แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 392
ครั้งที่ ๓๙๒
ท่านกล่าวต่อไปว่า
ภิกษุอื่นผู้เป็นเช่นนั้นแล เมื่อบอกกัมมัฏฐาน ย่อมบอกอย่างนี้ เธอชื่อว่าได้ยกกระเบื้อง ๓ อัน วางบนเตาไฟ ๓ เตา ด้วยจิตเช่นนั้น ก่อไฟไว้ภายใต้แล้ว ทำอาการ ๓๒ ของตนให้บังเกิดขึ้น ใส่วางลงบนกระเบื้อง พลิกกลับไปมาด้วยไม้ คือ จิตนั่นเอง พึงบริโภค เมื่ออาการ ๓๒ นั้นไหม้ไฟอยู่ อาการใดเกิดเป็นขี้เถ้า เธอก็ใช้ปากเป่าอาการนั้นออกไป ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ สมณะนี้ชื่อว่า ธุตปาปะ ได้ขัดเกลาบาปแล้ว
ถ. ที่ภิกษุอาคันตุกะกล่าวกับภิกษุเจ้าถิ่นและอุบาสกว่า ถ้าท่านเชื่ออย่างนี้ สวรรค์ นิพพาน พวกท่านจะไม่ได้
ทำไมผู้ที่เคารพผู้ที่ไม่ได้เป็นอริยบุคคล แต่เข้าใจผิดว่า เป็นพระอริยบุคคลขณะที่ท่านถวายทานก็ดี บริจาคทรัพย์สร้างเจดีย์ก็ดี บริจาคซื้อทอง และอื่นๆ มาทำศพของท่าน จิตในขณะนั้นเป็นกุศลทั้งนั้น ทำไมจึงกล่าวว่า ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน
สุ. กุศลอื่นไม่ทำให้พ้นภพภูมิต่างๆ ได้เลย โดยเฉพาะถ้ายังเข้าใจผิด คิดว่าที่ปฏิบัตินั้นถูก แต่ความจริงผิด ก็ไม่สามารถทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เมื่อไม่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ย่อมเกิดในอบายภูมิได้ ยังไม่พ้นไปจากอบายภูมิ
เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระอริยบุคคล อกุศลกรรมก็ยังเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ ผู้ที่จะพ้นจากอบายภูมิ มีแต่พระอริยบุคคลเท่านั้น
เมื่อยังมีความเห็นผิดอยู่ ก็ยังคงวนเวียนไปในภพภูมิต่างๆ นั่นเอง ยังไม่สามารถจะดับอบายภูมิได้ ใครก็ตามจะมีกุศลมากน้อยสักเท่าไรก็ตาม ถ้ายังไม่เป็นพระอริยเจ้า ก็ยังไม่พ้นจากอบายภูมิ
ข้อความในอรรถกถานี้ จะเห็นได้ว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเริ่องที่ยาก เป็นเรื่องที่ละเอียด ซึ่งได้อุปมาว่า ชื่อว่าได้ยกกระเบื้อง ๓ อัน วางบนเตาไฟ ๓ เตา ด้วยจิตเช่นนี้ ก่อไฟไว้ภายใต้แล้ว ทำอาการ ๓๒ ของตนให้บังเกิดขึ้น ใส่วางลงบนกระเบื้อง พลิกกลับไปมาด้วยไม้ คือ จิตนั่นเอง พึงบริโภค เมื่ออาการ ๓๒ นั้นไหม้ไฟอยู่ อาการใดเกิดขึ้นเป็นขี้เถ้า เธอก็ใช้ปากเป่าอาการนั้นออกไป ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ สมณะนี้ชื่อว่า ธุตปาปะ ได้ขัดเกลาบาปแล้ว
ยากหรือง่าย ต้องใช้ความเพียรมากหรือน้อย ในการที่จะพิจารณากลับไปกลับมาโดยละเอียด ถ้ามีการติด มีการยึดถือ อาการใดเกิดเป็นขี้เถ้า เกิดเป็นอุปกิเลส เกิดเป็นความติด เกิดเป็นความพอใจขึ้น เธอก็ใช้ปากเป่าอาการนั้นออกไป หมายความว่า จะต้องขัดเกลาอย่างยิ่งด้วยปัญญาที่รู้ชัด รู้จริงในสภาพธรรมที่ปรากฏ
หลายท่านทีเดียวที่มนสิการ หรือพิจารณา เริ่มด้วยอาการ ๓๒ แต่แม้กระนั้นก็ตาม ก็ต้องรู้ลักษณะของอาการ ๓๒ โดยปรมัตถ์ เหมือนกับ ยกกระเบื้อง ๓ อัน วางบนเตาไฟ ๓ เตา ด้วยจิตเช่นนี้ ก่อไฟไว้ภายใต้แล้ว ทำอาการ ๓๒ ของตนให้บังเกิดขึ้น ใส่วางลงบนกระเบื้อง พลิกกลับไปมาด้วยไม้ คือ จิตนั่นเอง พึงบริโภค เมื่ออาการ ๓๒ นั้นไหม้ไฟอยู่ ด้วยการพิจารณา ด้วยการสามารถที่จะรู้ในลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมของอาการ ๓๒ นั้น อาการใดเกิดเป็นขี้เถ้า เป็นความติด เป็นความพอใจ เป็นกิเลสเกิดขึ้น เธอก็ใช้ปากเป่าอาการนั้นออกไป
ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ในการพิจารณาสภาพธรรม แม้ว่ามนสิการในอาการ ๓๒ ก็จะต้องรู้ในสภาพที่เป็นปรมัตถธรรมที่มีลักษณะปรากฏ รู้ว่าเป็นรูป และยังต้องละการติด การยินดีพอใจ การยึดถือในลักษณะของปรมัตถธรรมที่ปรากฏ ซึ่งเวลานี้จะกล่าวได้ไหมว่า ปรมัตถธรรมไม่ปรากฏ
