แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 360


    ครั้งที่ ๓๖๐


    นอกจากนั้นก็มีสตรีที่เป็นภรรยาอีก ๑๐ จำพวกที่บุรุษอื่นไม่ควรจะก้าวล่วง คือภรรยาที่เขาซื้อหรือไถ่มาด้วยทรัพย์จำพวกหนึ่ง ภรรยาผู้ที่อยู่ด้วยความพอใจจำพวกหนึ่ง ภรรยาผู้ที่อยู่ด้วยโภคะจำพวกหนึ่ง ภรรยาผู้ที่อยู่ด้วยผืนผ้าจำพวกหนึ่ง ภรรยาที่ญาติจุ่มนิ้วมือลงในภาชนะน้ำแล้วรับมาจำพวกหนึ่ง ภรรยาที่ชายปลงเทริดลงจากศีรษะจำพวกหนึ่ง ภรรยาที่เป็นทั้งทาสีทั้งภรรยาจำพวกหนึ่ง ภรรยาที่เป็นผู้ทำงาน คือ เป็นหญิงรับใช้ ทั้งเป็นภรรยาจำพวกหนึ่ง ภรรยาที่ธงนำมา คือ ผู้ที่เป็นเชลยจำพวกหนึ่ง ภรรยาที่อยู่ร่วมกันเพียงครู่หนึ่งจำพวกหนึ่ง

    หญิงที่เป็นภรรยา ๑๐ จำพวกนี้ ที่บุรุษอื่นไม่พึงก้าวล่วง ถ้าก้าวล่วงก็เป็นการผิดศีลข้อ ๓ เป็นกาเมสุมิจฉาจาร ภรรยา ๑๐ จำพวก คือ

    ภรรยาที่เขาซื้อหรือไถ่มาด้วยทรัพย์ นี่ก็มีใช่ไหม

    ภรรยาผู้อยู่ด้วยความพอใจ หมายความว่า มีความรักใคร่พอใจที่จะอยู่ด้วยกัน ไม่ใช่ว่าถูกซื้อมาด้วยทรัพย์ ก็เป็นภรรยาจำพวกหนึ่ง

    ภรรยาผู้อยู่ด้วยโภคะ คือ ตามชนบท ถ้าให้ของอุปกรณ์แห่งเรือน บิดามารดาของหญิงนั้นก็อาจให้หญิงนั้นมา เพราะเห็นว่าจะได้มีผู้คุ้มครองรักษา เป็นฝั่งเป็นฝา ก็หมายความว่า อยู่ด้วยโภคะ

    สตรีหรือภรรยาผู้อยู่ด้วยผืนผ้า หมายความถึงหญิงเข็ญใจจริงๆ เพียงได้ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ก็ถึงความเป็นภริยา นี่ก็มีได้ใช่ไหม สมัยนี้บางคนก็อาจจะเห็นแก่เครื่องนุ่งห่มเสื้อผ้ามาก และถึงความเป็นภรรยาก็ได้

    สตรีที่ญาติจุ่มนิ้วมือลงในภาชนะน้ำแล้วรับมา หมายความถึง สตรีที่หมู่ญาติยังมือของคู่บ่าวสาวให้จุ่มลงในถาดน้ำถาดเดียวกัน และกล่าวว่า ทั้งสองจงปรองดอง ไม่แตกกันดุจน้ำนี้เถิด ที่มีพิธีรดน้ำในงานแต่งงาน คงหมายความว่า จงปรองดอง ไม่แตกกันดุจน้ำนี้เถิด นี่ก็ด้วยความยินยอมพร้อมใจของหมู่ญาติ

    สตรีอีกจำพวกหนึ่ง เป็นทั้งทาสีทั้งภรรยา ก็มีได้

    สตรีที่เป็นหญิงรับใช้ และทั้งเป็นภรรยาด้วย ก็มีได้

    สตรีที่ธงนำมา หมายความถึงเชลยที่ได้จากการรบการสงคราม เป็นภรรยาก็มี

    สำหรับสตรีที่ชายปลงเทริดลงจากศีรษะแล้วรับมา เทริด หมายความถึงของเทินบนศีรษะของหญิงนั้น เมื่อบุรุษนั้นนำลง คือ ปลงลงแล้ว เหตุนั้นสตรีนั้น ชื่อว่า โอภตจุมฺพฏา คือ บรรดาสตรีทั้งหลาย มีสตรีที่หาบฟืน เป็นต้น คนใดคนหนึ่ง

    คำว่า โอภตจุมฺพฏานั้น เป็นชื่อแห่งสตรีผู้ที่บุรุษยกเทริดลงจากศีรษะ แล้วให้อยู่ในเรือน

