แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 396


    ครั้งที่ ๓๙๖


    ถ. เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ อย่างอยู่ตามบ้าน มักจะมีผู้ที่เอาไข่เป็ด ไข่ไก่ ไปเที่ยวแลกเสื้อผ้าใช้แล้วตามบ้าน ชาวบ้านก็บอกว่าไม่มี แต่ความจริงเขามี บางคนไม่อยากมุสา ก็บอกว่า มีไว้สำหรับใช้ ไม่มีสำหรับให้ เขาว่าอย่างนี้ ที่จริงเขาไม่อยากจะให้

    สุ. ก็ไม่ใช่มุสาวาท เพราะฉะนั้น พยายามพูดอะไรก็ได้ที่จริง และไม่เสียประโยชน์ด้วย ท่านกลัวจะเสียประโยชน์ ท่านก็พูดสิ่งที่ไม่จริง นั่นไม่ถูก ควรจะพูดจริง ที่ไม่เสียประโยชน์ด้วย และก็จริงด้วย

    การขัดเกลากิเลสเป็นเรื่องที่ต้องเพียรอบรมจริงๆ เพราะเหตุว่ากุศลย่อมเกิดยาก เจริญยากกว่าอกุศล อกุศลเกิดง่าย โลภะ ไม่ต้องระมัดระวังอะไรเลย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีอยู่ตลอดเวลา โทสะ โมหะ ก็เหมือนกัน แต่ที่จะให้จิตเป็นไปในกุศล เป็นไปในการขัดเกลา และดับกิเลส เป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งถ้าไม่เห็นโทษของอกุศล กระทำอกุศลอยู่เนืองนิตย์ ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางวาจา วันหนึ่งใครจะรู้ได้ว่า ท่านจะกระทำอกุศลกรรมหนักเพียงไร เพราะว่าการที่จะกระทำอกุศลกรรมหนักๆ ได้ ย่อมมาจากการกระทำทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งขาดความละอาย จึงสามารถที่จะกระทำทุจริตกรรมที่ร้ายแรงได้

    แต่ถ้าย้อนคิดไปว่า ผู้ที่กระทำทุจริตกรรมนี้ ขณะที่ยังเป็นเยาวชน ก็อาจจะมีอุดมคติเหมือนกับท่านที่กำลังเป็นเยาวชนอยู่ในขณะนี้ คือ รักความยุติธรรม รักความ ซื่อสัตย์สุจริต ยังไม่มีปัจจัยที่จะให้กระทำทุจริตทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งสามารถที่จะกระทำทุจริตอย่างร้ายแรงได้ แต่ขณะนี้ท่านกลับกระทำทุจริตกรรมนั้นได้ เพราะฉะนั้น เรื่องของอกุศลธรรม เป็นเรื่องที่ไม่ควรประมาทเลย

    ซึ่งข้อความใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ลาภสักการสังยุต ทุติยวรรคที่ ๒ สุวัณณปาติสูตร มีว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า

    พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ลาภ สักการะ และชื่อเสียง ทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย เป็นอันตรายแก่การบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ ซึ่งไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากำหนดใจด้วยใจแล้ว ย่อมรู้บุคคลบางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า แม้เพราะถาดทองคำอันเต็มด้วยผงแร่เป็นเหตุ ท่านผู้นี้ก็ไม่จงใจพูดมุสา แต่สมัยต่อมา เราเห็นเขาถูกลาภ สักการะ และชื่อเสียง ครอบงำย่ำยีจิตแล้ว ก็กล่าวมุสาทั้งที่รู้ได้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ลาภ สักการะ และชื่อเสียง ทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย เป็นอันตรายแก่การบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ อย่างนี้แล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ ฯ

