แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 343
ครั้งที่ ๓๔๓
ขุททกนิกาย อุทาน กุมารกสูตร มีข้อความว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ก็สมัยนั้นแล เด็กรุ่นหนุ่มมากด้วยกัน จับปลาอยู่ในระหว่างพระนครสาวัตถีกับพระวิหารเชตวัน ครั้งนั้นแลเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็กรุ่นหนุ่มมากด้วยกัน จับปลาอยู่ในระหว่างพระนครสาวัตถีกับพระวิหารเชตวัน ครั้นแล้วเสด็จเข้าไปหาเด็กรุ่นหนุ่มเหล่านั้น แล้วได้ตรัสถามว่า
พ่อหนูทั้งหลาย เธอทั้งหลายกลัวต่อความทุกข์ ความทุกข์ไม่เป็นที่รักของเธอทั้งหลายมิใช่หรือ
เด็กเหล่านั้นกราบทูลว่า
อย่างนั้นพระเจ้าข้า ข้าพระองค์ทั้งหลายกลัวต่อความทุกข์ ความทุกข์ไม่เป็นที่รักของข้าพระองค์ทั้งหลาย
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
ถ้าท่านทั้งหลายกลัวต่อความทุกข์ ถ้าความทุกข์ไม่เป็นที่รักของท่านทั้งหลายไซร้ ท่านทั้งหลายอย่าได้ทำบาปกรรม ทั้งในที่แจ้งหรือในที่ลับเลย ถ้าท่านทั้งหลายจักทำหรือทำอยู่ซึ่งบาปกรรมไซร้ ท่านทั้งหลายแม้จะเหาะหนีไป ก็ย่อมไม่พ้นไปจากความทุกข์เลย
นี่เป็นเหตุการณ์ที่พระผู้มีพระภาคได้ประสบด้วยพระองค์เอง ซึ่งทุกท่านก็คงจะได้เห็นเหตุการณ์เช่นนี้ ถึงแม้ว่าพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมเรื่องของเหตุกับผล กุศลและอกุศลมากน้อยเท่าไรก็ตาม ก็ยังคงมีการประทุษร้าย เบียดเบียน โดยที่ไม่คิดถึงความทุกข์ ความเดือดร้อนของสัตว์อื่น และไม่ทราบด้วยว่า การกระทำนั้นจะให้ผลอย่างไร เพราะถึงแม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะได้ทรงแสดงผลของการกระทำนั้นไว้แต่บุคคลที่กำลังกระทำอกุศลกรรมนั้นอยู่ ยังไม่เห็นผล
ถ้าเวลานี้จะมีใครฆ่าสัตว์ บุคคลที่ฆ่าสัตว์ยังไม่เห็นผลว่า ผลของการฆ่าสัตว์นั้น จะทำให้ได้รับวิบากกรรมที่ไม่น่าพึงพอใจประการใดบ้าง เพราะฉะนั้น เมื่อไม่เห็นผลที่จะเกิดขึ้น ก็ยังคงมีการกระทำอกุศลและทุจริตกรรมอยู่
ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงเรื่องผลของกรรมไว้โดยละเอียด ใน มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค จูฬกัมมวิภังคสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสกับสุภมาณพ โตเทยยบุตร มีข้อความถึงผลของปาณาติบาตว่า
ผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นคนเหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือด หมกมุ่นในการประหัตประหาร ไม่เอ็นดูในเหล่าสัตว์มีชีวิต เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้
หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีอายุสั้น มีโรคมาก
ถ้ามักโกรธ มากด้วยความแค้นเคือง ก็จะเป็นผู้ที่มีผิวพรรณทราม
ถ้าริษยามุ่งร้าย อิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น ก็จะเป็นคนมีศักดาน้อย
ถ้าเป็นบุคคลที่ไม่ให้ข้าว น้ำ ก็จะเป็นผู้ที่มีโภคน้อย
ถ้าเป็นบุคคลที่กระด้าง ก็จะเป็นผู้ที่มีสกุลต่ำ
ถ้าเป็นบุคคลที่ไม่สอบถามธรรม ก็จะเป็นผู้ที่มีปัญญาทราม
ก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น ผลของการเบียดเบียนสัตว์อื่น บุคคลอื่นให้เดือดร้อน ท่านเห็นผลอยู่แล้วในชาตินี้ คือ บุคคลที่อายุสั้นก็มี บุคคลที่มีโรคภัยไข้เจ็บมากก็มี ซึ่งจะต้องมาจากอกุศลกรรมในอดีต ที่เป็นการกระทำการเบียดเบียนสัตว์อื่นให้เดือดร้อนทางกาย
ท่านเองก็ไม่ทราบว่า วันไหนจะได้รับผลของอกุศลกรรมในอดีตที่ได้กระทำไว้แล้ว และคงจะไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่ไม่เคยได้รับผลของอกุศลกรรมทางกาย มีการเจ็บปวด ป่วยไข้ต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นผลของอกุศลกรรมทั้งสิ้น
สำหรับผลของกรรมในอบายภูมิที่จะได้รับในชาติต่อไป ซึ่งไม่ใช่มนุษย์ภูมิ น่ากลัวมาก และเป็นผลของปาณาติบาตนี่เอง ถ้าตราบใดยังไม่ถึงภูมินั้น ก็จะไม่ทราบเลยว่า ภูมินั้นเป็นภูมิที่เต็มไปด้วยความทุกข์ เผ็ดร้อน แสนสาหัสสักเท่าไร
ขุททกนิกาย เนมิราชชาดก มีข้อความว่า
นายนิรยบาลผูกคอสัตว์นรก ด้วยตรวนเหล็กอันลุกโพลง แล้วตัดศีรษะ โยนลงไปในน้ำร้อน สัตว์นรกเหล่านี้ เมื่อยังอยู่ในมนุษย์โลก มีธรรมอันลามก จับนกมาฆ่าเลี้ยงชีพ จึงต้องถูกตัดศีรษะนอนอยู่
ข้อ ๕๕๖ มีข้อความว่า
สัตว์นรกอีกพวกหนึ่ง ถูกนายนิรยบาลตัดเป็นท่อนๆ นอนอยู่ สัตว์เหล่านี้เคยเป็นคนฆ่าแกะ ฆ่าสุกร ฆ่าปลา ครั้นฆ่าปศุสัตว์ กระบือ แพะ และแกะแล้ว เอาวางไว้ที่เขียง ขายเลี้ยงชีพ
ข้อ ๕๖๐ มีข้อความว่า
สัตว์นรกในห้วงน้ำที่เต็มไปด้วยเลือดและหนอง ไม่สะอาด เป็นน้ำเน่า มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป สัตว์นรกถูกความร้อนเผาแล้ว ย่อมดื่มเลือดและหนองกิน สัตว์นรกเหล่านี้ เมื่ออยู่ในมนุษย์โลก ฆ่ามารดา บิดา หรือพระอรหันต์ ชื่อว่าถึงปาราชิก ในเพศคฤหัสถ์
เชื่อไหมว่าจะเป็นไปได้ หรือว่าจะมีภูมิอย่างนี้ในโลกอื่นที่มิใช่ภูมิมนุษย์ แต่เป็นภูมินรก ซึ่งเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง
