แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 305


    ครั้งที่ ๓๐๕


    เพราะฉะนั้น ถึงเทพจะมีจริง ท่านควรจะติดในเทพ พึ่งพาเทพ หรือว่าท่านควรจะละการผูกพันในเทพ ไม่ว่าท่านกำลังเห็นเทพก็ตาม ซึ่งไม่เห็นแน่ๆ ถ้าไม่พร้อมด้วยเหตุปัจจัยที่จะให้เห็นเทพ แต่ถึงแม้ว่า เหตุสมควรแก่การที่จะได้เห็นเทพจริงๆ ท่านควรที่จะติดในเทพ หรือว่าควรจะละด้วยสติที่ระลึกได้ รู้ในสภาพที่เห็น และในสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น และถ้าท่านไม่เห็นเทพ ควรไหมที่จะติดในเทพ ถ้าท่านควรจะละ ท่านก็เป็นผู้ที่ควรระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ และจะไม่เป็นผู้ที่หลอกตัวเองด้วย

    เพราะฉะนั้น ถึงแม้เทพจะมีจริง และมีใครบอกว่าเห็นเทพ ท่านผู้ฟังก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า ผู้ที่กล่าวเช่นนั้นมีจุดประสงค์อะไร และเห็นจริงหรือเปล่า มีเหตุปัจจัยสมควรที่จะให้เห็นเทพได้จริงไหม หรือว่าเป็นแต่เพียงความคิด ที่คิดว่าเห็นเทพ หรือว่าได้พูดกับเทพ

    ขอกล่าวถึงบุคคลในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน และเป็นผู้ที่เห็นเทพจริงๆ ใน ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค มหาลิสูตร มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารสาลาในป่ามหาวัน เขตเมือง เวสาลี สมัยนั้น พวกพราหมณทูตชาวโกศลรัฐ และพราหมณทูตชาวมคธรัฐมากด้วยกัน พักอยู่ที่ในเมืองเวสาลีนั้นด้วยกิจธุระบางประการ พราหมณทูตสองพวกนั้นก็ได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารสาลาในป่ามหาวัน และพราหมณทูตทั้งสองพวกนั้นก็ได้สดับเกียรติศัพท์อันงามของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งนั้น พราหมณทูตทั้งสองพวกนั้น ก็ได้เข้าไปยังกูฏคารสาลาในป่ามหาวัน เพื่อไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค

    สมัยนั้น ท่านพระนาคิตเถระเป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค พราหมณทูตสองพวกนั้นก็ได้เข้าไปหาท่านพระนาคิตเถระ และได้ถามว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่ไหน พวกตนประสงค์ที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซึ่งท่านพระนาคิตเถระก็ได้ตอบว่า เวลานี้ยังไม่ควรจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพราะพระองค์ประทับหลีกเร้นอยู่ พวกพราหมณทูตทั้งสองพวกนั้นก็นั่งคอย ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ที่พระวิหารนั้น

    ฝ่ายเจ้าโอฏฐัทธลิจฉวี พร้อมด้วยบริษัทลิจฉวีหมู่ใหญ่ ก็ได้ไปหาท่านพระ นาคิตเถระ แล้วก็ได้ถามว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่ไหน พวกตนประสงค์ที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซึ่งท่านพระนาคิตเถระก็ได้ตอบว่า เวลานี้ยังไม่ควรจะเฝ้า พระผู้มีพระภาค เพราะพระองค์ประทับหลีกเร้นอยู่ บริษัทลิจฉวีก็ได้นั่งคอย ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ที่พระวิหารนั้น

    ครั้งนั้น สามเณรสีหะ เห็นพวกพราหมณทูตมากด้วยกัน และบริษัทเจ้าลิจฉวีหมู่ใหญ่นั่งคอยเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค สามเณรสีหะก็ได้เข้าไปหาท่านพระนาคิตะ แล้วก็ได้ขอให้หมู่ชนเหล่านั้นได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเถิด ซึ่งท่านนาคิตเถระก็ได้ให้สามเณรสีหะไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

    พระผู้มีพระภาครับสั่งให้สามเณรสีหะจัดอาสนะในร่ม หลังพระวิหาร แล้วเสด็จออกจากพระวิหารไปประทับ ณ อาสนะที่สามเณรสีหะจัดไว้ในร่ม หลังพระวิหาร พวกพราหมณทูต และบริษัทลิจฉวีหมู่ใหญ่ ก็ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ

    ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎก มีข้อความว่า

    เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันก่อนๆ สุนักขัตตลิจฉวีบุตรได้เข้าไปหาข้าพระองค์ แล้วบอกว่า มหาลิ ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าอาศัยพระผู้มีพระภาคอยู่ไม่ทันถึง ๓ ปี ข้าพเจ้าก็ได้เห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด แต่ไม่ได้ยินเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เสียงทิพย์อันไพเราะประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดที่สุนักขัตตลิจฉวีบุตรไม่ได้ยินนั้น มีอยู่หรือไม่

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    มี มหาลิ มิใช่ไม่มี

    เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีทูลถามว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่มิให้สุนักขัตตลิจฉวีบุตรได้ยินเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดที่มีอยู่ มิใช่ว่าไม่มีนั้น

    ถ้าท่านผู้ฟังสังเกตพยัญชนะที่สุนักขัตตลิจฉวีบุตรได้ไปหาเจ้าโอฏฐัทธลิจฉวี แล้วบอกว่า ตลอดเวลาที่อาศัยพระผู้มีพระภาคอยู่ไม่ทันถึง ๓ ปี ก็ได้เห็นรูปทิพย์อันน่ารัก แต่ว่าไม่ได้ยินเสียงทิพย์

    นี่เห็นรูปทิพย์จริงๆ และท่านที่กล่าวว่า ท่านเห็นเทพนี้ ท่านเห็นรูปอะไร เป็นทิพย์อย่างไร นี่ก็เป็นสิ่งที่ควรจะได้ทราบถึงความเป็นรูปทิพย์จริงๆ กับสิ่งที่เพียงเป็นมโนภาพที่สร้างขึ้นและเข้าใจว่าเป็นเทพ แต่แม้กระนั้นผู้ที่ได้เห็นรูปทิพย์ ก็ไม่ได้ยินเสียงทิพย์ ซึ่งมี ไม่ใช่ว่าไม่มี แต่เพราะไม่ได้เจริญเหตุปัจจัยที่จะให้ได้ยินเสียงทิพย์ ก็ไม่ได้ยินเสียงทิพย์ แม้แต่การที่จะเห็นรูปทิพย์ การที่จะได้ยินเสียงทิพย์ ก็จะต้องเป็นเพราะเหตุปัจจัยที่สมควร ไม่ใช่ว่าใครก็ตามเพียงทำสมาธิเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ แล้วก็จะได้เห็นรูปทิพย์ ได้ยินเสียงทิพย์

    ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบเจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีว่า

    ดูกร มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศตะวันออก แต่มิได้เจริญเพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วน เมื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศตะวันออก แต่มิได้เจริญเพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เธอจึงเห็นแต่รูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศตะวันออก มิได้ฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ข้อนั้นเพราะเหตุไร

    ดูกร มหาลิ ทั้งนี้เพราะภิกษุนั้น เจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศตะวันออก แต่มิได้เจริญ เพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด

    เพียงแต่ฟังพยัญชนะว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญสมาธิเฉพาะส่วน ท่านผู้ฟังไม่ควรจะคิดว่า เพียงสมาธิเล็กๆ น้อยๆ แต่หมายความว่า ท่านผู้นั้นจะต้องเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งบรรลุถึงฌานจิต ทั้งรูปฌานและอรูปฌานอย่างแคล่วคล่อง มีความชำนาญ ฝึกหัดน้อมไปที่จะใช้สมาธิที่เป็นอัปปนาสมาธิที่เป็นฌานจิตนั้น ในการที่จะได้เห็นรูปทิพย์ ซึ่งแล้วแต่ว่าความสามารถของท่านผู้นั้น จะเห็นได้ใกล้ไกล มากน้อยเท่าไร แต่ก็ยังแล้วแต่ทิศอีก

    ซึ่งข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสถึงภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด แต่มิได้เจริญเพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดในทิศใต้ ในทิศตะวันตก ทิศตะวันออก ในทิศเหนือ ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเบื้องขวาง

    แยกกันเป็นแต่ละทิศๆ โดยนัยเดียวกัน นี่ก็ต้องแล้วแต่การฝึกหัดความชำนาญที่จะให้ได้เห็นรูปทิพย์ในทิศใด