    จบสูตรที่ ๑

    ในตอนแรกแม้เพราะถาดทองคำอันเต็มด้วยผงแร่เงินเป็นเหตุ ก็ไม่จงใจพูดมุสา นั่นตอนหนึ่ง ช่วงชีวิตหนึ่งที่คิดอย่างนี้ ที่กระทำอย่างนี้ แต่พระผู้มีพระภาคเองก็ตรัสว่า แต่สมัยต่อมา เราเห็นเขาถูกลาภ สักการะ และชื่อเสียง ครอบงำย่ำยีจิตแล้ว ก็กล่าวมุสาทั้งที่รู้ได้

    คนเรานี้เปลี่ยนได้ และก็ได้เปลี่ยนมาแล้วใช่ไหม เท่าที่เห็น เป็นความจริงอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ไม่ควรประมาทเลย แม้แต่ตัวของท่านเอง เมื่อท่านเห็นว่า ควรที่จะเจริญกุศลธรรม ก็เริ่มเจริญจริงๆ เพียรจริงๆ ที่จะให้ตั้งอยู่ในฝ่ายของ กุศลธรรมเท่าที่สามารถจะกระทำได้ เพราะว่าต่อไปไม่ทราบ เมื่อท่านเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยลาภ สักการะ และชื่อเสียง ซึ่งความติดในลาภใหญ่ ในสักการะใหญ่ ในชื่อเสียงใหญ่ อาจจะทำให้ท่านไม่ยอมที่จะขาดลาภใหญ่ สักการะใหญ่ ชื่อเสียงใหญ่เหล่านั้น และเมื่อนั้นท่านก็จะกล่าวมุสาทั้งที่รู้ได้

    ขอให้สังเกตพยัญชนะที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ลาภ สักการะ และชื่อเสียง ทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย เป็นอันตรายแก่การบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ ซึ่งไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า

    จะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสเตือน แม้ผู้ที่ปรารถนาจะละกิเลส ดับกิเลส บรรลุธรรมอันเกษมปราศจากโยคะว่า ถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่ยังติดในลาภ ในสักการะ ในชื่อเสียง อาจจะยึดมั่นในความเห็นผิด ในข้อปฏิบัติผิด ไม่พ้นไปจากข้อปฏิบัติผิดได้

    เรื่องของธรรมเป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องตรง ทั้งกับตนเอง และกับบุคคลอื่นด้วย ทำไมบางท่านฟังเข้าใจในเหตุในผลแล้ว แต่ยังทิ้งข้อปฏิบัติที่ผิดไม่ได้ ถ้าไม่ใช่เพราะลาภ สักการะ ชื่อเสียง จะเป็นเพราะอะไร ในเมื่อความจริง ต้องเป็นความจริง อริยสัจธรรม ต้องเป็นอริยสัจธรรม รู้ว่าธรรมใดมีเหตุผล ธรรมใดคลาดเคลื่อนจากเหตุผล แต่แม้กระนั้น บางท่านก็ยังไม่ละทิ้งความเห็นผิด ยังไม่ละทิ้งข้อปฏิบัติผิด เพราะอะไร ถ้าไม่ใช่เพราะลาภ สักการะ ชื่อเสียง

    เห็นไหมว่า ลาภ สักการะ และชื่อเสียงนั้น ทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคายแค่ไหน ทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถที่จะละทิ้งข้อปฏิบัติผิด ความเห็นผิด ไปสู่ข้อปฏิบัติถูก ไปสู่ความเห็นถูกได้ เพราะฉะนั้น ควรจะเห็นโทษภัยของลาภ สักการะ และชื่อเสียง

    แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่เห็นว่า ความเห็นถูก การปฏิบัติถูกสำคัญกว่า ท่านย่อมจะเกื้อกูลทั้งตัวของท่านเอง และบุคคลอื่นได้ ในข้อปฏิบัติที่ถูก ในความเห็นที่ถูก