ฟังแล้ว ดูเหมือนว่า ผู้ที่อยู่ในมนุษย์โลกยากที่จะเชื่อว่า จะมีภูมินรกซึ่งแสนจะทรมานอย่างนั้นจริงๆ แต่ลองคิดกลับดูว่า โลกมนุษย์เป็นนรกของสัตว์ดิรัจฉาน พอจะได้ไหม
โลกมนุษย์ ไม่มีมนุษย์ที่ได้รับการถูกทรมานเหมือนกับในอบายภูมิที่เป็นภูมินรกก็จริง แต่เมื่อเปรียบเทียบความทุกข์ทรมานในอบายภูมิแล้ว แม้ในโลกมนุษย์นี้ ลองคิดกลับดูว่า จะเป็นนรกของสัตว์ดิรัจฉานได้ไหม
เป็นนรกของปลา เป็นนรกของกุ้ง เป็นนรกของปู เป็นนรกของไก่ ของหมู สัตว์ทั้งหลายที่ล้วนถูกตัดเป็นท่อน วางไว้ที่เขียง และก็ขาย แต่นั่นเป็นสัตว์ดิรัจฉาน
ซึ่งสัตว์ดิรัจฉานก็เป็นจิต เจตสิก รูป ที่เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ทำให้ปฏิสนธิเป็นสัตว์ดิรัจฉานประเภทนั้นๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นสัตว์ในภูมินรก ก็ไม่ผิดอะไรกัน ที่จะต้องได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสนั้นด้วย
นี่เป็นผลของปาณาติบาต การฆ่า การเบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน การเบียดเบียนสัตว์อื่นให้เดือดร้อน ให้สิ้นชีวิต ซึ่งบาปกรรมที่ได้กระทำไปแล้ว มากมายในอดีต หรือว่าในปัจจุบันชาตินี้เอง ไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่สามารถจะทราบว่า วันไหนบาปกรรมนั้นจะให้ผล ซึ่งทุกท่านที่ได้ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตมา ก็คงจะประจักษ์ในความจริงที่ว่า ไม่รู้เลยว่าพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร จะมีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถจะทราบได้เลย
มองดูแล้วก็เหมือนกับว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นพรุ่งนี้ ยังอยู่ในความมืด ยังไม่ปรากฏว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะยังคงอยู่ในโลกนี้ต่อไป หรือว่าจะมีความเจ็บไข้ได้ป่วย จะมีความทุกข์ จะมีความเดือดร้อน จะประสพกับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ อย่างไร ไม่มีบุคคลใดสามารถที่จะรู้ล่วงหน้าได้ถึงวันพรุ่งนี้
แต่ว่าวันพรุ่งนี้ก็จะเกิดขึ้น เพราะกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัย ซึ่งเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีต หรือแม้ในชาตินี้ ก็ไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่สามารถจะทราบได้ว่า พรุ่งนี้จะเป็นผลของกุศลกรรม หรือว่าพรุ่งนี้จะเป็นผลของอกุศลกรรม แม้ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้า ก็ไม่พ้นจากอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว ถ้าอดีตกรรมนั้นพร้อม ถึงวาระที่จะให้เกิดผล ผลก็ต้องเกิดขึ้น
ขุททกนิกาย อุทาน เมฆียวรรคที่ ๔ โคปาลสูตร มีข้อความว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่
ซึ่งในอรรถกถา ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า
คำว่า หมู่ใหญ่นั้น หมายความถึงจำนวน ความหมายหนึ่ง แล้วก็ใหญ่ด้วยคุณ คือ ความเป็นพระอริยเจ้า อีกความหมายหนึ่ง
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงแวะออกจากทางแล้ว เสด็จเข้าไปยังโคนต้นไม้แห่งหนึ่ง แล้วประทับนั่งที่อาสนะอันบุคคลปูไว้แล้ว ครั้งนั้นแล นายโคปาล คือ นายโคบาลคนหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจง ให้นายโคปาลนั้นเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมมีกถา ครั้งนั้นแล นายโคปาลนั้น อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมมีกถาแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ทรงรับภัตของข้าพระองค์ เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้เถิดพระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ ลำดับนั้นแล นายโคปาลนั้นทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงรับแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณ แล้วหลีกไป พอล่วงราตรีนั้นไป นายโคปาลสั่งให้ตกแต่งข้าวปายาสมีน้ำน้อย และสัปปิใหม่อันเพียงพอ ในนิเวศน์ของตน แล้วให้กราบทูลภัตกาล แด่พระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถึงเวลาแล้ว ภัตเสร็จแล้ว
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของนายโคปาลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ครั้นแล้วประทับนั่งที่อาสนะที่เขาปูลาดถวาย ลำดับนั้นแล นายโคปาลอังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยข้าวปายาสมีน้ำน้อย และสัปปิใหม่ ให้อิ่มหนำสำราญด้วยมือของตน เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ชักพระหัตถ์จากบาตรแล้ว นายโคปาลถือเอาอาสนะต่ำแห่งหนึ่ง นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้นายโคปาลนั้น เห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมิกถาแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะ หลีกไป
