แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 408
ครั้งที่ ๔๐๘
ใน จตุตถปาราชิกกัณฑ์ สิกขาบทวิภังค์ มีข้อความอธิบายความหมายของพระปฐมบัญญัติว่า
บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่าภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้ขอ
ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า ประพฤติภิกขาจริยวัตร
ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า ทรงผืนผ้าที่ถูกทำลายแล้ว
ชื่อว่า ภิกษุ โดยสมญา
ชื่อว่า ภิกษุ โดยปฏิญญา
ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นเอหิภิกษุ
ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อุปสมบทแล้วด้วยไตรสรณคมน์
ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้เจริญ
ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า มีสารธรรม
ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระเสขะ
ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระอเสขะ
ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อันสงฆ์พร้อมเพรียงกันให้อุปสมบทแล้ว ด้วยญัตติจตุตถกรรมอันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ
บรรดาผู้ที่ชื่อว่าภิกษุเหล่านั้น ภิกษุนี้ใดที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันให้อุปสมบทแล้วด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ ภิกษุนี้พระผู้มีพระภาคทรงประสงค์ว่า ภิกษุ ในอรรถนี้
ข้อความในพระไตรปิฎกและในอรรถกถา จะอธิบายความหมายของคำว่า ภิกษุ ซึ่งแต่ละแห่ง เมื่อได้อธิบายความหมายของภิกษุแล้ว ก็จะแสดงไว้ด้วยว่า สำหรับในเรื่องนั้น ในเหตุนั้น คำว่าภิกษุ หมายถึงเฉพาะความหมายใดของภิกษุ เช่นใน จตุตถปาราชิกกัณฑ์ ที่ว่า บรรดาผู้ที่ชื่อว่าภิกษุเหล่านั้น ภิกษุนี้ใดที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันให้อุปสมบทแล้วด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ ภิกษุนี้พระผู้มีพระภาคทรงประสงค์ว่า ภิกษุ ในอรรถนี้
บทว่า อุตตริมนุสสธรรม ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ ญาณทัสสนะ มรรคภาวนา การทำให้แจ้งซึ่งผล การละกิเลส ความเปิดจิต ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่า
บทว่า ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น คือ เมื่อขณะคราวครู่หนึ่งที่ภิกษุกล่าวอวดนั้นผ่านไปแล้ว
เป็นการอธิบาย การพูดเท็จที่เป็นการอวดอุตตริมนุสสธรรมว่า เมื่อพูดเสร็จแล้ว มีอะไรเกิดขึ้น
บทว่า อันผู้ใดผู้หนึ่งถือเอาตาม คือ มีบุคคลเชื่อในสิ่งที่ภิกษุปฏิญาณแล้ว โดยถามว่า ท่านบรรลุอะไร ได้บรรลุด้วยวิธีไร เมื่อไร ที่ไหน ท่านละกิเลสเหล่าไหนได้ ท่านได้ธรรมหมวดไหน
เป็นถ้อยคำที่แสดงว่า ผู้นั้นเชื่อว่าภิกษุนั้นได้บรรลุคุณธรรมที่เป็นอุตตริมนุสสธรรมจริงๆ จึงได้ถามถึงความละเอียด
บทว่า ไม่ถือเอาตาม คือ ไม่มีใครๆ พูดถึง
ถ้าพูดอวดอุตตริมนุสสธรรมแล้ว จะมีใครถือเอาตาม คือเชื่อ หรือไม่ถือเอาตาม คือไม่สนใจ ไม่เชื่อว่าได้บรรลุจริงๆ ก็ตาม เมื่อพูดแล้ว กิเลสเกิดขึ้นแล้ว มีความต้องการในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ เป็นผู้ที่มีความปรารถนาลาภ ยศ สรรเสริญ ทำให้อวดอ้างในสิ่งที่ตนไม่มีว่ามี
ซึ่งการอวดอ้างในเรื่องของฌาน เรื่องของวิโมกข์ เรื่องของสมาธิ เรื่องของสมาบัติ เรื่องของญาณทัสสนะ เรื่องมรรคภาวนา การทำให้แจ้งซึ่งผล การละกิเลส ความเปิดจิต ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่า เป็นการอวดอ้างถึงคุณธรรมที่วิเศษจริงๆ ของการเป็นผู้ที่สามารถจะบรรลุคุณธรรมพิเศษยิ่งกว่าของบุคคลอื่นได้ เพราะฉะนั้น ย่อมนำมาซึ่งความเลื่อมใส นำมาซึ่งความเคารพสักการะ ยิ่งกว่าการอวดอ้างอย่างอื่น นี่เป็นเหตุที่ทำให้เป็นโทษหนัก
บทว่า ต้องอาบัติแล้ว ความว่า ภิกษุมีความอยากอันลามก อันความอยากครอบงำแล้ว พูดอวดอุตตริมนุสสธรรมอันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง ย่อมเป็นผู้ต้องอาบัติปาราชิก
