แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 349
ครั้งที่ ๓๔๙
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ปุณณิยะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา เข้าไปหา เข้าไปนั่งใกล้ สอบถาม เงี่ยโสตลงสดับธรรม และฟังแล้วทรงจำไว้ แต่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้เพียงใด ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมไม่แจ่มแจ้งเพียงนั้น แต่เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา ฯลฯ และพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ เมื่อนั้น ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมแจ่มแจ้ง
ดูกร ปุณณิยะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา ฯลฯ และพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ แต่ไม่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมเพียงใด ธรรมแทศนาของตถาคตย่อมไม่แจ่มแจ้งเพียงนั้น แต่เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา ฯลฯ พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ และรู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เมื่อนั้น ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมแจ่มแจ้ง
ดูกร ปุณณิยะ ธรรมเทศนาของตถาคต ผู้มีปฏิภาณโดยส่วนเดียว อันประกอบด้วยธรรมเหล่านี้แล ย่อมแจ่มแจ้ง
ประการสุดท้าย ข้อความที่ว่า พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ และรู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เมื่อนั้น ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมแจ่มแจ้ง ไม่ใช่เพียงแต่ฟังเฉยๆ หรือไม่ใช่ว่าเพียงแต่ฟัง สอบถาม แต่ไม่ทรงจำ หรือถึงแม้ว่าจะฟัง สอบถาม ทรงจำ แต่ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ถ้าไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม จะเข้าใจอรรถในธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงได้แจ่มแจ้งไหม
ถึงแม้ว่าท่านจะท่องได้ หรือจะรู้ว่าจักขุวิญญาณเป็นนามธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา ในขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ เป็นอนัตตาหรือยัง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนหรือยัง เป็นสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปหรือยัง เพราะฉะนั้น แจ่มแจ้งหรือยัง ธรรมที่ได้ศึกษาทั้งหมดที่เป็นปริยัติธรรม ถ้าไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม จะไม่ประจักษ์ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ชื่อว่า ยังไม่รู้แจ่มแจ้งในสภาพธรรมที่ได้ศึกษา
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรม กับการศึกษาธรรมนั้น จะต้องเป็นการรู้แจ่มแจ้งในสภาพธรรมที่เป็นของจริง ที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้นั่นเอง
ท่านที่เข้าใจว่า การปฏิบัติธรรม กับการศึกษาธรรม คือ ปริยัติธรรมนั้น ไม่ตรงกัน หรือว่าการปฏิบัติ ไม่ใช่ให้รู้อย่างปริยัติที่ได้ศึกษามา ถ้าเป็นอย่างนั้น จะไม่มีประโยชน์เลย เพราะว่าไม่มีอะไรที่จะทำให้สามารถรู้แจ่มแจ้งในปริยัติที่ได้ศึกษา
เพราะฉะนั้น หนทางเดียวที่จะทำให้รู้ธรรม รู้อรรถ เข้าใจแจ่มแจ้งในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็ด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมเท่านั้น