    นี่คือ ภรรยาที่ได้มาโดยวิธีต่างๆ เพราะฉะนั้น ถ้าบุรุษอื่นล่วงละเมิดภรรยาของบุคคลอื่น บุรุษนั้นก็ล่วงศีลข้อที่ ๓ คือ กาเมสุมิจฉาจาร

    ข้อความใน มังคลัตถทีปนี ยังมีเรื่องของการจำแนกว่า สำหรับหญิง ๘ ประเภท คือ สตรีที่มารดารักษาจำพวกหนึ่ง สตรีที่บิดารักษาจำพวกหนึ่ง สตรีที่มารดาและบิดารักษาจำพวกหนึ่ง สตรีที่พี่น้องชายรักษาจำพวกหนึ่ง สตรีที่พี่น้องหญิงรักษาจำพวกหนึ่ง สตรีที่ญาติรักษาจำพวกหนึ่ง สตรีที่โคตร คือ สกุล รักษา จำพวกหนึ่ง สตรีที่ธรรมรักษาจำพวกหนึ่ง

    ถ้าบุรุษก้าวล่วง บุรุษนั้นเป็นมิจฉาจาร แต่สตรีไม่เป็นมิจฉาจาร ก็เป็นความต่างกัน

    สำหรับ สตรีที่รับหมั้นแล้ว ๑ สตรีที่กฎหมายคุ้มครอง ๑ สตรีที่เขาซื้อมาด้วยทรัพย์ ๑ สตรีที่อยู่ด้วยความพอใจ ๑ สตรีที่อยู่ด้วยโภคะ ๑ สตรีที่อยู่ด้วยผืนผ้า ๑สตรีที่ญาติจุ่มนิ้วมือลงในภาชนะน้ำแล้วรับมา ๑ สตรีที่ชายปลงเทริดลงจากศีรษะ ๑สตรีที่เป็นทั้งทาสีทั้งภรรยา ๑ สตรีที่เป็นหญิงรับใช้ทั้งเป็นภรรยา ๑ สตรีที่ธงนำมา คือ ที่เป็นเชลย ๑ สตรีที่อยู่ร่วมกันเพียงครู่หนึ่ง ๑

    ในหญิง ๑๒ จำพวกนี้ ถ้าบุรุษอื่นก้าวล่วงเป็นมิจฉาจาร และสำหรับหญิง ๑๒ จำพวกนี้ ถ้ายินดีให้บุรุษอื่นก้าวล่วง หญิง ๑๒ จำพวกนี้เป็นมิจฉาจาร

    สำหรับโทษ ก็เช่นเดียวกับอกุศลกรรมอื่นๆ คือ ถ้าเป็นการก้าวล่วงผู้ที่มีคุณมากก็โทษมาก ถ้าเป็นการก้าวล่วงผู้ที่มีคุณน้อยก็โทษน้อย เพราะฉะนั้น ที่สังคมวุ่นวายนี้ ก็ควรที่จะได้ทราบฐานะตามความเป็นจริงว่า เกิดจากกิเลส การสะสม ความพอใจ ติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งถ้าไม่ขัดเกลา หรือว่าไม่มีหิริโอตตัปปะล้ว การกระทำทุจริตกรรมก็สามารถที่จะก้าวล่วงไปตามกำลัง ของกิเลสได้

    โทษของเมถุนธรรม ใน ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ติสสเมตเตยยสูตรที่ ๗ ซึ่งมีข้อความใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา แสดงเรื่องการอุบัติของพระสูตรนี้ว่า

    ดังได้สดับมา เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองสาวัตถี สหายสองคน ชื่อติสสะกับเมตเตยยะ ได้ไปถึงเมืองสาวัตถี สหายทั้งสองนั้นเห็นมหาชนเดินมุ่งหน้าไปยังพระเชตวันในเวลาเย็น จึงถามว่า พวกท่านไปไหนกัน

    ลำดับนั้นสหายทั้งสองเมื่อชนเหล่านั้นตอบว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก กำลังแสดงธรรมเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมากอยู่ พวกเราก็จักไปยังพระเชตวันเพื่อฟังธรรมนั้น ดังนี้ สหายทั้งสองจึงพากันไป ด้วยคิดว่า แม้เราทั้งสองก็จักฟังธรรม ซึ่งสหายทั้งสองนั้นฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคผู้ทรงแสดงธรรมอยู่ นั่งแล้วในท่ามกลางบริษัทนั้นเอง จึงคิดว่า เราผู้ดำรงอยู่ในท่ามกลางเรือนไม่อาจบำเพ็ญธรรมนี้ได้

