แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 351
ครั้งที่ ๓๕๑
สำหรับชีวิตของบางท่าน ซึ่งอาจจะล่วงศีลข้อปาณาติบาตมาก เป็นผู้ดำเนินชีวิตที่เป็นมิจฉาชีพ เป็นอาชีพทุจริต หรือถึงกับเป็นโจร พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงธรรม อนุเคราะห์ไม่ให้กระทำกรรมที่หนัก และเป็นการบรรเทาความทุกข์เดือดร้อนของผู้ที่จะได้รับการเบียดเบียนจากบุคคลที่เป็นโจรด้วย
อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต สติวรรคที่ ๔ โจรสูตรที่ ๑ มีข้อความที่ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ย่อมพลันเสื่อมตั้งอยู่ไม่นาน องค์ ๘ ประการเป็นไฉน คือ ประหารคนที่ไม่ประหารตอบ ๑ ถือเอาสิ่งของไม่เหลือ ๑ ลักพาสตรี ๑ ประทุษร้ายกุมารี ๑ ปล้นบรรพชิต ๑ ปล้นราชทรัพย์ ๑ ทำงานใกล้ถิ่นเกินไป ๑ ไม่ฉลาดในการเก็บ ๑
มโนรถปุรณี อรรถกถา มีข้อความอธิบายว่า
สำหรับข้อที่ ประหารคนที่ไม่ประหารตอบ ซึ่งมหาโจรไม่ควรจะกระทำ
คนที่ไม่ประหารตอบ คือ คนที่ไม่มีเวรกับตน บุคคลนั้นไม่ได้โกรธเคือง ไม่ได้เดือดร้อน ไม่ได้มีเวรภัยด้วย ก็ไม่ควรที่จะประหารบุคคลนั้น
ซึ่งบุคคลที่ไม่มีเวรภัยกับตนนั้น ได้แก่ ผู้ที่ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม ผู้ที่ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมนั้น ย่อมเป็นผู้ที่ไม่มีเวรกับผู้ใดทั้งสิ้น นอกจากผู้ที่ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมแล้ว ก็ได้แก่ คนแก่ และเด็กเล็ก ซึ่งไม่ควรที่จะพึงประหารตอบได้
ผู้ที่จะประหารผู้ที่มีคุณธรรม คนแก่ หรือเด็กเล็ก จะต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจเหี้ยมเกรียม เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงการป้องกันตัว แต่ต้องเป็นจิตที่แรงด้วยอกุศลอย่างยิ่ง จึงสามารถประหารบุคคลที่ไม่ประหารตอบได้ เป็นโจรแล้วยังมีจิตใจเหี้ยมอย่างนี้ อกุศลกรรมนั้นก็แรง และหนักมาก ถ้าโจรใดไม่ประหารคนที่ไม่ประหารตอบ ย่อมทำให้กรรมนั้นไม่หนักเท่ากับการประหารคนที่ไม่ประหารตอบ
สำหรับประการที่ว่า ถือเอาสิ่งของไม่เหลือ ๑ หมายความว่า มหาโจรนั้นถือเอาจนหมดสิ้น แต่ว่าถ้าเป็นโจรที่ฉลาดจะต้องมีวัตรข้อปฏิบัติอย่างนี้ว่า พวกโจรย่อมถือเอาอย่างหนึ่ง ในบรรดาเกวียนสองเล่มของบุคคลอื่น คือ ถ้ามีเกวียนสองเล่มก็เลือกถือเอาเฉพาะเล่มเดียว
หรือว่า เมื่อมีสิ่งของอยู่อย่างหนึ่ง ก็เหลือสิ่งที่ทุรพล คือ สิ่งที่ไม่ดีไว้ และถือเอาสิ่งที่ดีไป การเป็นโจรนั้น ก็เพราะต้องการทรัพย์สิน เมื่อต้องการทรัพย์สิน ก็เลือกเอาทรัพย์สินที่มีราคาไป แต่ไม่ควรที่จะเอาไปจนหมดสิ้น ควรที่จะเอาสิ่งที่ดีไป และเหลือสิ่งที่พอจะเป็นประโยชน์ได้กับผู้ที่เป็นเจ้าของ ไม่ให้ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นต้องลำบากเดือดร้อนจนเกินสมควร
ในส่วนหนึ่ง ในบรรดาวัตถุทั้งหลาย มีห่อข้าว และข้าวสาร เป็นต้น ก็พึงถือเอาเพียงอย่างเดียว หมายความว่า ควรจะเหลือไว้บ้าง ถ้าทำอย่างนี้ก็จะทำให้ไม่ถูกผูกเวรจนเกินไป จนกระทั่งตนเองต้องพินาศหรือเดือดร้อน
สำหรับข้อต่อไปที่ว่า ลักพาสตรี ๑ ประทุษร้ายกุมารี ๑ ปล้นบรรพชิต ๑ ถ้ามหาโจรกระทำอย่างนี้ ก็ย่อมจะผูกเวรกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านั้น กล่าวคือ ถ้าปล้นบรรพชิตซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ ก็ย่อมจะผูกเวรกับบุคคลที่เคารพนับถือในบรรพชิตนั้น
สำหรับมหาโจรที่ปล้นราชทรัพย์ ก็ย่อมจะไม่ตั้งอยู่ได้นาน เพราะว่าเมื่อกล้าพอที่จะปล้นราชทรัพย์ได้ ก็ย่อมเป็นภัยอย่างยิ่งแก่ประชาชน
สำหรับมหาโจรที่ทำงานใกล้ถิ่นเกินไป หมายความถึงปล้นในสถานที่ใกล้หมู่บ้าน ตำบล และเมืองหลวง ก็ย่อมจะได้รับความเดือดร้อน เพราะในสถานที่เหล่านั้น ก็ย่อมจะมีผู้ที่จะปราบปรามได้
