แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 417
ครั้งที่ ๔๑๗
วิสุทธิมรรคบาลี อธิบายศีล ๒ คือ อภิสมาจาริกศีล ๑ อาทิพรหมจริยกศีล ๑ มีข้อความว่า
อภิสมาจาร เป็นชื่อของศีลที่เหลือมาจากอาชีวัฏฐมกศีล
ให้เห็นความสำคัญของศีล ๘ ที่เป็นอาชีวัฏฐมกศีล เพราะเหตุว่าชีวิตจริงดำเนินไปด้วยอาชีพเป็นปกติประจำวัน พร้อมทั้งการที่จะต้องละกายทุจริต ๓ และ วจีทุจริต ๔ ด้วย อย่ามุ่งที่จะละเพียงมุสาวาทซึ่งเป็นวจีทุจริต ๑ ในวจีทุจริต ๔ เท่านั้น
อาชีวัฏฐมกศีลเป็นศีลที่เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ จริงอยู่ ที่ชื่อว่าเป็นเบื้องต้นแห่งมรรค เพราะต้องชำระในเบื้องต้นทีเดียว ด้วยเหตุนี้ท่านจึงกล่าวว่า ผู้นั้นมีกายกรรม วจีกรรม และอาชีวะบริสุทธิ์ในเบื้องต้น
บรรพชิตที่จะดับกิเลส จะต้องมีอาชีวะบริสุทธิ์ พร้อมด้วยศีลที่เหมาะสมควรแก่สมณเพศที่ได้ทรงบัญญัติแล้ว ฆราวาสที่เพียรจะขัดเกลาละคลายกิเลสให้เบาบาง ก็จะต้องมีอาชีวะบริสุทธิ์พร้อมทั้งเว้นกายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ จึงเป็นอาชีวัฏฐมกศีล คือ ศีลมีอาชีวะเป็นที่ ๘
ข้อความใน ปรมัตถมัญชุสา มีว่า
เพราะบำเพ็ญอภิสมาจาริกศีลบริบูรณ์ อาทิพรหมจริยกศีลจึงบริบูรณ์ ผู้ใดเว้นโทษเล็กๆ น้อยๆ ได้ ไม่มีคำที่จะต้องกล่าวว่า ผู้นั้นจะต้องเว้นสิ่งที่หนักมีโทษมาก มีอาทีนวะมาก เป็นต้น
ถ้าท่านผู้ใดรังเกียจกิเลส ไม่ว่าจะเล็กน้อยสักเท่าไร ฉะนั้น กิเลสใหญ่ๆ ท่านก็ยิ่งต้องรังเกียจและละเว้นมาก เพราะฉะนั้น การขัดเกลาจิตใจก็จะต้องเห็นคุณของการที่ละเว้นกิเลสทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นประเภทเบา ประเภทหนักประการใด ยิ่งมีการอบรมเจริญเห็นโทษของกิเลส รังเกียจกิเลสมาก เว้นโทษเล็กๆ น้อยๆ ได้ ก็ไม่มีคำที่จะต้องกล่าวว่า ผู้นั้นจะต้องเว้นสิ่งที่หนัก มีโทษมาก มีอาทีนวะมาก เป็นต้น และเป็นปกติของฆราวาสที่เพียรขัดเกลากิเลสให้เบาบาง ด้วยการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญ สติปัฏฐาน
ยิ่งรู้เรื่องของศีลละเอียดขึ้น และเห็นว่าไม่ยากในการที่จะประพฤติปฏิบัติตาม เห็นคุณของการที่ควรจะประพฤติปฏิบัติตาม ท่านก็ยิ่งเป็นผู้ที่จะละคลายกิเลสให้เบาบางได้
สำหรับฆราวาส ศีลของอุบาสกอุบาสิกาที่ทรงแสดงไว้ย่อมเป็นไปด้วยสามารถ แห่งศีล ๕ และศีล ๑๐ แล้วแต่ว่าจะเป็นศีล ๕ ศีล ๘ อาชีวัฏฐมกศีล หรือศีล ๘อุโบสถ หรือศีล ๑๐ ย่อมแล้วแต่ความสามารถของแต่ละบุคคลที่มีอุปนิสัยต่างๆ กัน
ชีวิตของฆราวาสไม่เหมือนกัน แม้แต่ศีล ๕ ท่านจะสมาทานเป็นข้อก็ได้ เมื่อท่านรู้ว่า ข้อนั้นท่านไม่อาจจะรักษาได้ แต่ข้ออื่นท่านอาจจะรักษาได้ ท่านก็มีเจตนาตั้งมั่นที่จะรักษาศีลข้อที่ท่านสามารถจะรักษาได้ ก็เป็นการดี
บางท่านอาจจะรักษาศีล ๕ รวมทั้งศีล ๘ ที่เป็นอาชีวัฏฐมกศีล และบางท่านก็อาจจะรักษาศีลอุโบสถ ศีล ๘ ที่ไม่ใช่อาชีวัฏฐมกศีล ถ้ากิเลสมีกำลัง การรักษาศีลที่เป็นอาชีวัฏฐมกศีลก็เป็นเรื่องยาก แต่เป็นเรื่องที่พากเพียรไป ขัดเกลาไป อบรมไป เท่าที่สามารถจะกระทำได้ แต่แม้กระนั้นผู้ที่จะสมบูรณ์จริงๆ ในศีล ๕ ก็ต้องเป็น พระโสดาบันบุคคล สำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคลอาจจะอบรมรักษาศีล ๕ ได้บริสุทธิ์ แต่ว่าไม่เป็นสมุจเฉท อาจจะมีเหตุการณ์ หรือว่ามีโอกาสที่กิเลสจะมีกำลัง ทำให้ล่วงศีล ๕ ได้
เพราะฉะนั้น สำหรับแต่ละบุคคล ท่านจะรู้จักตัวของท่านละเอียดดีจริงๆ ก็ด้วยการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน
อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต อุปาลิสูตรที่ ๙ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอุบาลีว่า
การอยู่ป่าเป็นการทนได้ยากสำหรับภิกษุผู้มีศักดาน้อย เพราะว่าป่าทั้งหลายเห็นจะทำกิจของภิกษุผู้ไม่ได้อุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิให้ฟุ้งซ่านไป ด้วยเสียงหญ้า เสียงใบไม้ และเสียงมฤคชาติ (เสียงสัตว์ต่างๆ ) ด้วยความกลัวต่างๆ จิตของภิกษุนี้จักจมลงด้วยกามวิตก จิตของภิกษุนี้จักฟุ้งขึ้นด้วยพยาปาทวิตก และวิหิงสาวิตก
