แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 383


    ครั้งที่ ๓๘๓


    ใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา มีข้อความที่เตือนให้ท่านผู้ฟังไม่ท้อถอย เพื่อละความท้อแท้ที่ว่า การเจริญสติปัฏฐานนี้ช่างยาก หรือผลไม่ค่อยจะปรากฏเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วที่จะแทงตลอดในอริยสัจธรรมได้ดังความปรารถนาเลย

    สัมโมหวิโนทนี กล่าวถึงการปรารภความเพียร ซึ่งการปรารภความเพียรครั้งแรก ชื่อว่าอารัพภธาตุ

    ความเพียรที่มีกำลังมากกว่านั้น เพราะขจัดโกสัชชะ ความเกียจคร้านออกเสียได้ ชื่อว่านิกกมธาตุ

    ความเพียรที่มีกำลังมากกว่านั้น เพราะย่ำยีฐานะอันยิ่งๆ ขึ้นไป ชื่อว่า ปรักกมธาตุ คือ ก้าวไปข้างหน้า

    เพราะฉะนั้น ความเพียรของแต่ละท่าน ต้องค่อยๆ เป็นไปตามลำดับว่า กำลังปรารภอยู่ หรือว่าก้าวออกจากอกุศล จากความเกียจคร้าน ความท้อถอยได้แล้ว หรือว่า สามารถที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าได้

    สำหรับการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าในเพศของบรรพชิต หรือในเพศของฆราวาส การรู้แจ้งอริยสัจธรรม รู้ไม่ต่างกัน รู้ไม่ผิดกัน

    สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อัจฉราสูตร ที่ ๖

    เทวดาทูลถามว่า

    ป่าชัฏ ชื่อว่าโมหนะ อันหมู่นางอัปสรประโคมแล้ว อันหมู่ปีศาจสิงอยู่แล้ว ทำไฉนถึงจะหนีไปได้

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    ทางนั้น ชื่อว่าเป็นทางตรง ทิศนั้น ชื่อว่าไม่มีภัย รถ ชื่อว่าไม่มีเสียงดังประกอบด้วยล้อ คือ ธรรม หิริเป็นฝาของรถนั้น สติเป็นเกราะกั้นของรถนั้น เรากล่าวธรรมมีสัมมาทิฏฐินำหน้า ว่าเป็นสารถี

    ยานชนิดนี้ มีอยู่กับผู้ใด จะเป็นหญิง หรือชายก็ตาม เขาย่อมไปในสำนัก พระนิพพานด้วยยานนี้แหละ

    สารัตถปกาสินี อรรถกถา มีข้อความอธิบายว่า

    เล่ากันว่า เทพบุตรนี้ บวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาค บำเพ็ญวัตรปฏิบัติให้บริบูรณ์อยู่ ในเวลาบวชได้ ๕ พรรษา ออกพรรษาแล้ว ทำมาติกาทั้งสองให้ ชำนิชำนาญ เรียนเอาการงานน้อยใหญ่ แล้วศึกษากัมมัฏฐานอันเหมาะแก่จิต เป็นผู้มีความประพฤติสัลลหุกะ เป็นไปกับความเบา เข้าไปสู่ป่าคิดว่า มัชฌิมยามใดที่ พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไว้ว่าเป็นส่วนแห่งการนอน แม้เมื่อมัชฌิมยามนั้นมาถึงเข้า เรากลัวต่อความประมาท ดังนี้แล้ว จึงยกเลิกเตียงขึ้น เป็นผู้อดอาหาร ใฝ่ใจถึงกัมมัฏฐานเท่านั้น ทั้งกลางคืน และกลางวัน

    ครั้งนั้น ลมเหมือนศัสตราเกิดขึ้นในภายใน บั่นทอนชีวิตของท่านให้สิ้นไป ท่านทำกาละในเพราะธุระแท้ๆ

