แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 413
ครั้งที่ ๔๑๓
ข้อความใน มังคลัตถทีปนีแปล เรื่องหลานของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งแสดงโทษของการดื่มสุรา มีข้อความว่า
หลานของอนาถบิณฑิกเศรษฐียังเงินประมาณ ๔๐ โกฏิ อันเป็นของมารดาบิดาให้พินาศ ด้วยการใช้จ่ายให้สิ้นเปลืองไปเพราะการดื่มสุรา
เมื่อทรัพย์ของตนเองหมดแล้ว ก็ได้ไปสู่สำนักของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
แม้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ได้ให้เขา ๑๐๐๐ กหาปนะ แล้วก็สั่งว่า เจ้าจงทำการค้าขาย แต่เขาก็ยังทรัพย์แม้นั้นให้พินาศ แล้วก็ได้ไปหาท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีอีก ท่านเศรษฐีก็ได้ให้อีก ๕๐๐ กหาปนะ แม้เขาก็ยังทรัพย์แม้นั้นให้พินาศ ให้เสื่อมหมด แล้วก็ได้มาหาอีก ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ให้ผ้าสาฎกเนื้อหยาบ ๒ ผืน แล้วก็ไล่เขาผู้ยังผ้าสาฎกเนื้อหยาบแม้นั้นให้พินาศหมดสิ้น แล้วมาหาอีก ให้ออกไปแล้ว
เขาเป็นคนอนาถา อาศัยฝาเรือนคนอื่น ได้ทำกาละแล้ว คนทั้งหลายพากันลากศพนี้นั้นไปทิ้ง ณ ภายนอก แม้ท่านเศรษฐีก็ไปสู่วิหาร ทูลเล่าประวัติของหลานทั้งหมดนั้นถวายพระศาสดาแล้ว พระศาสดาตรัสว่า
ในกาลก่อน เราแม้ให้หม้อ อันให้ซึ่งสมบัติอันสัตว์พึงใคร่ทุกอย่าง ก็ไม่ได้อาจให้บุรุษใดอิ่มหนำได้ ท่านจักยังบุรุษนั่นให้อิ่มหนำได้อย่างไร ดังนี้แล้ว ทรงชักอดีตนิทานมา
คือ ทรงเล่าถึงอดีตชาติของหลานท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งจะเห็นได้ว่า เป็นตัวอย่างชีวิตจริงๆ ของคนที่มีเงินถึง ๔๐ โกฏิ แต่ก็ใช้จ่ายให้สิ้นเปลืองไปเพราะการดื่มสุรา เพราะเหตุว่าคงจะไม่ได้ดื่มสุราแต่เพียงอย่างเดียว เมื่อมีความพอใจในการดื่มสุรา ก็คงจะมีมิตรสหายมากมายที่พอใจเช่นเดียวกัน และก็ต้องมีการใช้เงินเป็นจำนวนมากในการดื่มสุรานั้น ซึ่งในที่สุดก็หมดสิ้นไปได้
สำหรับเรื่องของการดื่มสุราที่เป็นเหตุให้ก่อการทะเลาะวิวาทก็เป็นได้ เพราะเหตุว่า ผู้ที่ยังไม่ได้ดื่มสุรากับผู้ที่ดื่มสุรามากๆ จนกระทั่งมึนเมาแล้ว ก็คงมีลักษณะอาการที่ต่างกันไป คือ ผู้ที่ก่อนจะดื่มสุราก็อาจจะไม่ได้ทำอะไรหลายอย่างที่น่าละอาย แต่ว่าผู้ที่ดื่มสุราแล้ว ก็สามารถที่จะกระทำกรรมต่างๆ ได้ แม้แต่การฆ่ามารดา การฆ่าบิดา หรือการพูดคำซึ่งเมื่อไม่ได้ดื่มสุราก็คงจะพูดไม่ได้ แต่ว่าเมื่อดื่มสุราแล้ว ก็พูดคำที่ไม่สามารถจะพูดได้นั้น
นอกจากนั้น เวลาที่ดื่มสุราจนกระทั่งเมาแล้ว ก็ย่อมเป็นผู้ที่ไม่ขวนขวายในการทำการงาน นี่ก็เป็นโทษอีกประการหนึ่ง ถ้าไม่ดื่มสุราก็คงจะขยันขันแข็ง มีสติปัญญาคิดอ่านในเรื่องของการงานต่างๆ ได้ แต่เวลาที่ดื่มสุรามากจนเมา หมดสติ ขาดสติแล้ว ก็ย่อมจะเป็นผู้ที่ไม่สามารถจะขวนขวายในกิจการงานทั้งหลายได้
