แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 370


    ครั้งที่ ๓๗๐


    ในพระสูตรนี้ จะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทแม้เรื่องอะไร ทุกข์นั้นไม่ได้อยู่ที่คนอื่น แต่อยู่ที่ฉันทราคะของท่านเอง ซึ่งเมื่อจะดับ ต้องเป็นการดับด้วยการอบรมเจริญปัญญาของท่านเองเท่านั้น ที่จะละฉันทราคะซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ได้ ไม่ใช่อยู่ที่บุคคลอื่น และกิเลสก็ยังมีแม้ไม่เห็นบุคคลนั้น ชาติต่อไปเห็นบุคคลอื่น ฉันทราคะที่ยังไม่ดับ ก็ย่อมนำมาซึ่งความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะในบุคคลอื่นต่อไป ทุกภพ ทุกชาติ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าบุคคลอื่นจะมีอิทธิพลที่ทำให้ท่านเป็นทุกข์ แต่เพราะกิเลสที่มีอยู่ในจิตของท่านเอง ที่ท่านจะต้องเพียรระลึกรู้และดับ จึงจะสามารถที่จะดับทุกข์ได้ ซึ่งผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานสามารถที่จะทราบได้ ตรงต่อตัวเองตามความเป็นจริงว่า ท่านติดทางใดมาก ท่านติดในรูปมาก หรือในเสียงมาก หรือในกลิ่น หรือในรส หรือในโผฏฐัพพะมาก

    ถ้าท่านเป็นผู้ที่ติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะมากขึ้น เรื่อยๆ ทุกวัน วันหนึ่งท่านอาจจะเป็นผู้ที่ล่วงศีล แม้ในข้อกาเมสุมิจฉาจารได้ เพราะท่านไม่ได้เพียรที่จะขัดเกลากิเลสของท่าน แต่สะสมกิเลสเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อกิเลสเพิ่มมากขึ้น ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมากขึ้น ท่านก็ย่อมประพฤติผิดในกามได้ ไม่ว่าจะเป็นการประพฤติผิดในศีลข้อ ๑ หรือข้อ ๒ หรือข้อ ๓ หรือข้อต่อๆ ไป ซึ่งก็เป็นไปเพราะความติดในกาม คือ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

    ผู้ที่เห็นกาลไกล จะเห็นเมื่อไรก็แล้วแต่ จะเห็นมาแล้วในชาติก่อน หรือว่าในชาตินี้ก็เห็นบ้าง หรือว่าสะสมไปที่จะเห็นชัดในชาติหน้า ท่านก็จะเป็นผู้ที่ย่อมไม่สะสมในการครองเรือน

    จะขอกล่าวถึงผู้ที่ได้อบรมบารมีมา ที่จะเห็นโทษของการครองเรือน และสะสมมาในการที่จะไม่ครองเรือน ใน ขุททกนิกาย เตมียชาดก มีข้อความว่า

    เมื่อพระราชาเสด็จไปพร้อมด้วยข้าราชบริพาร เพื่อทรงชักชวนให้พระเตมียราชฤาษีเสวยราชก่อน ให้ทรงมีพระโอรสหลายองค์ แล้วภายหลังจึงบวช ซึ่งพระเตมียราชฤาษีกราบทูลพระราชบิดาว่า

    ขอถวายพระพร คนหนุ่มควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ควรจะเป็นคนหนุ่ม เพราะว่าการบวชของคนหนุ่ม ท่านผู้แสวงหาคุณธรรม มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น สรรเสริญ คนหนุ่มควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ควรจะเป็นคนหนุ่ม อาตมภาพจะประพฤติพรหมจรรย์ อาตมภาพไม่ต้องการด้วยราชสมบัติ อาตมภาพเห็นเด็กชายของท่านทั้งหลาย ผู้เรียกมารดาบิดา ซึ่งเป็นบุตรที่รักอันได้มาด้วยยากยิ่งนัก ยังไม่ทันถึงแก่ ก็ตายเสียแล้ว อาตมภาพเห็นเด็กหญิงของท่านทั้งหลายซึ่งสวยสดงดงาม น่าดู น่าชม มีอันสิ้นไปแห่งชีวิต เหมือนหน่อไม้ไผ่ที่ถูกถอน ฉะนั้น