สำหรับประการที่ว่า มหาโจรไม่ฉลาดในการเก็บ เมื่อปล้นมาได้แล้ว ด้วยความจำเป็น ด้วยการหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งคงจะไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่ไม่อยากจะมีสัมมาอาชีพ แต่เมื่อไม่สามารถที่จะมีสัมมาอาชีพได้ ก็ได้กระทำมิจฉาชีพไป แต่เมื่อได้ทรัพย์มาแล้ว มหาโจรไม่ฉลาดในการเก็บ ที่ว่าไม่ฉลาดในการเก็บนั้น คือ ไม่ฉลาดเพื่อที่จะฝังสิ่งนั้นไว้ในทักขิเนยยบุคคล คือ ไม่ชำระทางไปสู่ปรโลก เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นมหาโจร ก็ควรที่จะช่วยตัวเองด้วยการทำบุญ เพื่อที่จะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิ
ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ชีวิตของบุคคลใดจะเป็นอย่างไร พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงธรรมที่เป็นเหตุเป็นผล เพื่ออนุเคราะห์บุคคลนั้นให้ละคลายอกุศลจนเบาบางเท่าที่สามารถจะกระทำได้
โจรสูตรที่ ๒ มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ย่อมไม่เสื่อมเร็ว ตั้งอยู่ได้นาน ๘ ประการเป็นไฉน คือ ไม่ประหารคนที่ไม่ประหาร ๑ ไม่ถือเอาของจนไม่เหลือ ๑ ไม่ลักพาสตรี ๑ ไม่ประทุษร้ายกุมารี ๑ ไม่ปล้นบรรพชิต ๑ ไม่ปล้นราชทรัพย์ ๑ ไม่ทำงานใกล้ถิ่นเกินไป ๑ ฉลาดในการเก็บ ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล ไม่เสื่อมเร็ว ตั้งอยู่ได้นาน
แม้ไม่ถึงกับเป็นโจร ควรประพฤติปฏิบัติตามธรรมเหล่านี้บ้างไหม
จิตของผู้ใดที่ยังมีอกุศลอยู่ บางครั้งก็อาจจะมีการเบียดเบียนบุคคลอื่นเล็กๆ น้อยๆ หรือว่าอาจจะมาก โดยที่ท่านไม่ได้คิดว่า บุคคลอื่นจะเดือดร้อนเพราะการกระทำของท่านที่เป็นการทุศีล เพราะฉะนั้น แม้จะไม่ถึงกับการปล้นฆ่า เป็นมหาโจรจริงๆ แต่เมื่อการกระทำของท่านจะเบียดเบียนบุคคลหนึ่งบุคคลใด ซึ่งถ้าท่านได้พิจารณาธรรมเหล่านี้ ก็จะยับยั้งไม่ให้อกุศลกรรมนั้นมีกำลังแรงมากนัก คือ ไม่ประหารคนที่ไม่ประหาร หรือว่า ไม่กระทำให้บุคคลที่มีคุณธรรมเดือดร้อน หรือว่าไม่ถือเอาของจนไม่เหลือ
เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเกิดการกระทำทุจริตกรรมบ้าง ก็ไม่ควรที่จะให้ถึงกับเป็นทุกข์เดือดร้อนแสนสาหัสกับบุคคลอื่น ซึ่งการกระทำทั้งหมดที่เป็นอกุศล ย่อมให้ผลเป็นทุกข์ และการกระทำทั้งหมดที่เป็นกุศล ที่เป็นการงดเว้นทุจริต ย่อมให้ผลเป็นสุข
สำหรับชีวิตของมหาโจร หรือผู้ที่กระทำอกุศลกรรมไปแล้ว ก็อาจจะเก็บทรัพย์ไว้ในทางที่ถูก คือ ได้กระทำบุญถวายทานแก่ทักขิเนยยบุคคลบ้าง ซึ่งก็ย่อมให้ผลที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้างตามควรแก่เหตุ คือ การกระทำนั้น ๆ
ข้อความใน อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต สัพพลหุสสูตร แสดงให้เห็นถึง การกระทำทั้งหมดให้ผลมากน้อยตามควรแก่การกระทำนั้นๆ
ข้อความมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปาณาติบาตอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่ง ปาณาติบาตอย่างเบาที่สุด ย่อมยังความเป็นผู้มีอายุน้อยให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์
สำหรับโจรนั้น ไม่ใช่เพียงแต่ฆ่า ยังถือเอาทรัพย์ของผู้อื่นที่ไม่ได้ให้ นอกจากนั้นยังอาจประพฤติผิดในกาม อาจต้องมีการมุสา มีวจีทุจริตต่างๆ เพราะฉะนั้น ผลของกรรมทั้งหมดที่เป็นอกุศล ย่อมให้ผลหนักและเบาตามควรแก่กรรมนั้นๆ
สำหรับวิบากของปาณาติบาต ผลของปาณาติบาต ทำให้เกิดในนรก เป็นสัตว์ดิรัจฉาน เปรต และอย่างเบาที่สุด ทำให้เป็นผู้ที่มีอายุน้อยสำหรับผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อทินนาทานอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งอทินนาทานอย่างเบาที่สุด ย่อมยังความพินาศแห่งโภคะให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์
อทินนาทาน คือ การถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ได้ให้ เพราะฉะนั้น ในชาติปัจจุบันนี้ ถ้าทรัพย์สมบัติของท่านเกิดพินาศไป วิบัติไป ให้ทราบว่าเป็นเพราะผลของอทินนาทานของท่านในอดีต ซึ่งเป็นอย่างเบาที่สุดเมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ เพราะเหตุว่าถ้าท่านไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ อทินนาทานนั้นจะเป็นปัจจัยให้เกิดในนรก เป็นสัตว์ดิรัจฉาน หรือเป็นเปรต แต่อย่างเบาที่สุดเมื่อเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ทำให้โภคสมบัติ ทรัพย์สมบัติของท่านวิบัติหรือพินาศไป
