แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 389
ครั้งที่ ๓๘๙
ท่านผู้ฟังคงจะได้ยินคำว่า ป่าอันธวัน ในพระสูตรบ่อยๆ ซึ่งเป็นป่าที่อยู่ใกล้กับพระวิหารเชตวัน แต่คงจะไม่ทราบถึงประวัติของป่าอันธวัน
ข้อความในอรรถกถา ได้กล่าวถึงประวัติของป่าอันธวันไว้ใน ปปัญจสูทนี ซึ่งเป็นอรรถกถาของ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ วัมมิกสูตร ซึ่งมีเรื่องชีวิตของสาวกที่เป็นฆราวาส ที่เป็นอริยสาวกด้วย
ประวัติของป่าอันธวันมีว่า
พระสรีระธาตุของพระผู้มีพระภาคผู้มีอายุน้อยทั้งหลาย ย่อมกระจัดกระจายด้วยอานุภาพแห่งการอธิษฐาน พระสรีระธาตุของพระผู้มีพระภาคผู้มีอายุยืนทั้งหลายย่อมตั้งอยู่เป็นชิ้น คือ เป็นแท่งเดียวดุจแท่งทอง พระสรีระธาตุแม้ของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า กัสสปะ ก็ได้ดำรงอยู่แล้วแม้อย่างนี้ ต่อแต่นั้น มหาชนก็ประชุมกันว่า พระธาตุเป็นแท่งเดียวกัน ใครๆ ไม่อาจจะแยกออกจากกันได้ พวกเราจักทำอย่างไรกัน แล้วกล่าวว่า
พวกเราจักกระทำพระธาตุที่เป็นแท่งเดียวเท่านั้นไว้ในเจดีย์ อาจารย์บางพวกกล่าวว่า เจดีย์นั้นสูงถึง ๗ โยชน์ แต่มหาชนตกลงใจกันว่า เจดีย์นี้ใหญ่นัก ในอนาคตใครๆ ไม่อาจจะปฏิบัติได้ ขอเจดีย์จงมีประมาณ ๖ โยชน์ ขอเจดีย์จงมีประมาณ ๕ โยชน์ ลดลงอีกเป็น ๔ โยชน์ ๓ โยชน์ ๒ โยชน์ จนถึง ๑ โยชน์ แล้วจึงคิดกันว่า
อิฐทั้งหลายย่อมเป็นเช่นไร จึงได้ตกลงใจกันว่า แผ่นอิฐทางด้านนอก จงสำเร็จด้วยทองสีแดงเป็นแท่งเดียวมีค่า ๑ แสน อิฐด้านในมีค่าห้าสิบพัน คือ ห้าหมื่น อิฐที่จะกระทำด้วยดินเหนียว ก็กระทำด้วยหรดาล คือ หินชนิดหนึ่ง และ มโนศิลา กิจที่จะต้องทำด้วยน้ำ เขาทำด้วยน้ำมัน ดังนี้ แล้วก็ได้แบ่งทางเข้าออกเป็น ๔ ส่วน พระราชาทรงรักษาประตูทางเข้าด้านหนึ่ง พระกุมารผู้ทรงไว้ซึ่งแผ่นดิน ผู้เป็นราชบุตร รักษาประตูด้านหนึ่ง เสนาบดีซึ่งเป็นหัวหน้าของอำมาตย์ทั้งหลาย รักษาประตูด้านหนึ่ง เศรษฐีผู้เป็นหัวหน้าของชาวชนบททั้งหลาย รักษาประตูด้านหนึ่ง แต่เพราะเหตุที่พระเจดีย์นั้น เพียบพร้อมด้วยทรัพย์ คือ แผ่นอิฐทางด้านนอก จงสำเร็จด้วยทองสีแดงเป็นแท่งเดียวมีค่า ๑ แสน อิฐด้านในมีค่าห้าสิบพัน คือ ห้าหมื่น อิฐที่จะทำด้วยดินเหนียว อันเขากระทำไว้ด้วยหรดาลและมโนศิลา กิจที่จะต้องทำด้วยน้ำ เขาทำด้วยน้ำมัน ดังนี้
แม้พระราชาก็ทรงให้นำทองคำมา เริ่มทำกรรมที่ประตูที่พระองค์ทรงรักษา อุปราชก็ดี เสนาบดีก็ดี ก็ได้ทำเช่นนั้นที่ประตูของตนๆ แต่การงานยังค้างอยู่ที่ประตูที่เศรษฐีรักษาไว้ ต่อแต่นั้น อุบาสกคนหนึ่งชื่อยโสธร เป็นผู้แตกฉานในพระไตรปิฎก และเป็นพระอริยสาวก ผู้เป็นพระอนาคามี อุบาสกผู้นั้นได้ทราบว่า การงานยังค้างอยู่ จึงได้ให้บุคคลเทียมเกวียน ๕๐๐ เล่มไปยังชนบท ชักชวนว่า พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่ถึง ๒๐,๐๐๐ ปี ปรินิพพานแล้ว รัตนเจดีย์ประมาณ ๑ โยชน์ อันเขาสร้างไว้เพื่อพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ใดปรารถนาจะให้สิ่งใด จะเป็นทองก็ตาม เงินก็ตาม รัตนะ ๗ ประการก็ตาม หรดาลก็ตาม มโนศิลาก็ตาม ผู้นั้นจงให้สิ่งนั้น มนุษย์ทั้งหลายได้ให้สิ่งทั้งหลาย มีเงิน และทอง เป็นต้น ตามกำลังของตน ผู้ที่ไม่สามารถจะให้อะไรๆ เช่น เงิน ทอง เป็นต้น ก็สามารถจะให้น้ำมัน ข้าวสาร เป็นต้น
อุบาสกได้ส่งน้ำมัน และข้าวสาร เป็นต้น เพื่อค่าจ้างและรางวัล สำหรับพวกกรรมกรทั้งหลาย ให้จ่ายทองคำแก่บุคคลที่เหลือ ส่งไปแล้ว ได้เที่ยวไปตลอด ชมพูทวีปทั้งสิ้น ด้วยประการฉะนี้