ครั้งนั้นแล เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน บุรุษคนหนึ่งได้ปลงชีวิตนายโคบาลนั้น ในระหว่างเขตบ้าน
ลำดับนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้ทราบว่า นายโคปาลอังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ให้อิ่มหนำสำราญด้วยข้าวปายาสมีน้ำน้อย และสัปปิใหม่ด้วยมือของตนในวันนี้แล้ว ถูกบุรุษคนหนึ่งปลงชีวิตเสียแล้ว ในระหว่างเขตบ้าน
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
โจรหัวโจกเห็นโจรหัวโจกแล้ว พึงทำความพินาศหรือความทุกข์ให้ ก็หรือคนมีเวรเห็นคนมีเวรแล้ว พึงทำความพินาศหรือความทุกข์ให้ จิตที่ตั้งไว้ผิด พึงทำเขาให้เลวกว่านั้น
จบสูตรที่ ๓
ข้อความใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา มีว่า
บุรุษผู้รักษาฝูงโคผู้นี้ มีชื่อว่านันทะ ซึ่งเล่ากันมาว่า นายนันทะนั้นเป็นคน มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคมาก เป็นผู้รักษาฝูงโคของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นายนันทโคบาลนั้น ถือเอาปัญจโครสตลอดกาลตามกาลเป็นประจำ ไปยังสำนักของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มอบให้ แล้วไปสู่สำนักของพระผู้มีพระภาค เฝ้าพระผู้มีพระภาค ฟังธรรม แล้วทูลขอให้พระผู้มีพระภาคเสด็จมายังสถานที่อยู่ของตน แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงรอการแก่รอบแห่งญาณของนายนันทโคบาล
เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งท่านเป็นผู้ที่ฟังธรรมแล้ว เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่ประพฤติธรรม ปฏิบัติธรรม ตามชีวิตที่เป็นความจริงของท่าน ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่าท่านจะได้กราบทูลขอเชิญเสด็จพระผู้มีพระภาคไปยังสถานที่อยู่ของท่าน แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงรอการแก่รอบแห่งญาณของนายนันทโคบาลนั้น
ต่อมาพระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ทรงทราบว่า บัดนี้ ญาณของนายนันทะนั้นแก่รอบแล้ว
นอกจากพระผู้มีพระภาค ใครจะรู้ได้ไหมว่า เวลานั้นนายนันทโคบาลญาณแก่รอบที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว เพราะเหตุว่าเป็นชีวิตปกติธรรมดา ท่านผู้ฟังที่นั่งอยู่ที่นี่ คนอื่นก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ญาณของท่านผู้ใดแก่รอบแล้ว เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องธรรมดาปกติในชีวิตประจำวัน แต่พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า
บัดนี้ ญาณของนายนันทะนั้นแก่รอบแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงเสด็จแวะจากหนทาง ในที่ไม่ไกลสถานที่อยู่ของนายนันทะนั้น ประทับนั่ง คอยการมาของนายนันทะอยู่ ณ โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง
แม้นายนันทะแล ได้สดับว่า พระผู้มีภาคจะเสด็จจาริกไปในชนบท เสด็จไปอยู่จากที่นี้ ดังนี้ ก็หรรษา ร่าเริง รีบเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม แล้วกระทำการปฏิสันถาร นั่งอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่เขา เขาดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล นิมนต์พระผู้มีพระภาคไปยังสถานที่อยู่ของตน ได้ถวายข้าวปายาสทานตลอด ๗ วัน ในวันที่ ๗ พระผู้มีพระภาคทรงกระทำอนุโมทนา แล้วเสด็จหลีกไป
เพราะเหตุนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์ จึงกล่าวว่า
พระผู้มีพระภาค ได้ทรงแสดงธรรมีกถากับนายโคปาลนั้น ผู้นั่งอยู่แล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯลฯ เสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ แล้วเสด็จหลีกไป
ซึ่งข้อความในอรรถกถาต่อไป ท่านผู้ฟังจะได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมประการใดแก่นายโคบาลนั้นบ้าง
ข้อความใน อรรถกถา มีว่า
ในบรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺทสฺเสสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอยู่ซึ่งวิบากแห่งกรรมในกุศลกรรม เป็นต้น โดยพุทธพจน์ เป็นต้นว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ดังนี้ โดยประจักษ์ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า จึงได้ทรงแสดงอริยสัจทั้ง ๔ ประการโดยชอบ ในที่สุดแห่งอนุปุพพิกถา
ก่อนอื่น ต้องแสดงเรื่องของกุศลกรรม และอกุศลกรรม มิฉะนั้น จะไม่มีศรัทธาที่จะเจริญกุศลให้ยิ่งขึ้น หรือว่าละอกุศลจนสามารถที่จะดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทได้ แต่ต้องชี้ให้เห็นจริงๆ ว่า อกุศลเป็นอกุศล และมีโทษที่เป็นวิบากแห่งกรรมนั้นในโลกนี้ และในโลกหน้าอย่างไร
สำหรับในโลกนี้ ผู้ที่มีอายุสั้นก็เห็นอยู่แล้วว่า เป็นวิบากแห่งกรรม หรือว่าผู้ที่มีโรคมาก ก็เป็นผล เป็นวิบาก
สำหรับโลกหน้า ก็มีกรรมนี้เป็นปัจจัย ที่จะทำให้ได้รับความทุกข์ทรมานมากมาย ในทุคติภูมิ
