แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 400
ครั้งที่ ๔๐๐
ข้อความต่อไปมีว่า
วัตถุแห่งความโกหกเป็นส่วนแห่งอิริยาบถเป็นไฉน
ท่านผู้ฟังนั่ง นอน ยืน เดิน เป็นปกติ ขอให้ทราบว่า แม้อิริยาบถก็เป็นวัตถุแห่งความโกหกได้
วัตถุแห่งความโกหกเป็นส่วนแห่งอิริยาบถเป็นไฉน
ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ มีความปรารถนาลามก อันความปรารถนาครอบงำ ประสงค์จะให้เขาสรรเสริญ ดำริว่า ประชุมชนจะสรรเสริญเราโดยอิริยาบถอย่างนี้ จึงสำรวมเดิน สำรวมยืน สำรวมนั่ง สำรวมนอน มุ่งเดิน มุ่งยืน มุ่งนั่ง มุ่งนอน เดินเหมือนภิกษุมีสมาธิ ยืนเหมือนภิกษุมีสมาธิ นั่งเหมือนภิกษุมีสมาธิ นอนเหมือนภิกษุมีสมาธิ ย่อมเป็นเหมือนดังเจริญฌานต่อหน้าพวกมนุษย์
ความเริ่มตั้ง ความตั้ง ความสำรวมอิริยาบถ ความเป็นผู้สยิ้วหน้า ความโกหก กิริยาที่โกหก ความเป็นผู้โกหกเห็นปานนี้ ท่านกล่าวว่า วัตถุแห่งความโกหกเป็นส่วนแห่งอิริยาบถ
เพราะอะไร เพราะว่าส่วนมากยังไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจชัดเจน ทั้งในเรื่องของการอบรมเจริญสมถภาวนาและการเจริญวิปัสสนาภาวนา อย่างบางท่าน ท่านเห็นคนที่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ท่านไม่เข้าใจเลย คิดว่า คนนี้ไม่ได้ปฏิบัติธรรม ในทางตรงกันข้าม ท่านเห็นอีกคนหนึ่งนั่งนิ่ง หลับตา นาน สักประเดี๋ยวก็อาจจะโงกง่วง ท่านก็บอกว่า ญาณแก่แล้ว นี่เป็นความเข้าใจถูก หรือความเข้าใจผิด
เมื่อต้องการคำสรรเสริญเพราะว่ามีผู้ที่เข้าใจผิดอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเหตุให้บุคคลที่มุ่งลาภ กระทำอิริยาบถซึ่งเป็นวัตถุแห่งความโกหก
ข้อความต่อไปมีว่า
วัตถุแห่งความโกหกเป็นส่วนแห่งการพูดอิงธรรมเป็นไฉน
ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ มีความปรารถนาลามก อันความปรารถนาครอบงำ มีความประสงค์จะให้เขาสรรเสริญ ดำริว่า ประชุมชนจะสรรเสริญเราด้วยการพูดอย่างนี้ จึงกล่าววาจาอิงอริยธรรม คือพูดว่า สมณะที่ใช้จีวรเห็นปานนี้ มีอานุภาพมาก สมณะที่ใช้บาตรเห็นปานนี้ ใช้ภาชนะโลหะเห็นปานนี้ ใช้ธรรมกรกเห็นปานนี้ ใช้ผ้ากรองน้ำเห็นปานนี้ ใช้ลูกดานเห็นปานนี้ ใช้รองเท้าเห็นปานนี้ ใช้ประคดเอวเห็นปานนี้ ใช้สายโยคเห็นปานนี้ มีอานุภาพมาก
และพูดว่า สมณะที่มีพระอุปัชฌายะเห็นปานนี้ มีอานุภาพมาก สมณะที่มีพระอาจารย์เห็นปานนี้ มีพวกร่วมพระอุปัชฌายะเห็นปานนี้ มีพวกร่วมพระอาจารย์เห็นปานนี้ มีพวกมีไมตรีกันเห็นปานนี้ มีมิตรที่เห็นกันมาเห็นปานนี้ มีมิตรที่คบกันมาเห็นปานนี้ มีสหายเห็นปานนี้ มีอานุภาพมาก
และพูดว่า สมณะที่อยู่ในวิหารเห็นปานนี้ มีอานุภาพมาก ผู้อยู่ในเพิงมีหลังคาแถบเดียวเห็นปานนี้ ผู้อยู่ในเรือนโล้นเห็นปานนี้ ผู้อยู่ในถ้ำเห็นปานนี้ ผู้อยู่ในกุฎีเห็นปานนี้ ผู้อยู่ในเรือนยอดเห็นปานนี้ ผู้อยู่ในป้อมเห็นปานนี้ ผู้อยู่ในโรงเห็นปานนี้ ผู้อยู่ในที่พักเห็นปานนี้ ผู้อยู่ในโรงฉันเห็นปานนี้ ผู้อยู่ในมณฑปเห็นปานนี้ ผู้อยู่ที่โคนต้นไม้เห็นปานนี้ มีอานุภาพมาก
อนึ่ง ภิกษุผู้ก้มหน้ากว่าคนที่ก้มหน้า ผู้สยิ้วหน้ากว่าคนสยิ้วหน้า ผู้โกหกกว่าคนที่โกหก ผู้พูดมากกว่าคนพูดมาก ผู้ที่คนอื่นสรรเสริญตามปากของคน กล่าวถ้อยคำอันปฏิสังยุตด้วยโลกุตตระและนิพพานเช่นนั้น อันลึกซึ้ง ละเอียดที่วิญญูชนปิดบังว่า สมณะนี้ได้วิหารสมาบัติอันสงบเห็นปานนี้ ความสยิ้วหน้า ความเป็นผู้สยิ้วหน้า ความโกหก กิริยาที่โกหก ความเป็นผู้โกหกเห็นปานนี้ ท่านกล่าวว่า วัตถุแห่งความโกหกเป็นส่วนแห่งการพูดอิงธรรม
