แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 378
ครั้งที่ ๓๗๘
ข้อความที่ว่า สัมมาทิฏฐิอันศีลอนุเคราะห์แล้ว
ในมรรคมีองค์ ๘ ในเจตสิกทั้ง ๘ นั้น มีทั้งศีล สมาธิ และปัญญา ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ท่านก็จะเข้าใจเรื่องของเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ และสัมมาทิฏฐิ ที่ว่า ความเห็นถูกที่จะเกิดขึ้น อันศีลอนุเคราะห์แล้ว ๑ อันสุตะอนุเคราะห์แล้ว ๑ อันสากัจฉาอนุเคราะห์แล้ว ๑ อันสมถะอนุเคราะห์แล้ว ๑ อันวิปัสสนาอนุเคราะห์แล้ว ๑
สัมมาทิฏฐิที่เป็นการเจริญวิปัสสนา จะต้องเป็นในขณะที่สติระลึกแล้วปัญญาสำเหนียก สังเกต พิจารณา รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
ถ้าท่านจะเจริญสมาธิที่เป็นสมถภาวนา จะมีกสิณเป็นอารมณ์ หรือว่าจะมีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดที่จะให้จิตสงบถึงขั้นเป็นอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิก็ตามขณะนั้นไม่ใช่สัมมาทิฏฐิในมรรคมีองค์ ๘ ที่เป็นการเจริญวิปัสสนา เพราะเหตุว่าไม่ได้รู้ในความเป็นปรมัตถธรรม ที่เป็นสภาพธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แม้ที่เป็นความสงบของจิต ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นเพียงการเจริญสมถภาวนา จะไม่ใช่สัมมาทิฏฐิในมรรคมีองค์ ๘ แต่ถ้าเป็นการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ในมรรคมีองค์ ๘ นั้น เป็นทั้งวิชชาและจรณะ เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา เป็นทั้งขันธ์ ๓ คือ ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ เป็นทั้งสิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา
ใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระวิภังคปกรณ์ ได้แสดงไว้ด้วยว่า
ในมรรคมีองค์ ๘ สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ สงเคราะห์ด้วยวิชชา ธรรมที่เหลือสงเคราะห์ด้วยจรณะ
สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ สงเคราะห์ด้วยวิปัสสนา ธรรมที่เหลือสงเคราะห์ด้วยสมถะ
ถ้าเป็นการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่เป็นความสงบที่เป็นการเจริญสมถภาวนา ซึ่งไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นนามธรรมและรูปธรรม แต่ในขณะที่กำลังเจริญสตินั้นเอง สติก็ดี สมาธิก็ดี วิริยะก็ดี และธรรมองค์อื่นที่ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิ และไม่ใช่สัมมาสังกัปปะ สงเคราะห์ด้วยสมถะ
เพราะฉะนั้น มรรคมีองค์ ๘ นั้น พร้อมทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งสมถะและวิปัสสนา ที่ท่านจะต้องเข้าใจให้ถูกต้องด้วย
ขอกล่าวถึงเรื่องการศึกษาและปฏิบัติธรรมโดยลำดับ
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ คณกโมคคัลลานสูตร มีข้อความว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของอุบาสิกาวิสาขามิคารมารดา ในพระวิหารบุพพาราม เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พราหมณ์คณกะ โมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วได้ทักทายปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านคำทักทายปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ตัวอย่างเช่น ปราสาทของมิคารมารดาหลังนี้ ย่อมปรากฏมีการศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับ คือ กระทั่งโครงร่างของบันไดชั้นล่าง แม้พวกพราหมณ์เหล่านี้ ก็ปรากฏมีการศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับ คือ ในเรื่องเล่าเรียน แม้พวกนักรบเหล่านี้ ก็ปรากฏมีการศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับ คือ ในเรื่องใช้อาวุธ
แม้ข้าพเจ้าผู้เป็นนักคำนวณ มีอาชีพในทางคำนวณ ก็ปรากฏมีการศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับ คือ ในเรื่องนับจำนวน เพราะพวกข้าพเจ้าได้ศิษย์แล้ว ให้เริ่มตนนับอย่างนี้ว่า หนึ่ง หมวดหนึ่ง สอง หมวดสอง สาม หมวดสาม สี่ หมวดสี่ ห้า หมวดห้า หก หมวดหก เจ็ด หมวดเจ็ด แปด หมวดแปด เก้า หมวดเก้า สิบ หมวดสิบ ย่อมให้นับไปถึงจำนวนร้อย