เพราะฉะนั้น เมื่อได้ประจักษ์ในสภาพความจริงของกุศลและอกุศลแล้ว ผู้ที่เข้าใจจริงๆ ย่อมเจริญกุศลยิ่งขึ้น ละอกุศลให้น้อยลง และในที่สุดของอนุปุพพิกถา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอริยสัจทั้ง ๔ ประการโดยชอบ ซึ่งไม่พ้นไปจากเรื่องของการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นทุกขอริยสัจ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่เพียงเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับไป แต่ว่าเกิดสืบต่ออยู่เรื่อยๆ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ ไม่พิจารณา ก็ไม่ประจักษ์ว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๕ ตอนที่ ๓๔๑ – ๓๕๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 301
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 302
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 303
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 304
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 305
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 306
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 307
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 308
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 309
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 310
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 311
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 312
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 313
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 314
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 315
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 316
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 317
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 318
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 319
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 320
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 321
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 322
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 323
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 324
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 325
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 326
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 327
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 328
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 329
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 330
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 331
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 332
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 333
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 334
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 335
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 336
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 337
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 338
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 339
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 340
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 341
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 342
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 343
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 344
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 345
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 346
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 347
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 348
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 349
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 350
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 351
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 352
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 353
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 354
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 355
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 356
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 357
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 358
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 359
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 360