แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 388


    ครั้งที่ ๓๘๘


    สำหรับท่านที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อที่ท่านจะได้ไม่ต้องกังวลว่า ท่านถึงวิปัสสนาญาณนั้นแล้วหรือยัง หรือว่าท่านกำลังคอยวิปัสสนาญาณขั้นใดขั้นหนึ่งอยู่หรือแม้ว่าท่านจะมีตรุณวิปัสสนาญาณในวันหนึ่งวันใดแล้ว ท่านก็ไม่ควรที่จะกังวลถึงพลววิปัสสนาญาณขั้นต่อไป เพราะว่า ขณะใดที่กังวลถึง ก็ไม่ใช่สติที่กำลังรู้ในสภาพที่เป็นเพียงนามธรรมเท่านั้น

    จะเห็นได้ว่า สำหรับบางท่าน ท่านต้องอบรมเจริญวิปัสสนาญาณเป็นลำดับ ซึ่งแต่ละญาณนี้ช้าจริงๆ เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ขณะใดที่มีความกังวลเกิดขึ้น แม้วิปัสสนาญาณยังไม่เกิด ก็เป็นเครื่องกั้นอยู่แล้ว หรือแม้ว่าวิปัสสนาญาณขั้นต้นๆ เกิดแล้ว และมีความกังวลเกิดขึ้น ขณะนั้นแสดงว่า สติไม่ได้ระลึกรู้ในสภาพที่เป็นเพียงนามธรรม ที่ปัญญาจะสมบูรณ์คมกล้าและแทงตลอดได้ทันที จะต้องอาศัยการอบรมต่อไปอีก จนกว่าจะสามารถละคลายการยึดถือได้จริงๆ

    ขอตอบจดหมายอีกฉบับหนึ่ง ท่านเขียนมาจากบ้านเลขที่ ๓ ถนนดอยสะเก็ดเก่า ตำบลวัดเกด อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

    มีข้อตวามว่า

    ผมมีความปรารถนาที่จะสนทนาธรรมกับผู้ใฝ่ธรรม ผมมิได้ติดอาจารย์ หรือที่เรียกกันว่าอาจารย์ทิฏฐิ แต่เท่าที่ผมได้ใฝ่ศึกษาธรรมมาตลอดเวลา ความเข้าใจของผมอยู่ในแนวเดียวกับอาจารย์สุจินต์ ผมได้แต่ฟังคำบรรยายทางวิทยุในตอนเช้า และกลางคืน ในขณะอยู่กรุงเทพ ผมได้รับความสว่างมาก ผมอยากจะเรียนให้ทราบว่า ผมเข้าใจทุกๆ คำ แต่ผมจำไม่ได้ ผมได้พยายามแล้ว แต่อาจเป็นเพราะไม่ได้รับฟังติดต่อกัน หรือภาระทั้งหลายของผมมันยัดเข้าไปในสมองเสียสิ้นก็เป็นได้

    บางครั้งผมอยากจะหนีไปให้พ้น ผมมิได้เบื่องาน แต่ผมเบื่อความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความเอารัดเอาเปรียบของบุคคลที่วิ่งวนอยู่ในการค้า ผมได้แต่นึกอยู่เสมอว่า สักวันหนึ่งผมจะได้หยุดพักผ่อน แม้ว่าวันนั้นจะเป็นวันที่ลมหายใจได้จากผมไป ผมก็จะเป็นสุขอย่างยิ่ง ผมเองขณะนี้ได้อยู่มานานแล้วในโลกนี้ คงจะมีเวลาเหลืออีกไม่นานนัก ผมจึงปรารถนาแต่ความสงบ ผมยังคงอยากในความสงบอยู่ ผมรู้ว่า ผมอยากละความวุ่นวาย เพื่อจะไปติดความสงบ ผมเข้าใจในเรื่องสติที่อาจารย์สุจินต์พยายามชี้แนะ แต่ท่ามกลางความวุ่นวาย สติก็เป็นสิ่งที่ตั้งได้ยาก