    จริงอยู่ จะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม แม้จะยังหนุ่มสาวก็ตาย เพราะเหตุนั้นใครเล่าจะพึงวางใจในชีวิตนั้นว่า เรายังเป็นหนุ่มสาว อายุของคนเป็นน้อยนัก เพราะวันคืนล่วงไปๆ เปรียบเหมือนอายุของฝูงปลาในน้ำน้อย ความเป็นหนุ่มสาวในวัยนั้น จักทำอะไรได้ สัตว์โลกถูกครอบงำ และถูกห้อมล้อมอยู่เป็นนิจ เมื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เป็นไปอยู่ มหาบพิตรจะอภิเษกอาตมภาพในราชสมบัติทำไม

    เมื่อพระราชบิดาได้สดับคำของพระเตมียราชฤาษีแล้ว ก็สงสัยและได้ตรัสถามว่า

    สัตว์โลกอันอะไรครอบงำไว้ อันอะไรห้อมล้อมไว้ อะไรชื่อว่า สิ่งไม่เป็นประโยชน์เป็นไปอยู่

    ผู้ที่เป็นบัณฑิตแสวงหาประโยชน์จากถ้อยคำซึ่งมีสาระและเป็นประโยชน์ เมื่อยังไม่เข้าใจชัดก็สอบถามเพื่อที่จะได้รู้ว่า สัตว์โลกอันอะไรครอบงำไว้ อันอะไรห้อมล้อมไว้ อะไรชื่อว่า สิ่งไม่เป็นประโยชน์เป็นไปอยู่

    พระเตมีย์ทูลว่า

    สัตว์โลกอันความตายครอบงำไว้ อันความแก่ห้อมล้อมไว้ วันคืน ชื่อว่าสิ่งไม่เป็นประโยชน์เป็นไป มหาบพิตรจงทรงทราบอย่างนี้ ขอถวายพระพร

    เมื่อด้ายที่เขากำลังทอ ช่างหูกทอไปได้เท่าใด ส่วนที่จะต้องทอก็ยังเหลืออยู่น้อยเท่านั้น แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้น แม่น้ำที่เต็มฝั่งย่อมไม่ไหลไปสู่ที่สูง ฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลายย่อมไม่กลับมาสู่ความเป็นเด็กอีก ฉันนั้น แม่น้ำซึ่งเต็มฝั่งย่อมพัดพาเอาต้นไม้ที่เกิดอยู่ริมฝั่งให้หักโค่นไป ฉันใด สัตว์ทั้งปวงย่อมถูกชราและมรณะพัดพาไป ฉันนั้น

    ท่านผู้ฟังเห็นด้วยหรือยังกับข้อความที่ว่า สัตว์โลกอันความตายครอบงำไว้ มีใครพ้นบ้าง ครอบงำไว้จริงๆ หนีไปทางไหนจะพ้นไหม จะไปจักรวาลอื่น นอกโลก จะไปที่ไหนก็ตามแต่ ใครจะหนีความตายได้ เพราะว่าสัตว์โลกทั้งหลายเมื่อเกิดมาแล้วจะต้องตาย ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ไม่ว่าจะหนีไปที่ใด ไม่ว่าจะอยู่ถึงสวรรค์ชั้นใดก็ตาม ความตายก็ครอบงำไว้ เพราะว่าสัตว์โลกทั้งหมดที่เกิดมาแล้วจะต้องตาย หนีความตายไม่พ้นเลย

    อันความแก่ห้อมล้อมไว้ ความแก่ห้อมล้อมอยู่ทุกขณะ ทุกเวลา ไม่หนีหายไปเลยเหมือนกัน เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ก็แก่กว่าเมื่อครู่นี้แล้ว เพราะฉะนั้น ความแก่นี้ห้อมล้อมอยู่ตลอดเวลา ทุกวินาที ทุกขณะของจิต ไม่พ้นไปอีกเหมือนกัน

    ความตายครอบงำไว้ หนีไม่พ้น ความแก่ห้อมล้อมไว้ คือ มีอยู่ด้วยตลอดเวลา ทุกขณะ ไม่หนีหายไป

