แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 387


    ครั้งที่ ๓๘๗


    ถ. อีกอย่างหนึ่ง กรุงราชคฤห์ก็ดี กรุงสาวัตถีก็ดี มีพลเมืองเท่าไร เป็นโกฏิๆ ถ้าหากจะไปนั่งเข้ากัมมัฏฐานกัน มีเงินเท่าไรสร้างสถานปฏิบัติถึงจะพอ เพราะฉะนั้น จะอยู่ที่ไหนก็ได้ และไม่ปรากฏว่า สองท่าน คือ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี หรือมหาอุบาสิกาวิสาขามิคารมารดาไปนั่งเจริญวิปัสสนาที่ไหน ทำไมท่านจึงสำเร็จเป็นพระโสดาบัน

    นางวิสาขาเป็นพระโสดาบันตั้งแต่ท่านอายุได้ ๗ ขวบ พ่อใช้ให้ไปรับพระพุทธเจ้า ไม่ได้ไปเจริญวิปัสสนาที่ไหน ไปรับพระพุทธเจ้าแล้วได้สำเร็จ ไม่มีที่ๆ จะไปนั่งเจริญ เข้าใจว่า ไปรับและได้ฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ และได้สำเร็จ ไม่ได้ไปนั่งเจริญ ไม่มี

    คำว่า อยู่ที่ไหนก็ทำได้ ผมเลื่อมใสจริงๆ รวมความแล้ว คำว่า ปกติ อาจารย์ไม่ได้พูดเอง มาจากคำว่า อนุ+ปสฺสี ซึ่งแปลว่า มีปกติเห็นตาม ถ้าใครแปลอย่างอื่น ผิดไวยากรณ์ทีเดียว

    สุ. ขอบพระคุณท่านผู้ฟัง ที่กรุณาให้ความหมายในทางภาษาบาลี

    . ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งได้อธิบายถึงคำว่า ไปสู่สำนักปฏิบัติ ท่านก็ยกภาษาบาลีขึ้นมา และอธิบายภาษาบาลีนั้นให้เป็นที่เข้าใจว่า เป็นอย่างไรกันแน่ ท่านก็บอกว่า อารญฺญคโต วา หรือว่าสุญฺญาคารคโต วานี้ ท่านก็บอกว่า ไปอยู่ที่นั่นแล้ว โดยศัพท์จริงๆ นั้นแปลว่า ไปอยู่ที่นั่นแล้ว ไม่ใช่ไปเพื่อเจริญสติปัฏฐานที่นั่น คือ อยู่ที่นั่นแล้ว ก็เจริญสติปัฏฐานที่นั่นก็ได้ แสดงว่าอย่างนั้น

    ทีนี้ตามมหาสติปัฏฐานสูตรที่เขาแปลกันมานานแล้ว พิมพ์ครั้งที่ ๑๖ พ.ศ.๒๕๐๙ ท่านใช้คำว่าอย่างนี้ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการสับสนกันขึ้นได้ เช่น คำว่าอรญฺญคโตวา ท่านแปลว่า ไปที่ป่าก็ตาม คำว่าไปที่ป่าก็ตาม ทำให้เราเข้าใจว่า อ้อต้องไปที่ป่า จึงจะเจริญสติปัฏฐานได้ แต่ท่านผู้รู้เมื่อสักครู่นี้ท่านบอกว่า ไม่ใช่อย่างนั้น หรือผู้ที่รู้ภาษาบาลีท่านอื่นๆ ท่านก็บอกแล้วว่า ไปแล้วสู่ป่าก็ตาม หมายความว่า ไปอยู่ที่นั่นแล้ว ไม่ใช่ว่า ไปที่ป่าก็ตาม ผมเห็นพ้องกับท่านผู้รู้ภาษาบาลีที่แปลว่า เขาไปอยู่ที่นั่นแล้ว พระเหล่านั้น ท่านไปอยู่โคนต้นไม้บ้าง ตามป่าบ้าง หรือว่าไปสู่ที่ว่างแห่งใดแห่งหนึ่งก็ตาม ที่เหล่านั้นแหละ จะเป็นที่เจริญสติปัฏฐานได้ เป็นปกติของตน