นอกจากนั้น โทษของการดื่มสุราก็ยังสามารถที่จะเปิดเผยกรรมที่ปกปิดไว้ บางท่านอาจจะทำอะไรไว้หลายอย่างซึ่งไม่ต้องการที่จะให้ใครรู้ แต่เวลาที่ดื่มสุราแล้ว ก็เปิดเผยหมดว่า ท่านได้กระทำกรรมอะไรไว้บ้าง นั่นก็เป็นโทษอีกประการหนึ่งของการดื่มสุรา และการดื่มสุรามาก ก็ทำให้ขาดสติ ขณะที่เมาสติไม่อาจเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้นั้นก็เป็นผู้ที่ไกลต่อมรรคผลนิพพาน นี่เป็นประการที่สำคัญที่สุด ซึ่งถ้าผู้ใดเห็นว่า การดื่มสุราทำให้สติไม่เกิดที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และเกิดหิริ รังเกียจในการที่จะให้ขาดสติ หรือหลงลืมสติเช่นนั้น ก็ย่อมจะเป็นผู้ที่ละเว้นการดื่มสุรา
สำหรับเรื่องที่จะกระทำกรรมต่างๆ ในขณะที่มึนเมา มีเรื่องพระราชาผู้เสวยเนื้อพระโอรสใน อรรถกถา ธัมมปทัฏฐกถา มีข้อความว่า
ในอดีตกาล พระราชาในกรุงพาราณสีพระองค์หนึ่ง เว้นจากน้ำเมาแล้ว ไม่อาจแม้ทรงพระพฤติราชกิจ แม้เพื่อจะเสวยพระกระยาหารอันปราศจากเนื้อ ในพระนคร ในวันอุโบสถทั้งหลาย ไม่มีการฆ่าสัตว์ คนทำครัวซื้อเนื้อในดิถีที่ ๑๓ แห่งปักษ์นั่นเองแล้วเก็บไว้ วันหนึ่งเนื้อนั้นคนทำครัวเก็บไว้ไม่ดี สุนัขทั้งหลายจึงเคี้ยวกินเสีย คนทำครัวไม่ได้เนื้อในวันอุโบสถ ไม่อาจนำพระกระยาหารเข้าไปถวายพระราชา จึงทูลเนื้อความนั้นแด่พระเทวีแล้ว พระนางดำรัสว่า
พ่อ บุตรของเราเป็นที่รัก เป็นที่พอพระทัยของในหลวง ในหลวงทอดพระเนตรเธอแล้ว ทรงจุมพิตคลอเคลียเธออยู่ ย่อมไม่ทรงทราบแม้ความที่พระกระยาหารของพระองค์มีเนื้อหรือไม่มี เราจักยังบุตรให้นั่งที่พระอุระของในหลวง เจ้าควรนำพระกระยาหารเข้าไป ในเวลาที่ทรงเย้าหยอกกับพระราชโอรสของพระองค์
คนทำครัวน้อมพระกระยาหารเข้าไป ในเวลานั้นพระราชาทรงเมาแล้ว เพราะความเมาน้ำจันทน์ ไม่เห็นเนื้อในถาด จึงตรัสว่า
เนื้ออยู่ไหน
คนทำครัวกราบทูลว่า
ข้าแต่สมมติเทพ วันนี้เป็นวันอุโบสถ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้เนื้อ
พระราชาตรัสว่า
ชื่อว่าเนื้อ สำหรับเราหาได้ยาก
ดังนี้แล้ว ทรงรัดพระศอพระโอรสให้ถึงชีพิตักษัย แล้วโยนไปข้างหน้าคนทำครัว แล้วรับสั่งว่า
เจ้าจงจัดแจง แล้วนำมาโดยเร็ว
คนทำครัวนั้นได้ทำอย่างนั้นแล้ว แม้คนหนึ่งก็มิได้อาจจะร้องไห้ หรือจะกราบทูลได้ เพราะกลัวพระราชา
พระราชาเสวยพระกระยาหารด้วยมังสะพระโอรส บรรทมแล้ว ในเวลาจวนรุ่ง ทรงตื่น สร่างเมาแล้ว รับสั่งว่า
พวกเจ้าจงนำบุตรของเรามา
ขณะนั้นพระเทวีทรงคร่ำครวญพลางทูลว่า
ข้าแต่สมมติเทพ วานนี้ฝ่าพระบาททรงทำพระโอรสให้สิ้นพระชนม์ เสวยพระกระยาหารด้วยมังสะพระโอรส
พระราชาทรงกรรแสงเพราะความโศกในพระโอรส เห็นโทษในการดื่มน้ำเมาว่า
ทุกข์นี้เกิดขึ้นแก่เรา เพราะอาศัยการดื่มสุรา แล้วทรงหยิบฝุ่นเช็ดพระพักตร์ อธิษฐานว่า ตั้งแต่นี้ไป เรายังไม่บรรลุอรหัตเพียงใด จักไม่ดื่มชื่อซึ่งสุรา อันเป็นเหตุแห่งความพินาศเห็นปานนี้ เพียงนั้น
ตั้งแต่นั้นมา ท้าวเธอก็ไม่ทรงดื่มชื่อซึ่งน้ำเมา
เป็นไปได้ไหมอย่างนี้ นี่สำหรับผู้ที่ฆ่าลูก แต่ผู้ที่ฆ่าแม่ ฆ่าพ่อเพราะความเมา ก็มีปรากฏอยู่ เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่า กิเลสในขณะนั้นจะเกิดขึ้นแรงกล้า ทำให้กระทำกรรมอย่างไรในขณะนั้น
สำหรับโทษของสุรา ไม่ว่าในสมัยไหน ไม่ใช่เฉพาะแต่ในสมัยนี้ แม้ในอดีตกาลนานมาแล้ว ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ แม้ในชาดก ก็ได้ทรงแสดงโทษของสุราไว้มากทีเดียว ซึ่งท่านผู้ฟังจะพิจารณาเปรียบเทียบได้ว่า โทษของสุราในครั้งอดีต กับในขณะนี้ ในสมัยนี้ เป็นอย่างไร