    วันคืน ชื่อว่าสิ่งไม่เป็นประโยชน์เป็นไป เพราะเหตุว่า เป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรมแต่ละลักษณะที่เกิดขึ้นและดับไป เท่านั้นเอง

    สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ปรากฏ ดับไปแล้ว เมื่อครู่นี้ เสียงที่ปรากฏทางหู ปรากฏ และดับไป กลิ่นที่ปรากฏ ปรากฏ และดับไป รสที่เลิศ ที่อร่อย ที่ประณีต ปรากฏ และดับไป โผฏฐัพพะที่ปรากฏ ปรากฏ และดับไป นี่คือวันและคืนซึ่งเป็นการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งเกิดขึ้นและดับไป สืบต่อกัน เป็นวัน เป็นคืน เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เพียงเกิดขึ้นและดับไปเท่านั้น ชื่อว่าสิ่งไม่เป็นประโยชน์เป็นไป

    ท่านผู้ฟังอาจจะรู้สึกเป็นสุขมากเวลาที่เห็น หรือว่าได้ยินคำสรรเสริญ ยกย่อง เยินยอ ได้รสอาหารที่ประณีต ได้วัตถุทางตาที่น่าพอใจ ได้รสที่พอใจ ได้เสียงที่พอใจ ได้กลิ่นที่พอใจ มีความสุขมาก แต่ถึงท่านจะสุขสักเท่าไร สุขนั้นก็หมดไปแล้ว

    เมื่อวานนี้ ท่านรู้สึกตื่นเต้น มีความสุข มีความโสมนัสมาก แต่สุขโสมนัสเมื่อวานนี้ก็หมดไปแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นสุข เป็นทุกข์อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างก็เป็นแต่เพียงสภาพของธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และดับไป หมดไป

    สุขมากมากเมื่อวานนี้ หมดไปแล้ว มีประโยชน์ไหมวันนี้ หมดแล้วก็ชื่อว่า เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เป็นไป

    เมื่อพระราชบิดาทรงชักชวน หว่านล้อมนานาประการที่จะให้พระเตมีย์เสด็จกลับไปเสวยราชสมบัติเสียก่อน

    พระเตมีย์ทูลว่า

    มหาบพิตรจะให้อาตมภาพเสื่อมไปเพราะทรัพย์ทำไม บุคคลจักตายเพราะภรรยาทำไม ประโยชน์อะไรด้วยความเป็นหนุ่มสาวซึ่งต้องแก่ ทำไมจะต้องให้ชราครอบงำ ในโลกสันนิวาสอันมีชราและมรณะเป็นธรรมดานั้น จักเพลิดเพลินไปทำไม จะเล่นหัวไปทำไม จะยินดีไปทำไม จะมีประโยชน์อะไรด้วยการแสวงหาทรัพย์ จะมีประโยชน์อะไรด้วยบุตรและภรรยาแก่อาตมภาพ อาตมภาพหลุดพ้นแล้วจากเครื่องผูก ขอถวายพระพร

    มัจจุราชย่อมไม่ย่ำยีอาตมภาพซึ่งรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลถูกมัจจุราชครอบงำแล้ว จะยินดีไปทำไม จะประโยชน์อะไรด้วยการแสวงหาทรัพย์

    ผลไมัที่สุกแล้ว ย่อมเกิดภัยแต่การหล่นเป็นนิตย์ ฉันใด สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วย่อมมีภัยแต่ความตายเป็นนิตย์ ฉันนั้น คนเป็นอันมากได้พบกันในเวลาเช้า พอเวลาเย็นก็ไม่เห็นกัน คนเป็นอันมากได้พบกันในเวลาเย็น พอถึงเวลาเช้าก็ไม่ได้เห็นกัน ควรรีบทำความเพียรเสียแต่ในวันนี้ทีเดียว ใครเล่าจะพึงรู้ความตายว่าจะมีในวันพรุ่งนี้ เพราะความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ไม่มีเลย โจรทั้งหลายย่อมปรารถนาทรัพย์ อาตมภาพเป็นผู้พ้นจากเครื่องผูก ขอถวายพระพร เชิญมหาบพิตรเสด็จกลับเถิด อาตมภาพไม่มีความต้องการด้วยราชสมบัติ

