แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 386


    ครั้งที่ ๓๘๖


    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ธรรมเทศนาของภิกษุชนิดไรไม่บริสุทธิ์ ธรรมเทศนาของภิกษุชนิดไรบริสุทธิ์

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่งอาศัย

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้เนื้อความแห่งภาษิตนี้ จงแจ่มแจ้งกับพระผู้มีพระภาคเถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้ ดังนี้

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

    ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า

    อย่างนั้นพระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งมีความคิดอย่างนี้ว่า โอหนอ ชนทั้งหลายพึงฟังธรรมของเรา ก็แลครั้นฟังแล้ว พึงเลื่อมใสซึ่งธรรม ผู้ที่เลื่อมใสแล้วเท่านั้น จะพึงทำอาการของผู้เลื่อมใสต่อเรา ดังนี้ ย่อมแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเทศนาของภิกษุเห็นปานนี้แล ไม่บริสุทธิ์

    นี่คือความละเอียดของกิเลส ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่หนักในลาภ หนักในยศ หนักในสรรเสริญ หนักในอามิส เมื่อท่านจะแสดงธรรม ขณะที่แสดง ก็ปรารถนาให้บุคคลเหล่านั้นฟังแล้วเลื่อมใส และแสดงอาการของผู้เลื่อมใสต่อท่านที่แสดงธรรม นี่เป็นเรื่องความละเอียดของจิตใจ

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ส่วนภิกษุใดแล เป็นผู้มีความคิดอย่างนี้ว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว เป็นข้อปฏิบัติอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดูควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน โอหนอ ชนทั้งหลาย พึงฟังธรรมของเรา ก็แลครั้นฟังแล้ว จะพึงรู้ทั่วถึงธรรม ก็แลครั้นรู้ทั่วถึงแล้ว จะพึงปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ดังนี้ จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความที่ธรรมเป็นธรรมอันดี จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความกรุณา จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความเอ็นดู จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความอนุเคราะห์ จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น ด้วยประการฉะนี้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเทศนาของภิกษุเห็นปานนี้แล บริสุทธิ์

    ไม่ได้มุ่งหวัง ที่จะให้บุคคลนั้นแสดงอาการของผู้ที่เลื่อมใสต่อตน แต่เมื่อฟังธรรมแล้ว ครั้นรู้ทั่วถึงแล้ว จะพึงปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น คือ เพื่อประโยชน์ของผู้ฟังเองจริงๆ ที่ว่า เมื่อเข้าใจธรรมแล้วก็ปฏิบัติ เป็นประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติเอง

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กัสสปะเป็นผู้มีความคิดอย่างนี้ว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว เป็นข้อปฏิบัติอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน โอหนอ ชนทั้งหลายพึงฟังธรรมของเรา ก็แลครั้นฟังแล้ว จะพึงรู้ทั่วถึงธรรม ก็แลครั้นรู้ทั่วถึงแล้วจะพึงปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ดังนี้ จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความที่ธรรมเป็นธรรมอันดี จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความกรุณา จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความเอ็นดู จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความอนุเคราะห์ จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักกล่าวสอนพวกเธอตามอย่างกัสสปะ หรือผู้ใดพึงเป็นเช่นกัสสปะ เราก็จักกล่าวสอนให้ประพฤติตามผู้นั้น ก็แลพวกเธอ ได้รับโอวาทแล้ว พึงปฏิบัติ เพื่อความเป็นอย่างนั้น ดังนี้

    สำหรับเรื่องโทษของการเลื่อมใสในตัวบุคคล ซึ่งท่านผู้ที่ฟังธรรมควรที่จะได้พิจารณา เพื่อท่านจะไม่ได้รับโทษของการเลื่อมใสในบุคคล ที่จะเป็นเหตุให้ไม่ฟังสัทธรรม

    อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปุคคลปสาทสูตร มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโทษ ในความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นในบุคคล ๕ ประการ ข้อความมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษในความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นในบุคคล ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลย่อมเลื่อมใสในบุคคลใด บุคคลนั้นต้องอาบัติอันเป็นเหตุให้สงฆ์ยกวัตร เขาจึงคิดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรานี้ ถูกสงฆ์ยกวัตรเสียแล้ว เขาจึงเป็นผู้ไม่มีความเลื่อมใสมากในพวกภิกษุ เมื่อไม่มีความเลื่อมใสมากในพวกภิกษุ จึงไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น เมื่อไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น จึงไม่ฟังสัทธรรม เมื่อไม่ฟังสัทธรรม จึงเสื่อมจากสัทธรรม นี้เป็นโทษในความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นในบุคคลข้อที่ ๑