ใน ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑ กุมภชาดก มีข้อความว่าด้วยโทษของสุรา ข้อ ๒๒๙๒ มีว่า
ท่านเป็นใคร มาจากไตรทิพย์หรือ จึงเปล่งรัศมีสว่างไสวอยู่ในนภากาศ เหมือนพระจันทร์ส่องสว่างในกลางคืนฉะนั้น ท่านเหยียบลมหนาวในอากาศได้ เดินและยืนในอากาศได้ ฤทธิ์ของเทวดาทั้งหลายผู้ไม่ต้องเดินทางไกล ท่านทำให้เป็นที่ตั้งและให้เจริญดีแล้วเป็นไฉน ท่านเป็นใคร มายืนอยู่ในอากาศ ร้องขายหม้ออยู่ หรือว่า หม้อของท่านนี้เพื่อประโยชน์อะไร ดูกร พราหมณ์ ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด
ข้อ ๒๒๙๓
หม้อใบนี้ไม่ใช่หม้อเนยใส ไม่ใช่หม้อน้ำมัน ไม่ใช่หม้อน้ำอ้อย ไม่ใช่หม้อน้ำผึ้ง โทษของหม้อใบนี้มีไม่น้อย ท่านจงฟังโทษเป็นอันมากที่มีอยู่ในหม้อใบนี้
บุคคลดื่มสุราแล้ว เดินโซเซล้มไปยังบ่อ ถ้ำ หลุม น้ำครำ และหลุมโสโครก พึงบริโภคของที่ไม่ควรบริโภคแม้มากได้ ท่านจงช่วยซื้อหม้อใบนี้ซึ่งเต็มไปด้วยสุรานั้นไว้ บุคคลดื่มสุราแล้ว ไม่เป็นใหญ่ในใจ ย่อมเที่ยวไป เหมือนโคกินกากสุรา ฉะนั้น หาที่พึงมิได้ ย่อมฟ้อนรำขับร้องได้ ท่านช่วยซื้อหม้อใบนี้ซึ่งเต็มด้วยสุรานั้นไว้
ทำได้ทุกอย่างใช่ไหม ไม่ว่าจะร้องรำทำเพลง อาการวิกลต่างๆ ก็ย่อมกระทำได้เมื่อดื่มสุราแล้ว
บุคคลดื่มสุราแล้ว แก้ผ้าเปลือยกาย เที่ยวไปตามตรอกตามถนนในบ้านเหมือนชีเปลือย มีจิตลุ่มหลง นอนตื่นสาย ท่านช่วยซื้อหม้อใบนี้ซึ่งเต็มไปด้วยน้ำชนิดนั้นไว้
บุคคลดื่มสุราแล้ว ลุกขึ้นเซไปมา โคลงศีรษะ และยกแขนขึ้นรำเหมือนรูปหุ่นไม้ฉะนั้น ท่านช่วยซื้อหม้อใบนี้ซึ่งเต็มไปด้วยสุรานั้นไว้
บุคคลดื่มสุราแล้ว นอนจนถูกไฟไหม้ และกินอาหารที่เหลือเดนสุนัขได้ ย่อมถึงการถูกจองจำ ถูกฆ่า และความเสื่อมแห่งโภคะ ท่านช่วยซื้อหม้อใบนี้ซึ่งเต็มด้วยสุรานั้นไว้
บุคคลดื่มสุราแล้ว พูดคำที่ไม่ควรพูดได้ เปลือยกายนั่งในที่ประชุมได้ เปรอะเปื้อนจมอยู่ในอาเจียนของตน ถึงความพินาศ ท่านช่วยซื้อหม้อใบนี้ซึ่งเต็มไปด้วยสุรานั้นไว้
บุคคลดื่มสุราแล้ว ฮึกเหิม นัยน์ตาแดงก่ำ สำคัญใจว่า แผ่นดินทั้งหมดเป็นของเราเท่านั้น พระราชาแม้มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบขัณฑสีมา ก็ไม่เสมอเรา ท่านช่วยซื้อหม้อใบนี้ซึ่งเต็มไปด้วยสุรานั้นไว้
บุคคลดื่มสุราแล้ว ถือตัวจัด ก่อความทะเลาะวิวาท ส่อเสียด กล่าวร้าย เปลือยกายวิ่งไป คลุกคลีหมกอยู่กะพวกนักเลงเก่า ท่านช่วยซื้อหม้อใบนี้ซึ่งเต็มไปด้วยสุรานั้นไว้
ธรรมดาทุกท่านก็มีมานะ ความสำคัญตน ถือตนอยู่ด้วยกันทุกคนไม่มากก็น้อย เวลาที่เกิดมานะ หรือความสำคัญตน ความถือตนขึ้นมา ในขณะที่บุคคลอื่นแสดงกิริยาอาการดูถูก ดูหมิ่น ซึ่งถ้าท่านสามารถที่จะระงับไว้ได้ เพราะสติเกิดขึ้นรู้ว่า ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลยในการที่จะให้มานะเกิดขึ้นมีกำลังกล้าจนกระทั่งเป็นเหตุให้กระทำกาย หรือวาจาที่ไม่เหมาะไม่ควร ท่านก็ย่อมจะวิรัติทุจริตทางกาย ทางวาจา อันเกิดจากมานะได้