    จริงอยู่ ภิกษุรูปใดก็ตาม จงกรมอยู่ในที่จงกรมก็ดี ยืนพิงท่อนไม้ที่ผูกนวมไว้ก็ดี เอาจีวรวางไว้บนศีรษะ นั่ง หรือนอนก็ดี ในที่สุดจงกรม แสดงธรรมอยู่บนธรรมาสน์ที่ตกแต่งไว้ท่ามกลางบริษัทก็ดี ทำกาลกิริยาลง ภิกษุนั้นทั้งหมด ชื่อว่า ย่อมทำกาละในเพราะธุระ แม้เทพบุตรนี้ ทำกาละในที่จงกรม ยังไม่ถึงความสิ้น อาสวะ เพราะตนมีอุปนิสัยยังอ่อน

    จะเพียรสักเท่าไรก็ตาม แต่เมื่อเหตุยังไม่ควรแก่การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    แม้เทพบุตรนี้ทำกาละในที่จงกรม ยังไม่ถึงความสิ้นอาสวะ เพราะตนมีอุปนิสัยยังอ่อน ถือเอาปฏิสนธิที่ประตูวิมานใหญ่ในภพดาวดึงส์ ดุจหลับแล้วตื่นขึ้น ฉะนั้น ด้วยประการฉะนี้

    ความตายนี้รวดเร็วมาก เร็วยิ่งกว่าการกระพริบตา หรือเพียงแต่จะเหยียดมือออก นั่นก็ยังนานกว่าการจุติและปฏิสนธิ เพราะเหตุว่าขณะจิตไม่มีระหว่างคั่นเลยทันทีที่จุติจิตดับลง ปฏิสนธิจิตเกิดต่อทันที เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรที่น่ากลัว กำลังพูดอยู่ขณะนี้ สิ้นชีวิตลงก็ได้ กำลังคิดค้างอยู่ สิ้นชีวิตลงก็ได้ กำลังลืมตาแล้วหลับตาลงสิ้นชีวิตลงก็ได้ ได้ทุกขณะทีเดียว เร็วที่สุดจนไม่น่ากลัวเลย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ความตายก็พร้อมที่จะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และปฏิสนธิก็เกิดต่อทันที

    เทพบุตรนั้นยังไม่ทราบว่าตัวจุติก่อน ยังมีความสำคัญว่าตัวยังบวชอยู่ นางอัปสรจำนวนมากในภายในวิมาน เห็นเทพบุตรนั้นแล้วคิดว่า เทพบุตรเจ้าของวิมานมาแล้ว เราจักให้เขายินดีรื่นรมย์ แล้วถือเอาดนตรีแวดล้อมเทพบุตรนั้น เทพบุตรยังไม่ทราบว่าตัวจุติก่อน ยังมีความสำคัญว่าตัวยังบวชอยู่ แลดูนางอัปสรทั้งหลาย มีความละอาย เหมือนภิกษุผู้ถือเอาผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เห็นมาตุคาม คือ หญิง มาเที่ยวจาริกในวิหาร ฉะนั้น สำรวมอินทรีย์ ยืนก้มหน้าด้วยวิการ คือ อาการแปลกแห่งกายของเทพบุตรนั้นเอง เทวดาเหล่านั้นก็ทราบได้ว่า นี้คือสมณะเทพบุตร จึงกล่าวอย่างนี้ว่า

    ข้าแต่เทพบุตรผู้เป็นเจ้า ธรรมดาว่า เทวโลกนี้ไม่ใช่โอกาสที่จะกระทำ สมณธรรม เป็นโอกาสเสวยสมบัติ

    เทพบุตรนั้นก็ยังยืนอยู่อย่างนั้นนั่นเอง

    เทวดาทั้งหลายก็พากันถือเอาดนตรีด้วยคิดว่า เทพบุตรนี้ยังกำหนดไม่ได้ก่อน

    อาจคิดว่า คงจะไม่ได้ยินข้อความ หรือว่าไม่ใส่ใจ จึงไม่รู้ว่า จุติจากมนุษย์มาเป็นเทพบุตรแล้ว