การปฏิบัติธรรมต้องตรงกับปริยัติ ซึ่งการปฏิบัติธรรมที่ตรงกับปริยัติ จะทำให้รู้แจ่มแจ้งในธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงแล้ว
สำหรับเรื่องการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็แล้วแต่แต่ละท่านที่มีชีวิตต่างกันไป โดยที่ว่าชีวิตของท่านเป็นอย่างไร ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ไม่ใช่ว่าท่านพยายามพากเพียรที่จะไปรู้ชีวิตอื่นที่ไม่ใช่ชีวิตจริงๆ ของท่าน ซึ่ง พุทธบริษัทที่เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น ก็มีตั้งแต่ผู้ที่เป็นพระราชา ทาส กรรมกร ตลอดจนผู้ที่มีอาชีพต่างๆ กันไป และการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานนั้น ไม่ว่าท่านจะเป็นบุคคลใด มีอาชีพใดก็ตาม จะทำให้การดำเนินชีวิตของท่านเป็นไปในทางที่ถูก เป็นไปในทางที่ควร พร้อมกับการเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานด้วย
ถ้าท่านพิจารณาชีวิต จะเห็นได้ว่า บางครั้งก็มีการกระทำผิด มีการปฏิบัติผิด มีการประพฤติผิดหลายอย่าง แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน สติจะมีความชำนาญขึ้น ในการที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมที่เป็นกุศล เป็นอกุศล และ ละเว้นสภาพธรรมที่เป็นอกุศล อบรมเจริญสภาพธรรมที่เป็นกุศลได้ยิ่งขึ้น แม้ไม่ถึงกับเป็นสติที่ระลึกรู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม แต่สติก็เกื้อกูล และมีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตในทางกุศลได้มากขึ้น
ขอกล่าวถึง ขุททกนิกาย ชาดก วิธุรชาดก
ท่านผู้ฟังอาจจะสงสัยว่า ชาดกต่างๆ จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจริญ สติปัฏฐานอย่างไรหรือไม่ ซึ่งก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อที่จะให้ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงบำเพ็ญบารมี คือ การเจริญสติปัฏฐานในอดีตด้วย ถ้าเพียงแต่ ทรงปรารถนาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระอริยเจ้าเพราะฉะนั้น ในพระชาติต่างๆ ที่ทรงบำเพ็ญบารมี ท่านผู้ฟังจะเห็นข้อความที่มีประโยชน์มากในการดำเนินชีวิตของพุทธบริษัท ซึ่งเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานเพราะถ้าท่านเพียงแต่จะเจริญสติปัฏฐานโดยที่ไม่สำรวจชีวิตของท่านเลยว่า ชีวิตของท่านนั้นเป็นกุศลอย่างไร หรือว่าเป็นอกุศลอย่างไร แม้ว่าท่านพากเพียรที่จะดับกิเลส ท่านอาจจะเพิ่มกิเลสให้หนาแน่น ซึ่งยากแก่การที่จะละคลาย ยากแก่การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม
ข้อความโดยย่อใน วิธุรชาดก มีว่า
พระนางวิมลา มเหสีของท้าววรุณนาคราช ปรารถนาหทัย คือ หัวใจของ วิธุรบัณฑิต
เรื่องของปาณาติบาต เป็นเรื่องที่ต้องการหัวใจของบัณฑิต เพราะรู้ว่ายากอย่างยิ่งที่จะได้มา เพราะว่าบัณฑิตย่อมเป็นผู้ที่ฉลาด เพราะฉะนั้น การที่จะได้หทัย หรือหัวใจของบัณฑิต ก็เป็นสิ่งที่ยากที่สุดที่จะได้
และปุณณกยักษ์ก็มีความปรารถนาในธิดาของท้าววรุณนาคราชผู้มีนามว่า อิรันทดี ท้าววรุณนาคราชได้ให้ปุณณกยักษ์ไปเอาหัวใจของวิธุรบัณฑิตมาให้ก่อน จึงจะยกธิดาให้ปุณณกยักษ์
นี่เป็นชีวิตธรรมดาปกติ เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังทรงบำเพ็ญพระบารมี และในพระชาตินั้น เป็นวิธุรบัณฑิต
เมื่อได้ทราบเงื่อนไขอย่างนี้ ปุณณกยักษ์ก็ได้ไปท้าพนันสะกากับพระราชา เพราะว่าวิธุรบัณฑิตเป็นผู้ทำการสั่งสอนอรรถธรรมแก่พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยราช เพราะฉะนั้น ปุณณกยักษ์ก็ได้ไปท้าพนันสะกากับพระราชา เมื่อชนะพระราชาแล้ว ก็ได้ทูลขอพระราชทานทรัพย์อันประเสริฐของพระองค์ คือ วิธุรบัณฑิต
ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก
ปุณณกยักษ์กราบทูลพระราชาว่า
ช้าง ม้า โค แก้วมณี กุณฑล และแก้วอื่นใดที่มีอยู่ในแผ่นดินของพระองค์บัณฑิตมีนามว่าวิธุระ เป็นแก้วอันประเสริฐกว่าทรัพย์เหล่านั้น ข้าพระองค์ชนะพระองค์แล้ว โปรดพระราชทานวิธุรบัณฑิตแก่ข้าพระองค์เถิด
พระราชาตรัสตอบว่า
วิธุรบัณฑิตนั้นเป็นตัวของเรา เป็นที่พึ่ง เป็นคติ เป็นเกาะ เป็นที่เร้น และเป็นที่ไปในเบื้องหน้าของเรา ท่านไม่ควรจะเปรียบวิธุรบัณฑิตนั้นกับทรัพย์ของเรา วิธุรบัณฑิตนั้นเช่นกับชีวิตของเรา คือ เป็นตัวเรา
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็ควรจะได้ทราบว่า ทรัพย์ของท่านทั้งหมดที่มีอยู่ กับปัญญา ทรัพย์อะไรจะประเสริฐกว่ากัน สำหรับผู้ที่เห็นค่าของปัญญา ย่อมเห็นว่าปัญญานั้นประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหมด
ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า
การโต้เถียงกันของข้าพระองค์และพระองค์ จะพึงเป็นการช้านาน ขอเชิญเสด็จไปถามวิธุรบัณฑิตกันดีกว่า ให้วิธุรบัณฑิตนั้นแล ชี้แจงเนื้อความนั้น วิธุรบัณฑิตจะกล่าวคำใด คำนั้นจงเป็นอย่างนั้นแก่เราทั้งสอง
พระราชาตรัสว่า
ดูกร มานพ ท่านพูดจริงแท้ทีเดียว และไม่ผลุนผัน เราไปถามวิธุรบัณฑิตกันเถิดนะ เราทั้งสองคนจงยินดีตามคำที่วิธุรบัณฑิตพูดนั้น
ปุณณกยักษ์เมื่อได้พบวิธุรบัณฑิตแล้ว ได้ถามว่า
เทวดาทั้งหลายย่อมรู้จักอำมาตย์ในแคว้นกุรุรัฐชื่อวิธุระ เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม จริงหรือ การบัญญัติชื่อว่าวิธุระในโลกนั้น ท่านเป็นอะไร คือ เป็นทาส หรือเป็นพระประยูรญาติของพระราชา
ผู้ที่ต้องการ ต้องเป็นผู้ที่ฉลาดพอที่จะถามให้บุคคลนั้นตอบ เพื่อจะได้สิ่งที่ตนต้องการ
วิธุรบัณฑิตตอบว่า
ในหมู่นรชน ทาสมี ๔ จำพวก คือ ทาสครอกจำพวก ๑ ทาสไถ่จำพวก ๑ ทาสที่ยอมตัวเป็นข้าเฝ้าจำพวก ๑ ทาสเชลยจำพวก ๑ แม้ข้าพเจ้าก็เป็นทาสโดยกำเนิดแท้ทีเดียว ความเจริญก็ตาม ความเสื่อมก็ตาม จะมีแก่พระราชา แม้ข้าพเจ้าจะไปยังที่อื่นก็คงเป็นทาสของสมมติเทพนั้นเอง ดูกร มานพ พระราชาเมื่อจะทรงพระราชทานข้าพเจ้าให้เป็นค่าพนันแก่ท่าน ก็พึงพระราชทานโดยธรรม
นี่คือผู้ที่เป็นบัณฑิต คือ เป็นผู้รู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง แต่ละท่านจะเป็นใคร มีภาระ มีกิจ มีหน้าที่อย่างไร มีฐานะ สภาพความเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นอย่างใด ผู้ที่รู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ก็รู้ตามสภาพความเป็นจริงนั้น
ปุณณกยักษ์ได้กราบทูลพระราชาว่า
วันนี้ ความชนะได้มีแก่ข้าพระองค์เป็นครั้งที่ ๒ เพราะว่าวิธุรบัณฑิตผู้เป็นปราชญ์อันข้าพระองค์ถามแล้ว ได้ชี้แจงปัญหาแจ่มแจ้ง พระราชาผู้ประเสริฐไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรมหนอ ไม่ทรงยอมให้วิธุรบัณฑิตแก่ข้าพระองค์
พระราชานั้นเห็นว่า วิธุรบัณฑิตเป็นผู้ที่มีค่าที่สุด เพราะฉะนั้น ก็ไม่ทรงให้ วิธุรบัณฑิตแก่ปุณณกยักษ์ แต่เมื่อวิธุรบัณฑิตกราบทูลพระราชาว่า พระราชาควรที่จะให้วิธุรบัณฑิตเป็นค่าพนันแก่ปุณณกยักษ์
พระราชาตรัสว่า
ดูกร กัจจานะ ถ้าวิธุรบัณฑิตชี้แจงปัญหาแก่เราทั้งหลายอย่างนี้ว่า เราเป็นทาส เราหาได้เป็นญาติไม่ ท่านจงรับเอาวิธุรบัณฑิตผู้เป็นทรัพย์อันประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหลาย พาไปตามที่ท่านปรารถนาเถิด