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระองค์อาจหรือหนอ เพื่อจะบัญญัติการศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับ ในธรรมวินัยแม้นี้ ให้เหมือนอย่างนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร พราหมณ์ เราอาจบัญญัติการศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับ ในธรรมวินัยนี้ได้ เปรียบเหมือนคนฝึกม้าผู้ฉลาด ได้ม้าอาชาไนยตัวงามแล้ว เริ่มต้นทีเดียว ให้ทำสิ่งควรให้ทำในบังเหียน ต่อไปจึงให้ทำสิ่งที่ควรให้ทำยิ่งๆ ขึ้นไป ฉันใด ดูกร พราหมณ์ ฉันนั้นเหมือนกันแล ตถาคตได้บุรุษที่ควรฝึกแล้ว เริ่มต้นย่อมแนะนำอย่างนี้ว่า ดูกร ภิกษุ มาเถิดเธอจงเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่ จงเป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด
ดูกร พราหมณ์ ในเมื่อภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่ เป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูกร ภิกษุ มาเถิดเธอจงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว จงอย่าถือเอาโดยนิมิต อย่าถือเอาโดยอนุพยัญชนะ จงปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ อันมีการเห็นรูปเป็นเหตุ ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ พึงถูกอกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์เถิด
เธอได้ยินเสียงด้วยโสตะแล้ว ... เธอดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว ... เธอลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว ... เธอถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ... เธอรู้ธัมมารมณ์ด้วยมโนแล้ว จงอย่าถือเอาโดยนิมิต อย่าถือเอาโดยอนุพยัญชนะ จงปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ อันมีการรู้ธัมมารมณ์เป็นเหตุ ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ พึงถูกอกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์เถิด
ถ้าเป็นผู้ที่ได้อบรมเจริญเหตุ คือ สติปัฏฐานมาแล้วในอดีต สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ทันทีที่พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทให้ไม่ให้ถือโดยนิมิตและอนุพยัญชนะ และให้เป็นผู้ที่สำรวมจักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ และใจ แต่สำหรับผู้ที่มีปัญญาทราม และเป็นภิกษุผู้บวชยังไม่นาน พระผู้มีพระภาคจะตรัสอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงยังศีลให้บริบูรณ์
นี่เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลว่า แต่ละบุคคลนั้น ควรแก่การที่จะอบรมอินทรีย์ของตนเองให้แก่กล้าด้วยประการใด
ข้อความในคณกโมคคัลลานสูตรยังไม่จบ แต่ขอกล่าวถึงข้อความใน ปปัญจสูทนี อรรถกถา ซึ่งมีข้อความว่า
ยาว ปจฺฉิมา โสปานกเฬวรา ได้แก่ นับแต่บันไดขั้นแรก
ซึ่งพราหมณ์ก็ได้ยกตัวอย่างปราสาทของวิสาขามิคารมารดาว่า ย่อมปรากฏมีการศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับ คือ กระทั่งโครงร่างของบันไดชั้นล่าง
ข้อความใน ปปัญจสูทนี อรรถกถา มีต่อไปว่า
ท่านย่อมแสดงไว้ว่า ปราสาท ๗ ชั้น ไม่มีใครสามารถทำเสร็จในวันเดียวได้เลย แต่การกระทำตามลำดับ นับตั้งแต่แผ้วถางพื้นที่ แล้วยกเสา ไปจนถึงการเขียนภาพจิตรกรรม ย่อมปรากฏในปราสาทนี้
จะสร้างอะไรสักอย่างหนึ่ง ต้องเริ่มตั้งแต่การแผ้วถางที่ และยกเสาเป็นต้นไปจนกระทั่งถึงการเขียนภาพจิตรกรรมในปราสาทนั้น เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ตั้งต้นได้ทันที โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจในข้อปฏิบัติอย่างถูกต้อง แต่จะต้องอาศัยการศึกษาให้เข้าใจในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ลักษณะของสติ รู้ว่าขณะใดมีสติ ขณะใดหลงลืมสติ และศึกษา สำเหนียก จนเป็นความรู้เพิ่มขึ้นจริงๆ เป็นลำดับ จึงสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ไม่ใช่จะเสร็จในวันเดียว เพราะแม้แต่ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ หรือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่จะได้ตรัสรู้อริยสัจธรรม ก็จะต้องอบรมเจริญปัญญาในอดีตมาอย่างมากทีเดียว
