แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 415
ครั้งที่ ๔๑๕
ผู้ที่ไม่ศึกษาธรรมโดยละเอียด จะไม่ทราบเลยว่า ท่านเต็มไปด้วยอกุศลมากมายแค่ไหน เหมือนอย่างผู้ที่ยังไม่ได้เริ่มเจริญสติปัฏฐาน จะไม่ทราบเลยว่า ท่านหลงลืมสติมากสักแค่ไหน ตลอดเวลาที่ผ่านมาเมื่อสักครู่นี้ สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมอะไร ระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมอะไร รู้ได้ด้วยตัวของท่านเองว่า สติเกิดไหม เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะทราบได้ในลักษณะของขณะที่มีสติ กับขณะที่หลงลืมสติ
การเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน คือ เป็นผู้ที่มีปกติจริงๆ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ
ได้สนทนากับท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านถามเรื่องนามธรรมที่เห็น กำลังเห็นนี้เป็นนามธรรม ทีแรกท่านก็นั่งเฉยๆ ตามธรรมดาปกติ แต่เวลาที่พูดเรื่องนามเห็น ท่านก็ชะโงกหน้าจ้องว่า ที่กำลังเห็นในขณะนี้ ก็ตอนที่ยังไม่ชะโงกหน้า ก็เห็นเป็นปกติ ทำไมเวลาที่จะระลึกรู้ว่าเป็นสภาพรู้ทางตาจึงจะต้องชะโงกหน้าจ้อง ในขณะที่กำลังเห็น ไม่ต้องชะโงกหน้าจ้อง กำลังนั่งอยู่เดี๋ยวนี้ ก็เห็นตามปกติธรรมดา สติก็เกิดขึ้นระลึกได้ ตราบใดที่ยังไม่เป็นปกติ ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นตัวตนอยู่มาก
เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง คือ ตามปกติที่กำลังเป็นอยู่ จะต้องอบรมเจริญปัญญา สังเกต สำเหนียก รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยละเอียดจริงๆ ถ้าเป็นความคิดนึก ไม่ใช่ห้าม หรือยับยั้งไม่ให้คิดนึก แต่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ว่า ที่คิดอย่างนั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ต้องอาจหาญ กล้าหาญที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ถ้าพยายามยับยั้งไม่ให้คิด เมื่อไรจะรู้ว่า การคิดนึกนี้ก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐาน จึงต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญาระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง บางท่านเดิน และบอกว่า กำลังเดินก็ให้รู้ว่ารูปไหว แต่การเจริญสติปัฏฐานเป็นการรู้ลักษณะของรูปที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เป็นการนึกว่า รูปไหว กำลังเดิน เห็นอะไรไหม ได้ยินอะไรไหม อ่อนแข็งตรงไหนไหม ลักษณะอ่อนแข็งปรากฏ กระทบพื้น ลักษณะไหวที่กำลังก้าวอาจจะไม่ปรากฏเลย แต่ทำไมนึกว่าเป็นรูปไหว ทำไมไม่รู้ตรงลักษณะของรูปที่ไม่ต้องนึกก็ปรากฏ
การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เพียงนึกว่ามีรูปนั้น แต่ต้องเป็นการรู้ลักษณะของรูปที่มีจริงที่ปรากฏในขณะนั้นด้วย ถ้าขณะนั้นลักษณะนั้นของรูปไม่ปรากฏ ก็ไม่ใช่ให้นึกว่ามีรูปนั้น
รูปกำลังปรากฏในขณะนี้ทางตาใช่ไหม รูปกำลังปรากฏอยู่แล้ว เป็นลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เป็นของจริงที่สติจะต้องระลึกเพื่อรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตานี้ก็เป็นแต่เพียงของจริงที่ปรากฏทางตาเท่านั้น แต่ไม่ใช่เป็นคำพูดยาวๆ อย่างนี้
ถ. การไหวไม่ใช่ปรากฏทางตาใช่ไหม เพราะว่าทางตาเห็นได้แต่สี
สุ. อย่าติดในคำว่าสี โดยมากภาษาไทยใช้คำว่าสี จะนึกถึงสีเขียว สีแดง สีดำ สีน้ำตาล สีชมพู สีอะไรต่างๆ แต่ความจริงสีต่างๆ เหล่านั้นก็ปรากฏ ไม่ใช่ไม่ปรากฏ แต่ให้รู้ในอาการ หรือในสภาพตามความเป็นจริงว่า ที่กำลังเห็นนี้เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ เป็นของจริงที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ให้รู้ถึงสภาพปรมัตถ์ซึ่งเป็นของจริงที่ปรากฏทางตา ปรากฏเป็นสีต่างๆ ซึ่งโดยสภาพตามความเป็นจริง คือ รูปนั้นเป็นรูปที่สามารถกระทบจักขุปสาทที่อยู่กลางตา โดยที่จักขุปสาทนั้นมองไม่เห็นเลย แต่แม้กระนั้นรูปนี้ก็สามารถกระทบจักขุปสาท