    นี่เป็นสภาพนามธรรมจริงๆ ของสหายทั้งสองนั้น ซึ่งเมื่อได้ฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอยู่ก็คิดว่า เราผู้ดำรงอยู่ในท่ามกลางเรือนไม่อาจบำเพ็ญธรรมนี้ได้ ขณะนี้มีท่านผู้ฟังคิดเช่นนี้บ้างไหม ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันหมดทุกคน รู้สภาพความจริงของตน รู้ชีวิตจริงของตนเองว่าเป็นอย่างไร

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ครั้งนั้น เมื่อมหาชนจากไปแล้ว สหายทั้งสองนั้นจึงได้ขอบรรพชากับพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับภิกษุรูปใดรูปหนึ่งด้วยพระดำรัสว่า เธอจงให้สหายทั้งสองนี้บวช ภิกษุรูปนั้นจึงให้สหายทั้งสองนั้นบวช แล้วให้ตจปัญจกกัมมัฏฐาน จึงได้ปรารภเพื่อจะไปอยู่ป่า

    นี่ก็เป็นแต่ละชีวิต ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังศึกษาพระสูตรนี้โดยตลอด จะได้เห็นชีวิตของสองสหายที่ต่างกันตามความเป็นจริง ไม่จำเป็นที่ใครจะทำเหมือนอย่างใคร หรือว่าเอาอย่างใคร เพราะเหตุว่าไม่ได้เข้าใจผิดในข้อปฏิบัติ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระเมตเตยยะกล่าวกับพระติสสะว่า

    ผู้มีอายุ อุปัชฌาย์กำลังจะไปป่า ถึงพวกเราก็จะไป

    แต่พระติสสะกล่าวว่า

    อย่าเลยคุณ ผมชอบใจการเฝ้า และการฟังธรรมของพระผู้มีพระภาค ท่านจงไปเถอะ ดังนี้ แล้วก็ไม่ได้ไป

    ท่านพระเมตเตยยะก็ไปกับพระอุปัชฌาย์ ทำสมณธรรมอยู่ในป่า ไม่นานนักก็บรรลุพระอรหันต์ พร้อมกับอุปัชฌาย์และอาจารย์ทั้งหลาย

    น่าเอาอย่างเหลือเกินใช่ไหม เพียงฟังผล น่าเอาอย่างเหลือเกินว่า ไปป่าไม่นานนักก็บรรลุพระอรหันต์ เพียงได้ยินว่าบรรลุพระอรหันต์ก็อยากจะไปป่า และอยากจะได้บรรลุพระอรหันต์จริงๆ ในเวลาไม่นานนัก แต่ทำไมท่านพระติสสะทั้งๆ ที่ท่านรู้อย่างนั้น ท่านไม่ไป ไม่อยากไปเหมือนคนอื่นหรือ ไม่อยากได้พระอรหันต์เหมือนคนอื่นหรืออย่างไร ในการที่ท่านไม่ไป

    ท่านผู้ฟังที่อยากจะไป มีหวังที่จะได้พระอรหันต์ไหม ท่านผู้ฟังกล่าวว่า ไม่อยากไป เพราะอะไร เพราะว่ารู้จักตัวเองตามความเป็นจริง

    แม้ในขณะที่ฟังธรรม บุคคลผู้ใดจะเกิดความคิดว่า เราผู้ดำรงอยู่ในท่ามกลางเรือนไม่อาจบำเพ็ญสมณธรรมนี้ได้ นั่นก็เป็นความคิดของบุคคลนั้นที่รู้จักตนเองตามความเป็นจริง แต่สำหรับบุคคลอื่น ก็รู้จักตัวของเขาเองตามความเป็นจริง ซึ่งท่านพระติสสะเอง ท่านรู้จักตัวของท่านเองตามความเป็นจริง เมื่ออัธยาศัยของท่านชอบใจการเฝ้า การฟังธรรมของพระผู้มีพระภาค ท่านก็ไม่ได้ไปสู่ป่าด้วย ขอให้ท่านดูชีวิตจริงของท่านพระติสสะว่า ชีวิตจริงของท่านพระติสสะนั้นจะดำเนินต่อไปอย่างไร

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พี่ชายแม้ของพระติสสะได้ถึงแก่กรรมลงด้วยพยาธิ แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง พระติสสะนั้น ฟังข่าวนั้นแล้ว ก็ได้ไปยังบ้านของตน ที่บ้านของท่านนั้น พวกญาติพูดประเล้าประโลมชวนให้ท่านสึก ซึ่งท่านก็สึกไป นี่เป็นชีวิตจริงของท่าน