    สุ. ที่ท่านกล่าวว่า บางครั้งอยากจะหนีไปให้พ้น แล้วหนีไปหรือเปล่า หรือว่าเพียงอยาก ความอยากนี้ อยากกันได้ทุกผู้ทุกคน เรื่องความสงบนี้ เพียงฟังก็รู้สึกว่า คงจะดี คงจะสบายมาก ซึ่งถ้าเป็นความสงบแล้ว ก็หมายความว่า ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ไม่วุ่นวาย เป็นความอยาก ซึ่งบางท่านบางครั้งอาจจะมี บางท่านก็อาจจะมีบ่อย แต่ความจริงนั้นคืออย่างไร ก็ยังคงเป็นแต่เพียงความอยาก แต่ความจริงนั้น หนีไปได้หรือยัง ชีวิตจริงๆ แต่ละท่านจะหนีไปได้หรือหนีไปไม่ได้ มีเหตุปัจจัยทั้งนั้น บุคคลอื่นไปได้ ท่านอยากจะเป็นอย่างนั้น แต่ท่านไม่ได้ทำอย่างนั้น ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น แต่ท่านยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นตัวท่านที่คิดอย่างนั้น ที่อยากอย่างนั้น แต่ก็ไม่ได้ทำอย่างนั้น

    แต่ละชีวิตนี้ไม่เหมือนกันเลย ชีวิตของพุทธบริษัทแต่ละท่านต่างกันไปตามเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าท่านผู้ฟังท่านนี้ มีความปรารถนาที่จะหนีไปให้พ้น แต่ตราบใดที่ไม่ได้ไป ก็แสดงอยู่แล้วว่า เพราะไม่มีปัจจัยที่จะไป เมื่อไม่มีปัจจัยที่จะไป ชีวิตจริง คือ ชีวิตที่ไม่ได้ไป ก็ควรที่จะได้สารประโยชน์จากชีวิตจริงที่ไม่ได้ไป แทนที่จะหวังรอคอย และก็เพียงอยากที่จะไป แต่เมื่อไม่ได้ไป เพราะชีวิตจริงไม่ได้สะสมมาที่จะไป ประโยชน์ที่สุดแม้ไม่ได้ไป คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ

    และข้อความที่ท่านกล่าวว่า ผมเข้าใจในเรื่องสติที่อาจารย์สุจินต์พยายามชี้แนะ แต่ท่ามกลางความวุ่นวาย สติก็เป็นสิ่งที่ตั้งได้ยาก

    ไม่ใช่ท่านเองจะตั้งสติ บางท่านอาจจะเข้าใจอย่างนั้น เพราะท่านคิดว่า การเจริญสติปัฏฐาน ท่านจะต้องตั้งใจที่จะเจริญ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ถึงแม้ชีวิตของท่านจะวุ่นวายอย่างไรก็ตาม อย่าบังคับ หรือคิดว่า วันนี้ ขณะนี้ จะเจริญสติปัฏฐาน แต่ฟังธรรมให้เข้าใจ จะเป็นปัจจัยให้เกิดการระลึกได้ว่า สตินั้น คือ ขณะที่กำลังระลึกรู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าท่านเพียงแต่กระทบสัมผัสสิ่งหนึ่งสิ่งใด จะอ่อน จะแข็ง จะเย็น จะร้อน การฟังด้วยดี ทำให้รู้ว่า สติเกิดในขณะที่รู้ตรงลักษณะที่อ่อน ที่แข็ง ที่เย็น ที่ร้อน ในขณะนั้นเพียงชั่วนิดเดียว ก็เป็นสติปัฏฐาน

    เวลาที่กลิ่นปรากฏ ขณะที่รู้ในสภาพของกลิ่น ศึกษา สังเกต สำเหนียก รู้ในลักษณะที่ปรากฏว่า เป็นสภาพรู้กลิ่น หรือว่าเป็นลักษณะของกลิ่นที่ปรากฏทางจมูกชั่วในขณะนั้น เป็นปกติธรรมดา เป็นสติปัฏฐาน และถ้าท่านอบรมเจริญอย่างนี้ ทีละเล็กทีละน้อย วันหนึ่ง สติก็จะเกิดเพิ่มขึ้นได้

    หรือว่าถ้าไม่มีปัจจัยที่จะให้สติเกิด ท่านก็ไม่หวั่นไหว เพราะท่านรู้ว่า แม้การหลงลืมสติ ก็เป็นแต่เพียงนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน การรู้อย่างนี้ การไม่หวั่นไหวอย่างนี้ จะทำให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติ ตามธรรมดา ซึ่งจะทำให้ท่านสามารถอบรมเจริญสติปัฏฐานในชีวิตจริง ที่มีปัจจัยทำให้ชีวิตของท่านวุ่นวายอย่างนี้ ในภพนี้ ชาตินี้ หรือว่าในชาติอื่น ภพอื่น โดยที่ท่านจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น ก็แล้วแต่เหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา

    แต่ไม่ได้หมายความว่า ถ้าท่านไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ท่านก็สามารถที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แม้ว่าท่านจะอยู่ในภพชาติที่มีชีวิตสงบกว่าภพชาตินี้ก็ตาม

    เพราะเหตุว่า การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ว่าชีวิตจะวุ่นวาย จะเป็นเช่นคฤหัสถ์อย่างวิสาขามหาอุบาสิกา หรือว่าอุบาสกอุบาสิกาที่เป็นสาวกที่ได้รู้แจ้ง อริยสัจธรรม หรือว่าจะเป็นอย่างเพศบรรพชิต ก็แล้วแต่ว่า ท่านเหล่านั้นได้สะสมปัญญาที่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมมาพอที่จะรู้แจ้งแทงตลอดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้นหรือไม่

    แต่ปัญญาของท่านจะสมบูรณ์ได้อย่างไร ถ้าท่านยังไม่สะสมเหตุปัจจัยโดยการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้เห็นว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมนาน และเป็นเรื่องที่จะต้องรู้จริง รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จึงสามารถที่จะดับกิเลสได้ ไม่ว่าท่านจะอยู่ในเพศใดก็ตาม ถึงแม้ว่าท่านจะเป็นบรรพชิตมีชีวิตที่สงบในภพชาตินั้น แต่ถ้าไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานมาเพียงพอที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    ขอกล่าวถึงประวัติของท่านพระกุมารกัสสปะ ผู้เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของ พระผู้มีพระภาค ผู้แสดงธรรมได้วิจิตร ซึ่งท่านผู้ฟังจะอ่านข้อความในพระไตรปิฎกที่ท่านพระกุมารกัสสปะแสดงธรรมแก่พระเจ้าปายาสิได้ใน พระสุตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปายาสิราชัญญสูตร ซึ่งท่านพระกุมารกัสสปะได้แสดงธรรมให้พระเจ้าปายาสิ ได้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะพระเจ้าปายาสิมีความเห็นว่า โลกหน้าไม่มี ผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า การที่บางครั้ง ที่ท่านมีคำพูดที่ประกอบด้วยเหตุผลที่น่าฟัง ที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น เกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องเตรียมตัวคิดมาก่อนหรือเปล่าว่า จะพูดอย่างนั้น อย่างนี้ หรือว่าบางครั้ง แม้ว่าไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนที่จะพูดอย่างนั้น จะชี้แจงเหตุผลอย่างนี้ ในสถานการณ์อย่างนั้น แต่คำพูดของท่านก็เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น เป็นคำพูดที่มีเหตุผล น่าฟัง และถูกต้องตามความเป็นจริง ที่เป็นดังนั้นขอให้ทราบว่า ถ้าไม่มีการสะสมมาที่วิจิตร คำพูดเช่นนั้น ก็เกิดขึ้นไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่ากาย การกระทำใดๆ ที่ท่านมีความสามารถในวิชาการแต่ละอย่าง ก็เพราะเหตุว่า มีปัจจัยที่สะสมมา หรือว่าคำพูดของแต่ละท่าน แต่ละโอกาสแต่ละสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ก็แล้วแต่การสะสมมา

    แม้ท่านพระกุมารกัสสปะ ที่ท่านจะเป็นผู้ที่เลิศกว่าพวกภิกษุสาวก ผู้แสดงธรรมได้วิจิตร ก็ไม่ใช่ว่าท่านจะไม่เคยสะสมอบรมในการที่จะแสดงธรรมให้วิจิตรมาก่อน ทุกอย่างที่จะเป็นผลเกิดขึ้นได้ ย่อมอาศัยเหตุที่ได้สะสมมา เมื่อท่านเห็นว่าการเป็นผู้แสดงธรรมได้วิจิตรจะเป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น ท่านมีกุศลเจตนา ปรารถนาที่จะเป็นผู้แสดงธรรมได้วิจิตร ท่านก็ต้องอบรมเจริญบารมีให้กุศลของท่านให้ผลในทางนั้น

