แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 354


    ครั้งที่ ๓๕๔


    ความละเอียดของจิตใจของผู้ที่ยังมีกิเลส ถ้ากิเลสนั้นมีกำลังแรงกล้า แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน จิตใจของบุคคลต่างๆ ในสมัยนั้น ก็คงจะไม่ผิดกับบุคคลในสมัยนี้ พระธรรมวินัยจึงเป็นประโยชน์ในการศึกษาและตรวจสอบสภาพจิตใจของท่านเอง

    ตติยปาราชิกกัณฑ์ วินีตวัตถุ เรื่องพระผู้เฒ่า ๓ เรื่องซึ่งมีข้อความว่า

    ก็โดยสมัยนั้นแล บิดาและบุตรบวชอยู่ในสำนักภิกษุ เมื่อเขาบอกภัตตกาลแล้ว ภิกษุผู้บุตรได้กล่าวแก่ภิกษุผู้บิดาว่า นิมนต์ไปเถิดขอรับ พระสงฆ์กำลังคอยท่านอยู่ แล้วดุนหลังผลักไป ภิกษุผู้บิดาได้ล้มลงถึงมรณภาพ ภิกษุผู้บุตรนั้นมีความรังเกียจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมังหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

    ดูกร ภิกษุ เธอคิดอย่างไร

    ภิกษุนั้นกราบทูลว่า

    ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีความประสงค์จะให้ถึงมรณภาพ พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ภิกษุไม่มีความประสงค์จะให้ถึงมรณภาพ ไม่ต้องอาบัติ

    จะเห็นได้ว่า จะต้องระวังมากสักแค่ไหนในกาย ในวาจา แม้แต่การที่จะ ดุนหลังหรือผลักไป ซึ่งทำให้ผู้ที่เป็นบิดาถึงมรณภาพ เพราะฉะนั้น เรื่องกาย เรื่องวาจา เป็นเรื่องที่จะต้องระวัง ถ้าไม่ระวังอาจจะมีการบาดเจ็บ หกล้ม ทำให้ตนเองได้รับความเจ็บปวด ได้รับความทุกข์ทรมานต่างๆ และถ้าเป็นบุคคลอื่นอาจจะทำให้ถึงกับสิ้นชีวิตก็ได้ แต่ถ้าไม่มีความประสงค์จะให้ตาย ก็ไม่ต้องอาบัติสำหรับพระภิกษุ สำหรับท่านเองก็เหมือนกัน ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะฆ่า ก็ไม่ใช่อกุศลกรรม

    อีกเรื่องหนึ่ง

    ก็โดยสมัยนั้นแล บิดาและบุตรบวชอยู่ในสำนักภิกษุ เมื่อเขาบอกภัตตกาลแล้ว ภิกษุผู้บุตรได้กล่าวกะภิกษุผู้บิดาว่า นิมนต์ไปเถิดขอรับ พระสงฆ์กำลังคอยท่านอยู่ ภิกษุผู้บุตรมีความประสงค์จะให้ถึงมรณภาพ จึงดุนหลัง ผลักไป ภิกษุผู้บิดาได้ล้มลงถึงมรณภาพ ภิกษุผู้บุตรมีความรังเกียจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมังหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

    ดูกร ภิกษุ เธอคิดอย่างไร

    ภิกษุนั้นกราบทูลว่า

    ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะให้ถึงมรณภาพ พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว

    นี่เป็นความละเอียด ให้เห็นกำลังของกิเลสอย่างโทสมูลจิต ซึ่งแล้วแต่ว่าปัจจัยในขณะนั้นจะแรง ทำให้โทสะเกิดกล้าสักแค่ไหน