    ข้อความต่อไป กล่าวถึงท่านพระเมตเตยยะว่า

    แม้พระเมตเตยยะก็ได้ไปยังเมืองสาวัตถี พร้อมกับอุปัชฌาย์และอาจารย์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงออกพรรษาแล้ว จึงได้เสด็จจาริกไปยังชนบท ได้เสด็จถึงบ้านนั้นโดยลำดับ ครั้งนั้น พระเมตเตยยะได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในบ้านนี้ ข้าพระองค์มีเพื่อนที่เป็นคฤหัสถ์อยู่คนหนึ่ง ขอพระองค์จงทรงอาศัยความเอ็นดูรอก่อนสักครู่ ดังนี้แล้ว จึงเข้าไปสู่บ้าน นำสหายมาสู่สำนักของพระผู้มีพระภาค ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาเบื้องต้นเพื่อประโยชน์แก่สหายนั้น พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงพยากรณ์แก่พระเมตเตยยะภิกษุนั้น จึงได้กล่าวคาถาที่เหลือทั้งหลาย นี่คือการอุบัติขึ้นแห่งพระสูตรนี้

    จะเห็นได้ว่า ผู้ที่รู้คุณค่าของพระธรรมเทศนา แม้จะเป็นเพียงโอกาสเล็กน้อยที่พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในชนบท และท่านพระเมตเตยยะเห็นประโยชน์ของ พระธรรมเทศนา จึงได้ทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความเอ็นดู รอก่อนสักครู่

    เพียงครู่หนึ่ง ที่จะได้ฟังพระธรรมเทศนา ประโยชน์ที่ได้รับมหาศาล ซึ่งผู้ที่รู้คุณค่าของพระธรรมเทศนาแล้ว ไม่ปรารถนาที่จะให้โอกาสนั้นผ่านไปเลย ยังคิดที่จะเกื้อกูลสหาย เห็นว่าแม้เพียงชั่วครู่ที่จะได้ฟังธรรม ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง พร้อมกันนั้นท่านก็ทราบว่า ควรจะกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยเรื่องใดจึงจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สหายที่เป็นคฤหัสถ์ของท่าน ซึ่งครั้งหนึ่งได้อุปสมบทแต่ก็ได้สึกไป

    ข้อความใน ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ติสสเมตเตยยสูตรที่ ๗ มีว่า

    ท่านพระเมตเตยยะทูลถามปัญหาว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอพระองค์จงตรัสบอกความคับแค้นแห่งบุคคล ผู้ประกอบเมถุนธรรมเนืองๆ เถิด ข้าพระองค์ทั้งหลายได้สดับคำสั่งสอนของพระองค์แล้ว จักศึกษาในวิเวก

    ปรมัตถโชติกา อรรถกถา มีคำอธิบายว่า

    สองบทว่า วิเวเก สิกฺขิสฺสามเส ได้แก่ เมื่อจะทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมปรารภสหาย คือ เพื่อสหายของตน ท่านพระเมตเตยยะจึงได้กราบทูลดังนี้ แม้ว่าท่านเองนั้น สำเร็จการศึกษาแล้วเทียว

    คือ ท่านบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์แล้วก็จริง แต่แม้กระนั้นไม่ได้แสดงตน ไม่ได้โอ้อวดว่าเป็นพระอรหันต์ แต่ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกความคับแค้นแห่งบุคคล ผู้ประกอบเมถุนธรรมเนืองๆ เถิด ข้าพระองค์ทั้งหลายได้สดับคำสั่งสอนของพระองค์แล้ว จักศึกษาในวิเวก

    พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า

    ดูกร เมตเตยยะ ความคับแค้นของบุคคล ผู้ประกอบเมถุนธรรมมีอยู่ บุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรม ย่อมลืมแม้คำสั่งสอน และย่อมปฏิบัติผิด การปฏิบัตินี้เป็นกิจไม่ประเสริฐในบุคคลนั้น บุคคลใดประพฤติอยู่ผู้เดียวในกาลก่อนแล้ว เสพเมถุนธรรมในภายหลัง บัณฑิตทั้งหลายกล่าวบุคคลนั้นว่า เป็นคนมีกิเลสมากในโลก เหมือนยวดยานที่แล่นไปใกล้เหว ฉะนั้น ยศและเกียรติคุณในกาลก่อนของบุคคลนั้น ย่อมเสื่อม บุคคลเห็นโทษแม้นี้แล้ว ควรศึกษาไตรสิกขา เพื่อละเมถุนธรรม ผู้ใดไม่ละเมถุนธรรม ผู้นั้นถูกความดำริครอบงำแล้ว ซบเซาอยู่ เหมือนคนกำพร้า ฉะนั้น ผู้นั้นฟังเสียงอันระบือไปของชนเหล่าอื่นแล้ว เป็นผู้เก้อเขินเช่นนั้น