แต่ก่อนที่จะไป เนื่องจากว่า วิธุรบัณฑิตก็เป็นปราชญ์ผู้ฉลาดอย่างยิ่งในธรรม พระราชาจึงได้ตรัสถามธรรมก่อนที่วิธุรบัณฑิตจะจากไปว่า
ท่านวิธุรบัณฑิต คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือน จะพึงมีความประพฤติอันปลอดภัยได้อย่างไร จะพึงมีความสงเคราะห์ได้อย่างไร จะพึงมีความไม่เบียดเบียนได้อย่างไร และอย่างไรมาณพจึงชื่อว่ามีปกติกล่าวคำสัตย์ จากโลกนี้ไปยังโลกหน้าแล้วจะไม่เศร้าโศกได้อย่างไร
การดำเนินชีวิตปกติประจำวันเป็นสิ่งที่สำคัญ ท่านจะต้องจากโลกนี้ไปโลกหน้าแต่ว่าจะไปอย่างไร ปลอดภัยหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตเป็นปกติประจำวันนี่เอง
ข้อความต่อไปมีว่า
ท่านวิธุรบัณฑิต ผู้มีคติ มีความเพียร มีปัญญา เห็นอรรถธรรมอันสุขุมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ได้กราบทูลพระราชาในโรงธรรมสภานั้นว่า
ผู้ครองเรือนไม่ควรคบหญิงสาธารณะเป็นภรรยา ไม่ควรบริโภคอาหารมีรสอร่อยแต่ผู้เดียว ไม่ควรซ่องเสพถ้อยคำอันให้ติดอยู่ในโลก ไม่ให้สวรรค์นิพพาน เพราะถ้อยคำเช่นนั้น ไม่ทำให้ปัญญาเจริญ ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร ไม่ประมาท มีปัญญาเครื่องสอดส่องเหตุผล มีความประพฤติถ่อมตน ไม่เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น เป็นผู้สงบเสงี่ยม กล่าวถ้อยคำจับใจ อ่อนโยน ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้สงเคราะห์มิตร จำแนกแจกทาน รู้จักจัดทำ พึงบำรุงสมณพราหมณ์ด้วยข้าว น้ำทุกเมื่อ ผู้ครองเรือนถึงเป็นผู้ใคร่ธรรม จำทรงอรรถธรรมที่ได้สดับมาแล้ว หมั่นไต่ถาม พึงเข้าไปหาท่านผู้มีศีลเป็นพหูสูตโดยเคารพ
คฤหัสถ์ผู้ครองเรือน จะพึงมีความประพฤติอันปลอดภัยได้อย่างนี้ จะพึงมีความสงเคราะห์ได้อย่างนี้ จะพึงมีการไม่เบียดเบียนกันได้อย่างนี้ และมาณพพึงปฏิบัติอย่างนี้ จึงจะชื่อว่ามีปกติกล่าวคำสัตย์ จากโลกนี้แล้วไปยังโลกหน้า จะไม่เศร้าโศกได้ด้วยอาการอย่างนี้ พระเจ้าข้า
(นี้) ชื่อฆราวาสปัญหา
ถ้าทุกท่านจำได้ทั้งหมด และประพฤติตามได้ทั้งหมด ท่านจะเป็นผู้ที่ปลอดภัยจริงๆ เริ่มตั้งแต่ ผู้ครองเรือนไม่ควรคบหญิงสาธารณะเป็นภรรยา ไม่ควรบริโภคอาหารมีรสอร่อยแต่ผู้เดียว เคยเป็นอย่างนี้ไหม บริโภคอาหารมีรสอร่อยแต่ผู้เดียว ซึ่งไม่สมควรสำหรับผู้ครองเรือน แต่ควรเป็นผู้ที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เพราะว่าท่านไม่สามารถจะอยู่ได้ลำพังคนเดียวในโลก
ไม่ควรซ่องเสพถ้อยคำอันให้ติดอยู่ในโลก เป็นเรื่องของธรรมทั้งนั้น ซึ่งถ้อยคำที่ให้ติดอยู่ในโลกนั้น ไม่ให้สวรรค์นิพพาน เพราะถ้อยคำเช่นนั้น ไม่ทำให้ปัญญาเจริญ
ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร ไม่ประมาท มีปัญญาเครื่องสอดส่องเหตุผล มีความประพฤติถ่อมตน ไม่เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น
นอกจากนั้นยัง เป็นผู้สงบเสงี่ยม กล่าวถ้อยคำจับใจ อ่อนโยน ผู้ครองเรือนพึงเป็นคนสงเคราะห์มิตร จำแนกแจกทาน รู้จักจัดทำ พึงบำรุงสมณพราหมณ์ด้วยข้าวน้ำทุกเมื่อ
นอกจากนั้น ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้ใคร่ธรรม จำทรงอรรถธรรมที่ได้สดับมาแล้วหมั่นไต่ถาม พึงเข้าไปหาท่านผู้มีศีลเป็นพหูสูตโดยเคารพ นี่ชื่อว่าฆราวาสปัญหาทั้งหมดนี้เป็นฆราวาสธรรม
ข้อความต่อไป เป็นเรื่องของธรรมที่ควรจะได้พิจารณารับฟัง และประพฤติปฏิบัติตามทั้งสิ้น
ปุณณกยักษ์ได้กล่าวกับวิธุรบัณฑิตว่า
