่ประพฤติพรหมจรรย์ จักเป็นผู้มีคติเสมอกันในสัมปรายภพ อันวิญญูชนจะพึงรู้ทั่วถึงได้อย่างไร คือ บิดาของดิฉันชื่อปุราณะ เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล งดเว้นจากเมถุนอันเป็นธรรมของชาวบ้าน ท่านกระทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า เป็นสกทาคามีบุคคลเข้าถึงชั้นดุสิต ส่วนบุรุษชื่ออิสิทัตตะผู้เป็นที่รักของบิดาของดิฉัน ไม่เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ยินดีด้วยภรรยาของตน แม้เขาทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ทรงพยากรณ์ว่า เป็นสกทาคามีบุคคลเข้าถึงชั้นดุสิต

    ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ธรรมนี้ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว อันเป็นเหตุให้คน ๒ คน คือ คนหนึ่งประพฤติพรหมจรรย์ คนหนึ่งไม่ประพฤติพรหมจรรย์ จักเป็นผู้มีคติเสมอกันในสัมปรายภพ อันวิญญูชนจะพึงรู้ทั่วถึงได้อย่างไร

    ท่านพระอานนท์กล่าวว่า

    ดูกร น้องหญิง ก็ข้อนี้พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ไว้อย่างนั้นแล

    ก็แสดงอยู่แล้วว่า บุคคลอื่นนอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ควรถือประมาณเอาเองว่า บุคคลใดเป็นผู้รู้ทั่วถึงธรรมอันใด

    ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์รับบิณฑบาตที่นิเวศน์ของมิคสาลาอุบาสิกา ลุกจากอาสนะกลับไปแล้ว ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์กลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต ก็ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วก็กราบทูลให้ทรงทราบทุกประการ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ ก็มิคสาลาอุบาสิกาเป็นคนพาล ไม่ฉลาด เป็นคนบอด มีปัญญาทึบ เป็นอะไร และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอะไร ในญาณเครื่องกำหนดรู้ความยิ่งและความหย่อนแห่งอินทรีย์ของบุคคล

    ดูกร อานนท์ บุคคล ๑๐ จำพวกนี้มีอยู่ในโลก ๑๐ จำพวกเป็นไฉน

    ดูกร อานนท์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทุศีล และไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งความเป็นผู้ทุศีลของเขาตามความเป็นจริงบุคคลนั้น ไม่กระทำกิจแม้ด้วยการฟัง ไม่กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต ไม่แทงตลอดแม้ด้วยทิฏฐิ ย่อมไม่ได้วิมุตติแม้อันเกิดในสมัย เมื่อตายไป เขาย่อมไปในทางเสื่อม ไม่ไปทางเจริญ ย่อมถึงความเสื่อม ไม่ถึงความเจริญ

    ดูกร อานนท์ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทุศีล แต่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งความเป็นผู้ทุศีลของเขาตามความเป็นจริงบุคคลนั้น กระทำกิจแม้ด้วยการฟัง กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฏฐิ ย่อมได้วิมุตติแม้ในสมัย เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม ย่อมถึงความเจริญอย่างเดียว ไม่ถึงความเสื่อม

    ดูกร อานนท์ พวกคนผู้ถือประมาณ ย่อมประมาณในเรื่องนั้นว่า ธรรมแม้ของคนนี้ ก็เหล่านั้นแหละ ธรรมแม้ของคนอื่น ก็เหล่านั้นแหละ เพราะเหตุไร ใน ๒ คนนั้น คนหนึ่งเลว คนหนึ่งดี ก็การประมาณของคนผู้ถือประมาณเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน

    ดูกร อานนท์ ใน ๒ คนนั้น บุคคลใดเป็นผู้ทุศีล และรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งการเป็นผู้ทุศีลของเขาตามความเป็นจริงกระทำกิจแม้ด้วยการฟัง กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฏฐิ ย่อมได้วิมุตติแม้ในสมัย ดูกร อานนท์ บุคคลนี้ดีกว่าและประณีตกว่าบุคคลที่กล่าวข้างต้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะกระแสแห่งธรรมย่อมถูกต้องบุคคลนี้ ใครเล่าจะพึงรู้เหตุนั้นได้ นอกจากตถาคต

    ดูกร อานนท์ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายอย่าได้เป็นผู้ชอบประมาณในบุคคล และอย่าได้ถือประมาณในบุคคล เพราะผู้ถือประมาณในบุคคล ย่อมทำลายคุณวิเศษของตน เราหรือผู้ที่เหมือนเรา พึงถือประมาณในบุคคลได้