    อนึ่ง ผู้ใดอันวาทะของบุคคลอื่นตักเตือนแล้ว ยังกระทำกายทุจริต เป็นต้น ผู้นี้แหละ พึงเป็นผู้มีเครื่องผูกใหญ่ ย่อมถือเอาโทษแห่งมุสาวาท บุคคลอันผู้อื่นรู้กันดีแล้วว่าเป็นบัณฑิต อธิษฐานการเที่ยวไปผู้เดียว แม้ในภายหลังประกอบในเมถุนธรรม ย่อมมัวหมองเหมือนคนงมงาย ฉะนั้น

    มุนีในศาสนานี้ รู้โทษในเบื้องต้นและเบื้องปลายนี้แล้ว ควรกระทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่นคง ไม่ควรเสพเมถุนธรรม ควรศึกษาวิเวกเท่านั้น การประพฤติวิเวกนี้เป็นกิจอันสูงสุดของพระอริยเจ้าทั้งหลาย มุนีไม่ควรสำคัญตนว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด ด้วยวิเวกนั้น มุนีนั้นแล ย่อมอยู่ใกล้นิพพาน หมู่สัตว์ผู้ยินดีแล้วในกามทั้งหลาย ย่อมรักใคร่ต่อมุนีผู้สงัดแล้วเที่ยวไปอยู่ ผู้ไม่มีความห่วงใยในกามทั้งหลาย ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว ฉะนี้แล

    จบติสสเมตเตยยสูตรที่ ๗

    ปรมัตถโชติกา อรรถกถา อธิบายความในพระสูตรนี้ว่า

    บุคคลใดประพฤติอยู่ผู้เดียวในกาลก่อนแล้ว เสพเมถุนธรรมในภายหลัง บัณฑิตกล่าวบุคคลผู้นั้นว่า เป็นคนมีกิเลสมากในโลก เหมือนยวดยานที่แล่นไปใกล้เหว ฉะนั้น

    อธิบายว่า

    บาทพระคาถาว่า เอโก บุพฺเพ จริตฺวา ได้แก่ ในกาลก่อนเป็นผู้ผู้เดียวอยู่ ด้วยเหตุ กล่าวคือ บรรพชา หรือว่าด้วยอรรถว่า เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ

    สองบาทพระคาถา ความว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวบุคคลผู้นั้น คือ ผู้ลาสิกขาบท ผู้ที่สึกไปแล้วนั้นว่า เป็นคนเลว และเป็นผู้มีกิเลสหนาว่า เหมือนยานที่แล่นไปใกล้เหว ฉะนั้น ก็เพราะด้วยการแล่นไปยังที่ไม่สม่ำเสมอ ขรุขระ มีกายทุจริต เป็นต้น ด้วยการหักรานประโยชน์ของตน และด้วยการทำตนให้ตกไป มีความเป็นผู้มีชาติกำเนิดต่ำทราม เป็นต้น เปรียบเหมือนยวดยาน มียานที่เทียมด้วยช้าง เป็นต้น อันเจ้าของไม่ฝึกฝนแล้ว ย่อมวิ่งไปสู่ทางอันขรุขระบ้าง ย่อมทำเจ้าของให้ได้รับบาดเจ็บบ้าง ย่อมตกเหวบ้าง

    นี่คือชีวิตที่แล่นไปยังที่ที่ไม่สม่ำเสมอ ขรุขระ มีกายทุจริต เป็นต้น ซึ่งถ้ายังดำรงเพศของบรรพชิตอยู่ จะไม่ต้องกระทำกายทุจริต มีปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร หรือมุสาวาท เป็นต้น แต่เมื่อลาสิกขาบท สึกแล้ว ย่อมหักรานประโยชน์ของตน ด้วยการทำตนให้ตกไป มีความเป็นผู้มีชาติกำเนิดต่ำทราม เป็นต้น เพราะว่าจะต้องแสวงหาโภคทรัพย์ จะต้องมีการกระทำที่อาจจะเป็นปาณาติบาต อทินนาทาน หรือกาเมสุมิจฉาจาร ซึ่งในระหว่างที่เป็นภิกษุนั้น มีการละเว้นอกุศลธรรมเหล่านี้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๖ ตอนที่ ๓๕๑ – ๓๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 38
    28 ธ.ค. 2564