    อีกคำหนึ่ง คือ คำว่า วิหรติ แปลว่า อยู่ คำนี้ท่านอรรถกถา ท่านอธิบายว่า อยู่ด้วยอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง เช่น ยืนก็ดี เดินก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี จะนั่งก็เจริญสติได้ จะเดิน จะนอนก็เจริญสติได้ หรือจะอย่างไรก็ได้ทั้งนั้น ความหมายเป็นอย่างนี้ ทีนี้คำแปลต่างๆ เหล่านี้ คล้ายๆ กับว่าไม่สมบูรณ์ จะไปตำหนิท่านก็ไม่ได้

    สุ. ขอขอบพระคุณท่านผู้ฟัง ที่ได้กรุณายกข้อความในหนังสือที่แปลจากมหาสติปัฏฐาน แม้แต่ข้อความที่ว่า วิหรติ ซึ่งหมายความถึง ย่อมอยู่

    พระอรรถกถาจารย์ ท่านก็ยังได้อธิบายความไว้ว่า ที่ว่า ย่อมอยู่นั้น ย่อมอยู่อย่างไร ถ้าท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องชีวิตปกติ เห็น ได้ยิน เป็นสภาพปกติ มีท่านผู้ใดบ้างไหม ที่อยู่ตามปกตินี้ ไม่นั่ง ไม่นอน ไม่ยืน ไม่เดิน

    . ผมเห็นด้วยที่ว่า วิหรติ แปลว่า อยู่ พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสย่อๆ ท่านพระอรรถกถาจารย์ท่านก็อธิบายว่า อยู่อย่างไร สมมติว่า ผมถามว่า ไปไหนมา อีกฝ่ายก็ตอบว่า เปล่า อยู่บ้าน หมายความว่า อยู่บ้าน ก็ความหมายเดียวกับ หรติ ย่อมอยู่ คือ อยู่บ้าน ซึ่งเราจะนั่งอย่างเดียว หรือจะนอนอย่างเดียว ก็ไม่ใช่ ก็ต้องอยู่ทั้ง ๔ อิริยาบถ

    สุ. เพราะฉะนั้น ใครจะอยู่โดยไม่นั่ง ไม่นอน ไม่ยืน ไม่เดินนี้ ไม่มี เป็นชีวิตปกติธรรมดา แต่ไม่ใช่หมายความว่า พอจะทำวิปัสสนา ก็ไปทำนั่ง ทำนอน ทำยืน ทำเดิน ทำจริงๆ นั่งก็ต้องมีท่าทาง โดยเฉพาะเดิน ก็ต้องสำรวม แกว่งมือก็ไม่ได้เป็นปกติก็ไม่ได้

    . ความจริงตาม word by word คำว่า วิหรติ

    ติ เป็นกิริยาอาขยาต หร และ วิ ถ้าแปลตามตัว ไม่ใช่นั่ง นอน ยืน เดิน แต่แปลว่า นำไปวิเศษ หร แปลว่า นำไป วิ คือ วิเศษ

    นำไปวิเศษ หมายความว่าอะไร ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้จริงๆ แต่อรรถกถาท่านบอกว่าคือ นั่ง นอน ยืน เดิน ย่อมนำไปวิเศษ ท่านว่าอย่างนี้ แปลตามตัวนะ แต่เราแปลตามภาษาสำนวน ก็แปลว่า อยู่

    อยู่ คือ นั่ง นอน ยืน เดิน ก็ขยายกันไปอย่างนั้น อย่างที่ว่า อยู่บ้าน อยู่บ้านก็ต้องอยู่ทุกอิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน ก็อยู่ในคำว่า วิหรติ ทั้งนั้นแหละ