    เป็นเรื่องของบุคคลที่มีชีวิตเป็นปกติประจำวัน ตามความเป็นจริง แต่ว่าบุคคลอื่นย่อมไม่สามารถรู้ได้ว่า บุคคลนั้นได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมหรือไม่ เพราะเหตุว่ามีบุคคล ๒ บุคคล คือ บุคคลหนึ่งเป็นผู้ที่ทุศีล และไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง อีกบุคคลหนึ่งนั้น เป็นผู้ทุศีล แต่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งความเป็นผู้ทุศีลของเขา

    ท่านที่มีศีลขาดบ้าง เช่น ในการฆ่าสัตว์ก็ดี รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงไหมว่า เป็นผู้ที่ทุศีล ในขณะที่มีทุจริตกรรมเกิดขึ้น รู้ไหม ถ้าเป็นผู้ที่รู้ชัดตามความเป็นจริงในความเป็นผู้ทุศีล และเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นพระอริยเจ้า ดับความเป็นผู้ทุศีล เป็นผู้ที่สมบูรณ์ในศีล ๕ ท่านย่อมทราบได้ว่า ศีลของท่านซึ่งเคยทุศีลนั้น ดับไม่มีส่วนเหลือ เพราะอริยมรรคได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ถ้าอริยมรรคไม่เกิด ยังไม่เป็นพระอริยเจ้า กิเลสยังมีกำลัง ก็ย่อมสามารถที่จะกระทำทุจริต และเป็นผู้ทุศีล

    ข้อความใน มโนรถปุรณี อรรถกถา มิคสาลาสูตร มีว่า

    คำว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่กระทำกิจแม้ด้วยการฟัง

    ได้แก่ กิจที่ควรฟัง เป็นกิจที่บุคคลนั้นไม่ฟัง

    ถ้าบุคคลใดควรที่จะได้ฟังสิ่งที่เป็นสาระ เป็นประโยชน์ มีเหตุ มีผล แต่แม้กระนั้นบุคคลนั้นก็ไม่ฟัง ก็ชื่อว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่กระทำกิจแม้ด้วยการฟัง เพียงแต่การฟังก็ยังไม่ได้กระทำ เพราะฉะนั้น จะเจริญกุศลขั้นต่อๆ ไปซึ่งจะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ในคำว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่กระทำกิจ แม้ด้วยพาหุสัจจะ

    ในอรรถกถาอธิบายว่า

    กิจที่บุคคลจะพึงทำด้วยความเพียร เป็นอันบุคคลนั้นไม่ได้ทำแล้ว เพราะไม่ได้กระทำกิจ คือความเพียรนั้น เขาจึงเสื่อมจากสวรรค์บ้าง จากมรรคบ้าง

    ต้องเพียรในเรื่องของกุศล ไม่ใช่เพียรในเรื่องอื่น ซึ่งจะเห็นได้ว่า บุคคลที่มีกิเลส ก็เพียรไปในเรื่องของกิเลส แต่เรื่องของการเพียรขัดเกลาจิตใจ ที่เป็นเรื่องของกุศล เมื่อบุคคลนั้นไม่ได้กระทำกิจ คือความเพียรในกุศลนั้น เขาจึงเสื่อมจากสวรรค์บ้าง จากมรรคบ้าง

    ข้อว่า บุคคลนั้นไม่ได้แทงตลอดแม้ด้วยทิฏฐิ ดังนี้

    ได้แก่ กิจที่ตนจะพึงแทงตลอดด้วยทิฏฐิ เป็นต้น บุคคลนั้นไม่ได้แทงตลอด คือ ไม่ได้กระทำให้เห็นประจักษ์

    ไม่มีทั้งการฟัง ไม่มีทั้งการเพียร เพราะฉะนั้น ย่อมไม่ได้แทงตลอดแม้ด้วยทิฏฐิ คือ แม้ด้วยความเห็นถูกในสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นและดับไปตามความเป็นจริง

    ข้อว่า เขาย่อมไม่ได้วิมุตติ แม้ที่เป็นไปในสมัยที่ควรได้ ดังนี้

    ได้แก่ ย่อมไม่ได้ปีติและปราโมทย์ที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยการฟังธรรมตามกาลอันสมควร

    ข้อว่า ย่อมไปเพื่อความเสื่อม

    ได้แก่ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม

    ข้อว่า ย่อมทราบตามความเป็นจริง

    ได้แก่ ย่อมทราบด้วยสามารถการเรียนและการสอบถามว่า การเป็นผู้ทุศีล ๕ อย่าง คือ ศีล ๕ ย่อมดับไปหมดสิ้นเพราะบรรลุโสดาปัตติผล

    นี่คือผู้ที่รู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า ตราบใดที่โสดาปัตติมรรคยังไม่เกิดขณะนั้นยังไม่สามารถมีปัญญาที่จะดับความเป็นผู้ทุศีลได้โดยหมดสิ้น เป็นสมุจเฉท