    สำหรับประวัติของท่านพระกุมารกัสสปะ ที่จะทำให้ท่านผู้ฟังได้เห็นว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมเจริญนาน เพื่อให้รู้จริง รู้แจ้งในสภาพธรรมที่ปรากฏ ขอกล่าวถึงข้อความใน ปปัญจสูทนี อรรถกถา วัมมิกสูตร ซึ่งมีข้อความว่า

    คำว่า กุมารกัสสปะ เป็นชื่อของท่าน เป็นเพราะเหตุที่ท่านบวชแต่สมัยที่ท่านยังเป็นเด็ก เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธอทั้งหลายจงเรียกกัสสปะมา จงให้ผลไม้และของควรเคี้ยวนี้แก่กัสสปะ

    ภิกษุทั้งหลายจึงทูลถามว่า

    กัสสปะรูปไหน

    พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า กุมารกัสสปะ

    เพราะเหตุที่ท่านได้ชื่ออย่างนี้ นับแต่นั้นมา ท่านจึงได้นามว่า กุมารกัสสปะ แม้ในเวลาที่ท่านอายุมากแล้ว

    อีกประการหนึ่ง เพราะท่านเป็นบุตรบุญธรรมของพระราชา ชนทั้งหลายจึงรู้จักท่านในนามว่า กุมารกัสสปะ แต่เรื่องนี้เป็นถ้อยคำที่กระทำให้แจ่มแจ้ง จำเดิมแต่ต้นสำหรับท่าน ดังได้สดับมา

    ซึ่งจะแสดงให้ท่านผู้ฟังได้เห็นว่า เรื่องเดิมของท่าน ดังที่ได้สดับมานั้น กว่าที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้นั้น เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมนานเพียงไร

    ในกาลแห่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านได้เป็นบุตรเศรษฐี ต่อมาวันหนึ่ง ท่านได้เห็นพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ภิกษุรูปนั้นมีถ้อยคำอันไพเราะจับใจ คือ มีถ้อยคำที่วิจิตรในอรรถรสของพระธรรม ซึ่งพระศาสดาทรงแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งอันเลิศ แล้วท่านได้ถวายทานแด่พระผู้มีพระภาคตลอด ๗ วัน แล้วได้ตั้งความปรารถนาไว้ว่า ข้าแต่พระ ผู้มีพระภาค ในอนาคตกาล แม้ข้าพระองค์ พึงเป็นสาวกผู้มีถ้อยคำอันไพเราะของ พระผู้มีพระภาคพระองค์หนึ่ง ดุจพระเถระรูปนี้ ดังนี้ แล้วจึงได้กระทำอยู่ซึ่งบุญทั้งหลาย ได้บวชแล้วในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่สามารถจะกระทำคุณวิเศษให้บังเกิดขึ้นได้

    จะเห็นได้ว่า จากสมัยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ จนถึงในศาสนาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่ากัสสปะ ท่านพระกุมารกัสสปะไม่สามารถจะกระทำคุณวิเศษให้บังเกิดขึ้นได้ แต่ว่าคนในสมัยนี้อยากจะบรรลุอย่างรวดเร็ว

    ได้ยินว่า ในกาลนั้น เมื่อศาสนาของพระผู้มีพระภาคซึ่งได้ปรินิพพานไปแล้วเสื่อมถอยลง ภิกษุ ๕ รูป พาดบันไดขึ้นสู่ภูเขา ได้กระทำสมณธรรมแล้ว ในวันที่ ๓พระสังฆเถระสำเร็จพระอรหันต์ เมื่อสำเร็จพระอรหันต์แล้ว ชาตินั้นก็เป็นชาติสุดท้ายในวันที่ ๔ พระอนุเถระได้เป็นพระอนาคามี เมื่อท่านได้เป็นพระอนาคามี และเป็นผู้ที่ได้ฌานสมาบัติด้วย ท่านก็ได้บังเกิดในสุทธาวาสภูมิ อีก ๓ ท่านไม่อาจจะให้คุณวิเศษบังเกิดขึ้นได้ ก็บังเกิดแล้วในเทวโลก บรรดาท่านทั้ง ๓ นั้น เสวยสมบัติอยู่ในเทวโลกทั้งหลาย และในมนุษย์ทั้งหลาย สิ้นพุทธันดรหนึ่ง

    ในสมัยของพระอรหันตพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระสมณโคดมพระองค์นี้ ท่านหนึ่งบังเกิดในกรุงตักศิลา ได้เป็นพระราชาพระนามว่าปุกกุสาติ ทรงผนวชอุทิศแด่ พระผู้มีพระภาค เสด็จไปอยู่สู่กรุงราชคฤห์ ฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาค ในโรงช่างหม้อ ได้บรรลุอนาคามิผล

    ซึ่งท่านผู้ฟังจะศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแก่ท่านปุกกุสาติได้ ใน มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค ธาตุวิภังคสูตร

    อีกท่านหนึ่ง บังเกิดในเรือนแห่งสกุล ที่ท่าเรือแห่งหนึ่ง ขึ้นเรือแล้ว เรือแตก ได้นุ่งผ้าเปลือกไม้ ได้บรรลุถึงลาภ ได้ลาภ ได้สมบัติต่างๆ เพราะความเลื่อมใสของบุคคลที่เห็นท่านนุ่งผ้าเปลือกไม้ ท่านจึงเกิดความคิดขึ้นว่า เราเป็นพระอรหันต์ แต่ว่าเทวดาผู้หวังประโยชน์ผู้บังเกิดแล้วในสุทธาวาส ผู้เคยเป็นสหาย ได้แนะนำส่งท่านไปด้วยคำว่า ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ ท่านจงไปถามปัญหากับพระศาสดา เมื่อกระทำแล้วเหมือนอย่างนั้น ท่านก็ได้บรรลุอรหัตตผล

    ข้อความข้างต้นเป็นเรื่องของท่านพระพาหิยะ ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดได้ใน ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ อุทาน โพธิวรรคที่ ๑ พาหิยสูตร

    ส่วนอีกท่านหนึ่ง เกิดแล้วในท้องนางกุลทาริกาคนหนึ่ง ในกรุงราชคฤห์ ก็ นางกุลทาริกาคนนั้น ครั้งแรกได้อ้อนวอนมารดาบิดาเพื่อจะบวช เมื่อไม่ได้การบรรพชา ก็ไปสู่เรือนแห่งสกุล คือ ได้แต่งงานและไปอยู่กับสามี ไม่รู้อยู่ แม้ว่าครรภ์ได้ตั้งขึ้นแล้ว ให้สามีพอใจแล้ว อันสามีอนุญาตให้ไปบวช จึงได้ไปบวชในสำนักภิกษุณีทั้งหลาย ภิกษุณีทั้งหลายได้เห็นนิมิตแห่งครรภ์ของนาง จึงได้ถามท่าน พระเทวทัต ท่านพระเทวทัตก็ตอบว่า นางภิกษุณีนี้ไม่เป็นสมณะ

    ภิกษุณีทั้งหลาย จึงได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงมอบหมายให้กับท่านพระอุบาลีเป็นผู้วินิจฉัยในเรื่องนี้ ท่านพระเถระได้เชิญสกุลทั้งหลายที่อยู่ในนครสาวัตถี และวิสาขามหาอุบาสิกา ชำระวินิจฉัยในเรื่องนี้ แล้วก็กล่าวว่า นางตั้งครรภ์ขึ้นในกาลก่อน การบรรพชาของนางไม่เสียหาย

    พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า พระเถระวินิจฉัยอธิกรณ์ได้ดีแล้ว จึงได้ทรงสาธุการแด่พระเถระ นางภิกษุณีนั้น คลอดบุตรอันเช่นกับด้วยรูปทองคำ พระเจ้า ปเสนทิโกศลทรงรับทารกนั้นไป ให้เลี้ยงไว้ แล้วได้ให้ชื่อทารกนั้นว่า กัสสปะ ต่อมาได้ประดับตบแต่งเด็กคนนี้ แล้วนำไปสู่สำนักพระผู้มีพระภาค ให้ทูลขอบรรพชา แล้วเพราะเหตุนี้เอง ชนทั้งหลายจึงจำเด็กคนนั้นว่า กุมารกัสสปะ แม้เพราะเหตุที่เป็นบุตรบุญธรรมของพระราชา

    นานไหมการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานมาอย่างมากมายในกาลแห่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ เช่น ในสมัยของ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระปทุมุตตระ และพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่ากัสสปะ ก็คงจะไม่ได้ฟังธรรม และรู้แจ้งอริยสัจธรรม เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระผู้มีพระภาค



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๙ ตอนที่ ๓๘๑ – ๓๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 39
    28 ธ.ค. 2564