    อีกประการหนึ่ง บุคคลย่อมเลื่อมใสในบุคคลใด บุคคลนั้นต้องอาบัติอันเป็นเหตุให้สงฆ์บังคับให้เขานั่งที่สุดสงฆ์ เขาจึงคิดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรานี้ ถูกสงฆ์บังคับให้นั่งในที่สุดสงฆ์เสียแล้ว เขาจึงเป็นผู้ไม่มีความเลื่อมใสมากในพวกภิกษุ จึงไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น เมื่อไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น จึงไม่ฟังสัทธรรม เมื่อไม่ฟังสัทธรรม จึงเสื่อมจากสัทธรรม นี้เป็นโทษในความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นในบุคคลข้อที่ ๒

    อีกประการหนึ่ง บุคคลย่อมเลื่อมใสในบุคคลใด บุคคลนั้นหลีกไปสู่ทิศเสีย เขาจึงคิดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ที่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรานี้ หลีกไปสู่ทิศเสียแล้ว เขาจึงเป็นผู้ไม่มีความเลื่อมใสมากในภิกษุเหล่าอื่น เมื่อไม่เลื่อมใสมากในภิกษุเหล่าอื่น จึงไม่ฟังสัทธรรม เมื่อไม่ฟังสัทธรรม จึงเสื่อมจากสัทธรรม นี้เป็นโทษในความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นในบุคคลข้อที่ ๓

    อีกประการหนึ่ง บุคคลย่อมเลื่อมใสในบุคคลใด บุคคลนั้นลาสิกขา เขาจึงคิดอย่างนี้ว่า บุคคลอันเป็นที่รักที่ชอบใจของเรานี้ ลาสิกขาเสียแล้ว จึงไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น เมื่อไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น จึงไม่ฟังสัทธรรม เมื่อไม่ฟังสัทธรรม จึงเสื่อมจากสัทธรรม นี้เป็นโทษในความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นในบุคคลข้อที่ ๔

    อีกประการหนึ่ง บุคคลย่อมเลื่อมใสในบุคคลใด บุคคลนั้นกระทำกาละเสีย เขาจึงคิดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรานี้ กระทำกาละเสียแล้ว เขาจึงไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น เมื่อไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น จึงไม่ฟังสัทธรรม เมื่อไม่ฟังสัทธรรม จึงเสื่อมจากสัทธรรม นี้เป็นโทษในความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นในบุคคลข้อที่ ๕

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษในความเลื่อมใสที่เกิดในบุคคล ๕ ประการนี้แล

    ไม่ใช่ว่าเลื่อมใสแล้วจะไม่มีโทษ ถ้าท่านเป็นผู้ที่เลื่อมใสเฉพาะในบุคคล ไม่ใช่ในธรรม

    ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟัง จากบ้านเลขที่ ๘๖๓ ตรอกสารภี ๑ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา คลองสาน กรุงเทพมหานคร

    มีข้อความว่า

    ความจริงรายการของท่านอาจารย์ทั้งตอนเช้าตอนค่ำ ถ้าไม่จำเป็นแล้ว ผมไม่เคยขาดเลย ทั้งบันทึกเทปไว้ก็มาก ถ้าผมศึกษาคำตอบของอาจารย์ในหนังสือที่กรุณาส่งไปให้โดยถ้วนถี่แล้ว ผมอาจจะมีข้อข้องใจสงสัยส่งมารบกวนอาจารย์อีก หวังว่าท่านอาจารย์คงจะไม่อิดหนาระอาใจ ต้องตอบเสียยืดยาวอย่างคราวที่แล้ว ผมขอเรียนด้วยความจริงใจว่า ผมเลื่อมใสศรัทธา ฟังรายการของอาจารย์อย่างไม่เบื่อหน่ายมาเป็นแรมปีจริงๆ แม้จะซ้ำซากอย่างไร ผมก็ฟังได้ด้วยความสนใจ มาจนกระทั่งบัดนี้ แต่ก็มีเอือมอยู่บ้างเหมือนกัน จนต้องปิดวิทยุลงกลางคันเสียระยะหนึ่ง หรือพักหนึ่งเสมอๆ ก็ตรงตอนที่อาจารย์หมั่นย้ำถึงสถานที่ปฏิบัติ และสำนักปฏิบัติอยู่เป็นประจำ และกะรอให้การบรรยายย้ำเรื่องสถานที่ เรื่องสำนักปฏิบัติของอาจารย์ผ่านพ้นไปแล้ว จึงเปิดฟัง เอาแต่ที่เป็นเนื้อหาสาระอื่นๆ ต่อไปอีก บางครั้งเผลอไป ไม่ได้เจริญสติ เป็นเหตุให้เมื่อเปิดวิทยุเพื่อฟังต่อ หลังจากรอให้สิ้นเรื่องสถานที่ของอาจารย์ บางทีก็ประสบกับความผิดหวังบ่อยๆ เพราะรายการบรรยายของอาจารย์จบไปเสียแล้ว