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กาเมสุมิจฉาจารอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งกาเมสุมิจฉาจารอย่างเบาที่สุด ย่อมยังศัตรูและเวรให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์
ถ้าเป็นการกระทำอย่างเหี้ยมโหด ไม่ว่าจะเป็นปาณาติบาต หรืออทินนาทาน หรือกาเมสุมิจฉาจารก็ตาม ย่อมเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในนรก และถ้าเป็นการกระทำให้คนอื่นเดือดร้อนด้วยโลภะ ด้วยอำนาจความปรารถนา ความต้องการของท่านในข้อของกาเมสุมิจฉาจาร ท่านก็จะเป็นผู้ที่มีศัตรูมากในชาตินี้
ศัตรู ย่อมหมายความถึงบุคคลที่กลั่นแกล้ง ทำให้ท่านเดือดร้อน ทำให้ท่านขาดความสงบสุขในชีวิตจะด้วยคำพูด หรือด้วยการกระทำต่างๆ ก็ตาม ให้ทราบว่าเป็นผลของอกุศลกรรมที่เป็นกาเมสุมิจฉาจาร ที่ทำให้ท่านเป็นบุคคลที่มีศัตรูมากในชาตินี้
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มุสาวาท คือ คำพูดเท็จ อันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งมุสาวาทอย่างเบาที่สุด ย่อมยังการกล่าวตู่ด้วยคำไม่เป็นจริงให้เป็นไปแก่ ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์
มีท่านผู้ใดไม่เคยถูกกล่าวตู่บ้างไหม ไม่ได้กระทำสิ่งนั้นเลยที่เป็นที่เป็นอกุศล แต่บุคคลอื่นพูดได้ทุกอย่างว่าท่านได้กระทำอย่างโน้น อย่างนี้ นี่คือ การกล่าวตู่
ทำไมไม่กล่าวตู่บุคคลอื่น ทำไมท่านเองเป็นผู้ที่ถูกกล่าวตู่ ซึ่งก็ต้องเป็นผลของมุสาวาทในอดีตที่ท่านได้กระทำแล้ว
สมัยนี้ก็คงเห็นกันอยู่ทั่วๆ ไปในเรื่องของการกล่าวตู่ ถ้าท่านไม่ได้รู้จักบุคคลหนึ่งบุคคลใดอย่างคุ้นเคย ท่านอาจจะเข้าใจบุคคลนั้นผิดได้หลายอย่าง ตามเสียงอื่นที่บุคคลอื่นคิด และเข้าใจว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลอย่างนั้นๆ ต่อเมื่อใดท่านได้รู้จักคุ้นเคยสนิทสนม ได้ทราบความเป็นจริง จึงจะทราบว่า บุคคลนั้นไม่ได้กระทำสิ่งที่เป็นอกุศลเหล่านั้นเลย แต่เพราะเหตุว่าท่านไม่ได้รู้จักสนิทสนมคุ้นเคยใกล้ชิด ท่านเพียงแต่ได้ยินได้ฟังคำที่บุคคลอื่นกล่าวต่อๆ กันมา ซึ่งเป็นคำกล่าวตู่ในเรื่องที่ไม่จริง ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็เป็นผลของกรรม คือ มุสาวาทในอดีต
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปิสุณาวาจา คือ คำพูดส่อเสียด อันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งปิสุณาวาจาอย่างเบาที่สุด ย่อมยังการแตกจากมิตรให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์
ทุกท่าน ควรจะมีมิตรสหายที่จะเกื้อกูลอนุเคราะห์ สงเคราะห์ในกิจการงาน ในธุรกิจต่างๆ แต่บางท่านขาดมิตร ไม่มีผู้สงเคราะห์เกื้อกูลช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่ท่านเอง อาจไม่ได้กระทำอะไรที่จะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการแตกแยกกับมิตรเลย แต่เพราะอดีตกรรม คือ ปิสุณาวาจาที่ได้กระทำแล้ว ย่อมทำให้มีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือว่าเป็นเหตุให้เกิดแตกแยกกับมิตรสหาย โดยที่ท่านเองไม่ได้เป็นผู้กระทำความแตกแยกกับมิตรนั้น แต่มีบุคคลอื่นที่จะทำให้เข้าใจผิด และมีการแตกแยกกันได้
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผรุสวาจา คือ คำพูดหยาบคาย อันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งผรุสวาจาอย่างเบาที่สุด ย่อมยังเสียงที่ไม่น่าพอใจให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์
วันหนึ่งๆ ได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจมากไหม ถ้าอยู่ในสวรรค์ ไม่มีเสียงที่ไม่น่าพอใจ มีแต่เสียงดนตรี เสียงที่ไพเราะ เสียงที่น่ารื่นรมย์ แต่ตราบใดที่ท่านยังมีอกุศลกรรม คือ ผรุสวาจา คำพูดที่หยาบคาย ซึ่งไม่ควรจะเสพให้คุ้น หรือว่าพูดบ่อยๆ เพราะว่าไม่มีผู้ใดที่ต้องการจะได้ยินได้ฟังคำพูดที่หยาบคาย แต่ว่าเกิดขึ้นแล้ว เพราะอกุศลจิต เพราะโทสมูลจิต เพราะความหยาบกระด้างของจิต ซึ่งถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ ไม่วิรัติ ไม่งดเว้น ก็ทำให้เกิดวจีทุจริต คือ ได้กล่าวคำหยาบคายออกไป ได้ล่วงไป ซึ่งผลก็คือ ย่อมยังเสียงที่ไม่น่าพอใจให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์