สารพัดที่จะอ้างอิง ที่จะให้เกิดความเลื่อมใส แม้แต่การใช้จีวร การใช้ภาชนะโลหะ การใช้รองเท้า หรือว่า มีพระอาจารย์เห็นปานนี้ มีพระอุปัชฌายะเห็นปานนี้ มีพวกมีไมตรีกันเห็นปานนี้ มีมิตรเห็นกันมาเห็นปานนี้ อยู่ในวิหารเห็นปานนี้ อยู่ในถ้ำเห็นปานนี้ อยู่ในกุฎีเห็นปานนี้ อ้างทำไม ก็เพื่อให้เกิดความเลื่อมใส เพราะฉะนั้น วัตถุแห่งความโกหกเป็นส่วนแห่งการพูดอิงธรรม ก็ด้วยเหตุที่ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ มีความปรารถนาลามก อันความปรารถนาครอบงำ มีความประสงค์จะให้เขาสรรเสริญ ดำริว่า ประชุมชนจะสรรเสริญเราด้วยการพูดอย่างนี้ จึงกล่าววาจาอิง อริยธรรม กล่าวถ้อยคำอันปฏิสังยุตด้วยโลกุตตระและนิพพานเช่นนั้น อันลึกซึ้ง ละเอียด ที่วิญญูชนปิดบัง ถ้าเป็นคนฉลาดจริงๆ ไม่จำเป็นจะต้องประกาศ หรืออ้างว่า เป็นผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอริยเจ้า เพราะเหตุว่าไม่เกิดประโยชน์อะไรกับผู้ฟังเลย แต่ควรที่จะได้อนุเคราะห์เกื้อกูลให้ผู้ที่สนใจในธรรม ได้ประพฤติปฏิบัติในทางที่ถูก ในทางที่จะทำให้รู้แจ้งในอริยสัจธรรมได้
สำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล เมื่อมีความยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตน ก็ทำให้เกิดการพูดคลาดเคลื่อน ผิดจากความเป็นจริงได้ แม้แต่การกระทำก็เป็นไปในลักษณะที่เป็นเท็จหรือหลอกลวง เช่นข้อความใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส ปุราเภทสุตตนิทเทสที่ ๑๐ ข้อ ๓๙๗ ซึ่งมีใจความว่า
การเท็จหรือหลอกลวงบุคคลอื่นให้เกิดความเข้าใจผิด ให้เกิดความเลื่อมใสนั้น มีด้วยประการ ต่างๆ เช่น ด้วยการใช้ปัจจัยที่เศร้าหมอง เช่น จีวร เป็นต้น เพื่อให้เกิดความเลื่อมใส ซึ่งโดยแท้ที่จริงแล้ว ยังมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่เมื่อจะหลอกหรือว่าเท็จเพื่อให้คนอื่นเห็นเป็นอีกอย่างหนึ่ง จึงใช้เสื้อผ้าบ้าง หรือปัจจัยบ้างที่เศร้าหมอง ที่จะให้เกิดความเลื่อมใส นั่นก็มี
หรือแม้แต่อิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน เพื่อที่จะให้บุคคลอื่นเลื่อมใส ก็สำรวมนั่ง สำรวมนอน สำรวมยืน สำรวมเดิน โดยอาการที่ให้เห็นว่า ขณะนั้นกำลังเป็นสมาธิ หรือกำลังเป็นผู้ปฏิบัติธรรม
หรือด้วยคำพูดที่อิงธรรม เช่น อ้างอุปัชฌาย์อาจารย์บ้าง อ้างมิตรสหายผู้คุ้นเคยบ้าง หรือว่าอ้างหมู่คณะบ้าง อ้างสถานที่ต่างๆ ที่สงบเงียบบ้าง หรือแม้แต่เพียงทำหน้าเฉยๆ เพื่อให้คนอื่นเลื่อมใสก็ได้ ไม่ยิ้ม ไม่หัวเราะ ไม่สนุกสนาน ไม่รื่นเริง ไม่เป็นปกติธรรมดา เพราะเข้าใจว่า ถ้าเป็นผู้ที่มีหน้าเฉยๆ หมายความว่าเป็นผู้ที่ไม่มีกิเลส เพราะฉะนั้น เวลาที่จะให้คนอื่นเห็นว่าเป็นผู้ที่ไม่มีกิเลส ก็ไม่ยิ้ม ไม่หัวเราะ ไม่เป็นปกติ แม้แต่ลักษณะของหน้าตาก็ยังเป็นการเท็จ การลวงบุคคลอื่นสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสได้
เพราะฉะนั้น เรื่องของกิเลสที่จะลวงบุคคลอื่น หรือแม้แต่ตัวเองก่อน ก็เกิดขึ้นเพราะการไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
แต่ถ้าได้ประจักษ์ในสภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ เป็นผู้ที่มีปกติจริงๆ ที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดปรากฏ เพราะมีเหตุปัจจัยจริงๆ จึงทำให้เกิดสภาพธรรมนั้นๆ ขึ้นได้ ซึ่งเป็นหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็จะไม่ลวงตนเอง และไม่ลวงบุคคลอื่นด้วย
ใน ขุททกนิกาย ทวยตานุปัสสนาสูตร มีข้อความที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อไม่รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงเข้าใจสภาพธรรมผิด คลาดเคลื่อน และทำให้เป็นบุคคลที่ยังมีกิเลส ที่ทำให้กล่าวเท็จได้