    ผมขอเรียนกับอาจารย์ตรงๆ ว่า ผมทนฟังการบรรยายเรื่องเกี่ยวกับสถานที่ปฏิบัติของอาจารย์ไม่ได้จริงๆ มันเสียวหัวใจชอบกล พูดไม่ถูกจริงๆ เดี๋ยวอาจารย์ก็กล่าวย้ำว่า เรื่องสถานที่ไม่จำกัด ที่ไหนๆ ก็ได้ ฟังแล้วรู้สึกว่า มันขัดกันเองอยู่เรื่อยมา

    สุ. นี่เป็นข้อความตอนหนึ่งจากจดหมายของท่านผู้ฟัง

    ถ้าพิจารณาจากจดหมายของท่านผู้ฟังฉบับนี้ ไม่ทราบว่า ท่านมีความเห็นว่าธรรมเป็นเรื่องตรง เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องที่จะต้องอาจหาญ กล้าหาญที่จะพิจารณาให้ได้เหตุผลอย่างถูกต้องสมบูรณ์ เพื่อการขัดเกลา เพื่อการละ เพื่อการดับกิเลสจนหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทจริงๆ หรือไม่

    เรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ท่านจะหลบหลีกหลีกเลี่ยง หรือว่าฟังบางตอน ไม่ฟังบางตอน ซึ่งตอนที่ไม่ฟัง จะทราบได้อย่างไรว่า มีเหตุผลประการใดบ้าง ซึ่งตราบใดที่ยังไม่ยอมฟัง ก็ย่อมจะไม่ทราบเหตุผลว่า เพราะเหตุใดจึงได้พูดถึงเรื่องสำนักปฏิบัติ และข้อปฏิบัติของสำนักปฏิบัติ ที่ท่านสามารถจะสอบทานได้ในพระไตรปิฎก

    ณ พระวิหารเชตวัน ไม่มีคำว่า สำนักปฏิบัติวิหารเชตวัน ไม่ว่าจะเป็นพระวิหารใด ก็ไม่มีคำว่า สำนักปฏิบัติวิหารโครธาราม หรือว่าสำนักปฏิบัติวิหารเวฬุวัน เหล่านี้ เป็นต้น ขณะนี้เป็นของจริง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และการที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ จะขัดกับการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ หรือไม่ขัด

    ส่วนการที่จะไปสู่สำนักปฏิบัตินั้น จะทำให้สามารถรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้ได้ หรือไม่ได้ และการฟัง ขอให้ฟังโดยตลอด ถ้าตราบใดที่ยังปิดวิทยุ และเลือกฟังเป็นบางตอน ย่อมไม่สามารถจะเข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใดเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น จึงเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะไปรู้นามธรรมและรูปธรรมเฉพาะในสถานที่หนึ่ง สถานที่ใด และไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง

    และบางท่าน ก็อาจจะไม่ได้เปรียบเทียบสภาพของธรรม ที่จะให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เช่น ในขณะนี้ กำลังเห็น และได้ยินด้วย ให้ทราบว่า ลักษณะของสติที่เกิด คือ กำลังระลึกได้ และก็รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จะเป็นนามธรรม หรือรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจก็ได้ แต่เป็นธรรมดา เป็นปกติ

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดเข้าใจว่า ท่านเองเจริญสติปัฏฐาน แต่ไม่เป็นปกติ ขอให้ทราบว่า ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน ถ้าเป็นการเจริญสติปัฏฐานแล้ว เป็นปกติ ขณะที่สติเกิด ก็รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ทางตาในขณะนี้ ก็รู้ว่าเป็นนามธรรมที่กำลังเห็น ถ้าระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ที่เป็นรูป ก็รู้ว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น และหลงลืมสติไป ก็หลงลืมสติไป พอสติเกิด ระลึกรู้ ก็เป็นธรรมดา เป็นปกติ เป็นชีวิตจริงๆ

    สำหรับท่านผู้ฟังที่ท่านกล่าวว่า ผมขอเรียนกับอาจารย์ตรงๆ ว่า ผมทนฟังการบรรยายเรื่องเกี่ยวกับสถานที่ปฏิบัติของอาจารย์ไม่ได้จริงๆ มันเสียวหัวใจชอบกล พูดไม่ถูกจริงๆ เดี๋ยวอาจารย์ก็กล่าวย้ำว่า เรื่องสถานที่ไม่จำกัด ที่ไหนๆ ก็ได้ ฟังแล้วรู้สึกว่า มันขัดกันเองเรื่อยมา

