แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 358


    ครั้งที่ ๓๕๘


    สำหรับการที่จะวิรัติจากทุจริตกรรม ถ้าบุคคลนั้นไม่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน กิเลสจะเพิ่มกำลังขึ้น เป็นเหตุให้กระทำทุจริตกรรม แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญ สติปัฏฐาน ถึงแม้ว่ากิเลสจะเกิด แต่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ในขณะนั้น จะทำให้รู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นกับตนถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ซึ่งการรู้สภาพธรรมตรงตามความจริงนั้น จะทำให้ละคลายกิเลส และขัดเกลาอกุศลกรรมได้ละเอียดยิ่งขึ้น

    เพราะฉะนั้น การที่แต่ละท่านจะละเว้นทุจริตกรรมทั้งทางกาย ทางวาจาซึ่งมีมาก ไม่ใช่แต่เฉพาะปาณาติบาตและอทินนาทานเท่านั้น แต่ยังมีอกุศลกรรมบถประการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นเพราะกิเลสมีกำลัง ท่านก็ควรจะเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ซึ่งจะทำให้สติไว ชำนาญที่จะเกิด และวิรัติทุจริตกรรมนั้นได้

    ใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ภยวรรคที่ ๓ ภยสูตรที่ ๑ มีข้อความที่แสดงให้เห็นว่า การละเว้นทุจริตกรรมนั้น เกิดขึ้นเพราะอะไรบ้าง

    ข้อความมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ อัตตานุวาทภัย ภัยเกิดจากการติเตียนตนเอง ๑ ปรานุวาทภัย ภัยเกิดแต่ผู้อื่นติเตียน ๑ ทัณฑภัย ภัยเกิดแต่อาญา ๑ ทุคติภัย ภัยเกิดแต่ทุคติ ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ก็เราแลพึงประพฤติทุจริตด้วยกาย พึงประพฤติทุจริตด้วยวาจา พึงประพฤติทุจริตด้วยใจ ไฉนตัวเราจะไม่พึงติเตียนเราโดยศีลได้เล่า ดังนี้

    เขากลัวต่อภัยเกิดแต่การติเตียนตัวเอง จึงละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต ละวจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต ละมโนทุจริต บำเพ็ญมโนสุจริต ย่อมรักษาตนให้บริสุทธิ์ นี้เรียกว่าอัตตานุวาทภัย

    ท่านผู้ฟังเคยติเตียนตนเองบ้างหรือยังในเรื่องของศีล ถ้าจะล่วงศีล ควรติเตียนในขณะนั้น ไม่ใช่กิเลสของคนอื่นที่ท่านติ คนอื่นทำอกุศลกรรม น่ารังเกียจเหลือเกิน เวลาที่บุคคลอื่นกระทำปาณาติบาต อทินนาทาน คนอื่นทำน่ารังเกียจมาก แต่เวลาที่ท่านกระทำปาณาติบาต สัตว์เล็ก สัตว์น้อย สัตว์ใหญ่ ติเตียนตนเองหรือไม่ ขณะนั้นกิเลสของใคร ไม่ใช่ของคนอื่น แต่เมื่อเป็นธรรมที่มีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดก็เกิด และก็เกิดแล้วตามกำลังของปัจจัยนั้นๆ เพราะฉะนั้น ควรติเตียนตนเอง

    ถ้าท่านรังเกียจอกุศลกรรม และไม่ใช่การกระทำของคนอื่นที่ไม่ดี แต่เป็นการกระทำของตัวท่านเองแท้ๆ ที่ไม่ดี ควรอย่างยิ่งที่ตนเองจะพึงติเตียนตนเองโดยศีล เพื่อจะได้ละเว้นทุจริตกรรมนั้น แต่ถ้าท่านยังกระทำอยู่ ไม่ติเตียนเลย ติเตียนบุคคลอื่นได้ แต่ตัวท่านเองไม่เคยติเตียน แม้ในข้อของปาณาติบาต ท่านก็ยังคงจะทำต่อไป ใช่ไหม เพราะท่านไม่ได้ติเตียนตัวท่านเองว่า เป็นการกระทำที่ไม่สมควร แต่เมื่อไรท่านติเตียนตนเอง เห็นว่าท่านเป็นผู้ที่ล่วงศีล กระทำทุจริตกรรม ท่านติเตียนตัวท่านเองบ่อยๆ เห็นกิเลสของตนเองบ่อยๆ เห็นว่าเป็นการกระทำที่เป็นโทษเป็นภัย นั่นจะเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้ท่านละทุจริตกรรมนั้นๆ ให้ลดน้อยลงได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ปรานุวาทภัย เป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ก็เราแลพึงประพฤติทุจริตด้วยกาย พึงประพฤติทุจริตด้วยวาจา พึงประพฤติทุจริตด้วยใจ ไฉนคนอื่นจะไม่พึงติเตียนเราโดยศีลได้เล่า ดังนี้

