แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 347


    ครั้งที่ ๓๔๗


    อีกประการหนึ่ง ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตตามบ้านหรือนิคม ไม่ได้โภชนะเศร้าหมองหรือประณีตพอแก่ความต้องการ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราเที่ยวบิณฑบาตตามบ้านหรือนิคม ไม่ได้โภชนะเศร้าหมองหรือประณีตพอแก่ความต้องการ ผิฉะนั้น เราจะปรารภความเพียร ฯลฯ นี้เป็นอารัพภวัตถุประการที่ ๖

    (ในพระสูตรไม่ได้กล่าวถึงประการที่ ๕)

    อีกประการหนึ่ง อาพาธเล็กน้อยเกิดขึ้นแก่ภิกษุ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่าอาพาธเล็กน้อยนี้เกิดขึ้นแก่เรา การที่อาพาธของเราจะพึงกลับกำเริบนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ ผิฉะนั้น เราจะปรารภความเพียร ฯลฯ นี้เป็นอารัพภวัตถุประการที่ ๗

    ถ้าเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยบ้าง สติก็ควรที่จะได้ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและ รูปธรรม เพราะไม่แน่ว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นจะมากขึ้นเมื่อไร หรือว่าจะทำให้ชีวิตสิ้นสุดลงเมื่อไร ซึ่งถ้าชีวิตสิ้นสุดลงและยังไม่เป็นพระโสดาบันบุคคล ก็ไม่ทราบว่าภพภูมิต่อไปนั้น ท่านมีโอกาสที่จะเจริญอบรมเจริญสติปัฏฐานเพิ่มพูนขึ้นได้หรือไม่

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อีกประการหนึ่ง ภิกษุหายจากอาพาธแล้ว แต่ยังหายไม่นาน เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราหายจากอาพาธแล้ว แต่ยังหายไม่นาน การที่อาพาธของเราจักพึงกลับกำเริบนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ ผิฉะนั้น จะรีบปรารภความเพียรเสียก่อนเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อกระทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง เธอปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง นี้เป็นอารัพภวัตถุประการที่ ๘

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อารัพภวัตถุ ๘ ประการนี้แล

    ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานด้วยตนเอง และยังไม่ทราบว่า การยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนเหนียวแน่น หนาแน่นมากมายสักเท่าไร ก็อาจจะเข้าใจข้อความในพระสูตรนี้คลาดเคลื่อนไปได้ ท่านอาจจะเข้าใจว่า ข้อความที่ว่า จะรีบปรารภความเพียรเสียก่อนเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อกระทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง

    เมื่อได้ฟังข้อความนี้ ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า ท่านจะต้องรีบไปกระทำความเพียรเพื่อที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ขอให้ท่านคิดว่า ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ ทันทีในแต่ละขณะ ปัญญาก็ไม่เกิด เมื่อปัญญาไม่ถึงความสมบูรณ์ที่จะละกิเลส อะไรอื่นจะละกิเลสได้ไหม จะเอาความพากเพียรอะไร อย่างไรที่จะละกิเลส โดยที่ปัญญาไม่รู้ชัดในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในขณะนี้

    ท่านจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เมื่อไรก็ตาม อีกพันปี สองพันปี ที่ไหนก็ตาม ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมว่า กำลังเห็นนี้เป็นเพียงสภาพรู้ เป็นนามธาตุ เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ปะปนกับสี กับเสียง กับกลิ่น กับรส กับรูปใดๆ เลยเป็นสภาพของนามธรรมล้วนๆ ที่เป็นแต่เพียงลักษณะรู้เท่านั้น ซึ่งในขณะที่เห็นเป็นลักษณะที่รู้ทางตา ในขณะที่ได้ยินเป็นลักษณะที่รู้ทางหู คือ รู้เสียง ถ้าปัญญายังไม่สามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยแยกขาดสภาพของนามธรรมจากรูปธรรมจริงๆ ถ้าปัญญาไม่สมบูรณ์ถึงอย่างนี้ ท่านจะรีบไปปรารภความเพียรที่ไหน โดยวิธีไหน อย่างไร

    การที่ปัญญาจะถึงความสมบูรณ์รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตาในขณะนี้ หรือทางหูในขณะที่ได้ยิน ทางจมูกในขณะที่ได้กลิ่น ทางลิ้นในขณะที่ ลิ้มรส ทางกายในขณะที่รู้โผฏฐัพพะ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ก็ด้วยการที่สติระลึกรู้จนชินทีละขณะตามปกติตามธรรมดา

