แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 420
ครั้งที่ ๔๒๐
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ผรุสวาจานั้นเป็นคำพูดที่ไม่มีประโยชน์เลย ถ้าเว้น ไม่พูดเสีย จะมีประโยชน์กว่ามากมายทีเดียว เพราะเหตุว่าไม่ว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้น หรือว่าเกิดขึ้นแล้ว ก็เกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้ามีเมตตา ใช้คำพูดที่เหมาะที่ควร ที่จะไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน โทมนัสเสียใจ คำพูดนั้นจะมีประโยชน์มากกว่าคำผรุสวาจา
บางท่านอาจจะไม่เห็นโทษของผรุสวาจาว่า อาจจะทำให้ถึงแก่ชีวิตได้จากคำผรุสวาจานั้น ซึ่งไม่มีใครรู้ว่า ปัจจัยที่สะสมมาพร้อมทั้งเหตุการณ์สิ่งแวดล้อมอย่าง ละนิดอย่างละหน่อย อาจจะเป็นปัจจัยให้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น เมื่อมีปัจจัยพอ ควรแก่เหตุที่จะเกิด เหตุนั้นก็เกิดขึ้น
ความหมายของผรุสวาจาใน สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มีว่า
เจตนาพูดหยาบโดยส่วนเดียว อันยังกายปโยคะและวจีปโยคะให้ตั้งขึ้น เพื่อจะตัดเสียซึ่งความรักของคนอื่น ชื่อว่าผรุสวาจา
เวลาโกรธ ยังกายปโยคะและวจีปโยคะให้ตั้งขึ้น เพื่อจะตัดเสียซึ่งความรักของคนอื่น เวลานั้นไม่ต้องการให้เป็นที่รักเลย จึงได้กล่าวคำผรุสวาจา แต่ถ้าจิตนั้นเป็นจิตที่อ่อน เป็นจิตที่หวังดี แม้ว่าคำนั้นจะเป็นคำแรง ก็ไม่เป็นผรุสวาจา เพราะฉะนั้น เจตนาสำคัญมาก ซึ่งผู้กล่าวเองเป็นผู้รู้ว่าท่านมีเจตนาอะไร ถ้าเจตนาของท่านเป็นกุศล แม้ว่าเป็นคำพูดที่แรง แต่เพื่อประโยชน์ของผู้ฟัง ก็ไม่เป็นผรุสวาจา แต่ถ้า จิตขณะนั้นหยาบกระด้าง ใคร่ที่จะประทุษร้าย แม้ว่าวาจาไม่หยาบกระด้าง ก็เป็น ผรุสวาจา
เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับเจตนาของท่าน ซึ่งท่านเองเป็นผู้รู้ บางคนอาจจะมีเจตนาประทุษร้ายผู้อื่น แต่มีอุบายที่แยบคายไม่ใช้คำพูดตรง แต่ว่าก่อให้เกิดผลเช่นเดียวกันได้ โดยที่คำพูดนั้นไม่ใช่ผรุสวาจา เพราะฉะนั้น จึงต้องพิจารณาถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ เจตนาที่กล่าววาจานั้น เป็นเจตนาเช่นไร
สำหรับสภาพของจิตที่อ่อน หมายความถึงสภาพของจิตที่ไม่ประกอบด้วยกิเลส แม้ว่าคำพูดนั้นเป็นคำแรง ก็ไม่เป็นผรุสวาจา
ข้อความใน ขุททกนิกาย อุทาน นันทวรรคที่ ๓ ปิลินทวัจฉสูตร มีว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ท่านพระปิลินทวัจฉะย่อมร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่า คนถ่อย
ครั้งนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระปิลินทวัจฉะย่อมร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วย วาทะว่า คนถ่อย
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่งว่า
ดูกร ภิกษุ เธอจงไปเรียกปิลินทวัจฉภิกษุมาตามคำของเราว่า ดูกร อาวุโส วัจฉะ พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน
ภิกษุนั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหาท่านพระปิลินทวัจฉะถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านปิลินทวัจฉะว่า
ดูกร อาวุโส พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน
ท่านพระปิลินทวัจฉะรับคำภิกษุนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่าน พระปิลินทวัจฉะว่า
ดูกร ปิลินทวัจฉะได้ยินว่า เธอย่อมร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่า คนถ่อย จริงหรือ
ท่านพระปิลินทวัจฉะทูลรับว่า
อย่างนั้น พระเจ้าข้า
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการถึงขันธ์อันมีในก่อนของท่าน พระปิลินทวัจฉะ แล้วตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่ายกโทษวัจฉภิกษุเลย วัจฉภิกษุย่อมไม่มุ่งโทษเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่า คนถ่อย วัจฉภิกษุเกิดในสกุลพราหมณ์ ๕๐๐ ชาติ โดยไม่เจือปนเลย วาทะว่าคนถ่อยนั้น วัจฉภิกษุประพฤติมานาน เพราะเหตุนั้น วัจฉภิกษุนี้ ย่อมร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่า คนถ่อย
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