    เขากลัวต่อภัยเกิดแต่คนอื่นติเตียน จึงละเว้นกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต ละเว้นวจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต ละมโนทุจริต บำเพ็ญมโนสุจริต ย่อมรักษาตนให้บริสุทธิ์ นี้เรียกว่าปรานุวาทภัย

    ถ้าท่านเป็นผู้ที่รักญาติ มิตรสหาย พี่น้อง มารดาบิดา ไม่อยากจะให้ท่านเหล่านั้นพลอยถูกติไปด้วยกับการกระทำทุจริตกรรมของท่าน ถ้าท่านระลึกได้อย่างนี้ จะเป็นการละเว้นทุจริตกรรมได้ แต่ถ้าไม่คำนึงถึงคำติเตียนของบุคคลอื่นเลย ใครจะติก็ไม่เป็นไร ท่านได้วัตถุของบุคคลอื่นมาเป็นของๆ ท่านแล้ว อย่างนี้ก็จะไม่ทำให้ท่านละคลายกิเลสอกุศลกรรมลง

    ถ. คนตาบอดที่ขายสลากกินแบ่ง มีผู้ลักเอาสลากกินแบ่งไปทั้งหมดเลย อีกประการหนึ่ง ผู้ลักทรัพย์จากคนแก่ ซึ่งไม่สามารถจะช่วยตัวเองได้ เจตนาของผู้ลักขโมยนี้เท่ากัน คือ อยากจะได้ทรัพย์นั้นมา ผลที่จะเกิดต่างหรือไม่

    สุ. แล้วแต่ความเพียร แล้วแต่กิเลส หลายอย่างที่จะต้องพิจารณา ยากที่จะรู้ถึงจิตใจของบุคคลอื่นที่กระทำกรรมนั้น ไม่สามารถหยั่งรู้ได้เลยว่า มีกิเลสแรงเท่าไร มีความเพียรเท่าไร ขาดความเมตตากรุณาเท่าไร มีความจำเป็นมากน้อยเท่าไร

    เพราะฉะนั้น กรรมจึงได้วิจิตรมากตามควรแก่การกระทำนั้นๆ ซึ่งยุติธรรมที่สุด ใครๆ ก็ไม่สามารถที่จะไปสั่งกรรมว่า ให้ผลเพียงเท่านั้นเท่านี้เถอะ สงสารเขาหน่อยเถอะ นั่นแล้วแต่เหตุ คือ เจตนาและการกระทำของบุคคลนั้นเอง

    ผู้ที่จะรู้ถึงผล คือ วิบาก ต้องเป็นผู้ที่รู้แจ่มแจ้งในกำลังของกรรม คือ เหตุ สามารถที่จะรู้ได้ไหมในกำลังของเจตนา ของการกระทำนั้นว่า มีกำลังแรงกล้า มีกิเลสแรง มีความเพียรมากน้อย หวังร้ายมุ่งร้ายต่อบุคคลอื่นมากสักเท่าไร

    คนสองคนนี้กระทำกรรมอย่างเดียวกัน โดยอาการภายนอกที่ปรากฏให้เห็น คือ การขโมยลอตเตอรี่ของคนตาบอด ใครจะทราบถึงความละเอียด ความวิจิตรของจิตของแต่ละบุคคลในขณะนั้น เมื่อไม่ทราบ ก็ย่อมไม่สามารถที่จะกล่าวถึงผลซึ่งเกิดจากเหตุ ตามควรแก่เหตุนั้นๆ ได้