การงานที่เจดีย์สำเร็จแล้ว เพราะเหตุนั้น ชนทั้งหลายจึงส่งหนังสือไปจากที่ที่ก่อสร้างเจดีย์ว่า งานเสร็จแล้ว ขออาจารย์จงมาไหว้พระเจดีย์ แม้อุบาสกก็ส่งจดหมายไปว่า เราได้ชักชวนชาวชมพูทวีปไว้ว่า สิ่งใดมี จงถือเอาสิ่งนั้น ทำให้งานสำเร็จ จดหมายทั้งสองฉบับมาพบกันในระหว่างทาง แต่จดหมายจากสถานที่สร้างเจดีย์ได้ไปถึงมือของอาจารย์ก่อน อุบาสกผู้เป็นอาจารย์นั้น อ่านจดหมายแล้ว ก็ดำริว่า เราจักไหว้พระเจดีย์ ดังนี้ แล้วก็ออกเดินทางไปแต่ผู้เดียว
ในระหว่างทาง โจร ๕๐๐ ได้ดักอยู่ในดง ในดงแห่งนั้น โจรพวกหนึ่งเห็นอุบาสกนั้นแล้ว จึงได้คิดกันว่า อุบาสกนี้ได้รวบรวมเงินและทองมาจากชมพูทวีปทั้งสิ้นขุมทรัพย์ทั้งหลายที่เป็นไปอยู่ ได้มาแล้ว ดังนี้ จึงได้บอกแก่โจรที่เหลือ แล้วได้จับอุบาสกนั้นไว้
อุบาสกถามว่า
พ่อทั้งหลาย เพราะเหตุใดพวกท่านจึงจับข้าพเจ้าไว้
พวกโจรตอบว่า
ท่านได้รวบรวมเงินและทองทั้งสิ้นจากชมพูทวีปไว้ ท่านจงให้เงินและทองแก่พวกเราสักเล็กน้อย
อุบาสกตอบว่า
พวกท่านไม่รู้ดอกหรือว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรง พระนามว่ากัสสปะ ปรินิพพานเสียแล้ว ชนทั้งหลายได้สร้างรัตนเจดีย์ประมาณหนึ่งโยชน์เพื่อพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เราได้รวบรวมทรัพย์เอาไว้ก็เพื่อประโยชน์ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ตนเอง ข้าพเจ้าส่งทรัพย์นั้น จากสถานที่ที่ข้าพเจ้าได้แล้ว ได้แล้ว ไปที่เจดีย์เท่านั้น แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้ว เว้นผ้าสาฎกที่นุ่งไว้เสียแล้ว ก็ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรอื่น แม้แต่กากณึกเดียว
โจรพวกหนึ่งกล่าวขึ้นว่า
เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกท่านจงปล่อยอาจารย์ท่านนี้ไปเสียเถอะ
โจรอีกพวกหนึ่งกล่าว่า
อุบาสกนี้ พระราชาก็ยกย่อง อำมาตย์ก็ยกย่อง ถ้าเห็นพวกเราคนใดคนหนึ่งเข้าที่ในเมือง ก็จะพึงบอกแก่พระราชา และราชอำมาตย์ เป็นต้น แล้วพึงยังพวกเราให้ถึงความพินาศย่อยยับ
อุบาสกกล่าวว่า
พ่อคุณทั้งหลาย ข้าพเจ้าจักไม่กระทำอย่างนี้
ข้อความในอรรถกถามีว่า
คำพูดของอุบาสกนั้นนั่นแล เป็นไปเพื่อความกรุณาในพวกโจรเหล่านั้น หาใช่เพื่อความเยื่อใยในชีวิตของตนไม่
เพราะเหตุว่า ท่านเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีบุคคลแล้ว จึงไม่มีการที่จะไปสู่ที่ตกต่ำ คือ ในอบายภูมิอีกต่อไป แต่ว่ากรรมที่พวกโจรกระทำนี้ ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดในอบายภูมิได้
เมื่อพวกโจรเหล่านั้นถกเถียงกันอยู่ว่า ควรจับ ควรปล่อย ดังนี้ พวกที่มีความเห็นว่าควรจับ ดังนี้ มีมากกว่า จึงให้ฆ่าอุบาสกนั้นเสีย
ตาทั้งหลายของพวกโจรเหล่านั้น ได้อันตรธานหายไป ดุจเปลวแห่งประทีปที่ดับไป ฉะนั้น เพราะความผิดในพระอริยสาวกผู้มีคุณมาก พวกโจรเหล่านั้น บ่นเพ้อกันอยู่ว่า แน่ะผู้เจริญ ตาของข้าพเจ้าหายไปไหนเสีย แน่ะผู้เจริญ ตาของข้าพเจ้าหายไปไหนเสีย
โจรบางพวก พวกญาติก็นำไปสู่เรือน บางพวกไร้ญาติ ก็หมดที่พึ่ง เพราะเหตุนั้น พวกโจรเหล่านั้น จึงอยู่ที่บรรณศาลาที่โคนไม้ ในดงนั้นเอง พวกมนุษย์ที่มาถึงดง ย่อมให้ข้าวสารบ้าง ข้าวห่อเสบียงบ้าง
พวกมนุษย์ที่ไปเพื่อประโยชน์แก่ไม้ และใบไม้ เป็นต้น มาแล้ว เมื่อคนทั้งหลายถามว่า พวกท่านไปไหนกัน ก็ตอบว่า พวกเรามาสู่ป่าอันธวัน ในกาลแห่งพระพุทธเจ้า แม้ทั้งสองพระองค์ ป่าแห่งนั้นก็ยังปรากฏชื่อว่า อันธวัน คือ ป่าเป็นที่อยู่ของคนตาบอดอยู่นั่นเอง ดังพรรณนามาฉะนี้
ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นการสะสมที่ต่างกัน พวกโจรให้ฆ่าอุบาสก แต่เวลาที่พวกโจรตาบอด พวกมนุษย์ที่ไม่ใช่โจร เวลาที่ไปถึงอันธวัน ก็ย่อมให้ข้าวสารบ้าง ข้าวห่อบ้างเสบียงบ้าง เป็นการอนุเคราะห์แก่พวกโจรที่ตาบอดเหล่านั้น นี่ก็เป็นการสะสมกรรมที่ต่างกัน
