แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 410
ครั้งที่ ๔๑๐
เรื่องพราหมณ์ ๕ เรื่อง
ข้อ ๒๙๑
ก็โดยสมัยนั้นแล พราหมณ์ผู้หนึ่งนิมนต์ภิกษุทั้งหลายมา แล้วได้กล่าวว่า นิมนต์พระอรหันต์ทั้งหลายจงมาเถิดเจ้าข้า ภิกษุเหล่านั้นมีความรังเกียจว่า พวกเราหาได้เป็นพระอรหันต์ไม่ ก็พราหมณ์นี้มาร้องเรียกพวกเราด้วยวาทะว่าอรหันต์ พวกเราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ไม่เป็นอาบัติ เพราะเขากล่าวด้วยความเลื่อมใส
ตัวท่านเองไม่ได้กล่าวเลยว่า ท่านเป็นพระอรหันต์ แต่คนอื่นเรียก ยกย่องว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น เมื่อท่านไม่มีเจตนาที่จะอวดอ้าง ที่จะกล่าวว่า ท่านเป็นพระอรหันต์ ก็ไม่ต้องอาบัติ
เรื่องที่ ๒
ก็โดยสมัยนั้นแล พราหมณ์ผู้หนึ่งนิมนต์ภิกษุทั้งหลายมา แล้วได้กล่าวว่า นิมนต์พระอรหันต์ทั้งหลายจงนั่งเถิดเจ้าข้า ภิกษุเหล่านั้นมีความรังเกียจว่า พวกเราหาได้เป็นพระอรหันต์ไม่ ก็พราหมณ์นี้มาร้องเรียกพวกเราด้วยวาทะว่าอรหันต์ พวกเราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ไม่เป็นอาบัติ เพราะเขากล่าวด้วยความเลื่อมใส
เรื่องที่ ๓
ก็โดยสมัยนั้นแล พราหมณ์ผู้หนึ่งนิมนต์ภิกษุทั้งหลายมา แล้วได้กล่าวว่า นิมนต์พระอรหันต์ทั้งหลายจงบริโภคเถิดเจ้าข้า ภิกษุเหล่านั้นมีความรังเกียจว่า พวกเราหาได้เป็นพระอรหันต์ไม่ ก็พราหมณ์นี้มาร้องเรียกพวกเราด้วยวาทะว่าอรหันต์ พวกเราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ไม่เป็นอาบัติ เพราะเขากล่าวด้วยความเลื่อมใส
นี่ด้วยความเลื่อมใสอย่างยิ่ง ตั้งแต่นิมนต์มารับภัตตาหาร นิมนต์นั่ง นิมนต์บริโภค นิมนต์ให้ฉันให้อิ่ม จนถึงนิมนต์กลับ ก็ใช้คำว่า นิมนต์พระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลายไม่เป็นอาบัติ เพราะเขากล่าวด้วยความเลื่อมใส
เรื่องพยากรณ์มรรคผล ๓ เรื่อง
ข้อ ๒๙๒
ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งพูดอวดอุตตริมนุสสธรรมแก่ภิกษุอีกรูปหนึ่ง แม้ภิกษุรูปนั้นก็ได้กล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส แม้ผมก็ละอาสวะได้ แล้วมีความรังเกียจ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ก็มีเรื่องความข้องใจของพระภิกษุเกี่ยวกับพระวินัยบัญญัติ เมื่อได้กราบทูลถามแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงทราบถึงจริตอัธยาศัยของบุคคลนั้นโดยละเอียด เพราะฉะนั้น ก็ทรงทราบว่าบุคคลนั้นได้กระทำไปด้วยกิเลสมากน้อยประการใด หรือว่าไม่ได้กระทำไปด้วยกิเลส ซึ่งเพียงการไปเฝ้ากราบทูลถาม ก็ทรงพยากรณ์ได้ว่า เป็นอาบัติปาราชิกหรือว่าไม่เป็นอาบัติปาราชิก โดยนัยเดียวกันทั้งหมด ถ้ากล่าวอวดอ้างว่าเป็นตนเอง ก็ย่อมเป็นอาบัติปาราชิก
ข้อความต่อไป
ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งพูดอวดอุตตริมนุสสธรรมแก่ภิกษุอีกรูปหนึ่ง แม้ภิกษุรูปนั้นก็ได้กล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส ธรรมเหล่านั้นย่อมมีแม้แก่ผม แล้วมีความรังเกียจ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
จากการพยากรณ์ของพระผู้มีพระภาค ก็ทราบได้ว่าภิกษุนั้นไม่มีจริง จึงต้องอาบัติปาราชิก สำหรับเรื่องความละเอียดของคำพูดโดยนัยประการอื่นก็มี เช่น เรื่องครองเรือน
เรื่องครองเรือน
ข้อ ๒๙๓
ก็โดยสมัยนั้นแล พวกญาติได้กล่าวกะภิกษุรูปหนึ่งว่า นิมนต์ท่านมาอยู่ครองเรือนเถิดขอรับ ภิกษุรูปนั้นตอบว่า ท่านทั้งหลาย คนอย่างฉันไม่ควรแท้ที่จะอยู่ครองเรือน แล้วมีความรังเกียจ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ดูกร ภิกษุ เธอคิดอย่างไร
ภิกษุกราบทูลว่า
ข้าพระพุทธเจ้ามิได้มีความประสงค์จะพูดอวด พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ ภิกษุไม่มีความประสงค์จะพูดอวด ไม่ต้องอาบัติ