    บางคนอาจจะรู้สึกรำคาญในบุคคลผู้สูงอายุด้วยประการต่างๆ ในความช้า ในความที่อุปนิสัยต่างๆ กัน ถึงแม้จะเป็นบุตรกับบิดา และก็เกิดโทสะขึ้นเล็กๆ น้อยๆ จนกระทั่งในที่สุดมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ทำให้ถึงกับมีเจตนาต้องการที่จะให้สิ้นชีวิตลงก็มีการกระทำ คือ มีการดุนหลัง การผลักไป และภิกษุผู้เป็นบิดาก็ล้มลงถึงมรณภาพ แต่ว่าขณะนั้น ภิกษุนั้นมีเจตนาที่จะให้มรณภาพ เพราะฉะนั้น ก็ต้องอาบัติปาราชิก

    นี่เป็นโทษภัยของกิเลส โดยที่ไม่ทราบเลยว่า การสะสมไปทีละเล็กทีละน้อย แต่ละขณะในวันหนึ่งๆ วันไหนจะมีกำลังแรงกล้าทำให้เกิดเจตนาที่เป็นอกุศลกรรม ถ้าท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานท่านจะทราบ และเป็นเหตุให้ละคลายอกุศลธรรมลงไปเรื่อยๆ เพราะเห็นว่าเป็นสภาพธรรมที่เป็นอกุศล

    อีกเรื่องหนึ่ง

    ก็โดยสมัยนั้นแล บิดาและบุตรบวชอยู่ในสำนักภิกษุ เมื่อเขาบอกภัตตกาลแล้ว ภิกษุผู้บุตรได้กล่าวกับภิกษุผู้บิดาว่า นิมนต์ไปเถิดขอรับ พระสงฆ์กำลังคอยท่านอยู่ ภิกษุผู้บุตรมีความประสงค์จะให้ถึงมรณภาพ จึงดุนหลัง ผลักไป ภิกษุผู้บิดาได้ล้มลงแต่ไม่ถึงมรณภาพ ภิกษุผู้บุตรมีความรังเกียจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมังหนอ จึงกราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

    ดูกร ภิกษุ เธอคิดอย่างไร

    ภิกษุนั้นกราบทูลว่า

    ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะให้ถึงมรณภาพ พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย

    อาบัติก็มีลดหลั่นกันไปตามกำลังของกิเลสและการกระทำ สำหรับอาบัติที่ร้ายแรงที่สุดนั้น คือ ปาราชิก ต้องขาดจากการเป็นเพศบรรพชิตทันที สังฆาทิเสสก็ยังมีส่วนเหลือของความเป็นภิกษุที่พอจะแก้ไขได้ รองจากนั้นก็เป็นถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาษิต เป็นเรื่องความละเอียดของจิตที่ทำให้ล่วงออกไปเป็นการกระทำทางกาย ทางวาจา ซึ่งถ้าได้กระทำอกุศลกรรมนั้นให้สำเร็จลงไปตามกำลังของโทสะ ของความต้องการ ของเจตนาในขณะนั้น และบุคคลนั้นสิ้นชีวิตลง เป็นที่พอใจของบุคคลที่มีความประสงค์จะให้ตาย กรรมนั้นก็ครบองค์ ถ้าเป็นภิกษุก็ถึงกับปาราชิก

    วันหนึ่งๆ ขอให้สังเกตจิตของท่าน อย่าให้แรงจนถึงกับเกิดความคิดแวบขึ้นมาด้วยกำลังของความโกรธว่า คนนั้นน่าจะตายเสีย ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ทีเดียว แต่แม้กระนั้นก็ขอให้สติเกิด ระลึกได้ รู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศลจิต และควรที่จะรังเกียจ เพราะว่าเป็นอกุศลกรรมที่ร้ายแรงถึงขั้นคิดที่จะให้บุคคลอื่นสิ้นชีวิต เมื่อเกิดความรังเกียจและเห็นว่าเป็นโทษ เห็นว่าเป็นอกุศลกรรมที่ร้ายแรง ความโกรธที่ถึงขั้นที่ต้องการให้บุคคลอื่นสิ้นชีวิตนี้ก็จะลดน้อยลง