    แต่เทพบุตรนั้น ก็ยังยืนไม่เหลียวแลดูเลย ทีนั้น เทวดาทั้งหลายก็วางกระจกเงาที่มองเห็นกายได้ทุกด้านไว้ข้างหน้าเทพบุตรนั้น เขาเห็นเงาแล้วจึงทราบว่า ตัวจุติแล้ว ได้มีความเดือดร้อนด้วยสมบัติว่า เราไม่ได้ปรารถนาฐานะนี้ บำเพ็ญสมณธรรมเราปรารถนาประโยชน์อันสูงส่ง คือ ความเป็นพระอรหันต์ บำเพ็ญสมณธรรม

    นี่คือผู้ที่มีจิตใจมั่นคง รู้ว่า ผลของกุศลจะทำให้ปฏิสนธิในสุคติโลกสวรรค์ แต่การเจริญสมณธรรม การบำเพ็ญกุศลของภิกษุรูปนั้น ท่านทราบชัดว่า เราไม่ได้ปรารถนาฐานะนี้ บำเพ็ญสมณธรรม เราปรารถนาประโยชน์อันสูงส่ง คือ ความเป็นพระอรหันต์ บำเพ็ญสมณธรรม

    เทพบุตรนั้นคิดว่า ขึ้นชื่อว่าสมบัติในสวรรค์นี้เป็นของหาได้ง่าย ความปรากฏขึ้นแห่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายสิหาได้ยาก จึงไม่ยอมเข้าไปสู่วิมานเลย มีศีลยังไม่แตกทำลายนั้นเอง อันหมู่แห่งนางอัปสรแวดล้อมแล้ว มายังสำนักของ พระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้ว ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กล่าวคาถานี้

    ซึ่งเป็นคาถาที่ปรากฏใน อัจฉราสูตร นี้ แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงของจิตใจ ที่แม้ว่าจะได้เสวยทิพยสมบัติ แต่กระนั้นเทพบุตรนั้นก็ยังคิดว่า ขึ้นชื่อว่าสมบัติในสวรรค์นี้เป็นของหาได้ง่าย ความปรากฏขึ้นแห่งพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายสิหาได้ยาก เพราะฉะนั้น ก็จากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทันที

    ข้อความในอรรถกถาอธิบายความว่า

    คำว่า วนํ เทพบุตรกล่าวหมายเอานันทวัน หรือป่าเป็นที่เพลิดเพลิน ก็เทพบุตรนี้ไม่อยากจะพูด ไม่อยากจะเรียกหมู่แห่งเทวดาว่า หมู่แห่งเทวดา กล่าวว่าหมู่ปีศาจ

    แทนที่จะชื่นชมกับความเป็นเทพในสวรรค์ กลับเห็นว่าเป็นผู้ที่ยังหลง ยังติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    เพราะความที่ตนเป็นผู้หนักแน่น โดยมีจิตแน่นอน ไม่เรียกป่าเป็นที่เพลิดเพลินว่า ป่าเป็นที่เพลิดเพลิน แต่เรียกว่า โมหนะ คือ ป่าเป็นที่ลุ่มหลง

    สวนนันทวันในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นที่ๆ รื่นรมย์ เทวดาใดจะมีทุกข์ มีโศกความรื่นรมย์ของสวนนันทวัน ก็ทำให้ความทุกข์โศกหายสิ้นไป แต่ว่าเทพบุตรนี้ ไม่เรียกป่าเป็นที่เพลิดเพลินว่า ป่าเป็นที่เพลิดเพลิน แต่เรียกว่า โมหนะ คือ ป่าเป็นที่ลุ่มหลง

    คำว่า กถํ ยาตรา ภวิสฺสติ ความว่า เทพบุตรกล่าวว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค การออกไปจะมีอย่างไร การก้าวล่วงจะมีได้อย่างไร ขอพระผู้มีพระภาคตรัสบอกวิปัสสนา อันเป็นปทัฏฐานแห่งพระอรหัตแก่ข้าพระองค์