ทวยตานุปัสสนาสูตรที่ ๑๒ เป็นพระสูตรที่ยาว แต่ว่ามีข้อความที่มีประโยชน์มาก เพราะฉะนั้น ก็ขออ่านทั้งพระสูตร ซึ่งมีข้อความว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บุพพาราม ปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดา ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล เมื่อราตรีเพ็ญมีพระจันทร์เต็มดวงในวันอุโบสถที่ ๑๕ ค่ำ พระผู้มีพระภาคอันภิกษุสงฆ์แวดล้อมประทับนั่งอยู่ในอัพโภกาส ทรงชำเลืองเห็นภิกษุสงฆ์สงบนิ่ง จึงตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่า จะมีประโยชน์อะไรเพื่อการฟัง กุศลธรรมอันเป็นอริยะ เป็นเครื่องนำออกไป อันให้ถึงปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้แก่ท่านทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงตอบเขาอย่างนี้ว่า มีประโยชน์เพื่อรู้ธรรม เป็นธรรม ๒ อย่างตามความเป็นจริง ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่า ท่านทั้งหลายกล่าวอะไรว่าเป็นธรรม ๒ อย่าง พึงตอบเขาอย่างนี้ว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เป็นข้อที่ ๒
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบ เนืองๆ อย่างนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ พึงหวังผล ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ อรหัตตผลในปัจจุบันนี้ หรือเมื่อยังมีความถือมั่นเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ฯ
ถ้าท่านผู้ฟังจะพิจารณาพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
การพิจารณาเห็นเนืองๆ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมก็ได้ ตรงลักษณะนั้นนิดเดียว ขณะนั้นเป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง และทีละนิดๆ ซึ่งท่านจะไม่ทราบเลยว่า เป็นประโยชน์จริงๆ ที่ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง และเวลาที่จะประจักษ์แทงตลอด ที่จะดับเยื่อใยการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ก็ชั่วขณะนิดหนึ่งนั่นแหละ แต่ว่าเป็นปัญญาที่ได้อบรม เจริญสมบูรณ์จนสามารถที่จะละและแทงตลอดในลักษณะที่เกิดดับ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ของสภาพธรรมตามปกติที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย
และท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ แสดงถึงการพิจารณาสภาพธรรมที่เกิดปรากฏเป็นปกติ
กำลังเห็น เป็นปกติอย่างนี้ พิจารณาเสียเนืองๆ
กำลังได้ยิน เป็นปกติ พิจารณาเสียเนืองๆ
กำลังกระทบเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง เป็นลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน พิจารณาเสีย ระลึกรู้เสียเนืองๆ
ถ้าเกิดโกรธ ไม่พอใจ ช่วยไม่ได้ ห้ามไม่ได้ เป็นสภาพธรรมที่เป็นจริง มีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย พิจารณาเสียเนืองๆ เพื่อจะละการยึดถือสภาพของการโกรธนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
ถ้ามีความเพลิดเพลินยินดีเกิดขึ้น ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นของจริง พิจารณาเสียเนืองๆ
เท่านั้นเอง ไม่มีหนทางอื่นเลย นอกจากให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดปรากฏตามปกติ ตามเหตุปัจจัยเนืองๆ
และเวลาที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้นแล้ว จะทราบได้จริงๆ ว่า ที่ยังละไม่ได้ ดับไม่ได้ ยังไม่แทงตลอด ยังไม่ประจักษ์ความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม ก็เพราะเหตุว่าความยินดีพอใจยังมี แฝงอยู่ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น
แต่ถ้าเป็นข้อปฏิบัติที่ถูก การรู้เพิ่มขึ้นในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จะทำให้ละความไม่รู้ ละเยื่อใยที่เคยยึดถือนามธรรมและรูปธรรมนั้นว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่ถ้าไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่ถูก ไม่สามารถจะทำให้ละได้เลย
ขอเล่าถึงชาวต่างประเทศท่านหนึ่ง ซึ่งมีความรู้บ้างในเรื่องพระพุทธศาสนา มีศรัทธามากที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม แต่เข้าใจว่า การประพฤติปฏิบัติธรรมจะเกิดผลขึ้นโดยไม่ยาก เพราะฉะนั้น เมื่อทราบว่าอะไรเป็นนามธรรม อะไรเป็นรูปธรรม ภายในวันนั้น ก็พยายามที่จะระลึกรู้เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม จนกระทั่งจิตไม่ไปนึกถึงอย่างอื่นเลย และก็เกิดตกใจกลัวขึ้นมาว่า พรุ่งนี้คงจะถึงนิพพานแล้ว