แต่ถ้าในขณะนั้น ท่านเป็นผู้ที่ดื่มสุรา ก็จะเพิ่มมานะ ความถือตัว ความสำคัญตน ไม่อาจที่จะทนต่อความก้าวร้าวจากบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องกระทำประทุษร้ายทางกาย ทางวาจาได้ เพราะว่าสติไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควรในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าท่านสังเกต พิจารณาโดยละเอียด ก็จะเห็นว่า โทษมาก โทษน้อยย่อมมีอยู่ เพราะว่ากิเลสนั้นมีอยู่แล้ว เมื่อเพิ่มการขาดสติขึ้น ก็ย่อมจะทำให้กิเลสนั้นมีกำลังกล้าเพิ่มขึ้น
ข้อความต่อไปมีว่า
สุรานี้ทำตระกูลทั้งหลายในโลกนี้ อันมั่นคงบริบูรณ์ มีเงินทองตั้งหลายพัน ให้ขาดทายาทได้ ท่านช่วยซื้อหม้อใบนี้ซึ่งเต็มไปด้วยสุรานั้นไว้
ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงิน ทอง ไร่ นา โค กระบือในสกุลใด ย่อมพินาศไป ตระกูลที่มั่งมีทั้งหลาย ขาดสูญไปเพราะดื่มสุรา ท่านช่วยซื้อหม้อใบนี้ซึ่งเต็มไปด้วยสุรานั้นไว้
บุคคลดื่มสุราแล้ว เป็นคนหยาบช้า ด่าบิดามารดาได้ แม้ถึงเป็นพ่อผัว ก็พึงหยอกลูกสะใภ้ได้ ท่านช่วยซื้อหม้อใบนี้ซึ่งเต็มไปด้วยสุรานั้นไว้
เป็นโทษที่แสดงให้เห็นว่า ถ้าหลงลืมสติ กิเลสที่มีอยู่แล้วในจิตใจ ก็จะทวีกำลังเพิ่มขึ้น
ข้อความต่อไปมีว่า
หญิงดื่มสุราแล้ว เป็นคนหยาบช้า ด่าพ่อผัวแม่ผัว และสามีได้ แม้เป็นทาส เป็นคนใช้ พึงรับเป็นสามีของตนได้ ท่านช่วยซื้อหม้อใบนี้ซึ่งเต็มไปด้วยสุรานั้นไว้
ถ้าอยากให้ใครทำอกุศลกรรมต่างๆ วิธีหนึ่งซึ่งไม่ยาก คือ ให้ดื่มสุรามากๆ จนกระทั่งเมามาย หลงลืมสติ ขณะนั้นก็จะไม่รู้สึกตัวเลยว่า ได้กระทำอกุศลกรรมอะไรบ้าง
ข้อความต่อไปมีว่า
บุคคลดื่มสุราแล้ว พึงประหารสมณะหรือพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมได้ พึงไปสู่อบายอันมีกรรมนั้นเป็นเหตุ ท่านช่วยซื้อหม้อใบนี้ซึ่งเต็มไปด้วยสุรานั้นไว้
บุคคลดื่มสุราแล้ว ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา และใจ ครั้นแล้วต้องไปนรก ท่านช่วยซื้อหม้อใบนี้ซึ่งเต็มไปด้วยสุรานั้นไว้
ชนทั้งหลาย แม้จะยอมสละเงินเป็นอันมากมาอ้อนวอนบุรุษใด ผู้ยังไม่ได้ดื่มสุราก่อนให้พูดเท็จ ย่อมไม่ได้ บุรุษดื่มสุรานั้นแล้ว ย่อมพูดเท็จนั้นได้ ท่านช่วยซื้อหม้อใบนี้ซึ่งเต็มด้วยสุรานั้นไว้
บุคคลดื่มสุราแล้ว ถูกใช้ไปในกรณียกิจรีบร้อนเกิดขึ้น ถูกซักถามก็ไม่รู้เนื้อความ ท่านช่วยซื้อหม้อใบนี้ซึ่งเต็มด้วยสุรานั้นไว้
บุคคลแม้จะมีใจละอาย ครั้นเมาสุราแล้ว ก็ย่อมจะทำความไม่ละอายให้ปรากฏได้ แม้จะเป็นคนหนักแน่นอยู่บ้าง ก็อดพูดมากไม่ได้ ท่านช่วยซื้อหม้อใบนี้ซึ่งเต็มด้วยสุรานั้นไว้
บุคคลดื่มสุราแล้ว นอนดังลูกสุกรอดอาหาร ย่อมถึงความนอนเป็นทุกข์ที่พื้นดิน เขาต้องถึงความมีผิวพรรณทรามและความติเตียน ท่านช่วยซื้อหม้อใบนี้ซึ่งเต็มด้วยสุรานั้นไว้
บุคคลดื่มสุราแล้ว ย่อมนอนคอตก หาเป็นเหมือนโคที่ถูกลงปฏักฉะนั้นไม่ ฤทธิ์สุราย่อมทำให้คนอดทนได้ (ไม่กินข้าวกินน้ำ) ท่านช่วยซื้อหม้อใบนี้ซึ่งเต็มด้วยสุรานั้นไว้
มนุษย์ทั้งหลาย ย่อมเว้นสุราอันเปรียบด้วยงูมีพิษร้าย ใครคนไหนในโลกควรจะดื่มสุราอันเสมอด้วยพิษงู ท่านช่วยซื้อหม้อใบนี้ซึ่งเต็มด้วยสุรานั้นไว้