ข้อความต่อไป
บทว่า ยทิทํ อชฺเฌเน ท่านย่อมแสดงไว้ว่า แม้คัมภีร์พระเวททั้ง ๓ ก็ไม่มีใครสามารถเรียนสำเร็จในวันเดียวได้เลย แต่การเรียนไปตามลำดับเท่านั้น จึงปรากฏในการเรียนคัมภีร์พระเวททั้ง ๓ นี้
ขณะนี้มีนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ รู้ทั่วทั้ง ๖ หรือยัง และเป็นไปได้ไหมที่จะรู้ทั่วทั้ง ๖ ในขณะเดียว แต่กว่าจะรู้ สติจะต้องระลึกทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง
ถ้าระลึกทางตา จะให้ไปรู้นามรูปทางอื่นได้ไหม ถ้าทางตากำลังเห็น และขณะนี้ระลึก เพียรที่จะรู้ว่า ที่กำลังเห็นนี้เป็นลักษณะอาการของนามธรรมที่เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง คือ กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าสติเกิดระลึกอย่างนี้ ความรู้ในลักษณะของนามธรรมทางตาก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่ถ้าสติไม่เคยระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมทางหู จะให้ขณะที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมทางตา และก็ไปรู้ลักษณะของนามธรรมทางหูต่อ นั่นก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น กว่าปัญญาจะเริ่มรู้จริงๆ ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทาง จะต้องอาศัยสติเกิดขึ้นระลึกรู้ อบรมเจริญไป ปัญญาจึงจะสมบูรณ์ขึ้นได้
ข้อความใน ปปัญจสูทนี อรรถกถา ต่อไปมีว่า
ด้วยบทว่า อิสฺสตฺเถ ท่านย่อมแสดงว่า แม้ในวิชาการใช้อาวุธ ที่สามารถยิงเจาะขนเนื้อทรายได้ ก็ไม่มีใครจะสามารถเรียนได้ในวันเดียว แต่การกระทำโดยลำดับในการใช้อาวุธชนิดนี้ ย่อมปรากฏขึ้นได้ ด้วยการตั้งฐานยิงและการกำหนด เป็นต้น
นี่เป็นการฝึกฝนความสามารถทางกาย แต่การละกิเลสทางใจ ยากกว่ามากมายเหลือเกิน แม้ในวิชาการใช้อาวุธที่สามารถยิงเจาะขนเนื้อทรายได้ ก็ไม่มีใครจะสามารถเรียนได้ในวันเดียว เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องรู้จริง จึงจะละความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้
ข้อความต่อไป
บทว่า สงฺขาเน ได้แก่ ด้วยการนับ พราหมณ์นั้น เมื่อแสดงการกระทำตามลำดับในการนับนั้นด้วยตนเอง จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า พวกข้าพระองค์ย่อมนับกันอย่างนี้
คำว่า เสยฺยถาปิ พฺราหฺมณ ก็เพราะเหตุที่พวกพราหมณ์เรียนศิลปวิทยาในลัทธิภายนอกโดยประการต่างๆ ก็ย่อมเป็นผู้มีความเห็นผิด ก็ยังมีความเห็นผิดอยู่ฉะนั้น ในที่นี้พระผู้มีพระภาคจึงไม่ทรงเปรียบเทียบคำสอนของพระองค์ กับลัทธิภายนอก ทรงเปรียบเทียบคำสอนของพระองค์ด้วยม้าอาชาไนยว่า เมื่อฝึกดีแล้วในเพราะเหตุอันใด ก็ไม่ก้าวล่วงแม้เพราะเหตุอันนั้น แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ข้อนี้ฉันใดกุลบุตรผู้ปฏิบัติชอบในพระศาสนา ก็ไม่ก้าวล่วงขอบเขตแห่งศีล ฉันนั้นเหมือนกัน
ก่อนที่จะกล่าวถึงข้อความต่อไปในคณกโมคคัลลานสูตร ขอกล่าวถึงข้อความในสัมโมหวิโนทนี อรรถกถา วิภังคปกรณ์ สัมมัปปธานวิภังค์ เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้เห็นสภาพธรรมจริงๆ ที่ท่านเคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล และได้พอกพูนสะสมกิเลสมาหนาแน่นเพียงไร
ข้อความใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา วิภังคปกรณ์ สัมมัปปธานวิภังค์ เรื่องอุปปันนะ คือ การเกิดขึ้นได้ของกิเลสและขันธ์
อุปปันนะ ๔ อย่าง คือ สมุทาจารุปปันนะ ๑ อารัมมณาธิคหิตุปปันนะ ๑ อวิกขัมภิตุปปันนะ ๑ อสมุคฆาฏิตุปปันนะ ๑
อุปปันนะ ๔ นี้ มีหลายนัย แต่ขอกล่าวถึงเฉพาะอุปปันนะนัยที่แสดงถึงการเกิดขึ้นได้ของกิเลสและขันธ์