    สุ. สำหรับเรื่องไปทำนั่ง ไปทำนอน ทำยืน ทำเดิน ก็เคยได้รับฟังคำอธิบายของบางท่านว่า พอท่านที่สนใจในเรื่องที่จะทำวิปัสสนาไปถามผู้ที่จะอธิบาย ท่านก็บอกว่า ไหนลองเดินให้ดูซิ ก็ปรากฏว่า คนนั้นเดินไม่เป็น เป็นไปได้อย่างไร เดินไม่เป็น ก็เดินอยู่เป็นปกติ ไปไหนมาไหนก็เดิน แต่พอจะทำวิปัสสนา ผู้ที่จะอธิบายให้ฟังบอกว่า เดินอย่างนั้น เดินไม่เป็น แสดงให้เห็นว่า ต้องไปทำเดินให้เป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เป็นปกติ

    นอกจากนั้น แม้ข้อความในมหาสติปัฏฐานที่ว่า รู้อาการของกาย ในหมวดของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า อาการของสภาพธรรม อาการของสัญญา อาการของวิตก อาการของกายซึ่งไม่ใช่ตัวตน ก็ได้แก่ รูปที่ปรากฏที่กาย จึงจะไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และรูปที่ปรากฏที่กายนี้ มีลักษณะอ่อนหรือแข็ง มีลักษณะเย็นหรือร้อน มีลักษณะตึงหรือไหว แต่ไม่ใช่ให้รู้ท่าทาง

    คำว่า ให้รู้อาการของกาย ไม่ได้หมายความว่า ให้ควบคุมเป็นท่าทางของรูปและก็รู้ ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเหตุว่าให้รู้อาการของกายว่าไม่ใช่ตัวตน ก็คือ อาการนั้นเป็นอาการของธาตุดิน หรือธาตุน้ำ หรือธาตุไฟ หรือธาตุลม ซึ่งมีอาการแต่ละอาการคือ มีลักษณะแต่ละลักษณะนั่นเองปรากฏให้รู้ได้ และจะต้องรู้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ปรากฏตรงไหน ดับตรงนั้น ไม่สามารถที่จะเอามาต่อควบคุมกัน เป็นท่าเป็นทาง เป็นตัวเป็นตนได้ แม้แต่ลมหายใจที่ปรากฏที่ช่องจมูก เกิดที่ช่องจมูก ปรากฏที่ช่องจมูก ดับที่ช่องจมูก นั่นเป็นอาการของกาย แต่ไม่ใช่เป็นการควบคุมเป็นท่าเป็นทาง

    ขออ่านจดหมายของท่านผู้ฟัง มาจากบ้านเลขที่ ๓๘๑ สุดตรอกวัดท้ายตลาดสุดถนนอรุณอัมรินทร์ ตำบลวัดอรุณ อำเภอบางกอกใหญ่

    ข้อความบางตอนในจดหมายมีว่า

    ปัญหาที่ถามในแนวทางเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ได้ทราบทัศนคติของผู้ถามหลายท่านว่า มีความเห็นผิดถูกกันไปได้ต่างๆ นานา แทบทุกรายมักไม่ยอมรับแนวทางของท่านอาจารย์เสียบ้างเลย ชอบโต้แย้งอาจารย์เกี่ยวกับเรื่องสถานที่ ต้องมีห้องปฏิบัติ มีการดูรูปนั่ง นอน ยืน เดินอยู่นั่นเอง อาจจะเป็นเพราะท่านเหล่านั้นไม่ค่อยมีบารมีที่ได้สั่งสมไว้ในอดีตอนันตชาติมาก่อน หรือถ้ามี ก็อาจจะน้อยมากกระมังครับ จึงมองไม่ค่อยเห็น แม้จะมีโอกาสช่องทางที่อาจารย์พยายามชี้ให้เห็นหนทางตรงและสั้นที่สุด ไม่ต้องเดินอ้อม ก็แสนยากเหลือเข็ญ ทั้งๆ ที่ท่านเหล่านั้น บางท่านก็มีความรู้แตกฉานด้านทฤษฎีมากกว่าผมเสียอีก แต่ทำไมกลับเห็นผิดไปได้ ไม่ยอมเชื่อ ส่วนผมไม่ใช่พูดว่าเชียร์ หรือยกย่องอาจารย์อย่างไรหรอกครับ ผมเชื่อด้วยเหตุผล