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสถึง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด แต่มิได้เจริญเพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศตะวันออก ในทิศใต้ ในทิศตะวันตก ในทิศเหนือ ในทิศเบื้องบน ในทิศเบื้องต่ำ ในทิศเบื้องขวาง แยกเป็นแต่ละทิศๆ โดยนัยเดียวกัน

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสถึง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญสมาธิโดยส่วน ๒ เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก และเพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศตะวันออก ในทิศใต้ ในทิศตะวันตก ในทิศเหนือ ในทิศเบื้องบน ในทิศเบื้องต่ำ ในทิศเบื้องขวาง แยกเป็นแต่ละทิศๆ โดยนัยเดียวกัน

    ซึ่งพระสูตรนี้จะช่วยเกื้อกูลท่านผู้ฟังที่อาจจะเคยได้ทราบว่า ท่านผู้ใดเห็นเทพ ให้ได้พิจารณาว่า ผู้ที่กล่าวนั้นเห็นจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าเป็นแต่เพียงมโนภาพ และเข้าใจว่าเห็น หรือเข้าใจว่าได้ยินเสียงทิพย์

    ข้อความต่อไปมีว่า

    เมื่อเจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีได้ฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคดังนี้แล้ว ก็ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายเห็นจะประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อเหตุจะทำให้แจ้งซึ่งสมาธิภาวนาเหล่านั้นเท่านั้น

    นี่เป็นความเข้าใจของบางท่านที่คิดว่า พระศาสนานั้นเพียงที่จะเห็นสิ่งต่างๆ ที่น่าอัศจรรย์ เป็นต้นว่า เห็นรูปทิพย์บ้าง หรือฟังเสียงทิพย์บ้าง ก็อัศจรรย์ เข้าใจว่า นี่เป็นผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมในพระศาสนา

    ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า

    ดูกร มหาลิ มิใช่ภิกษุทั้งหลายจะประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพื่อเหตุกระทำให้แจ้งซึ่งสมาธิภาวนาเหล่านั้นเท่านั้น ดูกร มหาลิ ธรรมเหล่าอื่นที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพื่อเหตุกระทำให้แจ้งอันดีกว่าและประณีตกว่า ยังมีอยู่

    เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อเหตุกระทำให้แจ้งอันดีกว่าและประณีตกว่านั้น เป็นไฉน

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นโสดาบัน มีความเป็นผู้ไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า เพราะสังโยชน์ ๓ หมดสิ้นไป

    ดูกร มหาลิ ธรรมนี้แล ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพื่อเหตุกระทำให้แจ้ง อันดีกว่าและประณีตกว่า

    สำหรับสังโยชน์ ๓ คือ ธรรมที่พระโสดาบันบุคคลละ คือ สักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑

    สักกายทิฎฐิ คือ การยึดถือสภาพธรรมที่ประชุมรวมกันเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้น ถ้ายังคงไม่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็ยังคงมีวิจิกิจฉา มีความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิด เป็นแต่เพียงลักษณะของรูปธรรมจริงๆ แต่ละชนิด เมื่อไม่ประจักษ์แจ้ง ความสงสัยก็ยังไม่หมดสิ้น

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร มหาลิ ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นสกทาคามี มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียว จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เพราะสังโยชน์ ๓ หมดสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ โมหะเบาบางไป

    ดูกร มหาลิ แม้นี้ก็เป็นธรรมที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพื่อเหตุจะทำให้แจ้ง อันดีกว่าและประณีตกว่า

    การดับกิเลสได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉทจริงๆ ไม่ใช่เพียงละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสเท่านั้น แต่การที่จะดับกิเลสให้หมดสิ้นจนกระทั่งไม่มีกิเลสเหลือเลยนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เป็นลำดับขั้น

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร มหาลิ ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุไปเกิดในภพสูง ปรินิพพานในภพนั้น ไม่ต้องเวียนกลับมาจากโลกนั้น เพราะสังโยชน์ส่วนเบื้องต่ำ ๕ ประการหมดสิ้นไป

    ดูกร มหาลิ แม้นี้ก็เป็นธรรมที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพื่อเหตุจะทำให้แจ้ง อันดีกว่าและประณีตกว่า

    การบรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล สามารถที่จะดับสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ คือ สักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑ กามฉันทะ ๑ พยาปาทะ ๑ นี่เป็นการดับกิเลส ที่ทำให้บุคคลนั้นบรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล แต่กิเลสก็ยังมีเหลืออีก ที่จะต้องดับหมดเป็นสมุจเฉท