ผู้ที่ไม่มีจักขุปสาท จักขุปสาทไม่เกิด รูปนี้ไม่สามารถกระทบให้เกิดการเห็นขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่กำลังปรากฏ ก็เป็นแต่เพียงรูปที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง เป็นของจริงที่ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะต้องระลึก จนกระทั่งละคลายความไม่รู้ในลักษณะของรูปธรรมและนามธรรมทางตา เพราะว่าโดยมากพอเห็น ก็เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน โดยที่ไม่แยกว่า ที่รู้นั้นเป็นนามธรรม ต้องแยกโดยละเอียดจริงๆ เพราะถ้าปัญญายังไม่รู้อย่างนี้ ก็อย่าเพิ่งไปประจักษ์ว่าอะไรเกิดขึ้นและดับไป เป็นอุทยัพพยญาณ หรืออะไรเลย
อุทยัพพยญาณ หมายความถึงปัญญาที่สมบูรณ์เพราะการพิจารณา เป็น ตีรณปริญญา รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั้งหลายโดยสามัญลักษณะ จึงจะทำให้ละคลายยิ่งขึ้น จนประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปได้
เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องอบรมตามระดับขั้นจริงๆ เริ่มตั้งแต่ระลึกรู้ลักษณะที่เป็นรูปธรรมว่าเป็นรูปธรรม ระลึกรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมว่าเป็นนามธรรมเสียก่อน จึงจะเป็นปัญญาที่ได้อบรม
ถ. คำว่า วิจิกิจฉา ความสงสัย อย่างไรก็ต้องมีโมหเจตสิก โมหะ แปลว่า ไม่ดี ที่อาจารย์กล่าวว่า มีใครสงสัยไหม ก็ยุให้มีโมหเจตสิก
สุ. โมหเจตสิก หรือโมหมูลจิตนั้นมีกันอยู่แล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะมีตอนที่ถามว่า ท่านผู้ฟังมีอะไรสงสัยไหม ถึงแม้ว่าจะไม่ถามอย่างนี้ ขณะใดที่ไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ขณะนั้นก็เป็นโมหเจตสิก
ถ. ผมชอบสงสัยเสมอ สงสัยอยู่มากทีเดียว ที่พระผู้มีพระภาคบอกว่า ถ้าไม่รู้แจ้งเห็นจริงไปนิพพานไม่ได้ คนอย่างผม เรื่องรู้แจ้งเห็นจริง เห็นจะยาก ถามคนนั้นนิด คนนี้หน่อย ถามอาจารย์บ้าง อ่านหนังสือบ้าง อยากจะให้รู้แจ้งจริงๆ อายุผม ๗๗ เวลาเรียนเหลือน้อยเต็มที ฟังเทปของท่านอาจารย์กล่าวว่า มีสติ ให้รู้ลักษณะของสติด้วย ลักษณะของศรัทธาด้วย เป็นอย่างไร
สุ. สภาพธรรมที่มีจริงนี้เกิดแล้ว แต่ขณะใดที่สติไม่ระลึกรู้ ขณะนั้นก็ไม่รู้ชัดว่า ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะนั้นต่างกัน อย่างเช่น สติกับศรัทธา ก็เป็นสภาพธรรมต่างชนิด แต่ที่จะรู้ได้ ไม่ใช่โดยชื่อ แต่โดยที่สภาพธรรมนั้นกำลังปรากฏ และสติก็รู้ในลักษณะนั้น เช่น สภาพลักษณะของศรัทธาเกิดขึ้น เป็นความผ่องใสของจิต เป็นไปในกุศล ขณะนั้นสติก็ระลึกรู้ในสภาพที่ผ่องใสเป็นไปในกุศล ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึงสภาพลักษณะนั้นโดยใช้คำ บัญญัติว่า ศรัทธา
หรือเวลาที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นก็รู้ว่า ลักษณะของสติเป็นอย่างนั้น เป็นของจริง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่ระลึกรู้อย่างนั้น เป็นสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติคำให้รู้ในสภาพของพยัญชนะนั้นว่า เป็นสติ ไม่ได้หมายความว่าสติไม่มี ศรัทธาไม่มี แต่มีลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏว่าต่างกัน
ถ. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อเช้าผมไปที่สำนักปู่สวรรค์ มีคนรดน้ำมนต์แล้วตัวสั่น อาจารย์เห็นว่าอย่างไรในเรื่องผี เรื่องวิญญาณ