    เพราะฉะนั้น ที่จะรู้วิบาก ต้องหมายความถึงรู้จักเหตุ คือ การกระทำซึ่งเป็นเหตุ จึงจะสามารถกล่าวได้ว่า วิบากจะต่างกันประการใด แต่เมื่อตัวเจตนา หรือการกระทำอันนั้น กระทำด้วยจิตที่วิจิตรต่างกันมากน้อยเท่าไร ก็ไม่สามารถที่จะทราบได้ แล้วจะกล่าวถึงผลของการกระทำนั้นได้อย่างไร ก็ย่อมไม่สามารถที่จะกล่าวถึงผลได้

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ฑัณฑภัยเป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เห็นเจ้านายจับโจรผู้ประพฤติชั่วช้า มาลงกรรมกรณ์ต่างๆ คือ โบยด้วยแส้บ้าง เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ตีด้วยตะบองสั้นบ้าง ตัดมือบ้าง และโทษนานาประการตลอดไปจนถึง ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง

    บุคคลนั้นจึงมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เจ้านายจับโจรผู้ประพฤติชั่วช้ามาลงกรรมกรณ์ต่างๆ คือ โบยด้วยแส้บ้าง ฯลฯ ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง เพราะเหตุแห่งกรรมอันลามกเห็นปานใด ถ้าเราจะพึงทำกรรมอันลามกเห็นปานนั้นบ้าง เจ้านายจะพึงจับเราไปลงกรรมกรณ์ต่างๆ เห็นปานนั้น คือ โบยด้วยแส้บ้าง ฯลฯ ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง เขากลัวต่อภัย คือ อาญา ไม่กล้าฉกชิงทรัพย์ของผู้อื่น นี้เรียกว่าทัณฑภัย

    ถ้ากลัวต่อการที่จะได้รับโทษ ก็คงจะไม่ทำทุจริต แต่เวลาที่กิเลสมีกำลัง ลืมหมด หรืออาจจะคิดว่าจะไม่ได้รับโทษอย่างนั้นก็เป็นได้ แต่ความจริงแล้ว ถ้าไม่ได้รับโทษอย่างนี้ในภูมิมนุษย์ เวลาที่จุติ สิ้นชีวิตลงแล้ว กรรมที่เป็นอกุศลนั้น ก็จะทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ ในนรก เป็นต้น

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ทุคติภัยเป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า วิบากของกายทุจริตในภายหน้า ชั่วร้าย วิบากของวจีทุจริตในภายหน้า ชั่วร้าย วิบากของมโนทุจริตในภายหน้า ชั่วร้าย

    ก็เราแล พึงประพฤติทุจริตด้วยกาย พึงประพฤติทุจริตด้วยวาจา พึงประพฤติทุจริตด้วยใจ ข้อนั้นอะไรเล่า เมื่อกายแตกตายไป เราจะพึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

    เขากลัวต่อทุคติภัย ย่อมละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต ย่อมละวจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต ย่อมละมโนทุจริต บำเพ็ญมโนสุจริต ย่อมบริหารตนให้หมดจดได้ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าทุคติภัย

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้แล

    จบสูตรที่ ๑

    ถ้าสติเกิดขึ้นทำให้ระลึกได้ จะเห็นว่า ไม่ควรที่ตนเองจะติเตียนตนเองได้ ไม่ควรที่จะให้บุคคลอื่นติเตียนตนเองได้ ไม่ควรที่จะให้ตนเองได้รับโทษภัยต่างๆ ไม่ควรที่จะให้ตนเองต้องได้รับวิบากของทุจริตในโลกหน้า ในอบายภูมิ ก็จะทำให้ละทุจริตได้

    สำหรับท่านที่กระทำทุจริตกรรมที่เป็นอทินนาทาน ท่านต้องการวัตถุสมบัติ ต่างๆ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ เพราะเข้าใจว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ โภคสมบัติเหล่านั้น จะทำให้ชีวิตของท่านมีความสุข นี่เป็นลักษณะของความรักตน แต่ถ้ารักตนจริง ต้องเว้นทุจริตกรรม และขัดเกลากิเลสของตนเองให้เบาบางลงด้วย