มายา มานะ ย่อมไม่เป็นไปในผู้ใด ผู้ใดมีความโลภสิ้นไปแล้ว ไม่มีความยึดถือว่าเป็นของเรา ไม่มีความหวัง บรรเทาความโกรธได้แล้ว มีจิตเย็นแล้ว ผู้นั้นชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นสมณะ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นภิกษุ ฯ
จบสูตรที่ ๖
แม้จิตของผู้พูดไม่มีกิเลสเลย แต่โทษของการสะสมวาจาที่ไม่ไพเราะมานานแสนนาน เพราะฉะนั้น ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ เพราะว่าได้ประพฤติมานานแล้ว
ถ้าท่านเห็นว่า ผรุสวาจาไม่ดี ทำให้คนอื่นเดือดร้อน โทมนัสเสียใจ ท่านเองก็ไม่อยากจะได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะยับยั้ง ขัดเกลา บรรเทาเสียตั้งแต่ในชาตินี้ เพื่อที่จะได้ไม่ติด ไม่สะสมจนกระทั่งเป็นผู้ที่มีวาจาที่คนอื่นฟังแล้วไม่สงบใจ อาจจะคิดมาก หรือว่าเดือดร้อนใจไปนาน ทั้งๆ ที่รู้ว่า บุคคลนั้นก็ไม่ได้มีเจตนาอย่างนั้น
ถ. เรื่องของผรุสาวาจา บางครั้งก็ทนได้ยากที่จะไม่โต้ตอบ แต่ก็มีเหมือนกัน มีตัวอย่างที่เห็นชัดๆ คือ มีแม่ค้าแผงลอย ๒ คน เขานั่งอยู่ติดกันในตลาด ทะเลาะกันเรื่องอะไรไม่ทราบ คนหนึ่งมีโทสะแรงกล้า ลุกขึ้นยืน ตะโกน สรรหาคำพูดอะไรสารพัดมาว่า ตั้ง ๑๐ นาที ๑๕ นาที จนเหนื่อย ก็นั่งลง
ส่วนอีกคนที่เป็นคู่กรณีไม่ว่าอะไร บอกว่า เอ็งว่าข้ามาเท่าไร ข้าคืนให้เอ็งหมด แถมให้อีกนิดหนึ่ง พูดแค่นี้ คนนั้นก็ลุกขึ้นยืนใหม่ เอ็ดตะโรดังไปทั้งตลาด ใครๆ ก็ได้ยินกันหมด เหนื่อยแล้วก็นั่งลง คนนี้ก็ไม่ว่าอะไรอีก บอกว่า ว่ามาเท่าไรก็คืนให้หมด และแถมให้อีกนิดหนึ่ง ที่แถมอีกนิดหนึ่งก็ไม่รู้ว่าแถมอะไร ได้ยินแต่ว่า แถมอีกนิดหนึ่งเท่านั้น คนนั้นก็โกรธอีก เป็นอย่างนี้ ๒ – ๓ ครั้ง
รู้สึกว่า คนที่ยืนขึ้นเต้นนั้น ใครๆ ก็รู้หมดว่าคนนี้เป็นคนไม่ดี ส่วนอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นคู่กรณีนั้น ไม่มีใครได้ยิน นี่จะว่าเขาทนได้ หรือทนไม่ได้ครับอาจารย์
สุ. พิสูจน์ได้จากการกระทำ
ถ. นี่ก็เรื่องจริง ๕๐ ปีมาแล้ว ตั้งแต่ผมบวชที่วัดอนงค์ บางไส้ไก่ แม่ค้าหาบหมากพลูมา ข้างกุฏิที่ผมบวชอยู่ มีแม่ค้ามาตั้งกระทะทอดแป้งจี่ขาย ล้ำถนนไปหน่อย ยายคนหาบหมากลงสะพานมา ก็มาชนกระทะแป้งจี่กระเด็น หาบก็กระเด็น ยายแป้งจี่ก็ไม่ว่าอะไร ยายคนหาบหมากก็ด่าว่ายายแป้งจี่ต่างๆ นานาว่าเป็นสัตว์ประเภทต่างๆ ยายแป้งจี่ก็ถามว่า ไปเห็นที่ไหน อีกฝ่ายก็ด่าต่อ ยายแป้งจี่ก็ถามกลับไปอีกว่า ไปเห็นที่ไหน ยายคนหาบหมาก ก็ต้องเก็บหาบแล้วเดินจากไป เพราะฉะนั้น คำด่าต่างๆ เราพิจารณาดูดีๆ ไม่น่าโกรธเลย
สุ. เพียงฟังเล่า รู้สึกเป็นอย่างไร นี่พูดถึงลักษณะของผรุสวาจาว่า เป็นคำที่น่าฟังหรือไม่น่าฟัง แม้ท่านเองจะไม่ใช่คู่กรณี เป็นแต่เพียงผู้ฟังยังเห็นว่า ผรุสวาจานั้นไม่น่าฟังเพียงไร เพราะฉะนั้น ถ้าละเว้น ขัดเกลาผรุสวาจานี้ได้ จะเป็นประโยชน์ทั้งผู้ฟังและผู้พูดด้วย และควรจะละเว้นสภาพของจิตที่หยาบกระด้าง ประทุษร้าย แม้ว่าวาจาไม่หยาบกระด้างก็จริง แต่เมื่อจิตหยาบกระด้าง ประทุษร้าย แม้วาจานั้น ก็จัดเป็นผรุสวาจาด้วย
ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต โกกาลิกสูตร มีว่า
ครั้งนั้นแล ภิกษุ ชื่อโกกาลิกะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นผู้มีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร โกกาลิกะ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธอจงยังจิตให้เสื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด เพราะสารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก ฯ
แม้ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓ ข้อความโดยนัยเดียวกัน
ครั้งนั้นแล โกกาลิกภิกษุลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป
เมื่อโกกาลิกภิกษุหลีกไปแล้วไม่นาน ร่างกายมีตุ่มเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดเกิดขึ้นทั่วตัว ตุ่มเหล่านั้นเท่าเมล็ดถั่วเขียว แล้วก็โตเท่าเมล็ดถั่วดำ แล้วก็โตเท่าเมล็ดพุทรา แล้วก็โตเท่าเมล็ดกระเบา แล้วก็โตเท่าผลมะขามป้อม แล้วก็โตเท่าผลมะตูมอ่อน แล้วก็โตเท่าผลมะตูมแก่ แล้วจึงแตก หนองและเลือดหลั่งไหลออก ได้ยินว่า โกกาลิกภิกษุนั้น นอนบนใบตองกล้วย เหมือนปลากินยาพิษ