บทว่า มุ่งความหมดจด คือ ประสงค์จะเป็นคฤหัสถ์ หรือประสงค์จะเป็นอุบาสก หรือประสงค์จะเป็นอารามิก หรือประสงค์จะเป็นสามเณร
ในภายหลังจากที่ได้อวดอุตตริมนุสสธรรมแล้ว เกิดปรารถนาความหมดจด คือ เห็นว่าตนนั้นไม่สามารถที่จะดำรงเพศของบรรพชิตได้ เพราะฉะนั้น ก็ประสงค์ที่จะเป็นคฤหัสถ์ ประสงค์จะเป็นอุบาสก ประสงค์ที่จะเป็นอารามิก หรือประสงค์จะเป็นสามเณร และกล่าวว่า แน่ะท่าน ข้าพเจ้าไม่รู้อย่างนั้น ได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นอย่างนั้น ได้กล่าวว่าเห็น
หมายความว่า ภายหลังเมื่อต้องการมุ่งความหมดจดที่จะละเพศของบรรพชิต เป็นอุบาสก หรือเป็นอารามิก หรือเป็นสามเณรก็ตาม และสารภาพตามความเป็นจริงว่า ไม่รู้อย่างนั้น แต่กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นอย่างนั้น ก็ได้กล่าวว่าเห็น และสารภาพว่า ข้าพเจ้าพูดพล่อยๆ เป็นเท็จเปล่าๆ แม้อย่างนั้น ก็เป็นปาราชิก เพราะเหตุว่าได้กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมไปแล้ว
เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ควรทราบว่า มุสาวาทสำหรับแต่ละบุคคลซึ่งยังคงมีอยู่เล็กๆ น้อยๆ หรือว่ามากก็ตาม การกล่าวมุสาวาทประการใดบ้าง เป็นโทษหนักสำหรับบุคคลนั้น และไม่เหมาะสมแก่เพศนั้น เช่น การกล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมนั้น เป็นปาราชิกสำหรับพระภิกษุ
ขอกล่าวถึง อนุบัญญัติ จตุตถปาราชิกกัณฑ์ เรื่องภิกษุสำคัญว่าได้บรรลุ
ข้อ ๒๓๒ มีข้อความว่า
ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุเป็นอันมาก สำคัญมรรคผลอันตนยังมิได้เห็นว่าได้เห็น สำคัญมรรคผลอันตนยังมิได้ถึงว่าได้ถึง สำคัญมรรคผลอันตนยังมิได้บรรลุว่าได้บรรลุ สำคัญมรรคผลอันตนยังมิได้ทำให้แจ้งว่าได้ทำให้แจ้ง จึงอวดอ้างมรรคผลตามที่สำคัญว่าได้บรรลุ ครั้นต่อมา จิตของพวกเธอน้อมไปเพื่อความกำหนัดก็มี น้อมไปเพื่อความขัดเคืองก็มี น้อมไปเพื่อความหลงก็มี จึงมีความรังเกียจว่า สิกขาบทอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แล้ว แต่พวกเราสำคัญมรรคผลที่ตนยังมิได้เห็นว่าได้เห็น สำคัญมรรคผลที่ตนยังมิได้ถึงว่าได้ถึง สำคัญมรรคผลที่ตนยังมิได้บรรลุว่าได้บรรลุ สำคัญมรรคผลที่ตนยังมิได้ทำให้แจ้งว่าได้ทำให้แจ้ง จึงอวดอ้างมรรคผลตามที่สำคัญว่าได้บรรลุ พวกเราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมังหนอ แล้วจึงแจ้งเรื่องนั้นแก่ท่าน พระอานนท์ ท่านพระอานนท์กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
มีอยู่เหมือนกัน อานนท์ ข้อที่ภิกษุทั้งหลายสำคัญมรรคผลที่ตนยังมิได้เห็นว่าได้เห็น สำคัญมรรคผลที่ตนยังมิได้ถึงว่าได้ถึง สำคัญมรรคผลที่ตนยังมิได้บรรลุว่าได้บรรลุ สำคัญมรรคผลที่ตนยังมิได้ทำให้แจ้งว่าได้ทำให้แจ้ง จึงอวดอ้างมรรคผลตามที่สำคัญว่าได้บรรลุ แต่ข้อนั้นนั่นแล เป็นอัพโพหาริก
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงกระทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ว่า ดังนี้
พระอนุบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดไม่รู้เฉพาะ กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมอันเป็นความรู้ความเห็น อย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้ามาในตนว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้ใดผู้หนึ่งถือเอาตามก็ตาม ไม่ถือเอาตามก็ตาม เป็นอันต้องอาบัติแล้ว มุ่งความหมดจด จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะท่าน ข้าพเจ้าไม่รู้อย่างนั้น ได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นอย่างนั้น ได้กล่าวว่าเห็น ได้พูดพล่อยๆ เป็นเท็จ เปล่าๆ เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ แม้ภิกษุนี้ ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