    จบเตมียชาดกที่ ๑

    จะเห็นได้ว่า การเห็นหิริ โอตตัปปะในกาม คือ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้นต่างกัน เพราะฉะนั้น ในปัจจุบันนี้ ท่านมีการสะสมที่จะเป็นเพศใด คือ จะเป็นเพศบรรพชิต หรือเพศฆราวาส ซึ่งแท้ที่จริงแล้วในชาติก่อนๆ ก็ไม่ใช่ว่าท่านไม่เคยสะสมการออกจากเรือนเป็นเพศบรรพชิตมาเลย แต่กิเลสที่ยังไม่ดับเป็นสมุจเฉท ก็ย่อมแล้วแต่ปัจจัยของแต่ละภพ แต่ละชาติ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเอง แม้ในชาติที่เป็นพระเตมีย์ มีความคิด มีสภาพของจิตที่สะสมในชาตินั้นอย่างนั้น แต่ในพระชาติสุดท้าย ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังเป็นผู้ที่ทรงครองเรือน

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังที่เจริญสติปัฏฐาน จะสังเกตได้ว่า บางครั้ง บางคราวจิตใจของท่านจะมีความรู้สึกหน่าย หรือว่าละคลายการติดในกาม แม้ไม่มาก แม้จะเป็นเพียงครั้งคราว นิดหน่อย หรือว่าเป็นพักๆ ซึ่งก็เป็นผลของการเจริญอบรมปัญญาที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และขัดเกลาไปได้เพียงบางครั้ง บางขณะ

    พระผู้มีพระภาคเอง ก่อนที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงอบรมเจริญสติปัฏฐาน เช่น ในครั้งที่เป็นโชติปาลมาณพ ก็ได้เคยออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต อบรมเจริญสติปัฏฐานมาก มีจิตน้อมไปในการที่จะไม่ครองเรือน

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เรื่องของการดับกิเลส ต้องเป็นเรื่องของการรู้จริงในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่ปรากฏ แต่ไม่ทราบว่าชาติไหนจะประจักษ์แจ้งแทงตลอดในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ลักษณะต่างๆ กัน ในวันหนึ่งๆ ซึ่งจะต้องอาศัยความอดทน การเจริญเหตุ คือ สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏไปเรื่อยๆ บ่อยๆ เนืองๆ ที่เป็นชีวิตจริงๆ จนกว่าจะถึงชาติที่สามารถประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรม บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้ แต่จะขาดการที่สติจะเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริงไม่ได้ และจะต้องเป็นนามธรรม และรูปธรรมตามปกติในขณะนี้

    ถ้าท่านศึกษาทั้งพระสุตตันตปิฎกประกอบด้วย จะเห็นว่า เรื่องของการรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมมาก เจริญนาน และเป็นการยาก ไม่ใช่เป็นเรื่องที่สามารถที่จะเป็นพระอริยเจ้าได้โดยเหตุไม่สมควรแก่ผล คือ โดยปัญญาไม่สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง

    ถ. ในตอนต้นที่มีผู้ถามว่า ขับรถยนต์เจริญสติปัฏฐานได้หรือไม่ ถ้าเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติก็รู้ชัดอยู่แล้วว่าอะไรเป็นอะไร แต่ไฉนจึงยังมีความสงสัยอยู่ กระผมเดาว่า ที่สงสัยนั้น เป็นเพราะได้รับคำแนะแนวเรื่องการเจริญสติปัฏฐานมาไม่ตรงตามที่อาจารย์อธิบาย

    อีกเรื่องหนึ่ง ท่านอาจารย์กล่าวถึงว่า ได้สนทนากับบางท่านที่เกิดความสงสารผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ซึ่งความสงสารนี้ ก็บอกว่าเป็นกุศล แต่ว่าผู้นั้นเกิดร้องไห้ขึ้นมาร้องไห้นี้ก็บอกว่าเป็นโทสะ สงสัยอยู่ว่า การร้องไห้เป็นโทสะเสมอไปหรือ ผู้ที่สงสารผู้อื่น ซาบซึ้งจริงๆ สงสารอยากจะช่วยให้เขาพ้นทุกข์จริงๆ อย่างนี้ก็สามารถที่จะร้องไห้ได้ ไม่ใช่ร้องไห้เพราะอยากจะผลักไสให้เขาไปเสีย แต่สงสารอยากจะช่วยเหลือเขามาก สงสารจนกระทั่งเกิดน้ำตาไหล ร้องไห้ขึ้นมา อย่างนี้จะเป็นอกุศลด้วยหรือ หรือว่าเป็นกุศลก็ได้