การอยู่ป่า พระองค์ทรงสรรเสริญ แต่แม้กระนั้นพระผู้มีพระภาคก็ยังตรัสกับท่านพระอุบาลีว่า การอยู่ป่าเป็นการทนได้ยากสำหรับภิกษุผู้มีศักดาน้อย ฯลฯ ตามข้อความข้างต้น เพราะฉะนั้น ทรงสรรเสริญจริง แต่ก็แล้วแต่กำลังของบุคคลว่าสามารถจะดำเนินชีวิตอย่างนั้นได้หรือไม่ เช่นเดียวกับการรักษาศีลอุโบสถสำหรับฆราวาส บางท่านรักษาได้ บางท่านรักษาไม่ได้ แม้ว่าจะทรงสรรเสริญไว้ แต่ก็แล้วแต่ว่า ฆราวาสนั้นมีอุปนิสัย มีความสามารถที่จะรักษาได้มาก หรือว่ารักษาได้น้อย หรือว่าไม่สามารถรักษาได้เลย
อย่างไรก็ตามเรื่องของการที่จะเป็นผู้มีศีล ๕ สมบูรณ์ ก็ต้องด้วยปัญญาที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม แม้ศีลอื่นก็เช่นเดียวกัน ที่จะสมบูรณ์ขึ้น ก็ต้องตามระดับขั้นของปัญญาที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม
สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค สีลมยญาณนิทเทสวรรณนา มีข้อความว่า
ผู้ทำศีลนั้นให้บริบูรณ์ ชื่อว่า มีปกติทำให้บริบูรณ์ พระเสกขบุคคลเหล่านั้น ผู้มีปกติทำให้บริบูรณ์ ทำความบริบูรณ์แห่งวิปัสสนาให้บริบูรณ์ ในธรรมอันเป็นข้อปฏิบัติอันมีพระเสกขะเป็นที่สุด อันเป็นเบื้องต้นแห่งโสตาปัตติมรรค
เป็นผู้มีปกติทำให้บริบูรณ์ ท่านอาจจะขาดตกบกพร่องไปขณะที่หลงลืมสติ เพราะเหตุว่ายังไม่ใช่พระอริยเจ้า แต่หนทางที่จะดำเนินไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า คือการเป็นผู้มีปกติทำศีลให้บริบูรณ์ เมื่อบรรลุถึงโสตาปัตติมรรคเป็นพระอริยเจ้าแล้ว ก็เป็นผู้ที่ ทำความบริบูรณ์แห่งวิปัสสนาให้บริบูรณ์ ในธรรมอันเป็นข้อปฏิบัติ อันมี พระเสกขะเป็นที่สุด อันเป็นเบื้องต้นแห่งโสตาปัตติมรรค
เรื่องของศีล ๕ ที่จะสมบูรณ์ หรือว่าจะล่วงเป็นทุจริตไปบ้างนั้น ตราบใดที่ สติปัฏฐานยังไม่ได้อบรมเจริญจนปัญญาคมกล้า จนรู้ทั่วในสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง ตราบนั้นก็ยังไม่สามารถที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้
เพราะฉะนั้น ชีวิตปกติประจำวันของทุกท่านเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า กิเลสของท่านเองมากหรือน้อย ใกล้ต่อการที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าหรือยัง ซึ่งก็ยังอีกไกล
แต่ละคนๆ มีเรื่องราวต่างๆ มากมายเหลือเกิน นี่คือความจริงที่สติจะต้องระลึกรู้ จึงจะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลได้
ลองคิดดูถึงชีวิตของท่านจริงๆ มีบ้างไหมอยู่เฉยๆ ไม่ได้คิดอะไร ไม่พูด ก็มี ไม่ทำ ก็มี แต่ไม่คิดมีไหม เป็นเรื่องเป็นราวมากมาย ซึ่งขณะที่เป็นเรื่องเป็นราว เป็นตัวตนหรือไม่
เพราะฉะนั้น ตัวตนมากมายเหลือเกิน ทับถม นามรูปที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกระทั่งไม่เห็นเลยว่า เป็นแต่เพียงลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏแต่ละทางเท่านั้น
อย่างทางตา กำลังเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมของจริงที่ปรากฏเฉพาะทางตาเท่านั้น และที่กำลังเห็นก็เป็นของจริง คือ กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ชั่วในขณะนี้ และก็หมดไป แต่ว่าเรื่องราวต่างๆ มากมายเกินลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏทางตา
ขณะที่ได้ยินทางหู ขณะที่กลิ่นปรากฏทางจมูก ขณะที่รสปรากฏที่ลิ้น ขณะที่กายกระทบสัมผัส เต็มไปด้วยเรื่องราวต่างๆ และเรื่องราวทั้งหมดนั้น เป็นตัวตน สัตว์ บุคคลทั้งนั้น และจะทำอย่างไร บางคนบอกว่าไม่ให้คิด ได้ไหม
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นการระลึกรู้สภาพธรรมที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะคิดนึกเรื่องอะไรก็ตาม ก็ควรที่จะได้รู้ว่า ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงสภาพของธรรมที่เป็นนามธรรมที่คิดนึก แต่ไม่ใช่พยายามยับยั้งที่จะไม่ให้คิด เพราะว่าขณะนั้นเป็นลักษณะของตัวตนที่พยายามไปบังคับไม่ให้คิดนึก ซึ่งเรื่องของปัญญาไม่ใช่เป็นการหลบหลีกกิเลส แต่เป็นการที่สติระลึกรู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะพยายามพากเพียรให้เป็นพระอริยเจ้าภายใน ๑๐ วัน ๑๕ วัน ๑ เดือน หรือ ๓ เดือน โดยที่ไม่รู้แม้แต่ว่า ชีวิตประจำวันนี้ สภาพธรรมเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ซึ่งถ้าสติไม่ระลึกก็ไม่รู้ เช่น เรื่องราวที่มีอยู่ในใจของทุกคนมากมายหลายเรื่อง สติก็ไม่เกิดขึ้นที่จะระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมที่คิดแล้วก็ดับไป และก็มีนามธรรมรูปธรรมอื่นเกิดขึ้นอีกเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับไป
