แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 306
ครั้งที่ ๓๐๖
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
มรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐนี้แหละ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งมั่นชอบ
ดูกร มหาลิ มรรคนี้ ปฏิปทานี้แหละ เพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่านั้น
ให้ไปที่ไหนหรือเปล่า ทำไมคิดว่า การเจริญสติปัฏฐานจะเจริญได้ต่อเมื่อต้องไปสู่สถานที่ๆ เป็นสำนักปฏิบัติ ซึ่งในพระไตรปิฎกไม่มี
เมื่อเจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีกราบทูลถามถึงหนทาง มรรค ปฏิปทา ข้อปฏิบัติ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐนี้แหละ คือ ความเห็นชอบ ตามสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตรงตามลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงจะชื่อว่าเห็นชอบ
เพราะฉะนั้น มรรค หนทางที่จะทำให้ดับกิเลสได้หมดสิ้นนั้น คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ ทุกคนต้องเลี้ยงชีพ เลี้ยงชีพชอบ และเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ตามเพศของคฤหัสถ์ หรือบรรพชิต
ความระลึกชอบ คือ ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นของจริง เป็นสัจธรรม สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นของจริง ที่มีลักษณะจริงๆ ปรากฏแต่ละทาง เพราะฉะนั้น ความระลึกชอบ คือ ระลึกรู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ
ถ. เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์กล่าวว่า การเจริญสติไม่จำเป็นจะต้องไปสู่สถานที่ใดที่หนึ่ง แต่สำหรับอาจารย์หลายท่านที่ยังยึดมั่นอยู่ว่า จำเป็นจะต้องไปสู่สถานที่ใดที่หนึ่งนั้น ท่านกล่าวว่า อาจารย์ที่กล่าวว่าไม่ต้องไปสู่สถานที่ใดที่หนึ่งนั้น กล่าวตู่พุทธพจน์ ก็ในบาลีมีปรากฏอยู่แท้ๆ ว่า ไปสู่โคนไม้ ไปสู่เรือนว่าง ไปสู่ป่า ก็มีและจะพูดว่า ไม่จำเป็นต้องไปอย่างนี้ ก็จะแย้งพระพุทธพจน์ เป็นการตู่พระพุทธเจ้า ท่านยังยึดมั่นของท่านอยู่อย่างนี้
สุ. เรื่องการตู่พระพุทธพจน์นี้ ท่านผู้ฟังจะต้องพิจารณาถึงอรรถของ พระพุทธพจน์ด้วย เช่น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ พยัญชนะนี้ท่านผู้รู้บาลีทั้งหลายจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พยัญชนะนี้แปลว่า เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน
คำว่า มีปกติ หมายความว่าอย่างไร ก็หมายความอยู่แล้วว่า ขณะนี้ปกติ ที่เป็นปกติจริงๆ เป็นของจริงหรือไม่จริง ถ้าเป็นของจริง เป็นธรรม เป็นสิ่งที่สติระลึก และรู้ในสภาพธรรมนั้นได้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสแน่นอนว่า เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน หรือว่าท่านผู้ใดที่รู้ภาษาบาลีไม่เห็นด้วยในพยัญชนะนี้
ถ้าท่านจะตรวจสอบ ท่านตรวจสอบได้กับภาษาบาลีและอรรถของพยัญชนะนี้ ซึ่งหมายความว่า เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน คำนี้แสดงอยู่แล้วว่า เป็นผู้ที่เจริญ สติปัฏฐานเป็นปกตินั่นเอง
ชีวิตปกติมาวัด ฟังธรรม ทำธุรกิจการงานต่างๆ สติเจริญ อบรมทีละเล็ก ทีละน้อย ที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเป็นชีวิตจริงๆ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น การที่จะอบรมเจริญสติ ระลึกรู้ของจริงในชีวิตจริงตามปกติ วันหนึ่งสติก็จะต้องเพิ่มพูนสมบูรณ์ขึ้น พร้อมทั้งปัญญาที่สามารถที่จะแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้
ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านผู้ฟังจะพิจารณาว่า ปัญญาที่แท้จริงนั้นสามารถที่จะแทงตลอดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้หรือไม่ได้ ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ และถ้าได้ เพราะเจริญอบรมอย่างไร แต่ถ้ากล่าวว่า ขณะนี้ สติเกิดไม่ได้ ปัญญาเกิดไม่ได้ ก็หมายความว่า ไม่ได้อบรมจึงเกิดไม่ได้ แต่ถ้าอบรมก็เกิดได้
เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ท่านผู้ฟังจะพิจารณาว่า พระพุทธพจน์นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่าอย่างไร และมีอรรถว่าอย่างไร โดยเฉพาะที่ว่า เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน นี่เป็นพระพุทธพจน์แน่นอน ไม่ว่าท่านจะสอบทานภาษาบาลีกับท่านผู้รู้บาลีท่านใด
ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก ในครั้งอดีตซึ่งมีผู้ที่เห็นเทพจริงๆ ซึ่งท่านผู้นั้นเป็นพระอนาคามีบุคคล เป็นผู้ที่ชำนาญมากในฌานสมาบัติ เพราะฉะนั้น ความเห็นของท่านจะคลาดเคลื่อน หรือว่าจะผิดไป หรือว่าจะหลอกตัวเอง โดยที่ไม่ได้เห็นเทพก็เข้าใจว่าเห็นไม่ได้ เพราะว่าท่านเป็นพระอนาคามีบุคคลที่ชำนาญอย่างยิ่งในฌานสมาบัติ
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค คิลานสูตร มีข้อความว่า
ก็สมัยนั้นแล จิตตคฤหบดีป่วย เป็นทุกข์ มีไข้หนัก ครั้งนั้นแล อารามเทวดา วนเทวดา รุกขเทวดา และเทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ เป็นยา หญ้า และพระยาไม้ มาร่วมประชุมกัน แล้วกล่าวกับจิตตคฤหบดีว่า
ดูกร คฤหบดี ท่านจงปรารถนาว่า ขอให้เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชในอนาคตเถิด
เมื่อพวกเทวดากล่าวอย่างนี้แล้ว จิตตคฤหบดีจึงได้กล่าวกับเทวดาเหล่านั้นว่า
แม้การเป็นเช่นนั้น ก็เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน จำจะต้องละไป
นี่เป็นการละ แต่สำหรับของเทวดานั้นเป็นการติด แสดงให้เห็นถึงคุณธรรมที่ต่างกันของผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าแม้ว่าเป็นมนุษย์ และผู้ที่เป็นเทพ แต่ว่ายังติดอยู่
เมื่อจิตตคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว พวกมิตรสหาย ญาติสาโลหิตของจิตตคฤหบดี ได้กล่าวกับจิตตคฤหบดีว่า
ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุตรนาย ท่านจงตั้งสติไว้ อย่าเพ้อไป
จิตตคฤหบดีกล่าวว่า
ฉันได้พูดอะไรออกไปบ้างรึ ที่เป็นเหตุให้พวกท่านทั้งหลายกล่าวกะฉันอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุตรนาย ท่านจงตั้งสติไว้ อย่าเพ้อไป
พวกมิตรสหายกล่าวว่า
ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุตรนาย ท่านได้พูดอย่างนี้ว่า แม้การเป็นเช่นนั้น ก็เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน จำจะต้องละไป
จิตตคฤหบดีกล่าวว่า
จริงอย่างนั้น อารามเทวดา วนเทวดา รุกขเทวดา และเทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ เป็นยา หญ้า และพระยาไม้ ได้กล่าวกับเราอย่างนี้ว่า ดูกร คฤหบดี ท่านจงตั้งปรารถนาว่า ขอให้เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชในอนาคตกาล ฉันจึงได้กล่าวกับเทวดาเหล่านั้นว่า แม้การเป็นเช่นนั้นก็เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน จำจะต้องละไป
มิตรสหายกล่าวว่า
ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุตรนาย ก็อารามเทวดา วนเทวดา รุกขเทวดา และเทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ เป็นยา หญ้า และพระยาไม้เหล่านั้น เห็นอำนาจประโยชน์อะไรจึงได้กล่าวว่า ดูกร คฤหบดี ท่านจงปรารถนาว่า ขอให้เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชในอนาคตเถิด
ทุกคนที่พูดจะต้องมีจุดประสงค์ เพราะฉะนั้น พวกมิตรสหายของจิตตคฤหบดี ก็ใคร่ที่จะได้ทราบว่า เพราะเหตุใดเทวดาเหล่านั้นจึงได้กล่าวอย่างนั้น
จิตตคฤหบดีกล่าวว่า
อารามเทวดา วนเทวดา รุกขเทวดา และเทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ เป็นยา หญ้า และพระยาไม้เหล่านั้น มีความคิดอย่างนี้ว่า จิตตคฤหบดีผู้นี้เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ถ้าเธอจักปรารถนาว่า ขอให้เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชในอนาคตไซร้ การปรารถนาด้วยใจของเธอผู้มีศีลนี้จักสำเร็จได้เพราะศีลบริสุทธิ์ ผู้ประกอบด้วยธรรม ย่อมเพิ่มกำลังให้ผู้ที่ประกอบด้วยธรรม