    สำหรับในสูตรอื่นๆ ก็มีข้อความโดยนัยเดียวกัน ใน อามิสกิญจิกขสูตร มีข้อความโดยนัยเดียวกัน ที่ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากำหนดรู้ใจด้วยใจแล้ว ย่อมรู้บุคคลบางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า แม้เพราะเห็นแก่ของกำนัลเพียงเล็กน้อยเป็นเหตุ ก็ไม่จงใจพูดมุสา แต่สมัยต่อมา เราเห็นเขาถูกลาภ สักการะ และชื่อเสียง ครอบงำย่ำยีจิตแล้ว ก็กล่าวมุสาทั้งที่รู้ได้

    นี่ก็ชีวิตจริง ตอนแรกๆ ของกำนัลเพียงเล็กน้อย ก็ไม่สามารถทำให้กล่าวมุสาได้ เรื่องจริงต้องเป็นเรื่องจริง ยังคงความสัตย์ไว้ แต่ถ้าติดในลาภ ในสักการะ ในชื่อเสียง ต่อมาในภายหลัง ย่อมสามารถที่จะกล่าวมุสาได้

    ใน ชีวิตสูตร มีข้อความโดยนัยเดียวกัน ต่างกันที่ว่า

    แม้เหตุแห่งชีวิตเป็นเหตุ ก็ไม่จงใจพูดมุสา แต่สมัยต่อมา เราเห็นเขาถูกลาภสักการะ และชื่อเสียง ครอบงำย่ำยีจิตแล้ว ก็กล่าวมุสาทั้งที่รู้ได้

    ใน ชนปทกัลยาณิสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากำหนดรู้ใจด้วยใจแล้ว ย่อมรู้บุคคลบางคนในโลกนี้อย่างนี้ว่า แม้เพราะนางงามประจำชนบทเป็นเหตุ ท่านผู้นี้ก็ไม่จงใจพูดมุสา แต่สมัยต่อมา เราเห็นเขาถูกลาภ สักการะ และชื่อเสียง ครอบงำย่ำยีจิตแล้ว ก็กล่าวมุสาทั้งที่รู้ได้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ลาภ สักการะ และชื่อเสียง ทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย เป็นอันตรายแก่การบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ อย่างนี้แล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ ฯ

    ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า เหตุที่จะให้กล่าวมุสานั้น ก็มีหลายประการ บางประการก็เป็นเพราะนางงามประจำชนบท บางประการก็เป็นเพราะของกำนัล บางประการก็เป็นอามิสต่างๆ เป็นต้น แต่ข้อสำคัญที่สุด คือ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ลาภ สักการะ และชื่อเสียง ทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย เป็นอันตรายแก่การบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ

    ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ต่อสภาพธรรม ไม่ใช่ถูกกั้น หรือถูกขัดขวางไว้ด้วยการติดในลาภ สักการะ และชื่อเสียง จึงสามารถที่จะขัดเกลา เป็นผู้ที่ปฏิบัติตรง และสามารถบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะได้

    แต่ถ้าเป็นผู้ที่ยังติดเหนียวแน่นอยู่ในลาภ สักการะ ชื่อเสียง ก็ย่อมจะเป็นการขัดขวาง ไม่ให้บุคคลนั้นสามารถที่จะบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะได้ เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่ไม่ตรง

    ขอกล่าวถึงเรื่องของศีลข้อที่ ๔ ต่อ คือ การละเว้นจากการพูดเท็จ โดยขอกล่าวถึงความละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวกับมุสาวาท ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ใน ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส โสฬสมาณวกปัญหานิทเทส ข้อ ๕๗๐ มีข้อความว่า

    ท่านพระปิงคิยะทูลถามว่า

    ข้าพระองค์จักขับตามเพลงขับ พระผู้มีพระภาคผู้ปราศจากมลทิน มีพระปัญญากว้างขวางดังแผ่นดิน มิได้มีกาม มิได้มีป่า เป็นนาค (ได้ทรงเห็นแล้วอย่างใด ตรัสบอกแล้วอย่างนั้น) บุคคลพึงพูดเท็จเพราะเหตุอะไร