    จะสังเกตได้ว่า เวลาที่โทสมูลจิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แม้ว่าท่านเป็นผู้ที่ละคลายจากเจตนาที่จะให้บุคคลอื่นสิ้นชีวิตแล้วก็ตาม แต่ก็อาจจะเป็นกิเลสที่มีกำลังแรงถึงกับต้องการจะประทุษร้ายบ้าง แต่ไม่ถึงกับให้สิ้นชีวิต เป็นไปได้ไหม ก็ต้องเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น ต้องลดลงไปอีกว่า ทางกายในขณะนั้น ถ้าเกิดการกระทำอย่างนั้น ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควร ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจะทราบว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลกรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และการรู้ความจริงอย่างนี้ก็จะทำให้ละคลายเจตนาที่จะประทุษร้ายบุคคลอื่น แต่แม้กระนั้น โทสมูลจิตที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท เวลาที่มีปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้นอย่างแรงกล้า ก็ย่อมจะเกิดขึ้น

    บางครั้งวาจาไม่ล่วงออกไป แต่อาจจะนึกถึงคำผรุสวาจาอยู่ในใจ เพียงแต่ว่ายังไม่เปล่งออกไปก็ได้ นี่เป็นขั้นต่างๆ ของกิเลสที่มีกำลัง ที่ผู้เจริญสติปัฏฐาน สามารถจะระลึกรู้ได้ตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งดีกว่าการที่สติจะไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    บุคคลอื่นไม่สามารถที่จะละกิเลสให้ตัวท่านได้เลย นอกจากสติจะเกิดระลึกได้ และรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น บ่อยๆ เนืองๆ

    ถ. ถ้าผู้นั้นมีอาชีพเป็นเพชฌฆาตจะว่าอย่างไร

    สุ. การที่บุคคลใดจะมีอาชีพอย่างใดนั้น เลือกไม่ได้ เพราะมีการสะสมมาที่จะเป็นแต่ละบุคคล ที่มีความพอใจ มีอัธยาศัย มีความโน้มเอียงที่จะประกอบการอาชีพอย่างนั้น สำหรับท่านผู้ฟังเองจะมีอาชีพเป็นเพชฌฆาตไหม ไม่มีความโน้มเอียงที่จะเป็น ก็ไม่เป็น แต่ว่าสำหรับบุคคลที่เป็น ซึ่งก็จะต้องมีใช่ไหม เมื่อหน้าที่การงานอย่างนี้มี ก็จะต้องมีบุคคลที่กระทำหน้าที่การงานนี้ เมื่อบุคคลใดสะสมความโน้มเอียงมาที่จะกระทำ ก็กระทำหน้าที่นั้น เป็นไปตามกรรมของผู้ที่จะถูกประหาร

    อกุศลกรรมมีระดับขั้นซึ่งวิจิตรมาก แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร กระทำไปด้วยความสมใจ สะใจที่จะได้ประหาร หรือว่าเพียงกระทำไปตามหน้าที่ซึ่งตนเองสะสมมาที่จะมีอาชีพอย่างนี้ มีหน้าที่อย่างนี้ ก็กระทำกิจ กระทำหน้าที่อย่างนี้ แต่ไม่ใช่ด้วยความอาฆาตพยาบาทส่วนตัว ที่ต้องการจะฆ่าบุคคลนั้น

    ถ. ถือว่าเป็นมิจฉาชีพไหม

    สุ. ต้องเป็นปาณาติบาต พระโสดาบันบุคคลซึ่งไม่มีเจตนาฆ่าจะไม่กระทำหน้าที่นี้ เรื่องของจิตใจไม่ใช่เรื่องของการบังคับ เป็นเรื่องของการที่จะรู้สภาพธรรมทั้งหมดตรงตามความเป็นจริง

    . แพทย์ที่นำหนู กระต่ายมาทดลอง เพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์ด้วยกันทั้งโลก นำมามาทำเซรุ่มต่างๆ สัตว์นั้นไม่ตายด้วยความเจตนา จะถือว่าเป็นบาปไหม