ถ้าอยู่ในภูมิมนุษย์ก็ยังดี เพราะได้รับกระทบเฉพาะเสียงที่ไม่น่าพอใจ แต่ถ้าเป็นกรรมหนักจะทำให้เกิดในนรก ในกำเนิดดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย ซึ่งแล้วแต่ว่าคำพูดหยาบคายนั้นได้กระทำกับบุคคลใด ด้วยเจตนาแรงกล้าเพียงใด และเป็นกรรมหนักมากน้อยอย่างไร
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัมผัปปลาปะ คือ คำพูดเพ้อเจ้อ อันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งสัมผัปปลาปะอย่างเบาที่สุด ย่อมยังคำที่ไม่ควรเชื่อถือให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์
บางทีท่านไม่ได้กระทำทุจริตกรรมแลย แต่กล่าวเท่าไรก็ไม่มีใครเชื่อ คิดว่าท่านเป็นผู้ที่กระทำ ซึ่งเป็นผลของสัมผัปปลาปะอย่างเบาที่สุด คือ ย่อมยังคำไม่ควรเชื่อถือให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งการดื่มสุราและเมรัยอย่างเบาที่สุด ย่อมยังความเป็นบ้าให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์
บางท่านไม่ทราบสาเหตุว่า วิกลจริตหรือเป็นบ้าเพราะอะไร แต่นี่เป็นผลของการเสพสุราและเมรัย
ท่านผู้ฟังสงสัยในผลของการเสพสุราและเมรัยที่ทำให้เกิดในนรก เป็นเปรต เป็นอสุรกายในอบายภูมิบ้างไหม
ถ้าท่านเสพสุราและเมรัยจนกระทั่งเมามาย รู้ตัวบ้างไหมว่า ท่านได้กระทำอกุศลกรรมอะไรบ้าง ฆ่าก็ได้ ถือเอาทรัพย์ของบุคคลอื่นก็ได้ กระทำกาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกามก็ได้ พูดเท็จก็ได้ กระทำอกุศลกรรมทุกอย่างได้ เพราะการเสพสุราเมามาย
เมื่ออกุศลกรรมได้กระทำลงไปแล้ว ผลคือ ย่อมทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ แต่วิบากอย่างเบาที่สุด เมื่อเกิดเป็นมนุษย์แล้ว คือ ทำให้วิกลจริต
จะทำอย่างไรไม่ให้วิกลจริต ก็ต้องเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งช่วยได้จริงๆ เนื่องจากว่า การที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะรู้สึกผิดปกติไปจนถึงขั้นที่วิกลจริตนั้น ก็เพราะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ซึ่งบางท่านเข้าใจว่าเป็นปัญญา แต่ตราบใดที่ขณะนั้นไม่ใช่ความรู้ในสภาพธรรมตามปกติในชีวิตประจำวัน เป็นการรู้อย่างอื่นที่ผิดปกติในชีวิตประจำวัน และการที่รู้ผิดปกติไป ทีละเล็กทีละน้อย ก็ย่อมสามารถทำให้วิกลจริต เป็นบ้าได้
ขอกล่าวถึงความละเอียดของเรื่องปาณาติบาต โดยนัยของพระวินัยเพียงย่อๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้สภาพธรรม จึงทรงบัญญัติพระวินัยไว้อย่างละเอียด เพราะทรงแทงตลอดในลักษณะสภาพของจิตใจของบุคคล ผู้ซึ่งถึงแม้ว่าจะได้บรรพชาอุปสมบทเป็นบรรพชิต แต่เมื่อยังมีกิเลสอยู่ การที่จะล่วงศีล ประพฤติผิดเป็นอาบัติ ก็ย่อมจะมีได้
สำหรับปาณาติบาต การทำชีวิตของสัตว์ที่มีชีวิตให้ตกล่วงไปนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียด ในการกระทำแต่ละครั้ง ถ้าเป็นการฆ่ามนุษย์ ก็ต้องเป็นกิเลสที่มีกำลังแรง อาศัยความเพียร ความพยายามมาก ไม่เหมือนกับการฆ่าสัตว์ ซึ่งก็ต้องแล้วแต่ขนาด หรือว่ากิเลสของท่านว่า ท่านมีความตั้งใจ จงใจ พยาบาทอาฆาตมากน้อยเพียงไร
ในพระวินัยนั้น โดยเหตุที่มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีคุณมากกว่าสัตว์ ถ้าพระภิกษุฆ่ามนุษย์ ต้องอาบัติปาราชิก คือ ต้องพ้นจากความเป็นภิกษุ
แต่สำหรับการฆ่าสัตว์เล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นไปด้วยความพลั้งเผลอ ไม่มีเจตนาที่เป็นกิเลสแรงกล้าเหมือนกับการฆ่ามนุษย์ อาบัตินั้นก็ไม่แรงเท่ากับการฆ่ามนุษย์ เพราะฉะนั้น สำหรับการฆ่าสัตว์ ถ้าเป็นภิกษุก็เพียงอาบัติปาจิตตีย์
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๖ ตอนที่ ๓๕๑ – ๓๖๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 301
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 302
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 303
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 304
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 305
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 306
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 307
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 308
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 309
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 310
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 311
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 312
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 313
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 314
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 315
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 316
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 317
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 318
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 319
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 320
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 321
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 322
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 323
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 324
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 325
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 326
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 327
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 328
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 329
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 330
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 331
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 332
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 333
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 334
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 335
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 336
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 337
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 338
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 339
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 340
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 341
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 342
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 343
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 344
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 345
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 346
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 347
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 348
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 349
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 350
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 351
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 352
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 353
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 354
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 355
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 356
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 357
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 358
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 359
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 360