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร มหาลิ ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ เพราะสิ้นอาสวะอยู่ในปัจจุบัน

    ดูกร มหาลิ แม้นี้ก็เป็นธรรมที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพื่อเหตุกระทำให้แจ้ง อันดีกว่าและประณีตกว่า

    ดูกร มหาลิ เหล่านี้แล ธรรมทั้งหลายที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพื่อเหตุกระทำให้แจ้ง อันดีกว่าและประณีตกว่า

    คือ สามารถที่จะดับกิเลสได้หมดสิ้น ไม่มีเลย เป็นพระอรหันต์ ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังจะสังเกตพยัญชนะนี้ จะมีข้อความว่า บรรลุเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ บรรลุเจโตวิมุติด้วยการเป็นผู้รู้แจ้งอริยสัจธรรมพร้อมด้วยฌานจิต เป็นพระอริยเจ้าที่ประกอบด้วยฌานสมาบัติ เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่เจริญอบรมสมถภาวนา และในขณะที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น ก็ประกอบพร้อมด้วยองค์ของฌานที่เป็นผลของการเจริญสมถภาวนาด้วย แต่สำหรับผู้ที่เป็นปัญญาวิมุติ คือ ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ไม่ได้ประกอบด้วยสมาธิขั้นอัปปนาที่เป็นผลของการเจริญสมถภาวนา

    ที่เป็นอย่างนี้ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า การรู้แจ้งอริยสัจธรรมของแต่ละบุคคลนั้น แล้วแต่บุคคล แล้วแต่อัธยาศัย แล้วแต่การสะสม แม้เป็นบรรพชิต ก็ไม่ใช่ว่าบรรพชิตทุกคนจะเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งบรรลุฌานจิตและรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะเหตุว่าการรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น เป็นการรู้สภาพธรรมที่เกิดกับตนตามความเป็นจริงของแต่ละบุคคล ถ้าผู้นั้นเคยเจริญสมถภาวนามาก่อน เมื่อได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานแล้ว จะต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ เพื่อที่จะได้รู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามปกติ ตามความเป็นจริง ละความไม่รู้ ละการที่ยึดถือสภาพธรรมที่เป็นกุศล เป็นอกุศลต่างๆ นั้น รู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าจะเป็นทาน ไม่ว่าจะเป็นศีล ไม่ว่าจะเป็นสมาธิ ไม่ว่าจะเป็นฌานจิต

    การเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ จะทำให้สติระลึกรู้แม้ขณะนั้นว่า ฌานจิตก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป แต่การที่จะรู้อย่างนี้ได้ต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติจนชำนาญ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า แม้บรรพชิตก็ไม่ใช่ว่าจะเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งได้ฌานจิต แต่ว่าท่านเป็นปัญญาวิมุตติ เพราะเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน และก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยที่ไม่ได้ประกอบด้วยการเจริญสมถภาวนาที่จะทำให้บรรลุฌานจิต

    สำหรับผู้ที่ไม่ใช่บรรพชิต เป็นอุบาสก เป็นอุบาสิกา ที่ท่านจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระอริยสาวกที่เป็นฆราวาส ก็เพราะท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ระลึกรู้สภาพธรรมที่เกิดกับตนตามความเป็นจริงว่า ธรรมทั้งหลายเกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัยตามที่ได้สะสมมา จึงจะทำให้ละการยึดถือสภาพธรรมที่เกิดตามความเป็นจริงนั้นว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ข้อความต่อไปในพระไตรปิฎกมีว่า

    เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีได้กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มรรคมีอยู่หรือ ปฏิปทาเพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่านั้นมีอยู่หรือ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร มหาลิ มรรคมีอยู่ ปฏิปทาเพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่านั้นมีอยู่

    เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็มรรคเป็นไฉน ปฏิปทาเพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่านั้นเป็นไฉน

    ท่านผู้ฟังควรที่จะได้พิจารณา สังเกต สำเหนียกว่า เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีเป็นคฤหัสถ์ เป็นอุบาสก เมื่อกราบทูลถามถึงมรรค หนทางปฏิบัติที่จะทำให้ดับกิเลสได้ พระผู้มีพระภาคจะตรัสว่าอย่างไร



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๑ ตอนที่ ๓๐๑ – ๓๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 38
    28 ธ.ค. 2564