ถ. ภูมิต่างๆ ที่ว่า สุคติภูมิ หรือทุคติภูมิที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ พระองค์เอาอะไรเป็นเครื่องวัด ที่อาจารย์เคยบรรยายไปแล้ว พระเจ้าภัลลาติกราช พระองค์เสด็จไปล่าสัตว์ ไปถึงแม่น้ำแห่งหนึ่ง พบกินรีสองสามีภรรยา และได้สนทนากัน ข้อความบางตอนมีว่า พระเจ้าภัลลาติกราชถามกินรีว่ามีอายุเท่าไร ภรรยาของกินรีตอบว่า เราทั้งสองมีอายุพันปี และระหว่างนั้น เราทั้งสองไม่มีความเจ็บไข้ใดๆ เลย
กินรีนี้เป็นสัตว์ดิรัจฉาน อยู่ในทุคติภูมิ มนุษย์อยู่ในสุคติภูมิ แต่ก็เกิดโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนต่างๆ ทำไมมนุษย์จึงเป็นสุคติภูมิ แต่กินรีซึ่งไม่เคยมีโรคภัยไข้เจ็บเลย พระพุทธเจ้าตรัสว่า อยู่ในทุคติภูมิ สงสัยว่า เอาอะไรเป็นเครื่องวัด
สุ. ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมทำให้ปฏิสนธิ ก็จะปฏิสนธิในอบายภูมิ ๔ คือ เป็นสัตว์นรก ๑ ภูมิ เป็นเปรต ๑ ภูมิ เป็นอสุรกาย ๑ ภูมิ เป็นดิรัจฉาน ๑ ภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่ไม่สามารถเจริญกุศลให้ถึงขั้นบรรลุอริยสัจธรรมได้ จึงเป็น อะ - ปาย - ยะ - ภูมิ คือ ภูมิที่ไม่สามารถเจริญกุศลให้ถึงขั้นบรรลุอริยสัจธรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นภูมิ ที่ดูเหมือนว่า บางครั้ง บางคราว อาจจะสบาย อย่างพวกเวมานิกเปรต เป็นต้น
การปฏิสนธิในอบายภูมิด้วยอกุศลกรรมเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิแล้วก็จริง แต่กรรมอื่นๆ ก็สามารถที่จะให้ผลหลังปฏิสนธิได้ และถึงแม้ว่าได้เกิดเป็นมนุษย์ในมนุษย์ภูมิแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เคยทำอกุศลกรรมในอดีตมาเลย เพราะฉะนั้น เมื่อมีโอกาสที่อกุศลกรรมนั้นจะให้ผล ถึงแม้ว่าจะเป็นมนุษย์ ก็มีโอกาสได้ผลของอกุศลกรรมทางตาทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่ใช่ว่าเป็นมนุษย์แล้ว จะไม่มีอกุศลกรรมให้ผลได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
เพราะฉะนั้น ถ้าดูมนุษย์ จะเห็นได้ว่า ชีวิตของมนุษย์ย่อมแตกต่างกันไป แล้วแต่กรรมที่วิจิตรมาก แม้ว่าจะเกิดเป็นมนุษย์ด้วยกัน หรือว่าจะเกิดในวงศ์สกุลเดียวกัน เป็นญาติพี่น้องกันก็ตาม แต่กรรมที่จำแนกไปแต่ละขณะจิต ก็ยังวิจิตรต่างกันไป บางคนสมบูรณ์ด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข บางคนก็เสื่อมลาภ เสื่อมยศและถูกนินทา ได้รับทุกข์ภัยต่างๆ
เพราะฉะนั้น ก็ย่อมแล้วแต่การสะสมของกรรมที่แต่ละคนได้กระทำแล้ว ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรมว่า จะมีโอกาส หรือพร้อมที่จะให้ผลในขณะไหน ก็ให้ผลในขณะนั้น
สำหรับความหมายของอบายภูมิ ก็หมายความถึง ภูมิที่ไม่สามารถเจริญกุศลจนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ บางคนอาจจะเห็นว่า สัตว์บางชนิดสบายมากไม่ต้องทำการงาน ไม่ต้องเดือดร้อน แต่ถ้าให้เลือก จะเป็นอย่างไหน ซึ่งการเป็นมนุษย์ แม้ว่าจะประสบความทุกข์ยากต่างๆ สักเพียงไรก็ตาม แต่ยังมีการได้ฟังธรรม ได้เข้าใจ ได้พิจารณาเหตุผล ได้อบรมเจริญกุศล จนกระทั่งอาจจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
เพราะฉะนั้น ผลของอกุศลกรรม เมื่อให้ผลปฏิสนธินั้น ทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ ตัดโอกาสที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมในภพภูมินั้น
ถ. ผู้ที่ได้กระทำอกุศลกรรม จนกระทั่งปฏิสนธิเป็นสัตว์ดิรัจฉานนั้น เขาก็จะต้องทำกุศล อกุศล ด้วยเหมือนกัน ทำไมเขาจึงได้รับความสุข ความสบาย ทางกาย หลังจากปฏิสนธิแล้ว มากกว่ามนุษย์