    ถ้าท่านเป็นผู้ฟังเรื่องแนวทางเจริญสติปัฏฐานมาตั้งแต่ต้นจนถึงเดี๋ยวนี้ ด้วยความรู้สึกว่า เกิดความเข้าใจขึ้น จะรู้สึกว่าขัดกันเองได้ไหม ในขณะที่ท่านกล่าวว่า เสียวหัวใจชอบกล พูดไม่ถูกจริงๆ ขณะนั้นเป็นอวิชชา หรือเป็นปัญญา เมื่อไม่ทราบแล้ว ก็เป็นอวิชชาแล้ว

    ไม่ได้อบรมเจริญสติ ในขณะที่กำลังเสียวหัวใจนั้นว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรมชนิดไหน ที่กำลังเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานนี้ เป็นเรื่องที่จะต้องรู้จักสภาพธรรมที่เกิดกับท่านตามความเป็นจริง ถ้าเกิดไม่พอใจขึ้น สติเกิดระลึกรู้ว่า ลักษณะที่ไม่พอใจนั้น เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป และควรที่จะรับฟัง พิจารณา ถ้าไม่เห็นด้วย หรือว่าไม่เข้าใจ ก็ขอให้ซักถาม

    . ปัญหาเรื่องห้องปฏิบัติ หรือว่าสำนักปฏิบัติ เป็นปัญหาที่เถียงกัน และก็ไม่มีใครตัดสิน ความจริงบาลีที่พระพุทธเจ้าตรัสแท้ๆ นั้น ผมจะยกมาให้ฟัง ท่านตรัสในสติปัฏฐาน ๔ ว่า อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ

    อิธ แปลว่า ในธรรมวินัยนี้ ภิกฺขเว แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกฺขุ แปลว่า ภิกษุ

    กาเย แปลว่า ในกาย

    กายานุปสฺสี แยกว่า กาย + อนุ + ปสฺสี

    ปสฺสี ตามไวยากรณ์แปลว่า มีปกติเห็น

    และยังมีต่อไปที่ว่า อรญฺญคโต วา รุกฺขมูลคโต วา สุญฺญาคารคโต วา คือ ต้องไปอย่างนี้ จึงจะทำได้ ความจริงพระผู้มีพระภาคท่านตรัสว่า ภิกฺขเว ภิกฺขุ ท่านพูดกับพระ และพระเหล่านี้ ท่านอยู่ในป่า ในถ้ำอยู่แล้ว ท่านก็ทำได้

    อรญฺญคโต วา ไปอยู่ป่าอยู่แล้ว ก็ทำได้ รุกฺขมูลคโต วา ผู้ที่ไปอยู่โคนไม้แล้ว ก็ทำได้ และสูญญาคารคโต วา ผู้ที่ไปอยู่เรือนว่างแล้ว ก็ทำได้

    คำว่า ทำได้นี้ ไม่ทำก็ได้

    คำว่า สำนัก พูดกันมามาก ผมไม่ใช่เข้าข้างอาจารย์ ผมเป็นคนรักความจริงเหมือนกัน ถ้าอาจารย์พูดไม่ถูกธรรมจริงๆ เราก็ขัดคอ

    พระผู้มีพระภาคท่านตรัสกับพระภิกษุว่า อิธ ภิกขเว ภิกขุ พูดกับพระ และพระเวลานั้น มีบ้าน มีวัดอยู่อย่างเดี๋ยวนี้หรือ ท่านก็อยู่ในป่า ในอะไรๆ ท่านก็บอกว่า อยู่ที่ไหนก็ทำได้ วา แปลว่า ก็ได้

    และสมัยที่พระพุทธเจ้ายังไม่ปรินิพพาน พระอริยสาวก อย่างท่านอนาถบิณฑิกะ ท่านก็ไม่ได้ไปปลูกกระท่อมที่ไหนที่จะไปเจริญวิปัสสนา ก็อยู่บ้านเหมือนกัน อย่างมหาอุบาสิกาวิสาขา ก็ไม่มีกระท่อมที่ไหนจะไปเจริญวิปัสสนา

    อนุ แปลว่า เนืองๆ หรือตามก็ได้ เห็นตาม

    ปัสสี แปลว่า มีปกติ ต้องแปลอย่างนั้น คนที่ไม่รู้บาลีแปลส่งเดชไปก็แปลได้ แต่ถ้าจะแปลกันอย่างตรงไปตรงมา ปัสสี ต้องแปลว่า มีปกติเห็นตาม กายในกาย

    ปกติ ก็หมายความว่า ปกติ เราอยู่ที่ไหนๆ ก็เรียกว่าปกติ ไม่ใช่ไปพิเศษ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๙ ตอนที่ ๓๘๑ – ๓๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 39
    28 ธ.ค. 2564