สุ. ไม่มีอะไรที่จะพ้นไปจากนามธรรมและรูปธรรม จะไปที่ไหนก็ตามแต่ จะเห็นอะไรก็ตามแต่ จะได้ยินอะไรก็ตามแต่ สติเกิดขึ้นระลึกรู้ว่า ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมเท่านั้น รูปธรรมเท่านั้น นี่คือของจริง แต่ไม่ใช่จะไปหาสิ่งที่ไม่จริงมาเพิ่มความไม่รู้ให้มากขึ้น เพราะว่าขณะใดที่สติไม่เกิดขึ้น ก็ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ถ้าท่านผู้ใดต้องการที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ด้วยประการเดียว คือ ไม่ว่าจะไปที่ไหน จะอยู่ที่ไหน จะได้ยินอะไร จะคิดอะไร ก็ให้ระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นแต่เพียงรูปธรรมเท่านั้น นี่คือประโยชน์สูงสุดของการแสวงหาธรรม ไม่ใช่ไปติดในเรื่องอื่น
ถ. ขอให้ท่านอาจารย์อธิบายคำว่ามัชชะ
สุ. โดยอรรถกถา ท่านได้แสดงไว้โดยประเภทของปานะว่า ปานะอื่นนอกจากสุราเมรัย แต่เป็นวัตถุที่ทำให้เกิดความมึนเมา ชื่อว่ามัชชะ แต่ก็ไม่ควรที่จะจำกัดเฉพาะปานะ อะไรก็ตามที่เป็นที่ตั้งของความมึนเมา เป็นวัตถุที่ทำให้เกิดความมึนเมา และมีเจตนาที่จะดื่มเพื่อความมึนเมาด้วย
ถ. ที่ท่านอาจารย์ใช้คำว่าดื่ม ถ้าดื่มรู้สึกว่าเป็นของเหลว ถ้าเป็นของไม่เหลว เราก็เรียกว่ากลืนกิน หรือเสพทางปาก อย่างนี้จะใช้ได้หรือไม่ครับ
สุ. ถ้าไม่ใช่ของที่จะพึงดื่ม ใช้คำว่าเสพก็ได้ คือ ถ้าเจตนาเพื่อความ มึนเมาแล้ว ทั้งหมดก็เป็นสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เพราะว่าพยัญชนะก็บอกแล้วว่า เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ความมึนเมาเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ทำให้หลงลืมสติ
ทำให้สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม
ถ, บุคคลสมาทานศีลอุโบสถแล้วก็มาสูบฝิ่น อย่างนี้จะถือว่าผิดศีลข้อนี้หรือไม่
สุ. ผิดแน่ ไม่มีปัญหาเลย เพราะว่าการรักษาศีลเป็นการขัดเกลาละคลายกิเลสให้ยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพื่อจะเอาบุญ โดยการที่รู้ว่ามีอะไรบ้าง และก็พยายามไปรับมา แต่ไม่เข้าใจเจตนาจุดประสงค์ เข้าใจว่า ขณะนั้นได้บุญได้กุศลมากเหลือเกิน เพราะฉะนั้น จะผิดจะถูกอย่างไรก็รับไว้ก่อน นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของการรักษาศีล ไม่ว่าจะเป็นประการใดประการหนึ่งก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ ไม่ว่าจะเป็นศีล ๘ ศีลอุโบสถ
จุดประสงค์ของผู้รักษาศีล ก็เพื่อเพียรประพฤติขัดเกลาเท่าที่สามารถจะกระทำได้ ไม่ใช่ไปรับมาเพื่อได้บุญ และมีอกุศลจิตที่จะกระทำตรงกันข้ามกับเจตนา คือ เพิ่มกิเลสให้มากขึ้น
ถ. ที่ว่าไปรับศีลมาแล้ว มาเสพฝิ่น ก็ถือว่าผิดศีลข้อนี้ ส่วนสูบกัญชา สูบเฮโรอีน จะผิดศีลข้อนี้ไหมบ
สุ. ก็เหมือนกัน รักษาศีล ๕ อยู่ดีๆ ก็ไปเพิ่มเป็นศีล ๘ เพื่อจะขัดเกลาให้ยิ่งขึ้น แต่ก็กลับไปทำสิ่งที่ตรงกันข้าม คือ แทนที่จะขัดเกลา กลับไปสะสมพอกพูนกิเลสให้ยิ่งขึ้น ก็ไม่ตรงจุดประสงค์
ถ. สูบบุหรี่จะผิดศีลข้อนี้ไหมครับ
สุ. หมาก พลู บุหรี่ ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า เพื่อความมึนเมา หรือเป็นแต่เพียงการติดในรส แล้วแต่ท่านผู้ฟังจะวินิจฉัยด้วยว่า การสูบนั้นเป็นการติดในรส ต้องการในรสนั้นเหมือนต้องการในรสอื่นบางรสหรือไม่ ซึ่งบางท่านก็อาจจะติดกาแฟ บางท่านก็ติดรสอื่น แต่ว่ารสอย่างนี้ก็เป็นการติด เมื่อติดแล้ว ให้โทษเหมือนกับสุราเมรัย มัชชะ หรือไม่
นั่นก็เป็นเรื่องที่ควรที่จะได้พิจารณาถึงวัตถุซึ่งเป็นที่ตั้งของศีลข้อที่ ๕ ว่า ศีลข้อที่ ๕ นั้น เพ่งเล็ง หมายความถึงวัตถุซึ่งทำให้เกิดความมึนเมา หลงลืมสติ ประมาท แต่การกินหมาก สูบบุหรี่จะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ก็แล้วแต่จะวินิจฉัย ซึ่งก็คงจะปรากฏแล้วว่า ไม่เป็นถึงอย่างนั้น