ถ้าไม่มีปรมัตถธรรมเกิดขึ้นปรากฏ จะไม่มีอะไรเลยสักอย่างในโลกนี้ เสียงที่กำลังปรากฏก็เป็นปรมัตถธรรม หรือว่าผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็เป็นปรมัตถธรรม แต่เมื่อเคยยึดถือผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นตัวตน เป็นกายของเรา ก็จะต้องระลึกรู้ลักษณะในขณะที่ผมปรากฏ ขนปรากฏ เล็บปรากฏ หนังปรากฏเหล่านั้น รู้สภาพความเป็นปรมัตถธรรมของส่วนที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย และแม้ว่าจะระลึกรู้ ซึ่งทุกท่านระลึกได้ทันทีในขณะนี้ที่ผม ที่ขน ที่เล็บ ที่ฟัน ที่หนัง แต่ยังติด ยังยึดถือ ยังยินดีในอาการของปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ
ด้วยเหตุนี้ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็เพื่อให้รู้จริงในสภาพปรมัตถธรรมนั้น จนสามารถที่จะละการยึดถือ ความติด ความยินดี ในสภาพของส่วนที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย แต่โดยสภาพของความเป็นปรมัตถ์แล้ว ก็มีลักษณะของปรมัตถธรรมเท่านั้นที่ปรากฏ แต่ทั้งๆ ที่ลักษณะของปรมัตถธรรมเท่านั้นที่ปรากฏ ก็ยังยึดถือได้ใช่ไหม ถ้าไม่อบรมเจริญ เพียรที่จะรู้ให้ชัดขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์ในสภาพความเป็นจริงของปรมัตถธรรมนั้นได้
ข้อความต่อไปมีว่า
คำที่เหลือ พึงให้พิสดารโดยนัยก่อนนั้นแล
อีกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อความต่อไปในอรรถกถามีว่า
ภิกษุอีกรูปหนึ่งกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุวางถาดใบใหญ่ลง ด้วยจิตนั้นเอง ประกอบเนยเหลวเข้า แล้วยังอาการ ๓๒ ของตนให้เกิดขึ้นด้วยจิตนั้นเอง ใส่อาการ ๓๒ นั้นลงบนเนยเหลวนั้น ละลายอาการ ๓๒ ที่ตนผสมเนยเหลวเข้าแล้ว ขยำอยู่ ฟองน้ำก็ฟุขึ้นเบื้องบนของอาการ ๓๒ ที่ละลายอยู่ ภิกษุพึงบริโภคฟองน้ำนั้น ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ พวกเธอทั้งหลายก็จักชื่อได้ว่า ได้บริโภคอมตะ
นี่ก็เหมือนกัน ประกอบเนยเหลวเข้า แล้วยังอาการ ๓๒ ให้เกิดขึ้น ใส่อาการ ๓๒ นั้นลงบนเนยเหลวนั้น ละลายอาการ ๓๒ ที่ตนผสมเนยเหลวเข้าแล้ว ขยำอยู่
ต้องใช้ความเพียรที่จะรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมของอาการ ๓๒ และละคลายการยึดถือปรมัตถธรรมซึ่งเป็นสภาพของรูป ที่เป็นกายที่เคยยึดถือนั้นด้วย ต้องใช้เวลานานไหม เวลานี้ลักษณะของปรมัตถธรรมปรากฏ ไม่ใช่ไม่ปรากฏ และความรู้ก็มีว่า เป็นเพียงลักษณะอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน แล้วแต่ลักษณะของอาการที่ปรากฏ แต่ถ้าความรู้ยังไม่สมบูรณ์ที่จะเป็นวิปัสสนาญาณ ที่ประจักษ์ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ก็ย่อมยังคงยึดถือลักษณะของปรมัตถธรรมที่เป็นอาการ ๓๒ นั้นว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
ท่านผู้ฟังจะเข้าใจได้ถึงความต่างกันของการอบรมเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา แม้ว่ากัมมัฏฐานของสมถะและวิปัสสนาบางกัมมัฏฐานนั้น เป็นกัมมัฏฐานเดียวกัน เช่น ในเรื่องของอาการ ๓๒ ในสมถภาวนาก็มี ในปฏิกูลมนสิการบรรพ ที่ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็มี แต่ว่าการเจริญโดยนัยของสมถะ กับการเจริญโดยของนัยของวิปัสสนานั้นต่างกัน ซึ่งท่านจะตรวจสอบข้อความนี้ได้ ใน อรรถกถา มโนรถปุรณี อรรถกถาเอกาทสกนิบาต นิสสายวรรคที่ ๑ อรรถกถาของ อเสขสูตร ซึ่งมีข้อความว่า
ในพระสูตรนี้ ที่ชื่อว่า เห็นโดยถูกต้องนั้น คือ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ไม่ใช่ติดในธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ด้วยการเจริญสมถภาวนา เพราะว่าในการเจริญสมถภาวนานั้น เพ่งพิจารณาอาการ ๓๒ ก็จริง แต่ด้วยความปรารถนาที่จะให้จิตสงบ ไม่ใช่เป็นการรู้ เห็นว่าเป็นธรรมดา แต่พิจารณาจนทั่ว เป็นปกติ จึงละการยึดถือในธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ได้
พยัญชนะที่ว่า ที่ชื่อว่า เห็นโดยถูกต้องนั้น คือ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ท่านผู้ฟังอย่าเพิ่งคิดเอาง่ายๆ ว่า ท่านเห็นแล้ว