    สำหรับบุคคลที่ตรงกันข้าม คือ ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ทุศีล เป็นผู้ที่ยังล่วงศีล ๕ อยู่

    ข้อว่า บุคคลนั้นชื่อว่าได้กระทำกิจแม้ด้วยการฟัง ดังนี้

    ความว่า กิจที่ตนจะพึงฟัง เป็นอันบุคคลนั้นได้ฟังแล้ว

    ถึงแม้ว่าท่านนี้ได้ล่วงศีลข้อหนึ่งข้อใดในศีล ๕ บ้าง เพราะเหตุว่ายังไม่ใช่ พระอริยเจ้า ก็ควรที่จะได้ฟังธรรม ซึ่งจะเป็นหนทางที่นำไปสู่ความเข้าใจสภาพธรรมได้ถูกต้อง และสามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตามได้ยิ่งขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะแทงตลอดในสภาพธรรมนั้นได้

    ข้อว่า บุคคลนั้นชื่อว่าได้กระทำกิจแม้ด้วยพาหุสัจจะ ดังนี้

    ได้แก่ กิจที่บุคคลจะพึงทำด้วยวิริยะโดยที่สุด แม้กิจสักว่าวิปัสสนาอย่างอ่อน ก็เป็นอันบุคคลนั้นได้กระทำแล้ว

    นี่คือเรื่องของกิจที่บุคคลพึงทำด้วยวิริยะ ไม่ใช่กิจอื่น แต่เป็นกิจที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง นี่เป็นวิริยะ ที่ควรระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ถ. กระผมได้ฟังมาอย่างนี้ว่า กำหนดรูปอย่างเดียวก็พอ ได้ฟังมาอย่างนี้ ก็พิกลเหมือนกัน นามรูปปริจเฉทญาณของท่านเป็นอย่างไร ท่านก็ไม่ได้อธิบายออกมาให้ชัดเจน แต่ท่านบอกเพียงว่า เมื่อจิตเกิดขึ้น เวทนาก็เกิดขึ้นพร้อมกันกับจิต จิตดับ เวทนาก็ดับไปด้วย ไม่จำเป็นต้องไปรู้เวทนา กำหนดรูป จิตก็รู้ว่าเป็นรูป แล้วก็รู้ไป ก็เท่านั้นเอง ผู้ฟังก็รู้สึกว่าสับสนเต็มที จะเอาอย่างไรกันแน่ แต่สำหรับผู้ฟังที่นี่กระผมเข้าใจแล้วว่า เท่าที่อาจารย์บรรยายมานี้ ก็เข้าใจชัด แต่พอไปฟังทางอื่นเข้า ก็อาจจะเกิดไขว้เขวขึ้นมาได้ ท่านก็ยังไม่บรรลุกันทั้งนั้น แต่ถ้าใครบรรลุแล้ว ก็ไม่เป็นอะไร แต่ยังไม่บรรลุ ก็เกิดสับสนกันอย่างนี้

    สุ. การเจริญสติปัฏฐาน เจริญวิปัสสนา เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เป็นเรื่องที่สุขุมจริงๆ แม้ในการฟัง ก็จะต้องฟังเพื่อพิจารณาให้ได้เหตุผลตามความเป็นจริง ถ้าท่านผู้ใดกล่าวว่า รู้รูปอย่างเดียว ในขณะนั้นก็สามารถที่จะแทงตลอดว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่าขณะที่รู้รูปก็เป็นจิตซึ่งประกอบด้วยเวทนา สัญญา สังขาร นามขันธ์ทั้ง ๔ เกิดร่วมกันในขณะนั้นเพราะฉะนั้น ก็ย่อมสามารถที่จะรู้ได้เองว่า สภาพธรรมทั้งปวงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน กล่าวว่าอย่างนี้ ได้ไหม

    ในขณะที่กำลังรู้รูป ควรที่จะทราบด้วยว่ารูปอะไร และขณะนั้นที่สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของรูป ความยินดียึดถือว่าเป็นเราที่กำลังรู้รูปนั้น จะหมดได้อย่างไร หรือว่าความรู้สึกจะเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นอุเบกขา ในขณะที่กำลังมีรูปนั้นเป็นอารมณ์ จะรู้ได้อย่างไรว่า เวทนา ความรู้สึกนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนั้นสติกำลังระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมที่มีจริงๆ กำลังปรากฏ จะรู้นามธรรมด้วยได้ไหมในขณะนั้น กำลังรู้ลักษณะของรูปธรรม จะรู้ลักษณะของนามธรรมในขณะนั้นด้วยไม่ได้

