แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 395


    ครั้งที่ ๓๙๕


    ชนเหล่าใดย่อมเชื่อ คือ ย่อมสืบต่อคำสัตย์ด้วยคำสัตย์ เหตุนั้นชนเหล่านั้น ชื่อว่า สจฺจสนฺธา ผู้เชื่อ หรือสืบต่อคำสัตย์

    นี่คือตัวท่านอย่างละเอียด เกี่ยวกับคำพูดของท่าน ซึ่งข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า

    คือ ย่อมไม่พูดคำเท็จในระหว่างๆ ก็คนใดบางคราวพูดคำเท็จ บางคราวพูดคำจริง ผู้นั้นชื่อว่า ไม่สืบต่อคำสัตย์ด้วยคำสัตย์ เพราะคำของบุคคลนั้นถูกมุสาวาทคั่นเสียในระหว่าง เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นหาได้ชื่อว่า ผู้สืบต่อคำสัตย์ไม่

    นี่ใครรู้ บางครั้งเรื่องหนึ่งพูดจริงตอนหนึ่ง อีกตอนหนึ่งไม่จริง คั่นไว้ด้วยมุสาวาท ตอนต่อไปก็จริง ใครรู้ คนพูดรู้ใช่ไหม หรือคนฟัง ถ้าเป็นผู้ที่พิจารณาถ้อยคำของบุคคล ย่อมทราบได้ว่า คนนี้พูดจริงไม่ตลอด บางตอนจริง และก็มีไม่จริงแทรกเข้ามา ถ้าเป็นอย่างนั้น ผู้นั้นชื่อว่า ไม่สืบต่อคำสัตย์ด้วยคำสัตย์

    นี่เป็นเรื่องจริง เป็นชีวิตจริง เป็นนามธรรมและรูปธรรม เพราะว่าบางครั้งเป็นกุศลจิต บางครั้งเป็นอกุศลจิต แต่ในพระสูตรนี้

    พระอรหันต์ทั้งหลาย หาได้เป็นเช่นนั้น

    ท่านไม่ได้กล่าวมุสาวาท

    แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ย่อมสืบต่อคำสัตย์ด้วยคำสัตย์ไว้ทีเดียว เพราะเหตุนั้นพระอรหันต์เหล่านั้น จึงชื่อว่า สจฺจสนฺธา คือ ผู้สืบต่อคำสัตย์

    เป็นชีวิตจริง แต่อาจจะไม่มีผู้ใดคิดถึง ไม่มีผู้ใดยกขึ้นมากล่าวให้ทราบ จากความละเอียดในเรื่องการกล่าวคำสัตย์ ก็อาจจะเป็นอนุสติเตือนให้ท่านผู้ฟังเว้นจากความไม่จริง เว้นคำไม่จริง ซึ่งอาจจะมีในระหว่างคำจริงได้ ต่อจากนี้จะพูดอะไรก็พูดจริงให้ตลอดไปทั้งหมด ไม่ใช่แทรกคำไม่จริงไว้ในระหว่างคำจริงด้วย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    คำว่า เถตา ได้แก่ มั่นคง อธิบายว่า คำที่ถาวร

    สำหรับคนที่กล่าวคำที่ไม่มั่นคงนั้น อรรถกถากล่าวว่า

    บุคคลคนหนึ่งมีถ้อยคำไม่มั่นคง ดุจร่างกายที่ทาด้วยขมิ้น เปรียบดุจหลักที่ปักไว้ในกองแกลบ และดุจฟักเขียวที่ตั้งไว้บนหลังม้า

    ฟักเขียวตั้งไว้บนหลังม้าได้นานไหม เดี๋ยวก็ตก เดี๋ยวก็ตก เป็นผู้ที่ไม่มั่นคงเลย

    ส่วนบุคคลคนหนึ่งเป็นผู้มีถ้อยคำดุจรอยเขียน รอยขีดบนหิน และดุจเสาเขื่อน ไม่กล่าวคำเป็นสอง แม้เมื่อเขาใช้ดาบตัดศีรษะอยู่ก็ตาม บุคคลเช่นนี้ท่านเรียกว่า เถตะ

    ท่านจะเป็นบุคคลประเภทไหน แม้เมื่อเขาใช้ดาบตัดศีรษะอยู่ก็ตาม ไม่กล่าวคำเป็นสอง บุคคลเช่นนี้ท่านเรียกว่า เถตะ