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงรำพึงว่า เทพบุตรนี้ ย่อมกำหนดหมายความข้อนี้อย่างไรหนอ จึงทรงทราบว่า เธอได้เคยบวชในศาสนาของพระองค์ และดำริต่อไปว่าเทพบุตรนี้ทำกาละเสียเพราะปรารภความเพียรเกินไป บังเกิดในเทวโลก แม้วันนี้อัตภาพในที่จงกรมนั้นเองของเธอมาแล้ว พร้อมทั้งศีลที่ยังไม่แตก อันพระผู้มีพระภาคทั้งหลายย่อมบอกปฏิปทาอันเป็นส่วนเบื้องต้นก่อน แก่กุลบุตรผู้เริ่มบำเพ็ญว่า

    ท่านจงชำระศีลก่อน จงเจริญสมาธิ จงทำกัมมัสสกตปัญญาให้ตรง ดุจ จิตรกรบอกการบริกรรมฝาแก่ลูกศิษย์ผู้ยังไม่ได้กระทำการบริกรรม แต่ย่อมตรัสบอกสุญญตาวิปัสสนาเท่านั้น อันละเอียดสุขุม อันเป็นเป็นบรรทัดฐานแห่งอรหัตตมรรค แก่การกบุคคลผู้ประกอบขวนขวายแล้ว

    ก็เทวบุตรนี้ เป็นการกบุคคล คือ ผู้บำเพ็ญวิปัสสนามาแล้ว มีศีลยังไม่แตกทำลาย มรรคอันหนึ่งจะมีแก่เขาในอนาคต ด้วยพระดำริดังที่ว่ามานี้ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสบอกสุญญตาวิปัสสนา คือ ทรงแสดงเรื่องมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งในเวลาจบเทศนาเทพบุตรดำรงอยู่ในโสตาปัตติผล

    คำว่า รโถ อกุชฺชโน ท่านหมายเอาอัฏฐังคิกมรรค เหมือนอย่างว่า รถตามปกติ เมื่อเพลายังไม่ได้หยอดน้ำมันก็ดี เมื่อพวกมนุษย์จำนวนมากเกินขึ้นขี่ก็ดี กุชฺชติย่อมงอ ย่อมบิดไป ฉันใด อริยมรรค หาเป็นฉันนั้นไม่ เพราะว่าอริยมรรคนั้น แม้สัตว์จะมีประมาณ ๘๔,๐๐๐ ขึ้นนั่ง ขึ้นขี่พร้อมๆ กัน ก็ไม่คด ไม่งอ

    เพราะฉะนั้น อริยมรรค ท่านจึงเรียกว่า อกุชฺชโน ไม่คด ไม่งอ

    คำว่า ประกอบด้วยธรรมจักร คือ ประกอบด้วยวงล้อ คือ พระธรรม กล่าวคือ ความเพียรทางกาย และความเพียรทางจิต แม้โอตตัปปะ ท่านก็ถือเอาแล้วด้วยหิริศัพท์ ในคำว่าหิรินี้

    คำว่า ตสฺส อปาลมฺโพ ความว่า ที่ยึดเหนี่ยวที่ทำด้วยไม้แห่งรถภายนอก มีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้นักรบผู้ยืนอยู่บนรถตกไป ฉันใด รถ คือ มรรคนี้ ก็มีหิริและ โอตตัปปะอันเป็นสมุฏฐานทั้งภายในและภายนอก เป็นที่ยึดเหนี่ยวฉันนั้น

    ขอตอบจดหมายของพระคุณเจ้า ที่เขียนมาจากวัดเกาะต่ออีก เพราะว่าคราวที่แล้วยังไม่จบ

    คำถามข้อ ๒

    การกระทบเย็นร้อน อ่อนแข็ง ก็เกิดเป็นเวทนาอย่างธรรมดา สุขบ้าง ทุกข์บ้าง อาจารย์เห็นเป็นการเจริญสติปัฏฐานได้อย่างไร ในเมื่อเวทนาไม่ตั้งอยู่แน่นอนเช่นนั้น แล้วจะมีอะไรที่ดีขึ้น อาจารย์กระทบถูกต้องมาตั้งแต่เกิด จนบัดนี้ กิเลสหมดแล้วหรือยัง เจริญสัญญาปัฏฐาน หรือสติปัฏฐาน คนมีสติสัมปชัญญะนั้น มีลักษณะอย่างไร