ปาราชิก หรือไม่ปาราชิก สำหรับผู้ที่สำคัญว่าได้บรรลุ และอวดอ้างอุตตริมนุสสธรรม ด้วยการสำคัญว่า ตนได้บรรลุจริงๆ ก็ไม่ปาราชิก เพราะข้อความใน พระอนุบัญญัติมีว่า เว้นไว้แต่สำคัญว่าได้บรรลุ
นี่เป็นสภาพของจิตที่ต่างกัน ไม่ได้บรรลุ แต่เข้าใจว่าได้บรรลุ มีเจตนาไหมที่จะมุสาวาท มีเจตนาอวดว่าได้บรรลุ แต่สำคัญจริงๆ ว่า ตนเองนั้นได้บรรลุ ส่วนภิกษุที่ปาราชิกนั้น รู้ว่าตนเองไม่ได้บรรลุ แต่มีเจตนาที่จะอวดอุตตริมนุสสธรรม โดยที่ตนเองก็รู้ว่า ตนเองนั้นไม่ได้บรรลุมรรคผล ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ต้องเป็นปาราชิก
สำหรับเรื่องของการอวดอุตตริมนุสสธรรม ที่จะเป็นการเทียบเคียงสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระภิกษุ ซึ่งจะได้เห็นความวิจิตรของจิตว่า การมุสาวาทแต่ละขณะจะมีโทษมากน้อยประการใดนั้น เป็นความละเอียดจริงๆ
ขอกล่าวถึงข้อความที่มีในพระวินัยบัญญัติ
ใน พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค ข้อ ๒๗๒ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า การมุสาวาทเป็นเรื่องละเอียด เพียงนิดเดียวที่คลาดเคลื่อนไป แต่มีเจตนาที่จะทำให้คลาดเคลื่อน ก็เป็นมุสาวาท
ข้อความใน ข้อ ๒๗๒ มีว่า
ภิกษุรู้อยู่ ประสงค์จะกล่าวว่า ข้าพเจ้าเข้าทุติยฌานแล้ว ดังนี้ แต่กล่าวเท็จว่า ข้าพเจ้าเข้าตติยฌานแล้ว เมื่อคนอื่นเข้าใจ ต้องอาบัติปาราชิก เมื่อเขาไม่เข้าใจ ต้องอาบัติถุลลัจจัย
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นฆราวาสต้องระวังจริงๆ ในเรื่องของคำพูด ถ้าเผลอไปนิดเดียว เกิดโลภะ การคิดที่จะอวดขึ้น ทำให้คำพูดคลาดเคลื่อนไปเสียแล้ว
ทุติยฌาน หรือตติยฌาน จตุตถฌาน ก็โดยนัยเดียวกัน ตลอดไปจนถึงสุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ สมาบัติ วิชชา ๓ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ ฯลฯ ด้วยความคิดที่จะอวด ขณะนั้นให้ทราบว่า เป็นลักษณะของกิเลส จึงทำให้กล่าวคลาดเคลื่อนอย่างนั้นได้
และคำพูดในวันหนึ่งๆ มีไหมที่กล่าวอวดเกินความจริง ถ้าผู้ใดสติเกิดขึ้นระลึกรู้ ผู้นั้นก็ทราบว่า ตนเองยังมีกิเลสมากเหลือเกิน แม้แต่เรื่องจริง ก็ไม่ยอมที่จะกล่าวตามความเป็นจริง แต่ต้องเติมเสริม เป็นการอวด
ข้อความอื่น โดยนัยเดียวกัน คือ ข้อ ๒๗๓
ภิกษุรู้อยู่ ประสงค์จะกล่าวว่า จิตของข้าพเจ้าเปิดจากโมหะ ดังนี้ แต่กล่าวเท็จว่า ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานแล้ว ... เมื่อคนอื่นเข้าใจ ต้องอาบัติปาราชิก เมื่อเขาไม่เข้าใจ ต้องอาบัติถุลลัจจัย
สำหรับการอวดโดยนัยอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน
ข้อ ๒๗๔ มีข้อความว่า
ภิกษุรู้อยู่ ประสงค์จะกล่าวว่า ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานและทุติยฌานแล้ว ดังนี้ แต่กล่าวเท็จว่า ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานและตติยฌานแล้ว ... เมื่อคนอื่นเข้าใจ ต้องอาบัติปาราชิก เมื่อเขาไม่เข้าใจ ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ข้อ ๒๗๕ โดยนัยเดียวกัน
ภิกษุรู้อยู่ ประสงค์จะกล่าวว่า ข้าพเจ้าเข้าทุติยฌานและตติยฌานแล้ว ดังนี้ แต่กล่าวเท็จว่า ข้าพเจ้าเข้าจตุตถฌานแล้ว ... เมื่อคนอื่นเข้าใจ ต้องอาบัติปาราชิก เมื่อเขาไม่เข้าใจ ต้องอาบัติถุลลัจจัย
นี่สำหรับผู้ที่มี คือ สามารถที่จะเข้าปฐมฌานได้ ทุติยฌานได้ ตติยฌานได้ แต่กระนั้นด้วยกำลังของกิเลส ก็ยังต้องกล่าวเท็จ แทนที่จะกล่าวตามความเป็นจริงว่า ข้าพเจ้าเข้าทุติยฌานและตติยฌานแล้ว ก็กลับกล่าวว่า ข้าพเจ้าเข้าจตุตถฌานแล้ว ถึงแม้ว่าจะได้ฌาน กำลังของกิเลสก็ยังมีที่จะทำให้กล่าวมุสาวาทประการต่างๆ ได้
ข้อ ๒๗๖
ภิกษุรู้อยู่ ประสงค์จะกล่าวว่า จิตของข้าพเจ้าเปิดจากโทสะ และจิตของข้าพเจ้าเปิดจากโมหะ ดังนี้ แต่กล่าวเท็จว่า ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานแล้ว
ล้วนแต่เป็นเรื่องที่น่าจะอวดทั้งนั้น อุตตริมนุสสธรรม เกินความสามารถของบุคคลธรรมดา เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องระวังอย่างยิ่ง