    ข้อความต่อมีว่า

    บทว่า ปจฺจยิกา ได้แก่พระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นผู้มีถ้อยคำควรปฏิบัติตาม อธิบายว่า เป็นผู้มีถ้อยคำควรเชื่อถือได้

    เมื่อพระอรหันต์ท่านมีถ้อยคำที่ควรเชื่อถือได้ เพราะฉะนั้น บุคคลอื่นควรจะปฏิบัติตามพระอรหันต์ คือ มีถ้อยคำที่ควรเชื่อถือได้

    ด้วยว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีถ้อยคำไม่ควรเชื่อถือ ย่อมเป็นผู้ถึงความเป็นผู้มีถ้อยคำอันบุคคลพึงกล่าวว่า คำนี้ใครพูด เมื่อมีใครตอบว่า คนโน้นพูด จึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายอย่าได้เชื่อถ้อยคำของคนๆ นี้

    ชีวิตประจำวันมีใช่ไหม เรื่องจริงใช่ไหม เวลาได้ฟังเรื่องอะไรก็ถามว่า ใครพูด ก็บอกว่า คนนั้นพูด ก็บอกว่าไม่ต้องเชื่อ ก็หมายความว่า คนนั้นเป็นผู้ที่มีถ้อยคำที่ไม่ควรเชื่อถือ

    ส่วนอีกบุคคลหนึ่ง

    บุคคลคนหนึ่งเป็นผู้มีถ้อยคำควรเชื่อถือได้ ถึงความเป็นผู้มีถ้อยคำอันบุคคลพึงกล่าวได้ว่า คำนี้ใครพูด เมื่อเขาตอบว่า คนโน้นพูด ถ้าหากว่าคนนั้นพูด คำนี้ก็เป็นประมาณ ไม่มีสิ่งที่ต้องปฏิเสธ ในบัดนี้ คำนี้เป็นอย่างนี้ทีเดียว บุคคลเช่นนี้ท่านเรียกว่า ปัจจยิกะ ผู้มีถ้อยคำควรเชื่อได้

    สองบทว่า อวิสํวาทกา โลกสฺส ความว่า พระอรหันต์ทั้งหลาย ย่อมไม่กล่าวให้คลาดเคลื่อนซึ่งถ้อยคำของชาวโลก เพราะเป็นผู้มีปกติพูดคำจริงนั้น

    เรื่องวจีทุจริตเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือเปล่า โดยเฉพาะมุสาวาท ส่องถึงกิเลสที่มีอยู่ในใจ ใครมุสามาก คนนั้นมีกิเลสมาก เพราะฉะนั้น ควรจะขัดเกลากิเลสซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการมุสาด้วย

    ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณาเรื่องของมุสาวาทจะเห็นได้ว่า เนื่องกับอกุศลกรรมทั้งปวง เช่น การฆ่า หรือว่าการทุจริต คดโกง การประพฤติผิดในกามทั้งหมด เมื่อได้กระทำอกุศลกรรมลงไปแล้ว มีไหมที่จะไม่มุสา เช่น การฆ่า ก็จะต้องมีการมุสาต่อไป หรือว่าเมื่อมีการทุจริต คดโกง ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ไปแล้ว ก็มีการมุสาติดตามมาด้วย อาจจะกล่าวว่า ไม่ได้ถือเอาสิ่งที่เจ้าของไม่ได้ให้ หรือว่าไม่ได้ทุจริต หรือแม้แต่การประพฤติผิดในกามก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีการทุจริตเกิดขึ้นแล้ว ก็มีการมุสา

    เพราะฉะนั้น มุสา ย่อมเนื่องกับอกุศลกรรมอื่น ซึ่งเป็นเพราะการยึดมั่น การติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในกามอารมณ์นั่นเอง

    ซึ่งการติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะนี้ ทั่วไปกับคนที่ยังมีกิเลส ไม่ว่าบุคคลนั้นจะอยู่ในเพศใด หรือว่าในชาติตระกูลใด โดยฐานะใดก็ตาม

    ขอกล่าวถึงข้อความใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อรรถกรณสูตรที่ ๗ เรื่องคนพูดมุสาเพราะเรื่องกาม ซึ่งข้อความมีว่า

    พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้หม่อมฉันได้นั่ง ณ ที่พิจารณาคดี เห็นกษัตริย์มหาศาลบ้าง พราหมณ์มหาศาลบ้าง คฤหบดีมหาศาลบ้าง ซึ่งเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมากมาย มีทรัพย์เครื่องอุปกรณ์มากมาย มีทรัพย์ คือ ข้าวเปลือกมากมาย ยังกล่าวมุสาทั้งที่รู้สึกอยู่ เพราะเหตุแห่งกาม เพราะเรื่องกาม เพราะมีกามเป็นเค้ามูล หม่อมฉันได้เกิดความนึกคิดอย่างนี้ว่า เป็นการไม่สมควรเลย ด้วยการที่เราจะพิจารณาคดีในบัดนี้ (เพราะ) บัดนี้ ราชโอรสนามว่า วิฑูฑภะผู้มีหน้าชื่นบาน จักปรากฏโดยการพิจารณาคดี ฯ

    เวลามีคดี หมายความว่า จะมีการมุสาเกิดขึ้นข้างหนึ่งข้างใดไหม เพราะฉะนั้น ในที่ประชุมนั้น มีบุคคลผู้ทุจริต แม้ว่าจะเป็นที่ประชุมของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีมหาศาล ซึ่งเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมากมาย มีทรัพย์เครื่องอุปกรณ์มากมาย มีทรัพย์ คือ ข้าวเปลือกมากมาย ยังกล่าวมุสาทั้งที่รู้สึกอยู่

    มีมาก ก็ไม่พอ เพราะว่ายังเป็นผู้ที่ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในทรัพย์สมบัติ ในทอง ในเงิน เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัจจัยที่จะให้กล่าวมุสาได้

    ซึ่งข้อความใน อรรถกถา สารัตถปกาสินี อธิบายว่า

    พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบว่า พวกอำมาตย์ทุจริตกินสินบน จึงไม่ปรารถนาที่จะไปนั่งในที่เดียวกันกับพวกทุจริตเห็นปานนี้

    เพราะว่าไม่มีประโยชน์อะไรเลย ในการที่จะไปฟังคำมุสาเหล่านั้น และเมื่อ พระราชโอรส คือ พระเจ้าวิฑูฑภะจะปรากฏในการพิจารณาคดี ซึ่งท่านสามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ ไม่อยู่ในที่นั้นได้ ก็ไม่อยากที่จะอยู่ในที่นั้น

    ซึ่งข้อความต่อไปมีว่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    ชอบแล้วๆ มหาบพิตร กษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีมหาศาล แม้บางพวกเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก ฯลฯ มีทรัพย์ คือ ข้าวเปลือกมากมาย ยังจักกล่าวมุสาทั้งที่รู้สึกอยู่ เพราะเหตุแห่งกาม เพราะเรื่องกาม เพราะมีกามเป็นเค้ามูล ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อความเสื่อมประโยชน์ เพื่อความทุกข์แก่พวกเขาตลอดกาลนาน ฯ

    พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้กำหนัดกล้าในโภคทรัพย์ที่น่าใคร่ มักมาก หลงใหลในกามคุณ ย่อมไม่รู้สึกการก้าวล่วง เหมือนพวกปลากำลังเข้าไปสู่เครื่องดักซึ่งอ้าดักอยู่ ฉะนั้น ผลอันเผ็ดร้อนย่อมมีแก่สัตว์พวกนั้นในภายหลัง เพราะว่ากรรมเช่นนั้น มีวิบากเลวทราม ฯ

    ไม่รู้ใช่ไหมว่ามีโทษมาก ถึงได้มุสา ที่ทำทุจริตกรรมก็เป็นโทษมากอยู่แล้ว และยังมุสาอีก ซึ่งมุสานี้ ย่อมจะทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย เพราะต้องการให้ตัวท่านพ้นผิด ก็ต้องมีคนอื่นที่รับผิดนั้นไป ซึ่งก็เป็นโทษเป็นภัย เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องที่ไม่จริง เป็นการกระทำที่ไม่จริง แต่ท่านก็กล่าวในสิ่งที่ไม่จริง เป็นการทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อน

    เพราะฉะนั้น การกระทำทุจริตกรรมทั้งหมด แม้การมุสา ก็เป็นเพราะว่าท่านไม่รู้ว่าเป็นโทษอย่างยิ่ง ท่านไม่เห็นว่าเป็นภัยอย่างยิ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า เหมือนพวกปลากำลังเข้าไปสู่เครื่องดักซึ่งอ้าดักอยู่ ฉะนั้น ผลอันเผ็ดร้อนย่อมมีแก่สัตว์พวกนั้นในภายหลัง เพราะว่ากรรมเช่นนั้น มีวิบากเลวทราม