รวดเร็ว แต่ไม่ใช่หนทางที่ถูก ถ้าเป็นหนทางที่ถูกจะตกใจทำไม และการตกใจกลัวก็เป็นเครื่องพิสูจน์ การปรากฏเยื่อใยที่เหนียวแน่นของกิเลส กลัวอะไร กลัวว่าพรุ่งนี้จะถึงนิพพาน เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่อยากจะถึงเลย คือ กิเลสเหนียวแน่นทีเดียว แต่ไม่รู้ จึงออกมาในรูปของการกลัวที่จะบรรลุนิพพาน
ท่านผู้ฟังซึ่งมีปกติเจริญสติปัฏฐาน กลัวไหมที่จะบรรลุนิพพาน ซึ่งไม่ใช่ว่าจะบรรลุได้โดยง่าย ท่านจะต้องสอบสวน เทียบเคียง พิจารณาอย่างละเอียดว่า ความรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้ สติเกิดระลึกรู้ทางตาบ้างไหม ทางหูบ้างไหม ทางจมูกบ้างไหม ทางลิ้นบ้างไหม ทางกายบ้างไหม ทางใจบ้างไหม รู้ไม่มาก เพียงนิดเดียวแล้วหมดไป จะมีเยื่อใย ความต้องการ ตัวตนที่อยากให้สติอยู่ นานๆ ที่นามหนึ่งนามใด รูปหนึ่งรูปใด เกิดแทรกบ้างไหม
นี่เป็นเรื่องจริง ที่จะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดและก็รู้ด้วยว่า ความยินดี ความยึดมั่น ความผูกพัน ความเป็นตัวตนนั้นอยู่ที่ไหน ก่อนที่จะละ หรือดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้
แต่โดยมากไม่เห็นตัณหา ซึ่งเป็นสมุทัยในขณะนั้น เพราะมีหลายท่านที่บอกว่า สติไม่ค่อยเกิด เวลาเกิดก็น้อยอยู่ไม่ค่อยนาน แต่นั่นไม่ใช่เป็นเรื่องการรู้ลักษณะของนามธรรมในขณะนั้นแต่ละลักษณะโดยตลอดสืบต่อกัน เพราะเวลาที่หลงลืมสติก็เดือดร้อน ไม่รู้ว่า แม้ขณะนั้นลักษณะของการหลงลืมสติ ก็เป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง
เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการพิจารณาไตร่ตรอง เป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง และถ้าระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมว่านี้ทุกข์ ก็จะทำให้เห็นว่า นี้ทุกข์สมุทัยด้วย แต่เวลานี้ บางท่านพูดถึงทุกข์ ทุกข์มากเหลือเกิน ในชีวิตนี้มีแต่ทุกข์ ถามว่าอะไรเป็นทุกข์ มากเหลือเกินตอบไม่ถูก ซึ่งความจริง ทุกขลักษณะ หมายถึงการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมแต่ละชนิด ของรูปธรรมแต่ละชนิด กำลังเห็นในขณะนี้ เป็นทุกข์เพราะเกิดดับ การได้ยิน เป็นทุกข์เพราะเกิดดับ
นี้ทุกข์ ไม่ใช่ทุกข์อื่น เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า นี้ทุกข์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสนั้น ไม่ใช่ขณะอื่น ไม่ใช่เรื่องอื่น แต่เป็นสภาพธรรมตามปกติที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
แม้แต่พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า นี้สมุทัย ก็ไม่ใช่ขณะอื่น ขณะที่แฝงอยู่ ขณะที่ยินดีพอใจในนามธรรม ในรูปธรรม หรือในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย นั่นคือ นี้สมุทัย ตราบใดที่ยังมีอยู่ สังสารวัฏฏ์ดับไม่ได้
ถ้ายังมีความยินดีพอใจ ยึดถือนามธรรมและรูปธรรม ไม่ประจักษ์ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละชนิด ให้ทราบว่า ยังมีอยู่ ยังทำให้เป็นสังสารวัฏฏ์ เกิดดับสืบต่อวนเวียนไป เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ดับสมุทัยเป็นสมุจเฉทเป็นลำดับขั้น
และสมุทัยที่จะต้องดับก่อน คือ สมุทัยที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๐ ตอนที่ ๓๙๑ – ๔๐๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 361
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 362
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 363
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 364
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 365
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 366
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 367
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 368
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 369
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 370
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 371
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 372
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 373
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 374
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 375
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 376
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 377
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 378
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 379
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 380
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 381
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 382
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 383
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 384
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 385
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 386
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 387
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 388
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 389
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 390
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 391
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 392
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 393
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 394
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 395
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 396
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 397
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 398
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 399
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 400
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 401
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 402
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 403
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 404
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 405
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 406
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 407
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 408
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 409
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 410
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 411
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 412
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 413
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 414
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 415
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 416
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 417
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 418
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 419
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 420