    ในตัวผมเอง ร่างกายของเรา (จำเป็นต้องใช้ตัวตนทั้งๆ ที่รู้ว่ามันเป็นกลุ่มธาตุ) รับกระทบสี เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย (รูป) และรู้สิ่งกระทบแต่ละสิ่งแต่ละอย่างได้ด้วยใจ (นาม) มีสติ พิจารณาสังเกตรูปและนามที่เกิดปรากฏด้วยเหตุปัจจัยนานบ้าง ไม่นานบ้าง ก็ดับ ไม่มีอะไรคงที่ยั่งยืนได้เลย เป็นปกติธรรมดาในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ด้วยเหตุที่มันเป็นรูปและนามที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยปรุงแต่งนี่แหละครับ จึงไม่ควรยึดถือ และเข้าใจผิดว่า เป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นเรา เป็นเขา ถ้าขาดสติก็เป็นตัวตนทุกที

    ใครๆ ที่ไม่อับปัญญา ก็ย่อมรู้ และเห็นจริงได้ ตัวผมตลอดร่างนี่แหละครับ เป็นเครื่องพิสูจน์ ไม่เห็นจำเป็นที่จะต้องไปเชื่อคนนั้นว่าอย่างนั้น คนนี้ว่าอย่างนี้ คนโน้นว่าอย่างโน้น จนเกิดลังเล ตัวผมตลอดร่างนี่แหละครับ เป็นเครื่องพิสูจน์อย่างดี

    ผมไม่เคยไปฟังสำนักใดๆ มาก่อนเลย ในชีวิตก็เพิ่งฟังคำบรรยายจากอาจารย์ทางวิทยุเป็นครั้งแรก พิจารณา ไตร่ตรอง สังเกตธรรม รูปนามเกิดปรากฏอยู่ล้อมรอบกายเรา ก็รู้สึกสมจริงตามอาจารย์บรรยายทุกอย่าง ตรงตามความรู้สึกจริงๆ ไม่เห็นจำเป็นต้องเลือกสถานที่ ไม่เห็นจำเป็นที่จะต้องใช้คำว่าปฏิบัติ หรือเตรียมตัวเตรียมใจอะไรเลย มันเกิดขึ้นอยู่รอบกายเราตลอดเวลา อยู่แต่ว่าขาดสติหรือเปล่าเท่านั้น ถ้าเผลอ ขาดสติ มันก็เป็นตัวตนทุกที

    อาจารย์ครับ ผมฟังเสียงของอาจารย์บรรยายแต่นามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคหญาณ มาจนเบื่อ เฝ้ารออยู่ว่า เมื่อไรหนอ ผมจะได้มีโอกาสฟังภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวานุปัสสนาญาณ และญาณอื่นๆ เสียที ชาตินี้ทั้งชาติอาจไม่มีหวังกระมัง

    สุดท้ายนี้ขอให้อาจารย์จงเจริญยิ่งกาลนาน

    ด้วยความเคารพนับถืออย่างสูง

    สุ. ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาท่านเจ้าของจดหมายด้วย ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ท่านผู้ฟังแต่ละท่าน ก็มีความเข้าใจในธรรมที่ได้ฟังต่างๆ กันไป บางท่านก็เข้าใจโดยตลอด เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ

    ข้อความตอนท้ายของจดหมายที่ว่า เมื่อไรหนอ ผมจะได้มีโอกาสฟังภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวานุปัสสนาญาณ และญาณอื่นๆ เสียที ชาตินี้ทั้งชาติอาจไม่มีหวังกระมัง