    สุ. เรื่องนี้ตรงกับการตอบปัญหาธรรมที่ห้องบรรยายสรีรวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เมื่อ ๓ ปีก่อน มีคำถามข้อหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับปาณาติบาต ซึ่งเป็นคำถามของนักศึกษาและนายแพทย์ ถามว่า การปฏิบัติทดลองทางวิทยาศาสตร์บางอย่าง ที่ต้องทำให้มีการสูญเสียชีวิตของสัตว์ เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งความสำเร็จ จะไม่เป็นการขัดต่อศีล ๕ หรือ

    คำตอบมีว่า เวลาที่ยังไม่ได้ศึกษาธรรม หรือว่าตอนที่ยังเป็นเด็กอยู่ คงจะไม่มีใครเลยที่จะไม่ฆ่าสัตว์ เป็นเรื่องของบุคคลแต่ละบุคคล ซึ่งเมื่อมีเหตุปัจจัย คือ ความไม่รู้ ก็จะต้องเป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง เป็นโมหะบ้าง ตามวิสัยของแต่ละคน

    การเป็นนักศึกษาแพทย์ บางท่านอาจจะไม่ทราบว่า ทำไมจึงต้องเป็นนักศึกษาแพทย์ อาจจะคิดว่า เพราะอยากจะเป็นเท่านั้น หรือเป็นเพราะชอบมาก หรืออาจจะเห็นว่าเป็นวิชาที่เป็นประโยชน์ สามารถที่จะทำประโยชน์ได้มากทีเดียว

    แต่ความจริง การที่แต่ละคนจะเป็นอะไรนั้น มีการสะสมมาแล้ว เพราะเหตุว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ใครจะมีความโน้มเอียง มีความชอบในศิลปะ ในการวาดรูป หรือในการดนตรี หรือในเรื่องหนึ่งเรื่องใดนั้น ก็เป็นความสามารถของแต่ละบุคคลที่มีการสะสมมาโดยเฉพาะ ที่ให้มีความโน้มเอียง หรือความพอใจในการที่จะได้ศึกษาวิชาการต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ตัวตนที่เลือก แต่เป็นเพราะเหตุว่าโดยสภาพของธรรมแล้ว ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย เป็นเรื่องของจิตของแต่ละบุคคลที่ได้สะสมอบรมมาที่จะให้มีฉันทะ มีความพอใจ มีความต้องการในทางนั้น

    เพราะฉะนั้น การที่เกิดมา และก็มีการสะสมต่างกัน มีการศึกษาวิชาการต่างกัน มีการประกอบอาชีพต่างกัน ก็ย่อมมีทั้งอาชีพที่เป็นสัมมาชีพและมิจฉาชีพ ซึ่งความจริงแล้ว ก็ไม่มีใครอยากทำความไม่ดี แต่มีการสะสมมา มีความชำนาญมาในทางหนึ่งทางใด ก็เป็นไปในทางนั้น สำหรับคนที่ยังเป็นปุถุชน ยังไม่ใช่พระอริยเจ้า ก็ย่อมจะมีการล่วงศีลบ้างเป็นธรรมดาจริงหรือไม่ หรือใครไม่เคยเลย ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาแพทย์หรือไม่ก็ตาม