ถ. ขอบพระคุณครับ ชาวพุทธอย่างเราๆ ยังตีความอันนี้ไม่ค่อยจะกระจ่างแจ้ง และโดยมากก็มักจะตีความเข้าข้างตัวเองเสียด้วย แท้ที่จริงแล้วหมากนี้ผมเองเคยทดลองกิน เมาครับ สูบบุหรี่ก็เมาเหมือนกัน คนกินเหล้า ถ้านิดเดียวก็ไม่เมา เรื่องเหล้านี้ยังมีอีก ในทางศาสนานี้ มีพระ ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งบอกว่า ถ้าพระเสพสุราอ่อนๆ สีแดงขนาดเท้านกพิราบ อย่างนี้ท่านไม่ถือว่าเป็นอาบัติ อย่างนี้ดื่มได้
ที่ว่าเมาหรือไม่เมา ใช้อะไรเป็นมาตรฐาน สำหรับท่านที่มีปัญญาก็ควรพิจารณาว่า เรารักษาศีลแล้ว ถ้าเรากินหมาก กินพลู สูบบุหรี่ สูบกัญชา สูบฝิ่น สูบเฮโรอีกอย่างนี้ จะละเมิดศีลข้อนี้หรือไม่
สุ. ขอกล่าวถึงหมากพลู บุหรี่อีกเล็กน้อย เข้าใจว่าอาจจะเป็นขนบธรรมเนียม ความเคยชินของแต่ละชาติแต่ละภาษา ซึ่งแม้แต่ในครั้งพุทธกาลก็มีพยัญชนะที่ว่า เป็นของควรเคี้ยว ซึ่งเป็นการต้อนรับ ดิฉันเองไม่มีความรู้ในทาง พระวินัยพอที่จะรู้ความหมายว่า รวมถึงอะไรบ้างในการต้อนรับพระภิกษุ ที่มีของควรเคี้ยว ขบฉันต่างๆ เหล่านี้ ท่านที่สนใจในด้านนี้ ก็ควรที่จะได้กราบเรียนถามท่านที่มีความรู้ในทางพระวินัยด้วย
ถ. ปัญหาอีกข้อหนึ่ง คือ การติดยาเสพติดชนิดหนึ่งที่เรียกว่า มอร์ฟีน มอร์ฟีนนี้ใช้ฉีดเข้าผิวหนัง ขอเรียนถามว่า การฉีดมอร์ฟีนนี้ จะผิดศีลข้อนี้ด้วยหรือไม่
สุ. การฉีดมอร์ฟีน เพื่อจุดประสงค์อะไร
ถ. โดยมากก็เป็นโรคชนิดหนึ่ง เสพยาเสพติดเข้าไปอย่างเฮโรอีน แต่เขาหาทางบำบัดในทางอื่น แทนที่จะไปเสพเฮโรอีน เขาก็หันมาใช้มอร์ฟีนแทน เพื่อบำบัดอาการกระวนกระวายที่ไม่ได้สูบเฮโรอีน เหมือนคนติดเหล้า พอเย็นเข้ามือสั่น คนติดมอร์ฟีนก็เหมือนกัน ถ้าไม่ได้ยาจะรู้สึกกระวนกระวายอย่างยิ่ง ถ้าฉีดแล้วก็หาย สบาย สมองปลอดโปร่ง ทำนองเดียวกัน
สุ. ถ้าพูดถึงเรื่องสิ่งเสพติด เป็นโทษทั้งนั้น แต่จะเป็นโทษมากน้อยขั้นไหนก็แล้วแต่สภาพของวัตถุ ซึ่งเป็นที่ตั้งที่จะให้เกิดความมึนเมา หรือการเสพติดนั้น ดิฉันใคร่ที่จะได้ทราบลักษณะของการเมาหมากว่าเป็นอย่างไร
ถ, กินหมากเข้าไปรู้สึกหน้าชาเลย เมา เวียนศีรษะ หน้าแดง ต้องรีบคายทิ้ง บ้วนน้ำมากๆ ยังไม่หายเลย สูบบุหรี่ก็เหมือนกัน สูบครั้งแรกมึนหัว โคลงเคลงไปหมด เหล้าก็เหมือนกัน กินเข้าไปครั้งแรก หน้าตาแดง กินเข้าไปมาก เดินโซซัดโซเซ ถ้ายังไม่เคยเสพ บอกไม่ถูกหรอก
สุ. พิจารณาดูแล้ว อย่างหมาก บุหรี่ ถ้าเสพเข้าไปมากๆ ก็คงเมาไม่เท่ากับการเสพสุรา เพราะฉะนั้น ก็ต่างกัน แต่ถ้าพูดถึงโทษ ก็คงจะมีบ้าง โทษที่เล็กน้อยที่สุด คือ เป็นสิ่งที่ติดเท่านั้นเอง เพราะว่าท่านที่จะอดบุหรี่นั้นทำได้ยาก ถ้าท่านมีนิสัยในการที่จะสูบบุหรี่เสียแล้ว
แต่ท่านที่งดการสูบบุหรี่ ท่านจะทราบว่า เพราะท่านเห็นโทษ จะเป็นประการหนึ่งประการใด หรือว่าหลายประการก็ตาม เมื่อใดเกิดเห็นโทษขึ้น เมื่อนั้นก็ย่อมมีการวิรัติ งดเว้นได้ แต่ถ้าตราบใดที่ยังไม่เห็นโทษ แค่เห็นว่าเป็นการติด ซึ่งไม่ได้ให้โทษอะไร ท่านก็ยังคงเสพต่อไป เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่า ท่านจะเห็นโทษหรือไม่เห็นโทษ มากหรือน้อย ถึงขั้นที่จะทำให้งดเว้นหรือยังไม่งดเว้น ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แต่ก็ไม่ถึงกับจะให้มึนเมาเหมือนอย่างสุราและเมรัย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๒ ตอนที่ ๔๑๑ – ๔๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 361
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 362
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 363
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 364
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 365
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 366
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 367
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 368
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 369
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 370
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 371
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 372
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 373
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 374
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 375
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 376
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 377
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 378
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 379
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 380
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 381
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 382
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 383
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 384
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 385
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 386
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 387
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 388
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 389
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 390
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 391
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 392
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 393
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 394
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 395
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 396
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 397
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 398
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 399
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 400
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 401
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 402
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 403
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 404
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 405
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 406
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 407
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 408
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 409
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 410
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 411
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 412
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 413
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 414
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 415
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 416
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 417
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 418
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 419
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 420