บางท่านเพียงพูดแค่นี้ ท่านบอกว่า ท่านเห็นแล้ว ไม่เที่ยงจริงๆ สภาพที่ไม่เที่ยงนั้นก็เป็นทุกข์ ไม่ใช่เป็นสุข เพราะดับไปแล้ว หมดไปแล้ว และไม่ใช่ตัวตนด้วย เพราะเหตุว่าดับไปหมด เกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้น ก็เป็นอนัตตา เพียงเท่านี้ บางท่านเข้าใจว่า เป็นวิปัสสนาญาณแล้ว หรือบางท่านเข้าใจว่า ท่านเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว
แต่ท่านไม่ทราบจริงๆ ว่า ความละเอียดของการอบรมเจริญปัญญา จนประจักษ์ในความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของนามธรรมและรูปธรรมนั้น ต้องสมบูรณ์เป็นวิปัสสนาญาณอย่างไร
เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดที่จะต้องศึกษา และปฏิบัติ จนกระทั่งเป็นความรู้ของท่านเองจริงๆ ตามลำดับขั้นด้วย บางท่านก็เข้าใจด้วยว่า จะต้องอบรม จะต้องปฏิบัติ จะต้องมีสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่เพียงการเข้าใจโดยการศึกษาว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ และรูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น ท่านก็มีสติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และเข้าใจว่า เพียงการรู้เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น ก็เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ
นี่เป็นการไม่ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าท่านยังไม่หมดความสงสัยว่า สภาพใดเป็นนามธรรม สภาพใดเป็นรูปธรรม เช่น ในขณะที่กำลังเห็น ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา และสิ่งนั้นจะปรากฏทางตาได้ เพราะมีการเห็น มีสภาพที่รู้ เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนั้น เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ชัดจริงๆ ว่า ลักษณะนั้นที่เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ ไม่ใช่รูปธรรมเป็นอย่างไร ก็ต้องอบรมเจริญสติจนกระทั่งมีความรู้เกิดขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งชำนาญ จึงจะละคลายความสงสัยว่า นามธรรมนั้นเป็นอย่างไร รูปธรรมนั้นเป็นอย่างไร
มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งกล่าวว่า เวลาที่สติเกิด ยังสงสัยว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นนามหรือเป็นรูป นี่เป็นความจริง เป็นการตรงต่อตัวเอง เมื่อยังไม่ใช่ความรู้ชัด ไม่ใช่การประจักษ์ในลักษณะของนามธรรมที่ไม่ใช่รูปธรรม ก็ยังหมดความสงสัยไม่ได้ว่า ลักษณะของนามธรรมเป็นอย่างใด ลักษณะของรูปธรรมเป็นอย่างใด
เพราะฉะนั้น ความรู้นั้นจะต้องเจริญอบรมจริงๆ ให้เป็นความรู้ที่ละคลายความสงสัย จนกระทั่งเป็นความรู้ชัด หมดความสงสัย ไม่ว่าจะมีการเห็นขณะใด สถานที่ใด อารมณ์ที่ปรากฏเป็นอารมณ์ที่ประณีต หรือไม่ประณีตเพียงใด ขณะนั้นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจนรู้ชัดในลักษณะของนามและรูปธรรมแล้ว จะไม่มีความสงสัยเลยว่า ลักษณะของรูปธรรมเป็นอย่างใด และลักษณะนามธรรมเป็นอย่างใด
สำหรับการที่จะตรวจสอบว่า เป็นปัญญาที่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมมากน้อยเพียงใด ขณะปกติธรรมดาอย่างนี้ ที่กำลังเห็นอย่างนี้ ก็พิสูจน์ได้แล้วว่า เป็นปัญญาที่รู้จริงในลักษณะของนามธรรม ในลักษณะของรูปธรรมหรือไม่
ในขณะนี้ กำลังเห็นนี้ เป็นการพิสูจน์ เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า ปัญญาสามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรม ในลักษณะของรูปธรรมหรือไม่ ซึ่งการรู้แจ้งแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรม ที่เป็นการประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป และสามารถแทงตลอดในอริยสัจธรรม รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้านั้น ไม่ใช่เป็นการรู้ผิดจากความเป็นจริงในขณะนี้ตามปกติเลย
ถ้าปัญญาสามารถที่จะอบรมเจริญ จนรู้ได้แล้วว่า การเห็นในขณะนี้เป็นนามธรรมอย่างไร เป็นรูปธรรมอย่างไร ขณะที่กำลังได้ยินตามปกติในขณะนี้ เป็นนามธรรมอย่างไร เป็นรูปธรรมอย่างไร หมดความสงสัยแล้ว ก็สามารถที่จะประจักษ์ความเกิดดับ สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้ ซึ่งเป็นการรู้สภาพธรรมตามปกตินี่เอง