    เรื่องของการรักตน ควรจะเป็นการรักที่ถูกต้อง คือ ไม่ทำตนเองให้เดือดร้อน ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ปิยสูตรที่ ๔ มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามแห่งท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ข้าพระองค์เข้าที่ลับพักผ่อนอยู่ ได้เกิดความนึกคิดอย่างนี้ว่า ชนเหล่าไหนหนอแล ชื่อว่ารักตน ชนเหล่าไหน ชื่อว่าไม่รักตน

    ข้าพระองค์จึงได้เกิดความคิดต่อไปว่า ก็ชนเหล่าใดแล ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ชนเหล่านั้น ชื่อว่าไม่รักตน ถึงแม้ชนเหล่านั้น จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรารักตน ถึงเช่นนั้น ชนเหล่านั้น ก็ชื่อว่าไม่รักตน

    ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่า ชนผู้ไม่รักใคร่กัน ย่อมทำความเสียหายให้แก่ผู้ไม่รักใคร่กันได้โดยประการใด ชนเหล่านั้น ย่อมทำความเสียหายให้แก่ตนด้วยตนเองได้โดยประการนั้น ฉะนั้น ชนเหล่านั้น จึงชื่อว่าไม่รักตน

    ส่วนว่า ชนเหล่าใดแล ย่อมประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ชนเหล่านั้น ชื่อว่ารักตน ถึงแม้ชนเหล่านั้น จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราไม่รักตน ถึงเช่นนั้น ชนเหล่านั้น ก็ชื่อว่ารักตน

    ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่า ชนผู้ที่รักใคร่กัน ย่อมทำความดีความเจริญให้แก่ผู้ที่รักใคร่กันได้โดยประการใด ชนเหล่านั้น ย่อมทำความดีความเจริญให้แก่ตนด้วยตนเองได้โดยประการนั้น ฉะนั้น ชนเหล่านั้น จึงชื่อว่ารักตน

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ถูกแล้ว ถูกแล้ว มหาบพิตร

    และข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัส ก็ตรงกับที่พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลทุกประการ

    พระผู้มีพระภาค ผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    ถ้าบุคคลพึงรู้ว่า ตนเป็นที่รัก ไม่พึงประกอบด้วยบาป เพราะว่าความสุขนั้น ไม่เป็นผลที่บุคคลผู้ทำชั่วจะพึงได้โดยง่าย เมื่อบุคคลถูกมรณะครอบงำ ละทิ้งภพมนุษย์ไปอยู่ ก็อะไรเป็นสมบัติของเขา และเขาย่อมพาเอาอะไรไปได้

    อนึ่ง อะไรเล่าจะติดตามเขาไป ประดุจเงาติดตามตนไปฉะนั้น ผู้ที่เกิดมาแล้ว จำจะต้องตายในโลกนี้ ย่อมทำกรรมอันใดไว้ คือ เป็นบุญและเป็นบาปทั้งสองประการ บุญและบาปนั้นแล เป็นสมบัติของเขา และเขาจะพาเอาบุญและบาปนั้นไปสู่ปรโลก

    อนึ่ง บุญและบาปนั้น ย่อมเป็นของติดตามเขาไป ประดุจเงาติดตามตนไป ฉะนั้น เพราะฉะนั้น บุคคลพึงทำกัลยาณกรรม สะสมไว้เป็นสมบัติในปรโลก เพราะว่าบุญทั้งหลาย ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก

    รักตัวเองไหม ไม่ใช่พูดว่ารัก แต่ต้องทำ คือ ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ถ้าบอกว่ารักตัวเอง แต่สะสมกิเลสอกุศลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นชื่อว่าไม่รักตัวเอง

    ข้อความต่อไป อีกสูตรหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทุกสิ่งในชีวิตที่จะเกิดขึ้นกับแต่ละบุคคลนั้น เป็นไปเพราะบุญกรรมของบุคคลนั้นเอง

    อัตตรักขิตสูตรที่ ๕ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค มีข้อความว่า

    พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้หม่อมฉันได้เข้าที่ลับพักผ่อนอยู่ ได้เกิดความนึกคิดอย่างนี้ว่า ชนพวกไหนหนอแล ชื่อว่าเป็นผู้รักษาตน ชนพวกไหนหนอแล ชื่อว่าเป็นผู้ไม่รักษาตน