สำหรับ ข้อ ๒๗๙ ไม่ใช่การกล่าวตรงๆ แม้ว่ากิเลสนั้นจะทำให้กล่าวโดยอ้อม โดยประการอื่น แต่ก็มีเจตนาที่จะอวดอยู่นั่นเอง
ซึ่งมีข้อความว่า
ภิกษุรู้อยู่ กล่าวเท็จว่า ภิกษุใดอยู่ในวิหารของท่าน ภิกษุนั้นเข้าแล้ว เข้าอยู่ เข้าได้แล้ว เป็นผู้ได้ เป็นผู้ชำนาญ ทำให้แจ้งซึ่งปฐมฌาน ด้วยอาการ ๓ อย่าง ... ๔ อย่าง ... ๕ อย่าง ... ๖ อย่าง ... ๗ อย่าง คือ ๑. เบื้องต้นเธอรู้ว่า จักกล่าวเท็จ ๒. กำลังกล่าว ก็รู้ว่ากล่าวเท็จ ๓. ครั้นกล่าวแล้ว ก็รู้ว่ากล่าวเท็จแล้ว ๔. อำพรางความเห็น ๕. อำพรางความถูกใจ ๖. อำพรางความชอบใจ ๗. อำพรางความจริง เมื่อคนอื่นเข้าใจ ต้องอาบัติถุลลัจจัย เมื่อเขาไม่เข้าใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
โทษเบากว่าปาราชิกนิดหนึ่งที่ว่า ไม่ได้กล่าวตรงๆ ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้แล้ว แต่กล่าวว่า ภิกษุใดอยู่ในวิหารของท่าน ภิกษุนั้นเข้าแล้ว เข้าอยู่ เข้าได้แล้ว เป็นผู้ได้ เป็นผู้ชำนาญ ทำให้แจ้งซึ่งปฐมฌาน เป็นต้น จิตวิจิตรไม่เหมือนกันแล้วใช่ไหม
ประการแรกวิจิตรถึงกับทำให้กล่าวเองว่า ข้าพเจ้าได้แล้ว แต่กิเลสที่วิจิตร บางครั้งก็ไม่ได้ทำให้บุคคลนั้นกล่าวอย่างนั้น แต่ทำให้พูดโดยอ้อม ซึ่งถ้าเมื่อคนอื่นเข้าใจ ต้องอาบัติถุลลัจจัย ไม่ถึงกับปาราชิก แต่ถ้าเขาไม่เข้าใจ ต้องอาบัติทุกกฏ
สำหรับในเรื่องของวิหาร จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เครื่องยาอันเป็นปัจจัยของภิกษุไข้ ก็โดยนัยเดียวกัน
สำหรับภิกษุซึ่งไม่ต้องอาบัติ คือ อนาปัตติวาระ มีข้อความว่า
ข้อ ๒๘๑
ภิกษุสำคัญว่าได้บรรลุ ๑ ภิกษุไม่ประสงค์จะกล่าวอวด ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุมีจิตฟุ้งซ่าน ๑ ภิกษุกระสับกระส่ายเพราะเวทนา ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติ
จะเห็นได้ว่า แล้วแต่จิต ถ้าสำคัญว่าได้บรรลุ ไม่ต้องอาบัติ หรือว่าไม่ประสงค์จะกล่าวอวด ก็ไม่ต้องอาบัติ ภิกษุวิกลจริต ภิกษุมีจิตฟุ้งซ่าน ภิกษุกระสับกระส่ายเพราะเวทนา ภิกษุอาทิกัมมิกะ คือ ภิกษุผู้เป็นต้นเหตุให้ทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ ไม่ต้องอาบัติ และถ้าเป็นผู้ที่บรรลุคุณธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง ก็ไม่ต้องอาบัติปาราชิก
ขอกล่าวถึง พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ทุติยภาค สิกขาบทที่ ๘ เรื่องภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา พวกเดียวกัน แต่ข้อความต่างกัน เพราะว่าในปาราชิกกัณฑ์ ไม่มีคุณธรรมนั้นเลย แต่มีความประสงค์ที่จะกล่าวอวด ส่วนในมหาวิภังค์ ทุติยวิภาค เป็นพระภิกษุที่มีคุณธรรมนั้นๆ จริง
ข้อความมีว่า
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต ด้วยวิธีการอย่างไร
ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบแล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คุณวิเศษของพวกเธอนั่น มีจริงหรือ
ภิกษุกราบทูลว่า
มีจริง พระพุทธเจ้าข้า
ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงได้กล่าวชมอุตตริมนุสสธรรมของกันและกันแก่พวกคฤหัสถ์ เพราะเหตุแห่งท้องเล่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ว่า
พระบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใดบอกอุตตริมนุสสธรรมแก่อนุปสัมบัน เป็นปาจิตตีย์ เพราะมีจริง
ใช้คำว่า บอก ไม่ใช้คำว่า อวด เพราะว่าถึงแม้จะมีก็ตาม เป็นประโยชน์อะไรบ้างไหม ในการที่จะให้ผู้อื่นได้ทราบ เพื่อประโยชน์ หรือมิใช่เพื่อประโยชน์
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๑ ตอนที่ ๔๐๑ – ๔๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 361
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 362
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 363
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 364
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 365
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 366
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 367
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 368
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 369
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 370
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 371
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 372
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 373
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 374
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 375
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 376
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 377
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 378
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 379
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 380
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 381
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 382
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 383
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 384
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 385
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 386
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 387
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 388
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 389
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 390
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 391
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 392
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 393
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 394
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 395
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 396
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 397
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 398
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 399
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 400
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 401
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 402
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 403
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 404
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 405
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 406
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 407
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 408
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 409
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 410
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 411
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 412
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 413
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 414
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 415
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 416
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 417
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 418
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 419
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 420