    เป็นคำกราบทูลถามของท่านพระปิงคิยะ ที่ท่านพระปิงคิยะทูลถามว่า ข้าพระองค์จักขับตามเพลงขับ หมายความถึง ตามธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ประกาศแล้ว ไม่ใช่ตามความคิดเห็นของท่านเอง ไม่ว่าจะเป็นธรรมประการใดก็ตาม ผู้ที่ได้ทรงแสดงธรรมนั้นไว้อย่างดีครบถ้วน ก็คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยเหตุนี้ ท่านพระภิกษุทั้งหลาย ท่านจึงกราบทูลถามข้อความธรรมต่างๆ เพื่อที่ว่า ท่านเหล่านั้นจะขับตามเพลงขับ คือ จักกล่าวตามธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ประกาศแล้ว ไม่ใช่ตามความเห็นของตนเอง

    ข้อ ๕๗๕ มีข้อความว่า

    คำว่า เพราะเหตุอะไร ในอุเทศว่า กิสฺส เหตุ มุสา ภเณ ดังนี้ ความว่า เพราะเหตุอะไร เพราะการณะอะไร เพราะปัจจัยอะไร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เพราะเหตุอะไร

    คำว่า พึงกล่าวคำเท็จ ความว่า พึงกล่าวถ้อยคำเท็จ คือ กล่าวมุสาวาท กล่าวถ้อยคำอันไม่ประเสริฐ บุคคลบางคนในโลกนี้ อยู่ในที่ประชุมก็ดี อยู่ในบริษัท ก็ดี อยู่ท่ามกลางญาติก็ดี อยู่ในราชสกุลก็ดี เขานำไปเป็นพยานถามว่า มาเถิดบุรุษผู้เจริญ ท่านรู้เหตุใด จงกล่าวเหตุนั้น บุคคลนั้นเมื่อไม่รู้ก็กล่าวว่ารู้ เมื่อรู้ก็กล่าวว่า ไม่รู้ เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่าเห็น เมื่อเห็นก็กล่าวว่าไม่เห็น ย่อมกล่าวคำเท็จทั้งที่รู้ เพราะเหตุตนบ้าง เพราะเหตุผู้อื่นบ้าง เพราะเหตุเห็นแก่สิ่งของเล็กน้อยบ้าง ด้วยประการดังนี้ นี้ท่านกล่าวว่า กล่าวคำเท็จ

    จะเห็นได้ว่า เหตุของการที่บุคคลจะพึงกล่าวคำเท็จนั้น ก็เป็นเพราะตนเอง คือ เพื่อตนเอง เพราะเหตุแห่งตนเองบ้าง เพราะเหตุแห่งผู้อื่นบ้าง หรือว่าเพราะเหตุเห็นแก่สิ่งของอามิสต่างๆ บ้าง

    และสำหรับการกล่าวมุสาวาทนี้ ก็คงจะมีอยู่คู่กับโลกไปเรื่อยๆ ในเมื่อมีกิเลส ก็จะมีการมุสาวาท เป็นทุจริตทางวาจา ผู้ที่จะดับมุสาวาทได้เด็ดขาดเป็นสมุจเฉท คือ พระโสดาบันบุคคล

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่แต่ละท่านอาจจะพลั้งเผลอ เพราะเหตุว่ายังมีกิเลสอยู่ ก็คงจะกล่าวมุสาวาทล่วงไปในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ บ้าง ซึ่งเป็นเพราะโลภะบ้าง เพราะโทสะบ้าง เป็นต้น และขณะนั้นท่านคงจะไม่ทราบว่า มุสาวาทที่ได้ล่วงกระทำไปนั้น มีอาการอย่างไรบ้าง

    ใน ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส โสฬสมาณวกปัญหานิทเทส มีข้อความที่แสดงมุสาวาทด้วยอาการ ๘ อย่าง และอาการ ๘ อย่างของมุสาวาทนี้ ก็มีปรากฏอยู่หลายแห่งในพระไตรปิฎก ซึ่งใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส ข้อ ๗๗๒ ก็มีข้อความที่แสดงมุสาวาทด้วยอาการ ๘ อย่างโดยนัยเดียวกัน ซึ่งมีข้อความว่า