ครั้งนั้นแล ตุทิปัจเจกพรหมเข้าไปหาพระโกกาลิกยังที่อยู่ ครั้นแล้วยืนอยู่ที่เวหาส ได้กล่าวกะโกกาลิกภิกษุว่า
ดูกร โกกาลิกะ ท่านจงยังจิตให้เลื่อมใสในพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเถิด เพราะพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก
โกกาลิกภิกษุถามว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ ท่านเป็นใคร
ตุทิปัจเจกพรหมตอบว่า
เราเป็นตุทิปัจเจกพรหม
โกกาลิกภิกษุกล่าวว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ ท่านเป็นผู้ที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า เป็นอนาคามีมิใช่หรือ เมื่อเป็นเช่นนั้น ไฉนท่านมา ณ ที่นี้อีกในบัดนี้ อนึ่ง ท่านจงเห็นความผิดนี้ของท่านเท่าที่มีอยู่ ฯ
ครั้งนั้นแล ตุทิปัจเจกพรหมได้กล่าวกะโกกาลิกะภิกษุด้วยคาถาว่า
ผรุสวาจาเพียงดังจอบ ซึ่งเป็นเครื่องตัดทอนตนของคนพาลผู้กล่าวคำชั่ว ย่อมเกิดขึ้นที่ปากของบุคคลผู้เป็นบุรุษพาล
ผู้ใดสรรเสริญผู้ที่ควรติเตียน หรือติเตียนคนที่ควรสรรเสริญ ผู้นั้นชื่อว่า สะสมโทษไว้ด้วยปาก ย่อมไม่ประสบความสุขเพราะโทษนั้น ฯ
การปราชัยด้วยทรัพย์ในการเล่นการพนันด้วยตนเองจนหมดตัวนี้ เป็นโทษมีประมาณน้อย การที่บุคคลยังใจให้ประทุษร้ายในพระอริยเจ้าผู้ดำเนินดีแล้วนี้ เป็นโทษมากกว่า บุคคลตั้งวาจาและใจอันเป็นบาป แล้วติเตียนพระอริยเจ้า ย่อมเข้าถึงนรกสิ้นหนึ่งแสนนิรัพพุทกัป อีก ๓๖ นิรัพพุทะ และ ๕ อัพพุทะ ฯ
ทำลายใครผรุสวาจา เครื่องตัดทอนตนของคนพาลผู้กล่าวคำชั่ว ถ้าคนฟังไม่มีกิเลสก็ไม่เป็นอะไร แต่ว่าคนที่เต็มไปด้วยกิเลสอย่างท่านพระโกกาลิกภิกษุ ก็เป็นการทำร้ายตัวของท่านเอง ซึ่งท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะท่านไม่เดือดร้อนเลย ในวาจาชั่วของท่านโกกาลิกภิกษุ
ข้อความต่อไปมีว่า
ครั้งนั้นแล โกกาลิกภิกษุได้กระทำกาละด้วยอาพาธนั้นเอง แล้วเกิดในปทุมนรก เพราะยังจิตให้อาฆาตในพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ลำดับนั้น เมื่อปฐมยามแห่งราตรีผ่านไปแล้ว ท้าวสหัมบดีพรหมผู้มีวรรณะสง่างามยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โกกาลิกภิกษุกระทำกาละแล้วเกิดในปทุมนรก เพราะยังจิตให้อาฆาตในพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ พระเจ้าข้า
ท้าวสหัมบดีพรหมครั้นกราบทูลดังนี้แล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหายไปในที่นั้นเอง
เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสเรื่องที่ท้าวสหัมบดีพรหมมาเข้าเฝ้านั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ประมาณอายุในปทุมนรกนานเท่าไรหนอ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ดูกร ภิกษุ ประมาณอายุในปทุมนรกนานนัก ประมาณอายุในปทุมนรกนั้น ยากที่จะกระทำการกำหนดนับได้ว่า ประมาณเท่านี้ปี ประมาณร้อยปีเท่านี้ ประมาณพันปีเท่านี้ หรือประมาณแสนปีเท่านี้ ฯ
ภิกษุกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระองค์อาจเพื่อจะทำการเปรียบเทียบได้หรือ พระพุทธเจ้าข้า ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อาจอยู่ภิกษุ
แล้วได้ตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ เปรียบเหมือนหนึ่งเกวียนเมล็ดงาของชนชาวโกศลมีอัตรา ๒๐ ขารี (1 ขารี=246 ทะนาน) เมื่อล่วงไปแสนปี บุรุษนำเอาเมล็ดงาเมล็ดหนึ่งออกจากเกวียนนั้น ดูกร ภิกษุ เมล็ดงาหนึ่งเกวียนของชาวโกศลซึ่งมีอัตรา ๒๐ ขารีนั้น พึงถึงความสิ้นไปหมดไปโดยทำนองนี้เร็วกว่า นั่นยังไม่ถึงหนึ่งอัพพุทะในนรกเลย
ดูกร ภิกษุ ๒๐ อัพพุทะในนรกจึงเป็น ๑ นิรัพพุทะ ๒๐ นิรัพพุทะเป็น ๑ อพัพพะ ๒๐ อพัพพะเป็น ๑ อหหะ ๒๐ อหหะเป็น ๑ อฏฏะ ๒๐ อฏฏะเป็น ๑ กุมุทะ ๒๐ กุมุทะเป็น ๑ โสคันธิกะ ๒๐ โสคันธิกะเป็น ๑ อุปปละ ๒๐ อุปปละเป็น ๑ ปุณฑรีกะ ๒๐ ปุณฑรีกะเป็น ๑ ปทุมะ
นานแสนนานเหลือเกิน ตรงกับคำที่อุปมาไว้ว่า ยากที่จะกำหนด
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๒ ตอนที่ ๔๑๑ – ๔๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 361
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 362
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 363
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 364
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 365
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 366
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 367
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 368
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 369
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 370
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 371
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 372
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 373
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 374
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 375
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 376
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 377
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 378
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 379
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 380
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 381
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 382
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 383
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 384
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 385
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 386
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 387
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 388
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 389
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 390
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 391
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 392
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 393
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 394
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 395
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 396
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 397
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 398
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 399
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 400
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 401
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 402
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 403
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 404
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 405
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 406
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 407
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 408
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 409
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 410
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 411
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 412
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 413
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 414
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 415
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 416
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 417
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 418
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 419
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 420