ขอกล่าวถึง ภัททชิสูตร ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ซึ่งมีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้กรุงโกสัมพี ครั้งนั้นแล ท่านพระภัททชิได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระอานนท์ได้ถามท่านพระภัททชิว่า
ดูกร อาวุโสภัททชิ บรรดาการเห็นทั้งหลาย การเห็นชนิดไหนเป็นยอด บรรดาการได้ยินทั้งหลาย การได้ยินชนิดไหนเป็นยอด บรรดาสุขทั้งหลาย สุขชนิดไหนเป็นยอด บรรดาสัญญาทั้งหลาย สัญญาชนิดไหนเป็นยอด บรรดาภพทั้งหลาย ภพชนิดไหนเป็นยอด ฯ
เป็นเรื่องธรรมดา ในขณะที่กำลังเห็นอยู่เดี๋ยวนี้ ไม่ว่าจะเห็นอะไรก็ตาม การเห็นในขณะนี้ จะเป็นยอดของการเห็นได้ไหม
ภพในขณะนี้ ที่ได้เกิดมาแล้ว ในขณะที่กำลังเป็นอย่างนี้ จะเป็นยอดของภพได้ไหม
ซึ่งข้อความใน อรรถกถา มโนรถปูรณี มีข้อความอธิบายว่า
บทว่า ยถา ปสฺสโต ความว่า จะเป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ มีอยู่โดยอาการใด สำหรับผู้เห็นอยู่ซึ่งอารมณ์นั้น โดยอาการนั้น ชื่อว่า ยถา ปสฺสโต
ไม่ใช่ต้องเลือกอารมณ์ว่า จะต้องเป็นอารมณ์ที่ดีๆ เท่านั้น หรือว่าต้องเป็นอารมณ์ที่ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดสุขเวทนา โสมนัสเวทนา แต่ไม่ว่าสภาพของอารมณ์นั้นจะเป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์อย่างไรก็ตาม สภาพของอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์นั้น มีอยู่โดยอาการใด สำหรับผู้เห็นอยู่ซึ่งอารมณ์นั้น โดยอาการนั้น ชื่อว่า ยถา ปสฺสโต
ไม่ต้องบิดเบือนเป็นอย่างอื่นเลย ตามความเป็นจริงในขณะนี้ ตามปกติอย่างนี้เอง
บทว่า อนนฺตรา อาสวานํ ขโย โหติ ความว่า ความเป็นพระอรหันต์ย่อมบังเกิดขึ้นโดยลำดับนั้นเอง
กำลังเห็นอย่างนี้ จะเป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ก็ตาม สามารถที่จะดับกิเลสเป็นพระอรหันต์ได้ โดยลำดับต่อจากจักขุทวารวิถีที่เห็นนี่เอง เป็นปกติจริงๆ
เพราะฉะนั้น การรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นเรื่องของการอบรมปัญญาที่จะให้ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังเกิดดับเป็นปกติ และถ้าขณะนั้นสามารถที่จะดับกิเลสได้ คือ สามารถดับกิเลสได้โดยลำดับต่อจากการเห็น การเห็นนั้น ก็เป็นยอดของการเห็น
หรือว่า ภพที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมต่อจากทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ตามปกติ ตามความเป็นจริง ก็เป็นภพที่เป็นยอดของภพทั้งหลาย
ข้อความในอรรถกถามีว่า
พระอรหัตนั้น ของบุคคลนั้น ชื่อว่า มีในลำดับแห่งจักขุวิญญาณ
คือ ลำดับต่อจากจักขุทวารวิถีนั่นเอง แม้ในการได้ยินก็มีนัยนี้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น เป็นปกติธรรมดาจริงๆ เป็นเรื่องที่ว่าปัญญารู้แล้วหรือยังเท่านั้น ถ้ายัง ก็อบรมต่อไป เหมือนกับเวลาที่สติเกิด ท่านที่เริ่มเจริญสติปัฏฐานก็สงสัยว่า สิ่งที่กำลังปรากฏนี้ เป็นลักษณะของนามธรรม หรือรูปธรรม ก็ต้องอบรมเจริญไปตามปกติ ตามความเป็นจริง ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะค่อยๆ ละคลายความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่ไม่ใช่โดยการบิดเบือนสภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วยความต้องการ ด้วยความปรารถนาที่จะข้ามไป ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
บางท่านอาจจะสงสงสัยว่า เพียงรู้อย่างนี้เท่านั้นหรือที่จะทำให้รู้ชัด จนสามารถประจักษ์ความไม่ใช่ตัวตนของนามธรรมและรูปธรรมทางมโนทวารวิถี ประจักษ์ความเกิดดับ สามารถละคลายความยินดีพอใจในนามธรรมและรูปธรรมได้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๐ ตอนที่ ๓๙๑ – ๔๐๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 361
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 362
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 363
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 364
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 365
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 366
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 367
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 368
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 369
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 370
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 371
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 372
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 373
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 374
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 375
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 376
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 377
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 378
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 379
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 380
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 381
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 382
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 383
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 384
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 385
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 386
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 387
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 388
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 389
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 390
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 391
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 392
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 393
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 394
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 395
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 396
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 397
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 398
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 399
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 400
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 401
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 402
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 403
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 404
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 405
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 406
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 407
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 408
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 409
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 410
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 411
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 412
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 413
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 414
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 415
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 416
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 417
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 418
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 419
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 420