    คำว่า พึงเว้นจากความพูดเท็จ ความว่า มุสาวาท เรียกว่า ความพูดเท็จ บุคคลบางคนในโลกนี้ อยู่ในสภาก็ดี อยู่ในที่ประชุมชนก็ดี และในที่อื่นๆ ก็ดี เป็นผู้กล่าวคำเท็จทั้งที่รู้สึกตัว เพราะเหตุเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง นี้เรียกว่า ความพูดเท็จ

    อีกอย่างหนึ่ง มุสาวาทย่อมมีด้วยอาการ ๓ อย่าง คือ ในเบื้องต้น บุคคลนั้นก็มีความรู้ว่า เราจักพูดเท็จ ๑ เมื่อกำลังพูดอยู่ก็รู้ว่า เรากำลังพูดเท็จ ๑ เมื่อพูดแล้วก็รู้ว่า เราพูดเท็จแล้ว ๑ มุสาวาทย่อมมีด้วยอาการ ๓ อย่างนี้

    จริงไหม เวลาจะพูด ก็รู้ว่าไม่จริง ขณะที่กำลังพูด ก็รู้ว่าไม่จริง พูดแล้ว ก็รู้ด้วยว่าพูดเท็จแล้ว นอกจากนั้น

    อนึ่ง มุสาวาทย่อมมีด้วยอาการ ๔ ด้วยอาการ ๕ ด้วยอาการ ๖ ด้วยอาการ ๗ ด้วยอาการ ๘ คือ ในเบื้องต้น บุคคลนั้นก็มีความรู้ว่า เราจักพูดเท็จ ๑ เมื่อกำลังพูดอยู่ก็รู้ว่า เรากำลังพูดเท็จ ๑ เมื่อพูดแล้วก็รู้ว่า เราพูดเท็จแล้ว ๑ ปกปิดทิฏฐิ ๑ ปกปิดความควร ๑ ปกปิดความชอบใจ ๑ ปกปิดสัญญา ๑ ปกปิดความจริง ๑ มุสาวาทย่อมมีด้วยอาการ ๘ นี้

    คำว่า พึงเว้นจากความพูดเท็จ ความว่า ภิกษุพึงเว้นจากความพูดเท็จ พึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีซึ่งความพูดเท็จ เป็นผู้งด เว้น เว้นเฉพาะ ออก สลัดออก พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้องความพูดเท็จ พึงเป็นผู้มีจิตปราศจากแดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงเว้นจากความพูดเท็จ

    นี่เป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่ว่า พูดเท็จปกปิดทิฏฐิ ๑ หลายท่าน เวลาที่ใคร่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็รีบรวบรัดว่า รู้แล้วเรื่องนามรูป รู้แล้วว่าอะไรเป็นนาม รู้แล้วว่าอะไรเป็นรูป

    ซึ่งการที่จะรู้ความจริงอย่างนี้ได้ สติจะต้องเกิดระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แยกขาดจากลักษณะของสภาพรู้ทางตา ต้องเป็นการรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม พิจารณาเป็นความรู้ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น มากขึ้น จนกระทั่งสามารถประจักษ์ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้

    แต่บางท่านก็รีบรวบรัด ปกปิดทิฏฐิว่า รู้แล้วในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และพยายามที่จะไปประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม โดยแท้ที่จริงแล้ว ลักษณะที่แยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรมนั้น ก็ยังไม่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เรื่องของมุสาวาทนั้น ถ้าท่านเป็นผู้ที่ไม่ละเอียด จริงๆ จะไม่ทราบเลยว่า ตัวท่านเอง มีเยื่อใยของความยึดถือ มีความปรารถนาอะไร อันเป็นเหตุให้กระทำมุสาวาท



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๐ ตอนที่ ๓๙๑ – ๔๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 39
    28 ธ.ค. 2564