    ปลาก็กินเหยื่อ คนที่มีกิเลส มีความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เหมือนเหยื่อที่ล่อให้กระทำทุจริตกรรม และก็ได้รับผลของกรรมในภายหลัง ซึ่งเป็นวิบากที่เลวทราม เป็นวิบากที่ไม่เป็นสุข เป็นวิบากที่เป็นทุกข์อย่างยิ่ง

    ถ. เรื่องของมุสาวาทนี้ ผมได้ยินเขาคุยกัน คือ เขาบอกว่า มีตำรวจกำลังตามจับผู้ร้าย และผู้ร้ายนั้นวิ่งผ่านพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งท่านยืนอยู่ที่นั่น ท่านเห็นทั้งตำรวจและผู้ร้าย เมื่อตำรวจถาม ท่านก็ขยับไป ๒ – ๓ ก้าว และตอบว่า อาตมายืนตรงนี้ ไม่เห็นหรอก นี่ก็เป็นเรื่องที่นำมาพูดถกเถียงกัน จริงๆ แล้วโดยธรรมที่แท้ๆ นั้น เป็นอย่างไร

    สุ. ท่านพูดมุสาหรือเปล่า ท่านไม่ได้กล่าวมุสาวาท คำพูดนั้นไม่ใช่มุสาวาท

    ข้อความใน สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ปฏิสัมภิทามรรค ขุททกนิกาย และข้อความใน อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธัมมสังคณีปกรณ์ มีคำอธิบายเรื่องมุสาวาทว่า

    ความพยายามทางวาจาหรือทางกาย อันหักรอนประโยชน์ของคนอื่น ของบุคคลผู้มุ่งจะกล่าวให้คลาดเคลื่อน ชื่อว่า มุสา

    เจตนานี้สำคัญ คือ ถ้าเจตนาจะหักรอนประโยชน์ของคนอื่น เมื่อท่านมุ่งกล่าวให้คลาดเคลื่อนเพื่อหักรอนประโยชน์ของบุคคลอื่น ชื่อว่า มุสา

    ก็เจตนาที่ให้เกิดความพยายามทางกายหรือวาจา ในอันที่จะแกล้งกล่าวให้คลาดเคลื่อนเป็นอย่างอื่นแก่บุคคลอื่น ด้วยความประสงค์จะกล่าวให้คลาดเคลื่อน ชื่อว่า มุสาวาท

    อีกนัยหนึ่ง เรื่องที่ไม่เป็นจริง ไม่แท้ ชื่อว่า มุสา การให้ผู้อื่นรู้เรื่องที่ไม่เป็นจริง ไม่แท้นั้น โดยความเป็นเรื่องจริง เรื่องแท้ ชื่อว่า วาทะ

    ก็โดยลักษณะเจตนาที่ยังวิญญัติเช่นนั้นให้เกิด ของบุคคลผู้มีความประสงค์เพื่อที่จะให้ผู้อื่นรู้เรื่องไม่จริง โดยความเป็นเรื่องจริง ชื่อว่า มุสาวาท

    มุสาวาทนั้นมีโทษน้อย เพราะประโยชน์ที่คนพูดเท็จหักรานนั้นน้อย มีโทษมากเพราะประโยชน์มาก

    อีกอย่างหนึ่ง สำหรับพวกคฤหัสถ์ มุสาวาทที่เปล่งไปโดยนัยว่าไม่มี ดังนี้เป็นต้น เพราะประสงค์จะไม่ให้ของๆ ตน ก็ชื่อว่ามีโทษน้อย

    มุสาวาทที่ตนเป็นพยาน กล่าวเพื่อหักรานประโยชน์ของผู้อื่น มีโทษมาก

    สำหรับพวกบรรพชิต มุสาวาทที่เปล่งออกไป เมื่อได้น้ำมัน หรือเนยใสเพียงเล็กน้อย แล้วกล่าวเพื่อให้เป็นไปด้วยประสงค์จะหัวเราะกันเล่น โดยนัยยังถ้อยคำให้บริบูรณ์ว่า วันนี้น้ำมันในบ้านดูเหมือนจะไหลเหมือนแม่น้ำ ชื่อว่ามีโทษน้อย

    แต่สำหรับบรรพชิตทั้งหลาย ผู้กล่าวอยู่ซึ่งสิ่งที่ตนไม่เคยเห็นเลย โดยนัยว่า ได้เห็น เป็นต้น มุสาวาท ชื่อว่ามีโทษมาก

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็พอจะทราบได้ใช่ไหม คำไม่จริง เล็กๆ น้อยๆ ที่ท่านอาจจะกล่าวล่วงไปนั้น จะมีโทษมาก หรือมีโทษน้อย เพราะเหตุใด เพราะมุ่งที่จะหักรอนประโยชน์ของบุคคลอื่นหรือเปล่า