โอรสทั้งหลายของท้าวอันธกเวณฑะ ดื่มสุราแล้ว พาหญิงไปบำเรออยู่ริมฝั่งสมุทร ประหารกันและกันด้วยสาก ท่านช่วยซื้อหม้อใบนี้ซึ่งเต็มด้วยสุรานั้นไว้
พวกอสูรดื่มสุราแล้ว เมาจนถึงจุติจากไตรทิพย์ สำคัญตัวว่าเที่ยง มีมารยา ข้าแต่พระมหาราชา เมื่อรู้ว่าสุราเช่นนั้นเป็นน้ำเมา หาประโยชน์มิได้ จะดื่มทำไม ในหม้อนี้ไม่มีเนยข้น หรือน้ำผึ้ง พระองค์รู้อย่างนี้แล้ว จงขายเสีย ข้าแต่ท่านสรรพมิตร สิ่งที่อยู่ในหม้อนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้กราบทูลแก่พระองค์แล้ว ด้วยประการฉะนี้
ข้อ ๒๒๙๔
ท่านมิใช่เป็นบิดา หรือมารดาของข้าพเจ้า ท่านเป็นคนชนิดใดชนิดหนึ่ง มีความอนุเคราะห์ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล ปรารถนาประโยชน์อย่างยิ่ง ตั้งแต่วันนี้ไป ข้าพเจ้าจักทำตามคำของท่าน ข้าพเจ้าขอให้บ้านส่วย ๕ ตำบล ทาสี ๑๐๐ โค ๗๐๐ รถเทียมด้วยม้าอาชาไนย ๑๐ คันแก่ท่าน ขอท่านผู้ปรารถนาประโยชน์ เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าเถิด
ข้อ ๒๒๙๕
ข้าแต่พระราชา ทาสี บ้านส่วย โค และรถอันเทียมด้วยม้าอาชาไนย จงเป็นของพระองค์ตามเดิมเถิด ข้าพเจ้าเป็นท้าวสักกะจอมเทพ ชาวไตรทิพย์ พระองค์จงเสวยพระกระยาหาร เนยใส และข้าวปายาส พึงเสวยขนมกุมมาสอันโอชารส
ดูกร พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน พระองค์ยินดีในธรรม ไม่ถูกใครๆ ติเตียนด้วยอาการอย่างนี้แล้ว จงเข้าถึงสัคคสถาน
จบกุมภชาดกที่ ๒
ข้อความจากพระไตรปิฎกโดยมากเป็นเฉพาะภาษิต ส่วนเรื่องจริงๆ ที่เกิดขึ้นเป็นชาดกนั้น ก็มีเรื่องที่สมบูรณ์กว่านี้
ท่านผู้ฟังเห็นด้วยไหมกับข้อความที่เป็นโทษของสุราว่า สามารถที่จะเป็นไปได้อย่างนั้นจริง ซึ่งถ้าท่านสังเกตอย่างละเอียด ย่อมจะพิจารณาเห็นโทษของสุราซึ่งเกิดกับตัวท่านเอง หรือเกิดกับบุคคลอื่นก็ได้ว่า ขณะนั้นลักษณะของผู้เสพสุราจะมีการเปลี่ยนแปลงประการใด และเป็นโทษประการใดด้วย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๒ ตอนที่ ๔๑๑ – ๔๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 361
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 362
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 363
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 364
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 365
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 366
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 367
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 368
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 369
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 370
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 371
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 372
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 373
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 374
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 375
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 376
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 377
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 378
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 379
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 380
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 381
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 382
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 383
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 384
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 385
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 386
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 387
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 388
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 389
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 390
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 391
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 392
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 393
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 394
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 395
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 396
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 397
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 398
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 399
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 400
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 401
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 402
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 403
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 404
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 405
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 406
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 407
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 408
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 409
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 410
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 411
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 412
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 413
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 414
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 415
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 416
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 417
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 418
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 419
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 420