    สุ. สำหรับลักษณะของสติสัมปชัญญะที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน ได้บรรยายตลอดมา เพราะฉะนั้น ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก ที่จะแสดงให้เห็นว่า เมื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดเจริญธรรม และรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น จะรู้อะไร

    มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อนุปทวรรค ฉวิโสธนสูตร มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพยากรณ์อรหัตตผลว่า ข้าพเจ้ารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าเพ่อยินดี อย่าเพ่อคัดค้านคำกล่าวของภิกษุรูปนั้น ครั้นไม่ยินดี ไม่คัดค้านแล้ว พึงถามปัญหาเธอว่า ดูกร ท่านผู้มีอายุ โวหารอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ตรัสไว้ชอบนี้มี ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน

    ถ้าท่านผู้ฟังใคร่ที่จะทราบว่า ผู้ใดบรรลุมรรคผลหรือไม่ ไม่ใช่เป็นการถาม ตรงๆ หรือจะให้บุคคลนั้นตอบ และท่านจะเชื่อ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ไม่ว่าใครก็ตามที่กล่าวว่า เป็นผู้ที่ได้บรรลุมรรคผล หรือรู้แจ้งอริยสัจธรรม พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อย่าเพ่อยินดี อย่าเพ่อคัดค้านคำกล่าวนั้น ครั้นไม่ยินดี ไม่คัดค้านแล้ว พึงถามปัญหาเธอว่า โวหารอันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะตรัสไว้ชอบนี้ มี ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน

    คำกล่าวว่า เห็นในอารมณ์ที่ตนเห็นแล้ว

    คำกล่าวว่า ได้ยินในอารมณ์ที่ตนฟังแล้ว

    คำกล่าวว่า ทราบในอารมณ์ที่ตนทราบแล้ว

    คำกล่าวว่า รู้ชัดในอารมณ์ที่ตนรู้ชัดแล้ว

    ซึ่งทุกท่านก็คงจะทราบแล้ว

    คำกล่าวว่า เห็นในอารมณ์ที่ตนเห็นแล้วนั้น หมายความถึง สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้

    คำกล่าวว่า ได้ยินในอารมณ์ที่ตนฟังแล้ว คือ รู้ลักษณะของเสียง สภาพธรรมที่ปรากฏทางหู

    คำกล่าวว่า ทราบในอารมณ์ที่ตนทราบแล้ว คือ การรู้ลักษณะของกลิ่น รสโผฏฐัพพะที่ปรากฏ

    คำกล่าวว่า รู้ชัดในอารมณ์ที่ตนรู้ชัดแล้ว ได้แก่ การรู้ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏทางใจ

    ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า แมัโผฏฐัพพะ คือ การกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบว่า เป็นสิ่งที่จะต้องรู้ ไม่ใช่ว่าไม่รู้ แล้วก็ข้ามไป

    เพราะฉะนั้น การรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น ไม่ใช่รู้อย่างอื่น นอกจากประจักษ์แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แทงตลอดถึงความเกิดดับที่กำลังเกิดดับอยู่ในขณะนี้

    ขณะนี้ สภาพธรรมทางตาก็ดี ทางหูก็ดี ทางจมูกก็ดี ทางลิ้นก็ดี ทางกายก็ดีทางใจก็ดี เกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วมาก เป็นเพราะความไม่รู้ เป็นเพราะการไม่อบรมปัญญาให้สมบูรณ์ จึงไม่สามารถประจักษ์ในความเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่เมื่อจะประจักษ์ ก็ไม่ใช่ประจักษ์ในขณะอื่น

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่ให้หลีกเลี่ยง หลบไปรู้สิ่งอื่นที่ไม่ปรากฏ แต่ขณะนี้ สภาพธรรมใดกำลังเป็นของจริง คือ กำลังปรากฏ จะต้องอบรมเจริญปัญญาจนรู้ชัด และสามารถแทงตลอดในความเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๙ ตอนที่ ๓๘๑ – ๓๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 39
    28 ธ.ค. 2564