    แต่ที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นนามธรรม ก็เพราะสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมที่ปรากฏ ถ้าระลึกรู้ลักษณะของเวทนา ความรู้สึก จะไปรู้ว่า ขณะนั้นสัญญาก็ไม่เที่ยง หรือว่าจิตก็ไม่เที่ยง หรือสังขาร โลภะ โทสะใดๆ ก็ไม่เที่ยง ก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าในขณะนั้น เวทนาเท่านั้นที่กำลังเป็นอารมณ์ เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏ และสติกำลังระลึกรู้ลักษณะของเวทนา คือ ความรู้สึกนั้น ในขณะนั้น

    กล่าวคือ สติเริ่มระลึกและรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมบ้าง เป็นรูปธรรมบ้าง ตามปกติ ตามความเป็นจริง

    ขอให้ท่านลองพิจารณาถึงข้อปฏิบัติที่ท่านได้ยิน ได้ฟัง เมื่อสักครู่นี้ที่ว่า ให้รู้ลักษณะของรูปธรรมเพียงอย่างเดียว ผู้ที่กล่าวอย่างนั้น เป็นผู้ที่ไม่ได้รู้ลักษณะของรูปธรรมที่เป็นอนัตตา ที่มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ เพราะว่าท่านที่กล่าวอย่างนั้นจะรู้รูปนั่งใช่ไหม ซึ่งในขณะที่กำลังดู ท่านใช้คำว่าดู ในขณะที่กำลังดูรูปนั่ง เป็นท่าเป็นทาง ท่านจะต้องดู จนกระทั่งรูปนั้นเป็นทุกข์เพราะปวดเมื่อย ซึ่งในขณะนั้น รู้รูป หรือรู้นาม ดูอย่างหนึ่ง จะให้เห็นอีกอย่างหนึ่ง คือ ดูรูปนั่ง แต่ว่าให้เห็นเวทนาซึ่งเป็นทุกข์เพราะรูปนั้น

    เพราะฉะนั้น จึงไม่รู้ความจริงในลักษณะของรูปที่เป็นอนัตตา ที่ปรากฏจริงๆ ให้รู้ได้ ทางตาก็เป็นลักษณะของรูปประเภทหนึ่ง ทางหูก็เป็นลักษณะของรูปอีกประเภทหนึ่ง ทางจมูกก็เป็นลักษณะของรูปอีกประเภทหนึ่ง ทางลิ้นก็เป็นลักษณะของรูปประเภทหนึ่ง ทางกายที่จะปรากฏให้รู้ได้ ก็เป็นลักษณะของรูปอีกประเภทหนึ่ง มีลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ปรากฏเฉพาะทางนั้น ทวารนั้น และก็ดับไป และก็มีรูปอื่นที่ปรากฏ ทางทวารอื่น

    การที่บุคคลนั้น จะดูรูปนั่ง เป็นท่าทาง และก็รู้ว่าเวทนา ปวดเมื่อยเป็นทุกข์ จะรู้ความจริงของรูปอะไร เพราะเหตุว่าท่านที่กล่าวอย่างนั้น ท่านอ้างว่า เวทนาก็ดี ซึ่งเป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตซึ่งเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ดี หรือว่าสัญญาเจตสิก โลภะ โทสะ โมหะ นามธรรมอื่นๆ ที่เป็นสังขารขันธ์ก็ดี ซึ่งเป็น ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ท่านกล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องรู้ แต่ท่านคิดว่า เจริญเพียงบรรพเดียว คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐานในอิริยาบถบรรพ เพียงบรรพเดียวก็สามารถที่จะทำให้รู้แจ้งในนามธรรมและรูปธรรม ในความเกิดขึ้นและดับไป ในอริยสัจธรรมได้

    ท่านกล่าวยืนยันว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้น แม้เพียงบรรพเดียว คือ อิริยาบถบรรพที่เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็สามารถที่จะบรรลุอริสัจธรรมเป็น พระอริยเจ้าได้ เพราะฉะนั้น ในขณะที่เวทนา ความทุกข์ ความเมื่อยกำลังเกิดปรากฏนั้น ท่านรู้รูปอะไร ไม่ใช่กายานุปัสสนาสติปัฏฐานแน่ เพราะถ้าขณะนั้นสติระลึกรู้ว่าเวทนา ความรู้สึกนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นไม่ใช่กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน และทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางใจที่กำลังคิดนึก ไม่รู้ว่าเป็นนามธรรมหรือ ถ้าไม่รู้ก็เป็นอวิชชา ไม่สามารถที่จะละความไม่รู้ในสภาพธรรมที่เป็นจริง ที่กำลังเห็น

    และถ้าขณะนั้นเป็นปัญญาพร้อมด้วยสติ ก็จะต้องระลึกรู้ว่า ที่กำลังเห็น เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ชนิดหนึ่ง ขณะที่รู้อย่างนี้ เป็น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่า รู้เพียงกายานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพเดียว คือ อิริยาบถบรรพได้อย่างไร



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๔ ตอนที่ ๓๓๑ – ๓๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 38
    28 ธ.ค. 2564