    ผู้ที่จะรักษาศีล ๕ ได้สมบูรณ์จริงๆ นั้น ต้องเป็นพระโสดาบันบุคคลขึ้นไป แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสนับสนุนให้มีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมากๆ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ให้ทราบความจริงว่า ผู้ที่จะละอกุศลกรรม และรักษาศีล ๕ ได้อย่างสมบูรณ์นั้น เป็น พระโสดาบันบุคคลเป็นต้นไป แต่ถึงแม้ว่าจะยังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล ก็มีบุคคลหลายคนทั้งในอดีตกาลและในปัจจุบันนี้ และต่อไปในอนาคตด้วย ที่มีศรัทธา มีเจตนาที่จะวิรัติทุจริต ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้าย ไม่ทำอันตรายต่อบุคคลอื่น ตามที่ได้สะสมมา คือ ถ้าใครจะวิรัติ ก็สะสมมาที่จะวิรัติที่จะไม่กระทำทุจริต เช่น บุคคลที่ละอาคารบ้านเรือนเป็นบรรพชิต หรือทั้งๆ ที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล แต่ก็มีเจตนาที่จะขัดเกลา รักษาศีลได้มากกว่า ๕ ข้อ การที่แต่ละบุคคลจะมีอัธยาศัย หรือว่ามีความโน้มเอียงที่จะทำอะไร คนนั้นก็ทำไป ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล

    แต่ว่าผู้ที่เป็นนักศึกษาแพทย์ ก็คงจะฆ่าสัตว์ ทำลายสัตว์เพื่อประโยชน์กับบุคคลอื่น ไม่เหมือนพวกมิจฉาชีพ ที่ทำอันตรายทั้งคนและสัตว์โดยที่ไม่ได้เป็นประโยชน์กับบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลที่สะสมมา ที่จะเห็นว่าเป็นความจำเป็น หรือว่าเห็นแก่ประโยชน์ของบุคคลอื่น เมื่อยังไม่ใช่พระอริยเจ้า และได้ฝึกอบรมสะสมมาในการที่จะเป็นผู้ศึกษาทางนั้น ก็ต้องปฏิบัติไปในทางการศึกษา แต่ว่าต้องทราบตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นปาณาติบาต

    เมื่อกระทำก็ต้องรู้ด้วย ไม่ใช่ว่าไม่รู้ ต้องทราบว่าในขณะนั้นเป็นปาณาติบาต เป็นอกุศลกรรม ไม่เว้น ไม่ว่าใครจะกระทำ ไม่ว่าพระมหากษัตริย์จะทำ นักศึกษาแพทย์จะทำ ไม่ว่าโจร หรือบรรพชิตจะทำ ก็เป็นอกุศลกรรมโดยสภาพของธรรมนั้น

    ขอให้ทราบด้วยว่า นี่ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริม แต่ให้ทราบตามความเป็นจริงว่า ได้ทำอกุศลกรรมด้วยความจำเป็น ด้วยประโยชน์ในการศึกษา เพราะฉะนั้น ขอให้เจริญกุศลด้านอื่นๆ มากๆ ด้วย อย่าขาดการเจริญกุศล

    พวกชาวประมงก็มีปัญหาในเรื่องนี้เหมือนกันว่าเป็นอาชีพ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นชาวประมง คนที่สะสมอบรมเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิด หรือมีสิ่งแวดล้อม หรือว่ามีเชื้อสายวงศ์ตระกูลที่ได้ดำเนินอาชีพนั้นมาแล้ว ก็มีความโน้มเอียงที่จะทำ แต่บางท่านก็เลิก บางท่านก็ไม่เลิก บางท่านก็สะสมปัจจัยใหม่ในการที่จะเจริญในทางกุศลมากขึ้น ซึ่งถ้าเจริญกุศลมากๆ เรื่อยๆ ขัดเกลาไปอีก ก็จะทำให้บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคล พ้นจากอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้ ที่จะเป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นนักศึกษาแพทย์ เคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เมื่อทราบว่า เป็นอกุศลกรรม เป็นปาณาติบาต ก็ควรที่จะเจริญกุศลมากๆ โดยเฉพาะควรจะเจริญกุศลที่จะให้ถึงการบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องไปเกิดในอบายภูมิ แต่ถ้าไม่บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคล ก็มีหวังที่จะไปสู่อบายภูมิทุกคน เพราะทุกคนมีทั้งกุศลกรรมบ้าง และอกุศลกรรมบ้าง