สุ. แล้วแต่ขณะ แล้วแต่โอกาส แล้วแต่กำลัง เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษา เรื่องของกรรมโดยละเอียด เพราะว่าบางคนอาจจะสะสมกุศลไว้มาก แต่ตอนใกล้ที่จะจุติ อาจจะเป็นอกุศลกรรม เป็นอาสันนกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ เพราะฉะนั้นผู้ที่จะพ้นจากอบายภูมิจริงๆ โดยเด็ดขาด ก็ต้องเป็นพระอริยเจ้า ตั้งแต่พระโสดาบันบุคคลเท่านั้น
ผู้ฟัง. ที่สัตว์ดิรัจฉานไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ก็เป็นไปได้ เพราะเขาไม่ได้สร้างกรรมอย่างนั้นมา ก็ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ มนุษย์เราอาจก็เป็นเช่นนั้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้าตรัสว่า กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ การได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นแสนยาก บาลีว่าไว้อย่างนี้
ถ. สรุปว่า เอาการเจริญกุศลได้ หรือไม่ได้ เป็นเครื่องวัดว่าสุคติภูมิ หรือทุคติภูมิ ปัญหาอีกข้อหนึ่ง ผมสงสัยพระสูตรหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่กรุง ราชคฤห์ พระองค์ทรงแสดงธรรม มีบริษัทหมู่ใหญ่ มีพระราชา เป็นต้น และท่าน พระเทวทัตไปขอปกครองสงฆ์ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า อย่าเลยเทวทัต เธออย่ายินดีในการปกครองสงฆ์เลย
ท่านพระเทวทัตก็ทูลขอถึง ๓ ครั้ง ๓ หน พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสว่า แม้แต่ท่านพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ เรายังไม่มอบภิกษุสงฆ์ให้เลย ไฉนจะมอบให้เธอดุจเช่นซากศพ ผู้บริโภคดุจเช่นก้อนเขฬะ
เมื่อพระเทวทัตได้ฟังดังนี้แล้ว ก็ได้อาฆาตพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก หลังจากอาฆาตพระพุทธเจ้าแล้ว ก็คิดปลงพระชนม์ด้วย ให้ราชบุรุษไปปลงพระชนม์ แต่ไม่สำเร็จ เลยคิดลงมือเอง กลิ้งศิลาลงมาจากภูเขาคิชฌกูฏ ทำให้พระโลหิตห้อ ยังไม่สมใจ ปล่อยช้างนาฬาคิรี ซึ่งเรื่องต่างๆ นี้ ถ้าพระพุทธเจ้าไม่แสดงธรรมอย่างนี้ พระเทวทัตก็ไม่อาฆาตพระพุทธเจ้า และคงไม่คิดปลงพระชนม์
ในเมื่อพระพุทธเจ้าก่อนตรัสก็คงทรงทราบแล้วว่า ถ้าตรัสไปอย่างนี้ พระเทวทัตก็ต้องกระทำอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ประโยชน์อยู่ที่ไหน
สุ. ไม่มีใครรู้ดีเท่าพระสัพพัญญุตญาณ ที่ทรงกระทำ ไม่ว่าจะเป็นกายกรรม หรือวจีกรรมใดๆ ก็เพื่อประโยชน์ทั้งสิ้น ไม่มีใครสามารถที่จะหยั่งรู้การสะสมในจิตใจของท่านพระเทวทัตได้ นอกจากพระผู้มีพระภาค
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า บางครั้ง บางคำอาจจะเป็นคำที่ไม่เป็นที่รัก แต่ถ้าเป็นประโยชน์ พระผู้มีพระภาคก็ตรัส
บางคนอาจจะเป็นคนที่ไม่ดี และก็ไม่รู้สึกตัวเลยว่า ไม่ดีมากน้อยแค่ไหน หรือถ้าคนอื่นบอกว่า เขาไม่ดี เขาก็อาจจะไม่เชื่อ นอกจากว่า คนนั้นจะทำให้เขาคิด หรือใคร่ครวญตามได้ว่า เขาควรจะรับฟังคำนั้นหรือไม่
เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาค กับท่านพระเทวทัต ก็มีสิ่งที่ต่างกันในการสะสมที่ท่านพระเทวทัตนั้น สะสมความริษยาพระพุทธเจ้าในอนันตชาติมาแล้ว และที่น่าแปลก คือ ความริษยานั้น เป็นความริษยาในคุณความดีของบุคคลอื่น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๓๙ ตอนที่ ๓๘๑ – ๓๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 361
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 362
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 363
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 364
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 365
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 366
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 367
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 368
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 369
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 370
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 371
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 372
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 373
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 374
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 375
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 376
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 377
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 378
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 379
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 380
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 381
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 382
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 383
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 384
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 385
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 386
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 387
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 388
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 389
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 390
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 391
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 392
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 393
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 394
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 395
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 396
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 397
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 398
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 399
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 400
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 401
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 402
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 403
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 404
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 405
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 406
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 407
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 408
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 409
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 410
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 411
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 412
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 413
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 414
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 415
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 416
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 417
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 418
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 419
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 420