    ถ้าไม่เป็นการสะสมอบรมอย่างนี้ ท่านจะพากเพียรโดยวิธีไหน ที่จะให้ปัญญาสามารถบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ รู้แจ้งธรรมที่ยังไม่รู้แจ้งได้ ก็ไม่มีวิธีอื่นเลย ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหน นอกจากท่านจะฟัง มนสิการ เข้าใจในลักษณะของนามธรรมที่กำลังปรากฏ ในลักษณะของรูปธรรมที่กำลังปรากฏ และสติก็ปรารภ เริ่มที่จะระลึกรู้ตรงลักษณะที่เป็นนามธรรมว่าเป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้ เป็นเพียงสภาพรู้ และสิ่งที่ปรากฏ ก็เป็นแต่เพียงรูปธรรมที่ปรากฏ

    ถ้าเป็นทางตา ก็เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ถ้าเป็นทางหู รูปธรรมก็เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางหู เป็นเสียงต่างๆ ถ้าเป็นปัญญาที่สมบูรณ์ ประจักษ์ชัดจริงๆ ก็เพราะได้อบรมเจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏอยู่แล้วในขณะนี้ตามปกติ จึงจะถึงวิปัสสนาญาณที่เป็นปัญญาที่สมบูรณ์ แต่ไม่ใช่ไปพากเพียรอย่างอื่น นี่เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจ และสามารถจะสอบทานได้ว่าเป็นปัญญาจริงๆ ไม่สงสัยในสภาพรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ หรือว่าในลักษณะของรูปที่ปรากฏ

    มีหลายท่านที่กล่าวว่า ความนึกคิดซึ่งเป็นนามธรรมนี้ ที่จะให้ละคลาย ไม่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ยาก ซึ่งก็จริงใช่ไหม

    เพราะเหตุว่า ทุกขณะมีลักษณะของจริงของนามธรรมและรูปธรรมปรากฏอยู่แล้ว เป็นปกติ แต่พอสติระลึกขณะหนึ่ง ความคิดเกิดแทรกขึ้นด้วยความเป็นตัวตนในขณะนั้นว่า นี่เป็นนามธรรม นี่เป็นรูปธรรม ซึ่งขณะที่ความคิดเกิดขึ้น บังลักษณะของรูปธรรมที่ปรากฏ

    ขณะที่สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของความอ่อน หรือความแข็ง หรือความเย็น หรือความร้อน ขณะที่กำลังมีลักษณะปรากฏ ความคิดนึกยังไม่ปรากฏขึ้นแทรก นั่นเป็นลักษณะปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป แต่ห้ามความคิดไม่ได้

    ความคิดก็เกิดแทรก บังลักษณะอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน เพราะว่า ในขณะนั้นจิตกำลังรู้คำ ว่าขณะนั้นเป็นแต่เพียงรูปธรรมที่ปรากฏทางกาย ในขณะนั้นสติไม่ได้รู้ลักษณะของรูปแข็งหรือรูปอ่อนที่ปรากฏ เพราะว่าความคิดเกิดแทรก และ บังลักษณะของรูปธรรม

    ถึงแม้ว่าความคิดนึกเป็นสิ่งที่รู้ไม่ยากว่าเป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม แต่แม้กระนั้น การที่จะละความยึดถือว่า ความคิดนึกเป็นเราคิดในขณะนั้น ก็ยากที่จะละเพราะเหตุว่าสติยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมอื่นๆ ปัญญายังไม่ได้อบรมเจริญจนกระทั่งสมบูรณ์ ถึงการที่จะประจักษ์ชัดในสภาพของนามธรรม และรูปธรรมตามความเป็นจริง เป็นขั้นๆ

    ทางตา ถ้าเพียงแต่ฟัง โดยการศึกษารู้สึกว่าไม่ยากที่จะรู้ว่า กำลังเห็นเป็นนามธรรม และสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นรูปธรรม แต่ที่จะให้สติระลึกจริงๆ คือ ระลึกลักษณะของรูปธรรมว่า เป็นส่วนที่ปรากฏทางตา และขณะที่กำลังเห็นเป็นเพียงสภาพรู้ ซึ่งถ้าสติไม่น้อมระลึกบ่อยๆ เนืองๆ จนชิน จนแยกขาดออกจากกันได้จริงๆ ก็จะเกิดความสงสัยอยู่ว่า นามธรรมที่เป็นสภาพรู้นี้ แยกขาดออกจากรูปธรรมแล้ว ต่างกันอย่างไร ปรากฏลักษณะของธาตรู้เท่านั้น เป็นอย่างไร ไม่ว่าจะทางตา หรือ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น หรือทางกาย ก็ยากทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น การปรารภความเพียร อย่าคิดที่จะกระทำอย่างอื่น นอกจากสติระลึกทันทีในขณะนี้ ที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยิน เพื่อที่จะอบรมให้ปัญญาสามารถที่จะรู้ชัด ประจักษ์ชัด และแทงตลอดได้ในสภาพที่ต่างกัน ซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นนามธรรมที่รู้และในลักษณะของสิ่งที่เป็นรูปธรรม ที่ไม่ใช่สภาพรู้

    เวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะที่อ่อนหรือที่แข็ง ลักษณะที่อ่อนหรือแข็งปรากฏในขณะที่สติระลึกรู้ แต่เวลาที่ความคิดเกิดแทรก ชั่วขณะนั้นที่คิด ไม่รู้ลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง ผู้ที่จะเป็นพระอริยเจ้า เป็นบุคคลที่ตรง ต้องรู้หนทางและวิธีว่า จะเจริญอบรมอย่างไรจึงจะเกิดปัญญาที่สมบูรณ์ ที่สามารถจะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมได้

    มีท่านหนึ่งอุปมาความเข้าใจของท่าน และการปฏิบัติของท่านว่า ขณะที่ท่านมีความเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานนี้ เหมือนกับว่า ท่านได้เห็นแสงไฟที่อยู่ไกล ความสว่างนั้น หรือความแจ่มกระจ่างชัดที่เป็นปัญญาโดยสมบูรณ์นั้น ยังไม่ถึง แต่ตราบใดที่ยังมีแสง คือ ความเข้าใจถูก ก็ย่อมจะน้อมนำ ทำให้ไปถึงความสว่าง หรือความรู้ชัดเจนที่จะประจักษ์ในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมได้ โดยไม่หลงไปทางอื่นที่ไม่ปรากฏแม้แต่แสงของความเข้าใจ เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจเรื่องลักษณะของสติ ขณะใดที่มีสติ ก็รู้ตรงลักษณะที่กำลังปรากฏ ขณะที่หลงลืมสติ ก็รู้ แต่การที่จะให้ผลเกิดขึ้นทันที เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะคำว่าภาวนา คำว่าปฏิบัติ คือ อบรมเจริญเรื่อยๆ เนืองๆ เพื่อให้ถึงความสมบูรณ์ของปัญญา เมื่อเหตุสมควรแก่ผลแล้ว ผล คือ ปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งในสภาพนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ก็ย่อมจะมีได้

    ถ. เรื่องวิปัสสนา ที่กำลังสนทนากันนี้ ผมมีความเข้าใจว่า นึกเอาง่ายๆ ในการปฏิบัติว่า รู้ รูป ไม่ใช่ รู้ รูป ไม่ใช่ จะได้ไหม

    สุ. เป็นอย่างไร รู้ รูป ไม่ใช่

    ถ. รู้ คือ นาม รูป คือ รูป ๒๘ ไม่ใช่ คือ ตัวตนไม่ใช่ อย่างนี้จะได้ไหม

    สุ. ที่คิดว่าไม่ใช่ ไม่ใช่นั้นเป็นตัวตนคิดหรือเปล่า

    ถ. ตัวตน คือ เราคิด ผิดแล้ว

    สุ. ที่ว่าไม่ใช่ๆ เป็นตัวตนที่กำลังว่าไม่ใช่ๆ

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่สติจะต้องระลึก และมีลักษณะที่ปรากฏว่าไม่ใช่ตัวตนจริงๆ เช่น ทางกาย กำลังรู้ลักษณะสภาพที่แข็ง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่เพราะสติไม่ระลึกจึงไม่รู้ ซึ่งสติจะต้องระลึก จนรู้

    ธรรมเป็นเรื่องที่ยาก เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง เพราะว่าเป็นการประจักษ์ชัดของผู้ที่ได้อบรมเจริญพระบารมี จนได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น เรื่องที่จะศึกษา ก็เป็นเรื่องที่ละเอียด และเรื่องที่จะปฏิบัติตาม ก็ต้องเป็นเรื่องที่ละเอียด และละเอียดยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งโอกาสที่จะได้ฟังธรรมและปฏิบัติธรรม ที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ให้ประพฤติปฏิบัติตามนั้น เป็นโอกาสที่ยากอย่างยิ่ง

    อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต อักขณสูตร มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมกล่าวว่า โลกได้ขณะจึงทำกิจๆ แต่เขาไม่รู้ขณะหรือมิใช่ขณะ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กาลมิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ๘ ประการนี้

    ๘ ประการเป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม และธรรมอันพระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดง นำความสงบมาให้ เป็นไปเพื่อปรินิพพาน ให้ถึงการตรัสรู้ อันพระสุคตเจ้าประกาศแล้ว แต่บุคคลผู้นี้ เข้าถึงนรกเสีย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ นี้มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๑