เราจะไปกันเดี๋ยวนี้แหละ พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นอิสราธิบดี ทรงพระราชทานท่านให้แก่ข้าพเจ้าแล้ว ขอท่านจงปฏิบัติประโยชน์แก่ข้าพเจ้า ธรรมนี้เป็นของเก่า
คือ เมื่อให้แล้ว ก็ควรที่จะไปกันได้แล้ว
วิธุรบัณฑิตตอบว่า
ดูกร มานพ ข้าพเจ้าย่อมรู้ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้อันท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าเป็นผู้อันพระราชาผู้เป็นอิสราธิบดีพระราชทานแก่ท่านแล้ว แต่ว่าข้าพเจ้าขอให้ท่านพักอยู่ในเรือนสัก ๓ วัน ขอให้ท่านยับยั้งอยู่ ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าสั่งสอนบุตรภรรยาก่อน
ในเมื่อจะต้องจากไป อย่างที่ต้องการหัวใจด้วย ก็คงจะไปสู่ความตายเพราะฉะนั้น เป็นการจากครั้งสุดท้าย ก็ควรที่จะได้สงเคราะห์บุตรภรรยาด้วยการสั่งสอนธรรมเสียก่อน ซึ่งปุณณกยักษ์ก็ยินยอม
ปราสาทของวิธุรบัณฑิตมีอยู่ ๓ คือ โกญจาปราสาท ๑ มยูรปราสาท ๑ ปิยเกตปราสาท ๑ ในปราสาททั้ง ๓ นั้น วิธุรบัณฑิตก็ได้พาปุณณกยักษ์เข้าไปยังปราสาทอันเป็นที่น่ารื่นรมย์ และต้อนรับอย่างดี แล้วท่านเองก็ได้กล่าวสั่งสอน บุตร ธิดาของท่านว่า
พระราชาในพระนครอินทปัตนี้ พระราชทานพ่อให้แก่มาณพแล้ว พ่อพึงมีความสุขของตนเองได้เพียง ๓ วัน ตั้งแต่วันนี้ไป พ้นจากนั้นไป พ่อก็ต้องเป็นไปตามอำนาจของมาณพนั้น เขาจะพาพ่อไปตามที่เขาปรารถนา ก็พ่อมาเพื่อสั่งสอนลูกทั้งหลาย พ่อยังไม่ได้ทำเครื่องป้องกันให้แก่ลูกทั้งหลายแล้ว จะพึงไปได้อย่างไร
ถ้าว่าพระราชาผู้ปกครองกุรุรัฐ ผู้มีพระราชสมบัติอันน่าใคร่เป็นอันมาก ทรงต้องการกัลยาณมิตร จะพึงตรัสถามลูกทั้งหลายว่า เมื่อก่อนเจ้าทั้งหลายย่อมรู้เหตุ เก่าๆ อะไรบ้าง พ่อของเจ้าทั้งหลายได้พร่ำสอนอะไรไว้ในกาลก่อนบ้าง ถ้าแหละพระราชาจะพึงมีพระราชโองการตรัสว่า เจ้าทั้งปวงเป็นผู้มีอาสนะเสมอกันกับเรา ในราชสกุลนี้ มนุษย์คนไรซึ่งจะมีชาติสกุลสมควรกับพระราชาไม่มี ลูกทั้งหลายพึงถวายบังคมกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ พระองค์อย่าได้รับสั่งอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า เพราะข้อนี้มิใช่ธรรมเนียม ขอเดชะ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีชาติต่ำต้อย ไม่สมควรมีอาสนะเสมอด้วยพระองค์ผู้สูงศักดิ์ เหมือนสุนัขจิ้งจอกผู้มีชาติต่ำต้อย จะพึงมีอาสนะเสมอด้วยพระยาไกรสรราชสีห์อย่างไรได้ พระเจ้าข้า
จบ ลักขกัณฑ์
ดูเหมือนกับว่าเป็นคำสอนธรรมดา แต่ท่านจะพิจารณาได้ว่า เพื่อให้ได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงนั่นเอง เพราะเหตุว่าในราชสกุลนี้ มนุษย์คนไรซึ่งจะมีชาติสกุลสมควรกับพระราชาไม่มี
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๕ ตอนที่ ๓๔๑ – ๓๕๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 301
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 302
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 303
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 304
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 305
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 306
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 307
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 308
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 309
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 310
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 311
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 312
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 313
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 314
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 315
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 316
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 317
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 318
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 319
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 320
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 321
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 322
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 323
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 324
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 325
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 326
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 327
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 328
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 329
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 330
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 331
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 332
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 333
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 334
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 335
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 336
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 337
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 338
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 339
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 340
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 341
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 342
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 343
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 344
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 345
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 346
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 347
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 348
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 349
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 350
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 351
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 352
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 353
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 354
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 355
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 356
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 357
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 358
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 359
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 360