    สุ. จิตเกิดดับสืบต่อกันเร็วมากทีเดียว ถ้าไม่เป็นผู้ที่ละเอียด ที่จะศึกษาความต่างกันของจิต ก็เกือบจะไม่ทราบว่า กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล เพราะว่า บางคนเข้าใจอกุศลว่าเป็นกุศล และเข้าใจกุศลว่าเป็นอกุศล

    พระมหากรุณาที่ทรงแสดงสภาพของจิตไว้โดยละเอียด ก็เพื่อให้ผู้ที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพของจิตนั้น ไม่เข้าใจสภาพของจิตผิด ถ้าท่านศึกษาปรมัตถธรรมจะทราบได้ว่า โทมนัสเวทนาเกิดกับโทสมูลจิตเท่านั้น โทมนัสเวทนาไม่เกิดกับโลภมูลจิต ไม่เกิดกับโมหมูลจิต และไม่เกิดกับมหากุศลจิตเลย เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังน้ำตาไหล จะไม่พ้นจากโทมนัสเวทนา ซึ่งในขณะนั้นเป็นโทสมูลจิต ถ้ามีความกรุณา เวทนาเป็นอุเบกขาได้ เป็นสภาพของกุศลจิต ซึ่งไม่ตกไปถึงความเป็นโทมนัส

    ถ. ตามที่อาจารย์อธิบายนั้น หมายความว่า ขณะที่เกิดกุศลจิตนั้น คือสงสาร ต่อจากสงสาร ก็เกิดความเศร้าสลด เกิดความเสียใจ พลอยเสียใจไปกับเขาด้วย เรียกว่าเป็นโทมนัส ซึ่งเป็นอกุศล เข้าใจชัดแจ้งดีอย่างนี้ แต่การร้องไห้ ยังติดใจอยู่อีกนิดหนึ่ง การร้องไห้ ไม่จำเป็นต้องเป็นอกุศลเสมอไปใช่ไหมครับ แม้กุศลก็อาจจะร้องไห้ได้ จะมีได้หรือไม่

    สุ. แล้วแต่เวทนา โดยปริยัติท่านก็คงจะทราบว่า ปีติจนน้ำตาไหลก็มี แต่ไม่ใช่ลักษณะเดียวกับการร้องไห้ด้วยโทมนัสเวทนา สภาพของจิตต่างกัน ลักษณะอาการที่ปรากฏก็ต่างกัน เพราะฉะนั้น เรื่องของจริง สิ่งที่เป็นจริง ไม่บิดเบือนไปเป็นอย่างอื่น และที่จะรู้ชัดได้ ก็เพราะสติกำลังระลึกรู้ในลักษณะของเวทนาในขณะนั้น จริงๆ ว่า เวทนาในขณะนั้นเป็นปีติ เป็นโสมนัส หรือว่าเป็นโทมนัส

    เวลาดูหนัง เวทนามากมายใช่ไหม โลภะก็มี ประเดี๋ยวก็เป็นโทมนัส ไม่รู้ตัวเลย แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติแล้ว สามารถที่จะรู้ได้ในสภาพของนามธรรมแต่ละชนิดที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สามารถที่จะรู้ได้ในขณะนั้นจริงๆ แต่ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ

    ขณะนี้นามธรรมและรูปธรรมเกิดดับสืบต่อติดกันอย่างรวดเร็ว ซึ่งปัญญาที่คมกล้าต้องแทงตลอดได้ในสภาพความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม จึงสามารถละการยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนได้

    ส่วนการที่สติจะระลึกนามใดรูปใด นั่นเป็นเรื่องของสติ เป็นชีวิตปกติจริงๆ ขอให้ทราบว่า ต้องเป็นปกติจริงๆ ประการเดียว ที่จะทำให้รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๗ ตอนที่ ๓๖๑ – ๓๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 39
    28 ธ.ค. 2564