    โอกาสยากไหมที่จะได้ฟังพระธรรม ที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ทรงประกาศ ทรงแสดง ถ้าไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ และไม่ได้อยู่ในสมัยที่ พระธรรมยังสมบูรณ์อยู่ครบถ้วน ไม่มีโอกาสที่จะได้ศึกษาให้เข้าใจในเหตุผลที่จะประพฤติปฏิบัติตาม สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ในขณะนี้ได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ นี้มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๑ คือ เมื่อบุคคลผู้นี้เข้าถึงนรกเสีย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อีกประการหนึ่ง ตถาคตอุบัติขึ้นในโลก ฯลฯ เป็นผู้จำแนกธรรม และธรรม อันพระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดง ... แต่บุคคลผู้นี้เข้าถึงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเสีย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๒

    ถ้าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ฟังแล้วก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง สติไม่สามารถจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อีกประการหนึ่ง ฯลฯ แต่บุคคลนี้เข้าถึงปิติวิสัยเสีย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๓

    อีกประการหนึ่ง ฯลฯ แต่บุคคลนี้เข้าถึงเทพนิกายผู้มีอายุยืน ชั้นใดชั้นหนึ่งเสีย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๔

    อีกประการหนึ่ง ฯลฯ แต่บุคคลนี้กลับมาเกิดในปัจจันตชนบท และอยู่ในพวก มิลักขะ ไม่รู้ดีรู้ชอบ อันเป็นสถานที่ไม่มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาไปมา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๕

    เลือกไม่ได้เลยว่า ท่านจะอยู่ในสมัยไหน ในขณะไหน ขณะนี้อยู่ในสมัยที่ พระธรรมของพระผู้มีพระภาคยังครบถ้วนสมบูรณ์อยู่ ที่จะได้ศึกษาปฏิบัติตาม แต่ต่อไปไม่ทราบว่า จะเป็นขณะและสมัยที่ท่านจะได้ประพฤติพรหมจรรย์ คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐานมรรคมีองค์ ๘ หรือไม่

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อีกประการหนึ่ง ฯลฯ แต่บุคคลนี้กลับมาเกิดในมัชฌิมชนบท แต่เขาเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริตว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยันต์ที่บูชาแล้วไม่มีผล การบวงสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ทั้งหลายที่ผุดเกิดขึ้นไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ กระทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสั่งสอนประชุมชนให้รู้ตาม ไม่มีในโลก ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๖

    ถ้าท่านจะพิจารณาบุคคลบางท่านในสมัยนี้ ใกล้ต่อการที่จะคิดและเชื่อว่า ผลวิบากแห่งกรรมดี กรรมชั่วไม่มี ถ้าเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ขณะ ไม่ใช่สมัย ในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ คือ ไม่มีโอกาสที่จะได้อบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อีกประการหนึ่ง ฯลฯ แต่บุคคลนี้กลับมาเกิดในมัชฌิมชนบท แต่เขามีปัญญาทราม บ้า ใบ้ ไม่สามารถรู้อรรถแห่งสุภาษิตและทุภาษิต ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๗

    การที่จะทราบว่า บุคคลใดมีปัญญาทราม หรือว่าไม่มีปัญญาทราม คือ พิจารณาสภาพธรรมที่เป็นเหตุเป็นผล สามารถที่จะรู้ในสุภาษิตและทุภาษิตได้หรือไม่ ถ้าเข้าใจผิด เห็นว่า คำพูดที่ไม่ถูกต้องเป็นทุภาษิตนั้น เป็นของจริง ของถูก ก็เป็นเครื่องชี้ว่า เป็นผู้ที่มีปัญญาทราม ซึ่งก็ไม่ใช่ขณะ ไม่ใช่สมัย ในการที่จะเจริญอบรมมรรคมีองค์ ๘ ได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อีกประการหนึ่ง ตถาคตอุบัติแล้วในโลก เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ธรรมอันนำความสงบมาให้ เป็นไปเพื่อปรินิพพาน ให้ถึงการตรัสรู้ อันพระสุคตเจ้าทรงประกาศแล้ว แต่พระตถาคตมิได้แสดง ถึงบุคคลผู้นี้จะเกิดในมัชฌิมชนบท และมีปัญญา ไม่บ้าใบ้ ทั้งสามารถจะรู้อรรถแห่งสุภาษิตและทุภาษิตดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะมิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๘

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กาลอันมิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ๘ ประการนี้แล

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ส่วนขณะและสมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ มีประการเดียว ประการเดียวเป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม และธรรมอันตถาคตทรงแสดง เป็นธรรมนำความสงบมาให้ เป็นไปเพื่อปรินิพพาน ให้ถึงการตรัสรู้ พระสุคตเจ้าทรงประกาศแล้ว และบุคคลนี้เกิดในมัชฌิมชนบท ทั้งมีปัญญา ไม่บ้าใบ้ สามารถเพื่อจะรู้อรรถแห่งสุภาษิต และทุภาษิตได้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นขณะและสมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ประการเดียว.



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๕ ตอนที่ ๓๔๑ – ๓๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 38
    28 ธ.ค. 2564