    ขอเรียนให้ท่านผู้ฟังทราบว่า เรื่องของการอบรมเจริญปัญญานี้ อย่าได้ห่วงกังวลถึงพยัญชนะภาษาบาลี ก่อนนี้มีท่านผู้ฟังที่เป็นห่วงเหลือเกินว่า เมื่อไรท่านจะได้ฟังธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานสักที ซึ่งเท่าที่บรรยายไปแล้ว ก็เป็นโดยลำดับ คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน และขณะนี้ คือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน นัยที่ว่า จิตที่ปราศจากราคะ ซึ่งเป็นไปในกุศลประการต่างๆ ในเรื่องของทาน ศีล และขณะนี้กำลังถึงเรื่องของศีล ๕ จบข้อที่ ๓ กำลังจะต่อไปถึงข้อที่ ๔

    แต่ว่าเรื่องของธรรม เป็นเรื่องสภาพธรรมที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ ที่จะต้องศึกษาสิกขา ไม่ใช่โดยการฟัง แต่โดยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพื่อที่จะได้ละความเห็นผิดที่เคยยึดถือสภาพนั้นว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล และการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น ก็ลึกเหลือเกิน และละเอียดมากด้วย จึงต้องอาศัยการอบรมเจริญสติจริงๆ ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดแล้วปรากฏในขณะนี้ โดยไม่ต้องห่วงถึงชื่อเลย

    ไม่จำเป็นต้องห่วงกังวล เพราะถ้าท่านห่วงกังวล ก็ไม่ได้ทำให้ท่านระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง และแม้แต่ความกังวลนั้น ก็เป็นสภาพของนามธรรม ลักษณะนั้นเป็นความกังวล เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง แล้วก็หมด และก็มีนามรูปปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ลักษณะอื่นๆ ต่อไป

    เพราะฉะนั้น ประโยชน์ที่สุด คือ อย่าหวังรอคอยอะไรเลย ขอแต่เพียงให้ทราบว่า ขณะนี้ปัญญารู้ชัดจริงๆ ประจักษ์ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนของนามธรรม และรูปธรรมแล้วหรือยัง และเจริญอบรมอย่างไร จึงจะสามารถทำให้รู้ชัดขึ้น ต้องประกอบด้วยความละคลายด้วย ไม่อย่างนั้น ก็ไม่สามารถจะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ ไม่ควรที่จะต้องกังวลถึงพยัญชนะเลย

    ท่านสามารถตรวจสอบข้อความนี้ได้ใน พระสุตตันตปิฎก ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมกับผู้ฟังโดยไม่กล่าวถึงคำว่า ภยตูปัฏฐานญาณ หรืออาทีนวานุปัสสนาญาณเลย แต่บุคคลผู้ฟังนั้น ก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะศึกษาโดยตรงได้ จากพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีหรือแม้วิสาขามหาอุบาสิกา ก็ไม่มีพยัญชนะที่พระผู้มีพระภาคทรงกล่าวถึงภยตูปัฏฐานญาณ หรืออาทีนวานุปัสสนาญาณ

    หรือแม้ในพระสูตรอื่นๆ ท่านก็จะเห็นได้ว่า มีข้อความว่า รู้ชัด ซึ่งอรรถของคำว่า รู้ชัดนี้ ลึกซึ้งจริงๆ เพราะว่าเป็นการสะสมอบรมปัญญาที่สามารถประจักษ์ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ที่เป็นวิปัสสนาญาณตามลำดับขั้นจริงๆ ซึ่งในที่นั้น พระผู้มีพระภาคไม่ทรงจำเป็นที่จะกล่าวถึงพยัญชนะที่เป็นวิปัสสนาญาณเลย ในเมื่อผู้ฟังในขณะนั้น กำลังรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม กำลังประจักษ์หรือกำลังแทงตลอดในลักษณะนั้นอยู่แล้ว



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๙ ตอนที่ ๓๘๑ – ๓๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 39
    28 ธ.ค. 2564