อารามเทวดา วนเทวดา รุกขเทวดา และเทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ เป็นยา หญ้า และพระยาไม้เหล่านั้น เห็นอำนาจประโยชน์ดังกล่าวมานี้ จึงได้กล่าวว่า ดูกร คฤหบดี ท่านจงปรารถนาว่า ขอให้เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชในอนาคตเถิด
ฉันจึงได้กล่าวกับเทวดาเหล่านั้นว่า แม้การเป็นเช่นนั้น ก็เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน จำจะต้องละไป
เมื่อมิตรสหายของท่านได้ฟังอย่างนี้ ตื่นเต้นเรื่องที่จิตตคฤหบดีได้สนทนากับเทวดาเหล่านั้นหรือเปล่า ก็ไม่ แต่ต้องการฟังธรรม มิตรสหายเหล่านั้นไม่ได้สนใจที่จะติดในเทพ แต่กลับต้องการที่จะได้ฟังธรรมที่ทำให้ท่านจิตตคฤหบดีไม่มีเยื่อใยในการที่จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช
มิตรสหายกล่าวว่า
ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุตรนาย ถ้าเช่นนั้น ขอท่านจงกล่าวสอนพวกข้าพเจ้าบ้าง
จิตตคฤหบดีกล่าวว่า
ฉะนั้น พวกท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า พวกเราจะประกอบด้วยศรัทธาอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็น พระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม
พวกเราจักประกอบด้วยศรัทธาอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า พระธรรมอัน พระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน
พวกเราจักประกอบด้วยศรัทธาอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติชอบ นี่คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ ได้แก่ บุคคล ๘ นี้คือ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า อนึ่ง ไทยธรรมทุกชนิดในตระกูล จักเป็นของควรแบ่งกับท่านผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม พวกท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล
ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดี ครั้นแนะนำมิตรสหาย ญาติสาโลหิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ และจาคะแล้ว ได้กระทำกาละ คือ สิ้นชีวิตลง
จบสูตรที่ ๑๐
จบ จิตตคหปัตติปุจฉา
อีกตอนหนึ่งจากพระไตรปิฎก ที่จะมีประโยชน์สำหรับท่านผู้ฟัง
ใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค จิตตคหปติปุจฉาสังยุต นิคัณฐสูตร
ซึ่งครั้งนั้น ท่านจิตตคฤหบดีได้สนทนาธรรมกับเจ้าลัทธิอื่น คือ นิครนถนาฏบุตร ข้อความในนิคัณฐสูตร มีว่า
ก็สมัยนั้นแล นิครนถนาฏบุตรได้ไปถึงราวป่า ชื่อว่ามัจฉิกาสณฑ์ พร้อมด้วยนิครนถบริษัทเป็นอันมาก จิตตคฤหบดีได้สดับข่าวว่า นิครนถนาฏบุตรได้มาถึงราวป่าชื่อว่ามัจฉิกาสณฑ์ พร้อมด้วยนิครนถบริษัทเป็นอันมาก ครั้งนั้น จิตตคฤหบดีพร้อมด้วยอุบาสกหลายคนเข้าไปหานิครนถนาฏบุตรแล้วได้ปราศรัยกับนิครนถนาฏบุตร
ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วนิครนถนาฏบุตรได้ถามจิตตคฤหบดีว่า
ดูกร คฤหบดี ท่านย่อมเชื่อต่อพระสมณโคดมว่า สมาธิที่ไม่มีวิตก วิจารมีอยู่ ความดับวิตก วิจารมีอยู่หรือ
หมายความถึง ตั้งแต่ทุติยฌานขึ้นไป
จิตตคฤหบดีกล่าวว่า
ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าไม่ได้เชื่อต่อพระผู้มีพระภาคในข้อนี้ว่า สมาธิอันไม่มีวิตก วิจารมีอยู่ ความดับแห่งวิตก วิจารมีอยู่
เพียงคำพูดสั้นๆ นิครนถนาฏบุตรดีใจ เพราะเข้าใจว่า ท่านจิตตคฤหบดีไม่ได้เชื่อต่อพระผู้มีพระภาค นี่เป็นความเข้าใจเผินในพยัญชนะ ในข้อความที่ได้ยิน เพราะว่าตนเองไม่มีศรัทธาในพระผู้มีพระภาค เพราะฉะนั้น เพียงได้ยินคำที่คนอื่นพูดอย่างนี้ ก็ตีความเข้าใจเองว่า ท่านจิตตคฤหบดีไม่เชื่อในพระผู้มีพระภาค
ซึ่งเมื่อจิตตคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิครนถนาฏบุตรแลดูบริษัทของตนแล้ว จึงประกาศว่า