    มุสาวาทนั้นมีองค์ ๔ คือ อตถํ วตฺถุ เรื่องที่ไม่จริง ๑ วิสํวาทนจิตฺตํ จิตคิดจะกล่าวให้คลาดเคลื่อน ๑ ตชฺโช วายาโม ความพยายามอันเกิดจากจิตที่คิดจะกล่าวให้คลาดเคลื่อนนั้น ๑ ปรสฺส ตทตฺถวิชานนํ ผู้อื่นรู้เรื่องนั้น ๑

    มุสาวาทนั้น ก็มีการกระทำไปด้วยกายบ้าง ด้วยของที่เนื่องด้วยกายบ้าง ด้วยวาจาบ้าง ด้วยการสั่ง หรือว่าด้วยการเขียนหนังสือทิ้งไว้ หรือว่าติดไว้ที่ฝา

    เพราะฉะนั้น การกระทำใดๆ ก็ตาม ที่ทำให้คนอื่นเข้าใจเรื่องที่ไม่จริงว่าจริง ก็เป็นมุสาวาท ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกาย ทางวาจา ด้วยประการใดๆ ก็ตาม

    ถ. ในจังหวัดเชียงใหม่ มีถนนสายหนึ่ง ชื่อว่ากำแพงดิน มีโสเภณีมากมาย จนบ้านที่มีลูกสาวที่ไม่ใช่สถานที่อย่างนี้เดือดร้อน เกรงว่าผู้อื่นจะก่อความเดือดร้อนรำคาญให้ จึงเขียนป้ายไว้ว่า “ที่นี่สุนัขดุ” อย่างนี้จะเป็นมุสาไหม

    สุ. ถ้าไม่มีสุนัขดุจริงๆ ก็เลี้ยงให้มีสุนัขดุจริงๆ จะได้ไม่มุสาวาท

    ถ. (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. แน่นอน ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่จริง เป็นคำที่ไม่จริง ก็ยังคงเป็นมุสาวาท แต่โทษน้อย แต่ถ้ามีเจตนาที่จะหักราน หักรอนประโยชน์ของบุคคลอื่น ก็ต้องเป็นโทษมาก ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ก็จะละการคด การงอลง และเป็นผู้ที่ตรงยิ่งขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะดับเป็นสมุจเฉทได้

    เรื่องของศีลทั้งหลาย ดูเสมือนว่ายากเหลือเกินที่จะประพฤติปฏิบัติตาม มักจะมีข้อแม้ ข้ออ้างต่างๆ แต่ถ้าท่านลองอบรมจริงๆ ไม่ต้องเป็นห่วงคนอื่น เพราะการที่จะให้มนุษย์ทั้งหลายมีสภาพจิตใจอย่างเดียวกัน คล้อยตามกันไปในทางที่ถูกทั้งหมดนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก แต่สำหรับตัวท่านเอง ถ้าท่านประพฤติปฏิบัติตามได้ ก็ยิ่งจะเป็นหนทางขัดเกลา ละคลายกิเลสของท่านได้

    อย่าคิดว่า ปฏิบัติตามยาก ซึ่งความจริงแล้ว การมุสาเป็นเรื่องยาก ต้องคิด ใช่ไหมว่า จะมุสาอย่างไรดีเขาจึงจะเชื่อ มุสาไม่เก่ง เขาก็ไม่เชื่อ มุสาแล้วยังต้องจำไว้ด้วยว่า พูดกับคนนี้ไว้อย่างไร เพราะไม่ใช่เรื่องจริงก็ต้องจำไว้ เวลาพูดอีก ถามอีก จะได้ตอบเหมือนอย่างเดิมได้ เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เป็นเรื่องที่ลำบาก เป็นเรื่องที่เดือดร้อนจริงๆ ทั้งจิตใจก็กระวนกระวายว่า เขาคงจะจับได้สักวันหนึ่ง มีแต่ความเดือดร้อน ความกังวลใจ

    แต่เรื่องจริงนั้นง่าย ถ้าทำผิด ก็บอกตรงๆ ว่าทำผิด แต่เพราะความยินดี ในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสุข ทำให้ไม่กล้าที่จะรับว่าเป็นความผิด แต่ถ้าฝึกหัดอบรม ก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากเลย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๐ ตอนที่ ๓๙๑ – ๔๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 39
    28 ธ.ค. 2564