เรื่องเล็กน้อยธรรมดาอย่างนี้ ไม่ได้เป็นการแสดงว่า ผู้นั้นกล่าวอวดว่าเป็น พระอรหันต์ หรือบรรลุคุณธรรมที่เป็นอุตตริมนุสสธรรม แต่เป็นเรื่องสภาพตามความเป็นจริงของจิตใจ ซึ่งไม่มีความประสงค์ที่จะกล่าวอวดด้วย
อีกเรื่องหนึ่ง
เรื่องหลีกไป
ข้อ ๒๙๔
ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุเป็นอันมากจำพรรษาอยู่ในอาวาสแห่งหนึ่ง ตั้งกติกากันไว้ว่า ภิกษุใดหลีกไปจากอาวาสนี้ก่อน พวกเราจักเข้าใจภิกษุนั้นว่าเป็นพระอรหันต์ ภิกษุรูปหนึ่งหลีกไปจากอาวาสนั้นก่อน ด้วยตั้งใจว่า ภิกษุทั้งหลายจงเข้าใจเราว่าเป็นพระอรหันต์ แล้วมีความรังเกียจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมังหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
เป็นอาบัติข้อไหน นี่แสดงให้เห็นว่า การรู้แจ้งเป็นพระอรหันต์ บุคคลอื่นไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่า จะรู้แจ้งคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ในขณะไหน ในเวลาไหน เพราะฉะนั้น จึงเทียบเคียงโดยการตั้งกติกากันว่า ภิกษุใดหลีกไปจากอาวาสนี้ก่อน พวกเราจักเข้าใจภิกษุนั้นว่าเป็นพระอรหันต์ ไม่ต้องบอกกัน แต่ตั้งกติกาไว้ เป็นที่รู้กัน และ ภิกษุรูปหนึ่งหลีกไปจากอาวาสนั้นก่อน ด้วยความตั้งใจว่า ภิกษุทั้งหลายจงเข้าใจเราว่าเป็นพระอรหันต์
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
เท็จด้วยการกระทำ เพราะฉะนั้น เมื่อกระทำตามกติกา และยังด้วยความตั้งใจว่า ภิกษุทั้งหลายจงเข้าใจเราว่าเป็นพระอรหันต์ ด้วยเหตุนี้ ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
ความละเอียดของสภาพของจิตใจของพระภิกษุในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานก็มีมากทีเดียว ขอให้ฟังเรื่องต่อไป เพื่อท่านจะได้ทราบเหตุการณ์ในครั้งนั้น และสภาพจิตใจของบรรดาพระภิกษุทั้งหลายทั้งที่เป็นพระอรหันต์และไม่ใช่พระอรหันต์
เรื่องอัฏฐิสังขลิกเปรต
ข้อ ๒๙๕
โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านพระลักขณะกับท่านพระมหาโมคคัลลานะอยู่ ณ คิชฌกูฏบรรพต ครั้นเวลาเช้า ท่านพระมหาโมคคัลลานะครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไปหาท่านพระลักขณะจนถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้กะท่านพระลักขณะว่า
อาวุโส ลักขณะมาเถิด เราจะเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ด้วยกัน
ท่านพระลักขณะรับคำท่านมหาโมคคัลลานะว่า
ได้อาวุโส
ขณะที่ท่านพระมหาโมคคัลลานะกำลังลงจากคิชฌกูฏบรรพตนั้น ได้ยิ้มให้ปรากฏ ณ ประเทศแห่งหนึ่ง จึงท่านพระลักขณะได้ถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า
อาวุโส มหาโมคคัลลานะ อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรหนอเป็นปัจจัยให้ยิ้ม
ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า
อาวุโส ลักขณะ ยังไม่สมควรที่จะพยากรณ์ปัญหานี้ ท่านจงถามปัญหานี้กะผมในสำนักพระผู้มีพระภาคเถิด
ครั้นท่านพระลักขณะกับท่านพระมหาโมคคัลลานะเที่ยวบิณฑบาตในกรุง ราชคฤห์ กลับจากบิณฑบาตในเวลาภายหลังภัตแล้ว จึงพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ท่านพระลักขณะได้กล่าวคำนี้กะท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า
ท่านพระมหาโมคคัลลานะ เมื่อกำลังลงจากคิชฌกูฏบรรพ เขตพระนคร ราชคฤห์นี้ ได้ทำการยิ้มให้ปรากฏ ณ ประเทศแห่งหนึ่ง อาวุโส โมคคัลลานะ อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรหนอเป็นปัจจัยให้ยิ้ม
ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า