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงดูเรื่องนี้ จิตตคฤหบดีนี้เป็นคนตรง ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา จริงเพียงใด จิตตคฤหบดีผู้เข้าใจว่า พึงมีการดับวิตก วิจารนั้น ก็เท่ากับว่าเข้าใจว่า พึงกั้นกางลมได้ด้วยข่าย หรือจิตตคฤหบดีผู้เข้าใจว่า พึงมีการดับวิตก วิจารนั้น ก็เท่ากับว่า เข้าใจว่า พึงกั้นกลางกระแสน้ำคงคาได้ด้วยฝ่ามือของตน
จิตตคฤหบดีกล่าวว่า
ท่านผู้เจริญ ท่านย่อมเข้าใจเป็นไฉน คือ ญาณกับศรัทธา อะไรประณีตกว่ากัน
เพราะว่าไม่ใช่เพียงเชื่อ แต่จะต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาที่จะรู้ในสภาพธรรมนั้นด้วยตนเองต่างหาก จึงจะประณีตกว่า
ซึ่งนิครนถนาฏบตุรกล่าวตอบว่า
ดูกร คฤหบดี ญาณนั่นแหละประณีตกว่าศรัทธา
ขอให้ฟังคำของบุคคล ท่านพูดอย่างนี้ แต่ว่าประเดี๋ยวท่านก็จะกลับคำพูดของท่านได้ เพราะว่าขณะนี้ท่านรับรองว่า ดูกร คฤหบดี ญาณนั่นแหละประณีตกว่า ศรัทธา เห็นด้วยว่า ญาณ การรู้จริง ต้องประณีตกว่าการเพียงเชื่อตามเท่านั้น
จิตตคฤหบดีกล่าวว่า
ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าย่อมจำนงหวังได้ทีเดียวว่า เราสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌานอันมีวิตก วิจาร มีปีติ และสุข อันเกิดแต่วิเวกอยู่ ข้าพเจ้าย่อมจำนงหวังได้ทีเดียวว่า เราเข้าทุติยฌาน .. และฌานอื่นๆ ต่อไปจนถึง จตุตถฌาน เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ารู้เห็นอยู่อย่างนี้ จักไม่เชื่อต่อสมณะ หรือพราหมณ์ใดๆ ว่า สมาธิอันไม่มีวิตก วิจารมีอยู่ ความดับแห่งวิตก วิจารมีอยู่
หมายความว่า เพราะท่านได้บรรลุฌานด้วยตนเอง ไม่ใช่แต่เพียงเชื่อตามเท่านั้น แต่เมื่อจิตตคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว
นิครนถนาฏบุตรได้แลดูบริษัทของตน แล้วจึงประกาศว่า
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงดูเรื่องนี้ จิตตคฤหบดีนี้เป็นคนไม่ตรง โอ้อวด มีมารยาจริงเพียงใด
เปลี่ยนคำพูดแล้วใช่ไหม ใครผิดกันแน่ แต่ว่าผู้ที่มีความเห็นผิด เข้าใจผิด เพราะไม่ฟังบุคคลอื่นโดยละเอียด ก็กลับเข้าใจว่าตนเองถูก แต่ผู้อื่นนั้นพูดไม่ตรงเสียแล้ว หรือว่าโอ้อวด มีมารยา
จิตตคฤหบดีกล่าวว่า
ท่านผู้เจริญ ก็ข้าพเจ้าทราบคำที่ท่านพูดเมื่อสักครู่นี่แหละว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงดูเรื่องนี้ จิตตคฤหบดีนี้ เป็นคนตรง ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยาจริงเพียงใด และทราบคำที่ท่านพูดเดี๋ยวนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงดูเรื่องนี้ จิตตคฤหบดีนี้เป็นคนไม่ตรง โอ้อวด มีมารยาจริงเพียงใด ถ้าคำพูดของท่านครั้งก่อนเป็นจริง คำพูดครั้งหลังก็ผิด ถ้าคำพูดครั้งหลังของท่านเป็นจริง คำพูดครั้งก่อนของท่านก็ผิด ก็ปัญหาที่มีเหตุผล ๑๐ ข้อนี้ ย่อมมาถึงแก่ท่าน เมื่อท่านเข้าใจเนื้อความแห่งปัญหาเหล่านั้น ก็เชิญบอกกับนิครนถบริษัท
ปัญหา ๑๐ ข้อนี้ คือ
ปัญหา ๑ อุทเทส ๑ ไวยากรณ์ ๑
ปัญหา ๒ อุทเทส ๒ ไวยากรณ์ ๒
ปัญหา ๓ อุทเทส ๓ ไวยากรณ์ ๓
ปัญหา ๔ อุทเทส ๔ ไวยากรณ์ ๔
ปัญหา ๕ อุทเทส ๕ ไวยากรณ์ ๕
ปัญหา ๖ อุทเทส ๖ ไวยากรณ์ ๖
ปัญหา ๗ อุทเทส ๗ ไวยากรณ์ ๗
ปัญหา ๘ อุทเทส ๘ ไวยากรณ์ ๘
ปัญหา ๙ อุทเทส ๙ ไวยากรณ์ ๙
ปัญหา ๑๐ อุทเทส ๑๐ ไวยากรณ์ ๑๐
ครั้นจิตตคฤหบดีได้ถามปัญหามีเหตุผล ๑๐ ข้อนี้ กับนิครนถนาฏบุตรเสร็จแล้ว ก็ลุกจากอาสนะ หลีกไป
เป็นสิ่งที่ท่านผู้ฟังจะพิจารณา สิ่งที่เป็นธรรมที่จะเกื้อกูลแก่ท่านผู้ฟัง โดยการที่พิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนทั้งคำแรก ทั้งคำหลัง ทั้งเหตุผลที่ประกอบกัน ทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก เพื่อที่จะได้เหตุผลที่สมบูรณ์ซึ่งเป็นของจริง และสามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ขัดเกลาละกิเลสได้จริงๆ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๑ ตอนที่ ๓๐๑ – ๓๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 301
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 302
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 303
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 304
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 305
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 306
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 307
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 308
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 309
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 310
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 311
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 312
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 313
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 314
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 315
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 316
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 317
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 318
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 319
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 320
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 321
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 322
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 323
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 324
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 325
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 326
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 327
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 328
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 329
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 330
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 331
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 332
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 333
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 334
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 335
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 336
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 337
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 338
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 339
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 340
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 341
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 342
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 343
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 344
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 345
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 346
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 347
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 348
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 349
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 350
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 351
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 352
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 353
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 354
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 355
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 356
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 357
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 358
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 359
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 360