    ถ. ที่ภิกษุพรรณนาคุณของความตาย และภิกษุนั้นก็ตาย ภิกษุนั้นในพยัญชนะไม่ได้บ่งว่า ภิกษุนั้นตายด้วยเหตุที่อาพาธ หรือว่าตายด้วยภิกษุนั้นกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือฆ่าตัวตาย หรืออย่างไร พยัญชนะก็ไม่ได้ระบุไว้

    สุ. เป็นข้อความที่ต่อมาจากตติยปาราชิกกัณฑ์ คือ การฆ่ามนุษย์ เพราะฉะนั้น เจตนาก็เป็นในเรื่ององค์ของปาณาติบาต แสดงให้เห็นถึงความละเอียดซับซ้อนของจิต ซึ่งบางคนเข้าใจว่าตัวท่านมีความกรุณา เพราะฉะนั้น ก็ฆ่าคนอื่นเสียเถอะด้วยความกรุณา เข้าใจว่าอย่างนั้น แต่นี่เป็นความซับซ้อนของจิต ซึ่งถ้าท่านทราบ พิจารณาโดยละเอียดจริงๆ เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ จะทราบได้ว่า สภาพของกุศลจิตและอกุศลจิตนั้นต่างกัน ไม่สามารถที่จะกล่าวอย่างบุคคลที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐานได้ว่า ขณะนั้นเป็นกุศล เป็นความกรุณา

    ถ้าเป็นความกรุณาจริง ก็เกื้อกูลบรรเทาทุกขเวทนาของภิกษุนั้นทางกาย และก็เกื้อกูลอนุเคราะห์ทางธรรม ให้จิตใจในขณะนั้นเป็นกุศล ไม่ใช่ให้เป็นอกุศลทั้งตนเองและบุคคลอื่น

    เวลาที่คิดจะให้บุคคลอื่นสิ้นชีวิต ขอให้พิจารณาโดยละเอียด การเป็นมนุษย์ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ มีโอกาสที่จะฟังธรรม เจริญกุศล ถ้าสิ้นชีวิตแล้ว ไม่ทราบว่าจะไปเกิด ปฏิสนธิในภูมิใด ถ้าไปปฏิสนธิในอบายภูมิ ไม่มีโอกาสจะฟังธรรม พิจารณาธรรม ไม่มีโอกาสจะอบรมเจริญปัญญาให้รู้สภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริงได้ และจิตที่ปฏิสนธิก็ไม่ประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะ ซึ่งจะเป็นพื้นของจิตที่สามารถจะเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้เจริญกุศลได้ยิ่งขึ้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าบุคคลนั้นกำลังมีทุกขเวทนา จะสงเคราะห์อนุเคราะห์เกื้อกูลทางกายได้อย่างไร ก็ควรกระทำด้วยความกรุณา นั่นเป็นกุศลจิต และในขณะเดียวกัน อย่าทอดทิ้งเรื่องของจิตใจ ซึ่งจะต้องเกื้อกูลอนุเคราะห์ให้เป็นกุศลจิต และก็ไม่ควรที่จะเกิดความคิดที่ว่า ควรจะตายเสีย กรุณามาก สงสารมาก ก็ให้ตายเสียเถอะ นั่นไม่ถูก

    เมื่อท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว จะทราบได้ว่า ขณะไหนเป็นอกุศล ขณะไหนเป็นกุศล แต่ถ้าไม่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจะเข้าใจว่า อกุศลนั้นเป็นกุศล ซึ่งไม่ควรเลยที่จะให้เกิดความคิดแม้แต่ที่จะให้บุคคลอื่นสิ้นชีวิต แต่ควรที่จะเกื้อกูลเท่าที่สามารถจะอนุเคราะห์ สงเคราะห์ เกื้อกูลได้ ทั้งทางกายและทางใจ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๖ ตอนที่ ๓๕๑ – ๓๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 38
    28 ธ.ค. 2564