ด้วยเหตุนี้ อาชีวัฏฐมกศีลจึงเป็นประโยชน์ ควรที่จะได้ประพฤติปฏิบัติตามเท่าที่สามารถจะกระทำได้ พร้อมทั้งเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน บางท่านคิดว่า จะหลบกิเลส เพื่อที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่กิเลสจะยอมให้หลบไหม กิเลสไม่ได้ยอมให้ท่านหลบเลย ปกติขณะนี้มีอยู่ตลอดเวลาที่ปัญญาไม่รู้แจ้งว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น จะทำอย่างไร ก็มีหนทางเดียวเท่านั้น คือ เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน
บางท่านบอกว่า กำลังโกรธมาก สติไม่เกิดเลย ก็จริง ถ้าไม่ได้อบรมเจริญ สติปัฏฐานมาเพียงพอ แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ไม่ว่าจะโกรธน้อย หรือว่าโกรธมาก พอใจมาก หรือว่าพอใจน้อย สติก็ยังมีโอกาสระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ถ้าท่านหลบกิเลสอยู่เรื่อยๆ ท่านไม่มีโอกาสที่จะรู้เลยว่า สภาพธรรมที่ท่านสะสมมาจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร
ข้อความใน ปปัญจสูทนี อรรถกถา มหาเวทัลลสูตร มีว่า
กิเลสประมาณให้รู้ว่า ใครเป็นบุคคลเช่นไร ในธรรมทั้งหลายมีคำว่า ดูกร อาวุโส ตัวราคะแล เป็นตัวทำประมาณ คือ เป็นสภาพที่วัดหรือชั่งให้รู้ได้
ราโค โข อาวุโส ปมาณกรโณ
เปรียบเหมือนน้ำที่เต็มไปด้วยใบไม้เปื่อยเน่า มีอยู่ที่เชิงเขา กลายเป็นน้ำที่มีสีดำไป ย่อมปรากฏแก่คนทั้งหลายที่มองดูอยู่ ราวกะว่าลึกตั้ง ๑๐๐ วา แต่เมื่อบุคคลใช้ไม้เท้าหรือเชือกหยั่งลงไปวัดอยู่ แม้ที่สักว่าจะจมหลังเท้าก็ไม่มี ข้อนั้นฉันใด กิเลสทั้งหลาย มีราคะ เป็นต้น ยังไม่เกิดขึ้นตราบใด ใครๆ ก็ไม่อาจจะรู้จักบุคคลนั้นตราบนั้น
บุคคลเช่นนั้น ปรากฏราวกะว่าเป็นพระโสดาบัน ราวกะว่าเป็นพระสกทาคามี และราวกะว่าเป็นพระอนาคามีไปทีเดียว แต่เมื่อใดกิเลสทั้งหลาย มีราคะ เป็นต้น ของบุคคลนั้นบังเกิดขึ้น เมื่อนั้น บุคคลนั้น ก็ปรากฏว่าเป็นเจ้าราคะ เจ้าโมหะ เจ้าโทสะ ฉันนั้น นั่นแล
กิเลสทั้งหลาย มีตัวราคะ เป็นต้นเหล่านั้น เกิดขึ้นแสดงประมาณของบุคคลว่า คนนี้มีกิเลสประมาณเท่านี้ เพราะเหตุนั้น ธรรมทั้งหลาย มีราคะ เป็นต้น เหล่านั้น ท่านจึงเรียกว่า ปมาณกรณา ตัวกระทำซึ่งประมาณ
กิเลสที่มีหลั่งไหลปรากฏทางกาย ทางวาจา เป็นสิ่งที่แสดงให้รู้ว่า สติจะต้องระลึกรู้ จะต้องละ จะต้องขัดเกลาด้วยความรู้มากมายเพียงไร เพราะถ้ากิเลสเหล่านี้ไม่เกิด ท่านจะเห็นไหมว่า ท่านยังมีกิเลสมากมายเหลือเกินที่สติปัญญาจะต้องรู้ จึงจะดับ จึงจะละได้ ถ้าท่านหลบกิเลส ไม่เห็นกิเลสเลย แต่ว่ากิเลสไม่ได้ยอมให้ท่านหลบเลย เวลาที่กิเลสมีปัจจัยเกิดขึ้น ท่านจึงจะรู้จัก เพราะว่ากิเลสประมาณให้ท่านรู้จักตัวของท่านเองว่า ท่านเป็นบุคคลที่มีกิเลสเพียงไร มีราคะ คือ โลภะเพียงไร มีโทสะเพียงไร และขณะที่หลงลืมสตินั้น มีโมหะเพียงไร
รู้ได้เพราะกิเลสที่มีเกิดขึ้นปรากฏ ถ้ากิเลสไม่ปรากฏ ก็ราวกะว่าบุคคลนั้นเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ แต่เวลาที่กิเลสเกิด วัดได้แล้วว่า บุคคลนั้นเป็นเจ้าราคะ หรือว่าเจ้าโทสะ หรือว่าเจ้าโมหะ แต่โดยมากเวลาที่กิเลสเกิดไม่ได้รู้อย่างนี้ จะหนีกิเลสที่เกิด จะไปดับกิเลส แต่ไม่ได้ระลึกรู้เลยว่า ขณะที่กิเลสเกิดปรากฏนั้น เป็นของจริงที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้ายังเห็นว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ไม่มีทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม
เพราะฉะนั้น จะต้องอบรม เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ จึงจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง สะสมไป จนกว่าจะเป็นปัญญาที่รู้จริงอย่างนี้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๒ ตอนที่ ๔๑๑ – ๔๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 361
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 362
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 363
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 364
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 365
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 366
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 367
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 368
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 369
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 370
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 371
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 372
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 373
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 374
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 375
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 376
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 377
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 378
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 379
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 380
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 381
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 382
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 383
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 384
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 385
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 386
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 387
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 388
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 389
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 390
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 391
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 392
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 393
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 394
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 395
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 396
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 397
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 398
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 399
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 400
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 401
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 402
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 403
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 404
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 405
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 406
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 407
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 408
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 409
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 410
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 411
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 412
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 413
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 414
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 415
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 416
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 417
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 418
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 419
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 420