ในอุปปันนะ ๔ อย่างเหล่านี้ กิเลสที่กำลังเป็นไปเดี๋ยวนี้นั่นแหละ ชื่อว่า สมุทาจารุปปันนะ คือ กิเลสที่เกิดขึ้นด้วยความฟุ้งซ่าน
มีไหมกิเลสอย่างนี้ ผ่านไปแล้ว ดับไปแล้ว แต่ความฟุ้งซ่านของจิตใจยังคำนึงถึงด้วยโลภะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง ด้วยโมหะบ้าง เป็นปกติในชีวิตประจำวันหรือเปล่า แม้ไม่เห็น แม้ไม่ได้ยิน แม้ไม่ได้กลิ่น แม้ไม่ได้ลิ้มรส แต่กระนั้น กิเลสก็ยังเกิดขึ้นได้ แสดงให้เห็นกำลังของกิเลสว่า เกิดขึ้นได้ด้วยการระลึกถึง ด้วยความฟุ้งซ่าน คือ สมุทาจารุปปันนะ กิเลสที่เกิดขึ้นด้วยความฟุ้งซ่าน ซึ่งแต่ละท่านก็จะทราบด้วยตัวของท่านเองว่า มีมาก หรือมีน้อย ในวันหนึ่งๆ
ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรม มีอะไรที่จะบรรเทา ละคลายกิเลสนั้นให้น้อยลงบ้างไหม ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ถ้าสติเกิดระลึกได้ และปัญญารู้ ย่อมเป็นหนทางเดียวที่จะทั้งละ ทั้งคลาย ทั้งขัดเกลา ทั้งบรรเทากิเลส จนกระทั่งสามารถที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท
อุปปันนะที่ ๒ คือ อารัมมณาธิคหิตุปปันนะ ครั้นเมื่อนิมิตในอารมณ์ อันบุคคลลืมตาขึ้นครั้งเดียวแล้วถือเอา ใครๆ ไม่พึงกล่าวว่า จักไม่เกิดขึ้น ในขณะที่ระลึกถึงแล้ว ระลึกถึงแล้ว
ความไว ความชำนาญของกิเลส ที่ทรงแสดงไว้เฉพาะทางตา ซึ่งถ้าท่านเข้าใจทางตาแล้ว ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็โดยนัยเดียวกัน
ข้อความที่ว่า ครั้นเมื่อนิมิตในอารมณ์ อันบุคคลลืมตาขึ้นครั้งเดียวแล้วถือเอาใครๆ ไม่พึงกล่าวว่า จักไม่เกิดขึ้น ในขณะที่ระลึกถึงแล้ว ระลึกถึงแล้ว
ชั่วขณะที่ลืมตา เห็นนิมิตของสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นปัจจัยแล้วที่จะให้ระลึกถึงอีก แม้ในขณะที่ลืมตาขึ้นมานี้ ก็ไม่รู้ความจริงว่า สิ่งที่ปรากฏก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น แต่ถือเอานิมิตในสิ่งที่เห็นเป็นวัตถุ เป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ตาม ความยินดีพอใจก็มีในขณะที่ลืมตา และเห็นนิมิตนั้น
วันหนึ่งๆ ลืมตากี่ครั้ง กิเลสมากไหม ชั่วขณะที่เห็น กิเลสก็เกิดขึ้นได้แล้ว และเมื่อยินดีพอใจ ก็ยังเกิดซ้ำอีก ที่จะไม่ให้เกิดอีกนั้นไม่มี ในเมื่อกิเลสได้ถือเอานิมิตในขณะที่ลืมตาขึ้น แม้เพียงครั้งเดียว ก็เกิดแล้ว
ถามว่า เพราะเหตุไร
ตอบว่า เพราะความที่อารมณ์เป็นของอันตนยึดถือเอาแล้ว
ทันทีที่เห็น ก็ติดในนิมิตในสิ่งที่เห็นทันที
ถามว่า เหมือนอะไร
ตอบว่า เหมือนการทุบต้นน้ำนมด้วยขวาน ใครๆ ไม่พึงกล่าวว่า น้ำนมจักไม่ออกมาในที่ๆ ตนทุบแล้ว ทุบแล้ว นี้ชื่อว่าอารัมมณาธิคหิตุปปันนะ คือ เกิดขึ้นเพราะถือเอาแล้วซึ่งอารมณ์
ข้ออุปมาที่ว่า เหมือนการทุบต้นน้ำนมด้วยขวาน ใครๆ ไม่พึงกล่าวว่า น้ำนมจักไม่ออกมาในที่ๆ ตนทุบแล้ว ทุบแล้ว ความหมายว่า กิเลสอาศัยทางตา อาศัยขณะที่เห็น เพราะฉะนั้น กิเลสก็ย่อมไหลออก หรือว่าติดในอารมณ์นั้น เหมือนกับการทุบต้นน้ำนม ซึ่งเมื่อทุบแล้ว น้ำนมต้องไหลออกมาแน่นอน เพราะฉะนั้น เมื่อกิเลสมีอยู่ในทางตา เมื่อลืมตาขึ้น ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้กิเลสเกิดขึ้น
ถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่รู้ในขณะที่เห็นว่า สิ่งที่ปรากฏก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ไม่ปรากฏทางอื่นเลย เป็นเพียงรูปธรรมที่เพียงปรากฏทางตาให้เห็นเท่านั้นเอง
ถ้าไม่รู้ความจริงอย่างนี้ ถ้าสติไม่เกิด ไม่อบรมเจริญปัญญาให้รู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่มีทางที่จะดับกิเลสได้เลย เพราะเหตุว่าชั่วขณะที่ลืมตา และถือเอานิมิตในสิ่งที่ปรากฏ กิเลสก็เกิดขึ้นแล้ว
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๘ ตอนที่ ๓๗๑ – ๓๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 361
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 362
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 363
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 364
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 365
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 366
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 367
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 368
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 369
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 370
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 371
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 372
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 373
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 374
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 375
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 376
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 377
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 378
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 379
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 380
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 381
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 382
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 383
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 384
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 385
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 386
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 387
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 388
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 389
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 390
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 391
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 392
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 393
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 394
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 395
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 396
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 397
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 398
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 399
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 400
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 401
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 402
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 403
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 404
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 405
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 406
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 407
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 408
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 409
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 410
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 411
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 412
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 413
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 414
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 415
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 416
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 417
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 418
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 419
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 420