    ข้าพระองค์ได้คิดต่อไปว่า ก็ชนบางพวกแล ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ชนพวกนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ไม่รักษาตน ถึงแม้พลช้าง พลม้า พลรถ หรือพลเดินเท้าจะพึงรักษาเขา ถึงเช่นนั้น ชนพวกนั้น ก็ชื่อว่าเป็นผู้ไม่รักษาตน

    ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่า การรักษาเช่นนั้น เป็นการรักษาภายนอก มิใช่เป็นการรักษาภายใน ฉะนั้น ชนพวกนั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้ไม่รักษาตน

    ส่วนว่า ชนบางพวก ย่อมประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ชนพวกนั้น ชื่อว่าเป็นผู้รักษาตน ถึงแม้พลช้าง พลม้า พลรถ หรือพลเดินเท้า จะไม่รักษาเขา ถึงเช่นนั้น ชนพวกนั้น ก็ชื่อว่าเป็นผู้รักษาตน

    ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่า การรักษาเช่นนั้น เป็นการรักษาภายใน มิใช่เป็นการรักษาภายนอก ฉะนั้น ชนพวกนั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้รักษาตน

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า

    ถูกแล้ว ถูกแล้ว มหาบพิตร

    และข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไป ก็ตรงกับที่พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลพระผู้มีพระภาคทุกประการ

    พระผู้มีพระภาค ผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    การสำรวมกายเป็นการดี การสำรวมวาจาเป็นการดี การสำรวมด้วยใจเป็นการดี การสำรวมในที่ทั้งปวงเป็นการดี บุคคลสำรวมในที่ทั้งปวงแล้ว มีความละอายต่อบาป เรากล่าวว่า เป็นผู้รักษาตน

    ท่านผู้ฟังคงจะเห็นด้วยกับข้อความที่พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลพระผู้มีพระภาค เรื่องบุคคลผู้รักษาตน คือ รักษาด้วยการกระทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ใช่การมีบุคคลอื่นแวดล้อมพิทักษ์รักษา ซึ่งเวลาที่อกุศลกรรมให้ผล ถึงแม้ว่าจะมีคนคุ้มครอง แวดล้อมรักษาป้องกัน แต่การได้รับความทุกข์เดือดร้อน ที่เป็นอกุศลวิบาก เป็นผลของอกุศลกรรมของตนเอง ก็ย่อมเกิดขึ้น และถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะไม่มีใครแวดล้อมปกป้องรักษาเลย แต่เป็นผู้ที่ได้กระทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ซึ่งตราบใดที่กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตยังให้ผลอยู่ ก็ย่อมไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดสามารถที่จะประทุษร้ายเบียดเบียนให้เดือดร้อนได้

    ท่านผู้ฟังบางท่าน มีความคิด มีความเชื่อในเหตุการณ์สิ่งแวดล้อมภายนอก กล่าวว่า มีเหตุการณ์จริงๆ ที่เกิดขึ้น คือ รถโดยสารประจำทางเกิดอุบัติเหตุ มีคนที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งก่อนที่จะมีอุบัติเหตุ มีการแลกเปลี่ยนที่นั่งกัน ทำให้คนที่แลกเปลี่ยนที่นั่งนั้นไม่ได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุ คล้ายๆ กับว่า จะเป็นการบังเอิญที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่นั่งกันก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุ ทำให้บุคคลที่แลกเปลี่ยนที่นั่งนั้น ไม่ได้รับบาดเจ็บ

    ถ้าท่านเป็นผู้ที่มั่นคงในเรื่องผลของกรรมจริงๆ ท่านจะทราบว่า ทุกท่านสะสมมาแล้วทั้งนั้น ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม แล้วแต่ว่ากรรมใดพร้อมด้วยเหตุที่สมบูรณ์ ด้วยปัจจัยที่สมบูรณ์ที่จะให้ผลเกิดขึ้น ผลก็เกิดขึ้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๖ ตอนที่ ๓๕๑ – ๓๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 38
    28 ธ.ค. 2564