อาวุโส ผมลงจากคิชฌกูฏบรรพต เขตพระนครราชคฤห์นี้ ได้เห็นอัฏฐิสังขลิกเปรต มีแต่ร่างกระดูกลอยไปในเวหา ฝูงแร้ง เหยี่ยว และนกตะกรุมพากันโฉบอยู่ขวักไขว่ จิกสับโดยแรง จิกทึ้ง ยื้อแย่งตามช่องซี่โครง สะบัดซึ่งเปรตนั้นอยู่ไปมา เปรตนั้นร้องครวญคราง อาวุโส ผมนั้นได้คิดเช่นนี้ว่า น่าอัศจรรย์จริงหนอ น่าประหลาดจริงหนอ ที่สัตว์แม้เห็นปานนี้ ยักษ์แม้เห็นปานนี้ เปรตแม้เห็นปานนี้ การได้อัตภาพแม้เห็นปานนี้ก็มีอยู่
ภิกษุทั้งหลายพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานะอวดอุตตริมนุสสธรรม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สาวกทั้งหลายย่อมเป็นผู้มีจักษุอยู่ ย่อมเป็นผู้มีญาณอยู่ เพราะสาวกได้รู้ ได้เห็น หรือได้ทำสัตว์เช่นนี้ให้เป็นพยานแล้ว
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อกาลก่อนเราก็ได้เห็นสัตว์นั้น แต่เราไม่ได้พยากรณ์ ถ้าเราพยากรณ์สัตว์นั้น และคนอื่นไม่เชื่อเรา ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เขาเหล่านั้นสิ้นกาลนาน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์นั้นเคยเป็นคนฆ่าโค อยู่ในพระนครราชคฤห์นี่เอง ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น เขาหมกไหม้อยู่ในนรกหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี หลายแสนปี แล้วได้ประสบอัตภาพเช่นนี้ ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้นแหละที่ยังเป็นส่วนเหลืออยู่
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โมคคัลลานะพูดจริง โมคคัลลานะไม่ต้องอาบัติ
แม้แต่ท่านพระมหาโมคคัลลานะ คนก็ยังคิดว่าท่านอวดอุตตริมนุสสธรรม ท่านเป็นพระอรหันต์ หมดกิเลสแล้ว ก็ไม่พูดคำที่ไม่จริง
เรื่องของการงดเว้นจากมุสาวาทเป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะว่ามุสาวาทที่กล่าวออกไปนั้น เป็นการกล่าวทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่เป็นความจริง
ใน ขุททกนิกาย เถรคาถา วสภเถรคาถา เรื่องสุภาษิตชี้โทษคนลวงโลก
มีข้อความว่า
บุคคลผู้ลวงโลกย่อมฆ่าตนก่อน ภายหลังจึงฆ่าผู้อื่น บุคคลผู้ลวงโลกนั้น ย่อมฆ่าตนได้ง่ายดาย เหมือนนายพรานนกที่หาอุบายฆ่านก และทำตนให้ได้รับความทุกข์ในอบายภูมิ ฉะนั้น บุคคลผู้ลวงโลกนั้น ไม่ใช่พราหมณ์ เพียงแต่มีเพศเหมือนพราหมณ์ในภายนอกเท่านั้น เพราะพราหมณ์มีเพศอยู่ภายใน บาปกรรมทั้งหลายมีในบุคคลใด บุคคลนั้นเป็นคนดำ
ดูกร ท้าวสุชัมบดี ขอจงทรงทราบอย่างนี้
จะเห็นได้ว่า บุคคลผู้ลวงโลกย่อมฆ่าตนก่อน บุคคลอื่นจะเชื่อท่านหรือไม่เชื่อท่าน นั่นเป็นการพิจารณาของบุคคลอื่น เพราะฉะนั้น เรื่องของความเท็จ เรื่องของมุสาวาทเป็นเรื่องที่ละเอียด
ใน ขุททกนิกายชาดก เจติยราชชาดก ข้อ ๑,๑๖๔ ได้แสดงโทษของมุสาวาท มีข้อความว่า
เมื่อพระองค์ยังตรัสคำกลับกลอกอยู่ เทวดาทั้งหลายก็จะพากันหลีกหนีไปเสีย พระโอฐจักมีกลิ่นบูดเน่าเหม็นฟุ้งไป ผู้ใดรู้อยู่ เมื่อถูกถามปัญหาแล้ว แกล้งแก้ปัญหานั้นไปเสียอย่างอื่น ผู้นั้นย่อมต้องพลัดตกจากฐานะของตน
ข้าแต่พระเจ้าเจติยราช ถ้าพระองค์ตรัสสัจวาจา พระองค์ก็จะประทับอยู่ในพระราชวังตามเดิมได้ ถ้าพระองค์ยังตรัสมุสาอยู่ ก็จะประทับอยู่ได้ที่พื้นดินเท่านั้น
นี่เป็นข้อความที่แสดงโทษของมุสาวาทประการหนึ่ง คือ ปากจักมีกลิ่นบูดเน่าเหม็นฟุ้งไป
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๑ ตอนที่ ๔๐๑ – ๔๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 361
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 362
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 363
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 364
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 365
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 366
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 367
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 368
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 369
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 370
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 371
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 372
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 373
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 374
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 375
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 376
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 377
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 378
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 379
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 380
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 381
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 382
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 383
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 384
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 385
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 386
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 387
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 388
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 389
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 390
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 391
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 392
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 393
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 394
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 395
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 396
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 397
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 398
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 399
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 400
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 401
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 402
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 403
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 404
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 405
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 406
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 407
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 408
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 409
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 410
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 411
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 412
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 413
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 414
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 415
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 416
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 417
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 418
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 419
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 420